SOMEWEAR OVER THE RAINBOW

ชุดทำงานที่เหมือนสายรุ้งหลังฝน ของยูน–ปัณพัท เตชเมธากุล ผู้ก่อตั้งบริษัทสายรุ้งแห่งความฝัน

ยูน–ปัณพัท เตชเมธากุล คือ ศิลปินและนักออกแบบงานศิลปะร่วมสมัยที่มีผลงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลก และห้างร้านชื่อดังต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gucci, Instagram, Sulwhasoo, Nescafe 

แม้คุณจะไม่ใช่สายเสพงานศิลป์แต่เชื่อเถอะว่าต้องมีสักครั้งหนึ่งที่เคยเห็นหรือพบงานของยูนตามที่ต่างๆ 

ไม่ต่างจากลายเส้นและการเลือกใช้คู่สีในงานที่เป็นเอกลักษณ์ 

ยูนมักปรากฏตัวพร้อมชุดกระโปรงยาวที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส ทั้งจากลวดลายและดีเทลการตัดเย็บที่แสนตั้งใจ ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าชุดกระโปรงยาวบ้างเป็นกี่เพ้า บ้างเป็นลายของดอกโบตั๋นเล็กใหญ่คละรูปแบบ เป็นชุดยูนิฟอร์มของเธอ 

ความรู้ใหม่ล่าสุดตอนที่ Capital ชวนยูนพูดคุยเรื่องเสื้อผ้าคือ ก่อนจะเป็นศิลปินที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย เธอเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองสักเท่าไหร่ แม้จะออกแบบให้ผู้คนมากมายสวมใส่ชุดสวยๆ แต่ไม่เคยถามตัวเองสักครั้งว่าต้องการชุดแบบไหน 

จนกระทั่งวันที่เลิกแคร์สายตาคนทั้งโลก แล้วมุ่งมั่นไปเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะ และก่อตั้งบริษัท สายรุ้งแห่งความฝัน จำกัด ร่วมกับ บุ๊น–วศิน ผูกสมบัติ และ มู่หลาน–อัญญ์มาลี สุภิตรานนท์ ให้บริการทำงานศิลปะและออกแบบสารพัดสินค้าตามโจทย์ ตั้งแต่ลายผ้าไปจนงานอินทีเรียร์

ไม่ต่างจากท้องฟ้าที่มีสายรุ้งปรากฏให้เห็นเมื่อหลังฝนตก เรื่องราวของยูนและชุดกระโปรงของเธอก็เช่นกัน ตามคอลัมน์ youniform ไปรื้อตู้เสื้อชมชุด yooniform ที่คืนความมั่นใจมาสู่ยูน และทำให้เธอค้นพบความรู้สึกที่เป็นอิสระครั้งแรกในรอบ 30 ปี 

ใครจะรู้ ว่าเสื้อผ้าบางชุดในบางเวลานั้นส่งผลและมีอิทธิพลต่อปัจจุบันและอนาคตของเรามากแค่ไหน ไม่แน่ว่า ถ้าเพียงวันนั้นยูนไม่กล้าปลูกดอกโบตั๋นบนชุดเดรสที่ใส่ไปงานสำคัญของเพื่อน ชื่อของศิลปิน ยูน ปัณพัท ก็อาจจะผลิบานไม่ทันกาล อย่างที่วันนี้ยูนและงานของเธอเบ่งบาน ออกช่อ และสวยงาม

“…Somewhere over the rainbow skies are blue

And the dreams that you dare to dream really do come true…”

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณสนุกกับการแต่งตัวด้วยชุดกระโปรงจนกลายเป็นภาพจำไปแล้ว

มาเริ่มแต่งตัวแบบนี้ตอนตัดสินใจเริ่มทำงานเป็นศิลปินเต็มตัวแล้ว ตอนที่ทำงานประจำเป็นนักออกแบบ เราได้แต่ออกแบบเสื้อผ้าให้คนอื่นใส่ เราทำการบ้านว่าลูกค้า คนที่เรารัก หรือคนอื่นๆ อยากใส่แบบไหน หรือเราจะมอบสิ่งอะไรใหม่ๆ ให้กับเขาได้ยังไง แต่ตัวเราเองไม่เคยหรือไม่มีแม้แต่ไอเดียเลยว่าจะมอบสิ่งไหน หรืออะไรที่ตัวเองต้องการ อย่างเวลาไปร้านเสื้อผ้า เราจะไม่ไปแหวกราวเสื้อผ้าค้นหาชุดเลยเพราะรู้สึกเสมอมาว่ารูปร่างเราไม่ปกติ เรามักจะคิดไปก่อนว่าไม่มีขนาดที่เป็นของเรา หรือเราชอบต่างหู แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ของของเรา เราไม่เหมาะกับอะไรในนั้นเลย เราไม่เปิดโอกาสให้กับตัวเองซึ่งมันส่งผลไปกับทุกเรื่องในชีวิต เราคิดลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา เราจึงไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ เพราะเราจะปฏิเสธไปก่อนไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีหรือไม่

