ลาย Stripe, Lifestyle
Sardine แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของดีไซเนอร์และนักธุรกิจที่เปิดแค่ 2 เดือนแล้วมีแบรนด์มาชวนคอลแล็บ
Sardine คือแบรนด์ไลฟ์สไตล์น้องใหม่สุดป๊อปที่เพิ่งเปิดตัวในอินสตาแกรมราว 2 เดือนก่อน ท่ามกลางแบรนด์ในอินสตาแกรมที่มีอยู่มากมาย ภาพและสินค้าของ Sardine มีเอกลักษณ์ที่ดึงดูดให้ผู้ชื่นชอบงานดีไซน์กดฟอลโลว์
เบื้องหลังแบรนด์ชื่อน่ารักและมีสัญลักษณ์ของแบรนด์เป็นปลาที่ตั้งให้จำง่ายนี้ เมื่อนัดคุยถึงเพิ่งรู้ว่าแบรนด์นี้ก่อตั้งโดยเพื่อน 2 คนที่กลายมาเป็นพาร์ทเนอร์กันคือ พิม จงเจริญ ผู้ก่อตั้ง Teaspoon Studio ที่มีผลงานดีไซน์และทำแบรนดิ้งให้แบรนด์ชื่อดังมามากมาย และ ตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร ทายาทรุ่น 3 ของ บริษัท สมใจบิซกรุ๊ป จำกัด ที่มีประสบการณ์บริหารธุรกิจสินค้าเครื่องเขียนที่ใครก็รู้จักอย่างสมใจมาแล้ว
จุดเริ่มต้นของ Sardine เกิดจากพิมมีภาพแบรนด์ในฝันที่อยากทำเลยชวนตาลมากินข้าวที่บ้านและเปิดพรีเซนเทชั่นโชว์ภาพสไตล์ของแบรนด์ที่อยากทำให้ตาลดู ต้นทุนที่ทำให้ได้เปรียบในการทำแบรนด์จึงเป็นทักษะที่มีติดตัวของทั้งคู่ที่เมื่อมาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันแล้วกลายเป็นองค์ประกอบที่พอเหมาะ นั่นคือฝีมือการดีไซน์ของพิมและทักษะในการทำ merchandise และทำการตลาดของตาล
ทั้งคู่เริ่มทำแบรนด์ใหม่โดยยึดหลัก start small เริ่มจากเล็กๆ ถ้าล้มหรือไม่เวิร์กก็ไม่เจ็บ ทำสินค้าที่เข้าถึงง่ายในราคาที่ผู้ซื้อแฮปปี้ซึ่งทั้งคู่บอกว่าทำสินค้าให้สวยไม่ยากเลยแต่ต้องใส่ใจให้คุณภาพดีจริงและมีช่องว่างที่เหมาะกับตลาดพอดี
Product
Simple Stripe
sardine เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่พิมและตาลให้นิยามว่าคือ homeware and nonsense things in your life ทั้งคู่เปิดตัวแบรนด์ด้วยหมวด kitchenware สำหรับใช้บนโต๊ะอาหารอย่างแก้ว จาน ชาม ถาด ผ้าขนหนู
ในบทบาทดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้ง teaspoon studio ก่อนหน้านี้ผู้คนมักจดจำผลงานของพิมจากผลงานดีไซน์สุดคราฟต์อย่าง paper craft หรือ ลาย illustrator ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและใช้เทคนิคการออกแบบลายกราฟฟิกอันน่าทึ่งมาแล้วมากมาย
วันนี้เมื่อทำสินค้าไลฟ์สไตล์ในนามแบรนด์ของตัวเอง พิมอยากออกแบบลายกราฟฟิกที่มีความ back to basic อย่างลาย stripe ที่มีตัวเลือกไม่กี่ตัวเลือกให้ลูกค้า ชุดจานชามเซรามิกมีคู่สีเบสิคอย่าง black & white, red & blue, beige & orange ให้เลือก ส่วนชุด fabric ก็ออกแบบด้วยชุดพาเลทสีอีกโทนหนึ่ง เช่น beige & red grid หรือ white & green stripe
