Songbird's Eye View
‘ท้อได้และไม่ต้องเพอร์เฟกต์ไปเสียหมด’ คุยกับ Songbird ในวันที่แบรนด์เดินทางถึงปีที่ 13
กว่า 10 ปีก่อน การจะหารองเท้าหนังสวยๆ ใส่สักคู่ไม่ใช่เรื่องง่าย
เชื่อเหลือเกินว่าจังหวะที่คนหลงรักความคลาสสิกคล้ายๆ กันกับเราได้เห็นรองเท้าหนังทรง Mary Jane และสารพัดทรงคลาสสิกที่ปั๊มแบรนด์ Songbird จะต้องหลงรักและอยากจับจองเป็นเจ้าของสักคู่ เพราะอาจเรียกได้ว่ารองเท้าจาก Songbird เป็นแบรนด์ที่บุกเบิกรองเท้ารูปแบบนี้ในไทย
ปัจจุบันรองเท้าหนังแนววินเทจที่ทั้งเก๋และใส่สบายมีให้เลือกหลากหลายแบรนด์ จะไทย จะเทศ จะพรีออร์เดอร์ หรือพร้อมส่งก็มีทั้งนั้น แต่ทั้งที่ในโซเชียลมีเดียของ Songbird ก็แทบไม่ได้อัพเดตข่าวสารอะไร ความเคลื่อนไหวของแบรนด์ก็น้อยกว่าแบรนด์น้องใหม่มากนัก แถมรองเท้าในชื่อ Songbird ยังไม่มีแบบพร้อมส่ง แต่ต้องสั่งทำ 10-14 วัน
ในบรรดารองเท้าเหล่านั้น ชื่อของ Songbird ก็ยังเป็นที่จดจำคล้ายเสียงนกร้องที่ก้องไปมายามเช้าตรู่
ไม่ไกลจากกลางกรุงมากนัก เราจึงมีนัดสนทนากับหญิงสาวเจ้าของ Songbird อย่าง น้ำ–ธันยพร สุรัตนชัยการ ถึงเส้นทางการทำแบรนด์จากตัวตนและความชอบของเธอเอง ตั้งแต่วันที่ทำแบรนด์ขึ้นมาจากความไม่มั่นใจ ไร้ business plan สู่วันที่ลูกค้าต่างเชื่อมั่นในชื่อนี้
ตลอดการสนทนา น้ำมักจะบอกว่าเธอเป็นคนเชยๆ ที่ไม่มั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ แต่เรากลับพบว่าในความเชย ความไม่มั่นใจที่เธอบอกนั้น กลับแฝงไปด้วยความสู้ในแบบของตัวเธอเองไว้อย่างดี
คุณมีเซนส์แฟชั่นตั้งแต่ตอนไหน
โห เร็วมาก ตั้งแต่เด็กๆ แม่เป็นคนแต่งตัวอยู่แล้ว แม่จะชอบพาเราไปซื้อเสื้อผ้ามือสองที่จตุจักร เราเลยเห็นเสื้อผ้ามาเยอะมาก แต่ถ้าให้ชอบจริงๆ น่าจะตอน ม.3 ที่อ่านการ์ตูน Ai Yazawa เราว่ามันโคตรน่ารัก
เราหยิบหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะอยากอ่านนะ แต่เพราะว่าปกมันสวยมาก เรานั่งเปิดดูภาพไปเรื่อยๆ และอินมาก จนพอเริ่มไปเรียนวาดรูปก็ได้เจอรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เขาเป็นติวเตอร์ จนตัดสินใจได้ว่าจะเรียนแฟชั่นดีไซน์
แล้วพอเข้าไปเรียนแฟชั่นมันเป็นแบบที่คิดไหม
ไม่เลย เรารู้สึกว่าฉันมาทำอะไรที่นี่เพราะเราถูกดูดความมั่นใจไปเยอะมาก มีแต่คำถามว่าเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยังไงเพราะทำอะไรก็เหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางไปหมด
สำหรับคนอื่นอาจไม่เป็นนะ แต่ด้วยความที่สไตล์เสื้อผ้าของเรามันก็เป็นแบบนี้ เรียบๆ เชยๆ มันเลยสวนทางกับแนวทางแฟชั่นในตอนนั้น จนคิดว่าเราคงไม่ไปทางนี้แน่นอน
ถ้าไม่คิดอยากมาสายแฟชั่นแล้ว Songbird เกิดขึ้นได้ยังไง
ก่อนหน้านี้ลองไปทำเบเกอรี ไปสมัครเป็นเชฟ ไปยืนขายคุกกี้ แต่เหมือนมันหนีไม่พ้น สุดท้ายเราก็รู้ตัวเองว่าเราชอบทำเสื้อผ้าที่สุด แต่เราไม่ใช่สายที่จะทำแบรนด์ขึ้นห้างที่ต้องทำงานกับดีไซเนอร์ดังๆ เพราะเราทำงานกับคนอื่นไม่ได้
ทีนี้มันโชคดีที่ว่าช่วงนั้นโซเชียลมีเดียก็กำลังมาเหมือนกัน แม้อินสตาแกรมจะยังไม่มาแต่เราก็เห็นว่าหลายคนทำแบรนด์ขายในเว็บไซต์บ้าง เฟซบุ๊กบ้าง เราเลยลองทำเล่นๆ ในแบบที่อยากทำซึ่งตอนนั้นเป็นสไตล์แม่บ้านญี่ปุ่น ขายตัวละ 700 บาท ต่างจากแบรนด์ขึ้นห้างสมัยก่อนที่ราคาหลายพัน
แล้วเราก็ชวนเพื่อนมาถ่ายกันเอง อาจจะเพราะว่าเพื่อนเป็นฝรั่ง คาแร็กเตอร์เลยไปดึงดูดลูกค้า พอลงภาพไปก็มีคนติดต่อมาซื้อ เราก็คิดว่าเฮ่ย มันก็ขายได้นี่หว่า
ครั้งแรกที่มีคนซื้อของคุณรู้สึกยังไง
ความที่เราไม่ได้หวังว่าจะขายได้ไหม แต่ทำขึ้นมาเพราะอยากใส่แบบนี้ พอมีคนซื้อเราก็ดีใจ มันก็ทำให้เรารู้ว่าโลกมันไม่ได้แคบขนาดนั้น เราไม่จำเป็นต้องดูถูกงานเราว่ามันจะเชยไหม คนจะว่าเราเพ้อหรือเปล่า
ตอนไหนที่คุณรู้สึกอยากจริงจังกับแบรนด์นี้
ทำอยู่หลายปีเลยนะ แล้วสไตล์ก็กระโดดมากเพราะเราอยากทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ได้แคร์ว่าเทรนด์เป็นยังไง เขาฮิตอะไรกัน ตอนที่เปิดหน้าร้านที่เทอร์มินอล 21 ก็ยังไม่จริงจัง เหมือนเด็กขายของเล่นมากกว่าเพราะเราขายได้แต่ขาดทุนทุกเดือน เพราะเราบริหารเงินไม่เป็น
เราไม่มี business plan เราไม่วางแผนคอลเลกชั่น คิดต้นทุนไม่ถูก คิดง่ายๆ ว่าถ้าขายได้มากกว่าต้นทุนก็คือกำไรแล้วแต่ลืมคิดไปว่ามันมีต้นทุนแฝงอีกมาก ทั้งค่าลูกน้อง ค่าสต็อกที่เหลือ ค่าผ้า แต่ขนาดขาดทุนขนาดนั้นเราก็ยังไม่รู้สึกอะไร คิดแค่ว่าเดี๋ยวมันก็คงดีขึ้นมั้ง
จนช่วงที่เราไปเชียงใหม่แล้วเริ่มสนใจเรื่องผ้าย้อมธรรมชาติ เราคิดว่าเราน่าจะอยู่เชียงใหม่ได้นะ พอกลับมาสัญญาเช่าหมดพอดีก็บอกป๊าว่าจะปิดร้านแล้วจะไปอยู่เชียงใหม่ อยู่ได้ 3 เดือนถึงได้รู้ว่า เชี่ย กูอยู่ไม่ได้นี่หว่า
เริ่มคิดได้?