แสดงว่าในอดีตคุณเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ไม่ชอบแต่งตัว

สมัยทำงานใหม่ๆ ไม่ค่อยแต่งตัวเยอะ เพราะเราเหนื่อยกับการเดินทาง ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าพร้อมกับใส่ชุดใหญ่ขนาดนี้ได้ ชุดที่ใส่บ่อยคือเสื้อยืดโอเวอร์ไซส์กับกางเกงทรงพอง แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเสื้อทูนิก หรือเสื้อทรงตรงตัวยาว และค่อยๆ ยาวขึ้นๆ เพื่อให้ที่บ้านไม่ตกใจมาก พอเริ่มทำงานเป็นศิลปินถึงจะค่อยๆ ติดระบาย ค่อยๆ มีขนนก ค่อย ๆ รู้สึกว่าอยากใส่แบบนี้ พร้อมๆ กับเริ่มเรียนรู้รูปร่างตัวเอง พอเราเริ่มรู้ตัวเองว่าอยากใส่อะไรเราก็เริ่มไม่สนใจสายตาคนอื่น ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าทุกคนมองมาที่เราหมดเลย แต่ความจริงแล้วไม่มีใครเขามาสนใจมองคนอื่นหรอก

เริ่มเปลี่ยนความคิดตั้งแต่ตอนไหน

ตอนที่เริ่มโพสต์งานภาพวาดลงในอินสตาแกรม สมัยก่อนเราจะกลัวมากว่าคนจะมองว่าเราวอนนาบี ทั้งๆ ที่เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วฉันผิดตรงไหน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครมาจ้องมองเรา แต่เรามโนไปเองว่าทุกคนเขาจ้องจับผิดเราอยู่ เราอาจจะดูละครเยอะเกินไป เลยคิดว่ามีทีมกล้องตามไปทุกที่ และมีคนคอยจับตาเราอยู่

ชีวิตของแฟชั่นดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ที่มีชื่อดูจะเป็นชีวิตที่ทุกคนอิจฉา อะไรทำให้คิดอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ระหว่างที่ทำงานประจำ มีช่วงหนึ่งที่เราเกิดความรู้สึกเหนื่อยมาก ไม่เคยเหนื่อยอย่างนี้มาก่อนในชีวิต บ้านอยู่พุทธมณฑล ออฟฟิศอยู่เอกมัย ทำงานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ และทุกคืนวันศุกร์ หลังเลิกงานเราต้องอาบน้ำจากที่ออฟฟิศเพื่อวิ่งไปทำร้านขายเสื้อผ้าที่จตุจักรต่อ เหนื่อยมากๆ ซึ่งตั้งแต่เด็กจนโตเราก็เห็นพ่อแม่ทำงานเปิดร้านขายเสื้อผ้าตลอดเวลา จนไม่มีเวลาไปไหน แม้จะขายดีแต่เราก็ไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น วันหนึ่งก็ถามตัวเองว่าชีวิตแบบไหนที่เราต้องการ เราชอบทำเสื้อผ้า ชอบเป็นดีไซเนอร์ ชอบวาดลายผ้า เราอยากเป็นศิลปิน เราก็เลยขึ้นไปคุยกับเจ้านาย ขอเป็นคนนำ ขอเรียนรู้การเป็น Creative Director ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งนี้ว่างอยู่ และถ้าเราทำให้แบรนด์ขายดีขึ้นเราขอเงินเดือนเพิ่มเพื่อที่จะได้เลี้ยงตัวเองและดูแลที่บ้านได้

พอตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากนักออกแบบไปเป็นคนดูภาพรวมของแบรนด์ คุณต้องเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง

ก่อนหน้านี้ที่ทำงานสายออกแบบมาตลอด ไม่เคยต้องคิดถึงเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของการทำธุรกิจเลย จนกระทั่งเปิดร้านขายส่งเสื้อผ้ากับคุณแม่ที่จตุจักร ได้มาทำร้านของตัวเองและเรียนรู้ว่าการดูแลบริหารต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงที่ขอย้ายมาเป็น Creative Director เราตั้งใจทำงานเหมือนเป็นแบรนด์ของเราจริงๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ศึกษาตลาด ศึกษาแบรนด์ทุกแบรนด์ว่าในหนึ่งคอลเลกชั่นประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อจะได้รู้ว่าลูกค้าชอบซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชิ้นไหนเป็นหลัก ไอเทมแบบไหนหรืออะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คอลเลกชั่นหนึ่งประสบความสำเร็จ 

ตอนนั้นแบรนด์เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ผ่านมาเราออกแบบสินค้าโดยไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาดอย่างถี่ถ้วน จนทำสินค้าออกมาเยอะเกินไป เช่นเราอาจจะทำเสื้อกับกางเกงเยอะ ขณะที่ลูกค้าไม่ต้องการแมตช์ เขาแค่อยากได้เดรสชุดเดียวใส่แล้วสวยเลย จากนั้นก็เปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับคนในองค์กรเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน ขณะที่เราดูภาพรวมทุกอย่าง จากเดิมที่ทำแค่เสื้อผ้าและลายผ้าอย่างเดียว ก็เริ่มทำรองเท้า หรือแม้แต่เลือกเพลงที่ใช้ในแฟชั่นโชว์ ด้วยการทำงานกับทีมอย่างเต็มที่ในตอนนั้น แบรนด์ก็ได้เสียงตอบรับที่ดี และกลับขึ้นมามีชีวิตชีวาสวยงาม

และได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นตามที่ขอ?

