ขวัญใจเชียงใหม่

44 ปี หยกอินเตอร์เทรด บ้านหลังที่ 2 ของธุรกิจเบเกอรีในเชียงใหม่ ในวันที่ขยายมาเมืองกรุง

ถ้าค้นหาคำว่าร้านขายวัตถุดิบและอุปกรณ์ทำเบเกอรีในเชียงใหม่  ชื่อแรกที่ขึ้นมาคือ ‘หยกอินเตอร์เทรด‘ พร้อมสโลแกนว่าที่เดียวครบ ตอบทุกโจทย์ธุรกิจเบเกอรี ประโยคนี้ไม่ใช่สิ่งที่เคลมเกินไปนัก เพราะในสายตาคนเชียงใหม่ หยกอินเตอร์เทรดเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของคนทำธุรกิจเบเกอรีและคาเฟ่เลยก็ว่าได้

ก่อนที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองแห่งคาเฟ่อย่างทุกวันนี้ ย้อนไปเมื่อ 44 ปีก่อน ซ้อหยก–เลิศลักษณ์ วณิชวิกรานต์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการหยกอินเตอร์เทรด ที่ในตอนนั้นได้ผันตัวจากการเป็นคุณครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มาทำเบเกอรีขาย เคยถูกถามว่า ‘เบเกอรีหมายถึงอะไร’ 

ในสมัยก่อนคนรู้จักแต่ลูกอมและขนมไทยห่อใบตอง การที่มีขนมปังมาวางขายคู่กันจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ ซ้อหยกจึงไม่ใช่แค่คนทำธุรกิจ แต่เป็นผู้สร้างค่านิยมให้คนรู้จักและรักเบเกอรี พร้อมสร้างงานสร้างรายได้ให้คนเชียงใหม่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ด้วยการแบ่งปันสูตรทำเบเกอรีให้แบบไม่มีกั๊ก ก่อนที่ซ้อหยกจะเปลี่ยนมาขายวัตถุดิบและอุปกรณ์ทำเบเกอรีแบบครบวงจรจวบจนทุกวันนี้

ล่าสุดในปี 2567 นี้ หยกอินเตอร์เทรดได้ขยายสาขาใหม่สู่แถวชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งถือเป็นสาขาแรกที่อยู่นอกจังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่เราได้ไปเยือนสาขานี้ก็เพิ่งเปิดมาได้แค่ 3 เดือนเท่านั้น

ทันทีที่เปิดประตูเข้าไป เราสัมผัสได้ถึงความอลังการของสินค้า อะไรที่เราพอนึกออกว่าควรจะมีในการทำธุรกิจเบเกอรี เช่น แป้ง นม เนย น้ำตาล ของตกแต่งหน้าเค้ก เครื่องตีแป้ง ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งก็มีให้เลือกครบครัน และของแต่ละอย่างก็ถูกจัดแยกหมวดหมู่สินค้าอย่างชัดเจน

ส่วนสิ่งที่เซอร์ไพรส์เรามาก คือวันนั้นมีเชฟมาสอนทำขนมอยู่พอดี และถึงแม้จะเป็นช่วงบ่ายวันธรรมดาก็มีคนมาเรียนจนเต็มทุกโต๊ะ

“เราให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ พอมีสาธิตวิธีใช้วัตถุดิบ มีเชฟมาสอนวิธีทำขนมแบบนี้ ก็เหมือนสร้างทางลัดให้ลูกค้าเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย”

ซ้อหยกอธิบายให้ฟัง ก่อนที่เราจะไปนั่งคุยกันถึงเรื่องที่ทำให้สงสัย ว่าทำไมซ้อหยกถึงสอนวิธีทำเบเกอรีให้แบบไม่หวงสูตร ทั้งขุดเบื้องหลังแนวคิดการทำธุรกิจให้อยู่มายาวนานถึง 44 ปี ว่าอะไรที่ทำให้หยกอินเตอร์เทรดขึ้นแท่นเป็นขวัญใจคนทำคาเฟ่ในเชียงใหม่ ขนาดที่ถ้าใครอยากหาวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ทำเบเกอรีอะไร ก็ต้องพุ่งตัวมาที่ร้านนี้เท่านั้น

