Let’s circulate the wonder of fashion!

จากแอพฯ สู่หน้าร้าน Hangles แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองที่อยากให้สายแฟได้แคร์โลกแบบไม่รู้ตัว

สายช้อป สายแฟซื้อเสื้อผ้าใหม่กี่ตัวต่อเดือน และมีเหล่าเสื้อผ้าเก่า (ที่จริงๆ ก็เพิ่งซื้อมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน) เบียดเสียดกันในตู้จนแทบไม่มีที่วางอีกกี่ตัว?  

เชื่อว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่อาจเป็นจุดร่วมของใครหลายคน ‘Hangles’ แพลตฟอร์มปล่อยเสื้อผ้ามือสอง โดยสองศรีพี่น้อง ลูกน้ำ–เพ็ญพิชชา สันตินธรกุล และ นุ่น–พิชชาธร สันตินธรกุล อาจเป็นคำตอบ 

เพราะเจ้าแอพพลิเคชั่นสีเขียวพร้อมโลโก้ H อวบอ้วน คล้ายไม้แขวนเสื้อประกบกันนี้ เปิดโอกาสให้เราเป็นได้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย นอกจากเราจะตามหาเสื้อผ้าตัวใหม่ที่ตรงใจในราคาสบายกระเป๋า แถมรับประกันความสะอาด สวย เป๊ะถูกใจได้แล้ว เรายังขายเสื้อผ้าที่เราไม่สปาร์กจอยเพื่อให้น้องๆ ได้มีชีวิตใหม่ได้เช่นกัน

ความน่าสนใจคือหลังจากเปิดตัวแอพพลิเคชั่นได้สักระยะ ทั้งลูกน้ำและนุ่นยังต่อยอดธุรกิจสายแฟที่แคร์โลกด้วยการเปิดหน้าร้านที่สยามสแควร์วัน ให้เหล่าคนรักเสื้อผ้าได้แวะช้อปและรักษ์โลกได้ง่ายกว่าเดิม กล่าวคือทั้งคู่ไม่เพียงเป็นแค่คนกลาง แต่ยังสร้างคอมมิวนิตี้ Hangles ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิด sustainable circulation 

แต่ท่ามกลางกระแสความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความยากของการเป็นผู้ประกอบการสายแคร์โลกก็มีไม่น้อย กลยุทธ์อะไรกันที่ทำให้ Hangles แตกต่างและเติบโตได้ขนาดนี้ เราขอชวนไปเปิดบ้านหลังแรกของ Hanlges เพื่อสนทนาถึงเบื้องหลังราวแขวนผ้าเหล่านี้กัน

มือสองไม่เป็นรองใคร

“ผู้หญิงซื้อเสื้อผ้าเยอะมากค่ะ เราเองก็ชอบซื้อเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว ก็เลยมีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ เอาไปขายก็ลำบาก” ลูกน้ำเริ่มต้นด้วยการหยิบประเด็นที่สาวๆ หลายคนรวมถึงตัวเธอและน้องสาวต้องเจอ  

ประกอบกับว่าในเวลานั้น นุ่นเริ่มอินกับวงการความยั่งยืนมากขึ้นจากการไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ ส่วนลูกน้ำเพิ่งเรียนจบและอยากทำธุรกิจของตัวเอง และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่สองพี่น้องจับมือกันว่าจะสร้างพื้นที่ตลาดนัดเสื้อผ้ามือสองให้อยู่บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เสื้อผ้ามือสองได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง 

หลังรีเสิร์ชอย่างหนักหน่วงถึงวงการแฟชั่นและความยั่งยืน ทั้งสองปล่อย Hangles เวอร์ชั่นแรกออกมาในรูปแบบเว็บไซต์ในช่วงปี 2020 หลังจากนั้นเกือบๆ หนึ่งปีจึงตามมาด้วยแอพพลิเคชั่น ผู้ใช้งานสามารถลงขายเสื้อผ้าที่ไม่สปาร์กจอยอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าไปส่องไปเล็งเพื่อรับน้องๆ คนใหม่มาสู่อ้อมอกอ้อมใจได้เหมือนกัน  

