สบายอกสบายใจ

หลัก 4P+1 ของ Younglek UNDER แบรนด์ชุดชั้นในที่ไม่ทำการตลาดแต่ลูกค้ายอมรอสินค้าข้ามเดือน

หลังกลับบ้าน ถอดรองเท้า วางกระเป๋า ไอเทมต่อไปที่ผู้มีหน้าอกหน้าใจหลายคนปลดออกไปจากร่างกายคงหนีไม่พ้นเสื้อชั้นใน แต่ถ้าจะอยากสบายจนไม่ต้องถอด เราขอแนะนำแบรนด์ชุดชั้นใน Younglek UNDER

แต่ถ้าได้รู้จักชุดชั้นในสุดคราฟต์ของ Younglek UNDER ความสบายอาจทำให้ใครหลายคนลืมถอดไปเลย

Younglek UNDER คือแบรนด์ชุดชั้นในของ เล็ก–ภัทรสิริ อภิชิต ที่หลายคนตกหลุมรักดีไซน์วินเทจและสีย้อมธรรมชาติตั้งแต่แรกเห็น (เราก็ด้วย!) และยิ่งรักปักใจเมื่อใส่แล้วได้สัมผัสความสบาย ทั้งสบายตัวจากผ้าที่เลือกใช้และสบายใจที่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากค่านิยมความสวยความงามของสังคม

younglek under

จากความอึดอัดนิดๆ ไม่สบายตัวหน่อยๆ เมื่อใส่ชุดชั้นในสำเร็จรูป เธอชวนแม่ซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อลองออกแบบชุดชั้นในผ้าแบบสาวๆ รุ่นแม่ ใช้ผ้าที่เหมาะกับอากาศเมืองร้อนสำหรับคนที่ต้องการเลี่ยงเส้นใยสังเคราะห์ ก่อนเอะใจว่านอกจากตัวเองก็น่าจะมีคนอื่นๆ ที่เจอปัญหาไม่ต่างกัน แบรนด์ Younglek UNDER จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นชุดชั้นในสำหรับคนที่ต้องการความสบายที่แตกต่าง

นอกจากชุดชั้นใน ธุรกิจของเล็กก็ดำเนินไปแบบสบายตัว หลังเปิดมาเกือบ 6 ปีเธอมีพนักงานแค่สามคน (รวมตัวเองแล้ว) ไม่มีสินค้าสต็อกไว้แต่เปิดจองแบบพรีออร์เดอร์เป็นรอบ เฉลี่ยปีละเพียงสองรอบ ไม่ทำมาร์เก็ตติ้ง ไม่เคยลดราคา และไม่มีโปรโมชั่นใดๆ แต่ลูกค้าก็สั่งจนเต็มโควตา​ทุกครั้ง (บางทีก็เกิน) แถมยังพอใจจะรอสินค้านานหลักหลายเดือน

เล็กทำยังไงให้ผู้หญิงหลายคนเทใจให้ชุดชั้นในที่เธอทำ?

คำตอบซ่อนอยู่ในหลัก 4P+1 ที่ไม่ได้อิงจากตำราการตลาดเล่มไหน แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสบายตัว สบายใจของคนทำและคนใส่ล้วนๆ

younglek under

Product
ความสบายที่เป็นตัวเอง

เล็กนิยามชุดชั้นในของเธอง่ายๆ ว่าเป็น ‘ชุดชั้นในทางเลือก’ สำหรับคนที่ตามหาชุดชั้นในที่ใส่สบายแต่ใส่แล้วยังสวย เห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกดี

สบายแรกคือสบายร่างกาย เริ่มจากวัสดุที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘ผ้า’

“เราประสบปัญหากับการใส่บราที่ทำมาจากผ้าเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าไนลอน เรารู้สึกว่ามันร้อน แล้วก็อบ ถึงจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้แห้งไวเราก็ยังไม่ค่อยแฮปปี้ ขณะที่ผ้าที่เป็นเส้นใยธรรมชาติมันเฟรนด์ลี่กับเรามากกว่า ฉะนั้นผ้าที่เราตามหาคือผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์”

คุณสมบัติของผ้าที่เล็กตามหาคือถ่ายเทอากาศได้ดี หนาพอที่จะอยู่ทรงแต่บางพอให้จักรเย็บผ้าสามารถสร้างรายละเอียดโค้งเว้า เข้ามุมของชุดชั้นในได้ และที่สำคัญคือทนทาน เพราะท้ายที่สุดแล้วชุดชั้นในก็เป็นของใช้ที่เล็กหวังให้อยู่คู่กายไปนานๆ

younglek under
younglek under

ในรุ่นแรกๆ เล็กไปเดินเลือกผ้าลินิน ผ้าฝ้ายญี่ปุ่นลายน่ารักจากพาหุรัดมาใช้ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นผ้าฝ้ายอินทรีย์ที่ปลูกและทอในเมืองไทย กระทั่งล่าสุดที่เธอค้นพบผ้าที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสบายและสิ่งแวดล้อมที่เล็กใส่ใจ

และนั่นคือความสบายอย่างที่สอง คือสบายใจที่ชุดชั้นในเป็นมิตรต่อโลก

“ล่าสุดผ้าที่เราใช้เป็นผ้าฝ้ายออร์แกนิคผสมกับผ้าฝ้ายรีไซเคิลตรงตามแนวทางที่เราสนใจคือการนำสิ่งทอหรือสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป เราก็รู้กันอยู่ว่าการปลูกฝ้ายใช้น้ำเยอะและถ้าไม่ปลูกแบบอินทรีย์จะใช้สารเคมีเยอะมาก ฉะนั้นการที่มีคนที่ทำผ้าแบบนี้ก็ค่อนข้างตอบโจทย์

“ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากจะให้มันเป็นสินค้าที่ไม่เหลือทิ้งเป็นภาระกับโลกนี้ อยากให้มันย่อยสลายได้ทั้งชิ้นเลยหรือไม่มีส่วนผสมที่ไม่ใช่ธรรมชาติเลย”

แล้วอะไรทำให้ชุดชั้นใน Younglek ยังย่อยสลายไม่ได้ทั้งชิ้น–เราสงสัย

เล็กชี้ไปที่ตัวปรับสายบราขนาดเล็กจิ๋วเป็นคำตอบ

younglek under

“นี่เลย พวกอุปกรณ์แบบนี้ ตอนนี้เราใช้อุปกรณ์พลาสติกอยู่ หรืออย่างฟองน้ำในบราตอนนี้ก็ยังเป็นวัสดุสังเคราะห์อยู่ ซึ่งเราก็พยายามมองหาทางเลือกอื่นมาทดแทน

“ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นอีกคือเราอยากให้วัสดุทั้งหมดที่ใช้ผลิตในประเทศหรือมาจากผู้ผลิตรายเล็กๆ อยากซัพพอร์ตธุรกิจเล็กๆ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่คนอยากจะผลิตสินค้าออกมาเร็วๆ ในปริมาณมากๆ มันยากที่จะรักษาความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้ก็เลยคิดว่าคนที่เขาเลือกทำธุรกิจเล็กๆ คือคนที่เลือกแล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันอยู่ในสมดุล คือผลิตสินค้าที่คนต้องใช้แต่ก็ไม่ทำมากจนเกินไป ไม่ได้สนับสนุนการบริโภคจนเกินพอดี”

และธุรกิจเล็กๆ อย่างหนึ่งที่เธอสนับสนุนคือช่างย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ ที่มาของสีบราน่ารักๆ อย่างสีคราม สีเขียวหูกวาง หรือสีชมพูแก่นฝางที่เราพยายามเลือกเท่าไหร่ก็ตัดสินใจไม่ได้สักที

โชคดีที่เล็กเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกคัสตอมชุดของตัวเองได้เต็มที่ ถ้าเลือกสีไม่ได้จริงๆ จะจับคู่ชิ้นบนกับชิ้นล่างเป็นคนละสีก็ยังไหว นำมาสู่ความสบายที่สาม คือสบายใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง

เล็กหยิบชุดออกมาให้ให้ดูแล้วค่อยๆ อธิบายว่าลูกค้าสามารถเลือกคัสตอมทรง สี ไซส์ได้ตามใจ และแม้จะมีขนาดมาตรฐาน S M L เอาไว้ให้แต่ถ้าใครอยากได้ไซส์ที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น หรือแม้กระทั่งปรับดีเทลนิดๆ หน่อยๆ  สำหรับลูกค้าที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ทำบราที่ไม่ใส่ยางยืดเลยสำหรับคนแพ้ยางยืด หรือออกแบบ first bra ให้คุณแม่ที่มีลูกสาวเข้าวัยรุ่น เล็กก็ยินดี

“เรามีไซส์เบื้องต้นเพื่อความสะดวก คนที่รูปร่างตรงตามไซส์นั้นก็เลือกสั่งได้เลย แต่สำหรับคนที่ไซส์ไม่ตรง S M L ก็สามารถวัดตัวมาให้เราได้ เราอยากให้ทุกคนมีทางเลือก ไม่อยากให้ใครรู้สึกว่ารูปร่างของตัวเองเป็นข้อจำกัดหรือเป็นสิ่งที่ไม่เข้ามาตรฐาน” เล็กเล่าความเชื่อด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ 

“จริงๆ ถ้าไม่ลำบากเราก็อยากให้ลูกค้าวัดตัวแล้วสั่งตามขนาด เราจะบอกรายละเอียดว่าต้องวัดตรงไหนบ้าง วัดยังไงให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง ทุกวันนี้น้อยคนที่จะเคยวัดตัว วัดตัวเป็น หรือรู้ว่าตัวเองสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะเราซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจนชิน การวัดตัวมันเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เรารู้สึกว่าลึกๆ แล้วมันเป็นการยอมรับตัวเองนะ มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้คนหันกลับมารู้จักตัวเองในเบื้องต้น”

younglek under

จากที่แค่ตั้งใจให้ผู้หญิงทุกไซส์ได้สวมชุดชั้นในพอดีตัว เล็กบอกว่าการคัสตอมกลับกลายเป็นสเน่ห์ตกแฟนๆ ให้กลับมาซื้อ Younglek UNDER ครั้งแล้วครั้งเล่า

“การคัสตอมมันกลายเป็นประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ ทำให้ลูกค้าอยากสั่ง เขารู้สึกดีที่ได้ซื้อสิ่งที่เป็นของตัวเขาจริงๆ  ขณะที่ถ้าเราทำชุดเสร็จก่อนแล้วก็โพสต์ขายคนอาจจะไม่ได้สนใจหรือแย่งกันสั่งเท่ากับที่เขาได้เลือกเอง”

ฟังแล้วชุดชั้นในแบบนี้ช่างแตกต่าง ตอบโจทย์ช่องว่างที่มีในตลาด แต่เล็กก็ย้ำว่าเธอไม่ได้กำลังจะบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร คำว่า ‘ชุดชั้นในทางเลือก’ หมายถึงการเป็นทางเลือกให้คนที่ชอบของแบบนี้ได้ใช้ของแบบนี้ก็เท่านั้น

“จากประสบการณ์ของเราเองและที่คุยกับคนมา เรารู้ว่าถึงในท้องตลาดจะมีชุดชั้นในให้เลือกเยอะแต่เราก็ยังไม่เคยเจอที่ถูกใจ คนเรามีความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกันมากๆ ฉะนั้นเราก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะตอบโจทย์คนที่ชอบของแบบนี้ได้”

แล้วคุณละชอบชุดชั้นในแบบไหน

ไม่ต้องรีบตัดสินใจ ลองอ่านให้จบก่อนแล้ว Younglek อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ของคุณ

Price
ราคาคือคุณภาพสินค้าและคุณภาพชีวิต

บราของ Younglek ราคาเริ่มต้นที่ 750 บาท ส่วนกางเกงชั้นในราคาเริ่มต้นที่ 450 บาท

เทียบกับตัวเลือกในตลาดนี่ไม่ใช่ราคาตั้งต้นที่ถูกนัก แต่เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนและคุณภาพสินค้าขนาดที่ลูกค้าหลายคนออกปากว่าเล็กตั้งราคาต่ำไปด้วยซ้ำ

“เรามีช่างตัดเย็บคนเดียวเลยค่ะ” เล็กพูดถึงทีมที่เล็กสมชื่อ ทุกวันนี้เธอรับบทเป็นเจ้าของและดีไซเนอร์ มีแม่ซึ่งเป็นอดีตช่างตัดเสื้อนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษา และช่างตัดเย็บที่เคยทำงานกับคุณแม่อีกหนึ่งคน

“ชุดชั้นในมันมีดีเทลเล็กๆ เยอะมาก เช่นการกุ๊นขอบไม่ให้บาน หรือผ้าต้องไม่หนาแต่การเย็บก็ต้องแข็งแรง แล้วเราก็ทำดีไซน์ผ้าสองชั้นให้ถอดฟองน้ำได้ สวยงาม เราเคยลองให้ช่างอีกคนเย็บก็ออกมาไม่เหมือนกัน ทำยังไงก็ไม่เหมือนแต่เราอยากได้ของที่มีมาตรฐานเดียวกัน”

ราคายังมีที่มาจากความน่าปวดหัวของการคัสตอมไซส์อย่างละเอียดลออ

“แค่แต่ละออเดอร์สั่งไม่ซ้ำกันนี่มันก็ปวดหัวมากแล้วสำหรับช่าง (หัวเราะ)​ โชคดีที่ว่าเขาเคยทำงานคัสตอมเมดมาไม่อย่างนั้นคงไม่ยอมทำให้”

นอกจากราคาจะนำมาซึ่งคุณภาพสินค้า ยังสร้างคุณภาพชีวิตของช่างตัดเย็บที่ต้องสบายไม่แพ้บราที่ลูกค้าสวม

“อีกอย่างที่ทำให้มันมีราคานี้เพราะเราไม่ได้ผลิตแบบอุตสาหกรรม เราไม่อยากส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เหมือนใช้แรงงานทาส เราไม่ได้ให้ค่าแรงช่างเป็นวันหรือเป็นชั่วโมง แต่ให้ตามจำนวนชิ้นงานและให้ในราคาที่เป็นธรรม แต่ก่อนเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราให้เยอะหรือให้น้อยจนได้ไปเจอช่างที่เขาเย็บเสื้อสำเร็จรูป เราถึงเพิ่งรู้ว่าเย็บเสื้อเชิ้ตตัวนึงเขาอาจจะได้เงินแค่หลักสิบหรือบางทีเขาเย็บชุดราตรีทั้งชุดยังได้แค่ 300 บาท เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว 

“เราเติบโตมาในบ้านที่คุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อ คลุกคลีกับงานพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก เรารู้ว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่า มีราคาฝีมือที่เขาสั่งสมประสบการณ์มา โดยเฉพาะช่างที่มีฝีมือหรือว่าช่างที่ยังเย็บแบบคัสตอมเมดซึ่งจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็จะมีแต่เสื้อผ้าที่เป็นระบบอุตสาหรรม พยายามใช้คนน้อยที่สุด ใช้ฝีมือน้อยที่สุด ใช้เครื่องจักรให้เยอะที่สุด ฉะนั้นเมื่อเราทำงานกับช่างฝีมือ เราก็ควรให้เขาเต็มที่ให้เหมาะสมกับคุณภาพและความทุ่มเท

“ค่าแรงช่างคือต้นทุนอันดับหนึ่งของเราแต่มันก็เป็นชอยส์ที่เรารู้สึกดีมาก นอกจากเราได้งานที่ดีแล้ว ช่างได้ทำงานที่บ้านก็ได้ดูแลครอบครัว พ่อแม่ไปด้วย และไม่ต้องไปทำงานอยู่ในที่ที่ไม่สบาย”