และล่าสุดการเปิดสาขาใหม่ด้วยการเจาะตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีวิธีบริหารธุรกิจเหมือนหรือต่างจากสาขาในเชียงใหม่ยังไง ตามมาคลายความสงสัยกันได้ในคอลัมน์ Market Share กันได้เลย

เมื่อก่อนตลาดเบเกอรียังไม่เป็นที่นิยม ทำไมคุณถึงเริ่มต้นทำธุรกิจเบเกอรี

เราอยากเปลี่ยนอาชีพจากเป็นครูมาทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงแรกเรามีแต่แรงผลักดัน ยังขาดแรงบันดาลใจ เราก็คิดว่าทำอะไรถึงจะไปต่อได้ยาวๆ แล้วนึกได้ว่าคนไทยนิยมกินอาหารสามมื้อ ถ้าเป็นอาหารปกติ เขาทำกินกันอยู่แล้วในบ้าน แต่สิ่งที่เราจะขายได้ทุกวัน และคนกินได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กยันโต ก็คือพวกขนมที่ทำยาก คนเลยจะออกมาซื้อกินมากกว่าทำเอง 

ตอนนั้นจะมีแต่ขนมไทยที่คนทำขายกัน การแข่งขันก็เลยสูง แถมอายุสั้นเก็บไว้ไม่ได้นาน เราก็เลยเลือกทำเบเกอรีที่พอจะมีความรู้จากตอนที่ช่วยแม่ทำขนม เพื่อเอาไปเป็นของฝากให้กับเพื่อนๆ สมัยที่เรายังเรียนอยู่ พอคิดได้แบบนั้นก็เริ่มมีแรงบันดาลใจในการทำ ถึงแม้สมัยก่อนคนทำเบเกอรีน้อย สูตรอะไรก็ไม่ค่อยมี โชคดีที่เรามีความสามารถเฉพาะตัว คือมีวิธีคิดเป็นขั้นเป็นตอนและชอบทดลอง ซึ่งเกิดจากการเป็นครูสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทำให้ช่วงแรกๆ เราเลยทดลองทำและคิดค้นสูตรด้วยตัวเอง

ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจ คุณมีวิธีทำให้คนสนใจเบเกอรี จนมาเป็นลูกค้าได้ยังไง

ถ้านับย้อนไป 44 ปีที่แล้ว ตอนซ้อเริ่มทำธุรกิจเบเกอรี แม้แต่คำว่าเบเกอรีเองคนก็ยังไม่รู้จัก เรียกขนมปังเป็นขนมเค้กรวมกันไปหมดก็มี เราก็อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจแบบง่ายๆ ว่าเป็นขนมปัง ขนมเค้ก หรือขนมอื่นๆ ที่ทำมาจากแป้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคนไทยนิยมเรียกว่าแป้งสาลี แล้วเราก็วางขายในตระกร้าเหมือนที่คนอื่นวางขนมไทยเลย คนก็รู้สึกว่าเข้าถึงง่าย พอเริ่มมีคนซื้อไปกิน ก็บอกกันปากต่อปาก

พอขนมเราขายได้ แต่คนทำขายน้อย เราก็คิดว่าอะไรที่จะสร้างค่านิยมให้คนกินได้บ่อยแล้วไม่เบื่อ มันจะต้องมีเปลี่ยนหน้าตา เปลี่ยนรสชาติไปเรื่อยๆ แปลว่าต้องคิดสูตรใหม่เพิ่มขึ้น แต่ตอนนั้นลำพังแค่ทำขนมขายเองก็หมดเวลาแล้ว

เราก็คิดว่าให้คนอื่นช่วยทำสิ เลยตั้งนโยบายว่า เสร็จจากทำขนมของเราแล้ว เราจะไปสอนคนรู้จัก สอนลูกค้าที่เราเอาขนมไปส่งเขา แล้วเราก็รับขนมเขามาขายแทน ทำให้เรามีเวลาไปพัฒนาสูตรใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจเราเหมือนก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

