5 เครื่องเล่นระดับตำนานของ Siam Amazing Park กับเรื่องเล่าที่คุณไม่เคยรู้

The Product of Siam Amazing Park

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Siam Amazing Park เป็นที่รู้จักและอยู่ยืนยาวจนกลายเป็นสวนสนุกระดับตำนาน หนึ่งในคำตอบก็คงไม่พ้นไปจาก ‘โปรดักต์ของแบรนด์’ แต่บังเอิญว่าโปรดักต์ของธุรกิจสวนสนุกดันไม่ใช่สินค้าเพียงหนึ่งชิ้น แต่คือ ‘สวนน้ำและเครื่องเล่น’ ที่ต้องคอยดูแลกันไปตลอด อาศัยทั้งเวลา ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเงินทุนมากมายที่ต้องนำมา ‘ลง’ ไปกับผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเหล่านี้

ไม่มากก็น้อย เราจดจำ Siam Amazing Park ได้จากสวนน้ำและเครื่องเล่น

ทั้ง ทะเลกรุงเทพฯ ที่มีเทคโนโลยีสร้างคลื่น (เทียม) ให้เหมือนทะเลจริง! ม้าหมุนสองชั้น ที่เชื่อมระหว่างความจริงและความฝันของเด็กทุกคน! สไลเดอร์สายรุ้งในโฆษณาระดับตำนาน! ดินแดนดึกดำบรรพ์ที่ต้องตะลุยด้วยรถจี๊ปเพื่อเข้าไปพบกับไดโนเสาร์ขยับได้! และรถไฟเหาะตีลังกา ที่ไม่ใช่แค่สนุกสุดเหวี่ยง แต่ได้มาตรฐานระดับโลก! 

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเกริ่นเปิดบทความ ขอชวนทุกคนย้อนวันวานกลับสู่โลกแห่งความสุข สนุกไม่รู้ลืม กับเรื่องเล่าจาก 5 เครื่องเล่นระดับตำนานที่ยังเปิดให้บริการจนถึงทุกวันนี้!

(โปรดสแกนบัตรผ่านประตูก่อนเข้าชม) 

01
Wave Pool ทะเล-กรุงเทพฯ 
Territory : Water World
Since : ติดตั้ง พ.ศ. 2522 (เปิดให้บริการ พ.ศ. 2523)

สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้จักสวนสยาม (ชื่อเดิมในขณะนั้น) คือวลีห้อยท้าย ‘ทะเลกรุงเทพฯ’ เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ที่อยู่เคียงคู่สวนสยามมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษเข้าไปแล้ว จะว่าไปทะเลกรุงเทพฯ หรือทะเลเทียมนี้ที่จริงก็คือสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่มีความว้าวที่สุดแห่งยุค คือสามารถจำลองคลื่นในน้ำได้เหมือนกับผู้เล่นได้ลอยอยู่ในทะเลจริงๆ นั่นทำให้ทะเลกรุงเทพฯ ได้รับการรับรองจาก Guinness World Records ให้เป็นทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก (คำว่าใหญ่ที่สุดในโลกในความหมายนี้คือ พื้นที่มากที่สุด ไม่ใช่เพราะมีคลื่นสูงที่สุดในโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ) ด้วยขนาดพื้นที่ 13,600 ตรม. เมื่อ 20 เมษายน 2552 และยังครองแชมป์มาจนถึงปัจจุบัน 

ไอเดียสร้างทะเลเทียมในย่านชานเมืองกรุงเทพฯ เกิดจากความประทับใจของไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ที่ขณะนั้นเดินทางไปดูงานสวนสนุก-สวนน้ำที่โทชิมะเอ็น (Toshimaen) ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากทะเลส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบ แต่ไม่ค่อยมีชายหาด ทำให้การเล่นน้ำในทะเลไม่ราบรื่นเท่าที่ควร สวนสนุกโทชิมะเอ็นแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่ในเมืองโตเกียวและดึงน้ำจากทะเลมากรองพร้อมเทคโนโลยีทำคลื่นเทียมให้คนเล่น ซึ่งนับว่าแปลกใหม่มากในสมัยนั้น ไชยวัฒน์กลับมาพร้อมไอเดียนั้นและพัฒนาต่อให้กลายเป็น ‘สวนสยาม’ โดยได้ร่วมงานกับสถาปนิกและทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อออกแบบและสร้างทะเลเทียมแห่งนี้พร้อมการเปิดตัวสวนสยาม ก่อนที่ทะเลกรุงเทพฯ จะกลายเป็นถ้อยคำที่คุ้นหูทุกผู้คน (ที่เกิดทัน) มาจนถึงวันนี้

