waste isn’t waste until we waste it

‘ดีไซน์ดี ฟังก์ชั่นได้’ Wastic Thailand แบรนด์แว่นและสารพัดสินค้าไลฟ์สไตล์ที่คืนชีวิตขยะพลาสติก  

เชื่อไหมว่า อุตสาหกรรมแว่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ปรับตัวให้ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ยากและท้าทายอุตสาหกรรมหนึ่ง และในปีหนึ่งๆ อุตสาหกรรมที่ว่านี้ก็ผลิตขยะแว่นตาเหลือทิ้งมหาศาล 

แม้การซื้อแว่นวินเทจเก่าเก็บมาใส่จะเป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบได้ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากับบางคน การได้จับจ่ายใช้สอยและการใช้ของมือหนึ่งก็น่าอภิรมย์กว่า 

เพราะแบบนี้ Wastic Thailand แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากขยะพลาสติกของ 4 เพื่อนซี้ที่พบกันในห้องเรียนการจัดการขยะทางทะเลอย่าง หมิว–กมลชนก คล้ายนก, โบ–อริสรา พิทยายน, มุก– สินีนาฏ  จารุวาระกูล และ ลิลลี่–รสลิน  อรุณวัฒนามงคล จึงเกิดขึ้น 

“Wastic Thailand มาจากคำว่า waste บวกกับ plastic เราตั้งใจให้อ่านว่า ‘วาส-ติก’ แทนที่จะเป็น ‘เวส-ติก’ เพราะอยากช่วยปรับภาพลักษณ์ของสินค้าที่ทำมาจากขยะ และปรับมุมมองให้คนเห็นว่าวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้นำกลับมาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าได้” หมิว ตัวแทนจาก Wastic Thailand บอกกับเราแบบนั้น

แม้แว่นกันแดดจะเป็นจุดสตาร์ทของ Wastic Thailand แต่ความตั้งใจของเพื่อนซี้ทั้งสี่คือการทำสารพัดสินค้าจากขยะพลาสติกให้สวยงามและใช้ได้จริง เพื่อเป็นทางเลือกให้ทั้งคนที่ใช้ชีวิตแบบ zero waste อยู่แล้วมีสินค้าสวยๆ ใช้ และเป็นตัวเลือกให้คนทั่วไปมีช่องทางเข้าถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม 

แพสชั่นในห้องเรียนจัดการขยะ

ก่อนหน้านี้ทั้งหมิว โบ มุก และลิลลี่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่สิ่งที่นำพาให้ทั้งสี่คนกลายมาเป็นเพื่อนรักเพื่อนธุรกิจคือห้องเรียนปริญญาโทสาขาวิชาการจัดการขยะทางทะเล หรือ Marine Plastic Abatement Program ซึ่งเป็นทุนการศึกษาจาก Asian Institute of Technology 

“ทุกคนมีที่มาต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม อย่างตัวหมิวเอง ญาติฝั่งแม่ก็ทำโรงงานถุงขยะพลาสติกซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอยู่แล้ว และทางบ้านก็ซื้อขายพลาสติกรีไซเคิลอยู่ด้วย เหมือนกับว่าเราคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด 

“แต่จุดที่อยากทำอะไรสักอย่างคือตอนที่เรามานั่งคิดจริงๆ ว่าวันหนึ่งๆ เราสร้างขยะจำนวนกี่ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารเดลิเวอรี การสั่งกาแฟตามร้าน หรือการซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต พอ AIT มีทุนให้เรียนเรื่องจัดการขยะเราเลยลงเรียนเพราะอยากจะทำความเข้าใจมันจริงๆ”

แม้ชื่อโปรแกรมจะพูดถึงขยะทางทะเล แต่สิ่งที่ทั้ง 4 คนได้ทำความเข้าใจนั้นกว้างกว่านั้นมาก ตั้งแต่ประเภทของขยะ ไปจนถึงวิธีการรีไซเคิลพลาสติกที่มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่ได้ชื่อว่าการจัดการขยะทางทะเลก็เพราะถ้าหากเราไม่หยิบจับขยะมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิล สุดท้ายแล้วขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปฝังกลบ และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะถูกชะลงทะเลไปหาเต่า ปลา ปะการัง และสารพัดสัตว์ทะเลอยู่ดี

“ท้ายที่สุด ทุกคนจะต้องทำโปรเจกต์จบหนึ่งชิ้น ซึ่ง Wastic Thailand ก็เริ่มต้นจากโปรเจกต์ของพี่โบนี่แหละ” หมิวบอก

จุดกึ่งกลางระหว่างธุรกิจที่ดีและธุรกิจที่เติบโต

แรกเริ่มโบตั้งใจทำกรอบแว่นเพื่อนำไปให้ผู้ด้อยโอกาส เพราะมีคนจำนวนมากที่ขาดแคลนแว่นสายตาเพราะงบประมาณไม่ถึง ขณะเดียวกัน ขยะจากอุตสาหกรรมการผลิตแว่นก็มีมหาศาล แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เมื่อคิดจะพัฒนาเป็นธุรกิจจริงจัง โปรเจกต์ของโบจึงต้องปรับเปลี่ยน

หมิวเล่าว่ากรอบแว่นในโปรเจกต์ของโบนั้นหลอมขึ้นจากฝาขวดน้ำซึ่งเป็นพลาสติกประเภท HDPE ที่พอทำออกมาแล้วไม่ค่อยเวิร์ก เนื่องจากแว่นตัวอย่างนั้นค่อนข้างคมและไม่เหมาะกับการใช้งาน สุดท้าย พวกเธอจึงคิดผลิตกรอบแว่นจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภท rPET ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทเดียวกับขวดน้ำดื่ม โดยแว่น 1 อันเทียบเท่ากับการลดขยะขวดพลาสติกไปได้ถึง 2 ขวด

“อีกอย่าง ตอนแรกพี่โบตั้งใจทำกรอบแว่นสายตาให้ผู้ด้อยโอกาสใช่ไหม แต่มันค่อนข้างซับซ้อนเพราะเราต้องไปโคฯ กับร้านแว่นหลายร้าน ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยของการทำแว่นอีกมาก เราจึงเปลี่ยนมาทำเป็นแว่นกันแดดที่มันเข้าถึงคนได้หลากหลายกลุ่มมากกว่า 

“จริงอยู่ที่ความเชื่อของเราคือธุรกิจจะต้องสามารถสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจก็ต้องอยู่ได้และเติบโตด้วย เพราะถ้าเราอยู่ไม่ได้เราก็ไม่สามารถที่จะส่งต่อความตั้งใจนั้นต่อไปได้เลย” หมิวอธิบาย

แว่นตากันแดดจากพลาสติกรีไซเคิลของ Wastic Thailand จึงออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ความน่าสนใจคือแว่นตากันแดดของพวกเธอยังผลิตจากวัสดุชนิดเดียวซึ่งง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลมากกว่า เพราะปัญหาของการรีไซเคิลขยะในปัจจุบันคือขยะ 1 ชิ้นนั้นมีวัสดุหลากหลายแบบจนนำไปรีไซเคิลได้ยากนั่นเอง

ธุรกิจ eco-friendly ที่ต้องดีไซน์สวย

“ก่อนพัฒนาเป็น Wastic Thailand พวกเรารีเสิร์ชกันมาและพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่คำนึงถึงเรื่องดีไซน์ ฟังก์ชั่น และราคาเป็นอันดับแรกๆ ส่วนเรื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่อันดับท้ายๆ”  

เพราะข้อมูลนั้นเอง ความตั้งใจของทั้ง 4 คนจึงไม่ใช่การทำ Wastic Thailand ให้ดูเป็นมิตรกับโลกขั้นสุด แต่พวกเธอต้องนำเสนอภาพของ Wastic Thailand ให้สวยงามน่าใช้

“เราออกแบบกันเอง ก่อนที่จะให้โรงงานผลิตแว่นช่วยปรับดีไซน์เล็กน้อยเพื่อให้ได้มาตรฐาน ส่วนเรื่องสีสันก็คำนึงถึงความสวยงามเป็นอย่างแรก เพราะที่จริงเราก็อยากทำแว่นสีใส แต่ด้วยความที่แว่นของเราผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แว่นแต่ละชิ้นเลยอาจจะไม่เหมือนกัน และบางชิ้นก็ดูไม่สวยงาม เราเลยเลือกทำเป็น 3 สีที่ได้แรงบันดาลใจจากท้องทะเล”

คอลเลกชั่นแว่นกันแดดคอลเลกชั่นแรกของ Wastic Thailand ได้ชื่อว่า On Board ประกอบด้วยแว่นสีน้ำตาลส้มอย่าง Surf & Sand สื่อถึงฟองคลื่นทะเลที่ซัดบนหาดทรายสีขาวไร้ขยะ สี Endless Blue ที่สื่อถึงน้ำทะเล และสี Stunning Sunset ที่สื่อถึงทะเลยามอาทิตย์ตก สีเหล่านี้เป็นสียูนิเซ็กซ์ที่ทั้งสี่คนต้องการให้ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย และแมตช์ได้หลายลุค 

“เราไม่ค่อยอยากโปรโมตแบรนด์ไปในทางสิ่งแวดล้อมมากขนาดนั้น เพราะเราคิดว่าเรื่องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันเป็นสิ่งพื้นฐานอยู่แล้ว เราจึงอยากให้ Wastic Thailand เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นทางเลือกให้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็มีของสวยๆ ให้เลือกใช้ และคนทั่วไปก็เข้าถึงสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ด้วย”

ราคาเข้าถึงได้และสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม 

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ลองทายดูว่าแว่นกันแดดจาก Wastic Thailand นั้นสนนราคาอยู่ที่เท่าไหร่

