นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Siam Amazing Park ธุรกิจที่ยืนระยะบนความผูกพันของ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ

The CEO of Siam Amazing Park

ใครหลายคนรู้จักชื่อ ‘สวนสยาม’ จากความเป็นสวนน้ำ-สวนสนุกเจ้าแรกที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางย่านมีนบุรี มีความล้ำด้วยคลื่นที่จำลองแบบจากทะเล ทำให้เราคุ้นเคยกับนิยาม ‘ทะเลกรุงเทพฯ’ ของที่นี่เป็นอย่างดี 

ที่นี่คือธุรกิจของครอบครัวเหลืองอมรเลิศ ก่อตั้งโดย ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้เป็นพ่อของลูกๆ และเป็นเจ้าพ่อวงการหมู่บ้านจัดสรร ก่อนส่งต่อให้ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ และน้องๆ ได้แก่ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ทายาทรุ่นที่ 2 รับช่วงดูแลกิจการนี้ในขวบปีปัจจุบันของสวนน้ำ-สวนสนุกแห่งนี้ ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ Siam Amazing Park

ธุรกิจสวนสนุกหลายแห่งคงผ่านเหตุการณ์ที่ ‘ไม่สนุก’ นักมามากมาย เส้นทางที่เริ่มด้วยการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับความนิยมสุดขีด เป็นที่พูดถึงไปทั่ว ประสบปัญหาสารพัด ขาดทุน ซบเซา ถูกฟ้องล้มละลาย ลุกขึ้นสู้ใหม่ ก่อนวนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีกครั้ง คล้ายกับหนังชีวิต ที่ถ้าเปรียบเป็นคน Siam Amazing Park คือบุคคลที่มีอายุ 42 ปี ผ่านร้อนหนาวจนมากประสบการณ์ พยายามปรับตัวและเรียนรู้จากความผิดพลาดตลอดเวลาอย่างที่ยังไม่แก่เกินทำความเข้าใจโลกยุคใหม่และคนรุ่นใหม่ 

อาจดูเป็นตำนานในสายตาใครต่อใคร แต่หากได้ลงไปนั่งคุยกับคนในครอบครัวเหลืองอมรเลิศ Siam Amazing Park ในสายตาของพวกเขากลับเปรียบได้กับ ‘น้องคนสุดท้อง’ ที่พี่ๆ ต้องช่วยกันดูแล คอยประคับประคองให้ผ่านสถานการณ์ยากๆ ไปพร้อมกัน จนวันนี้แข็งแรงและยืนระยะมายาวนาน

ถ้าคุณอยากรู้เรื่องราวทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ Siam Amazing Park จะมีใครตอบได้ดีเท่าคนที่เห็นกันมาตั้งแต่เกิดและเติบโตมาด้วยกันอย่าง สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ ทายาทรุ่นที่ 2 และพี่ชายคนโตของครอบครัว 

Siam Amazing Park มีอายุห่างกับคุณ 7 ปีพอดี ถ้าเปรียบเป็นคนในครอบครัว คุณมองน้องคนสุดท้องคนนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน

ถ้าถามว่าผมรู้สึกยังไง ผมอิจฉานะ (หัวเราะรัว) เพราะพ่อชอบมาก พ่อรักมาก ทุกคนผิดหมด ยกเว้นลูกคนเล็กของพ่อคนนี้ คือคุณพ่อเป็นคนบ้างาน เขามาที่นี่ทุกวันแทบไม่เคยหยุด ต่อให้มีธุระต่างจังหวัด ขากลับก็ขอให้ได้แวะมาดูที่นี่หน่อย อย่างน้อยขับรถวนดูรอบหนึ่งก่อนกลับบ้านก็ยังดี 

ขณะที่ Siam Amazing Park คือสวนสนุกที่เด็กในวัยไล่เลี่ยกับคุณมาเที่ยวเล่น แต่ที่นี่ก็เป็นธุรกิจของที่บ้าน อยากรู้ว่าคุณในวัยเด็กมองที่นี่ว่าเป็นสวนสนุกอย่างเด็กคนอื่นหรือเปล่า