ส่วนสนุก

  • นอกจากสวนน้ำที่โทชิมะเอ็นแล้ว แรงบันดาลใจในการออกแบบคลื่นเพื่อทำทะเลกรุงเทพฯ ของคุณไชยวัฒน์มาจากคลื่นทะเลที่บางแสนและพัทยา
  • เหล่าสถาปนิกและทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบและสร้างทะเลเทียมแห่งนี้ ได้แก่

1. สถาปนิกผู้ออกแบบ

  • ธรรมศักดิ์ โรจนสุนทร อดีตรองผู้ว่าการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • เศวต โล่ห์สุวรรณ สถาปนิก ประจำบริษัทสถาปนิก 205
  • อนุสรณ์ ถนัดช่าง สถาปนิก
  • ประเสริฐ สุขุมานันท์ สถาปนิก

2. วิศวกรทางน้ำ

  • รศ. ดร.สุพัฒน์ วิเศษสมใจ อดีตอธิการบดีสถาบัน AIT
  • รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท., อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมหลายสมัย, อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  • ศ. ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ วิศวกรบำบัดน้ำเสีย
  • อ.จงใจ ผลประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญจากการประปานครหลวง

3. วิศวกรโครงสร้าง

  • ดร.วิรัช เหล่าศิริชน วิศวกรโครงสร้างเหล็ก
  • มนตรี นันทนาท วิศวกรโครงสร้าง
  • วีระชัย เอื้อวิไลจิต

4. ผู้จัดการโครงการ

  • วีระยุทธ จึงสุระ

02
The Merry-Go-Round ม้าหมุนสองชั้น 
Territory : Family World 
Since : พ.ศ. 2527 

เครื่องเล่นม้าหมุนสองชั้นที่ปรากฏเป็นฉากสำคัญในมิวสิกวิดีโอเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie) ของวง BNK48 คืออีกหนึ่งแลนด์มาร์กของสยามอะเมซิ่งพาร์คที่กลายเป็นขวัญใจของคนทุกเพศทุกวัย ด้วยความที่ถูกจัดประเภทให้อยู่ในดินแดน Family World นั่นหมายความว่าเครื่องเล่นประเภทนี้สามารถเล่นได้ทั้งครอบครัวแบบไม่จำกัดความสูงของผู้เล่น (แต่เด็กที่สูงต่ำกว่า 131 เซนติเมตร ควรใช้บริการพร้อมผู้ปกครอง) เป็นม้าหมุนสองชั้นหนึ่งในไม่กี่ตัวในโลก และเป็นเครื่องเล่นสุดคลาสสิกที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย และได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ 

ม้าหมุนสองชั้นของสยามอะเมซิ่งพาร์คมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Merry-Go-Round ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อเรียกประเภทของเครื่องเล่นที่มีลักษณะเป็นแท่นหมุนวงกลมพร้อมที่นั่งควบคู่กับดนตรีประกอบ หรือม้าหมุน โดยเครื่องเล่นม้าหมุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันในเรื่องของทิศทางการหมุน ถ้าเป็น Merry-Go-Round หรือ Gallopers แท่นจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยให้ม้าหันหัวไปทางซ้าย นิยมในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ Carousel แท่นวงกลมจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ให้ม้าหันหัวไปทางขวา นิยมในสหรัฐอเมริกา 

ส่วนสนุก

  • หุ่นม้าหมุนหนึ่งชั้นมีม้า 36 ตัว รถฟักทอง 4 คัน รวม 2 ชั้น มีจำนวนม้าทั้งสิ้น 72 ตัว รถฟักทอง 8 คัน

