เสื่อมวลชน
4P+1 ที่ exciting store ใช้ทำเสื่อออกกำลังกายให้น่ารักสดใส ชวนให้คนฮึดสู้ลุกมาออกกำลังกาย
work-life balance วลีเด็ดโด่งดังที่ใครก็ต้องเคยได้ยิน แต่ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เชื่อเถอะว่ามีคนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่บาลานซ์งานกับชีวิตได้จริงๆ
อยากออกกำลังกายก็อยาก แต่ข้ออ้างงานเยอะ ชีวิตยุ่ง ก็ขัดขวางไม่ให้หลายคนลุกมารักตัวเองได้สักที หลายครั้งคนที่ประสบปัญหานี้จึงหาทางออกด้วยการซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลุกมาขยับร่าง เช่นเดียวกับที่นักวิ่งหลายคนอยากจะออกวิ่งเดี๋ยวนั้นเมื่อได้รองเท้าคู่ใหม่
ด้วยเหตุผลเดียวกันนั้นเองที่ทำให้ เนย–ณพร พัวสุวรรณ ตั้งต้นออกแบบเสื่อสีสันสดใส ลวดลายแปลกใหม่ แตกต่างจากเสื่อออกกำลังกายทั่วไปที่มักมีสไตล์เรียบง่าย ก่อนที่จะร่วมมือกับคนรักอย่าง วิน–ศุภภกร ศรีรัตนา เพื่อก่อตั้ง exciting store แบรนด์ที่จะทำให้ผู้คนตื่นเต้นและสดชื่นได้เสมอ
วินเองเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ส่วนเนยทำงานสายมาร์เก็ตติ้ง จุดร่วมเดียวกันคือทั้งคู่หลงรักงานออกแบบ เรื่องราว และการท่องเที่ยว แม้วินอาจไม่ใช่คนที่ชอบสีสันสดใสเท่าเนย แต่การรวมตัวของทั้งคู่ก็ลงตัวและกลมกล่อมเหมือนเวลาชงลาเต้จากส่วนประกอบ 2 ชนิดอย่างกาแฟและนม
เราจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจหลัก 4P+1 จากการทำแบรนด์ exciting store ของทั้งคู่ เพื่อสัมผัสความรู้สึก excited ที่ทั้งคู่ตั้งใจ
Product
สินค้าน่ารัก คุณภาพดี จากช่องว่างทางตลาด
ย้อนกลับไปช่วงโควิด–19 เชื่อว่าหลายคนน่าจะลุกขึ้นมาทำงานอดิเรกหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการออกกำลังกาย เนยเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่อไปนี้
“เราชอบของน่ารักๆ สีสันสดใสอยู่แล้ว พอดีเสื่อที่ใช้อยู่กำลังจะพัง เลยพยายามหาซื้อเสื่อลายน่ารักและมีคุณภาพ แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ ไม่ว่าจะช่องทางออนไลน์หรือหน้าร้านของแบรนด์ใหญ่ๆ
“ตอนนั้นเลยลองตามหาโรงงานที่ทำเสื่อให้เราแค่ผืนเดียวได้ และมีเพียงเจ้าเดียวที่ตอบกลับมาซึ่งก็เป็นเจ้าที่เราทำงานด้วยในปัจจุบัน กลายเป็นว่ามันน่ารักมาก จากที่ตอนแรกคิดว่าคงทำไว้ใช้เองคนเดียว เลยลองทำตัวทดลองออกมา 5-6 แบบ แตกต่างทั้งสีและวัสดุ”
ระหว่างที่ทดลองหาเสื่อที่ใช่สำหรับตัวเอง เนยก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ของตลาดนี้ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีคนที่ตามหาเสื่อน่ารักและคุณภาพดีเช่นเดียวกัน จากตั้งใจทำเพียงไม่กี่ชิ้นก็ตัดสินใจสั่งผลิตออกมา 1 ล็อต แต่จนแล้วจนรอดเสื่อล็อตแรกที่เธอสั่งผลิตก็ไม่ได้ออกวางขาย ด้วยความกลัวและความไม่เคยขายของมาก่อน กระทั่งเนยรู้จักกับวิน
