Coffee x Design
XXXYYY คาเฟ่และ Project Space ของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่อยากชวนแวดวงดีไซน์มาปล่อยของ
ถ้าจะมีคาเฟ่ไหนที่ไปแล้วสนุก คาเฟ่นั้นน่าจะเป็น XXXYYY
จะเรียกว่าคาเฟ่ก็ไม่เชิงเพราะชั้นล่างเป็นร้านกาแฟก็จริง แต่เมื่อเดินขึ้นไปถึงชั้นสอง โต๊ะ เก้าอี้ก็หายไปเหลือแต่พื้นที่สีขาวโล่งๆ ที่พวกเขาเรียกว่า ‘Project Space’ สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน ไม่ใช่แค่งานศิลปะและดีไซน์แต่จะจัดแสดงโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ ใช้จัดเวิร์กช็อป หรือเปลี่ยนเป็นป๊อปอัพสโตร์ก็ทำได้
เริ่มสนุกแล้วหรือยัง
คาเฟ่กับดีไซน์ที่นี่ไม่ได้แยกชั้นกันชัดเจน งานอาร์ตอาจกลายเป็นที่รองแก้วกาแฟ ตู้สติกเกอร์ด้านล่างอาจเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้านบน และจะแน่ใจได้ยังไงว่าอินทีเรียร์ดีไซน์ของร้านไม่ได้เป็นสิ่งที่พวกเขากำลัง ‘จัดแสดง’
X = กาแฟ, Y = ดีไซน์ คือคอนเซปต์ตั้งต้นนำไปสู่วิธีคิดในการนำสิ่งหนึ่งมารวมกับอีกสิ่งหนึ่ง กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่จำกัดว่าหน้าตาต้องเป็นยังไงขอแค่คนมาดูได้สนุกก็พอ
XXX Why? Why? Why?
ทำไมต้องกาแฟและดีไซน์? X กับ Y บวกกันได้อะไร?
พักจิบกาแฟสักแก้วแล้วตามไปดูโมเดลธุรกิจสนุกๆ ที่ XXXYYY ออกแบบกัน
X = Permanent Job, Y = Work From Home
ในขณะที่ธุรกิจบางแห่งหยุดชะงัก XXXYYY กลับเกิดขึ้นในช่วงเวิร์กฟรอมโฮม
ช่วงเวลานั้น ไนน์–กชพร เปี่ยมราศรี เป็น Project Manager ในดีไซน์เอเจนซีแห่งหนึ่ง ส่วน หลิง–อรวรรณ กอเสรีกุล เป็น Visual Designer ของบริษัทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียนสาขา Industrial Design เริ่มต้นทำงานพร้อมๆ กันและเจอปัญหาแบบเดียวกัน
“ช่วงโควิดปีแรกเรายังทำงานประจำและต้องเวิร์กฟอร์มโฮม เราไม่เอนจอยกับวิธีการทำงานบวกกับรู้สึกว่าเราน่าจะทำธุรกิจสักอย่างได้ เรากับหลิงชอบไปร้านกาแฟ ชอบไปที่ที่นั่งทำงานได้ เลยอยากทำครีเอทีฟสเปซสำหรับคนที่ชอบกินกาแฟแล้วก็ชอบงานดีไซน์ขึ้นมา” ไนน์เล่า
หลิงเสริมว่าดีไซน์เป็นงานที่ทั้งคู่ทำจึงเข้าใจอินไซต์ของดีไซเนอร์อยู่แล้ว ส่วนกาแฟ จากที่แค่ชอบดื่มเฉยๆ พวกเขาก็ไปลงเรียนเพิ่มเติมจนสามารถรันบาร์กาแฟได้ด้วยตัวเอง
“ถ้าจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเราอยากเริ่มจาก asset (สินทรัพย์) ที่ตัวเองมีจะได้รู้จักมันและทำได้ดีที่สุด เราเลยคิดว่าเอาสองอย่างนี้แหละมาทำให้จริงจัง เป็นที่มาของชื่อ XXXYYY เราอยากเอา identity 2 อย่างมาสร้างเป็น identity ใหม่ของตัวเอง และเป็นพื้นฐานนำไปสู่คอนเซปต์ว่าทุกอย่างที่นี่จะเกิดขึ้นจากการเอา X และ Y มาชนกันเป็นสิ่งใหม่”