03
Jurassic Adventure ผจญภัยแดนไดโนเสาร์ 
Territory : Adventure World
Since : พ.ศ. 2549

ผจญภัยแดนไดโนเสาร์ คือการจำลองพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กลายเป็นผืนป่าที่ต้องฝ่าตะลุยเข้าไปด้วยรถจี๊ปเพื่อสัมผัสกับโลกยุคดึกดำบรรพ์ที่มีไดโนเสาร์จำลองกว่า 60 สปีชีส์ และสรรพสัตว์จากยุคดึกดำบรรพ์อีกกว่า 30 ชีวิต ก่อนปิดท้ายการผจญภัยด้วยเหตุการณ์จำลองถ้ำภูเขาไฟระเบิด ต้นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ 

ดินแดนนี้ได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ปีที่เปิดตัว เพราะเป็นเครื่องเล่นที่เล่นได้ทั้งครอบครัว ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เหมือนได้มาผจญภัยในดินแดนสัตว์โลกล้านปี ได้ตื่นตาตื่นใจไปกับไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ เพิ่มบรรยากาศความสมจริงด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ไดโนเสาร์บางตัวขยับได้ ถือเป็นความแปลกใหม่ เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแบบครอบครัวอย่างมากในยุคนั้น นับเป็น ‘Themed Attraction’ แห่งแรกที่ออกแบบคอนเซปต์โดยทีมงานของสยามอะเมซิ่งพาร์ค และเชิญศิลปินชาวจีน (มิสเตอร์หลี่ซื่อเจียง และคณะ) มาออกแบบและจัดทำหุ่นไดโนเสาร์ โดยได้แรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีแอนิเมชั่นจากประเทศเยอรมนี ทำให้ไดโนเสาร์ขยับและส่งเสียงร้องได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ! 

ส่วนสนุก

  • โดยปกติของธุรกิจบริการ จะมีช่วงเวลาที่เฟื่องฟู รุ่งเรือง ซบเซา สวนสยามก็เช่นกัน สวนสยามในช่วงเวลานั้นเผชิญภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นหนี้สิน ถูกฟ้องล้มละลาย แต่ด้วยหัวใจนักสู้ของ ดร.ไชยวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง ทำให้สามารถประคับประคองสวนสยามฝ่าวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ก่อนจะตัดสินใจนำเม็ดเงินมาลงทุนทำเครื่องเล่นใหม่ นั่นก็คือ จูราสสิค แอดเวนเจอร์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกชีวิตของสยามอะเมซิ่งพาร์คให้รอดพ้นจากวิกฤตมาได้

04
Speed Slide สไลเดอร์ยักษ์ 
Territory : Water World

โฆษณาระดับตำนานที่ติดตาตรึงใจของใครหลายคน คือภาพของทีมไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำ) จำนวน 4 คนจับมือเรียงแถวหน้ากระดานในท่ายืนและปล่อยตัวลงมาจากสไลเดอร์สายรุ้ง! พร้อมซาวนด์ประกอบเพลง Hawaii Five-O ของวงดนตรีชาวอเมริกัน The Ventures นั่นทำให้เครื่องเล่นชิ้นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็น ‘พระเอกตลอดกาล’ ตามนิยามของสยามอะเมซิ่งพาร์ค จากความสำเร็จของโฆษณาถูกพัฒนาต่อยอดมาเป็นการแสดงสไลเดอร์ผาดโผนสุดตื่นเต้น ทั้งยืนสไลด์ กระโดดข้ามราง และตีลังกาบนรางขณะสไลด์ตัวลงมา ต่อมาทางผู้บริหารดำเนินนโยบายเรื่องความปลอดภัยจึงสั่งงดการแสดงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2000 แต่สไลเดอร์สายรุ้ง 7 สียังคงเปิดให้ผู้คนได้ใช้บริการลื่นไหลตามปกติ เพียงแต่ต้องอยู่ในท่านั่งเท่านั้น

Speed Slide สไลเดอร์ยักษ์ นอกจากจะจำลองจากสายรุ้งทั้ง 7 สี ยังมีความสูง 21 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 7 ชั้น นับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถิติมีผู้เล่นที่เคยทาบตัวผ่านสไลเดอร์นี้มามากกว่า 20 ล้านคนทั่วโลก และครั้งหนึ่งในอดีตเคยได้รับการบันทึกจาก Guinness World Records ว่าสูงที่สุดในโลกด้วย