ผมคือคนที่เพื่อนๆ อิจฉาที่สุดนะ (ยิ้ม) เพราะผมมีสวนสนุกเป็นของตัวเอง เมื่อก่อนที่นี่ยังมีเครื่องเล่นไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน ตอนนั้นก็จะมีสวนน้ำที่เป็นที่รู้จัก เพื่อนก็จะบอกว่าผมมีสระว่ายน้ำใหญ่ที่สุดในระดับชั้น มีสนามเด็กเล่นที่กว้างมาก มุมมองของผมในวัยเด็กก็มองว่าที่นี่เป็นที่เล่น เพียงแต่ไม่ใช่ที่เล่นของผมคนเดียว เป็นของเด็กคนอื่นด้วย แต่ผมอาจมีสิทธิพิเศษคือเล่นได้มากกว่าคนอื่น 

บรรยากาศในการ ‘มาเล่น’ ของคุณเป็นยังไง

ผมตามพ่อแม่มาทำงาน คือเขามาทำงาน แต่ผมมาเล่น มาถึงก็เปลี่ยนชุดว่ายน้ำทันที วิ่งเล่นทั้งวัน โดยที่พี่เลี้ยงก็ไม่ต้องมี เพราะพนักงานทุกคนที่นี่ช่วยดูแลผม คือพ่อแม่สามารถปล่อยเราทิ้งไว้ตรงไหนก็ได้ ผมจำได้ว่าไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำ) ของสวนสยามรุ่นแรกๆ ดุมากๆ (เน้นเสียง) แต่มีผมคนเดียวที่เขาไม่ดุ (หัวเราะ) ผมเห็นเขาสั่งห้ามเด็กคนอื่นกระโดดน้ำ ห้ามปีนป่าย ดำน้ำนานก็ไม่ได้ แต่พอเขาเห็นว่าเป็นผมเขาก็ปล่อยผ่าน กลายเป็นว่าพอถึงเวลากินข้าวก็เป็นพี่ไลฟ์การ์ดนี่แหละที่เดินมาบอกว่าแม่ให้มาตามไปกินข้าว พอกินข้าวเสร็จก็มาวิ่งเล่นต่อถึงเย็นแล้วกลับบ้าน 

จากเด็กที่มาวิ่งเล่น ครั้งแรกที่คุณเข้ามาทำงานคือตอนไหน

ผมอยู่ที่นี่เหมือนบ้านหลังที่สอง ช่วงประถมก็เริ่มเข้ามาช่วยขายเครื่องดื่ม ตักน้ำแข็ง ตะโกนเรียกลูกค้าเข้าร้าน เรียกว่าเป็นลูกมือ คอยช่วยหยิบนู่นหยิบนี่ให้พนักงานอีกที แต่เป็นการทำแบบเด็กเล่นขายของ ถ้านับว่านี่เป็นการทำงานก็เริ่มจากตรงนี้ แต่จุดเปลี่ยนคือตอน ป.6 วันหนึ่งเราเกิดอยากช่วยทอนเงิน แต่ปรากฏว่าตอนปิดยอด เขากำลังนับเงินกันอยู่ ผมบังเอิญได้ยินว่าจุดที่ผมไปช่วยมียอดขายไม่ตรงแล้วคนที่โดนหักเงินคือพนักงานที่ประจำในจุดนั้น

ตอนนั้นผมรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่เล่นแล้ว มันคือที่ทำงานที่จริงจัง หลังจากนั้นก็ยังไปช่วยอยู่นะ แต่จะไม่ยุ่งเรื่องเงินอีก กลัวทำให้พนักงานเดือดร้อน 

เมื่อไหร่ที่ได้เริ่มเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจหรือกระทั่งรับรู้ปัญหาที่มีจริงๆ 

คือช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ผมเริ่มทำงานตำแหน่งแรกคือช่างภาพถ่ายรูปโพลารอยด์สำหรับทำบัตรสมาชิก เรารับหน้าที่ถ่ายรูปลูกค้า พนักงานเอารูปไปตัด ทากาว ติดบัตร เคลือบพลาสติก ประมาณนั้น จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาทำงานส่วนอื่นๆ ได้ประชุมกับลูกค้า ประชุมกับพนักงานหลายแผนก จุดนั้นเราเริ่มรู้ว่าที่นี่มีปัญหามากกว่าที่เคยรู้ ที่ผ่านมาผมจะรับรู้แค่ว่าธุรกิจมีปัญหาเรื่องเงิน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเห็นว่าพ่อแม่เขาก็ผ่านมาได้ตลอด อีกอย่างธุรกิจก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ ลูกค้าก็ยังมี รายได้ต่อวันก็ไม่น้อย เงินเดือนก็ยังมีจ่ายให้พนักงาน แต่เรื่องเงินนำมาสู่ปัญหาอื่นตามมา

