RAVIPA

RAVIPA แบรนด์เครื่องประดับไทยที่ตีตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยจิวเวลรีสายมูฯ จนได้คอลแล็บกับดิสนีย์

คุณผู้อ่านทั้งหลายที่รักการใส่เครื่องประดับเป็นชีวิตจิตใจ คงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์เครื่องประดับสัญชาติไทยอย่าง RAVIPA

ขนาดเรา ที่ไม่ใช่แฟนตัวยงของเครื่องประดับเท่าไหร่ แต่นับตัวเองว่าเป็นติ่งการ์ตูนดิสนีย์มาตั้งแต่เด็ก ยังเคยเห็นชื่อแบรนด์นี้ผ่านตาอยู่หลายครั้ง

อ่านถึงตรงนี้อาจงงว่า RAVIPA กับดิสนีย์เกี่ยวข้องกันตรงไหน ขอเฉลยให้ฟังเลยว่า RAVIPA เป็นแบรนด์เครื่องประดับหนึ่งเดียวของไทยที่ได้มีโอกาสไปจับมือกับดิสนีย์ ร่วมกันทำคอลเลกชั่นที่เครื่องประดับทุกชิ้นล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากเจ้าหญิงและตัวละครอื่นๆ ในจักรวาลมิกกี้เมาส์

ความปังไม่หยุดแค่นั้น เพราะนอกจากดิสนีย์แล้ว RAVIPA ยังไปจับมือกับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เราไม่คิดว่าจะมาร่วมงานกันได้ ไล่ตั้งแต่ PAÑPURI, Potato Corner ไปจนถึงโรงแรมห้าดาวหลายแห่ง ตัวแบรนด์เองยังขยายสาขาได้มากกว่า 25 สาขาในเวลาไม่ถึง 10 ปี และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ RAVIPA เป็นแบรนด์แรกๆ ผู้จุดกระแสสร้อยข้อมือสายมูฯ ที่คนใส่กันเต็มบ้านเต็มเมือง

เช้าวันที่เรามีนัดกับ สา–ธนิสา วีระศักดิ์ศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ช็อปของเธอภายในห้างเอ็มโพเรียม เราขอให้หญิงสาวเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของการปลุกปั้นแบรนด์อายุ 10 ปี และเคล็ดลับที่ทำให้ RAVIPA กลายเป็นเครื่องประดับที่เติมเต็มลุคของคนใส่ให้สมบูรณ์ จนคนรักเครื่องประดับหลงใหลไปตามๆ กัน

Everyday Essential

คุณเป็นคนชอบใส่เครื่องประดับอยู่แล้วหรือเปล่า

ชอบ เพราะใส่แล้วเหมือนได้คอมพลีตลุค สาไม่ได้เป็นสายแฟชั่น ตามเทรนด์ตลอดเวลา ปกติแต่งตัวเรียบง่าย ไม่ตะโกนมาก แต่ก็เป็นเหมือนผู้หญิงหลายคนที่ถ้าไม่ได้ใส่ต่างหูหรือเครื่องประดับเราก็ไม่มีความมั่นใจ สาเลยคิดว่าเครื่องประดับเป็นสิ่งที่ผู้หญิงขาดไม่ได้ สมัยนี้อาจจะเป็นผู้ชายและเพศอื่นด้วย 

ก่อนหน้านี้สาชอบใส่ต่างหูแต่ตอนนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือสร้อยข้อมือ เพราะเป็นเครื่องประดับที่กึ่งๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ เราใส่ติดตัวได้ทุกวัน ใส่อาบน้ำ ออกกำลังกาย ซึ่งสาคิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเห็นคนใส่สร้อยข้อมือเยอะ มันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (everyday essential) ที่ขาดไม่ได้จริงๆ

รู้มาว่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ RAVIPA มาจากพี่สาวของคุณสาที่เรียนทำเครื่องประดับ