เป็นดีไซน์ลายทางที่เรียบง่าย ดูไม่คิดเยอะแต่ก็ไม่ใช่ลายที่รู้สึกว่าเคยเห็นซ้ำจากที่ไหน “คนจะชอบคิดว่าลายแพทเทิร์นต้องมีความเยอะแต่พิมอยากทำลายกราฟฟิกง่ายๆ เราอยากทำของเรียบง่ายให้สามารถไปมิกซ์กับของเก่าที่มีอยู่แล้วในบ้านได้ ไม่ได้เขินที่จะเอาจานของเราไปวางกับสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว เอาของแบรนด์เราไปแต่งบ้านแล้วสนุกยันกล่องแพ็คเกจ”
องค์ประกอบทุกอย่างถูกตั้งใจดีไซน์มาอย่างดีให้มีสไตล์จากเซนส์ความชอบของพิมและควบคุมคุณภาพให้อยู่ในสเปกโดยตาลผู้เป็นแม่ทัพฝ่าย merchandise
วิธีเลือกซัพพลายเออร์ของตาลคือเลือกเฉพาะโรงงานที่มีประสบการณ์ผลิตมาแล้วตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและสามารถผลิตออกมาได้ในต้นทุนที่มีราคาไม่แพงเกินไป และหน้าที่สำคัญของตาลอีกอย่างยังเป็นการบาลานซ์ความต้องการระหว่างดีไซเนอร์และโรงงานให้ได้
“ฝ่าย merchandise เป็นเหมือนเมสเซนเจอร์ที่คอนเน็คระหว่างดีไซเนอร์กับคนผลิตซึ่งมีความยากตรงที่เราต้องรับความต้องการของดีไซเนอร์ไปบอกคนที่ทำเลยต้องเลือกเซลล์ที่คุยง่ายแล้วก็ขอตัวอย่างสินค้าจากแบรนด์เขามาดูว่าผลิตออกมาแล้วเป็นยังไง”
จากของชิ้นเล็กหมวดเครื่องครัว ต่อไปทั้งคู่ตั้งใจจะทำของชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ที่คอมพลีทการตกแต่งในห้องอื่นของบ้านด้วยโดยแทรกสินค้า limited edition ที่มีคอนเซปต์สนุกเพราะอยากให้แบรนด์มีของทุกอย่างรวมทั้งสิ่งที่คนคาดไม่ถึง
ตัวอย่างเช่น หมวดที่พิมเรียกว่า nonsense things หรือของติงต๊องที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์แต่คอมพลีทชีวิต เป็นของที่ในตอนแรกอาจไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่าอยากได้ของชิ้นนี้แต่พอออกแบบให้แตกต่างก็ทำให้อยากได้มาเพิ่มความสุนทรีย์ในบ้านหรือในการใช้ชีวิต “สมมติวันนึงถือขวดไวน์อยู่แล้วคิดว่าถ้ามีถุงใส่ไวน์เป็นรูปปลาตัวยาวๆ ก็น่าจะน่ารักดี ก็ลองถักถุงใส่ไวน์ขึ้นมาเลยแล้วดูว่าเวิร์กไหม ระหว่างทางเราคิดอะไรได้ เราก็จะทำ บางอย่างอาจจะทำมาแค่ 1-2 ชิ้น”
เรียกได้ว่าไม่ได้ดีไซน์แบบคิดเยอะแต่คิดจากสิ่งที่อยากได้ในชีวิตและทำลายกราฟฟิกง่ายๆ ที่ตรงใจคน
Price
ราคาน่ารักน่าซื้อ
ราคาของ Sardine นั้นน่ารักน่าซื้อ จานชามและแก้วมีช่วงราคาอยู่ที่ราว 290-390 บาท หมวด fabric มีราคาที่ 180 บาท ส่วน gift set จะมีหลายขนาดแต่ยังอยู่ในราคาจับต้องได้ตั้งแต่หลักร้อยถึงพันกว่าบาท