ตอนนั้นเราไม่มีเงินจ้างบุคลากรที่จบตรงกับสายงานหรือมีความรู้เฉพาะทาง กลายเป็นว่าคนที่มีความสามารถก็ออกไป เพราะเราจ่ายค่าจ้างไม่ไหว ต่อมาคือปัญหาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ตอนนั้นผมมีความคิดอยากปรับปรุงสถานที่แต่เราไม่มีเงิน ตรงนั้นทำให้เข้าใจว่าเงินที่เราเห็นว่ามีมันคือเงินหมุน และเรายังมีหนี้ต้องใช้ เงินที่เหลือเป็นเงินสดจริงๆ แทบไม่มี คืออาจจะพอมี แต่มีแค่ก้อนเดียว การใช้เงินก้อนเดียวนี้ควรจะใช้ไปกับอะไรก่อน เพราะคนสองรุ่นเห็นไม่ตรงกัน รุ่นพ่อก็มองว่าเงินก้อนนี้ทำตรงนี้ดีกว่า คนรุ่นผมก็อาจมองว่าเอาไปทำตรงนั้นดีกว่า ผมว่านี่เป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวอื่นๆ ก็น่าจะเจอเหมือนกัน

เวลามีไอเดียคิดอยากจะทำอะไรสักอย่าง คุณมีวิธีนำเสนอคุณพ่อยังไง

ตอนนั่งกินข้าวกับเขาก็พูดออกมาเลย ซึ่งก็โดนปัดตกบนโต๊ะกินข้าวนั่นแหละ (หัวเราะ)

แทบจะไม่มีไอเดียที่ผ่านเลย?

โอ้ (เว้นช่วง) น้อย (หัวเราะ) ถ้าตอนที่เข้ามาทำใหม่ๆ ทุกไอเดียโดนปัดตกหมด อาจจะมีบางไอเดียที่คุณพ่อเห็นด้วยแล้วเอาไปทำต่อ แต่ทำแบบพ่อ ไม่ได้ทำแบบเรา คือเขาเอาแค่ตัวไอเดียไปทำในวิธีแบบเขาเพื่อมาบอกว่าที่เราพูดน่ะ เขาลองทำแล้วนะ แต่มันไม่เวิร์ก (หัวเราะ) 

การเข้ามาสานต่อธุรกิจมาพร้อมโจทย์จากคุณพ่อหรือความท้าทายอะไรบ้าง

ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการคอยดูว่าเราทำได้หรือเปล่า ซึ่งคุณพ่อคงมีตัววัดอยู่สองสามอย่างในใจ อันดับแรกคือวัดจากความถูกใจของคุณพ่อก่อนว่าที่เราทำมันตรงกับแนวทางที่เขาคิดหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่แต่ยอมรับได้ เขาก็จะปล่อย ตัววัดที่สองคือจากผลงาน ผมไม่รู้คุณพ่อตั้งตัวเลขเอาไว้ในใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดผมทำแล้วได้ทำต่อ นั่นแปลว่าผ่าน คิดว่าคุณพ่อดูจากภาพรวมคือลูกค้าแฮปปี้ รายได้พอสมควร พนักงานไม่ได้มีความสับสนวุ่นวายในการทำงานก็ถือว่าใช้ได้ 

สิ่งที่คุณพ่อยอมรับไม่ได้คืออะไร

อันหนึ่งที่ทำแล้วผมโดนดุมากๆ คือไปเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน ผมคิดเอาเองว่าที่ผ่านมาทำไม่ถูก ผมก็สั่งเปลี่ยนการทำงานของแผนกแบบไม่ปรึกษาใครเลย ผมสั่งให้ทุกอย่างต้องมาผ่านที่ผมก่อน แต่ประสบการณ์เราก็น้อย การตัดสินใจก็ยังไม่ดี ทำให้ทุกอย่างชะงักและล่าช้าไปหมด ทุกคนต้องรอผมคนเดียว สุดท้ายก็ทำไม่ทันสักอย่าง

