Grow Story
เรื่องราวการเติบโตและวิธีทำงานกับเพื่อนในแบบของ Glow Story
ไม่ว่าจะเพราะไม่อยากให้ธุรกิจเจ๊ง หรือความสัมพันธ์จบ ก็มักจะมีคนหวังดีเตือนว่าห้าม ‘ทำธุรกิจกับเพื่อน’ เสมอ
ขณะที่ตำราธุรกิจของบางคนเขียนข้อห้ามนั้นไว้ตัวหนาๆ แล้วขีดเส้นใต้ storytelling agency ขนาดกะทัดรัดชื่อ Glow Story กลับเกิดขึ้นบนพื้นฐานความสัมพันธ์ของสามเพื่อนซี้ พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน, ป่าน–ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ และ บี๋–นภัส มุทุตานนท์ ที่เจอกันหลังเวที TEDxBangkok ปีแรก
ม่านปิด Glow Story เปิด และดำเนินกิจการมาได้ถึง 7 ปี แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่พาร์ตเนอร์อย่างป่านต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็ตาม
วัดด้วยจำนวนปี ตัวเลขนี้พอยืนยันได้ว่าความสัมพันธ์ที่ใช้ตั้งต้นบริษัทอาจไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จ เสมอไป
ถึงอย่างนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องราวความสัมพันธ์โรแมนติกโรยด้วยกลีบกุหลาบ พร้อมเคล็ดลับวิธีการทำงานกับเพื่อนให้รอด
กลับกัน คอลัมน์ Business Partner ตอนแรกนี้ขอเสนอเรื่องราวที่เริ่มด้วยความหอมหวาน ตามมาด้วยการทะเลาะ ร้องไห้ เกือบถอดใจ การคืนดี
และการเติบโตเพื่อหาพื้นที่ที่ความเป็นเพื่อนและความเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
ตอนทั้งสามคนเจอกันที่ TEDxBangkok สนิทกันแบบตอนนี้หรือยัง
ป่าน : ตอนนี้ก็ยังไม่สนิทเลยครับ (ทั้งสามคนหัวเราะ)
บี๋ : สองคนนี้รู้จักกัน เหมือนสนิทกันอยู่แล้ว ชอบเล่นมุกกัน ใน TED จะมีป่านเล่นมุกตลอดเวลา
พิ : ทำให้ประชุม 4 ชั่วโมง
บี๋ : กลับบ้านตี 1 อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีเราที่อยู่หลังห้อง คอยขำๆ ไม่ค่อยเข้าใจมุกเขาเท่าไหร่ ตอนนั้นยังไม่ได้สนิทกันมากแต่เรารู้ว่าพิกับป่านเก่งมาก เวลามีปัญหาอะไรพิจะเป็นคนคอยคุมบทสนทนาในห้อง พี่คิดว่ายังไง ผมคิดว่าอย่างนี้นะ หลายๆ ครั้งก็เป็นพิที่ช่วยเคาะบทสรุป ส่วนป่านเป็นคนไบรต์ เอเนอร์จี้ ยิ้มแย้ม ทำงานหนัก และแก้ปัญหาเก่งมาก มีปัญหาอะไรป่านมีความเป็นไปได้ในการแก้ไขมาให้ตลอด เรารู้สึกว่าสองคนนี้เก่งจังเลย อยากเป็นเพื่อนกับเขาบ้าง
จากจุดที่อยากเป็นเพื่อนกัน มาสู่จุดที่อยากทำบริษัทด้วยกันได้ยังไง