Place
ชุดชั้นในที่ขายดีในโลกออนไลน์

สำหรับชุดชั้นในที่ไซส์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน Younglek เลือกเปิดหน้าร้านแค่ในโลกออนไลน์ นานๆ ทีถึงจะไปออกบูทตามมาร์เก็ตต่างๆ ให้ลูกค้าหายคิดถึง

แรกเริ่มเดิมที การมีแค่ร้านออนไลน์เป็นไปเพราะเล็กอยากทำแบรนด์ให้กระชับที่สุด แต่ไปๆ มาๆ เธอกลับพบว่าการขายออนไลน์นั้นเหมาะกับสินค้าชุดชั้นในมากกว่าที่คิด

“ตอนแรกเราเริ่มทุกอย่างแบบเล็กๆ แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะขายออนไลน์อย่างเดียว เรายังไปออกร้านบ้าง อยากให้เขาลองจนพอใจเลยแล้วค่อยซื้อแต่กลายเป็นว่าคนมาดูแล้วก็ อืมๆ เดี๋ยวไปสั่งออนไลน์นะคะ ไม่ค่อยมีใครลองค่ะ (หัวเราะ) 

“อาจจะเป็นเพราะว่า หนึ่ง คนค่อยๆ ชินกับการซื้อของ ซื้อเสื้อผ้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่า เอ๊ะ หรือจริงๆ แล้วเวลาที่ไปซื้อเสื้อชั้นในที่ห้างฯ เราก็ไม่ได้รู้สึก comfortable ที่จะลองอยู่แล้ว การซื้อชุดชั้นในออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่คนรับได้”

ช่วงหลังๆ เล็กจึงแทบไม่ได้ไปออกบูทขายตามงานแต่เน้นขายทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอย่างเดียวและขายดีทุกครั้งที่เปิดจอง แม้ว่าปีหนึ่งเธอจะโพสต์แบบนับครั้งได้ก็ตาม

“เราไม่ค่อยได้โพสต์ ไม่ได้ทำการตลาด ไม่ได้โปรโมทเพจ ไม่ได้ยิงแอด ไม่ได้ทำอะไรเลย (หัวเราะ)” เล็กไล่เรียงสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เราฟัง

“เราไม่ได้เป็นร้านที่ผลิตของได้ทีละเยอะๆ แล้วเอามาทำยังไงก็ได้ให้ขายได้เร็วๆ ของเรามันตรงกันข้ามทุกอย่าง กำลังการผลิตก็น้อย ทำก็ช้า รอก็นาน ฉะนั้นแค่จะโพสต์รูปอะไรสักอย่างระหว่างที่ให้ลูกค้าเขารอสินค้าเรายังไม่อยากจะโพสต์เลย เพราะทุกครั้งที่โพสต์หรือมีความเคลื่อนไหว อัพเดตอะไร ลูกค้าใหม่ก็จะอยากจะสั่งแล้ว เราไม่อยากปฏิเสธลูกค้า ขณะเดียวกันก็ไม่อยากกดดันช่าง เพราะว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ก็เลยไม่ค่อยโพสต์บ่อย”

younglek under

เราคิดเองว่าไม่แน่ การไม่ค่อยโพสต์อะไรก็อาจเป็นข้อดีทำให้หน้าร้านของเล็กไม่รกรุงรัง เข้ามาก็หาสินค้าเจอทันที บวกกับการอธิบายสินค้าอย่างละเอียดในแต่ละโพสต์ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ ความตั้งใจของแบรนด์ ไปจนถึงระยะเวลารอสินค้าก็มากพอที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจร้านโดยไม่จำเป็นต้องโพสต์ถี่ขนาดนั้น

“ก็เลยกลายเป็นว่าจริงๆ การขายชุดชั้นในออนไลน์ ตอนแรกดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็กลายเป็นว่าไปได้ดีเฉยเลย” เล็กสรุปสั้นๆ ได้ใจความ

