Sustainably Made by Marimekko

Marimade สินค้าค่อนข้างสุ่มจาก Marimekko ที่จงใจใส่ใจโลกตั้งแต่ก่อนผลิต

‘ค่อนข้างสุ่ม’ (หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษแสนน่ารักว่า pretty random) คือแท็กไลน์ที่บอกเราอย่างตรงไปตรงมาว่าโปรดักต์ใน Marimade คอลเลกชั่นพิเศษจาก Marimekko นั้นมีความหลากหลายเกินกว่าจะจัดเรียงเข้าหมวดใดหมวดหนึ่ง 

สมุด ขวดน้ำ แก้วน้ำ กล่องข้าว pouch กระเป๋าผ้า ผ้าเช็ดปาก

แม้จะแตกต่างอย่างที่เห็น แต่โปรดักต์ในคอลเลกชั่น Marimade มีจุดร่วมอยู่ 2 อย่าง

1–เป็นโปรดักต์ที่อยู่รายรอบตัวเราในทุกๆ วัน

2–เป็นโปรดักต์ที่สะท้อนปรัชญาเรื่องความยั่งยืนของ Marimekko และชาวฟินน์อย่างถึงแก่น

Marimade ถูก made ด้วยความคิดความเชื่อแบบไหน

ขอจิบน้ำจากขวดน้ำรักษ์โลกแสนสวยหนึ่งอึกแล้วจะเล่าให้ฟัง

Product

คอลเลกชั่นที่ขีดเส้นใต้ปรัชญาเรื่องความยั่งยืนของ Marimekko

Product Pivot

คล้ายกับหลายๆ แบรนด์ที่ต้อง pivot หรือปรับตัวในช่วงโควิด-19 คอลเลกชั่น Marimade ก็เป็นผลผลิตหนึ่งของช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น 

“ช่วงโควิดคนเดินทางไม่ได้ ต้องอยู่กับบ้าน และ Marimekko ให้ความสำคัญกับชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทีมออกแบบจึงต้องการทำสินค้าที่ใช้ได้จริงในทุกๆ วันขึ้นมา” แพรว–แพรวไพลิน เอมอักษร Head of Lifestyle Strategy Marketing แห่ง TANACHIRA ผู้จัดจำหน่าย Marimekko ในประเทศไทย เริ่มต้นเล่า

“ทีนี้ Creative Director ของ Marimekko ชื่อคุณ Rebekka Bay เขามีจุดยืนว่าจะไม่ออกแบบสิ่งที่เป็นเทรนด์แฟชั่น จะออกแบบสิ่งที่ใช้ได้ตลอดไป รวมทั้งธีมในการออกแบบที่ครอบคลุมมาถึงปีนี้คือการมองย้อนไปข้างหลังเพื่อมองไปข้างหน้าแล้วดูว่าเราจะอยู่กับมันยังไงต่อ Marimade จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีคอนเซปต์ว่า Grab & Go คือสนุก ง่าย ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ทรีตมันเป็นของสะสม”

นอกจากนี้ แพรวยังแชร์อินไซต์ในมุมธุรกิจให้ฟัง 2 ข้อ

1–จากการทำรีเสิร์ชพบว่า ลูกค้า Marimekko กว่า 50% ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว

2–แต่ถึงอย่างนั้น Marimekko ก็หวังว่า Marimade จะเปิดประตูเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ หนึ่งคือ ลูกค้าสายกรีน เพราะคอลเลกชั่นนี้ตั้งใจขีดเส้นใต้เล่าเรื่องความยั่งยืนของแบรนด์แบบเน้นๆ และสองคือ ลูกค้าวัยรุ่นวัยทำงาน เพราะสินค้าไลฟ์สไตล์นั้นเข้าถึงง่ายและเข้าใจง่ายกว่าเสื้อผ้าหรือผ้าพิมพ์คอตตอนที่ถือเป็นสินค้าหลัก