ไม่หวงสูตรหรือกลัวคนอื่นมาแย่งลูกค้าเหรอ

เราไม่คิดแบบนั้น เรามองว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดค่านิยม ที่หมายถึงว่าคนจะนิยมในเบเกอรีจริงๆ แล้ววงการนี้จะไปต่อได้อีกไกล ยกตัวอย่างถ้าเมื่อก่อนร้านกาแฟในเชียงใหม่ต่างคนต่างเปิดร้าน ไม่เกื้อหนุนกัน เชียงใหม่ก็จะไม่เป็นเมืองกาแฟอย่างในทุกวันนี้
เบเกอรีก็เช่นเดียวกัน เราต้องสร้างค่านิยมให้คนกินให้ได้ก่อน พอคนกินเยอะขึ้น เราทำคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องเสริมให้ค่านิยมนี้สูงขึ้นไป ด้วยการแชร์สูตรให้คนอื่นมาทำขาย พอมีสูตรแล้วคนก็ถามหาวัตถุดิบและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เราก็เลยเปลี่ยนจากการทำเบเกอรีเอง มาขายวัตถุดิบและอุปกรณ์ทำเบเกอรีแทน

พอมาทำธุรกิจขายวัตถุดิบและอุปกรณ์ทำเบเกอรีแล้ว ทำไมถึงยังมีการจัดเวิร์กช็อป แชร์องค์ความรู้ให้กับลูกค้าและคนทั่วไปอยู่

ด้วยวิสัยทัศน์ของเราเองมองว่าสิ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญมากสุดคือลูกค้าและคู่ค้าของเรา ส่วนเราจะเป็นคนกลางที่นำพาวัตถุดิบที่ดี ให้ลูกค้ารับรู้ในวัตถุดิบนั้นๆ เพื่อที่จะนำไปทำธุรกิจของเขาให้ถูกต้อง และมีความชัดเจน ตรงเป้าหมายมากที่สุด

ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญเรื่องการให้ความรู้ เพราะว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ เหมือนกับพอโลกมันเปลี่ยน มันก็จะนำเข้ามาง่ายขึ้น เบเกอรีนี่เป็นสินค้าเกี่ยวกับการนำเข้ามาเยอะ ถึงแม้บางอย่างจะผลิตในไทยก็จริง แต่ส่วนประกอบในนั้น สารตั้งต้นก็นำมาจากต่างประเทศ รายละเอียดแบบนี้ลูกค้าต้องการคำแนะนำ

เราจึงจัดสาธิตให้ลูกค้ารู้จักวัตถุดิบ เขาจะได้เลือกใช้ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าของเขาอีกทีนึง และมีเชฟมาสอนทำขนม เพราะเรารู้ว่าพอทำขนมขายเองจะไม่มีเวลาไปคิดสูตรใหม่ๆ การมีคนที่มีประสบการณ์มาแชร์สูตรแบบนี้ ก็เหมือนสร้างทางลัดให้ลูกค้าเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย

นอกจากเวิร์กช็อป มีจุดเด่นอื่นอีกไหมที่ทำให้ดำเนินธุรกิจมาได้ยาวนานถึง 44 ปี

เรามีสินค้าให้เลือกหลากหลายและมีเอกลัษณ์เฉพาะตัว เพราะเรานึกถึงว่าพอกลุ่มลูกค้าของเรานำไปทำขนมแล้ว เขาก็จะขายให้กับลูกค้าที่มีความหลากหลายเช่นกัน บางคนอยากได้วัตถุดิบเกรดเอไปทำขนมที่มีความพรีเมียม บางคนใช้วัตถุดิบที่เกรดรองลงมาเพื่อจะได้ขายขนมในราคาเข้าถึงง่าย หรือแม้แต่วัตถุดิบสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเฉพาะทางเราก็มีขาย เช่น แป้งทำขนมสำหรับคนรักสุขภาพ แป้งสำหรับคนที่กินอาหารมังสวิรัติ หรือวัตถุดิบสำหรับคนกินอาหารคีโต