พิมบอกว่าตัวเองเป็นคนชอบทำแต่ไม่ชอบขาย การมีพาร์ทเนอร์อย่างตาลที่มาช่วยดูแลฝั่งบริหารจัดการธุรกิจทั้งการขาย, ติดต่อซัพพลายเออร์ ไปจนถึงจัดการเรื่องการคำนวณตัวเลขทั้งหมดจึงลงตัวพอดี
“เรื่องตัวเลขพิมไม่เก่งเลย เพราะฉะนั้นจะคิดเองไม่ได้ว่าราคาต้องกี่บาท ต้องขายเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน แต่จะมีเลขในใจว่าอยากขายกี่บาทและถ้าเป็นเราจะอยากซื้อในราคากี่บาท”
ด้วยความที่เป็นดีไซเนอร์ทำให้มีจุดแข็งคืออยากทำออกมาให้สวยที่สุด คุณภาพดีที่สุด ภาพออกมาดูแพงทั้งสินค้าและแพ็คเกจจิ้ง แต่พิมบอกว่าจุดอ่อนในสมัยที่ลองทำแบรนด์เองด้วยตัวคนเดียวคือไม่มีคนเบรก “พอไม่มีคนเบรก เราก็เคยสั่งผลิตมาพันชิ้น โดยที่ไม่ได้คิดว่าพันชิ้นนี่ค้างไว้ 5 ปียังขายไม่หมดเลยนะ พอทำมาแล้วก็กลายเป็นลดแลกแจกแถมให้เพื่อน เพราะขายไม่เก่ง ไม่รู้ว่าจะต้องขายอย่างไร”
ตาลเข้ามาช่วยตบหลักการตั้งราคาที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงราคาขายจากหลายเกณฑ์นอกจากการเลือกซัพพลายเออร์ที่สามารถผลิตในต้นทุนที่ไม่แพงเกินไปตั้งแต่แรกแล้วยังคำนึงถึงราคาของสินค้าหมวดเดียวกันในตลาด
“สำหรับฝั่งตาลจะกำหนดให้ช่วงราคาของสินค้าสามารถขายในห้างได้ (แม้จะยังไม่มีวางขายในห้างตอนนี้) เวลาโดนหัก % GP แล้วยังเหลือกำไรให้อยู่ได้ แล้วก็จะเปรียบเทียบว่าใน Lazada, Shopee มีสินค้าราคาประมาณไหนบ้าง มันง่ายเพราะด้วยความที่เป็น homeware เราจะรู้ราคาอยู่แล้วว่าเราจะซื้อหรือไม่ซื้อในช่วงราคาเท่าไหร่โดยไม่ต้องถามคนอื่น เรียกว่าดูช่วงราคาว่าไม่ควรเกินนี้นะ”
ฝั่งพิมก็จะช่วยเสริมอินไซต์ราคาที่คนอยากซื้อจากมุมมองของผู้ใช้ของตกแต่งบ้าน “ทุกคนมีเลขในใจอยู่แล้วว่าถ้าราคาเท่านี้จะแพงไปเหมือนกันนะ หรือบางทีก็หันไปถามน้องในทีมที่เด็กกว่าพิม 10 ปี เพราะเขาอาจจะซื้อของพวกนี้น้อยกว่าเรา ลองถามหลายความเห็นก็จะได้หลายมุมมอง”
ในราคาที่พิมและตาลเลือกขาย ทั้งคู่ตั้งใจอยากให้ Sardine เป็นแบรนด์ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานดีไซน์สวยๆ และคุณภาพดีได้ในราคาไม่แพง
Place
Go Everywhere with Collab
Sardine เพิ่งขายมาราว 2 เดือนทางช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ด้วยลวดลายและคอนเทนต์สุดป๊อปก็ทำให้มีคนติดตามอย่างรวดเร็วจนเริ่มมีแบรนด์มาชวนคอลแล็บด้วยกัน