05
Vortex ซูเปอร์เกลียวเหาะมหาสนุก
Territory : Extreme World
Since : พ.ศ. 2550 

รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่านแบบห้อยขาขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 2 ของโลก ความยาว 765 เมตร ความสูง 33 เมตร และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 76 กิโลเมตร / ชั่วโมง จาก Vekoma บริษัทที่เป็นผู้นำด้านเครื่องเล่นจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เป็น 1 ใน 15 เครื่องเล่นที่อยู่ในโปรเจกต์การลงทุนครั้งใหญ่ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค นับเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกโฉมจากสวนสนุกของสวนสยามเดิม (ในสมัยนั้น) มาเป็น ‘สยามอะเมซิ่งพาร์ค’ ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้สวนสยามมีภาพจำเป็นเพียงสวนน้ำขนาดใหญ่เท่านั้น เท่ากับว่าการเปิดบริการเครื่องเล่นระดับโลก ทำให้สามารถยกระดับสยามอะเมซิ่งพาร์คขึ้นเป็นสวนน้ำ-สวนสนุกชั้นนำของเอเชีย รวมถึงสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ จากข้อมูลล่าสุดของสยามอะเมซิ่งพาร์คพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกเข้าใช้บริการในแต่ละปี

มีคำแนะนำสนุกๆ จากเจ้าหน้าที่ด้วยว่าถ้าอยากเล่นรถไฟเหาะให้มันสุดๆ ต้องเลือกที่นั่งให้ถูกด้วย เพราะแต่ละที่นั่งให้ความเร็วเมื่อวิ่งผ่านแต่ละจุดไม่เท่ากัน โดยตำแหน่งที่นั่งท้ายสุดของขบวนรถไฟจะหวาดเสียวที่สุดเมื่อรถวิ่งผ่านจุดสูงสุดของราง กลับกันตำแหน่งที่นั่งด้านหน้าสุดของขบวนรถไฟ จะตื่นเต้นกว่าใครอื่นเมื่อรถไฟเหาะผ่านจุดต่ำสุดของราง

ส่วนสนุก

  • เครื่องเล่นประเภทรถไฟเหาะตีลังกา อย่าง Boomerang และ Vortex ไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน แต่ใช้หลักการความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อวัตถุต่างๆ (gravity) หรือที่เรียกว่าแรง G เป็นตัวขับเคลื่อน รวมถึงกำหนดความเร็ว พลังงานที่ใช้จะเกิดจากการยกขึ้นไปให้สูงแล้วปล่อยลงมา เป็นการใช้กฎอนุรักษ์พลังงาน จะทำให้เกิดพลังงานศักย์ หลังจากนั้นจะปล่อยพลังงานศักย์ออกมาและเปลี่ยนเป็นความเร็ว ความเร่ง ซึ่งจะปลอดภัยกว่า เพราะการเกิดพลังงานศักย์ และเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ จะไม่มีอะไรมาตัดระบบได้ ทำให้รถไฟสามารถวิ่งไปจนสุด และกลับไปที่เดิมได้
  • และยิ่งรถไฟอยู่สูงจากพื้นมากเท่าไหร่ พลังงานโน้มถ่วงยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น เมื่อปล่อยให้ไหลลงมาจากเนิน ความเร็วของรถไฟจะเพิ่มขึ้น พอถึงข้างล่างความเร็วจะทำให้รถไฟพุ่งต่อไปยังเนินที่สอง โดยปกติตัวรางจะมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร เมื่อหักลบกับการตีโค้งต่างๆ รถไฟก็จะขึ้นไปอยู่ที่ความสูงประมาณ 17 เมตร นอกจากนี้ตัวรางที่ถูกดีไซน์เพื่อกำหนดทิศทางให้มีการเลี้ยวโค้ง ตีวง ตีลังกา ก็สัมพันธ์กับแรงส่งในการเพิ่มความเร่ง ความเร็วของรถไฟเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ลืมที่จะยึดหลักความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการเป็นหัวใจสำคัญ

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน