Open the Doll

‘ตุ๊กตานุ่มๆ’ กิจการร้อยปีของเพื่อนยามนอน จากสุภาพสตรีพิการ สู่ตุ๊กตาหมีที่โลกรัก 

ทุกวันนี้คุณมีตุ๊กตานุ่มๆ ไว้อุ้มเล่นหรือเข้านอนพร้อมกันบ้างรึเปล่า

อาจเป็นคำถามที่ฟังดูแปลกหน่อยสำหรับผู้ใหญ่แบบเราๆ แต่ทว่า กิจกรรมการซื้อตุ๊กตารวมถึงการพาสารพัดน้องนุ่มขึ้นเตียง เป็นเพื่อนนอนและพาเราไปสู่แดนฝันไปด้วยกันนั้นดูเหมือนกำลังกลับมาเป็นกระแส ทำให้ผู้ใหญ่แบบเราๆ รวมถึงชายหนุ่ม เริ่มกลับมาซื้อตุ๊กตากันมากขึ้น

การกลับมาของเหล่าตุ๊กตาในอ้อมกอดผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่เราอาจสังเกตได้จากหลายอย่าง ทั้งจากที่ผู้ใหญ่ห้อยตุ๊กตานุ่มๆ กันทั่วบ้านทั่วเมือง จากการที่อาร์ตทอยเริ่มผลิตตุ๊กตาประเภท plush doll กระทั่งกระแสการกลับมาของแบรนด์ตุ๊กตายักษ์ใหญ่จากอังกฤษอย่าง Jellycat ด้วยแบรนด์แปลงร้านขายตุ๊กตาให้กลายเป็นเหมือนร้านอาหาร ส่วนพนักงานก็เป็นเหมือนเชฟ บ้างก็แคชเชียร์หน้าร้านฟาสต์ฟู้ดที่คีบตุ๊กตารูปปลาทอดมาห่อกับกระดาษ หยิบตุ๊กตาขนมปังมาอบร้อน ฯลฯ

จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่เกือบครึ่งนอนกอดตุ๊กตา กระแสตุ๊กตาในฐานะวัตถุแห่งความอบอุ่นสัมพันธ์กับการเป็นเพื่อนในช่วงโรคระบาด เป็นตัวแทนของความห่วงใย เป็นเพื่อนทั้งในช่วงเวลาที่เราเจ็บป่วย เป็นตัวช่วยในยุคสมัยของความวิตกกังวล 

การกลับมาของเจ้าน้องนุ่มๆ ที่ใหญ่โตในระดับเกิดกระแสจับจ่ายและในฐานะที่แบรนด์ Jellycat กลับมาบูม ทรัพย์คัลเจอร์ขอชวนย้อนกลับไปยังจุดเริ่มของหญิงผู้คิดค้นตุ๊กตายัดนุ่น จากบริษัทของสุภาพสตรี ถึงหมีเทดดี้ และหมีคนดังที่เราน่าจะรู้จักล้วนเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อน

จักรเย็บผ้า ผ้าสักหลาด และตุ๊กตาช้าง

ตุ๊กตาฟังดูเป็นของสามัญที่น่าจะเก่าแก่และพบได้ในทุกวัฒนธรรม คืออยู่คู่กับอารยธรรมของเรามานมนานแล้ว อันที่จริงก็ถูกต้อง แต่ตุ๊กตาในสมัยก่อนอาจเรียกว่าเป็นตุ๊กตาเศษผ้าหรือตุ๊กตาผ้าขี้ริ้ว (rag doll) เป็นตุ๊กตาที่แต่ละบ้านจะใช้เศษผ้าเหลือๆ มาเย็บ ตามหลักฐานอาจพบได้ในหลุมศพของเด็กผู้หญิง ส่วนใหญ่จะเป็นการปะติดผ้าและยัดด้วยวัสดุเช่นผ้าหรือใยข้าวโพด 