ป่าน : เราทำ TED มาด้วยกันเนอะ TED มันคือสิ่งที่เป็น volunteer based พี่ๆ ชอบพูดว่ามีแค่เท่าทุนกับเข้าเนื้อซึ่งส่วนมากเป็นอย่างหลัง แต่ทีนี้ความสุขที่ได้จากการทำ TED มันคือความรู้สึกว่าเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เวลาคนเข้ามาในฮอลล์ เขามองพื้นที่นี้ด้วยสายตาแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเดินออกไปสายตาเขาเปลี่ยนไปจริงๆ
ณ วันนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ เราทำงานด้วยเป้าหมายอย่างเดียวเลยคืออยากได้เงิน โปรเจกต์หนึ่งใช้เวลาเท่าๆ กับ TED คือประมาณ 3 เดือน แต่พอจบ TED แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย! แตกต่าง! (หัวเราะ) มันมูฟเรา เราได้ความสัมพันธ์ ได้ความหัวใจฟูกลับไป หลังจบงานแค่วันเดียวก็เลยคุยกับพิว่าอยากทำสิ่งนี้ว่ะ อยากทำให้คนมีแววตาเป็นประกายโดยที่ได้เงินจากสิ่งนี้ด้วย
พิ : อีเวนต์จัดวันเสาร์ วันอาทิตย์มานั่งคุยกัน วันจันทร์เราไปลาออกจากงานเลย
บี๋ : ที่เราจำได้คืออยู่มาวันหนึ่งสองคนนี้ก็เปิดบริษัทด้วยกัน ตอนนั้นเรายังไม่ได้แจมด้วยแต่จะได้ยินเรื่องโปรเจกต์ตลอด อย่างที่พาคนไปน่าน เราก็รู้สึกว่าเจ๋งจัง อยากเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วเขาก็มาจีบให้เราไปทำงานด้วย เราก็โอเค ดีใจได้เป็นเพื่อนกันแล้ว (หัวเราะ)
พิ : แต่ต้องบอกว่าเงินเดือนบี๋ตอนนั้นเป็นเงินเดือนบริษัท consult นะ Glow ตอนนั้นเงินเดือน 15,000
ป่าน : 15,000 นี่หายากด้วยนะ กว่าจะจ่ายเงินเดือนตัวเองได้
หลายคนพูดว่าอย่าทำธุรกิจกับเพื่อน พวกคุณเชื่อในคำพูดนี้ไหม
ป่าน : เราเพิ่งคุยเรื่องการทำงานกับเพื่อนกับพี่ต้อง (กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร) ก่อนมาที่นี่เลย พี่ต้องพูดมาประโยคหนึ่งซึ่งมันใช่มากๆ คือคนชอบเข้าใจผิดว่า คนทะเลาะกันตอนไม่มีตังค์ แต่จริงๆ คนมันทะเลาะกันตอนมีตังค์เว้ย ตอนไม่มีตังค์ก็สู้ไปด้วยกัน ต้องเป็นตอนมีตังค์นั่นแหละถึงจะรู้สึก
ซึ่งจริงไหม
พิ : จริง ธรรมชาติของงาน Glow ในเฟสแรกมันคือการทำอีเวนต์ สมมติลูกค้าจ้างเราทำอีเวนต์ 100 บาท พอเรามีเครดิตขึ้นมาหน่อยว่าเป็นทีมที่เคยทำ TED มาก่อน ค่าจ้างเราอาจจะบวกเป็น 120 บาท ซึ่งมันเป็นงานแรงงานอะ ถ้าในห่วงโซ่ของมาร์เก็ตติ้ง อีเวนต์ออร์แกไนเซอร์กับซัพพลายเออร์คือจุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นมันเหนื่อยมาก กว่าจะได้เงินมาก็ไม่ง่าย
ทำไปทำมา ตอนเปิดบริษัทได้สัก 3 ปี ไอ้พินี่ก็โม้เก่งหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะเริ่มโดนชวนให้ออกไปพูดข้างนอก ตอนแรกก็พูดฟรี สักพักบรรยายแล้วได้ 5,000 สักพักเริ่มได้เยอะ ดันไป 10,000 20,00 ก็ได้ 50,000 ก็ได้ อยู่ดีๆ มันเริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบ งานอีเวนต์ทำกันเป็นเดือนๆ ได้หลักแสน อยู่ดีๆ มีงานที่พูด 3 ชั่วโมงได้หลักหมื่น หลักแสน เราเด็กเกินกว่าที่จะรู้ว่าจะจัดการกับเงินก้อนนี้ยังไง
