The Lamborghini of Trail Running Shoes

รู้จัก Norda แบรนด์รองเท้าจากแคนาดาที่ถูกยกให้เป็น Lamborghini แห่งวงการวิ่งเทรล

รองเท้าดีไซน์สวยหาได้ไม่ยาก แต่รองเท้าที่ดีไซน์สวยและคุณภาพการใช้งานยอดเยี่ยมอาจหาไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับ ‘รองเท้าวิ่งเทรล’ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการครบทั้งสองข้อ

กล่าวเช่นนี้ อาจจะนึกว่าค่ายสามแถบ (Adidas) หรือค่ายสวูช (Nike) จะเป็นผู้ชนะในตลาดดังกล่าว ทว่านับตั้งแต่ปี 2021 กลับมีแบรนด์รองเท้าชื่อไม่คุ้นหูจากประเทศแคนาดา ตีตื้นขึ้นมารวดเร็วจนน่าเหลือเชื่อ กลายเป็นทางเลือกใหม่แก่นักกีฬาปอดเหล็กสายเทรลทั่วโลก

แบรนด์แบรนด์นั้นมีชื่อว่า ‘Norda’ (นอร์ด้า) นั่นเอง

แบรนด์ที่ไม่ได้มีการโปรโมตหวือหวา ไม่ได้มีพรีเซนเตอร์เป็นนักวิ่งชื่อดัง ไม่ได้มีช็อปใหญ่ตั้งตระหง่านใจกลางเมืองหลวงประเทศมหาอำนาจ มิหนำซ้ำยังถูกบ่นอุบว่า เป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่หาซื้อยาก แต่ทำไมใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ

ข้อสงสัยทั้งหมดที่ว่ามา เราขอชวนผู้อ่านร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันในคอลัมน์ Biztory ตอนนี้

1.
เมื่อดีไซเนอร์ที่ชอบวิ่ง อยากสร้าง ‘รองเท้าวิ่งเทรล’ ที่ทั้งดีและเป็นมิตรต่อธรรมชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 นิค และ วิลลา มาร์ติเร (Nick and Willa Martire) คู่สามี-ภรรยาชาวแคนาดา ต่างมีงานอดิเรกกันทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ คือการออกไปวิ่งเทรล พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ และผ่อนคลายไปกับต้นไม้เขียวขจีตลอดสองข้างทาง

กระทั่งวันหนึ่ง ขณะทั้งคู่ออกวิ่งอย่างที่ทำอยู่เป็นประจำ วิลลาเกิดตั้งคำถามกับสามีของเธอว่า “เราไม่สามารถสร้างรองเท้าวิ่งเทรลที่ดีกว่านี้ได้จริงๆ เหรอ?” 

คำถามที่ว่าสะกิดต่อมของนิคเต็มๆ เพราะตลอดอาชีพการเป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์รองเท้าวิ่งเจ้าดังหลายเจ้า ไอเดียการสร้างรองเท้าวิ่งเทรลของเขามักจะถูกปัดตก เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่มักต้องการเซฟค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต 

นั่นทำให้นักวิ่งเทรลล้วนมี pain point เดียวกัน คือรองเท้าของพวกเขามักจะพังง่าย ไม่ว่าจะส่วนอัปเปอร์ที่ทะลุ หรือแม้แต่พื้นที่เสื่อมสภาพไวก็ตาม การที่ต้องเปลี่ยนรองเท้าบ่อยนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความยั่งยืน 

จากประโยคคำถามสั้นๆ ที่ว่า จึงกลายเป็นโจทย์ให้ทั้งคู่สร้างรองเท้าวิ่งเทรลที่สวมใส่ดี และคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน

(ขวา) นิค และ (ซ้าย) วิลลา มาร์ติเร ในช่วงเริ่มก่อตั้ง Norda

2.
Dyneema วัสดุในฝันสำหรับสร้างรองเท้าวิ่งเทรล

เมื่อเป้าหมายชัดเจน นิค และ วิลลา มาร์ติเร ไม่รอช้า ติดต่อหาเพื่อนสนิทอย่างหลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ (Louis-Martin Tremblay) และเจราด คลีล (Gerard Cleal) ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดีไซเนอร์รองเท้าเช่นกัน เพื่อทาบทามมาร่วมโปรเจกต์ดังกล่าว