แบรนด์แรกคือ SCOPE Promsi คอนโดที่มีโปรเจ็คเปิดร้านกาแฟชื่อ PPAL Cafe ซึ่งอยากใช้ภาชนะของ Sardine เสิร์ฟให้แขกที่มาเยี่ยมชมห้องรวมถึงมีเชล์ฟขายสินค้าไลฟ์สไตล์ของ Sardine ที่มุมหนึ่งของร้าน เนื่องจากมองว่ากลุ่มลูกค้าของคอนโดเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคนที่ชอบงานดีไซน์
พิมบอกว่าเร็วๆ นี้กำลังจะมีคอลแล็บอื่นอีกอย่างแก้วรุ่นพิเศษของ Sardine ที่กำลังจะไปอยู่บนโต๊ะของร้านนำเข้าไวน์ชื่อ Cheese & Wine และในอนาคตเหล่าเครื่องครัวของ Sardine จึงอาจมีโอกาสปรากฎตัวที่ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ ต่อเนื่องตามมา
พลังของการคอลแล็บเปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้ Sardine ไปอยู่ในที่ที่คาดไม่ถึงในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่การย้ายที่ดิสเพลย์สินค้าแต่เป็นการนำกราฟฟิกของ Sardine ไปตกแต่งอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นป๊อพอัพอีเว้นท์, โต๊ะอาหาร sit down dinner, งานตกแต่งสถานที่ “ต่อไปสินค้าอาจจะไม่ใช่แค่จานแล้ว แต่มันสามารถเป็นทั้งห้องที่เป็นการตกแต่งในสไตล์ของแบรนด์เรา”
การทำคอลแล็บเหล่านี้เป็นความสนุกที่พิมตั้งใจอยากทำตั้งแต่วันแรกที่มีภาพแบรนด์ในฝัน “พิมบอกตาลตั้งแต่วันแรกที่เปิดพรีเซนเทชั่นให้ตาลดูว่าพิมเห็นภาพ Sardine มีของเยอะๆ หลายหมวด สมมติถ้าวันหนึ่งเรามีหมวด bedding และสินค้าอื่นเพิ่มขึ้นมา เราก็อาจจะสามารถตกแต่งให้ได้ทั้งโรงแรมเลยด้วยดีไซน์แบรนด์ Sardine ของเรา อาจจะมีทั้งเราไปชวนแบรนด์อื่นทำหรือมีคนมาชวนเราทำก็ได้”
“สำหรับพิม ประสบการณ์สำคัญที่สุด ตั้งแต่ไถ IG เห็นภาพแล้วว้าวหรือเอาของแบรนด์เราไปใช้จริงกับของใช้อย่างอื่น พิมมองว่าเดี๋ยวนี้มันจะไม่ใช่แค่ออกแบบภาชนะแต่ต้องออกแบบไปถึงประสบการณ์แล้ว กินน้ำยังไง เสิร์ฟมาแบบไหน มันคือประสบการณ์ของสถานที่ที่เราเดินเข้าไปที่โรงแรมหรือร้านอาหารนี้”
โมเดลของ Sardine ได้รับการพิสูจน์ว่าเวิร์กและลูกค้าก็คิดแบบเดียวกันเมื่อพิมเล่าว่ามีคนซื้อสินค้าไปวางตกแต่งในที่ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด
“คนแรกๆ ที่ซื้อแบรนด์เราเป็นสไตลิสต์ เขาเอาจานของเราไปวางตกแต่งกับเฟอร์นิเจอร์ เอากล่องแพ็คเกจของเราไปวางตามชั้นหนังสือ พิมไม่ได้คิดว่าจะมีลูกค้าที่เป็นสไตลิสต์ซื้อของไปเป็นพร็อบ ตอนแรกคิดแค่คนชอบจานก็ซื้อไปใช้เองหรือซื้อเป็นของขวัญ เราก็รู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่อยากให้มันเป็น คือแบรนด์ไปอยู่ตรงไหนก็ได้”