ใช่ค่ะ ได้เพิ่มขึ้นตามที่ขอทุกปี เราเริ่มรู้สึกว่าอะไรที่ไม่แฟร์กับเราเราจะกล้าพูดมากขึ้น ซึ่งยูนไม่ได้คิดว่าปีกกล้าขาแข็งนะ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมคนที่ทำงานออฟฟิศจะกลัวเจ้านายมาก เวลาเจ้านายอยากได้ความเห็นจากทีม ซึ่งเราไม่คิดว่าเราเป็นลูกน้อง แต่เราคิดว่าเราเป็นทีม เมื่อคุณจ่ายเงินซัพพอร์ตฉัน ฉันก็ทำงานที่ดีที่สุดให้คุณ เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ฟังความเห็นจากฉัน มันก็เงินและการตัดสินใจของคุณ เราก็เลยไม่ได้มีความรู้สึกกลัวจนตัวสั่น กลัวว่าเขาไม่ชอบ หรือกลัวจะโดนไล่ออก เราก็เสนอความเห็นไป เช่นไม่ชอบก็คือไม่ชอบ หรือเรามีความเห็นใหม่ๆ ไปเสนอว่าแบบนี้น่าจะดีนะ เราคิดว่าความรู้สึกที่ทีมได้เป็นเจ้าของร่วมสำคัญกับการทำงาน และนี่คือความก้าวหน้าขององค์กร

การตัดสินใจเป็น Creative Director ครั้งนั้นให้บทเรียนหรือเปลี่ยนตัวคุณแค่ไหน

พอเราเริ่มเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีคิด เรากลายเป็นคนที่มั่นใจมากขึ้น เช่น จากที่ไม่เคยจะต้องออกไปพูดหน้าห้องที่มีคนมากๆ เพราะเป็นคนไม่มั่นใจ ที่ผ่านมาเราชอบโดนล้อเรื่องเสียง และเราก็ชอบคิดไปเองด้วยว่าทุกคนต้องคิดแบบนี้แน่เลย ทั้งๆ ที่อาจจะมีแค่ 1-2 คนที่ล้อเรา วันหนึ่งเราก็พบว่าถ้าเราจะทำอาชีพนี้ต่อไป การพูดต่อหน้าคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ จะไม่ลุกขึ้นมาพูดเลยไปตลอดชีวิตไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง เริ่มพูดให้ช้าลงเพื่อที่ผู้ฟังจะได้ยินคำที่เราต้องการสื่อสารชัดเจน ก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น จนแน่ใจว่า โอเค มันแค่นี้ ไม่ได้มีใครมาจ้องจับผิดเราขนาดนั้น เราแค่ทำหน้าที่ของเรา ทำสิ่งที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ตัดสินใจลุกขึ้นมาแต่งตัวอย่างที่ตัวคุณต้องการจริงๆ เป็นครั้งแรก

เรื่องนี้แม้จะนานมากแล้วแต่เรายังจำวันแรกที่ลุกขึ้นมาแต่งตัวได้ เพราะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

ที่ผ่านมาเราออกแบบ เราทำชุดให้คนอื่นใส่ เราอยากให้เขารู้สึกสวยหรือสื่อสารเมสเซจที่ต้องการออกไป แต่เราไม่เคยถามตัวเองเลยว่าต้องการแบบไหน วันนั้นเป็นวันที่เราตัดชุดแต่งงานให้ภรรยาของเพื่อน ซึ่งเพื่อนคนนี้เป็นคนที่เราเคยแอบชอบ และเราจะไม่ยอมไปงานแต่งเขาในสภาพที่ไม่พร้อม เราตัดสินใจว่าในเมื่อไม่มีชุดในท้องตลาดที่ถูกใจ เราจะทำขึ้นมาเอง 

นั่นเป็นครั้งแรกที่เราเริ่มออกแบบชุดให้ตัวเอง โดยที่รู้สึกว่ากำลังมองเห็นตัวเองอยู่ในชุดที่ออกแบบเองจริงๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ออกแบบชุดทำงานให้ตัวเองนะ ซึ่งเป็นชุดที่ไม่ได้มีดีเทลมากไป เป็นแค่ชุดที่ใส่ง่ายๆ ใส่แล้วไม่มีคนทัก เป็นชุดแรกที่เราเห็นตัวเองยืนอยู่ในชุดจริงๆ ชุดที่เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว

ชุดแรกที่ออกแบบให้ตัวเองหน้าตาออกมาเป็นยังไง

เป็นชุดเสื้อเชิ้ตตัวยาวคล้ายๆ เสื้อทูนิกสีน้ำเงินลายทางสีเขียว ปักลายดอกโบตั๋นกับนกฮัมมิงเบิร์ดที่ชุด เป็นชุดที่มีน้ำหนักมาก หลังจากวันนั้นเราก็ค่อยๆ ทำชุดของตัวเองเรื่อยมา

ถึงกับเปลี่ยนเสื้อผ้ายกตู้เลยหรือเปล่า

ค่อยๆ เปลี่ยน เพราะตอนนั้นยังทำงานประจำอยู่ จะมีเวลาทำชุดเฉพาะใช้ในวันสำคัญ ส่วนวันทำงานก็เริ่มทำยูนิฟอร์มของตัวเอง เป็นชุดกระโปรงสั้นใส่กับขาสั้นและรองเท้าผ้าใบ พร้อมๆ กันนั้นก็ได้ทำงานกับแบรนด์ต่างๆ ในฐานะศิลปินมากขึ้น ก็เริ่มออกงานทำให้ได้คิดชุดที่เหมาะสำหรับใส่ไปงานมากขึ้น ส่วนแบบก็ได้แรงบันดาลใจจากภาพชุดคนสมัยก่อน เช่น พวกเสื้อทูนิกตัวยาว หรือชุดนอนวินเทจ เราชอบมองหาซิลูเอตที่อยากใส่จากแพตเทิร์นของเสื้อผ้าสมัยก่อน เลือกหยิบมาปรับให้เป็นแบบเรา

คุณในวันที่เป็นคนมั่นใจในการแต่งตัว แตกต่างจากคุณคนเดิมในอดีตแค่ไหน

ได้รู้สึกถึงความเป็นอิสระครั้งแรกในรอบ 30 ปี และนี่คือตัวเราแบบที่เราอยากจะเป็นมาตลอด เสื้อผ้าที่เมื่อได้ลองแล้วเป็นตัวเรามากๆ มันเพิ่มพลังให้เราสดใสและเปล่งประกายขึ้นมา สมัยก่อนมีการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อ Tokyo Alice เรื่องราวของสาวนักช้อป คือชีช้อปทุกอย่าง ตัวละครเอกมีความเชื่อว่า รองเท้า เครื่องประดับ เสื้อผ้าที่ดีจะพาพวกเธอไปสู่ชีวิตที่ดี มันไม่ได้เกี่ยวว่าคุณจะต้องใช้ของแพงนะ แต่มันคือการเริ่มให้เกียรติตัวเอง เช่น ดูแลตัวเองไม่ใช่แค่เรื่องของเสื้อผ้านะ แต่คุณจะต้องออกกำลังกาย หันมาดูแลสุขภาพ เป็นต้น หลังจากนั้นคุณก็จะเริ่มให้เกียรติคนอื่น

ขอเล่าย้อนกลับไปในอดีต สมัยก่อนเราไม่ชอบมองกระจกเลย เราไม่ชอบตัวเองที่ต้องตัดผมทรงนักเรียน ทำให้เราไม่ชอบมองกระจก เริ่มมาส่องกระจกจริงๆ แบบเต็มลูกตาหรือมารู้สึกว่าต้องเรียนรู้ทำความรู้เข้าใจตัวเองตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งมันช้ามาก เราไม่รู้ว่าเราจะจัดการกับตัวเองยังไง เราไม่รู้ว่าเราจะมีผมทรงไหน ใส่ชุดสีอะไรแล้วสวย ใส่แว่นทรงไหนดี มันเป็นช่วงเวลาที่ยากเย็นและลำบากมาก ทำได้เพียงทดลองทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียนรู้ความต้องการของตัวเอง และเมื่อเรียนรู้เราก็จะให้เกียรติตัวเอง ด้วยการทำให้ตัวเองรู้สึกดีกับตัวเอง เราไม่สนใจว่าคนอื่นรู้สึกยังไงกับเรา แต่จะค้นหาว่าเรารู้สึกกับตัวเองยังไงแล้วก็จัดการตัวเอง

ในฐานะศิลปินเวลาออกงานคุณมักจะมาพร้อมชุดกระโปรงสวยๆ ใหญ่ๆ แล้วในชีวิตประจำวันคุณแต่งตัวแบบไหน

เราชอบใส่ชุดลายๆ อย่างลายผ้าแอฟริกา ซึ่งผ้าก็จะบางหน่อยและไม่ได้มีลูกไม้เยอะ ก็จะใส่สลับกันไปแล้วแต่โอกาส ซึ่งเสื้อผ้าที่ใส่มีทั้งที่ออกแบบเองแล้วให้ เท่–ทศพล เกิดแก้ว น้องที่รู้จักกันมานานตัดเย็บให้ และก็มีแบรนด์ที่ใส่ประจำได้แก่ Wonder cape town ส่วนรองเท้าต้องออกแบบแล้วหาช่างมาตัดเองเพราะว่าไม่มีไซส์