ใช่ค่ะ จริงๆ เริ่มต้นมาจากพี่สาวที่เรียน Jewery Design ที่ซานฟรานซิสโก แล้วไปชนะรางวัลหนึ่งมา ตอนนั้นสากำลังเรียนปี 3 อยู่คณะบัญชี จุฬาฯ ก็ถามเขาว่าเก่งขนาดนี้จะไปรับทำงานฟรีแลนซ์ให้คนอื่นทำไม มาทำแบรนด์เองเถอะ ด้วยความที่ 10 ปีที่แล้วเรายังเด็ก แพสชั่นของเราแรงกล้า สากับพี่สาวก็ลองทำโดยไม่ได้คาดหวังว่า RAVIPA จะโตถึงทุกวันนี้ ถึงขนาดที่ตอนนี้เรามีพนักงานกว่าร้อยชีวิตแล้ว 

ตอนนั้นคุณยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย อะไรทำให้มั่นใจว่าธุรกิจนี้จะไปรุ่ง

จริงๆ สาเป็นคนชอบขายของ มีดีเอ็นเอแม่ค้าในตัว สาขายของตั้งแต่ตอนเรียนที่มาแตฯ เขาจะมีกิจกรรมให้ขายของในโรงเรียนหรืองานกีฬาสี แล้วสารู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้ทำเรามีแพสชั่นมาก ไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะกำไรเท่าไหร่ แต่มีความสุขกับการคิด ขาย คุยกับลูกค้า มีความสุขตลอดเวลา แล้วสาคิดว่านี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าด้วยซ้ำ 

พอได้มาทำ RAVIPA ก็ยิ่งชอบ อาจเพราะมันเป็นงานดีไซน์ที่ออกมาจากเราตั้งแต่ศูนย์ ตอนเห็นลูกค้าชอบเราก็ดีใจ และพอสเกลธุรกิจมันโตขึ้น ลูกค้าไม่ได้ชอบแค่โปรดักต์แล้ว แต่ชอบทั้งการทำดิสเพลย์ แพ็กเกจจิ้ง แคมเปญของเรา ทุกๆ การชื่นชมของลูกค้ายิ่งทำให้เรามีแพสชั่นกับธุรกิจ

ย้อนกลับไปก่อนก่อตั้งแบรนด์ ตลาดเครื่องประดับเป็นยังไง

งานเครื่องประดับของดีไซเนอร์ไทยมีแค่เจ้าใหญ่ๆ ที่เจ้าของเป็นรุ่นคุณพ่อ รุ่นอากง ช่วง 10 ปีก่อนไม่มีจิวเวลรีสำหรับคนเจนฯ ใหม่หรือนิวเจนฯ เลย ดังนั้น จุดเริ่มต้นของเราจึงเป็นการทำแหวนคู่รักสำหรับวัยรุ่น เพราะเราคิดว่าเวลาวัยรุ่นมีความรักคงอยากใส่แหวนคู่กับแฟน ถ้าต้องรอแต่งงานเลยมันไม่ได้ ต้องจองแฟนไว้ก่อน (หัวเราะ) แล้วแหวนคู่รักเป็นแหวนอินฟินิตี้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครทำ และมันก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ในตอนหลัง

ฟีดแบ็กตอนนั้นเป็นยังไง

จำได้เลยว่าสมัยก่อนไม่ได้มีป๊อปอัพสโตร์เหมือนตอนนี้ สาเลยไปเปิดป๊อปอัพสโตร์ที่ตลาดนัดเควิลเลจ จำได้ว่าใส่ชุดนักศึกษาไปขายเลย สอบเสร็จแล้วไปขายต่อ มีลูกค้าเดินมาบอกว่าชอบผลงาน ตอนนั้นดีใจมากจนแทบจะให้เขาฟรี (หัวเราะ) ไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย ซึ่งอันที่จริงแพสชั่นในการทำธุรกิจของสาก็ไม่ได้ตั้งต้นจากเงินมาตั้งแต่เริ่ม ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องรวยร้อยล้านหรือมีเงินเท่าไหร่ 