หลังจากเปิดให้ทุกคนได้เวียนของกันใช้ สิ่งที่ลูกน้ำและนุ่นพบคือกลุ่ม Hangles นั้นนิยมใส่เสื้อผ้ามือสองก็จริง แต่ไม่ถึงกับวินเทจจ๋า ส่วนใหญ่การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนในแอพฯ จึงมักเป็นการส่งต่อแบรนด์ดังในอินสตาแกรม หรือแบรนด์ที่คนนิยมในปัจจุบันที่ออกคอลเลกชั่นใหม่บ่อยๆ จนสายแฟใส่ไม่ทัน

หนึ่งในความพิเศษคือเราในฐานะคนอยากซื้อสามารถฟิลเตอร์ได้เลยว่าอก เอว สะโพก และความชอบของเราเป็นยังไง เพื่อให้เลือกซื้อเสื้อผ้าที่ตรงตามไซส์และตรงใจได้ง่ายขึ้น เพราะหนึ่งในปัญหาของเสื้อผ้ามือสองคือมักจะมีเพียงแค่ตัวเดียว ไซส์ และสีเดียวเท่านั้น 

“เราให้ความสำคัญกับตัวคนขายมาก เพราะความน่าเชื่อถือนั้นสำคัญกับภาพลักษณ์ของเสื้อผ้ามือสอง เรามี criteria ว่าคุณต้องส่งเอกสารอะไรบ้าง หลังจากผ่านเรามี verification ให้ เพื่อให้คนซื้อได้รู้ว่าคนขายคนนี้เป็นใคร” ลูกน้ำเล่าให้ฟังถึงสัญลักษณ์ติ๊กถูกในหน้าโปรไฟล์ เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ในแอพฯ ที่ช่วยให้การซื้อและขายเป็นไปอย่างราบรื่น 

ไม่เพียงแค่นั้น พวกเธอยังมีแฮชแท็กประจำ #สายแฟแคร์โลก ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะมองว่าการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามือสองไม่ได้ทำให้เราสนุกกับการแต่งตัวน้อยลง แต่กลับเพิ่มขึ้นมากกว่า ด้วยมีโอกาสได้เจอเสื้อผ้าหลากหลายสไตล์มากยิ่งขึ้น แต่ยังรักษ์โลกไปพร้อมๆ กันได้

“เราจะพูดตลอดว่าอยากให้ลูกค้ายังสามารถสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม คือใช้ชีวิตเหมือนเดิมเลย แค่ถ้าคุณอยากจะเลือกซื้อเสื้อผ้า ลองให้มือสองเป็นตัวเลือกแรกก่อน แล้วถ้าเกิดว่ามันไม่มีจริงๆ ค่อยขยับมา dead stock จากแบรนด์ต่างๆ ซึ่ง Hangles ตอบความต้องการของทุกคนได้” นุ่นอธิบายความตั้งใจ

พื้นที่ชุบชีวิตใจกลางสยาม

จากแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ นุ่นและลูกน้ำเพิ่มชีวิตชีวาและความจับต้องง่ายให้เสื้อผ้ามือสองยิ่งขึ้นด้วยการเปิดหน้าร้านในย่านวัยรุ่นตลอดกาลอย่างสยามสแควร์วัน ชั้น G หรือสยามฝั่งร้อนซอย 5 

ภายนอกเป็นร้านกระจกใสและกว้าง มองเข้าไปด้านในเห็นราวแขวนสีเขียวสลับสีน้ำเงินสดใส อัดแน่นด้วยเสื้อผ้าจำนวนมาก พร้อมไฟขาวสว่างช่วยขับเน้นให้เสื้อผ้ามือสองได้เฉิดฉาย ไม่ว่าจะกระเป๋า รองเท้า กางเกง ไปจนถึงเสื้อเบลเซอร์ 