คำตอบคือ 990 บาท! ซึ่งถ้าเทียบกับแว่นกันแดดตามร้านแว่นสายตา รวมถึงร้านแว่นสายแฟชั่นทั่วไป ถือว่าราคา 990 บาทนั้นเป็นราคาที่เข้าถึงได้ และถ้าเทียบกับแว่นกันแดดที่ใช้วัสดุรีไซเคิลที่วางขายในต่างประเทศก็ถือว่าถูกยิ่งกว่า

“ราคาแว่นกันแดดจากวัสดุรีไซเคิลในต่างประเทศอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท เพราะสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลนั้นเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตซับซ้อน ทั้งยังต้องคิดค้นวิจัยให้สินค้ามันสวยงามและแข็งแรงเพราะบางครั้ง วัสดุเหล่านี้ก็อาจไม่ทนทานเท่าวัสดุมือหนึ่ง แต่ความตั้งใจของเราสี่คนคือ Wastic Thailand ต้องราคาเข้าถึงได้ เราจึงพยายามทำราคาให้ดีที่สุด”

ราคาที่เข้าถึงได้ตรงนี้เองถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างธุรกิจที่ดีต่อสังคม แต่ทั้งสี่คนยังไปสุดกว่านั้น ด้วยการทำงานโดยคำนึงถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ  

กลุ่มแรกคือกลุ่มชุมชน โดย Wastic Thailand ร่วมมือกับชุมชนต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนำวัสดุธรรมชาติมาผลิตกล่องแว่น แม้จะทำให้ต้นทุนของ Wastic Thailand เพิ่มขึ้น แต่ทั้งสี่คนก็เห็นพ้องต้องกันว่าการกระจายรายได้สู่ชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ 

ส่วนกลุ่มที่สอง หมิวเล่าว่าพวกเธอยังตั้งใจให้ลูกค้านำแว่นตาแบรนด์ต่างๆ รวมถึงแว่นของพวกเธอเองที่ลูกค้าไม่ต้องการแล้วมาส่งต่อให้กับ Wastic Thailand เพื่อที่แบรนด์จะนำแว่นเหล่านั้นส่งมอบให้โครงการแว่นปันสุขของร้านแว่น IWear Optical Outlet ที่จะนำแว่นไปบริจาคให้กับผู้ด้อยโอกาสอีกต่อหนึ่ง

แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ชุบชีวิตพลาสติกให้กลับมามีคุณค่า

แม้พวกเธอจะเข้าใจอย่างถ่องแท้จากการร่ำเรียนเกี่ยวกับการจัดการขยะว่าการทำธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีกระบวนการที่ซับซ้อนและต้นทุนที่สูงกว่า แต่พวกเธอก็ยังเดินหน้าต่อด้วยเหตุผลที่ว่า

“ธุรกิจที่ดีในมุมมองของเราคือธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนั้น ถ้าธุรกิจนั้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็จะถือว่าเป็น first mover ที่สร้างสิ่งดีๆ ให้วงการได้” 

ดังนั้น แว่นกันแดดคอลเลกชั่นแรกซึ่งป้องกันรังสี UVA, UVB และ UVC ได้สูงสุด 400 นาโนเมตร แถมยังเบาเพียง 23 กรัม จึงถือเป็นจุดสตาร์ทในฐานะสตาร์ทอัพด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เพราะในอนาคต พวกเธอยังตั้งใจสร้างสรรค์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้ได้จริงอีกหลากหลายแบบเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าทุกกลุ่มด้วย  

“เราเห็นโอกาสว่าตอนนี้ ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีร้านหรือแบรนด์ที่ผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลที่ราคาเข้าถึงได้ ใช้ได้จริง และดีไซน์ดี เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ลูกค้าหลายๆ กลุ่ม เราจึงตั้งเป้าหมายว่า Wastic Thailand จะต้องเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ทำสิ่งนั้นให้ได้”

ฟังแล้วก็ได้แต่ตื่นเต้นว่าสินค้าชิ้นต่อๆ ไปจาก Wastic Thailand จะคืนชีวิตให้พลาสติกไร้ค่ากลับมามีค่าในรูปแบบไหนบ้าง

What I’ve Learned
1. “ถ้าอยากมีธุรกิจของตัวเอง ต้องพยายามหาธุรกิจที่ตอบความต้องการของตัวเองด้วย และจะต้องไม่ใช่แค่คิดว่าอยากมีเฉยๆ แล้วนั่งทำงานต่อไป แต่จะต้องลองพยายามค้นหาธุรกิจที่ใช่ไปด้วย”
2. “กลุ่มลูกค้าของธุรกิจแวดวงสิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่จริงและพร้อมจะซัพพอร์ตเราเสมอ หากเราทำอย่างตั้งใจและจริงจัง”
3. “service mind เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับที่ร้านกาแฟก็เกิดขึ้นมากมาย แต่สตาร์บัคส์ก็ยังอยู่ได้ด้วยองค์ประกอบรอบข้าง”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like