Promotion
แบรนด์ที่ไม่ขายมากจนเกินไป

ตัวโปรดักต์ทำตรงข้ามกับตลาดมากแค่ไหน วิธีขายของเล็กก็ทำตรงข้ามมากเท่านั้น

นั่นคือ Younglek UNDER เป็นชุดชั้นในที่ไม่เคยลดราคา ไม่มีโปรโมชั่น ไม่มีแม้แต่นางแบบมาใส่ชุดให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเล็กไม่อยากชวนคนมาซื้อของที่ไม่จำเป็น

ร้านที่ไม่ชวนคนมาซื้อของของตัวเองมากเกินไปเป็นยังไงกันนะ

“เราอยากให้คนที่จะซื้อพิจารณาว่าเขาจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้จริงๆ หรือเปล่าโดยที่ไม่มีวัน 11.11 หรือ 12.12 มาเป็นตัวกระตุ้นให้ตัดสินใจ เราเลยไม่มีการเซลล์ใดๆ ทั้งสิ้น ราคานี้ก็ราคานี้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ซื้อ สมมติเราลดราคา 50% คนที่เขาไม่ได้ต้องการโปรดักต์เราตั้งแต่แรกเขาอาจจะอยากลองสนุกๆ แต่สุดท้ายพอเขาซื้อไปแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ เขาอาจจะไม่แฮปปี้กับราคา 50% นั้นด้วยซ้ำ แล้วเขาก็อาจจะใช้มันแค่ครั้งเดียว

“ที่ไม่ใช้นางแบบก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน เวลาที่เราเห็นโฆษณาอะไรสักอย่างเรารู้สึกว่าเราอยากได้ของชิ้นนี้ บางครั้งเราไม่รู้ว่าเราชอบของชิ้นนั้นหรือว่าเราชอบบรรยากาศของภาพนั้น เราชอบการสไตล์ลิ่งหรือเราชอบทรงผมของนางแบบ จริงๆ เราชอบอะไรกันแน่ เราอาจจะไม่ได้ชอบของชิ้นนั้นจริงๆ ก็ได้

“การมีนางแบบมันเรียกร้องความสนใจจากลูกค้าได้ดีก็จริง แล้วก็ทำให้ลูกค้าเห็นภาพว่าตอนอยู่บนตัวคนมันเป็นยังไง ถึงอย่างนั้นเรารู้สึกว่าไม่มีใครเหมือนใครอยู่แล้ว ฉะนั้นเราไม่อยากให้ไปติดภาพตามที่นางแบบใส่ ถ้าเราใส่แล้วไม่เหมือนอาจรู้สึกว่าตัวเราไม่ได้มาตรฐาน เราไม่ดีพอ แต่จริงๆ ทุกคนมีความงามเป็นของตัวเอง แค่คุณได้รับสินค้าเราแล้วคุณใส่นั่นก็คือออริจินัลแล้ว อยากให้ทุกคนแฮปปี้ที่เห็นตัวเองใส่”

เล็กแอบวิเคราะห์ว่าในโลกที่แบรนด์จำนวนมากเร่งเร้าให้เราซื้อสินค้าของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา การที่เธอไม่ผลักดันการขายจนเกินไปก็อาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อ พวกเขาก็อดทนรอได้ยาวๆ

“​​เราอาจจะไม่ได้พุชการขายมาก ไม่ได้เร่งให้เขามาซื้อ ก็เลยเจอแต่ลูกค้าใจดี ในขณะที่ทุกวันนี้คนใจร้อน ซื้ออะไรก็อยากจะได้ทันที แต่ลูกค้าเราเขาก็ทำใจไว้แล้วว่ารอไปเลย ยาวๆ ไป”

Purpose
แบรนด์ที่มีเป้าหมายมากกว่าหนึ่ง

‘P’ สุดท้ายที่ซ่อนอยู่ในตะเข็บชุดชั้นใน Younglek เล็กบอกว่ามันคือ ‘Purpose’