X = Project Space, Y = Designers
“เราเป็นพวกที่สนใจกระบวนการคิด อยากรู้ว่าก่อนจะเป็นไฟนอลโปรดักต์ระหว่างทางเขาทดลองอะไรมาบ้าง กับพื้นที่ชั้นบนเราเลยไม่ใช้คำว่าแกลเลอรีแต่เรียกว่าโปรเจกต์สเปซ คนที่มีโปรเจกต์อะไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานศิลปะก็มาจัดแสดง มาสร้างคอมมิวนิตี้ตรงนี้ได้” หลิงอธิบาย
“ที่ผ่านมา งานที่เราจัดส่วนใหญ่เป็นการเปิด open call มีโจทย์ให้คนสมัครเข้ามาร่วม แต่ละโจทย์ก็เน้นกระบวนการคิด เช่น งานชื่อ Worked in Progress เราบอกให้ทุกคนเอากระบวนการทำงานมาโชว์กัน เราคิดว่างานที่ยิ่งใหญ่มันอาจจะถูกเชปมาหลายรอบกว่าจะออกมาเป็นไฟนอลโปรดักต์ แต่จุดที่ยิ่งใหญ่จริงๆ มันคือจุดที่เราเริ่มคิดก็เลยอยากให้เอากระบวนการมาแชร์ ส่วนนิทรรศการเดี่ยวที่ตอบโจทย์เราคือไอเดียไม่ฟุ้งเกินจนจับต้องไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ solid จนคิดต่อไม่ได้เลย
“ที่ประทับใจงานนึงคือนิทรรศการ Another New Year Bloom ศิลปินเขาเคยทำงานดอกไม้จากหยดหมึกเป็นทีสิสได้รางวัลเยอะมากแต่ก็ไม่ได้ทำต่อ ช่วงปีใหม่เราเลยชวนเขาเอางานนั้นมาต่อยอด เขาก็ลอง explore ดูว่าถ้างานนี้มาอยู่ในร้านกาแฟมันจะไปอยู่ตรงไหนจนได้เป็นที่รองแก้วซ่อนข้อความ พอน้ำหยดลงไปหมึกส่วนที่ไม่ละลายจะกลายเป็นคำอวยพรสุ่มให้แต่ละคน งานนี้เป็นตัวอย่างการเอาคาแร็กเตอร์ของ XXXYYY ไปอยู่กับงานที่มี identity จัดๆ และมันก็ออกมาดีมาก”
ในสเปซนี้หลิงและไนน์รับบทเป็นทั้งคิวเรเตอร์ เลือกและช่วยพัฒนางาน เป็น Gallery Manager ทำให้นิทรรศการมีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ เป็น rental space ให้เช่าพื้นที่จัดเวิร์กช็อป และเป็น catering service หากผู้เช่าอยากได้ขนมกับเครื่องดื่ม ส่วนกับนิทรรศการที่พวกเขาเป็นโฮสต์นั้นไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่จากศิลปินที่มาจัดแสดงแต่จะรับบทแกลเลอรี เก็บค่า GP (gross profit) จากงานที่ขายได้เท่านั้น
ทำด้วยแพสชั่นอย่างจริงจัง ธุรกิจก็ไปได้ดี ถึงอย่างนั้นเป้าหมายของ XXXYYY ก็ไม่ใช่การทำให้ตัวเองอยู่รอดเพียงคนเดียวแต่รวมไปถึงการซัพพอร์ตดีไซเนอร์คนอื่นๆ ด้วย
X = People, Y = People
“เราคิดว่าเมืองไทยยังไม่ค่อยมีสถานที่ซัพพอร์ต young designer ขนาดนั้น โดยเฉพาะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ หรือพอแกลเลอรีหรือสเปซงานดีไซน์ไปกระจุกอยู่ในบางย่านมันก็ไม่ได้ส่งเสริมคนที่อยู่นอกบริเวณ ก็เป็น pain point ที่ทำให้กล้าเปิดร้านที่แบริ่ง” หลิงเล่าจากมุมมองของนักเรียนดีไซน์
“เราโตมากับสภาพแวดล้อมที่ทุกคนไม่ได้ทำอะไรอย่างเดียวแล้วคิดงานออก แต่ต้องทำสิ่งที่แตกต่างไปจากรูทีนเพื่อไดรฟ์ความคิดสร้างสรรค์ออกมา ถ้าเราทำอะไรเหมือนเดิมทุกวันไม่มีทางที่เราจะได้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป แต่ต้องไป explore อย่างอื่นด้วย ที่ตรงนี้ของเราจึงอาจเป็นเหมือนสมุดสเกตช์ของใครบางคนที่แค่รู้สึกเบื่อก็เลยนั่งวาดรูปไปเรื่อยๆ แล้วอยู่ๆ ก็รู้สึกว่า ‘เอ๊ะ ชิ้นนี้ดีจังเอาไปทำอะไรต่อดีกว่า’
“เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแบบนั้น ไม่ต้องไปเค้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมาแต่ทำแค่เพราะอยากสนุกก็ได้ ถ้าให้เทียบน่าจะเป็น second place ของดีไซเนอร์แล้วกัน เป็นที่รองรับไอเดียที่ทำให้เขาสบายใจที่ยังจะอยู่ในวงการนี้ต่อ”
“แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเราอยากซัพพอร์ต young gen เท่านั้นนะ” ไนน์รีบเสริม ถึงนิทรรศการครั้งที่ผ่านๆ มาจะมีส่วนผสมของดีไซเนอร์รุ่นใหม่เป็นหลักแต่ทั้งสองก็บอกว่าพวกเขาอยากชวนคนมาแลกเปลี่ยนไอเดียแบบไม่จำกัดรุ่นมากกว่า
และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นดีไซเนอร์เท่านั้นด้วย
“งาน Open Call หรืองานที่เราเป็นโฮสต์รอบที่ผ่านๆ มามีพี่ๆ ดีไซเนอร์มาเล่นด้วยเหมือนกัน อย่าง TNOP หรือ Teaspoon Studio ตามธรรมเนียมเราจะมี opening event เชิญพี่ๆ น้องๆ มา มันจะเกิดไวบ์ที่เขาได้แชร์กัน พี่ธี (ธีรนพ หวังศิลปคุณ) ก็มารอคุยกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่ามุมมองการทำงานในโลกที่เปลี่ยนไปมันเป็นยังไง เด็กๆ ก็ดีใจได้เจอพี่ธี พอมันเกิดไวบ์แบบนั้นมันก็เกิดความเป็นคอมมิวนิตี้ เป็นความตั้งใจที่เราอยากให้เกิดจุดตัด ทุกคนได้มาเจอกันที่นี่จริงๆ” หลิงว่า
“จริงๆ แท็กไลน์ของร้านที่ตั้งไว้แต่แรกคือ intersection where people connect ไม่ใช่แค่แก๊งดีไซเนอร์เท่านั้นแต่ people คือใครก็ได้ จะเป็นคนที่ชอบกินกาแฟ คนที่ชอบทำเฟอร์นิเจอร์ มาเจอกันที่ร้านแล้วก็แลกคอนแทกต์กันก็ได้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ลูกค้ามาเจองานที่ตั้งอยู่แล้วเขาก็หยิบนามบัตรไปหรือขอคอนแทกต์ดีไซเนอร์เลย มันเกิดการแลกเปลี่ยน การพบปะกันที่นี่ เราก็ดีใจที่มันเป็นอะไรสักอย่างจริงๆ”
X = Coffee, Y = Design
จับสิ่งหนึ่งมารวมกับอีกสิ่งเพื่อให้เกิดเป็นสิ่งใหม่
จับคาเฟ่มารวมกับโปรเจกต์สเปซ จับเอาความเป็นย่านโรงงานมาตีความเป็นการตกแต่งแบบอินดัสเทรียล จับงานดีไซน์มาใส่ในทุกจุดของร้าน ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ จนถึงที่รองแก้ว
กับการออกแบบเมนูเครื่องดื่มและเบเกอรี่ พวกเขายึดคอนเซปต์นี้ไว้ไม่ให้หลุดมือ
“เมนูหลักๆ ของเราจะเป็นการเอาวัตถุดิบหลักสองอย่างมาชนกันตามคอนเซปต์ X และ Y” ไนน์ยกเมนูเด็ดของร้านมาให้โชว์และให้ชิม ทั้งพานาคอตต้าเนื้อละมุนเจอกับซอสกาแฟเข้มๆ กินคู่กับ Sip x Crisp กาแฟดำเย็นๆ ท็อปด้วยครีมนมนุ่มๆ โรยคุกกี้ครัมเบิลกรอบๆ เมื่อจิบแล้วจะได้พบการรวมตัวของรสชาติและเทกซ์เจอร์หลากหลาย
“เรายังมีเมนูพิเศษเป็นเหมือนการค้นหาผลลัพธ์คิดจากโจทย์ X และ Y เหมือนกัน เอาอะไรมาเจออะไรแล้วก็ได้ออกมาเป็นเมนูนี้เราเลยเรียกว่า result of the month”
เมื่อเมนูพิเศษเปลี่ยนไป ดีไซน์โซนร้านกาแฟก็เปลี่ยนไปด้วยตามแต่ละธีม แม้ว่าจะไม่ถึงกับเปลี่ยนโครงสร้างหลักแต่การได้สังเกตการตกแต่งหรือรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ก็เพียงพอให้คนสนุกตาม
“จริงๆ ตั้งใจว่าจะทำทุกเดือนแต่ว่าตอนนี้ก็เอาเท่าที่ไหว (หัวเราะ)” หลิงแอบเสริม “แต่หลักๆ เลยเมนูพิเศษจะถูกโปรโมตในช่วงที่ไม่มีงานจัดแสดงเพราะเราจะมาโฟกัสกับสิ่งนี้ได้มากขึ้น และร้านก็จะได้ไม่เงียบเหงาเกินไปในช่วงที่ไม่มีนิทรรศการ
“เห็นได้ชัดเลยว่ามันเรียกคนกลับมาได้เยอะมากเพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะกินอะไรเหมือนเดิมทุกวัน บางคนเขาไม่ได้ทรีตกาแฟเป็น everyday drink แต่ว่าให้เป็นโอกาสสำคัญ กระทั่ง engagement ภาพเมนูพิเศษที่โปรโมตในออนไลน์ก็ยังดีกว่าเราลงรูปกาแฟเมนูปกติ มันสดใหม่ เขาก็อยากกลับมาดูว่าตอนนี้ร้านเราเป็นยังไง”
เมนูใหม่ก็มีมาเรื่อยๆ นิทรรศการก็หมุนเวียนมาไม่ซ้ำ คราวนี้คนคนหนึ่งจะไป XXXYYY กี่ครั้งก็ได้ จริงมั้ย
X = Creativity, Y = Neighborhood
XXXYYY ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท ไม่ไกลจากสถานีบีทีเอสแบริ่งมากนัก
จะว่าเดินทางสะดวกก็ใช่ แต่จะบอกว่าไกลย่านคาเฟ่และแกลเลอรีก็พูดได้เช่นกัน
“ตอนจะเปิดร้านที่นี่เราก็ไปเซอร์เวย์กับเพื่อน แทบทุกคนจะบอกว่า มึง จริงเหรอ แบริ่งคืออะไร” หลิงเล่ากลั้วหัวเราะ
“ถามว่าทำไมมันต้องอยู่ตรงนี้ เราคิดว่าทุกวันนี้ร้านที่มีบรรยากาศน่านั่ง มีเครื่องดื่มคุณภาพเสิร์ฟมันไปกองรวมกันในบางย่านทั้งที่คนในย่านอื่นก็ต้องการเหมือนกัน เลยคิดว่าเราลองออกมาเปิดร้านในย่านที่ไม่ได้เรียกว่าเป็นย่านคาเฟ่ ย่านดีไซน์ดีไหม อย่างไนน์เองบ้านอยู่แถวนี้แต่ต้องทนขับรถเข้าเมืองเพราะแค่จะไปหาที่นั่งที่มีไวบ์น่าทำงาน”