ถามว่าเงินสำคัญไหม สำคัญนะ แต่สาคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนทำงานสร้างสรรค์ต้องคิดเรื่องเงิน ทุกอย่างจะช็อตและคิดไม่ได้ ทุกครั้งที่จะต้องดีไซน์เครื่องประดับใหม่ๆ สาจึงเอาเงินออกจากสมการเสมอ 

Jewelry is Everyone’s Best Friend

ทุกวันนี้มีแบรนด์เครื่องประดับใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่ทำให้ RAVIPA ชนะใจลูกค้าจนมาซื้อกับคุณได้คืออะไร

ตัวดีไซเนอร์เอง ก่อนจะออกมาเป็นหนึ่งคอลเลกชั่นเราคิดเยอะมาก เราจะออกแบบคอนเซปต์จากอะไร ใครจะใส่คอลเลกชั่นนี้ เหมือนเราเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งว่าอยากให้เขาได้ใส่สิ่งนี้เพื่ออะไร เราไม่ได้อยากออกแบบแค่สวยแต่เขาต้องใส่แล้วได้อะไรสักอย่างด้วย อาจเป็นความหมายดีๆ กำลังใจ ได้รับพลังจากเรา หรือความหวังดีที่เราถ่ายทอดผ่านเครื่องประดับ

สาไม่รู้ คิดว่าเราต้องทำแบบเน้นจำนวนเยอะๆ แบบทำมาเลย 5,000 แบบแล้วให้ลูกค้าไปเลือกเอาเอง เราไม่ได้คิดอย่างนั้น สาให้ค่ากับเวลาและเงินที่เขามอบให้ ดังนั้นสิ่งที่เขาได้กลับไปมันต้องมากกว่า และสิ่งนี้แหละที่ถ่ายทอดออกมาเป็นแบรนด์ RAVIPA ที่อัดแน่นไปด้วยความหมาย

อย่างคุณภาพของอัญมณีแต่ละชิ้น เราใช้ของคุณภาพดีที่สุดที่ท้องตลาดจะหาได้ อย่างเครื่องเงินเราใช้ทองขาว พลอยเราก็ใช้อัญมณีแท้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรายึดมั่นแต่ที่เพิ่มเติมกว่านั้นคือความหมายของมัน เครื่องประดับของเรายึดคอนเซปต์ Meaningful Jewelry เช่น ไข่มุกที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่และส่งพลังของความเป็นผู้หญิง หรืออย่างคอลเลกชั่นที่เราทำกับดิสนีย์ เรามีการจับคู่อัญมณีกับคาแร็กเตอร์ของดิสนีย์ หมายถึงเรื่องราวของตัวละครนั้นกับพลอยที่ใช้จะต้องส่งเสริมไปด้วยกัน มันไม่ใช่แค่ใส่ธีมเจ้าหญิงที่คุณชอบ แต่ใส่แล้วเจ้าหญิงคนนี้จะส่งพลังอะไรให้คุณด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้ RAVIPA แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ 

การเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งมีข้อดียังไง

ถ้าย้อนกลับไปวันที่เราตั้งบูทขายเอง เราคุยกับลูกค้ามาตั้งแต่วันนั้น แล้วสากล้าบอกเลยว่าหลายๆ คอลเลกชั่นที่ออกมาก็เกิดขึ้นเพราะลูกค้า เกิดขึ้นเพราะเราฟังเสียงเขา เราพยายามดีไซน์สิ่งที่ลูกค้าขาดไม่ได้ ไม่ใช่สิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องการจริงๆ