ช่องทางการจัดหน่ายเราก็เน้นลูกค้าเป็นหลัก คือลูกค้าจะหมดเวลาไปกับการทำขนม เพราะฉะนั้นการออกมาซื้อของก็มีเวลาจำกัด เราเลยมีบริการ Self Pick-Up ให้สั่งสินค้าไว้ แล้วลูกค้าขับรถมารับ เราก็ขนของขึ้นรถลูกค้าได้เลย หรือบางคนเขาไม่มีเวลาจริงๆ เราก็เสิร์ฟวัตถุดิบให้ถึงบ้าน อย่างที่เชียงใหม่จะมีเดลิเวอร์ของเราเอง จัดส่งทั้งในอำเภอเมืองเชียงใหม่และต่างอำเภอ และมีส่งจังหวัดใกล้เคียงอย่างลำพูน

เราให้ความสำคัญทั้งบริการระหว่างขาย คือมีพนักงานคอยให้คำแนะนำสินค้าต่างๆ ภายในร้านได้  ส่วนบริการหลังการขาย ถ้าอุปกรณ์ทำเบเกอรีและกาแฟอันไหนมีปัญหา ก็อุ้มเครื่องกลับมาให้เราซ่อมได้ทันที แล้วเราซ่อมกลับให้ไวด้วย เพราะเรารู้ว่าอุปกรณ์พวกนี้เป็นเครื่องมือหากินที่เขาต้องรีบใช้

ด้วยความที่เราอยู่กับธุรกิจนี้มาอย่างเหนียวแน่น ไม่ละเลยใครเลย ทุกคนที่มาร้านสามารถเข้าถึงตัวเราได้หมด เพราะเราไปร้านทุกวัน เพื่อไปดูว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง เราทำธุรกิจด้วยความจริงใจ เราคิดว่านี่แหละที่ทำให้เราอยู่คู่เชียงใหม่ได้ยาวๆ

จุดที่พีคที่สุดของหยกอินเตอร์เทรดคือช่วงไหน ตอนนั้นคุณมีวิธีการบริหารยังไง  

จุดพีคไม่ต้องย้อนไปไกลเลย คือช่วงโควิด-19 เรามีวิธีการบริหารจัดการและเราคำนวณทิศทางของผู้บริโภคได้ถูกทาง เรารู้เลยว่าพอโรคระบาดมา คนจะไม่กล้าออกมาสัมผัสกับสิ่งที่อยู่นอกบ้านตัวเอง ส่วนลูกค้าเรายังไงเขาก็ต้องมาซื้อวัตถุดิบแน่นอน เพราะเป็นอาชีพของเขา แล้วของพวกนี้ไม่มีขายตามร้านขายของชำ

ตอนนั้นเราเตรียมการไว้อย่างดี ฆ่าเชื้อในร้านด้วยเครื่องอบโอโซนทั้งคืน ทำให้มีความปลอดภัยสูงมาก แล้ววัตถุดิบของเราก็จะอยู่ได้นาน เพราะว่าการอบโอโซนเป็นการเติมก๊าซไนโตรเจนเข้าไป มันจะเป็นสุญญากาศในเวลานั้น พอตอนเช้ามาอากาศเก่าก็จะออกไป อากาศใหม่ก็จะเข้ามา

แล้วเราก็อ่านใจลูกค้าว่าพอออกข้างนอกไม่ค่อยได้ เขาต้องทำอาหารกินเองที่บ้าน เลยสั่งของแห้ง พวกข้าวสาร ปลากระป๋อง น้ำมันพืช และอาหารสดพวกไส้กรอก ไก่แช่แข็ง มาวางขายเพิ่ม และมองไปไกลถึงว่าคนอยู่บ้านก็ชอบดูซีรีส์เกาหลี เลยสั่งพริกสำหรับทำกิมจิมาขายด้วย เพราะที่เชียงใหม่มีพวกผัดเยอะเอาไปหมักกิมจิได้ คนที่อินซีรีส์เกาหลีก็น่าจะชอบ กลายเป็นว่าขายดีมากๆ จนถึงทุกวันนี้

ลูกค้าก็ประทับใจมากว่ามาที่เดียวครบ จบทุกเรื่องจริงๆ เขามาซื้อของไปทำขนม ก็ได้ของกลับไปทำอาหารอีก บางคนก็บอกกับเราเลยว่าอย่าให้มีคนติดโควิด-19 ในหยกนะคะ ถ้ามีคนเชียงใหม่ไม่รู้จะไปไหนเลย

ในยุคที่คนช้อปออนไลน์มากขึ้น ทำไมหยกถึงเลือกขยายสาขา

มีคนซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนก็จริง แต่ลูกค้าของหยกที่มีจำนวนมากที่สุด คือลูกค้าที่เข้ามาดูของด้วยตัวเองที่หน้าร้าน เพราะสินค้าที่เราจำหน่ายจะมีเรื่องราวซ่อนอยู่ภายใน บางครั้งต้องการคำอธิบายวิธีใช้ และด้วยความที่มีตัวเลือกหลากหลาย เขาก็ต้องการคนปรึกษาเพื่อเปรียบเทียบสินค้า เช่น ต้องการทำขนมปังซาวร์โดวจ์ ควรใช้แป้งยี่ห้อไหน  ถ้าเป็นขนมปังเนื้อนุ่มควรใช้แป้งอะไร เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จะร้อยเรียงกับสิ่งที่ลูกค้าจะนำไปประกอบการทำขนม จึงทำให้จำนวนคนเข้ามาในร้านยังเยอะอยู่

ส่วนคนที่สั่งออนไลน์ก็จะเป็นลูกค้าที่เคยเข้ามาหน้าร้านแล้ว จำสินค้าของเราได้แล้วว่าควรใช้อะไร ยี่ห้อไหน เขาก็จะกลับไปซื้อในช่องทางออนไลน์ แต่ยังไงเขาก็จะกลับมาหน้าร้านเพื่ออัปเดตสินค้า และขอคำแนะนำใหม่ๆ อยู่ดี ซึ่งการทำควบคู่กับทั้งออฟไลน์และออนไลน์เป็นสิ่งนี้ที่ทำให้หยกอยู่ได้อย่างยั่งยืน

คุณเปิดร้านที่เชียงใหม่มาตั้งหลายปี ทำไมปีนี้ถึงตัดสินใจขยายสาขาใหม่มาที่ชัยพฤกษ์ นนทบุรี

คนชอบบอกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน แต่เราในฐานะคนที่ทำธุรกิจในเชียงใหม่มาก่อน ก็ขอบอกว่ากรุงเทพฯ ก็ใช้คำพูดนี้ได้เหมือนกัน ขนาดเรามีประสบการณ์มาแล้ว ยังรู้สึกว่าการทำธุรกิจในกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยาก คู่แข่งก็เยอะ

แต่เรามองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ เพราะเราอยู่บนบรรทัดฐานของสิ่งที่เราวางไว้ตลอดก็คือ เราอยากมีส่วนในการพัฒนาธุรกิจด้านนี้ ให้กับผู้ประกอบการเบเกอรี คาเฟ่ และอาหาร การมีส่วนร่วมได้คือเราจะต้องเรียนรู้ทุกจุดที่เราจะไป

กรุงเทพฯ เป็นตลาดใหญ่ ที่มีคนทำเบเกอรี เปิดร้านคาเฟ่ และมีซัพพลายเออร์อยู่เยอะ ถ้าเรามาเรียนรู้ตรงนี้และจับทิศทางของกรุงเทพฯ ได้ เราอาจจะขยายขอบเขตการทำธุรกิจในช่องทางของเราได้ในอนาคต

ความท้าทายของแต่ละจังหวัดคืออะไร มีวิธีบริหารที่เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