แต่เราก็ต้องไปเวิร์กช็อปอยู่ดีเพราะมันคือแบรนด์ดิ้ง สมมติไปสอนคลาส ABC ผู้บริหารเต็มไปหมดมันก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้งานใหญ่ขึ้น กลายเป็นว่ามีทั้งเงิน ทั้งโอกาสเข้ามา แต่เราไม่รู้จะจัดการยังไง ตอนนั้นทะเลาะกันเรื่องนี้
มีเงินน่าจะเป็นเรื่องดี ทำไมถึงทะเลาะกัน
ป่าน : คือคนที่เป็นหน้าตา เป็นฟรอนต์แมนเขาก็จะได้ offer แบบฟรอนต์แมนใช่ไหม ชาเลนจ์ของมันคือ คนในทีมจะรู้สึกน้อยใจจากการที่เราปั้นสิ่งนี้มาด้วยกัน แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตรงนั้นเราควรจะจัดการยังไง
บี๋ : ช่วงต้นๆ ของพวกเรามันเป็นช่วงฮันนีมูน เป็นอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ TED มีแววตาของความสนุก ความอยากเปลี่ยนโลก ช่วงแรกๆ เราได้งานอีเวนต์ งานทอล์กเยอะ ความฮันนีมูนมันคือการอยู่ด้วยกัน นอนด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน ยูต้องเหนื่อยเท่าเรา เราไปเซตอัพอีเวนต์ก็ต้องไปกับเรา ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีระบบเท่าไหร่ นัวๆ งงๆ ทำทุกอย่างด้วยกัน 3 คน มีครั้งหนึ่งต้องทำโปรเจกต์พร้อมกัน 6 โปรเจกต์ ก็ทำด้วยกัน 3 คน (หัวเราะ)
ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากมีเงินเราว่าเป็นความรู้สึกขุ่นๆ ตอนทำโปรเจกต์ก็จะมีความรู้สึกแบบ อะไรวะ เหนื่อยอะ แต่อีกคนหนึ่งไม่อยู่เพราะว่าไปทำงานของตัวเอง ทำไมเขาได้พักวะ ซึ่งเขาก็ทำงานอยู่ไง เขาไปเวิร์กช็อป พอมีกันแค่ 3 คนเวลาทำงานก็จะหงุดหงิดแต่ไม่ได้พูดเพราะเป็นเพื่อนกันก็ไม่อยากทะเลาะกัน เกรงใจกัน
พิ : แต่จะเอาเงินกลับเข้าบริษัทก็ไม่ได้ด้วยนะเพราะไปทำเวิร์กช็อปวันเสาร์-อาทิตย์ พอดันเงินเข้ามาป่านก็ดันออก กลายเป็นว่าปัญหาไม่ใช่เพื่อนอยากได้เงิน เพราะทุกคนผลักเงินที่เราได้มาออกไป
บี๋ : เพราะมันไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการทำด้วยกัน พี่ต้อง กวีวุฒิน่าจะเป็นคนที่สะกิดว่ามีเรื่องไม่สบายใจกันอยู่ใช่ไหม มันเป็นเซนส์นั้นแหละว่าตอนลำบาก ลำบากด้วยกันได้ แต่ว่าตอนรุ่งเรืองแล้วมันจะเป็นจุดที่พิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ของเราเป็นยังไง ตอนนั้นจำได้ว่ามาคุยกัน ร้องไห้กันเลย
พิ : ทะเลาะกันหนัก เราไม่เคยร้องไห้กันหนักขนาดนั้น วันนั้นเราตั้งเคานต์ดาวน์ในมือถือว่าอีก 365 วัน คือ 1 ปีหลังจากนั้น ถ้ายังเคลียร์ปัญหาไม่ได้ก็แยกย้าย ปิดบริษัท
ป่าน : เราเคยคุยกันว่าถ้าทำบริษัทต่อไปแล้วต้องเลิกคบกัน พรุ่งนี้เราปิด Glow เลยก็ได้ เลิกทำมันแล้วเก็บความสัมพันธ์ไว้ดีกว่า
ระหว่าง 1 ปีที่เคานต์ดาวน์ทำอะไรบ้าง
บี๋ : พอมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น sense of trust มันก็สั่นคลอน เราเริ่มไม่ไว้ใจกันว่าที่พิไปพูดเพราะพิอยากได้เงินหรือเปล่า พิดังอยู่คนเดียว พิไม่มาทำงานที่ต้องช่วยพวกเรา แต่ไม่เคยพูดกัน พอเปิดใจ เราก็มากะเทาะกันไปทีละจุดว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร คือเรื่องเงิน แบรนด์ดิ้ง หรือความดัง เอาสิ่งสำคัญของแต่ละคนมากางแล้วแก้ปัญหา
เราว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนเลย จากการที่ไม่มีระบบ ทรีตทุกอย่างด้วยความเป็นเพื่อน คือให้อภัยกันไปเรื่อยๆ แต่มีสิ่งไม่สบายใจที่ขุ่นอยู่ข้างใน จนวันหนึ่งห่างกันไป เราเอาความเป็นเพื่อนพักไว้แป๊บนึง แล้วมองกันในฐานะ co-founder จะทำยังไงให้พวกเราเป็น co-founder ที่ดีในการสร้างบริษัท
แล้วพวกคุณทำยังไง
บี๋ : อย่างแรกเรามีวัน Founders’ Dinner ทุกเย็นวันพุธหรือศุกร์นี่แหละ กินข้าวกัน คุยกัน จัดการปัญหาไปทีละข้อ
พิ : เราว่าความขุ่นเทาเป็นสิ่งที่อันตรายมากต่อความสัมพันธ์ของ business partner เราควรทำให้ทุกเรื่องขาวหรือดำไปเลย ขาวคือสิ่งนี้ทำได้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าดี ดำคือไม่ดี ไม่ทำ เช่น เรื่องสัมภาษณ์ ป่านไม่อยากได้ fame บี๋เขินไม่อยากออก พิชอบให้สัมภาษณ์คือดี พิจะได้ไม่ต้องพะวงว่า กูไปโม้อีกแล้ว เพื่อนกูอยากออกมากกว่าเปล่าวะ
ป่าน : ซึ่งไม่เลย
เรื่องระบบต้องให้เครดิตบี๋เลย การถามหาความต้องการของแต่ละคนว่ายากแล้วใช่ไหม แต่การเซตระบบมาจัดการความเทาให้เป็นตัวเลขมันยากกว่ามาก สมมติพิออกไปพูดได้เงินแสนแต่ตอนนั้นเงินเดือนเรา 20,000-25,000 พูดหนึ่งวันได้เงินเท่ากับ 4 เดือน จะบอกว่าให้เอาเงินแสนนั้นมาเข้ากองกลางลึกๆ เราก็รู้ว่าไม่แฟร์ มันเป็นเสาร์-อาทิตย์ของพิ แต่จะให้มันเก็บเงินแสนเอาไว้เราก็แบบ โอ๊ย
พิ : ที่มึงเล่าก็งานกู
ป่าน : นี่คือความเทาของจริง บี๋คือคนที่จัดการมันให้ออกมาเป็นโมเดล เริ่มจากคำถามว่าเราตั้งใจจะทำ Glow เป็นหลักหรือเปล่า ถ้าใช่ งานอื่นเราให้ความสำคัญรองลงไปได้ไหม ข้อนี้ทุกคนเห็นด้วยร่วมกัน