เริ่มกลับมามองว่าจะวางแผนยังไง คิดเงินยังไง การตลาดเป็นยังไง โดยให้เพื่อนที่จบบัญชี จบการตลาดมาสอนให้ แล้วเราก็เริ่มหาคาแร็กเตอร์ของ Songbird
แต่เชื่อไหมว่าจนทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าแบรนด์นี้มันหน้าตาเป็นแบบไหน สไตล์อะไร มีแค่ลูกค้ากับคนรอบตัวเราเท่านั้นที่บอกได้ว่า Songbird หน้าตาเป็นยังไง แต่เราตอบไม่เคยได้เลย
คุณคิดว่าการหาคาแร็กเตอร์ของแบรนด์จำเป็นไหม
จำเป็น เราว่ามันทำให้กำหนดทิศทางตัวเองได้ ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นใคร เราจะไปที่ไหนก็ได้ ไปทางไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าเราเติบโต มันจะทำให้เราไม่ลืมว่าเราทำอะไรอยู่
แต่ก็อย่างที่บอก เราก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าสรุปแล้ว Songbird มันเป็นอะไร
ถ้าไม่รู้คาแร็กเตอร์ แล้วคุณใช้เกณฑ์อะไรบอกตัวเองว่านี่แหละคือสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ของ Songbird
ความชอบ
เราอาจจะไม่รู้ว่าภาพมันเป็นแบบไหนนะ แต่เราพอจะจับทางได้ว่าเราชอบอะไรที่มันเชยๆ คลาสสิก เราไม่ตามเทรนด์ เราไม่แฟชั่นจ๋า
แล้วเชื่อไหมว่าจากที่เราสังเกตลูกค้า สไตล์จะได้ตั้งแต่น่ารักไปจนถึงแนวเท่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัยเพิ่งเรียนจบหรือวัยทำงานแรกๆ เพราะถ้าเป็นวัยเราเขาจะเน้นของแบรนด์เนมกันมากกว่า
จาก Songbird ที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าแนวญี่ปุ่นๆ มาสู่ Songbird ที่ทำให้ปรากฏการณ์รองเท้า Mary Jane เกิดขึ้นได้ยังไง
ช่วงที่กลับมาจากเชียงใหม่อีกนั่นแหละ เราเป็นคนเท้าบานและหารองเท้าสวยๆ น่ารักๆ ใส่ได้ยากมาก ตอนนั้นก็นึกขึ้นได้ว่าเราเคยทำรองเท้าในงานทีสิสนี่หว่า เลยกลับไปหาช่างที่เขาขึ้นรองเท้าให้แล้วปรับแบบจนได้เป็นรองเท้าหนังคัตชูหัวแหลม
ปรากฏว่าขายดีจนหน้ามืด ขายจนตั้งตัวได้
ทำไมถึงขายดีขนาดนั้น
เราว่าเพราะ 8 ปีที่แล้วมันยังไม่มีแบรนด์รองเท้าสวยๆ เก๋ๆ ให้เลือกมาก ถ้าอยากได้รองเท้าที่นิ่มหน่อย ทรงดีหน่อยก็มักจะเป็นราคาขึ้นห้างแพงๆ ไปเลย ไม่ก็ดีไซน์ไม่ได้ แต่ของเรามันแตกต่างทั้งดีไซน์ และราคาตอนนั้นก็อยู่ที่ประมาณ 1,890 บาท
ยอดขายตอนนั้นมันก็ทำให้เรารู้ว่าเราทำรองเท้าได้นี่หว่า จากที่แต่เดิมตั้งใจทำรองเท้าเป็นไอเทมเสริมเพื่อคอมพลีตลุคเฉยๆ กลายเป็นว่าตอนนี้เสื้อผ้าเป็นไอเทมเสริมของแบรนด์ไปแล้ว
ตอนนี้แบรนด์รองเท้าเก๋ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ต่างจากสมัยที่ Songbird เริ่มทำรองเท้าใหม่ๆ คุณคิดว่าอะไรทำให้คนยังนึกถึง Songbird อยู่