“แต่ยากไหม ยาก ไม่ง่ายเท่ากับเปิดในทองหล่อ อารีย์เลย” ไนน์ที่รู้จักย่านนี้ดียังยอมรับ
“จริงๆ ตอนเปิดร้านคนแถวนี้ตื่นเต้นมากนะเพราะเราติดสติกเกอร์สีๆ เต็มหน้าร้านไปหมดเลย หน้าตามันตะโกนมาก กรี๊ดมาก คนไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรแต่เข้ามาก่อน สิ่งที่เราต้องทำคือจับเขาให้อยู่ ช่วงแรกๆ ก็ยากเพราะว่ากาแฟ specialty มันไม่ง่ายสำหรับคนนอกเมือง ยิ่งตอนแรกเมนูไม่เยอะ ขายแต่กาแฟ single origin กาแฟคั่วอ่อน ไม่มีเมนูกาแฟแฟนซี เมนูที่คนชอบอย่างเดอร์ตี้ก็ไม่ทำ เราก็ต้องมานั่งปรับเมนูกันใหม่ ปรับตัวให้เข้ากับย่าน 3 เดือนแรกเราก็พอจับทางได้ว่าคนต้องการเมนูที่ไม่ใช่กาแฟด้วย”
“ก่อนเปิดร้านเราคุยกับพี่ๆ ที่ทำร้านกาแฟ เขาบอกว่าช่วงแรกๆ ให้ถามลูกค้าเลยว่าเป็นคนที่ไหน อยู่แถวนี้หรือเปล่า เราจะได้รู้ว่าคาแร็กเตอร์ของลูกค้าที่ตั้งใจมาไกลๆ กับลูกค้าที่อยู่แถวนี้ความต้องการเป็นยังไง” หลิงขยายความ
“คือคนที่ตั้งใจมาจากที่ไกลๆ ส่วนใหญ่จะมา hunt มาหาซิกเนเจอร์และดูบรรยากาศ เราเสิร์ฟอะไรเขาพร้อมจะกินแต่คนที่เป็นเพื่อนบ้านเราเขาต้องการความอุ่นใจว่ากาแฟที่เขาจะมากินทุกวันรสชาติมันประมาณไหน เขานั่งทำงานที่นี่ได้ไหม ซึ่งได้ เรามีปลั๊กแล้วก็มีระบบสมาชิก ถ้ากินครบ 10 แต้มก็เอามาแลกเครื่องดื่มฟรีได้แก้วนึง
“ถามว่าทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน เพราะคนกลุ่มที่เป็น cafe hopper ยังไงเขาก็มาอยู่แล้วแต่ลูกค้าที่ยั่งยืนยังไงก็คือลูกค้าแถวนี้ คือต่อให้เราไม่มีงานยังไงเขาก็มา”
“แต่หลักๆ คือเราอยากขยายและแนะนำความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนย่านนี้เพราะฉะนั้นเราเลยให้ความสำคัญ บางงานที่เราจัดแสดงมันอาจจะดูยากแต่ว่าถ้าเขาเข้ามาเขาก็โดนโอบล้อมไปด้วยบรรยากาศแบบนี้ ซึ่งก็นับเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว” ไนน์สรุป
X = Coffee Shop, Y = Consultant
หลิงและไนน์เริ่มต้นร้านนี้ด้วยการเรียนรู้เองทั้งหมด นอกจากรู้วิชาการทำร้านกาแฟ (และ Project Space) พวกเขายังรู้ว่าความลำบากของคนที่กำลังจะเปิดคาเฟ่คืออะไร
นั่นคือที่มาของโปรเจกต์ WXY ที่ปรึกษาแบบ one-stop service สำหรับคนที่อยากเปิดร้านกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นด้านกาแฟ เมนูอื่นๆ ดีไซน์ ไปจนถึงการบริหารร้านซึ่ง XXXYYY ทำร่วมกับเอี๊ยดแห่งร้าน Wonderroom