“เราคิดว่าเสื่อที่เนยทำออกมามันแตกต่างจากท้องตลาดมาก ถ้าเราทำแบรนดิ้งและการตลาดดีๆ มันน่าจะพัฒนาไปเป็นธุรกิจได้” วินเล่าความเห็นที่มีต่อเสื่อที่คนรักสร้างสรรค์
การสร้างแบรนด์ exciting store ของทั้งคู่จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยตัวตนแบบกาแฟของวิน และตัวตนแบบนมของเนย
สีสันสดใส เรื่องราวโดนใจ และแพตเทิร์นที่พอเหมาะพอดี
“หลักในการออกแบบลายของเราคือหนึ่ง–ลายนั้นๆ จะได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่ต่างๆ สอง–สีสันสดใส และสาม–เป็นลายที่แกะออกมาทำกราฟิก 2 มิติได้” วินอธิบาย
ไม่ว่าจะเป็นลาย Tokyo Flower ที่สีสันสะท้อนถึงความฮาราจูกุขั้นสุด ทั้งยังเป็นลายที่ขายดิบขายดีของแบรนด์ Burano Curtain ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเกาะบูราโน่ ประเทศอิตาลีที่แต่ละบ้านจะมีผ้าม่านบังสายตาสีสันแสบทรวง
ลาย Superkilen ที่แม้ภาพดั้งเดิมจะเป็นสีขาว-ดำ แต่ทั้งคู่ก็หยิบนิดผสมหน่อยให้มีสีสันแบบชิคๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่สาธารณะสุดโมเดิร์นในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก หรือจะเป็น Malibu Sunset น้องไข่ดาวที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพอาทิตย์กำลังลับฟ้า กลับไปหลับไหลใต้ทะเลลึกแห่งเกาะมาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
“เนยเองเคยไปเที่ยวมาหลายประเทศมาก ยิ่งพอไปเที่ยวกับวิน เราสองคนก็เห็นตรงกันว่าแต่ละประเทศมีเรื่องราวที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ถ้าเรานำเรื่องราวเหล่านั้นมาทำเป็นลวดลายมันน่าจะน่ารักมากๆ” คนต้นคิดหยิบเอาเรื่องราวจากการท่องเที่ยวมาบอกเล่าอย่างเนยกล่าวเสริม
แม้ความสดใส ชวนให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายจะเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบลวดลาย แต่ท้ังวินและเนยต่างก็เห็นตรงกันว่าลวดลายเหล่านั้นจะต้องมองแล้วไม่ปวดหัว ทั้งต้องมี ‘space’ เพียงพอให้ลูกค้าที่ใช้เสื่อยังคงรู้สึกผ่อนคลายและมีโฟกัสกับท่าออกกำลังกายในวันนั้นๆ ได้ด้วย
“หลักๆ แล้วเราจึงออกแบบลวดลาย 2 มิติ เพื่อไม่ให้คนเล่นรู้สึกปวดหัวหรือเวียนหัวเวลาเล่น และแม้เสื่อเราจะเด่นเรื่องลวดลายที่แตกต่าง แต่ลายที่เราจะไม่ทำคือแพตเทิร์นที่มีรายละเอียดมากเกินไปเพื่อให้ลูกค้ามีพื้นที่พักสายตา
“พอเราหาจุดกึ่งกลางเหล่านี้ได้ เราก็พบว่าลูกค้าของเราไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่กลุ่มคนชอบสีสันแต่ยังมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบงานออกแบบ และชอบเรื่องราวอยู่ด้วย หลังจากขายมาได้สักระยะ เราสองคนก็ได้เข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องสโคปลูกค้าจากอายุว่าคนอายุน้อยๆ เท่านั้นถึงจะชอบเสื่อที่มีสีสัน แต่เราควรสโคปลูกค้าจากความสนใจของเขามากกว่า” วินอธิบาย
วัสดุแปลกใหม่ แถมยังดีกับโลก!