“ลูกค้าส่วนใหญ่อยากให้มีหน้าร้าน เพราะอยากลองจับสินค้าจริงๆ ที่ผ่านมา เราเปิดป๊อปอัพสโตร์มาหลายที่ แต่ก็ยังไม่เจอที่ที่ถูกใจสักที่ ก่อนหน้านี้ก็เคยเปิดป๊อปอัพสโตร์ระยะยาวตรงสยามสแควร์ ซอย 2 กับ SC GRAND เราเห็นว่าการมีหน้าร้านออฟไลน์มันช่วยเยอะจริงๆ นะ เพราะลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น ซื้อเสื้อผ้าง่ายขึ้น เขาได้เห็นว่าเสื้อผ้ามือสองมันไม่ได้เป็นของเก่าและไม่สกปรก เหมือนเปลี่ยนภาพจำของเขาได้ประมาณหนึ่ง

“โลเคชั่นที่สยามมันหาที่ยากเพราะทุกคนก็จับจองกันไปหมด เราเดินดูตลอดว่าซอยนี้ ซอยข้างหน้า ซอยข้างหลังมีกลุ่มลูกค้าประมาณไหน เรารีเสิร์ชเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่เคยมีที่ว่างในซอยที่เราอยากจะได้ ในที่ที่เราคิดว่ากลุ่มลูกค้าเราอยู่ตรงนั้น จนที่นี่แหละที่เห็นแล้วแบบ เฮ่ย มันต้องที่นี่แหละ” นุ่นเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เธอและพี่สาวพากันส่องสยาม เพื่อตามหาทั้งกลุ่มลูกค้าที่เหมาะ และพื้นที่ที่ตอบโจทย์ 

“โจทย์แรกคือเราต้องการวางเสื้อผ้าให้เยอะที่สุด เพราะทุกแบรนด์มันมีแค่ 1 ตัว 1 ไซส์ 1 สีเท่านั้น เราอยากให้ลูกค้าเข้ามาเมื่อไหร่ก็เจอของที่ถูกใจทุกครั้ง ฝั่งขวาโซนสีเขียวเป็นคอนเซปต์เสื้อผ้ามือสองไปเลย อีกฝั่งนึงเป็นคอนเซปต์ Flaws to Fashion คือวางของที่มีตำหนิหลุด QC จากแบรนด์ 

“ส่วนภาพโดยรวมของร้าน เราอยากให้มันดูไลฟ์ลี่แต่ดูคูลอยู่ เราเลยเลือกใช้สีเขียวกับสีน้ำเงินเพื่อสร้างคอนทราสต์ และมันเป็นสีแบรนดิ้งของเราอยู่แล้วด้วย” นุ่นเสริมถึงคอนเซปต์หน้าร้านที่จัดวางชัดเจน ตลอดจนเหตุผลของสีสันสดใส และความปลอดโปร่งที่เรารู้สึกตั้งแต่แรกเดินเข้าไป

และด้วยความที่เสื้อผ้าบนราวที่เรียงกันอยู่นี้เป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่ละครั้งที่ลูกค้าเดินเข้าร้านย่อมต้องได้เจอของใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้ทุกครั้ง เพราะสินค้าจะนำมาแขวนขึ้นเรื่อยๆ ตามคิว ให้ทุกชิ้นได้มีแอร์ไทม์เป็นของตัวเอง 

“แน่นอนว่าไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ และมันจะไม่มีทางเหมือนกันทุกวันเลย ไม่ใช่แค่เดือนนี้หรือเดือนหน้า แต่ว่าวันนี้กับพรุ่งนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว” นุ่นเล่าด้วยสายตาเป็นประกาย

ไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่คือคอมมิวนิตี้สายแฟ

ทิศทางของความยั่งยืนในโลกแฟชั่นที่สองสาวตั้งเป้าไว้เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ จากคอมมิวนิตี้ในแอพพลิเคชั่นของพวกเธอ หลายคนตั้งตารอว่าของชิ้นนี้ ของเจ้าของคนนี้จะมาอัพเดตอีกทีเมื่อไหร่ หรือบางคนก็ขายเสื้อผ้ามือสองได้เยอะจนกลายเป็นรายได้หลักของตัวเองได้เลย นุ่นเสริมถึงการค่อยๆ โตของกลุ่มคอมมิวนิตี้นี้ว่า

“คอมมิวนิตี้มันเติบโตด้วยตัวของมันเองไปเลยค่ะ เหมือนลูกค้าไม่ได้รู้สึกว่าฉันต้องมาซื้อมือสองเพราะฉันจะรักษ์โลกอะไรอย่างนี้ มันเป็นการเติบโตอย่างธรรมชาติไปเรื่อยๆ” 

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ Hangles เติบโตได้ขนาดนี้คือการรับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้ามาปรับและพัฒนาให้ Hangles ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและตอบรับกับเทรนด์สายแฟแคร์โลกมากยิ่งขึ้น พวกเธอบอกว่าถ้าไม่มีฟีดแบ็กเหล่านั้น หลายฟีเจอร์ หลากฟังก์ชั่นก็อาจไม่เกิดขึ้นใน Hangles ลูกน้ำบอกกับเราว่าการเก็บฟีดแบ็กเป็นเรื่องที่พวกเธอทำกันเสมอๆ 

“เราเก็บฟีดแบ็ก บางทีก็สัมภาษณ์จริงๆ จังๆ คือทุกการเปลี่ยนผ่านของเรา เราจะรับฟีดแบ็กจากลูกค้าตลอด เรามีช่องฟีดแบ็กให้ลูกค้าเขียนมาเลยว่าอยากได้ฟีเจอร์อะไรบ้าง ทีนี้เราก็ต้อง prioritize ดีๆ เพราะว่าเราไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะทำทุกอย่างในครั้งเดียว” 

หนึ่งในโมเดลที่สะท้อนถึงการปรับปรุงตอบรับสายแฟจริงๆ คือการรับฝากขายสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลา ง่ายๆ คือเพียงส่งมาให้ Hangles ดูแล ทำความสะอาดให้อย่างดี ก่อนจะนำไปปล่อยต่อ

“ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราก็ต้องปรับตัวให้ทันว่าลูกค้าต้องการอะไร ตอนนี้โลกมันไปถึงไหน เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง และเราจะเสิร์ฟลูกค้าได้เร็วที่สุด สะดวกสบายที่สุดได้ยังไง บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนก็ต้องหาความรู้เข้าตัวเองตลอด ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนเราอีกทีหนึ่ง” ลูกน้ำย้ำให้ฟังถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่รอช้าไม่ได้ 

เติบโตไปพร้อมกันทั้งวงการ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตขยะออกมาเยอะในทุกๆ ขั้นตอน ในปี 2023 ที่ผ่านมา วงการแฟชั่นทั่วทั้งโลกผลิตขยะออกมาถึง 97 ล้านตัน ประกอบไปด้วยขยะจากสิ่งถักทอถึง 18 ล้านตัน ตลอดจนพลาสติกและสารเคมี การเปลี่ยนโลกแฟชั่นให้มาสู่ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องไปด้วยกันทั้งวงการ 

“สินค้าเพื่อความยั่งยืนส่วนใหญ่มักจะแพงกว่าปกติ เพราะกระบวนการผลิตค่อนข้างเยอะ แล้วประเทศไทยหรือว่าประเทศแถบเอเชียเป็นประเทศที่เสื้อผ้าราคาไม่ได้สูงถ้าเทียบกับในโลก พอราคาสินค้าเพื่อความยั่งยืนมันเพิ่มขึ้นเยอะเลยอาจจะยังไม่ถูกยอมรับขนาดนั้น” นุ่นเล่าถึงภาพปัญหาใหญ่ของวงการแฟชั่นและความยั่งยืน 