คำสั่งแบบนั้นเกิดจากความอยากมีส่วนร่วมกับทุกงานหรือเปล่า 

ไม่ใช่เลย แต่เป็นเพราะผมอยากตัดสินใจ อยากใหญ่ อยากเก่ง อยากมีอำนาจประมาณนั้นเลย แต่นั่นก็ทำให้ผมเข้าใจว่าก่อนจะตัดสินใจอะไร ต้องไปเรียนรู้ก่อนว่าเขาทำกันมายังไง ปัญหาคืออะไร จะแก้ยังไง พูดง่ายๆ คือเราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริงมันเหมือนหรือต่างกันยังไง ต้องไปขลุก ไปรู้ให้ลึกก่อนค่อยมานั่งคิดว่าแก้ยังไง จากตรงนี้ผมเลยเข้าไปเรียนรู้หน้างานทุกอย่างเลย 

จากการลงไปดูหน้างานด้วยตัวเอง คุณเห็นอะไรบ้าง

มีเคสที่ลูกค้าเข้าใจผิดจากตอนที่เราไปยืนให้ข้อมูลลูกค้าที่ประชาสัมพันธ์ พอตกเย็นพนักงานขายมาเล่าให้ฟังว่ามีลูกค้าซื้อบัตรผ่านประตูผิดประเภทแล้วชี้มาทางผมบอกว่าพนักงานผู้ชายอ้วนๆ คนนั้นบอกว่าต้องซื้อแบบนี้ (หัวเราะ) พนักงานขายก็ยืนยันว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดกัน ลูกค้าเลยบอกว่าเขาเข้าใจ แต่ยังไงก็ต้องไปอบรมพนักงานอ้วนๆ คนนั้นด้วยนะว่าให้ข้อมูลผิด (หัวเราะทั้งวง)

สุดท้ายมาได้ข้อสรุปว่าผมไม่ได้ให้ข้อมูลผิด แต่ผมกำลังอธิบายให้ลูกค้ากลุ่มอื่นฟัง แล้วลูกค้ากลุ่มที่ยืนข้างๆ เขาน่าจะเข้าใจว่าเป็นข้อมูลเดียวกันว่าต้องซื้อบัตรแบบนี้ จากตรงนี้ผมจะรู้เลยว่าลูกค้าเดินเข้ามาถามสิ่งเดียวกัน แต่อาจจะได้คำตอบกลับไปไม่ตรงกัน เพราะเรามีโปรโมชั่นเยอะ ทำให้สับสนได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลเหล่านี้จะต้องชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นำมาสู่การรีแบรนด์ได้ยังไง

เราพยายามจะลบภาพจำเก่าๆ ของสวนสยาม ต้องบอกก่อนว่าสวนสยามเริ่มต้นจากเป็นสวนน้ำอันดับหนึ่งก็จริง แต่สวนสนุกของเราไม่ใช่แบบนั้น คล้ายกับสวนสนุกเป็นของแถมมากกว่า ประมาณว่าคุณมาสวนน้ำแล้วได้เที่ยวสวนสนุกด้วย แต่เดิมสวนสยามไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเครื่องเล่น พนักงานก็ไม่ได้ใส่ใจเรียนรู้เรื่องงานบริการเท่าที่ควร ทำให้ต้องมาวางแผนกันว่าจะเปลี่ยนภาพของสวนสนุกที่ฟีดแบ็กค่อนไปทางลบนี้ได้ยังไงบ้าง เลยถือโอกาสในช่วงที่สั่งเครื่องเล่นใหม่เข้ามาในการปรับปรุงพื้นที่และเปลี่ยนแนวการทำงานไปด้วยเลย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อ แต่เรามีเครื่องเล่นที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีทีมวิศวกรและพนักงานที่มีความรู้ความเข้าใจ เพียงแต่การเปลี่ยนชื่อจากสวนสยามเป็น Siam Amazing Park จะช่วยสร้างความเข้าใจได้ทันทีว่าที่นี่มีอะไรใหม่ๆ 

การลงทุนครั้งใหม่ตามมาด้วยราคาบัตรผ่านประตูที่สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งราคาบัตรผ่านประตูที่สูงขึ้นส่งผลกับธุรกิจสวนสนุกยังไงบ้าง