เสื้อผ้าของเราทุกชุด เราซื้อเพราะชอบมันมากจริงๆ เราก็จะใส่บ่อย สำคัญคือเราควรจะลองก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าความยาวของแขนเสื้อ ยาวเท่าไหร่จะดูเหมาะและเป็นเรา หรือถ้ายาว-สั้นกว่านี้แล้วจะใส่สวยกว่า เป็นรายละเอียดที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ว่าเราสบายใจกับแบบไหน คำว่าสวยกว่าไม่จำเป็นต้องไปสวยเหมือนที่คนอื่นบอกนะ แค่ตัวเองใส่แล้วรู้สึกสบายใจ ซึ่งไม่ได้มีผิดมีถูก คุณแค่ลองให้เหมาะกับตัวคุณเท่านั้นเอง มองให้เป็นเรื่องสนุกดีกว่า เพราะรสนิยมหรือการแต่งตัวของแฟชั่นในไทยสมัยก่อน บางทีก็ชอบมีคนมาเป็นไม้บรรทัดตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องผิด-ถูกหรือมองหาแบบแผน ซึ่งในความเป็นจริงมันก็แค่เป็นการทดลอง 

กลับมาที่บทบาทการงานในปัจจุบัน จากศิลปินอิสระมาเป็นเจ้าของกิจการ ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง

ไม่ต่างจากวันที่ยังเป็นพนักงานคนหนึ่ง เราทำงานโดยคิดถึงอนาคตว่าอยากมีชีวิตแบบไหน จะเลี้ยงดูพ่อแม่อย่างไร การเป็นศิลปินเต็มตัวเราก็เรียนรู้ว่าถ้าทำงานศิลปะโดยที่เราไม่วางแผนอะไรเลย ชีวิตเราจะพังแน่นอน

การเป็นผู้ประกอบการก็เช่นกัน เราเรียนดีไซน์มาก็จริง แต่ดีไซน์มันมีเรื่องของต้นทุนและกำไรอยู่ในนั้น เพราะเงินสำคัญต่อการต่อยอดให้ตัวเรามาไกลขนาดนี้ มันคือการทำธุรกิจ บางคนอาจจะบอกว่าเรียนศิลปะไม่ต้องสนใจเรื่องตัวเลขก็ได้ สำหรับเรามันจำเป็น แล้วก็เป็นสิ่งที่เราต้องฝึก

งานของบริษัทสายรุ้งแห่งความฝันถือเป็นการทำธุรกิจศิลปะหรือเปล่า

สำหรับเรางานศิลปะก็เป็นธุรกิจ แม้วิธีการทำงานอาจจะไม่เหมือนธุรกิจทั่วไป แต่ศิลปะเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ด้วยงบประมาณและการจัดการ โดยเงินที่ได้จากการทำงานให้กับ corporate หรืองานที่ทำตามโจทย์ลูกค้าจะถูกจัดสรรอย่างเป็นสัดส่วนไว้สำหรับทำ exhibition หรืองานนิทรรศการส่วนตัว โดยไม่ได้ทุ่มเทเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เพราะทั้งงานศิลปะที่ทำตามโจทย์ลูกค้าและนิทรรศการส่วนตัวต่างก็ซัพพอร์ตซึ่งกันและกันอยู่ งาน exhibition ทำให้ยูนได้ทดลองทำและนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่แบรนด์ ทำให้เขาเห็นว่าหากลงทุนเพิ่มหรือยอมใส่อะไรลงไปในงานเพิ่มอีกเพียงนิดเดียวก็ทำให้แบรนด์เกิดคุณค่าใหม่ๆ หรือได้พูดเมสเซจใหม่ๆ ออกมาได้ ซึ่งพอแบรนด์ได้เห็นว่ามันเวิร์กเขาก็อาจจะจ้างทำงานรูปแบบนี้ต่อ

อะไรคือความเป็นบริษัทสายรุ้งแห่งความฝันที่ลูกค้าจดจำได้

ถ้าให้เห็นภาพง่ายๆ พวกเราน่าจะมีความเป็นแดร็กควีนอยู่ข้างใน ทำให้เรากล้าลองทำอะไรที่ท้าทายได้โดยที่ข้ามขีดจำกัดหรือมาตรฐานความสวยงามบางอย่างที่คนคุ้นชิน ลูกค้าสมัยก่อนอาจจะรู้สึกว่าเสือเป็นสัตว์น่ากลัว เราก็พิสูจน์ให้เขาดูว่าเสือมีฟันไม่น่ากลัวนะคะ หรือการใช้สีในงานเยอะๆ ก็ไม่ได้ทำให้ดูน่ากลัว