พิมเล่าภาพในอนาคตของ Sardine ที่เป็นหมุดหมายในใจในการทำแบรนด์คืออยากมีคือหน้าร้าน standalone ที่ผู้คนสามารถแวะมาได้ “ปลายทางใหญ่อยากให้เป็น destination ที่ทุกคนมากรุงเทพแล้วต้องแวะ เวลาเราไปเกาหลี ญี่ปุ่น เราจะมีร้านที่ต้องไป คล้ายเป็นการท่องเที่ยวเชิงอินสตาแกรมที่ทุกคนจะต้องตามไปร้านนี้ หลายแบรนด์ที่เราชอบรู้สึกว่าเขาทำ branding visual ดีมากจนพอเราไปก็รู้สึกว่าเรามาแล้วก็ควรจะต้องได้อะไรสักอย่างกลับมาสักนิดสักหน่อย”
Promotion
ให้ภาพช่วยขาย
Sardine เปิดตัวด้วยสินค้าไม่กี่รุ่นและทำให้คนจดจำแบรนด์ได้ง่ายด้วยการการโปรโมทโดยใช้ภาพที่สื่อสารกับคนได้ทำให้คนที่ชื่นชอบงานดีไซน์เห็นภาพแล้วรู้สึกคลิกและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ขายออกได้ง่าย
“พิมว่าคนรุ่นใหม่เหมือนกันหมดตอนนี้ เราดูในอินสตาแกรมแล้วก็หาอะไรกันง่ายมาก ออนไลน์คือหน้าร้านเรา เพราะฉะนั้นพิมก็จะใส่ความครีเอทีฟหรือไอเดียบ้าๆ บอๆ ในคอนเทนต์ที่อยากทำ”
คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียของ Sardine จึงแฝงความสนุกที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ชวนติดตามจากความคิดสร้างสรรค์ทั้งจดหมายรัก dear my beloved plate ที่พูดถึงจานที่แตกและความสัมพันธ์อกหัก, ภาพจาน Sardine ที่ตั้งเรียงเป็นเสา totem หรือไปโผล่ในพิพิธภัณฑ์
“ในแง่ครีเอทีฟ สิ่งที่พิมทำมันเหมือนเป็น expression ที่ไปได้ไกลกับโลกออนไลน์ เราจะทำ stop motion หรือวิดีโอก็ได้ ดังนั้น visual (ภาพ) เลยสำคัญมากในการทำให้คนไถฟีดมาเร็วๆ และพอเห็นภาพแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ เขาอาจไม่รู้หรอกว่าทำไมต้องชื่อ Sardine ทำไมสัญลักษณ์แบรนด์ต้องเป็นรูปปลา แต่เห็นภาพโดยรวมแล้วชอบ แล้วก็ไปซื้อสักอัน จบ คือพิมว่าร้านยุคใหม่มักจะเป็นแบบนี้”
การใช้ดีไซน์เป็นตัวนำให้แบรนดิ้งแข็งแรง เวลาคิดโปรโมชั่นนำเสนอการขายอย่างแพ็คเกจ gift set ที่รวมเซ็ทสินค้าหลายอย่างไว้ด้วยกันในราคาที่ไม่แพงเกินไปก็ยิ่งทำให้ขายง่าย จากประสบการณ์ของตาลคือการทำการตลาดจะสบายถ้ามั่นใจว่าดีไซน์สามารถเอาชนะใจลูกค้าส่วนใหญ่ได้
“สินค้าบางชิ้นที่ขายไม่ได้เพราะว่าดีไซเนอร์ไม่เข้าใจลูกค้า ไม่สามารถดีไซน์ให้ออกมาเป็นความสวยแบบ universal ได้ แต่ถ้าลูกค้าเห็น 10 คน แล้วบอกว่าสวย 9 คน คือจบแล้ว ทำยังไงก็ขายได้ หน้าที่ของตาลคือแค่เอาภาพนี้ไปทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าเห็นและนำเสนอโปรโมชั่นว่าอยากซื้อไหมในราคานี้ คือเป็นโทรโข่งอย่างเดียว