ข้อที่สองคือ พิอยากได้เงินไหม ตอนนั้นพิบอกว่าไม่เอา แต่พวกเราบอกว่าไม่ได้ บี๋ก็เลยคิดระบบขึ้นมาเพื่อไม่จูงใจให้พิรับเวิร์กช็อปเยอะขนาดนั้น เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่ก็ต้องแฟร์พอสำหรับทุกฝ่าย ระบบที่บี๋ออกแบบคือถ้าเวิร์กช็อปของพิมาจากงานของ Glow เราเอาเงินที่พิได้จากเวิร์กช็อปนั้นเข้ามาที่กองกลางบริษัทก่อน แล้วก็ตัดเงินเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทั้งปีคืนให้พิ มันทำให้พิไม่รับเวิร์กช็อปเยอะเกินไปเพราะยังไงเงินที่มากที่สุดที่ได้กลับมามันก็เท่านี้ ขณะเดียวกัน เมื่อเงินส่วนหนึ่งเข้า Glow บริษัทก็ต้องเอาทรัพยากรไปช่วยพิในการจัดการเวิร์กช็อปด้วย
ละเอียดมาก
ป่าน : นี่เป็นแค่ 1 ในระบบที่ถูกเซตขึ้นมานะ จริงๆ ยังมีระบบอื่นๆ อีกด้วย
ทำไมถึงเชื่อในระบบขนาดนั้น
บี๋ : สำหรับพวกเราระบบคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกอย่างสบายใจขึ้น เรารู้ว่าเรามีสิ่งที่เห็นตรงกัน ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ถ้าให้เราแนะนำคนที่กำลังเริ่มต้นบริษัทใหม่ เราคิดว่าอย่ามองข้ามระบบ การมีระบบไม่ได้หมายความว่าเราไม่ยืดหยุ่นแต่มีไว้เป็นพื้นฐานว่าเรากำลังเคารพกันและกันอยู่ ถ้ามันไม่เวิร์กก็มาคุยกัน ทบทวนมันเพื่อเปลี่ยนให้มันเมคเซนส์มากขึ้น
พิ : เรื่องระบบและนโยบาย ตอนเด็กๆ หรือตอนเริ่มทำบริษัทของตัวเองเราจะงงมากเลยว่าต้องเซตยังไง กฎบริษัทต้องมีหน้าตาเป็นแบบไหน หรือแม้กระทั่งต้องมีไหม แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำงานกับมนุษย์พวกนี้โดยเฉพาะกับบี๋คือนโยบายมันเป็นสิ่งสมมติ บริษัทคืออะไร มันคือการที่กลุ่มคนมาอยู่ร่วมกัน ถูกไหม ดังนั้นในการออกแบบนโยบายเราควรตั้งคำถามว่าเมสเซจที่อยากส่งไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นคืออะไร ถ้าตั้งกฎนี้เพื่อใช้กับพิ เมสเซจที่บอกพิคือไปเวิร์กช็อปมันดีนะ บริษัทได้แบรนด์ดิ้ง แต่ต้องเลือกด้วยว่าควรจะไปเวิร์กช็อปกับใคร ไม่ใช่ไปพูดทั้งปีจนไม่ได้ทำ Glow มันก็ไม่ใช่
หรือแม้แต่การแบ่งโบนัสในทีมจะแบ่งยังไง จะแบ่งเป็นรายคน รายโปรเจกต์ หรือให้ incentive เป็นตำแหน่ง ถ้าเราให้ค่าคอมมิสชั่นเซลส์มันก็ส่งเมสเซจบอกทีมว่าเซลส์คือคนที่สำคัญที่สุด ถ้าให้ครีเอทีฟ เราก็กำลังบอกว่าครีเอทีฟสำคัญที่สุด แต่กับพวกเราไม่ใช่ เราหักกำไรของทั้งปีออกมา 15 เปอร์เซ็นต์แล้วกระจายตามฐานเงินเดือน เพราะเรากำลังจะส่งเมสเซจว่าทุกคนสำคัญเท่ากัน ทุกคนเหนื่อยมาทั้งปีเหมือนๆ กัน
อะไรอีกที่คุณค้นพบว่าสำคัญสำหรับการทำงานกับเพื่อน