เรียกได้ว่าการทำคอลเลกชั่น Marimade นั้นวินทั้งโลก วินทั้งธุรกิจ

Product Sustainability

ก่อนจะ Grab & Go ไปไกลกว่านี้ ต้องขอแวะเล่าสักนิดว่า Marimade ไม่ใช่การกระโจนเข้าสู่ตลาดสินค้าสายกรีนครั้งแรกของแบรนด์ฟินน์ เพราะ Marimekko มีสินค้าที่คิด ออกแบบ และผลิตอย่างยั่งยืนซุกซ่อนอยู่ในคอลเลกชั่นประจำฤดูกาลหรือคอลเลกชั่นพิเศษอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น Funny Bags แก๊งกระเป๋าหลากหลายทรงที่ทำมาจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลและผ้าคอตตอนส่วนเกินจากการผลิตผ้าพิมพ์คอตตอน หรือ Candle Cup เทียนวีแกนสารพันกลิ่นในถ้วยเซรามิกหลุด QC ที่ไม่อยากปล่อยทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับเฉยๆ 

หรือกระทั่งโปรเจกต์พิเศษเพื่อความยั่งยืนที่เราเห็นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Marimekko x Spinnova ความร่วมมือตั้งแต่ปี 2020 ที่ผสานศาสตร์ผ้าพิมพ์ของ Marimekko เข้ากับนวัตกรรมสุดล้ำอย่าง SPINNOVA เส้นใยที่ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตถึง 99% เมื่อเทียบกับการผลิตเส้นใยฝ้ายในระบบอุตสาหกรรมทั่วไป

Marimekko Pre-loved แพลตฟอร์มสำหรับซื้อ-ขายสินค้า Marimekko มือสอง ซึ่งช่วยให้เสื้อผ้านอนตู้มีเจ้าของใหม่ที่จะใส่น้องๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก (น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังใช้ได้แค่ในฟินแลนด์เท่านั้น!) 

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพราะ Marimekko ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตั้งแต่ยุคของผู้ก่อตั้งอย่าง Armi Ratia ดังนั้นความยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในทุกกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การคิดและออกแบบสินค้าที่ไร้กาลเวลาและคงทน ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดและยุติธรรมกับพาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้อง

ถามว่า Marimekko จริงจังกับความยั่งยืนแค่ไหน ต้องตอบว่าถึงขั้นมีแผนก sustainability อยู่ในบริษัทเลยทีเดียว

“แผนกนี้ทำหน้าที่วางโครงสร้างการผลิตสินค้าของ Marimekko ทั้งระบบให้มีความยั่งยืนและมีมาตรฐานเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งกันไว้ ทุกปีเราจะมาดูตัวชี้วัดกันว่าเราทำสำเร็จตามเป้าหมายยังไงบ้าง เช่น เราลดการใช้น้ำไปกี่เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน” แพรวขยายความ

เป้าหมายเรื่องความยั่งยืนแต่ละข้อนำมาสู่วิธีการทำงานและข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ถ้าเล่าให้เห็นภาพใหญ่ในเชิงกระบวนการผลิตคือ แผนก sustainability จะทำหน้าที่คัดเลือกผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก (เช่น Better Cotton ซึ่งให้ความรู้เรื่องการดูแลธรรมชาติและสิทธิแรงงานแก่เกษตรกรปลูกฝ้าย) รวมทั้งช่วยตรวจสอบดูแลให้ผู้ผลิตทำงานอย่างถูกต้องตามหลักการและได้มาตรฐาน

“เราเป็นแบรนด์ ยังไงก็มีการผลิตสินค้าออกมาขาย แต่สิ่งสำคัญคือเราจะผลิตยังไงให้กระทบกระเทือนสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด” แพรวสรุป

Product Mix

กลับมาที่ Marimade แพรวบอกว่า “การทำ Marimade ไม่ยากเลย เพราะความยั่งยืนมีอยู่แล้วในองค์กร”