อย่างคอลเลกชั่นสร้อยข้อมือศักดิ์สิทธิ์หรือสร้อยข้อมือสายมูฯ ตอนแรกสาอยากทำเพราะสาต้องขึ้นไปพูดในวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งวันนั้นเรารู้สึกขาดความมั่นใจ จะห้อยสร้อยพระก็ไม่ได้เพราะไม่เข้ากับการแต่งตัวที่โมเดิร์นและดูไม่ใช่เรา แต่เราอยากมีสิ่งยึดเหนียวทางจิตใจ ทำยังไงดีนะ สุดท้ายก็คิดถึงสร้อยข้อมือมูเตลูแบบมินิมอล มูยังไงไม่ให้รู้ว่ามูฯ  เราเลยดีไซน์คอลเลกชั่นนี้ แล้วตอนนั้นเผอิญไปชนะรางวัล Design Excellence Award ขึ้นมาพอดี เราเลยทำขายตอนปี 2019 แบบลิมิเต็ด เพราะจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจทำขายแต่ทำเพราะตัวเองอยากใส่

ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีลูกค้าคนหนึ่งทักมาบอกว่าช่วยทำคอลเลกชั่นนี้อีกครั้งได้ไหม เขาเคยซื้อช่วงขายลิมิเต็ดแล้วมันดีมาก แต่ตอนนี้เพื่อนเขาตกงาน อยากฆ่าตัวตาย เขาอยากให้เครื่องประดับที่เคยยึดเหนี่ยวจิตใจเขากับเพื่อน ตอนนั้นทำให้สากลับมาย้อนคิดว่าสาทำแบรนด์นี้ไปเพื่ออะไร สาทำเพราะอยากช่วยคนใช่ไหม อยากให้คนได้พลังบวกใช่ไหม ถ้าคำตอบคือใช่แล้วทำไมสาจะไม่ทำคอลเลกชั่นนี้อีกครั้ง ถ้ามันได้ช่วยใครสักคนทำไมเราจะไม่ทำ

สุดท้ายคอลเลกชั่นสายมูฯ ก็กลับมาในปี 2021 เพราะเรารับฟังเสียงลูกค้า ทั้งยังดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของพวกเขา นั่นคือเรื่องความรักและการงาน โดยกำหนดธีมตามองค์เทพหลักๆ เริ่มจากองค์พญานาค พระตรีมูรติ แล้วต่อยอดสู่องค์อื่นๆ  ที่เซอร์ไพรส์สาคือช่วงโควิดสาก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาดูว่าคอลเลกชั่นนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน จนสาไปกินข้าวกับเพื่อนนอกบ้านแล้วเห็นว่ามีแต่คนใส่เต็มไปหมด   ช่วงนั้นไม่มีครั้งไหนที่สาออกจากบ้านแล้วจะไม่เห็นคนใส่ RAVIPA เลย สาก็คิดว่าจริงเหรอ แบรนด์เรามาถึงขนาดนี้แล้วเหรอ

ที่ไปไกลกว่าที่คิดคือมีคนดังระดับโลกใส่ของเราด้วย เวลาคนมาถามว่าจ้างหรือเปล่า เราจะบอกว่าเปล่าเลย เพราะจริงๆ เราเป็นแบรนด์เล็กที่เริ่มต้นด้วยตัวเอง ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังจะไปจ้างใคร ที่คนดังใส่เพราะเขาซื้อเอง มีแฟนคลับหรือครอบครัวซื้อให้ มันเป็นสิ่งดีๆ ที่บอกต่อปากต่อปาก

อะไรคือเอกลักษณ์ที่ทำให้คอลเลกชั่นมูฯ ของ RAVIPA ต่างจากแบรนด์อื่นๆ 

สิ่งที่อาจจะแตกต่างคือเราทำเพราะเราเชื่อจริง ไม่ได้ทำเพราะมันเป็นกระแสแล้วเรากระโดดเข้ามาทำ แต่เราเป็นคนแรกๆ ที่จุดกระแสมากกว่า 