ตุ๊กตาโบราณมักเย็บเป็นรูปเด็กผู้หญิง บ้างก็เป็นรูปคน มีหน้าบ้าง ไม่มีหน้าบ้าง ตุ๊กตาเหล่านี้มักเป็นของที่ให้เด็กๆ ไว้กอดไว้เล่นเพื่อความสบายใจ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือฝึกหัดให้เด็กๆ ดูแลสิ่งอื่นโดยมีลักษณะเสมือนกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นเพื่อนหรือเป็นน้องอีกคน

มากาเรต สไตฟ์ (Margarete Steiff)

การมาถึงของตุ๊กตาที่กลายเป็นสินค้าและกิจการสมัยใหม่จึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผ้าโดยเฉพาะผ้าพิมพ์สี การคิดค้นตุ๊กตาผ้าตัวแรกมักย้อนไปในปี 1880 ถึงสุภาพสตรีชาวเยอรมันชื่อมากาเรต สไตฟ์ (Margarete Steiff) เธอเป็นสุภาพสตรีที่เกิดในเมืองทางตอนใต้ของเยอรมนี มากาเรตป่วยเป็นโปลิโอเมื่ออายุได้ 18 เดือน แม้ว่าเธอจะเดินไม่ได้ และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแอ เธอเองนับเป็นคนที่สดใสและมีความหวังอย่างยิ่งคนหนึ่ง

เมื่ออายุได้ 17 ปี เธอเข้าโรงเรียนการเรือน ฝึกฝนด้านการเย็บปักและกลายเป็นช่างเย็บผ้า ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ผนวกกับได้เกิดเทคโนโลยีอย่างจักรเย็บผ้าขึ้น ด้วยเงื่อนไขด้านร่างกายที่มากาเรตอึดอัดใจในการทำงาน เธอจึงตั้งใจสั่งสมเงินจนซื้อจักรเย็บผ้าเป็นของตัวเองได้ ทั้งจักรเย็บผ้าตัวนั้นยังเป็นจักรเย็บผ้าแรกของเมืองที่เธออยู่ สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือจักรกลายเป็นเหมือนแขนขาซึ่งเข้ากับลักษะกล้ามเนื้อที่เสียหายจากโรคภัยของเธอ

ด้วยจักรเย็บผ้าและทักษะของเธอ มากาเรตเปิดร้านตัดเย็บ ขายผ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นกิจการของตัวเองได้ในปี 1877 ผ้าที่ขายในร้านมีความน่าสนใจคือเธอขายและเย็บผ้าสักหลาด (felt) ซึ่งนับเป็นผ้าชนิดใหม่ในสมัยนั้นเพราะเป็นผ้าที่ได้นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง จากที่มีความนุ่ม อุ่น เป็นเส้นใย ที่สำคัญ ยังเป็นผ้าชนิดบุกเบิกที่เธอมองว่าเหมาะกับการทำของเล่นให้เด็กๆ 

วันหนึ่งในปี 1880 มากาเรตไปเห็นแพตเทิร์นรูปช้างในนิตยสารแฟชั่นเล่มหนึ่ง เธอจึงทดลองเย็บเจ้า Elefäntle ขึ้นตามแบบในนิตยสารโดยใช้ผ้าสักหลาดเย็บ แรกเริ่มตั้งใจให้เป็นหมอนปักเข็ม ในที่สุดเธอพบว่าเจ้าผ้านุ่มๆ อัดด้วยนุ่นเป็นของเล่นที่เด็กจะชอบ เธอจึงทำตุ๊กตาสัตว์ออกมามากมายต่อจากช้าง ทั้งลิง ลา ม้า อูฐ หมู กระต่าย ไปจนถึงยีราฟ ตรงนี้เองก็ดูจะสะท้อนการที่ตะวันตกเริ่มมองเห็นสัตว์ที่มีความหลากหลายจากในหลายทวีปด้วย เจ้าตุ๊กตาจึงมีตัวแทนจากสารพัดสัตว์ที่ทั้งน่ารักและแปลกประหลาดมากมาย โดยเฉพาะช้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของเธอ

แรกสุดมากาเรตทำตุ๊กตาไว้แจกเป็นของขวัญสำหรับเพื่อนฝูง ญาติและลูกหลาน ด้วยความต้องการของผู้คน เธอจึงเริ่มผลิตตุ๊กตาและวางจำหน่ายในปี 1893 โรงงานตุ๊กตาในฐานะกิจการของเล่นของเธอได้รับการลงทะเบียนในสารบบบริษัท ของเล่นของโรงงานถูกนำไปร่วมจัดแสดงในงานของเล่นที่เมืองลีปซิก (Leipzig Toy Fair) โรงงานของเธอมีช่างเย็บ 4 ตำแหน่ง และจ้างช่างจากที่บ้านอีก 10 คน

ชีวิตของเธอนับได้ว่าเป็นชีวิตของผู้หญิงยุคใหม่และเป็นผู้ประกอบการหญิงในยุคแรกๆ ทีเดียว 

ตุ๊กตาหมีในตำนาน และอิทธิพลสู่หมีที่คุณรัก

ตุ๊กตาผ้าของสไตฟ์เป็นสินค้าที่โด่งดัง ขายดีเป็นที่นิยม หนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือการที่ตุ๊กตาเริ่มส่งออกไปขายในต่างประเทศ แถมไม่ได้วางในตลาดทั่วไป เพราะในปี 1895 บริษัททำสัญญากับห้างแฮร์รอดส์ และเริ่มขายตุ๊กตาที่แฮร์รอดส์ และขายมาจนถึงทุกวันนี้

สินค้าหรือตุ๊กตาตัวเด่นที่ถือว่าบริษัทสไตฟ์ให้กำเนิดคือตุ๊กตาหมี ตุ๊กตาหมีคิดค้นโดยหลานชายของมากาเรตที่ชื่อว่าริชาร์ดซึ่งเข้ามาทำงานในบริษัทช่วงปี 1897 ริชาร์ดจบประยุกต์ศิลป์จากสตุตการ์ตและศึกษาต่อที่อังกฤษ หลานชายคนนี้เองที่เป็นคนวาดแบบต่างๆ จากสัตว์ในสวนสัตว์ และเป็นคนออกแบบตุ๊กตาหมีโดยใช้ชื่อว่า ‘Bear 55 PB’

หมีของริชาร์ดขยับแขนและขาได้ ริชาร์ดเองเป็นคนที่เปลี่ยนวัสดุโดยใช้ผ้าที่เรียกว่าผ้าโมแฮร์ (mohair) เป็นผ้าขนนุ่มที่ได้อิทธิพลจากอาหรับ ผลิตจากขนแพะแองโกร่า (Angora) เลี้ยงมากในตุรกีและแอฟริกา ผ้ามีลักษณะนุ่ม ยืดหยุ่นคล้ายขนแกะ แต่ทนทานต่อการฟอกขัดสี ริชาร์ดเลือกใช้ผ้าจากโรงทอในดุยส์เบิร์กของเยอรมนี

หลังจากออกแบบและผลิตตุ๊กตาหมีสำเร็จ ในปี 1902 บริษัทก็นำตุ๊กตาหมีไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าของเล่นที่ไลป์ซิกเหมือนเดิม ผลคือมีนักธุรกิจอเมริกันเห็นและสั่งตุ๊กตาหมีไป 3,000 ตัว จังหวะประจวบเหมาะกับว่าปี 1902 เกิดเหตุการณ์หมีๆ และตำนานหมีเทดดี้แบร์ขึ้นพร้อมกัน