พอได้คอนเซปต์มาแล้ว ทีมออกแบบและทีม sustainability จึงทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาโปรดักต์ออกมา โดยมีทั้งที่นำวัสดุส่วนเกินจากการผลิตสินค้าต่างๆ มาอัพไซเคิลและรีไซเคิล รวมถึงทำงานร่วมกับผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนในการออกแบบและผลิตสินค้าใหม่ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะเป็นคอลเลกชั่นรักษ์โลก Marimekko ก็ยังไม่ทิ้งลายแบรนด์ที่รักการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพราะ Marimade มีรายละเอียดน่ารักและยังมีลายพิมพ์ที่แฟนๆ หลงรัก อย่างที่เราได้เห็นกันในสินค้าที่ปล่อยออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

Takeaway Mug & Lunch Box (จะเข้าไทยเร็วๆ นี้)– แก้วน้ำและกล่องข้าวปั๊มนูนเป็นลาย Räsymatto ผลิตโดย Sulapac (อ่านว่า ซุลลาปา) บริษัทที่คิดค้นวัสดุ bio-based ซึ่งทำมาจากดินเหนียวผสมกับวัสดุชีวภาพ ให้เนื้อสัมผัสคล้ายเซรามิก และสามารถย่อยสลายได้ 100% โดยไม่ปล่อยไบโอพลาสติก

Fabric Notebook–สมุดขนาด A5 เนื้อในทำจากกระดาษรีไซเคิล ส่วนปกทำจากผ้าส่วนเกินจากการผลิตสินค้าประเภทอื่น แต่ละชิ้นจะวางลายไม่เหมือนกัน ถ้าอยากได้แบบ ‘ค่อนข้างสุ่ม’ ก็สามารถกดจากเว็บไซต์ได้เลยหรือถ้าอยากเลือกเองให้ถูกใจต้องไปที่หน้าร้านเท่านั้น

Pouch–กระเป๋าใส่ของขนาด A4 และ A5 ทำจากเซลลูโลสหรือเส้นใยธรรมชาติ สัมผัสคล้ายไม้คอร์กแต่สามารถซักและใช้ซ้ำได้ พิมพ์ลายซิกเนเจอร์ตลอดกาลอย่าง Mari Logo และ Unikko

Price & Promotion

ราคาเดิมๆ โปรโมชั่นเดิมๆ เพราะ Marimekko ยั่งยืนมาแต่ไหนแต่ไร

“จริงๆ แล้วต้นทุนการใช้วัสดุรีไซเคิลสูงกว่านะเพราะมันผ่านการพัฒนาและสรรหาวัสดุเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”​ แพรวเกริ่นเมื่อเราถามถึงวิธีการตั้งราคา Marimade “แต่เราไม่ได้ตั้งราคาต่างจากสินค้าอื่นเลย เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีสินค้าที่เป็นรีไซเคิลและอัพไซเคิลอยู่แล้ว”

เมื่อถามถึงโปรโมชั่น แพรวให้คำตอบคล้ายกัน “คอลเลกชั่นนี้ร่วมทุกโปรโมชั่นหน้าร้าน และลูกค้าที่สมัครสมาชิกไว้สามารถใช้ส่วนลด 10-15% ตาม tier ที่สะสมยอดไว้ได้เลย เพราะเราอยากให้ทรีตว่ามันเป็น Grab & Go ไม่เหมือนสินค้าบางตัวที่ทรีตเป็น collectible piece (สินค้าสำหรับสะสม) แล้วจะไม่ร่วมโปรโมชั่น”

แม้พื้นฐานคือราคาเดิมๆ และโปรโมชั่นเดิมๆ แต่ในช่วงเปิดตัวคอลเลกชั่นในเดือนกันยายน 2565 ก็มีโปรโมชั่นพิเศษที่เข้ากับคอนเซปต์สายกรีน ซึ่งช่วยขยายให้เห็นภาพของความยั่งยืนแบบองค์รวมชัดเจนขึ้นด้วย