สาไหว้เจ้าตั้งแต่เด็ก ที่บ้านทำบุญอยู่เสมอ และบ้านของสาอยู่แถววัดแขก เราเลยได้เห็นความเชื่อเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก สานับถือพุทธ รู้จักศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และมีเชื้อสายจีน การบูชาทั้ง 3 แบบนี้คือสิ่งที่เราเชื่อมาตั้งแต่ต้น และสาเชื่อว่าลูกค้าที่เขาอินจริงๆ เขาจะรับรู้ว่าเราไม่ได้มั่ว  อย่างคอลเลกชั่นของเราพิเศษตั้งแต่ตัวดีไซน์ที่เราออกแบบทุกเซนติเมตรให้ถูกหลักฮวงจุ้ย มีองศาที่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ คือตั้งแต่ดีไซน์ก็ปังแล้ว ยิ่งได้ผ่านการทำพิธีปลุกเสกและการอนุมัติจากซินแสประจำบริษัทด้วยก็ยิ่งเสริมพลังเข้าไปอีก (ยิ้ม)

กว่าจะมาเป็นเครื่องประดับของ RAVIPA หนึ่งชิ้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ทุกชิ้นใช้เวลากว่า 6 เดือนในการสร้างสรรค์ ตั้งแต่การออกแบบที่เราต้องระดมความคิดหาคอนเซปต์ สร้างตัวต้นแบบที่สาต้องลองก่อน ถ้ารู้สึกว่าอันไหนไม่ดี ไม่ชอบ สาจะไม่ทำต่อ คือสามองว่าถ้าเรายังไม่อยากใส่แล้วลูกค้าจะอยากไหม เทียบกับร้านอาหารก็เหมือนเราไม่กินอาหารที่ร้านตัวเอง  

สิ่งที่เรายึดถือไว้ในใจคือคำว่า Minimal Everyday Wears เครื่องประดับของ RAVIPA ไม่ได้ทำเพื่อใส่วันเดียวแล้วจบแต่ต้องเป็นจิลเวลรีที่ใส่ได้ทุกวัน ต่างหูคู่หนึ่งสามารถใส่ไปพรีเซนต์งาน ไปงานแต่ง ไปกินข้าวกับเพื่อนก็ทำได้ ต้องเป็นอะไรที่ใส่แล้วคุ้ม คลาสสิก ใส่ได้ในหลายลุค 

เราอยากให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ อย่างถ้าได้มาที่ร้าน สามั่นใจเลยว่า พนักงานของสาจะไม่ได้แนะนำของที่แพงที่สุดให้ แต่จะแนะนำสิ่งที่เหมาะกับเขาที่สุด เพราะสุดท้ายสาเชื่อว่าพนักงานทุกคนมีความเชื่อเหมือนกันคือถ้าลูกค้าใส่แล้วรู้สึกดี เขาจะกลับมาหาเรา 

A Dream Is A Wish Your Heart Makes

หนึ่งในคอลเลกชั่นที่สร้างชื่อให้ RAVIPA คือคอลเลกชั่นที่คุณร่วมงานกับดิสนีย์ คุณไปจับมือกับแบรนด์ระดับโลกขนาดนี้ได้ยังไง

สาเคยพูดลอยๆ ทีหนึ่งว่า ถ้าเลือกคอลแล็บกับแบรนด์หนึ่งแบรนด์ที่ฝันอยากจะคอลแล็บด้วยที่สุด สาอยากคอลแล็บกับดิสนีย์ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา ช่วงปลายๆ โควิดระลอกแรก ทางดิสนีย์ส่งอีเมลมาว่า “Hello from Disney” ตอนแรกสาก็เอ๊ะ เราจองตั๋วไปดิสนีย์แลนด์ไว้หรือเปล่า ไม่มีนี่นา เพราะเราเป็นแฟนคลับดิสนีย์ ต้องไปดิสนีย์แลนด์ทุกปี แต่พอเปิดอ่านอีเมลดูแล้วรู้ว่าเขาอยากร่วมงานกับแบรนด์จิลเวลรีรุ่นใหม่และเขาอยากร่วมงานกับเรา นี่เรียกได้ว่าเป็นฝันที่เป็นจริงของเราเลย  

กระบวนการหลังจากนั้นคือการร่วมงานกัน อย่างในโลโก้จะเห็นว่ามีเครื่องหมาย x หรือ | ซึ่งดิสนีย์เขาเรียกว่าเป็นการ co-branding หรือการทำงานร่วมกันที่ไม่ใช่แค่ให้ลิขสิทธิ์ตัวละครของเขามาเฉยๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เรามองหา สาเลยได้ทำงานร่วมกับดิสนีย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อดีไซน์เครื่องประดับร่วมกัน

นอกจากดิสนีย์จะเห็นได้ว่า RAVIPA ไปจับมือร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ เช่น Potato Corner, PAÑPURI, Grab และโรงแรมระดับห้าดาวอีกมากมาย คุณมีเกณฑ์ในการเลือกแบรนด์ที่จะร่วมงานด้วยหรือเปล่า

เหมือนทุกครั้งที่เราทำสินค้าใหม่ เราจะยึดว่าต้องเป็นโปรดักต์ที่เราใส่แล้วรู้สึกใช่ มันคือตัวตนของเรา การคอลแล็บก็เหมือนกัน สาคิดว่าสาต้องชอบหรือเคยใช้แบรนด์นั้น ต้องเคยเป็นลูกค้าของเขาก่อน หรือหากไม่เคย สาก็ต้องเข้าไปเป็นลูกค้าของเขาเพื่อเข้าใจว่าเขาเป็นยังไง ถ้าไม่ดีจริงเราก็ไม่อยากแนะนำเขาให้ลูกค้าของเรา สาไม่อยากหลอกขายลูกค้า เพราะเรามีทุกวันนี้ได้เพราะลูกค้าทั้งนั้น ดังนั้นแบรนด์ที่เราจับมือด้วยต้องดีพอสำหรับพวกเขาด้วย นี่คือสิ่งที่สาเลือก

อยากรู้เรื่องกลยุทธ์การขยายสาขาบ้าง เพราะ RAVIPA  ขยายสาขาเยอะมากในช่วงปีที่ผ่านมา อะไรคือเคล็ดลับเบื้องหลังการขยายสาขาเหล่านี้

คนถามมาเยอะมากทำไมขยายเยอะขนาดนี้ ทำทัน ทำไหวได้ไง สาบอกเลยว่ามันไม่มีคำว่าพร้อม เมื่อโอกาสมา พื้นที่มีจำกัด แต่เรายังไม่กล้าไป คนอื่นจะชิงเซ็นสัญญาแล้วได้พื้นที่นั้นไปอีก 3-5 ปีเลยนะ แล้วพื้นที่นั้นมันจะวนกลับมาหาเราอีกไหม สารู้สึกว่ามันคือการที่เราต้องปรับตัวมากกว่า ที่สำคัญคือต้องกล้าลอง เพราะแน่นอนว่าแต่ละห้าง แต่ละสถานที่มีกลุ่มลูกค้าต่างกัน สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องปรับตัว นั่นคือคีย์เวิร์ดที่ทำให้ RAVIPA มีหลายสาขาได้

อีกอย่างคือ จะเห็นได้ว่าเราขยายสาขาทั้งแบบหน้าร้านสโตร์และ kiosk ในแต่ละห้างด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วสาชอบแบบ kiosk มากกว่าเพราะเป็นสิ่งที่จับต้องง่าย เข้าถึงง่าย ชวนลูกค้าให้มาลองสวมใส่ จะสังเกตได้ว่าเครื่องประดับของ RAVIPA จะเป็นเชลฟ์แบบเปิด เพราะสารู้สึกว่าจิลเวลรีต้องเข้าถึงได้ ลูกค้าไม่ต้องมา “ขออนุญาตนะคะ เปิดตู้ได้ไหม” สารู้สึกว่ามันเขินที่ต้องพูดแบบนี้ เราอยากเป็นจิลเวลรีที่ “ลองเลยค่า อยากให้ลองใส่ดูจัง” เป็นจิลเวลรีที่เป็นมิตร ไม่ได้อยากเป็นเครื่องประดับหรูๆ หยิ่งๆ ในตู้กระจก 