คุณมีวิธีโน้มน้าวจนลูกค้ายอมเปิดรับไอเดียใหม่ๆ ยังไง

ไม่ต่างจากละครที่เราชอบดู ถ้าเราได้เล่นละครเรื่องหนึ่ง บทบาทที่ได้รับถ้าไม่ได้เป็นนางเอกก็ต้องเป็นตัวร้ายไปเลยเพราะว่าเด่นดี เช่นกันกับการทำงานกับแบรนด์ ถ้าแบรนด์จะลงทุนทำสิ่งที่เซฟมากๆ เราก็จะบอกเขาว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนก็ได้ ความเสี่ยงของการทำสิ่งใหม่คือ คนอาจจะไม่ชอบหรือรู้สึกเกลียดคุณ แต่ถ้าทำอะไรเหมือนเดิมใครจะมองเห็น และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำงานออกมาแล้วมีฟีดแบ็กแบบคนเกลียดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมาคุยกัน ทำในสิ่งที่แปลกใหม่และเป็นสิ่งที่ดีกัน

เป็นผู้ประกอบการที่เปิดรับความความเสี่ยง?

ในการทำธุรกิจเราไม่ได้กล้าเสี่ยงกับเงินนะ แต่กล้าเสี่ยงในดีไซน์ กล้าเสี่ยงในสิ่งที่เราพูดในสิ่งที่เราอยากนำเสนอ แต่เราจะไม่เอารายได้มากดดันให้เราคิดงานไม่ออก หรือการที่เราต้องทำเพื่อเงินไปเรื่อยๆ แต่เราอยากเสนอของใหม่ 

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหนี้เราจะหลีกเลี่ยง เพราะเราจะเริ่มรู้สึกกดดันที่จะต้องจบหนี้ก้อนนี้ และความกดดันอาจจะทำให้เราต้องทำงานเหมือนหนูถีบจั่น ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเสี่ยงที่เราไม่ถวิลหา 

ศิลปินอย่างคุณมีวิธีการบริหารทีมอย่างมีศิลปะแค่ไหน

วันที่เป็นเจ้าของบริษัทเอง สิ่งแรกๆ ที่เราคิดถึงคือทีมงาน อยากให้เขาได้ใช้ของสวยงาม อยากให้เขามีเวลาให้ตัวเอง ถ้ามีปัญหาก็ขอให้พูดกันตรงๆ ไม่ดราม่าเพราะมันทำให้ทุกคนเหนื่อย พวกเราทำงานศิลปะซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว อย่าทำให้ชีวิตของเราต้องซับซ้อนไปอีก

สำหรับเราเรื่องคนและทีมจึงสำคัญต่อธุรกิจมากๆ ถ้าไม่มีทีมเราก็จะไม่สามารถทำงานได้เลย งานที่เกิดขึ้นสวยงามได้เพราะทุกคนช่วยกัน ร่วมมือกัน คนเดียวทำทุกอย่างไม่ได้ ถามว่าความฝันของการทำบริษัทที่นอกจากประสบความสำเร็จในการทำงาน ได้ทำงานตอบโจทย์ หรือได้ทำงานต่างประเทศ คืออะไร คำตอบก็คือเรื่องนี้แหละ ศิลปินระดับโลกก็ยังอยากเป็น แต่เราก็ขอค่อยๆ ทำไป ไม่อยากให้ทีมเราเป็นหนูถีบจั่น ที่ถีบเสร็จปุ๊บ จนวันที่เขาหมดแรงบันดาลใจทำงาน แล้วเราไปบอกเขาว่าจะไม่จ้างเขาแล้ว ซึ่งก็จะมีบริษัทที่เป็นแบบนี้มากมาย แล้วเราไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น

จากประสบการณ์ทำงานในวงการแฟชั่น ในฐานะเจ้าของบริษัทออกแบบคุณคิดจะทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองบ้างหรือเปล่า

นอกจากทำแบรนด์ของกระจุกกระจิกของตัวเองในชื่อ Phannapast Universe ปีหน้าจะมีผ้าพิมพ์ลายขาย ทำร่วมแบรนด์ Meraki ของญี่ปุ่น ส่วนถ้าเป็นเสื้อผ้า เราเคยคิดนะ แต่คงจะทำเสื้อคลุมง่ายๆ ไม่ได้ทำแบรนด์เสื้อผ้าจริงๆ เพราะเป็นงานที่ใช้พลังเยอะมากๆ