เหตุที่ต้องปรับราคาบัตรผ่านประตู เพราะเรานำเข้าเครื่องเล่นมาเพิ่มอย่างที่บอกไป ผมคิดว่าตรงนี้ทำให้กลุ่มลูกค้าของเราเปลี่ยน ลูกค้าของสวนสยามเดิมเป็นกลุ่มครอบครัว แต่ลูกค้าของ Siam Amazing Park เป็นกลุ่มวัยรุ่น สิ่งที่ตามมาคือนิสัยลูกค้าก็เปลี่ยนด้วย พฤติกรรมการใช้จ่าย ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเลย ภาพรวมคือเรามีลูกค้ามากขึ้น รายได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาคือการบริการแบบเดิมๆ ของเราไม่ถูกใจลูกค้ากลุ่มใหม่ ทำให้มี complain สูงมาก ที่เห็นได้ชัดคือยอดขายอาหารเครื่องดื่มของเราไม่ได้ขยับขึ้นตามยอดผู้ใช้บริการ เหตุผลหลักเพราะเราเคยทำอาหารเพื่อขายกลุ่มครอบครัว ไม่ได้ทำขายวัยรุ่น พอวัยรุ่นมาใช้บริการ เขาก็เกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะกินอะไรในนี้ เกิดการใช้จ่ายน้อยลง ทำให้เราต้องกลับมาพัฒนาร้านอาหารด้วยการหาเชฟใหม่ จัดบูทใหม่ จัดรูปแบบร้านอาหารใหม่ทั้งหมด 

วันที่ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งมากกว่าเดิมหลายเท่า คุณมีวิธีรับมือยังไง 

บอกตามตรงเลยว่าผมค่อนข้างแฮปปี้ด้วยซ้ำ เพราะการที่มีสวนน้ำสวนสนุกอื่นๆ เปิดเพิ่มขึ้นมา นั่นหมายความว่าธุรกิจนี้มีความน่าสนใจ และทำให้ลูกค้ากระจายไปที่นั่นที่นี่ได้ ลองคิดดูว่าเมื่อก่อนคุณจะชอบไม่ชอบยังไง แต่มันมีอยู่ที่เดียวก็ต้องมาที่นี่ แต่ปัจจุบันลูกค้าสามารถเปรียบเทียบได้ว่าที่ไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขามากกว่ากัน คาแร็กเตอร์ของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เขาชอบแบบไหนก็เลือกไปที่นั่น ถ้าเขาชอบแบบเรา สุดท้ายเขาก็จะกลับมาหาเรา มันเท่านั้นเอง หรือต่อให้คุณไม่ชอบแบบเรา แต่นานๆ จะแวะมาทีก็ได้เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ (ยิ้ม)

ผมไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่เราคือคู่ค้า สยามอะเมซิ่งพาร์คเองก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้ การที่ลูกค้ามีโอกาสได้เลือกสินค้าประเภทเดียวกันในมิติที่หลากหลาย ลูกค้าก็มีความสุขและได้ประสบการณ์ที่หลากหลายไปด้วย ความคุ้มค่าไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ความพอใจของลูกค้า

คิดว่าอะไรที่ทำให้สยามอะเมซิ่งพาร์คอยู่คู่คนไทยจนถึงวันนี้ 

อย่างแรกก็ต้องย้อนไปในสมัยของคุณพ่อ ด้วยความที่คุณพ่อเป็นคนมีชื่อเสียงในยุคนั้น ตัวเขาเองทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาใช้บริการ บวกกับคุณพ่อมีความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองเสมอ ถ้าพูดอะไรออกไปเขาต้องทำให้ได้ตามนั้น ตรงนี้ผมคิดว่าทำให้เกิดความน่าเชื่อถือกับผู้ใช้บริการ รวมถึงสปอนเซอร์ของเรา อย่างที่สองคือการบริหารของเราค่อนข้างจริงใจและแฟร์กับลูกค้า อย่างที่สามราคาของเราค่อนข้างย่อมเยาเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ 