หากคุณคิดว่าเสื่อออกกำลังกายจาก exciting store จะมีดีที่ลวดลายอย่างเดียว เราขอบอกว่าคุณคิดผิด! เพราะวัสดุที่ทั้งวินและเนยเลือกใช้ยังเป็นวัสดุที่เราแทบไม่เคยเห็นที่ไหน
“ตอนแรกเราทดลองทำออกมาหลายวัสดุมาก แต่สุดท้ายเราก็ได้เป็นวัสดุนี้ที่ด้านล่างเป็นยางพาราร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนด้านบนเป็นหนังกลับวีแกน ความหนารวมกัน 5 มิลลิเมตร ข้อดีคือยางพารามันยึดติดกับพื้นได้ทำให้เสื่อของเรามั่นคงมาก
“ส่วนหนังกลับด้านบนก็ให้สัมผัสที่แตกต่าง คือนุ่มแต่ไม่ลื่น มาจากประสบการณ์การนั่งรถครั้งหนึ่งของเราสองคน เบาะรถคันนั้นเป็นเบาะหนังกลับที่เรารู้สึกว่ามันให้ความรู้สึกพิเศษกว่าวัสดุทั่วไป”
นอกจากวัสดุหนังกลับนี้จะให้สัมผัสที่แตกต่าง ก็ยังตอบโจทย์ทั้งคู่ที่ต้องการทำเสื่อสีสันสดใส เพราะหนังกลับที่เลือกใช้ทลายข้อจำกัดในการออกแบบได้หมดสิ้น ต่างจากยางพาราหรือพลาสติกทั่วไปที่มีข้อจำกัดด้านการทำสีและลวดลายเต็มไปหมด ความพิเศษคือสีสันที่ทั้งคู่เลือกใช้ยังปลอดภัยกับคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งวัสดุทั้งหมดยังย่อยสลายทางชีวภาพได้ด้วย
“ที่จริงวัสดุแบบนี้มีขายที่ต่างประเทศนะ แต่สำหรับไทยถือว่าค่อนข้างใหม่ แม้มันจะทำให้เราแตกต่างแต่ก็พ่วงมากับหน้าที่ที่เราต้องสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจมากกว่าเดิมว่ามันไม่ลื่นนะ และถึงมันจะบางแค่ 5 มิลลิเมตรแต่มันก็ซัพพอร์ตร่างกายได้ดี
“เพราะที่จริงแล้วความหนาของเสื่อไม่ได้ช่วยให้เราเจ็บน้อยลง แต่วัสดุที่ดีต่างหากที่ทำให้เราออกกำลังกายได้อย่างไม่ต้องกังวล” เนยเล่าข้อมูลที่เธอรีเสิร์ชอย่างละเอียดให้ฟัง
Price
ราคากลางที่คนไทยเข้าถึงได้
ด้วยกังวลใจว่าคนไทยจะเปิดรับเสื่อออกกำลังกายสีสันสดใสและต่างวัสดุมากแค่ไหน ในช่วงเปิดตัว ทั้งคู่จึงตัดสินใจขายเสื่อคุณภาพในสนนราคาเพียง 890 บาท แถมยังส่งฟรี!
“ตอนนั้นเราขายเสื่อได้เยอะมาก แต่เรากลับไม่ได้กำไรเลย” วินอธิบายสถานการณ์พลางหัวเราะ
“ก็คิดนะว่าเวรกรรม หลังหักค่าใช้จ่ายจิปาถะ เราจะได้กำไรสักเท่าไหร่กัน แต่เราคิดว่าในตลาดประเทศไทย คนยังไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องซื้อเสื่อราคาหลักพันมาใช้ การทำให้คนที่ซื้อเสื่อราคาสามสี่ร้อยกล้าขยับมาซื้อเสื่อในราคาไม่ถึงพันก่อน เขาจะได้เข้าใจว่าเสื่อที่มีคุณภาพมันเป็นแบบไหน เพราะจากที่ขายมา ลูกค้าหลายคนเลยนะที่บอกว่าเขาไม่เคยซื้อเสื่อที่มันดีขนาดนี้ และเขาก็เข้าใจแล้วว่าทำไมเขาต้องใช้เสื่อดีๆ
“ถามว่ากลัวไหมว่าถ้าเราปรับราคากลับมาที่ 1,250 บาท คนจะไม่ซื้อเรา มันก็แอบกลัว แต่เราเชื่อว่าเราต้องมั่นใจในสินค้าเราก่อน แล้วถ้าคนได้ลองใช้ เราก็จะได้ขยายความรับรู้เกี่ยวกับเสื่อเราออกไปได้มากกว่าเดิม ที่สำคัญต่างประเทศเขาขายเสื่อวัสดุแบบนี้ได้แพงกว่านี้ 2-3 เท่า เราก็ควรจะมั่นใจในการยืนยันราคานี้ เพราะมันคืองานศิลปะที่มีคุณค่าด้วยนะ” เนยบอกความตั้งใจ
Promotion
โปรโมชั่นฉบับเน้นสร้างคอมมิวนิตี้
อย่างที่บอกว่าช่วงแรก ทั้งคู่เน้นขายเสื่อในราคาที่แทบไม่ได้กำไร ก่อนจะค่อยปรับเป็นราคามาตรฐาน แต่ด้วยตลาดประเทศไทยที่คนหลงรักโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม เนยจึงมองว่าการบาลานซ์ราคาและโปรโมชั่นจึงสำคัญใช่ย่อย