หุ้นส่วนทั้ง 4 คน ต่างพยายามเฟ้นหาวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเป็นมิตรต่อธรรมชาติ เพื่อสร้างรองเท้าวิ่งเทรลในฝัน ซึ่งช่วงแรกพวกเขามองไปที่ ‘Kevlar’ ผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ประเภท aromatic polyamide ที่มีความทนทานพิเศษ ถึงขั้นที่ผ้าใยสังเคราะห์ชนิดนี้ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน หรือสร้างชุดสำหรับนักบินอวกาศ

แต่พวกเขาก็มองว่ายังมีผ้าใยสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพที่เท่ากัน ที่ให้น้ำหนักเบากว่ามาก นั่นคือ ‘Dyneema’ เส้นใยที่ทนทานและเบาที่สุดในโลก ค้นพบโดย อัลเบิร์ต เพนนิงส์ (Albert Pennings) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เมื่อปี 1963 

เจ้าเส้นใย Dyneema มีการทดสอบแล้วว่ามีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเหล็ก 15 เท่า แต่กลับมีน้ำหนักเบาและมีขนาดบางราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น จินตนาการให้เห็นภาพคือ มีขนาดบางและเบาพอๆ กับกระดาษ

Dyneema ยังถูกใช้ผลิตเป็นชุดคลุมและกระเป๋าสำหรับปีนเขา

สำหรับเส้นใย Dyneema ที่พวกเขาเลือกใช้เป็นประเภท ‘Bio-based Dyneema’ ซึ่งเป็นเส้นใยที่สังเคราะห์มาจากวัสดุชีวภาพ เช่น กากไม้หรือเศษไม้ที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปกติแล้ววัสดุดังกล่าวมักนำไปใช้ผลิต trekking pole หรือไม้เท้าเดินป่า นี่จึงเป็นครั้งแรกของโลกที่มีผู้นำ Dyneema มาใช้เป็นวัสดุผลิตรองเท้า

ที่สำคัญ เส้นใยชนิดนี้ยังลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตได้มากถึง 90% การเลือกใช้วัสดุชนิดนี้ในการผลิต จึงเปรียบเสมือนการได้ช่วยโลกไปในตัว รวมๆ แล้ว นี่จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่พวกเขาตามหามาตลอด  

3.
ร่วมกับ Vibram สร้างพื้นรองเท้าชนิดพิเศษ

เมื่อส่วนอัปเปอร์คือวัสดุจาก Dyneema คำถามต่อมาคือ ในส่วนพื้นมิดโซล (พื้นที่ช่วงกลางของรองเท้า เป็นชิ้นส่วนเชื่อมต่อระหว่างผ้าและพื้นรองเท้า ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้สวมใส่สบาย) และเอาต์โซล (พื้นรองเท้า ช่วยยึดเกาะและทำให้การเดินมีประสิทธิภาพสูงสุด) จะใช้วัสดุประเภทใด? 

เพราะนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่มักบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า บริเวณพื้นนี่แหละคือส่วนประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุด และรองเท้าเทรลบางยี่ห้อก็มีพื้นที่หนาเทอะทะ และมีน้ำหนักมากแทบไม่ต่างจากรองเท้าเดินป่า 

ในระหว่างที่คิดไม่ตกนั้นเอง นิคนึกถึงแบรนด์ผู้ผลิตพื้นรองเท้าชื่อดังจากอิตาลีอย่าง ‘Vibram’ ซึ่งครั้งหนึ่งนิคเคยร่วมงานด้วย และรู้ดีว่าแบรนด์นี้คือที่สุดของผู้ผลิตพื้นรองเท้าวิ่งเทรล 

เมื่อนำโปรเจกต์ดังกล่าวไปเสนอ ทาง Vibram ใช้เวลาไม่นานนักก็ตอบรับข้อเสนอ ทั้งสองฝ่ายร่วมกันนำเสนอไอเดียเพื่อออกแบบพื้นรองเท้าที่เบา สามารถสวมใส่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม และต่อให้วิ่งไปในระยะทางหลายกิโลเมตรก็ไม่เกิดอาการพื้นยวบ ซึ่งเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักวิ่ง