นอกจากจะมีการส่งออกตุ๊กตาหมีจากเยอรมนีแล้ว ในปีเดียวกันนั้น ในหน้าการเมืองสหรัฐฯ ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ไปล่าสัตว์และปฏิเสธที่จะยิงหมีดำที่จับได้ เหตุการณ์กลายเป็นการ์ตูน เรื่องราวอบอุ่นใจเรื่องความรักสัตว์เลยกลายเป็นกระแส ปีนั้นเอง มอร์ริส มิชทอม เจ้าของร้านขนมจึงทำตุ๊กตาหมี และขออนุญาตเอาชื่อเล่นประธานาธิบดีมาตั้ง จนเกิดเป็นหมีเทดดี้ (Teddy’s Bear) หรือหมีของธีโอดอร์ 

จุดนี้ไม่มีการเคลมว่าใครทำเทดดี้ตัวจริง แต่เราจะเห็นการเกิดขึ้นของสินค้าคือตุ๊กตาขนนุ่ม ตำนานการเมืองสหรัฐฯ จนเกิดความนิยมในตุ๊กตาหมีที่มีความน่ารักจากการกระทำของผู้นำ ผสมกับความน่ารักของความเป็นตุ๊กตาหมี 

ภายหลังถ้าเราดูไทม์ไลน์ กรณีตุ๊กตาหมี ทางแฮร์รอดส์เองก็มีการทำตุ๊กตาหมีของตัวเองจำหน่าย เป็นตุ๊กตาหมีที่กลายเป็นธรรมเนียมคริสต์มาสคือ Harrods Christmas Bears ซึ่งตุ๊กตาหมีคริสต์มาสของแฮร์รอดส์เริ่มขายตัวแรกตั้งแต่ปี 1896 แต่ละปีก็จะออกเจ้าหมีที่แต่งตัวไม่เหมือนกัน มีชื่อต่างกัน ปีแรกชื่อว่าสโนวี่ และล่าสุดปี 2024 ชื่อโนอาห์ 

นอกจากหมีคริสต์มาส แฮร์รอดส์ก็มีหมีของตัวเองที่กลายเป็นมาสคอตสำคัญ หมีของแฮร์รอดส์ชื่อว่าเฮนรี่ ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งห้างคือชาร์ลส์ เฮนรี่ แฮร์รอดส์ หมีของแฮร์รอดส์เริ่มปรากฏในแค็ตตาล็อกในปี 1906 และวางขายคู่ห้างมานับแต่นั้น  

หมีแฮร์รอดส์เข้ามาเกี่ยวกับชีวิตเราทางอ้อม ในปี 1921 นั้นเองมีนักเขียนซึ่งเป็นทหารผ่านศึกได้มาที่ห้าง นักเขียนท่านนั้นได้ซื้อตุ๊กตาหมีของแฮร์รอดส์กลับไปให้ลูกชาย ลูกชายของนักเขียนท่านนั้นมีชื่อว่าปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ ตุ๊กตาหมีตัวนั้นได้กลายเป็นทั้งสิ่งของที่พ่อให้ และกลายเป็นเรื่องราวของเจ้าหมีที่ชื่อ ‘วินนี่ เดอะ พูห์’ เรื่องราวที่ว่ากันว่า เอ.เอ. มิลน์ ตั้งใจเล่ารอยแผลสงคราม และพยายามเชื่อมต่อกับลูกผ่านชีวิตในป่าร้อยเอเคอร์

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของเหล่าตุ๊กตานุ่มๆ ที่เราอาจจะเห็นหรือมีอยู่บนเตียง เรื่องราวร้อยกว่าปีของประวัติศาสตร์ของเล่นเด็ก เรื่องราวของผู้หญิงในเมืองเล็กๆ ในเยอรมนีที่มีจักรเป็นแขนขา มีผ้าเป็นความรู้ มีหลานเป็นคนช่วยเหลือ 

ทุกวันนี้บริษัทสไตฟ์ยังวางสินค้าในแฮร์รอดส์และยังผลิตตุ๊กตาที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพสูง จากตำนานของหมีที่เกี่ยวข้องกับหนึ่งในประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รักคนหนึ่งของประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และย้อนกลับมาที่วัตถุฟูใจซึ่งกลายมาเป็นตัวแทนเชื่อมใจของพ่อลูก กลายเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกสำคัญของโลก

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like