“หลิงกับไนน์ทำทุกอย่างด้วยตัวเองแต่แรก เจ็บปวดล้มลุกคลุกคลานกันมาเยอะ เพื่อนๆ เราเองเปิดร้านก็เจอปัญหามากมายเราเลยรวบเอาทุกปัญหาที่เคยเจอมาลิสต์เป็นเหมือนบทเรียนแล้วก็ทำเป็นเซอร์วิสให้คำปรึกษาสำหรับคนที่อยากเปิดร้านกาแฟ” หลิงเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนไนน์จะเล่าต่อว่า
“ตอนที่เปิดร้านมันก็ลำบากนะ แบบเราทำแบรนด์ดิ้งได้แต่อินทิเรียร์ต้องไปหาใคร เราจะทำกาแฟยังไง
“แล้วแต่ละที่เขาก็แยกกันอีก สมมติเราอยากเรียนเรื่องกาแฟก็ต้องไปหาสถาบันกาแฟหรือโรงคั่วที่จะช่วยเราได้ เราเลยรวบเป็น one-stop service เลยดีกว่า เราถนัดเรื่อง creativity และกาแฟ เอี๊ยดถนัดเรื่อง green beans หรือเมล็ดที่จะนำไปคั่วเลยมาทำร่วมกัน” ไนน์เสริม
เพียงเปิดเซอร์วิสมาไม่นาน ตอนนี้ WXY ให้คำปรึกษาแก่คาเฟ่ไปแล้วมากกว่า 5 แห่ง เช่น ออกแบบเมนูเครื่องดื่มให้ Stockroom ราชเทวี และเป็นที่ปรึกษาให้ Mad Bacon ร้านของชำรุ่นใหม่ในย่านอารีย์
“งานนี้ทำให้เรารู้สึกดี ถึงกับบางร้านเราจะไม่ได้ช่วยเขาทุกด้านแต่มันก็ทำให้เราได้เห็นความตั้งใจ เห็นร้านกาแฟเกิดใหม่ที่โฟกัสคุณภาพรอบด้านเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเรานับว่าเป็นเวฟที่ดีนะ” หลิงพูดด้วยรอยยิ้ม
XXXXYYY
ร้านเปิดมาได้ปีครึ่ง เคยจัดนิทรรศการรวมดีไซเนอร์มากมาย และกลายเป็นที่ปรึกษาร้านกาแฟเปิดใหม่ แต่หลิงและไนน์ก็ยังเห็นว่า XXXYYY พัฒนาได้อีกมากอยู่ดี
“เราอยากพัฒนาทุกด้านเลย ทั้งร้านกาแฟและโปรเจกต์สเปซ อยากให้อะไรกับคนที่มาแสดงงานได้มากขึ้น อย่างงาน Whatever Sticker (นิทรรศการที่ชวนศิลปินมาตีความสติกเกอร์ในแบบของตัวเอง) พวกเราดีใจที่ได้ทำเพราะว่าทุกคนที่มาแสดงงานเขารู้สึกจริงๆ ว่าลูกค้าหรือคนที่มาดูงานปฏิสัมพันธ์กับเขา เขาได้ฟีดแบ็กจริงๆ เราอยากให้บรรยากาศแบบนั้นขยายขึ้นอีกซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของพวกเราสองคนที่ต้องไปเรียนรู้วิธีจัดนิทรรศการให้คนดูมีส่วนร่วมไปด้วย ไม่ใช่แค่ใช้ตาดู แต่ว่าดูแล้วรู้สึก ดูแล้วเกิดอะไร เขาได้อะไรกลับไปจริงๆ” หลิงพูดด้วยความตั้งใจ
“ต่อไป XY อาจจะไม่ได้แปลว่าร้านก็ได้นะ อย่างงาน Whatever Sticker เราจะขยายมันขึ้นไปอีกก็ได้ ไม่ได้ยึดติดว่าต้องทำที่แค่ร้านของเราอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสเราก็อยากจับเพราะยังสนุกกับมันอยู่” ไนน์ซึ่งชอบนิทรรศการนี้เป็นพิเศษบอกก่อนหลิงจะทิ้งท้าย
“เราอยากมีโอกาสถ่ายทอดให้คนรับรู้ว่าเราว่าไม่ได้เป็นร้านที่มาได้แค่เพื่อเช็กอินหรือมีมุมถ่ายรูปสวย แต่ว่าเป็นร้านที่ใครมาก็ได้ไวบ์อะไรบางอย่างกลับไปเพื่อต่อยอด
“เราชอบเวลาคนรีวิวว่ามาร้านนี้สนุก ชอบคำนี้ อยากคีปความรู้สึกนั้นไว้แล้วก็ทำให้มันสนุกยิ่งๆ ขึ้นไป”