“เพราะเป็นคอลเลกชั่นที่เน้นเรื่องความยั่งยืนเราเลยนำถุงผ้า Mari Logo มาอยู่ในโปรโมชั่นด้วย ซึ่งเราก็จะขอความร่วมมือกับลูกค้าว่าขอใส่สินค้าลงไปในถุงผ้าเลย เพราะมันเป็นแคมเปญที่ทำมาเพื่อลดการใช้กระดาษ แล้วเราก็จะสื่อสารกับลูกค้าด้วยว่าถุงผ้าของเราทำจากผ้าฝ้ายที่ผลิตในประเทศอินเดีย ไม่ผ่านการฟอกสีเคมีเลย ดังนั้นจะเห็นรอยฝ้ายเป็นจุดๆ อยู่ตามเนื้อผ้า”

แพรวให้ทิปส์ด้วยว่าปกติแล้วเธอจะไม่จัดโปรโมชั่นถุงผ้า Mari Logo บ่อยนัก จะจัดเฉพาะช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นวันเกิดของ Marimekko ประเทศไทยและเป็นเดือนที่มีวัน Earth Day, ช่วงที่เปิดร้านสาขาใหม่ และช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เท่านั้น ดังนั้นลูกค้าประจำจะรับรู้ได้ว่าโปรโมชั่นนี้จะมีเฉพาะช่วงเวลาที่พิเศษจริงๆ เท่านั้น

Place

นำเข้าสินค้าพร้อมแนวคิดความยั่งยืนแบบฉบับฟินแลนด์สู่ไทยแลนด์

คอลเลกชั่น Marimade วางขายทางเว็บไซต์ marimekko.co.th, ทาง Facebook Live Streaming และหน้าร้าน 2 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ และเซ็นทรัลเวิลด์ เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกทั้งลูกค้านักกดปุ่ม add to cart และลูกค้าที่ต้องการหยิบจับสัมผัสสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ

 Place เหล่านั้นถือเป็นพื้นฐาน แต่ประเด็นเรื่อง Place ที่น่าสนใจจริงๆ ของ Marimade น่าจะเป็นการข้ามน้ำข้ามทะเลจากฟินแลนด์มาสู่ไทยแลนด์มากกว่า คำถามคือทำไมแพรวถึงตัดสินใจนำคอลเลกชั่นนี้เข้ามาในประเทศไทย

“เรามองว่าคอลเลกชั่นนี้มีประโยชน์ในเรื่องความยั่งยืน คือสามารถช่วยให้คนเปลี่ยนมุมมองและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้ ลูกค้าเองก็จะได้ในสิ่งที่คู่ควรกับเขา ด้วยคอนเซปต์​ ด้วยการใช้งาน และเราคิดว่าคนไทยจะเห็นภาพ Marimekko ชัดมากขึ้นด้วย”

ในฐานะคนที่ทำงานกับใกล้ชิดกับแบรนด์ Marimekko มากว่า 8 ปี รวมทั้งได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศฟินแลนด์และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศต้นกำเนิดของแบรนด์มาอย่างลึกซึ้ง แพรวให้อินไซต์เพิ่มเติมว่า ความยั่งยืนไม่ใช่แค่จุดยืนของมารีเมกโกะแต่เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังจนหยั่งรากลึกในจิตวิญญาณของชาวฟินน์ทุกคนจนสะท้อนออกมาในแบรนด์

“คนฟินแลนด์จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ขนาดเขามีธรรมชาติเหลือเฟือ คือฟินแลนด์มีพื้นที่ขนาดเท่าๆ กับประเทศไทยแต่เขามีประชากรแค่ 5 ล้านคน ดังนั้นเขามีธรรมชาติมากกว่าคน แต่เขาก็ยังเป็นห่วงเรื่องธรรมชาติ เขามองว่าธรรมชาติอยู่รอบตัว ถ้าเขาทำร้ายธรรมชาติตัวเขาก็จะได้รับผลกระทบตามมาเพราะเขายังใช้น้ำ ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ และต่อไปลูกหลานเขาก็ต้องอยู่กับธรรมชาติ หรือต่อให้มนุษย์ไม่อยู่แล้ว ธรรมชาติก็จะยังคงอยู่”