เราก็ต้องทำความรู้จักความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ดี 

คนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่จะต่างจากคนกรุงเทพฯ คือความแออัดมันน้อยกว่า แล้วเวลาไม่ได้บีบคั้นมากนัก เขาก็จะสบายๆ ไม่รีบร้อนมาก ต่อให้เขาทำงานประจำ เขาก็ทำอาชีพเสริมกันเยอะมาก ลูกค้าเราในเชียงใหม่ก็เลยมีทั้งคนที่ทำเบเกอรีในโรงงานเป็นอาชีพหลัก และคนที่ทำในบ้านเป็นอาชีพเสริม ส่วนนิสัยคนเชียงใหม่คือเป็นคนใจดี เราก็ใช้วิธีการทำธุรกิจด้วยความเป็นมิตรและไม่เอาเปรียบเขา ก็จะอยู่กับเขาได้ยาวๆ

ในกรุงเทพฯ ความแออัดจะเยอะ กลุ่มลูกค้าที่ทำร้านเบเกอรีและคาเฟ่ก็จะเยอะกว่า แต่คนที่ทำเป็นอาชีพเสริมจะน้อย และคนเร่งรีบ มีเวลาจำกัด แต่เราก็มองว่าเป็นข้อดี พอเขามีเวลาน้อย ก็ขายวัตถุดิบที่เป็นกึ่งสำเร็จรูปได้ และถ้ามีคนสั่งของในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล เราก็ส่งของจากที่นี่ได้ ทำให้ของถึงไวยิ่งขึ้น

และที่เลือกเปิดสาขานี้ในปริมณฑล อยู่ใกล้กับโฮมโปรสาขาชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี เพราะเรารู้ว่าลูกค้าต้องการที่จอดรถ เพื่อจะได้นำของขึ้นรถได้ง่ายๆ ซึ่งพื้นที่นี้มีที่จอดรถเยอะ ความแออัดก็ยังไม่มาก อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ คนก็ยังขับรถมาซื้อของที่ร้านได้

หยกเคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคไหม แล้วคุณทำยังไงถึงพาหยกให้ดำเนินต่อมาได้นานกว่า 44 ปี

พอมีใครมาถามแบบนี้ เราจะตอบไม่ได้ทุกทีเลย เพราะเราคิดเสมอว่าปัญหามีได้ แต่ต้องไม่เป็นปัญหา 

เราจะมองก่อนว่าปัญหามันกี่เรื่อง ถ้ามาน้อยเรื่องเราก็จะแก้ได้เร็วมาก แต่ถ้ามันมีหลายเรื่อง เราก็จะใช้เวลาไตร่ตรองว่าอะไรควรทำก่อน-หลัง ในหนึ่งวันเราจะแก้ได้กี่เรื่อง เหมือนเราไม่ได้มองปัญหาว่าเป็นปัญหา มีอะไรมาก็แก้ไขไป เลยไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นอุปสรรค

รู้สึกยังไงที่ธุรกิจนี้เข้าสู่ปีที่ 44 แล้ว

เรารู้สึกภูมิใจมาก ลูกค้าหลายคนเราคุ้นเคยกับเขามาตั้งแต่เด็ก เขาก็มาเรียนรู้สูตรจากเรา มาซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์จากเราไปทำธุรกิจเลี้ยงดูครอบครัวของเขา พอเขามีลูกก็ถ่ายทอดความรู้นี้ต่อไปให้ลูกเขา บางคนมาที่ร้านแล้วบอกเราว่ายายหยก หนูทำขนมต่อจากคุณแม่แล้วนะ พอได้ยินแบบนี้เราก็รู้สึกดีใจที่สิ่งที่เราทำมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น 

ส่วนลูกค้ารุ่นใหม่ๆ เราก็ต้องไปทำความรู้จักว่าเขาชอบอะไร แล้วปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ภายใต้สิ่งที่เรายึดมั่นเสมอว่าอะไรที่เราทำให้คนอื่นได้ แล้วเราไม่ได้เดือดร้อนอะไร เราก็จะทำ

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like