“Purpose ในทีนี้หมายถึงเหตุผลที่เราเลือกทำสิ่งนี้ Purpose มันสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นผู้บริโภคและคนทำ ยกตัวอย่างว่าทุกวันนี้เรามีร้านกาแฟเยอะมากเลย ทุกร้านมีโปรดักต์ที่ดีเหมือนกันหมด แต่งร้านสวย ราคาก็มีโปรโมชั่นแข่งกัน แต่ว่าร้านที่ดึงดูดเรามันจะเป็นร้านที่เขามีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจที่เรามองว่าพิเศษหรือว่าโดนใจเรามากกว่าร้านอื่นๆ เราเคยเห็นร้านกาแฟที่ zero waste แบบแข็งขันมากๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ถ้าเราจะอุดหนุนร้านสักร้าน เราก็อยากอุดหนุนร้านนี้”

ส่วนในฝั่งของคนทำ การมี Purpose จะเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของแบรนด์อยู่กับธุรกิจไปได้นาน โดยเฉพาะเมื่อ Purpose ของแบรนด์กับของคนทำซ้อนทับเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราเองเริ่มทำแบรนด์จากการอยากทำโปรดักต์ที่ไม่มีในท้องตลาด แต่อันนั้นมันก็อาจจะเป็นวัตถุประสงค์แค่ผิวๆ วัตถุประสงค์ที่อยู่ลึกๆ คือเราอยากพูดเรื่องค่านิยม เรื่องทัศนคติของผู้หญิงที่มีต่อตัวเอง  แต่อยู่ๆ ให้เราลุกขึ้นมาพูดมันตรงๆ เราก็ไม่ได้อยากจะทำแบบนั้น งานนี้เลยกลายเป็นงานที่ไปกับเราได้เรื่อยๆ เพราะว่ามันตอบความเชื่อของเราอยู่แล้ว เราไม่เบื่อที่เราจะพูดเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

“ทุกวันนี้การเริ่มธุรกิจอะไรมันดูง่ายแต่ purpose ที่เราเลือกทำมันจะยึดเราให้อยู่กับธุรกิจไปได้นานๆ เราคิดว่าการทำธุรกิจอะไรสักอย่างมันมีช่วงเวลาของมัน ถ้าเราทำแค่ประเดี๋ยวประด๋าว มาแรงแล้วก็จบไว ตัวเราเองอาจจะไม่ได้เรียนรู้ หรือยังไม่มีโอกาสพัฒนาตัวเอง อย่างตอนที่เริ่มทำ Younglek เราก็ไม่ได้ตั้งเป้าอะไรมาก แค่บอกตัวเองว่าเราจะลองทำมันไปโดยที่ไม่เลิกทำ ลองทำไปเรื่อยๆ ดูซิว่ามันจะพาเราไปถึงไหน”

แล้วการที่ยังทำ Younglek พาเล็กมาถึงไหน? เราถาม

“มันก็คือการตอบรับที่เราก็ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่ามันจะไปได้ถึงขนาดนั้นเลยเหรอ เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นทางเลือก โอ้โห เป็นตลาดนิชมากๆ เลยแต่ว่าผลตอบรับดีมากๆ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ดีไซน์แต่แรกว่าให้แบรนด์เป็นยังไง เราแค่ชอบของแบบนี้ สะดวกที่จะทำด้วยวิธีการแบบนี้ แต่มันก็เป็นสิ่งคนอื่นเขาก็ยอมรับกันได้ซึ่งถ้าเราเลิกทำไปก่อนเราก็คงไม่รู้ว่ามันมาได้ถึงจุดนี้”

เอาล่ะ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากรู้ว่าชุดชั้นในของเล็กเป็นยังไง ก่อนจะรีบไป CF ลองสูดหายใจลึกๆ คิดให้ดีๆ ว่าเราจำเป็นต้องมีสิ่งนี้หรือเปล่า

และถ้าคิดแล้วคิดอีกและตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องมี เลือกทรง เลือกไซส์ เลือกสีเอาไว้ แล้วรออุดหนุนแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ในรอบต่อไปได้เลย

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like