บี๋ : สำหรับเรามันคือมายด์เซตของการทำงานร่วมกัน ความขาวกับดำจริงๆ มันคงไม่ได้เป็นสีขาวหรือดำร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก มันมีความเทาๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ป่านเคยพูดว่าสุดท้ายแล้วเราไว้ใจใน intention ของกันและกัน บางทีเราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมป่านกับพิทำแบบนั้น คุยกันหลายรอบก็ยังไม่เก็ตตรรกะแต่สุดท้ายเราก็โอเคเพราะเราไว้ใจในเจตนาของพวกเขา เรารู้ว่าป่านกับพิอยากทำให้ Glow โตให้ได้มากที่สุด เชื่อใจว่าเรามีปลายทางเดียวกัน ดังนั้นทุกครั้งที่มีพื้นที่สีเทาเกิดขึ้นมันทำให้เราปล่อยได้เพราะเราเชื่อใจ
ทำไมถึงไว้ใจกันได้ถึงระดับนั้น
ป่าน : เราว่ามันคือความเป็นเพื่อน ย้อนกลับไปจุดตั้งต้นของเราคือ relationship over company เรารู้จักกันและต่างหวังอยากให้แต่ละคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนหาแฟนอะ เราไม่รู้หรอกว่าทำไมคนนี้ถึงคิดแบบนี้ รู้แค่ว่าเขาหวังดีกับเรา
พิ : ในเฟสแรกของการเริ่มต้นธุรกิจหลายๆ คนมักจะหมกหมุ่นกับการคิดว่าจะทำอะไรดี เราคิดว่ามันมีอะไรให้ทำ มีธุรกิจให้เลือกเต็มไปหมดเลย แต่สิ่งที่ยากกว่าการหาสิ่งที่จะทำคือการหาคนที่อยากทำด้วยกัน ซึ่งมีหลายแบบ เพื่อนที่เรารู้จัก เพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน บางคนไหลๆ สนิทกันก็ลากๆ กันมาหุ้นอะไรบางอย่าง แต่เราว่าเคสของ Glow โชคดีกว่านั้นตรงที่เรามีโอกาสได้ลองเดตกันก่อนในพื้นที่ที่เรียกว่า TED ถ้าสมมติบี๋ส่งแค่เรซูเม่เข้ามาเราจะเห็นเขาเป็นคนที่ทำ consult ด้านบัญชี เงินเดือนก็แพง เกียรตินิยมเหรียญทองอีก เห็นเราเป็นเด็กจีนศึกษา มึงจะมาทำอะไรบริษัทเอเจนซี แต่การที่ได้ไปเจอกันใน TED เรารู้สึกว่าเราหันหลังชนคนนี้ได้ สู้ไปกับเขาแล้วเรารู้สึกปลอดภัย มั่นใจ แม้วันนั้นเราจะยังไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรด้วยกันก็ตาม
บี๋ : เรื่องนี้มันทำให้เราซีเรียสมากเรื่องการรับคนใหม่ เราต้องเห็นว่าเขาเข้ากับคัลเจอร์ของเราได้ ไม่ใช่แค่มีคนนี้ก็ดีนะ สนุกดี แต่ต้องบวกมิติอะไรบางอย่างของ Glow ด้วย
พิ : นอกจากความเก่ง เรซูเม่ สายงาน ประสบการณ์ หรือมายด์เซตที่ตรงกัน ลองชวนไปกินข้าวด้วยกันแล้วดูว่าเขาทรีตคนตอนกินข้าวยังไง เขาทรีตคนเท่ากันมั้ย ดูถูกพนักงานเสิร์ฟ ใช้น้ำเสียงไม่ดีหรือเปล่า เราอยากทำงานกับคนที่เราอยากกินข้าวด้วย เลิกงานแล้วเราก็ยังอยากใช้เวลากับคนคนนี้ เคารพเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่แค่อยากได้สกิลเขามาแล้วก็เลิกงานแยกย้ายหายกันไป เพราะเราไม่ได้แยกงานกับชีวิต เนี่ยทำงานกันแล้วก็มาเจอกันตอนเย็นแบบวันนี้