นอกจากดีไซน์และการตลาดแล้ว การทำแบรนด์ที่ดีจะต้องมีระบบหลังบ้านที่ดี ทั้งช่างเย็บ ช่างแพตเทิร์น ซึ่งช่างแค่คนเดียวทำทุกอย่างไม่ได้ ช่างแพตเทิร์นที่ทำกางเกงได้ดี กับช่างแพตเทิร์นที่ทำเสื้อผ้าแบบชุดสูท หรือคนที่ทำเสื้อผ้าแบบที่เป็นเดรสแบบไปงานก็คนละคนกัน ไม่ใช่คนเดียวกัน ช่างเย็บก็เหมือนกัน ฝีเข็มที่แตกต่างกันส่งผลให้เสื้อผ้าออกมาไม่เหมือนกัน เช่น การเก็บรายละเอียดชายผ้า ตะเข็บต่างๆ และไม่ใช่แค่ช่างเย็บที่เข้าใจงาน คนสั่งงานก็ต้องเข้าใจเสื้อผ้า คนออกแบบก็ต้องเข้าใจธุรกิจ ดังนั้นการซื้อเสื้อผ้าสักตัว ไม่ต่างจากการซื้องานศิลปะเพราะใช้พลังของคนทั้งกองทัพในการทำเสื้อผ้า

ในฐานะเจ้าของบริษัท การยอมให้พนักงานสนุกกับการแต่งตัวดีต่อธุรกิจอย่างไร

มันดีมากนะ ทำไมการแต่งตัวสนุกๆ ถึงจะไม่ดีต่อธุรกิจ คุณจะได้เห็นความเป็นสีสัน ความครีเอทีฟของแต่ละคน ซึ่งคุณไม่มีทางรู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละคนชอบอะไรหรือมีวิธีคิดแบบไหน แต่มันแสดงออกผ่านการแต่งตัวได้จริงๆ ทำไมหลายหน่วยงานถึงไม่ยอมให้คนทำงานสนุกไปกับการแต่งตัวล่ะ ยิ่งในยุคที่ความครีเอทีฟเป็นสิ่งสำคัญ ความเป็นตัวตนของตัวเองก็สำคัญ นั่นคือสิ่งที่บริษัทควรจะดึงศักยภาพตรงนี้ของแต่ละคนออกมาด้วยซ้ำ แน่นอนว่าอาจจะควบคุมได้ยาก แต่การแต่งตัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาที่เราไม่ควรที่จะไปก้าวก่าย

แม้แต่การคอมเมนต์ทีเล่นทีจริงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย?

จริงๆ ในบางที่บางสถานการณ์ มันก็ยากนะที่จะลุกขึ้นมาแต่งตัว อย่างเพื่อนเราเป็น LGBTQ+ แล้วใส่กระโปรง อาจารย์บอกว่าคนใส่กระโปรงต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นเพราะด้วยระเบียบองค์กรในเวลานั้น แต่คนเรามันไม่เหมือนกัน ความมั่นใจที่เกิดจากตัวเรามันไม่เหมือนกัน ฉันใส่กางเกงแล้วฉันไม่มั่นใจ แล้วทำไมถึงยอมให้ฉันใส่กระโปรงไม่ได้ หรืออย่างนักเรียนต้องตัดผมทรงนักเรียน เราไม่เคยชอบตัวเองเลยซึ่งเป็นเวลาตั้ง 12 ปีเลยนะ นี่คือเวลาที่คนคนหนึ่งต้องใช้ชีวิตบนโลกนี้เหมือนอยู่ในหลุมดำ ซึ่งมันไม่ใช่ทุกคนจะน่ารักในทรงผมสั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงานแล้ว ทำไมต้องมาตีกรอบให้มันเหมือนกับที่โรงเรียนอีก 

เราแอบคิดในใจว่านี่เป็นวิธีหนึ่งในการแสดงอำนาจบางอย่าง และวิธีที่ง่ายที่สุดที่ควบคุมคนให้อยู่ในกรอบก็คือสร้างชุดเครื่องแบบขึ้นมา เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับการใช้ชีวิตของคนเลย ยูนิฟอร์มทำให้คนแต่งตัวง่ายขึ้นจริงๆ เหรอ และการที่แต่งตัวออกจากบ้านโดยไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะคิดมาให้แล้วมันอาจจะดีกับบางคน แต่คุณต้องไม่บังคับทุกคนให้ทำสิ ใครอยากทำก็ทำ ใครไม่อยากทำเขาไม่ต้องทำก็ได้ จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเรามันก็กระทบชีวิตเรามหาศาล


YOONIFORM : Somewhere Over The Rainbow

ชื่อ :  ปัณพัท เตชเมธากุล
ตำแหน่ง : ศิลปิน นักออกแบบ และผู้ก่อตั้ง
ที่ทำงาน : บริษัทสายรุ้งแห่งความฝัน (Rainbow of Dream)

ชุดที่ยูนเตรียมมาวันนี้เป็นเสื้อผ้าที่เธอได้มาจากคนสำคัญ 3 คน

ชุดแรก เป็นชุดสีแดงที่เพิ่งตัดเย็บเสร็จสดๆ ร้อนๆ ส่งมาถึงยูนในเช้าวันสัมภาษณ์

“เรารู้จักกับเท่ (ทศพล เกิดแก้ว) มานานแล้วตั้งแต่ทำงานออฟฟิศ เท่เป็นคนที่มีแพสชั่นกับการตัดเย็บชุดมากๆ ชุดที่เท่ทำไม่ใช่ชุดราตรียาวเฟื้อยแต่เราจะดูออกว่าทำยากมากๆ มีแต่เท่เท่านั้นที่ยอมทำชุดแบบนี้ได้ เขาทำออกมาได้สวยที่สุด และเขาก็ดูมีความสุขทุกครั้งที่เราใส่แล้วเราชอบ ชุดนี้ทำจากผ้า Jacquard เป็นผ้าทอ ซึ่งปกติแล้วผ้าลักษณะนี้ต้องรีดกาวก่อนนำไปตัดเย็บ แต่ทำให้ใส่แล้วร้อนมาก เราก็ช่วยกันหาผ้าแบบที่ไม่จำเป็นต้องรีดกาว”