ความท้าทายที่ต่างกันของรุ่นพ่อกับรุ่นลูก

ในรุ่นคุณพ่อ ผมว่าแค่เขาคิดจะสร้างสวนน้ำในพื้นที่ขนาดนี้เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนก็ท้าทายแล้วนะ สิ่งที่ท้าทายคือทำยังไงให้คนกรุงเทพฯ รวมถึงคนในพื้นที่อื่นมาเที่ยวที่นี่ ทั้งที่ลำคลองยังใส ทะเลยังสะอาด ถึงแม้การเดินทางจะยังไม่สะดวกเท่าทุกวันนี้ แต่ก็สามารถเดินทางไปถึงพัทยาหรือบางแสนได้ ทำไมคุณต้องยอมจ่ายเงินค่าบัตรผ่านประตูเพื่อมาเล่นน้ำที่นี่ล่ะ รุ่นบุกเบิกต้องท้าทายกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือการเอาของใหม่เข้ามาแนะนำให้คนไทยรู้จัก ส่วนรุ่นของผมความท้าทายก็คือเราจะพัฒนายังไงให้ที่นี่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จะทำยังไงให้คนมาใช้บริการรู้สึกว้าวทุกครั้ง หรืออย่างน้อยมาแล้วต้องไม่น่าเบื่อ 

คุณได้เรียนรู้อะไรในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงคือคนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลง เขาจะต่อต้านไว้ก่อนเสมอ ความท้าทายของผมอีกอย่างจึงเป็นเรื่องการยอมรับจากพนักงาน ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ผมจะบอกพนักงานเสมอว่าถ้าทำแล้วงานคุณหนักขึ้น ขอให้คุณบอก เพราะวัตถุประสงค์ของผมคือเมื่อเปลี่ยนแล้วงานต้องเบาลงและง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นจะเปลี่ยนทำไม

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนระบบจำหน่ายบัตรผ่านประตูใช้เป็นกระดาษฉีกที่ต้องเก็บหางตั๋วไว้เช็กตอนปิดยอด จำนวนตั๋วที่ขายออกไปกับจำนวนเงินที่รับมาต้องตรงกัน แค่นั้นพนักงานก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นแล้ว ที่นี่ปิดตอนเย็น พนักงานต้องนั่งเคลียร์เงินถึงสามทุ่ม ยิ่งช่วงเทศกาลต้องลากยาวถึงเที่ยงคืน เช้าแล้วพนักงานยังนั่งเคลียร์เงินอยู่ก็เคยเห็นมาแล้ว ยอดไม่ตรงทีก็ต้องวิ่งหาหางตั๋วที่หายไป หาได้ไม่ครบก็โดนหักเงินอีก

คำถามคือมันใช่เรื่องหรือเปล่า แต่พอผมจะเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามา สิ่งแรกที่เจอคือความกังวลใจจากพนักงาน เกิดคำถามว่าถ้าคอมพ์พังแล้วต้องรับผิดชอบไหม อย่างที่สองคือถ้าไฟดับระบบขัดข้องล่ะจะขายบัตรยังไง สารพัดคำถามมีมาหมด ผมเลยต้องสร้างความมั่นใจให้พนักงานว่าคุณเพียงแต่ทำเลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นผมจัดการให้  

จากการยืนระยะตลอด 42 ปี ผ่านวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง ทั้งวิกฤตการเงินที่เคยถูกฟ้องล้มละลาย มาถึงวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่จบ สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากวิกฤตทั้งหมดคืออะไร

ผมเรียนรู้ว่าทุกวิกฤตมีโอกาส อยู่ที่ว่าเราจะมุ่งหาจุดนั้นเจอหรือเปล่า ยกตัวอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งปี ’40 ที่ทุกคนล้มกันหมด โอกาสของเราตอนนั้นคือจากการเป็นลูกหนี้รายใหญ่ เรากลายเป็นลูกหนี้รายเล็กทันที ทำให้สามารถเจรจากับธนาคารได้ง่ายขึ้น เพราะธนาคารก็อยากจะเคลียร์กับลูกหนี้รายเล็กๆ ก่อน หรือช่วงโควิดที่เราเปิดให้บริการได้แล้วในวิกฤตนั้นมีโอกาสตรงที่ว่าคนไม่สามารถไปต่างประเทศได้ เขาก็จะหันกลับมามองที่เที่ยวในประเทศตามสถานะของเขา ต่อมาเป็นการเรียนรู้เรื่องของพนักงาน ในช่วงที่ผ่านมามีบางคนอยู่กับเรา แต่ก็มีพนักงานที่ขอหยุดงานไป ซึ่งพอเรากลับมาเปิด บางคนเขาก็ไม่ได้กลับมาแล้ว นั่นทำให้เราต้องหาพนักงานกลุ่มใหม่เข้ามาและเพิ่มการเทรนนิ่ง