เรารู้สึกว่าเราสู้ ถ้ามาดูคุณภาพรองเท้าที่เราทำ มันเทียบรองเท้าคู่ละ 8,000-9,000 บาทได้เลยนะ เราว่าความตั้งใจที่จะทำของดีให้ลูกค้านี่แหละที่ทำให้เรายังอยู่จนถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่ว่าเราเก๋กว่าใครหรอก
แต่ก่อนที่คุณภาพเราจะขนาดนี้ เราก็ผ่านการตั้งคำถามกับตัวเองมามากเหมือนกัน ตอนทำรองเท้าแรกๆ เราเน้นแค่ว่าทรงสวย ใช้หนังแท้ ขาย 1,890 ก็จบแล้ว ใส่ได้นานเท่าไหร่เราไม่ได้คิด แต่วันหนึ่งมันมีฟีดแบ็กว่าอยากให้เราทำรองเท้าให้ใส่ได้นานขึ้น เราก็คิดว่าแล้วมันไม่นานตรงไหนวะ มันมีอะไรผิดพลาดไปเหรอ
เราเลยเริ่มปรับคุณภาพให้มันดีขึ้น เปลี่ยนพื้นไม้อัดเป็นพื้นหนังทั้งหมด ข้างในก็ซับหนังแท้ซึ่งมันแพงมากนะ แต่เราก็กัดฟันสู้ เพราะแต่ก่อนจะมีปัญหาว่าตรงส้นที่ใช้ไม้อัดขึ้นรูปมันทำให้พื้นหักง่าย ซึ่งมันตรงข้ามกับความตั้งใจของเราที่อยากทำรองเท้าที่ลูกค้าใส่ได้ทุกวัน ดังนั้นเราก็ควรจะทำรองเท้าให้ทนกว่าเดิม
ตอนนี้ถ้าถามเราว่าระหว่างดีไซน์กับคุณภาพเราก็คงจะตอบว่ามันต้องไปด้วยกัน เพราะอย่างรุ่นแคลร์ที่เพิ่งปล่อยออกมาเราก็ตบตีกับช่างนานมาก เพราะตอนแรกมันยังไม่ได้ใส่คุชชั่นซึ่งสวยมาก แต่มันจะกัด เราเลยต้องพยายามหาวิธีที่ทำให้มันไม่เหมือนรองเท้าเพื่อสุขภาพ แต่ก็ยังต้องใส่สบายด้วย เพราะเราอยากให้ลูกค้าใส่แล้วภูมิใจ
แต่กับบางรุ่นที่เราไม่ได้ใส่คุชชั่น เพราะว่ามันขึ้นกับรูปเท้าของลูกค้าแต่ละคนด้วย กับบางคนรูปเท้าแบบนี้ก็ไม่กัด บางคนก็โดนกัด
คุณภาพที่สูงขึ้นเป็นที่มาว่ารองเท้า Songbird ต้องพรีออร์เดอร์เท่านั้น ไม่มีพร้อมส่งหรือเปล่า
ไม่เชิง เมื่อก่อนเราเคยสต็อกสินค้าแต่เราต้องแบกต้นทุนเยอะมากเพราะเราต้องสต็อกเป็นร้อยคู่ทำให้ต้องบวกราคาสินค้าเพิ่มเยอะ
เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าคนอยากใส่รองเท้าดีๆ ต้องจ่ายครั้งละหกพันเลยเหรอ แต่เราอยากขายรองเท้าหนังคู่ละสามสี่พันได้ไหม อีกอย่างถ้าสต็อกไปแล้วสินค้าเหลือก็ต้องเอามาเซลล์ซึ่งเราว่ามันเป็นอะไรที่สะเทือนใจคนที่เขารีบซื้อตั้งแต่แรกมากนะ เราเองแคร์ความรู้สึกลูกค้ามาก เรายอมลูกค้าด่าว่าส่งช้าดีกว่า เลยตัดสินใจว่าเราจะขายราคาประมาณนี้ที่คนเข้าถึงได้หน่อย แต่แลกกันว่าให้ลูกค้ารอพรีออร์เดอร์ 10-14 วัน
ลูกค้ายอมแลกไหม
มันก็ทำให้เราเสียโอกาสในการขายเยอะ ตอนแรกเราก็เครียดเพราะเราอยากขายได้ แต่เราพบว่าเดี๋ยวเดือนหน้าเขาจะกลับมาซื้อเพราะเขารู้แล้วว่าเขาต้องรอ อีกอย่างเรารู้สึกว่าเราทำได้แค่นี้ เรามีแค่นี้ ก็ไม่เป็นไรหรอก