ผลลัพธ์จากการระดมสมอง ปรากฏเป็นพื้นรองเท้าที่ทำจากโฟมชนิดพิเศษของ Vibram ที่มีน้ำหนักเบาแต่เฟิร์มกระชับ ไม่อ่อนยวบ ราวกับเหยียบอยู่บนก้อนเมฆ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทว่านี่ก็เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการหารือพัฒนาร่วมกันต่อไปอีกสักระยะ เพื่อหาจุดลงตัวที่ดีที่สุด

4.
ความภาคภูมิใจของแคนาดา ที่มีชื่อว่า Norda

หลังได้วัสดุครบถ้วนทั้งผิววัสดุ Dyneema และพื้นรองเท้าพิเศษจาก Vibram นิคและทีมใช้เวลาในฟาร์ม ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อดีไซน์หน้าตาของรองเท้าและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน โดยนอกจากทีมงานที่เพิ่มขึ้นมาอีก 5 คน นิคยังตระเวนสอบถามความคิดเห็นจากบรรดานักวิ่งเทรล ถึงรองเท้าในฝันที่พวกเขาอยากจะเห็น

  กระทั่งปี 2020 แบรนด์รองเท้าโลคอล จากแคนาดาจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ ‘Norda’ ซึ่งเป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า ‘North’ ชื่อนี้ถือเป็นการแสดงความภาคภูมิใจต่อประเทศแคนาดา บ้านเกิดของพวกเขาที่เป็นประเทศทางตอนเหนือ  

ส่วนผลิตภัณฑ์รองเท้าเทรลคู่แรกจาก Norda มีชื่อรุ่นว่า ‘Norda 001’ ความพิเศษของรองเท้าเทรลรุ่นนี้เริ่มจากส่วนอัปเปอร์ ที่ใช้เครื่องเลเซอร์ตัดผืนผ้าใบ Dyneema ออกมาเป็นชิ้นเดียว ทำให้ส่วนอัปเปอร์ ด้านบนไร้ร่องรอยการตัดเย็บและการเดินตะเข็บ เพื่อแก้ปัญหาการฉีกขาดระหว่างใช้งานได้ดียิ่งขึ้น แม้แต่ในส่วนของเชือกรองเท้าก็ทำจากวัสดุ Dyneema เช่นกัน

ต่อมาคือส่วนอินโซล หรือแผ่นรองเท้าด้านในที่ทำมาจากวัสดุประเภท TPU (Thermo Polyurethane Sole) ซึ่งตอบสนองต่อการลงน้ำหนักในการวิ่งแต่ละครั้งได้ดี และสุดท้ายคือส่วนมิดโซล และเอาต์โซล ที่ขึ้นรูปเป็นยางชิ้นเดียว 

พื้นของ Norda 001 เป็นพื้นชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า ‘Vibram Megagrip Litebase’ ความพิเศษนอกจากน้ำหนักที่เบา พื้นชนิดดังกล่าวยังถูกพัฒนาให้มีดอกยางลักษณะตัว v ที่ช่วยยึดเกาะทุกสภาพพื้นผิว ตั้งแต่พื้นดินโคลนเฉอะแฉะในช่วงหน้าฝน พื้นแข็งกระด้างในช่วงหน้าหนาว และพื้นอุณหภูมิสูงในช่วงหน้าร้อน

หลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ ดีไซเนอร์ของ Norda ลงมือออกแบบหน้าตาของ Norda 001 ในสไตล์มินิมอลเรียบหรู สามารถใส่ได้แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือต้องไม่เคลือบเงาเหมือนกับรองเท้าวิ่งทั่วไป เพราะการใช้สารเคมีเคลือบเงาจะทำให้ยากต่อการนำรองเท้าไปรีไซเคิลต่อ   

แม้กระทั่งกระดาษห่อรองเท้า Norda ก็ยังใช้น้ำหมึกที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติในการพิมพ์ลาย และผ่านการการันตีความปลอดภัยจากองค์การพิทักษ์ป่าไม้ Forest Stewardship Council (FSC)