Small Fish Dies, Quick Fish Survives

ทำแบรนด์มา 10 ปี ความท้าทายในวันนี้ของ RAVIPA คืออะไร

สาคิดว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจิลเวลรี แฟชั่น เสื้อผ้า เราต้องตามเทรนด์ให้ได้ หมายถึงไม่ได้ตามกระแสอย่างเดียวแต่เราต้องเข้าใจยุคสมัย เช่น ตอนนี้คนเริ่มไปอยู่ TikTok เราก็ต้องไปอยู่ในนั้น หรือเขาไปช็อปใน e-Commerce กัน ถ้าเราไม่ไปเราจะขายยากขึ้น

แล้วยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นตัวพิสูจน์ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนเร็ว เราต้องปรับตัวให้ทัน ในโลกธุรกิจจะมีคำว่าปลาใหญ่กินปลาเล็กแต่สามองไว้เสมอว่า RAVIPA เป็นปลาเร็วที่รอดในตลาด เราไม่ได้มีกำลังสู่กับปลาใหญ่อยู่แล้ว แต่เราเป็นปลาเล็กที่เร็วมาก พอคลื่นมาเราก็ซอกแซกเปลี่ยนคลื่น ทำให้เรารอดขึ้นมาได้

คุณเรียนรู้คำว่าปลาเร็วมาจากไหน

น่าจะมาจากฟีดแบ็กจากทีมที่บอกว่าสาทำงานเร็ว โอกาสมาเราคว้า เราทำ เราต้องรีบปรับตัวเพราะเราไม่ได้เป็นบริษัทเงินทุนหนา ไม่กู้ใครมา ทุกอย่างมาจากการเก็บเงินแล้วเอากำไรต่อยอดเรื่อยๆ ดังนั้นสาเห็นคุณค่าของเงินและคิดว่าถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยเงินได้ เราต้องแก้ด้วยความสามารถ ความอึด และความอดทน

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่คุณยึดถือมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คืออะไร 

สาเชื่อในความเห็นอกเห็นใจมากๆ เลย  ไม่ใช่แค่กับลูกค้าที่สาคิดว่าของที่เราส่งต่อให้เขาต้องเป็นของดี มีคุณภาพ ไม่หลอกขาย ทว่ารวมไปถึงทีมด้วย 

สาอยากมีความเห็นอกเห็นใจกับเด็กๆ ในทีม มีหลายครั้งในการทำงานที่สาเก็บไปคิดว่าเราพูดแบบนี้ไปน้องโอเคไหมนะ เราทำงานเยอะไป น้องไหวไหมนะ สาเป็นคนคิดเยอะเพราะสาใส่ใจเขา ในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็เป็นความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในทีม สาไม่ได้คิดว่าเขาคือลูกจ้างเราแต่คิดว่าเขาเป็นน้องเรา เป็นทีมเดียวกัน แล้วสาเชื่อว่าความจริงใจและความเห็นอกเห็นใจที่สื่อออกไปเด็กในทีมก็คงรู้สึกได้ หรืออย่างพาร์ตเนอร์ของเรา สาคิดว่าการร่วมมือกันมันต้อง win-win ทั้งสองฝ่ายมากที่สุด สำหรับสา 1+1 ต้องได้ 10 ไม่ใช่ได้ 2 เราพยายามซัพพอร์ตพาร์ตเนอร์ให้แฮปปี้กับการทำงานมากที่สุด 