“เนยเป็นคนไม่ซื้อของตามโปรโมชั่นเลย แต่วินเป็นคนที่วางแผนซื้อของช่วงโปรโมชั่นตลอด เรามองว่าการขายของให้ได้กลุ่มลูกค้าทุกคนก็ควรทำโปรโมชั่นด้วยเพียงแต่ต้องวางแผนอย่างรัดกุม เพราะถ้าเราไม่ทำโปรโมชั่นก็หมายความว่าเราอาจเสียโอกาสในช่วงที่คนอื่นเขาได้โอกาสกัน” เนยอธิบาย
แต่นอกจากการส่งเสริมการขายในแง่ของสงครามราคา ทั้งคู่ก็เน้นการสื่อสารและการสร้างคอมมิวนิตี้คนหลงรักงานออกแบบและสีสันขึ้นมาด้วย นั่นคือการสื่อสารที่มาของลวดลายผ่านการเขียนเล่าเรื่องราว การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางสตอรีอินสตาแกรม
อย่างการให้ช่วยโหวตลวดลาย สีสัน หรือขอความเห็นในการพัฒนาสินค้าต่อไป เพราะทั้งสองคนมองว่า exciting store ไม่ใช่เพียงร้านขายอุปกรณ์ออกกำลังกาย แต่คือคอมมิวนิตี้ที่คนรักสีสันและเรื่องราวมาแชร์ความชอบร่วมกันได้
“เราเชื่อว่าการทำการตลาดปัจจุบัน การขายของอย่างเดียวมันไม่ขายแล้ว มันต้องไปไกลกว่านั้น แต่มันต้องแสดงให้เห็นถึงตัวตนของเจ้าของแบรนด์ เพราะเวลาเราซื้อของแต่ละครั้ง เราก็ชอบซื้อจากสไตล์ของเจ้าของหรือสไตล์การสื่อสารของแบรนด์ด้วย
“ทุกวันนี้ลูกค้าที่ซื้อเสื่อไปแล้วก็ยังมากดไลก์กดแชร์ และมาพูดคุยกับเราอยู่ตลอด ทั้งที่เสื่อมันเป็นสินค้าที่ซื้อครั้งเดียวก็ใช้ได้นานๆ คนควรจะแยกย้ายกันไปได้แล้ว แต่เขาก็ยังติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับเราเพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าแบรนด์ แต่มันคือการรวมตัวกันของคนที่มีความชอบและความเชื่อแบบเดียวกัน
“นี่คือสิ่งที่ทำให้มันยังไปต่อได้แล้วเราก็ยังสนุกกับการมีพื้นที่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายของอย่างเดียวแต่เป็นการเล่าเรื่องมากกว่า” เนยว่าอย่างนั้น
Place
ออนไลน์คือหัวใจ ออฟไลน์คืออนาคตที่ตั้งไว้
ปัจจุบันเสื่อออกกำลังกายจาก exciting store นั้นมีวางขายในช่องทางออนไลน์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าแพลนสำหรับการออกหน้าร้านจะไม่มี เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้า ทั้งวินและเนยพบว่าความแตกต่างของวัสดุที่ในทางหนึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ก็พ่วงมากับ pain point ของลูกค้าที่ไม่มั่นใจว่าสัมผัสที่ได้จากเสื่อนั้นจะถูกใจหรือไม่
“ที่ผ่านมาถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ไม่ดีกับเสื่อเพราะอาจจะไม่ได้คาดหวังเสื่อแบบใหม่นี้และเพราะเขาไม่เคยสัมผัสของจริงมาก่อน เราสองคนก็พร้อมคืนเงินให้
“ถ้าเป็นไปได้ ในอนาคตเราก็อยากจะเอาเสื่อของเราไปวางขาย หรือทำหน้าร้านขึ้นมา เพราะเราแคร์คนซื้อมากๆ เรารู้สึกว่าด้วยราคาเท่านี้ เราอยากให้เขาได้ลองสัมผัสวัสดุว่าเขาจะชอบจริงๆ ไหม เพราะมันเป็นวัสดุที่ค่อนข้างใหม่ในตลาดไทย” วินเล่าความตั้งใจ ก่อนที่เนยจะเสริมว่า
“บอกตามตรงว่าเราขายออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เราก็อยู่ได้ แต่เราอยากให้ลูกค้าได้ของที่เขาชอบจริงๆ”
Personality
ตัวตนของแบรนด์คือหลักสำคัญ
สีสันสดใส ความแปลกใหม่ของวัสดุ รวมถึงคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ exciting store มีลูกค้าที่กลายเป็นลอยัลตี้ของแบรนด์ แต่นอกจากปัจจัยเหล่านั้นแล้ว อีกสิ่งที่ทั้งคู่มองว่าสำคัญต่อการสร้างแบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ขึ้นมาคือตัวตนหรือ ‘personality’