ความยั่งยืนของพวกเธอและแบรนด์ Hangles จึงไม่ใช่แค่การนำเสื้อผ้ามือสองกลับมามีชีวิตใหม่ เจอเจ้าของใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการจับมือร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ในไทย เช่น Highestjump, XYXX, Dressupcorner, Circularclub และอีกหลายๆ แบรนด์

“ปกติแบรนด์แฟชั่นจะทำสินค้าที่เกินเป็น dead stock มากกว่า 30% แบรนด์ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากรีเซลหรือไปจัดบูทเพราะทำให้เสียภาพลักษณ์ พาร์ตที่เราทำกับแบรนด์คือเอาสินค้า dead stock หรือไม่ผ่าน QC มาฝากเราขายแทน

“ข้อดีของมือสองก็คือมันเป็นความยั่งยืนในราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นธุรกิจของเราเลยยังอยู่ได้ อย่างแบรนด์อื่นๆ ที่มาฝากขายสินค้า dead stock ของแบรนด์เขาเองก็ยังสามารถควบคุมต้นทุนการเอามารีเซลได้” ลูกน้ำเล่า 

การร่วมมือกันระหว่าง Hangles กับแบรนด์ต่างๆ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้สายแฟแคร์โลกได้ซื้อของแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีตำหนิไม่มากยังคงมีประโยชน์ ไม่ถูกปล่อยทิ้งและลืมหายไปในโกดังสินค้า อีกการร่วมมือที่สำคัญคือการร่วมมือกับ SC GRAND เพื่อหาแนวทางให้เสื้อผ้าที่มีตำหนิจนอัพไซเคิลไม่ได้ 

“เพราะเราไม่อยากให้เสื้อผ้าแม้แต่หนึ่งชิ้นเลยที่ผ่านมือเราแล้วต้องไปเป็นขยะ แต่เพราะมันไม่ใช่ทุกชิ้นที่เอาไปขายต่อได้ มันจะมีบางชิ้นที่มีตำหนิมากน้อยไม่เท่ากัน ตัวตำหนิน้อยเราก็ส่งต่อให้กับดีไซเนอร์ ให้เขาเพิ่มมูลค่า ส่วนบางตัวมีตำหนิเยอะมาก เราก็เลยส่งไปรีไซเคิล แต่เราจะถามลูกค้าก่อนว่าเขาโอเคไหม ถ้าเขาอยากได้คืนเราส่งกลับคืนให้ แต่ถ้าเขาไม่อยากได้คืนเราก็จะส่งไปสู่กระบวนการต่อไป” ลูกน้ำเล่าให้เราเห็นถึงภาพกว้างที่พวกเธอวางไว้ว่า 

นอกจากเรื่องของการทำงานร่วมกันทั้งกระบวนการแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่นุ่นย้ำกับเราคือเรื่องของการร่วมมือกัน เธอบอกเสริมขึ้นมาว่า “มันเหมือนเป็นพลังของการ collaboration กับทุกคน เพราะเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง แล้วเราก็ต้องยอมรับด้วยว่าเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง และไม่ได้มีเวลาที่จะไปเก่งทุกเรื่อง การพาร์ตเนอร์ชิปกับคนเก่งมันจะทำให้ตัวเราสตรองแล้วเติบโตไปด้วยกัน ทำให้ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตเร็วขึ้น”   

“เราอยากเห็นภาพ ecosystem ของแฟชั่นเชื่อมโยงกันทั้งหมด เราต้องการทำให้ทั้งต้นน้ำไปถึงปลายน้ำของวงการแฟชั่นไม่เป็นขยะ Hangles จะค่อยๆ ปรับขาไปเรื่อยๆ ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ จนครบวง ecosystem จริงๆ” ลูกน้ำทิ้งท้ายถึงเป้าหมายที่อยากให้ Hangles เป็นจุดเชื่อมโยงให้วงการเสื้อผ้าและแฟชั่นเข้าใกล้ zero waste มากที่สุด 

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like