“ความยากของชุดนี้จะเป็นเรื่องการเก็บและสอดพวกลูกไม้ การเย็บตะเข็บคอ หรืออย่างแพตเทิร์นตรงไหล่ที่เราทดลองกันมาหลายรอบ ถ้าเราทำตามเส้นไหล่จริงๆ ของเรา เราจะดูตัวใหญ่เพราะมันต้องออกมาอีก ก็ต้องทำไหล่แคบเข้ามาอีกนิดนึง ตัวเราก็จะดูเล็กลง อีกสิ่งที่สำคัญคือการวางลาย ถ้าวางลายไม่ดีทุกอย่างก็จะจบ”

พูดถึงลายผ้าแล้ว จะสังเกตได้ว่าภาพวาดผลงานยูนที่ทุกคนเห็น บนกระดาษ บนวอลเปเปอร์ และบนผืนผ้าจะไม่เหมือนกัน เพราะการจะนำไปใช้ในแต่ละสื่อ แต่ละรูปแบบต้องผ่านการจัดเรียงหรือทำแพตเทิร์นใหม่อีกรอบ อย่างการทำลายผ้าพิมพ์หรือไอเทมเกี่ยวกับแฟชั่น จะมีเรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องขนาดของลายมาเกี่ยวข้องด้วย

เชื่อมโยงกับชุดที่สอง ซึ่งเป็นของแบรนด์ Wonder cape town ชุดทำจากลายผ้าที่ยูนวาดสำหรับทำ collaboration เมื่อปีที่ผ่านมา 

“ชุดนี้เป็นชุดที่พี่ผึ้ง–พัทธา พลาวุธ กับพี่เม้ง–สิทธิชัย กิตยายุคกะ ตัดให้เป็นของขวัญ ซึ่งปกติเราชอบใส่ชุดของ Wonder cape town มากๆ ปีที่แล้วมีโอกาสได้ทำงาน collaboration ด้วยกัน จุดเด่นของแบรนด์นี้ นอกจากจะใช้ผ้าคอตตอนใส่สบายมากแล้ว ยังใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ rotary หรือการพิมพ์ด้วยลูกกลิ้งเดียว สีจะซึมลงไปในเนื้อผ้าทำให้ได้ผ้าสีที่สดและติดทนนาน รวมถึงเทกซ์เจอร์ที่ไม่เหมือนกับการพิมพ์ลายด้วยระบบดิจิทัลทั่วไป แต่ตัวที่หยิบมาใส่วันนี้เป็นชุดตัดพิเศษ พิมพ์ลายด้วยเทคนิคดิจิทัลบนผ้าไหมอินเดีย”

“ความยากของชุดนี้คือ ลายผ้ามีขนาดใหญ่แต่เขาสามารถต่อลายผ้าตรงเป๊ะ ทำให้ชุดมันสวยขึ้น ลายนี้มีชื่อว่า Moonlight Dive ต่อยอดมาจากนิทรรศการ เป็นลายเหมือนเราดำน้ำลงไปสู้กับสัตว์ประหลาดที่อยู่ในใจ เป็นเรื่องราวที่มีความเชื่อไทยผสมจีนอยู่ในนั้น ส่วนคู่สีเขียวผสมสีเหลืองได้แรงบันดาลใจจากเครื่องเคลือบกระเบื้องจีน” ยูนเล่าก่อนขอตัวไปเปลี่ยนชุดสุดท้าย

“เราชอบร่องรอยที่อยู่ของเก่าของวินเทจ ชอบสังเกตและศึกษาการซ่อมชิ้นงานที่ผ่านการเวลา ของแตกมันซ่อมได้นะ ผ้าก็เช่นกัน มันปักชุนได้นะไม่จำเป็นต้องทิ้งเพราะกว่าจะปักเย็บได้เรารู้ดีว่ามันยากแค่ไหน”

“ชุดสุดท้ายเป็นชุดเสื้อคลุมที่ทำจากผ้าอินเดียของสะสมของพี่นก–ปิยนุช บางสุขเสริม จาก Absolute Event เย็บต่อกันเป็นแพตช์เวิร์ก ซึ่งพี่นกให้เป็นของขวัญตอนที่เจอกันครั้งแรก” ยูนเล่า ก่อนจะทิ้งท้ายความชอบของวินเทจ 

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like