“ตาลแค่ต้องไปหาโทรโข่งที่ดังมากพอให้คนเห็นด้วยในราคาที่เรากำหนด แต่ถ้าสมมติว่าทำแล้วไม่เวิร์ก ข้อเสียคือต้องไปหาซื้อโทรโข่งใหม่ ต้องไปใส่เงินเพิ่มในการขายอีก เหมือนพยายามทำให้ลูกค้าชอบให้ได้ ซึ่งยากมากนะ”
โทรโข่งของตาลหมายถึงการตั้งข้อเสนอในการขายที่ลูกค้าเห็นแล้วอยากซื้อ “อย่างเช่นสมมติว่าเทศกาลที่กำลังจะถึงคือฮาโลวีน สิ่งที่ตาลบอกพิมคืออยากให้มีคอนเทนต์เป็นโต๊ะโทนสีเหลืองๆ ส้มๆ คนจะได้ซื้อเพราะเป็นฮาโลวีน แต่ตาลไม่เคยบอกพิมเลยว่าต้องทำแบบไหน เพราะดีไซเนอร์จะรู้ว่าโทนส้มเหลืองที่สวยคืออะไรซึ่งมันเป็นงานที่ง่ายมากสำหรับเรานะ เพราะเราบอกเขาแล้วเขาก็จะส่งต่อความสวยออกมาให้เราเอง”
(Surprised) Print
Visual หรือลวดลายของแพทเทิร์นที่นำไปปรินต์ลงโปรดักต์คือความโดดเด่นของ Sardine
ที่ออกแบบโดยสะสมฝีมือจากการทำงานดีไซน์และเป็นที่ปรึกษาให้แบรนด์ต่างๆ มาเป็นระยะเวลา 12 ปีที่ teaspoon studio ของพิม
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบลายปริ้นต์ให้โดดเด่น พิมบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากอะไรเลย แต่ใช้เซนส์จากการทำงานทั้งหมดที่สะสมมาทั้งชีวิตมาออกแบบเป็นคู่สีที่สวย เห็นแล้วเป็นลวดลายที่เซอไพรส์ ซึ่งประสบการณ์ในบทบาทดีไซเนอร์อันยาวนานของพิมนี้เองที่กลายมาเป็นต้นทุนในการทำแบรนด์ของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ
“ถ้าถามว่ามีแรงบันดาลใจในการทำงานดีไซน์จากอะไร คิดว่ามันมาจากการใช้ชีวิตของเรา สิ่งที่เราสนใจและสังเกตแล้วเอาสิ่งที่ผสมอยู่ในตัวเรามา connect the dot คือพิมไม่ได้เป็นคนที่เวลาไปเที่ยวทริปอิตาลีแล้วกลับมาอยากวาดเรือ คิดว่าคงมีคนที่ไปเที่ยวแล้วได้แรงบันดาลใจกลับมาจริงๆ แต่ส่วนตัวเราไม่ใช่แบบนั้น แค่ใช้ชีวิตในทุกๆ วัน เห็นอะไรแล้วก็เอาสิ่งนั้นไปแปะกับสิ่งนี้ มันคือสิ่งที่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เลยไม่ได้มีเทคนิคในการเลือกสีอะไร
“สำหรับดีไซเนอร์ ไม่ว่าจะวาดรูปยังไง สีแบบไหน ก็ไม่เคยมีถูกหรือผิดเลยในงานดีไซน์ แล้วแต่ว่าเราจะสื่อสารมันยังไงแล้วภาพปลายทางแบบไหนที่จะออกไป เลยคิดว่ามันไม่มีคำตอบตายตัวว่าทำไมต้องเป็นน้ำเงินเฉดนี้ ทำไมไม่ใช่เขียวหรือม่วง”
จากประสบการณ์ทั้งหมดของพิมและตาลทำให้ Sardine เป็นแบรนด์ homeware ที่มีทั้งลวดลายและวิธีการขายแสนเซอไพรส์ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าต่อไปจะออกสินค้าใหม่หมวดไหนในลายปริ้นต์อะไรหรือจะคอลแล็บกับแบรนด์ไหนต่ออีกบ้าง เป็น element of surprise ในการสร้างแบรนด์ที่ดึงดูดให้คนรักงานดีไซน์และแบรนด์ไลฟ์สไตล์อยากติดตามแบรนด์ต่อไป