ดังนั้นในแง่หนึ่ง การนำคอลเลกชั่น Marimade เข้ามาในประเทศไทยจึงเป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณเรื่องความยั่งยืนของชาวฟินน์ให้กับชาวไทยด้วย แต่แพรวก็หมายเหตุว่า เธอเข้าใจบริบทที่แตกต่างกันระหว่างสองประเทศ รวมถึงเข้าใจข้อจำกัดที่คนไทยหลายคนต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันด้วย

“ฟินแลนด์ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เพราะเขาทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ดังนั้นสำหรับตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวเราจึงคิดว่าเป็นเรื่องของการบอกกล่าวให้ความรู้เรื่องความยั่งยืน และการทำเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัย ส่วนในระดับรัฐบาลหรือองค์กรระดับประเทศก็ต้องต้องช่วยกัน เช่น สนับสนุนและพัฒนาให้มีบริษัทแบบ Sulapac ในบ้านเรา

“แต่เราก็เข้าใจนะว่าการที่เราจะใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐานเราต้องโอเคก่อน อย่างเราทำงานรีเทลก็จะเห็นพนักงานห้างเยอะแล้วก็เห็นความยากลำบากในการเดินทางมาทำงานของพวกเขา บ้านไกลแล้วต้องขี่มอเตอร์ไซค์บ้าง ต่อคิวรถตู้บ้าง นั่งรถเมล์ไม่ไหวเพราะต้องตื่นเช้ามาก รถไฟฟ้าก็จ่ายไม่ไหวเพราะแพง ถามว่าตื่นกี่โมง ตื่นตีห้าเพื่อมาทำงานให้ทันเก้าโมง แล้วกลับบ้านเกือบสี่ทุ่ม ไหนจะต้องเอาโน้ตบุ๊กกลับบ้านเพื่อไปทำงานต่อ จะคาดหวังให้เขาพกแก้วน้ำ พกกล่องข้าวเพื่อช่วยโลกอีก มันไม่ไหวจริง เราเข้าใจเขานะ ดังนั้นแม้มันจะดูเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นภาพใหญ่ที่เราต้องช่วยกันทั้งหมด”

People

คนผลิต ผลิตให้ยั่งยืน คนใช้ ใช้ให้ยั่งยืน

เมื่อถามถึง P สุดท้ายที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้างแบรนด์ให้มีความยั่งยืน แพรวตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า “people” 

“สำหรับ Marimade เรานึกถึง people เพราะ planet จะอยู่กับเราได้ และจะอยู่ในสภาพที่ดีได้ก็ต่อเมื่อ people ช่วยกัน people เป็นคนผลิต people เป็นคนใช้ แล้ว people ก็เป็นคนที่อยู่กับมัน”

แพรวเสริมเป็นตัวอย่างว่า แม้กระทั่งเธอเองที่เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ทำงานในภาคเอกชนก็ช่วยในมุมของตัวเองได้

“ด้วยความที่เราทำงานมาร์เก็ตติ้งคนก็จะบอกว่า ยังไงคุณก็ขายของ คือเราขายของก็จริง แต่พอเราอยู่ Marimekko เราเห็นว่าความยั่งยืนมันมีมาตั้งแต่ก่อนการผลิต เราเลยมีความเชื่อว่าเขาทำจริงๆ ดังนั้นก็ช่วยกันพูดเถอะ ถึงบางคนจะมองว่าเป็นแบรนด์พูดแต่มันก็ดีที่มีจุดเริ่มต้นในการพูดคุยเรื่องนี้”

Writer

หม่าม้าของลูกแมวชื่อม้า

You Might Also Like