การไม่สต็อกก็ส่งผลกับการวางขายหน้าร้านเหมือนกัน ปัจจุบันเราวางขายที่ร้าน H I D E . อย่างเดียว เพราะเรามองแล้วว่าเขาเลือกของดีและดูแลลูกค้าดี เทสต์เราไปด้วยกัน แต่เราก็ไม่ค่อยมีสต็อกไปให้เขา หรือบางครั้งร้านอื่นติดต่อมา ไม่ใช่เราไม่อยากไปนะ เราอยากไปแต่เราสต็อกไม่ไหวจริงๆ
แล้วตอนนี้เรียกว่าเป็นจุดพีคได้หรือยัง
ตอนนี้พีค อาจจะเป็นจุดสูงสุดในการทำแบรนด์เลยก็ได้ เหมือนคนเริ่มเก็ตว่าเราจะทำอะไร ออกอะไรมาคนก็เชื่อและซื้อของของเรา
แต่มันก็จะมีช่วงที่เรารู้สึกลังเลทุกเดือน แล้วเราก็กังวลว่าตัวเองจะหมดไฟไหม ยิ่งกว่านั้นคือกลัวว่าไอ้ความหมดไฟนี้มันจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เช่น พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า เพราะเราทำเองทุกอย่างยกเว้นเป็นแอดมิน มันเลยเหมือนกับว่าถ้าเราหมดไฟ มันก็ไม่มีคนมารันต่อแล้วนะ
ทำยังไงเวลาเกิดความรู้สึกแบบนั้น
ต้องเดินทาง ต้องหนีออกจากตรงนี้แล้วค่อยกลับมาคิดว่าจะทำอะไรต่อ
ก่อนโควิด-19 เราไปญี่ปุ่นปีละ 3 ครั้ง คือมันต้องออกไปดูอะไรที่มันซิวิไลซ์ เราไม่สามารถเดินห้างในไทยแล้วเกิดแรงบันดาลใจได้ เราต้องไปเดินในที่ที่เขาจริงจังเรื่องดีไซน์ ไปดูหนังสือ ไปดูวัฒนธรรมเขา
จนถึงจุดนี้ คุณคิดว่า business plan จำเป็นไหม
เราว่ามันขึ้นกับวิธีการทำงานของแต่ละคนว่าอะไรที่เหมาะกับเรามากกว่า อย่างตอนนี้เรายังไม่มีเลย เพราะเราทำงานคนเดียว อะไรไม่ได้ก็ไม่ต้องฝืน แต่ทำไปตามสัญชาตญาณ
แต่เราไม่ได้บอกว่ามีหรือไม่มีจะดีกว่านะ เพียงแต่สำหรับตอนนี้ เรายังรู้สึกว่าไม่มีก็ได้
เคยคิดไหมว่าแบรนด์ Songbird ในอนาคตจะเป็นยังไง
เราอยากทำของสวยๆ ที่ไม่จำกัดว่าจะเป็นอะไร ส่วนการทำรองเท้าเราก็อยากจะทำได้เองทุกขั้นตอน ถ้าเราทำได้ดีเราอยากทำแค่เดือนละ 10 คู่แล้วไม่ต้องสต็อก ไม่ต้องขายผ่านใคร แต่ให้ลูกค้ามาวัดไซส์ มาคุยกับเราที่นี่เพราะเราไม่อยากทำหว่านแล้ว เราอยากทำรองเท้า เสื้อผ้า หรือกระเป๋า ที่คอนเนกต์กับลูกค้าจริงๆ
แต่ก็ยังเป็นความฝันที่ไกลมาก
ก่อนจะไปให้ถึงความฝัน ในความจริงตรงหน้านี้ คุณคิดว่า Songbird ยืนถึงทุกวันนี้ได้ด้วยความเชื่ออะไร
เราเชื่อเซนส์ตัวเอง เพราะ Songbird มันคือตัวเราเลย และ Songbird ก็โตมากับเราจริงๆ
ตั้งแต่ทำเล่นๆ จนกระโดดไปทำสไตล์นั้นสไตล์นี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็อยากทำรองเท้า เหมือนมันเป็นที่ที่เราอยากทำอะไรก็ทำได้ มันยังเลี้ยงเราได้
ในความกังวลต่างๆ ว่าเราจะหมดไฟโน่นนั่นนี่ แต่เราก็ยังชอบมันมากจนอยากตื่นมาทำงาน ชอบแบบที่เรายังมีแรงทำมันต่อ มันก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