ในวันนี้ กำไรสำคัญกับธุรกิจของคุณมากแค่ไหน

ถ้าบอกว่าเงินไม่สำคัญคงโกหกเพราะการทำตามความฝันต้องใช้เงิน ในขณะเดียวกันเงินก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอไป ถ้าถามสาว่าทุกวันนี้ RAVIPA มีรายได้เท่าไหร่ สาไม่รู้นะ ไม่ได้โกหกด้วย เพราะสามัวแต่มองไปข้างหน้าว่าจะทำอะไรต่อ มีสิ่งที่อยากทำเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่คิดไว้เสมอคือทำอะไรขอแค่ไม่ขาดทุน คิดถึงเรื่องเงินได้แต่ไม่ได้เอาเงินมาเป็นที่ตั้งหรือสิ่งที่คิดเป็นอย่างแรกตอนตั้งโปรเจกต์ อย่างที่สาเคยบอกไปว่าเมื่อไหร่ที่เอาเงินมาอยู่ในสมการ ความคิดสร้างสรรค์และแพสชั่นของสาจะหายไป เราตั้งโปรเจกต์ด้วยจุดประสงค์ว่าเราอยากได้เครื่องประดับแบบไหน ตอบโจทย์ลูกค้ายังไงมากว่า ไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ดีไหมแต่เป็นวิธีที่สาใช้ทำงาน

หากเงินไม่ได้สำคัญที่สุดกับธุรกิจ แล้วอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ

ลูกค้าแล้วกันค่ะ เมื่อก่อนจะเป็นคำชมที่เขามีให้เครื่องประดับเราแต่ตอนนี้คือการที่เขาใช้เวลาร่วมกับเรา อย่างล่าสุดเราเพิ่งปิดโรงหนังเรื่อง The Little Mermaid เพื่อดูกับลูกค้า เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สาชื่นชมเขามากเพราะลูกค้าสาเขาเป็นคนที่มีกำลังซื้อระดับหนึ่ง จะไปดูเองก็ได้แต่เขาก็ยังเลือกจะมาดูหนังกับเรา สาเป็นคนที่ให้ค่ากับเวลามากนะ แล้วการที่ลูกค้ามาร่วมดูกับ RAVIPA นั่นยิ่งทำให้สาชื่นชมเขามากขึ้นไปอีก นี่คือแรงซัพพอร์ตที่เป็นกำลังใจให้สาขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป

คุณมองอนาคตแบรนด์ไว้ยังไงบ้าง

สาอยากเป็นแบรนด์ไทยที่อยู่ใน wish list ของชาวต่างชาติเวลาเขามาเที่ยวประเทศไทย เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศต้องไปดูช็อปของ Dior อะไรแบบนี้ สารู้สึกว่าถ้าเขามาประเทศเราแล้วมาหา RAVIPA มันคงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมาก

อีกความน่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งคือตอนเดินทางไปต่างประเทศแล้วลูกค้าที่รู้จักเราเห็นว่าเครื่องประดับของเรามีขายที่นั่นด้วย RAVIPA มาถึงนี่แล้วเหรอ สาคิดว่านี่ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแค่ตัวสาหรือครอบครัวแต่หวังว่าจะเป็นความภูมิใจเล็กๆ ของคนไทยด้วย

การทำแบรนด์ RAVIPA ให้มาไกลขนาดนี้ได้มีความหมายกับคุณยังไง

ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาจนถึงตอนนี้ สาไม่ได้คาดหวังว่า RAVIPA จะมาไกลขนาดนี้ ทุกครั้งที่ทำบางสิ่งสำเร็จแล้วสาจะเซตเป้าหมายถัดไปทันที เหมือนอยากท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ และทุกครั้งที่สำเร็จสาก็ภาคภูมิใจกับมัน อย่างการได้ไปคอลแล็บกับแบรนด์ในฝันอย่าง Disney และโปรเจกต์อื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต สิ่งเหล่านี้ทำให้เราคิดว่า “แบรนด์ไทยเนี่ยนะ แบรนด์ที่เราปั้นกับมือเนี่ยนะจะร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกได้แล้ว” สาคิดว่าการทำแบรนด์นี้เติมเต็มความฝันของตัวสาเอง ทำให้สาอยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like