ต้องพูดกันตามตรงว่าพนักงานของธุรกิจสวนสนุกไม่ใช่อะไรที่หาได้ง่าย เนื่องจากเป็นเอาต์ดอร์ อากาศร้อน งานบริการของที่นี่จึงมีสองแบบคือร้อนแล้วเหนื่อยกับร้อนแล้วเบื่อ ถ้าไม่มีคนก็เบื่อ นั่งหน้าเครื่องเล่นก็หลับ ถ้าคนเยอะเมื่อไหร่ ลูกค้าต่อคิวไม่ได้พักเลย ยิ่งโควิดก็ต้องมานั่งทำความสะอาดทุกรอบก็เหนื่อย ถ้าไม่มีใจรักจริงก็ไม่อยากทำ แต่การจากลาของพนักงานก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้มากๆ ภาระหน้าที่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราเลยไม่ได้โกรธ แต่ได้เรียนรู้ตรงนี้ 

อนาคตของสวนสนุกแห่งนี้จะถูกพัฒนาต่อไปในทิศทางไหน

ผมอยากพาให้สยามอะเมซิ่งพาร์คเข้าถึงแหล่งเงินทุนระดับใหญ่นั่นก็คือตลาดหลักทรัพย์ เพราะการพัฒนาธุรกิจสวนสนุกต้องใช้เงินจำนวนมาก การเข้าตลาดหลักทรัพย์สามารถเพิ่มทั้งเงินลงทุน มีโอกาสเติบโตสูงกว่า และมีโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของด้วย ไม่ใช่ของตระกูลเหลืองอมรเลิศอย่างเดียว แต่เป็นของทุกคนที่เขาต้องการจริงๆ 

คำถามสุดท้าย ขอถามถึง Bangkok World ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นโครงการแรกภายใต้การบริหารของรุ่นที่ 2 และดูจะเป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดธุรกิจ

จริงๆ ไอเดียนี้เริ่มต้นจากคุณพ่อตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เขาไปเห็นว่าสวนสนุกที่ต่างประเทศแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถไกลด้วยการสร้างอาคารขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวเดินเล่นถ่ายรูปชมวิวเพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าเดินไกล คุณพ่อเลยอยากทำบ้าง ตอนนั้นเขาไปจ้างทำ master plan ไว้แล้วด้วย แต่ก็เจอกับวิกฤตการเงินทำให้ต้องหยุดไว้ก่อน แต่คุณพ่อเก็บ master plan นั้นไว้อย่างดี จนมามีโอกาสได้ทำวันนี้ก็ต้องมาปรับไอเดียกันใหม่

ทีนี้จากการรีเสิร์ช ลูกค้าออกจากที่นี่ไป เขาต้องแวะกินข้าว แวะซื้อของก่อนเข้าบ้าน ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ต้องทำให้ที่นี่เป็น one-stop service ไปเลยสิ ไหนๆ ก็มาสวนสนุกแล้ว จอดรถแล้ว ก็ต้องมีที่ให้แวะกินข้าว ซื้อของกลับบ้านด้วย และพื้นที่ของเราอยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิก็ควรจะมีสินค้าโอทอปหรือแบรนด์ไทยมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

เลยเกิดโปรเจกต์ Bangkok World ขึ้นมา หยิบเอาอาคารสถานที่ในกรุงเทพฯ ที่ถูกทุบไปแล้วหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงแลนด์มาร์กต่างๆ มาจำลองไว้ตรงนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติและคนไทยได้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยมันร่วมสมัยยังไง ให้โครงการนี้เป็นสถานที่พักผ่อน มากินข้าว เดินเล่น ถ่ายรูปได้ แบบไม่มีบัตรผ่านประตู ตั้งใจอยากให้สยามอะเมซิ่งพาร์คเป็นสถานที่ที่รวมความสุขให้กับทุกคนจริงๆ

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Illustrator

ชีวิตต้องมีสีสัน