แน่นอนว่าด้วยวัสดุคุณภาพทุกอณู ราคาเปิดตัวของรองเท้า Norda 001 จึงอยู่ที่ 265 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,500 บาท ผิวเผินอาจเป็นราคาที่สูง แต่หากเทียบสมรรถนะการใช้งานแล้วก็นับเป็นราคาที่คุ้มจ่าย

หลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ ผู้อยู่เบื้องหลังดีไซน์รองเท้า Norda 001

5.
รองเท้าที่นักวิ่งต่างคารวะให้เป็น ‘แลมโบกินี’ แห่งวงการเทรล

ภายหลังเปิดตัว Norda 001 ชื่อเสียงของแบรนด์โลคอลจากแคนาดาก็ค่อยๆ เป็นที่นิยมในหมู่นักวิ่งเทรล ถึงขั้นที่มีการตั้งสมญานามว่า ‘Lamborghini of Trail Running Shoes’ หรือ ‘แลมโบกินีแห่งวงการรองเท้าเทรล’  

เพราะจากข้อมูลของ Strava.Com เว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งคอมมิวนิตี้ของนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า รองเท้าวิ่งเทรลส่วนใหญ่มักมีอายุการใช้งานอยู่ที่ราว 500-600 กิโลเมตร ทว่ารองเท้าของ Norda แม้ผ่านไป 800 กิโลเมตร ก็ยังไร้ร่องรอยฉีกขาดให้เห็น 

แพททริก สแตงก์บาย นักวิ่งเทรลชาวนอร์เวย์ สวมใส่รองเท้า Norda 001 ขณะลงแข่งขัน

แม้กระทั่งนั่งวิ่งเทรลมือโปรหลายราย ยกตัวอย่าง แพททริก สแตงก์บาย (Patrick Stangbye) นักวิ่งเทรลชาวนอร์เวย์ สามารถทำลายสถิติวิ่งระยะทาง 100 กิโลเมตรภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยรองเท้า Norda 001 

ความโด่งดังของ Norda ยังลามไปถึงการคอลแล็บกับ Zegna แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ quiet luxury ผ่านการออกผลิตภัณฑ์ชุดกีฬาวิ่งเทรล และรองเท้ารุ่น 001 ที่ดีไซน์มีความเป็นยูนิเซ็กซ์สูง แต่แฝงด้วยคอนเซปต์การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

6.
จิตวิญญาณแห่งความคราฟต์

“ถ้าเราทำแบบนี้ต่อไป เราจะสร้าง Norda ได้อย่างยั่งยืน”

นี่คือคำตอบจากปากของ นิค มาร์ติเร เมื่อถูกถามว่า ทำไม Norda จึงเป็นแบรนด์ที่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แม้แบรนด์จะเริ่มแมส ไม่ใช่แค่ในเฉพาะกลุ่มนักวิ่ง แต่รวมไปถึงกลุ่มคนธรรมดาที่สนใจรองเท้าสุขภาพ กลับกัน Norda เลือกกระจายสินค้าผ่านแฟล็กชิปสโตร์ประเภทร้านรองเท้าสนีกเกอร์ หรือร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์เดินป่า

คำตอบด้านบนที่ได้ถ้าจะให้ขยายความ คือ Norda ยังคงพอใจในความเป็นแบรนด์โลคอลเล็กๆ แต่เปี่ยมคุณภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ทุกวันนี้การผลิตรองเท้าทุกคู่ของ Norda ยังคงใช้ ‘ฝีมือคน’ ในการประกอบอยู่ แต่หากเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น คุณภาพสินค้าก็อาจด้อยลง และอาจกระทบต่อเรื่องความยั่งยืนอีก

Norda จึงยังพอใจในการคราฟต์ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา เรียกว่า ค่อยๆ ก้าวไป แต่ก้าวอย่างยั่งยืนและมั่นคง ดีกว่ารีบวิ่งจนหมดแรง และถูกกลไกการตลาดดูดกลืนตัวตนที่สั่งสมมา 

ปัจจุบัน Norda กระจายสินค้าไปยังทั่วโลก จำนวน 27 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย หากใครสนใจอยากซื้อรองเท้าวิ่งเทรลของ Norda มาใช้งาน สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ nordarun.com/blogs/stories/q-a-with-patrick-stangbye-norways-007-of-the-trails

อ้างอิงจาก

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like