ถ้าแนะนำคนที่กำลังจะเปิดบริษัทกับเพื่อนได้คนละ 1 ข้อจะแนะนำว่าอะไร
พิ : ล่าสุดป่านเพิ่งย้ายไปอยู่สิงคโปร์ วันที่ไปส่งเรากับบี๋ขับรถไปด้วยกัน อยู่ดีๆ พวกเราก็เปิดมือถือแล้วเสิร์ชคำว่า company เราเพิ่งรู้ว่ารากศัพท์ของมันคือคำว่า friendship คือ intimacy คือคนที่แบ่งขนมปังกับเรา สำหรับเราบริษัทมันเป็นส่วนใหญ่ในชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของคนที่จะเริ่ม company คือคุณอยากเป็นมนุษย์แบบไหน
ตอนเริ่มต้นบริษัท เราคิดว่าคุณออกแบบได้ว่าคุณอยากมีความสัมพันธ์ใน company แบบไหน คุณอยากเป็น company ที่ผลิตสร้างคนแบบไหน อยากทำให้คนเป็นคนเฟียร์ซๆ ใส่ลูกค้าและเอเจนซีตลอดเวลา หรือคุณอยากทำให้คนเป็นซึมเศร้ากี่คนก็ไม่รู้ ก่อนเริ่มต้นบริษัทลองตั้งคำถามกับตัวเองก็ดีว่าเราอยากเป็นมนุษย์แบบไหน เราก็ไม่ได้เป็นคนแบบนี้ในวันก่อนที่เราเริ่ม Glow แต่พอเราเลือกป่านกับบี๋และพวกเขาเลือกเรา เราเลยได้นิสัยของป่านมา ได้สันดานของบี๋มา (หัวเราะ) เขาเชปเรา เราก็เชปเขา
ป่าน : ของเราคือประโยคของพี่เอ๋ นิ้วกลมที่บอกว่า ‘ชีวิตคือการวิ่งเล่น’ การเริ่มธุรกิจกับเพื่อนมันคือการเลือกเพื่อนไปวิ่งเล่นด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าการวิ่งเล่นนี้มันจะต้องไปไกล วิ่งวนก็ได้ ก็สนุกแล้ว มายด์เซตของการได้ลองสำรวจ ลองเล่นด้วยกันมันได้ประโยชน์อยู่แล้วไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้นเราคิดว่าควรหาคนที่คุณรู้สึกว่าอยากเล่นด้วย อยากสนุกด้วยในการเดินทางครั้งนี้ ปีหน้า Glow อาจจะเจ๊งก็ได้ แต่เราโคตรภูมิใจเลยที่ทำด้วยกันกับสองคนนี้ ไม่ว่าจะลื่นล้ม หกล้ม เลิกเล่นตอนนี้ หรืออีก 10 ปีข้างหน้าเล่นแล้วรวยโคตรๆ หรือจนมากๆ แต่เรามีความสุขอยู่แล้วกับการวิ่งเล่นครั้งนี้
บี๋ : เราว่ามันคือสิ่งที่เราพูดไปแล้วคือการทำให้มันเป็นระบบ เอาทุกอย่างที่คิดว่าจะไม่สบายใจ ไว้ค่อยเคลียร์กันมาคุยตั้งแต่ต้น แบ่งผลประโยชน์กันยังไง จะแก้ปัญหากันยังไง จะบริหารบัญชียังไง แล้วเราก็ไม่ต้องคอยหันไปมองข้างหลังหรือมาน้อยใจกัน ขุ่นกันทีหลัง เพื่อที่ว่าเราจะได้สนุกกันเต็มที่โดยที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าเราจะเจ๊ง (หัวเราะ)
ถึงอย่างนั้นท้ายที่สุดแล้ว ตอนนี้กลุ่มก้อนที่เรียกว่า Glow มันคือ storytelling agency ใช่มั้ย มันก็แค่นิติบุคคล เป็นแค่ข้ออ้างให้ได้มาทำงานด้วยกัน ดังนั้นถ้าวันหนึ่งมันเจ๊ง ขาดทุน หรือทำร้ายจิตใจพวกเราอย่างร้ายแรงเราก็ควรจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ เปิดร้านชายสี่หมี่เกี๊ยวก็ได้นะ (หัวเราะ)