“เราชอบท่องเที่ยว เราชอบเรื่องราว เราชอบงานศิลปะ เราชอบงานออกแบบ มันส่งผลต่อทั้งการออกแบบสินค้า รูปทรง สีสัน การทำให้มันยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งราคา โปรโมชั่น หรือช่องทางการขาย
“มันคือผลลัพธ์จาก personality ของเราทั้ง 2 คน มันคือผลลัพธ์จากการตบตีกันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
เพราะเรามองว่าสมัยนี้การสร้างแบรนด์ให้ดี แบรนด์นั้นๆ ต้องแสดง personality ออกมาให้ชัดเจน ยิ่งเราทำ personality ชัดเท่าไหร่ ลูกค้าจะยิ่งรู้สึกถึงเหมือนได้เจอเพื่อน ซึ่ง personality ของเราก็คือถ้าคนนึกถึงเสื่อสดใสน่ารักหรือแม้แต่ของอื่นๆ ที่มันน่ารักมากๆ และแฝงไปด้วยเรื่องราว เราก็อยากให้คนนึกถึงเรา” เนยอธิบายความหมายของอีก p ที่ทั้งคู่มองว่าสำคัญ
personality ที่ชัดเจนนี้เองทำให้นักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์หลายคนเลือกใช้เสื่อออกกำลังกายจาก exciting store โดยที่ทั้งคู่ไม่เคยจ้าง ทั้งหมดนี้ วินและเนยมองว่าเป็นผลพวงจากความสร้างสรรค์ที่เสื่อออกกำลังกายผืนอื่นๆ มอบให้ลูกค้าไม่ได้ แต่ exciting store มอบได้นั่นเอง
“เราไม่เคยเชื่อเรื่องการจ้างรีวิว เราเชื่อว่าถ้าเขาชอบของเราจริงๆ เขาจะใช้บ่อย ใช้ซ้ำ และแชร์ของของเราโดยเราไม่ต้องไปกำกับแคปชั่นหรืออะไร แต่เขาจะแสดงความเป็นตัวแทนลูกค้าของเราออกมาจากใจจริง” เนยบอก
ในอนาคต ทั้งคู่ยังมองว่า exciting store ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์ขายเสื่อออกกำลังกายแต่ยังมีสินค้ามากมายที่มีจุดร่วมเดียวกันคือลวดลายแตกต่าง สีสันสดใส และสื่อสารเรื่องราว เพื่อทำให้ทุกคนที่ได้เห็นรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกับที่มาของชื่อร้านที่ทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจจากร้านหนังสือแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
“เขาเริ่มจากเปิดร้านหนังสือ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้เขามีสินค้าอื่นๆ มากกว่าหนังสือจนคนรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดาทั่วไป และเรียกว่า exciting book store เพราะไม่ว่าจะเดินเข้าร้านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ลูกค้าก็จะรู้สึกตื่นเต้นอยู่เสมอว่าเขาจะได้เจออะไร
“ในอนาคต ถ้าเรามีสินค้าอื่นๆ เราก็อยากให้คนรู้สึกว่าบางครั้งเขาอาจจะไม่รู้ว่าเขาอยากได้อะไรหรอก แต่เขาจะรู้ว่าสิ่งที่เราสองคนทำออกมาจะทำให้เขาตื่นเต้นได้ตลอด” เนยบอกความตั้งใจ
what i’ve learned
- วิน : ถ้าเราตัดความคิดสร้างสรรค์ออกไป เราคิดว่าเสื่อของเราก็คงไม่แปลกใหม่จากท้องตลาด
- เนย : ตอนแรกที่เราทำออกมาโดยไม่มีวิน เรากังวลไปหมดว่าจะมีคนชอบแบบเดียวกับเราไหม ถ้าไม่มีเว็บไซต์มันจะปังไหม มันจะทำเงินได้ยั่งยืนไหม จนเราลืมไปว่ามันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก ถ้าเราชัดเจนกับสิ่งที่ทำมากพอก็ลองทำไปเลย เพราะระหว่างทางที่ทำ เราจะหามันเจอจนได้ว่าเราต้องทำแบบไหน
- เนย : การทำงานร่วมกับแฟน เราต้องชัดเจนเรื่องเวลามากๆ ว่าเมื่อหมดเวลางานแล้ว เราต้องชัตดาวน์ทุกอย่างแล้วกลับไปเป็นแฟนที่ใช้ชีวิตปกติให้ได้