‘การ์ตูน มังงะ นิยาย’ ขายดีในงานหนังสือครั้งที่ 53 เจนฯ Z ครองแชมป์นักอ่าน ดันเม็ดเงินสะพัด 420 ล้านบาท

กลิ่นของกองหนังสือที่โชยมา สัมผัสของกระดาษที่คุ้นเคย การได้พบปะกับนักเขียนคนโปรด และโดนนักอ่านจากหลายสำนักพิมพ์คอยป้ายยา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเสน่ห์ของงานสัปดาห์หนังสือที่หาไม่ได้จากที่ไหน ต่อให้ปัจจุบันจะเป็นยุคที่คนสั่งหนังสือออนไลน์พร้อมโค้ดส่วนลดมากมาย แต่กลิ่นอายของงานหนังสือก็ยังเป็นสิ่งที่นักอ่านต่างชื่นชอบ

พิสูจน์ได้จากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 23 ที่ได้ปิดฉากลงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากจัดงานยาวถึง 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม – 8 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทยในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้ต้องปิดให้บริการในวันนั้นเร็วกว่ากำหนดแต่ก็ได้ขยายการจัดงานเพิ่มอีก 1 วัน และทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT ก็ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งกลุ่มนักอ่านหลักที่มาร่วมงาน ไปจนถึงประเภทหนังสือที่ถูกใจนักอ่านในปีนี้ ที่เราจะมา Recap ให้ได้ติดตามกัน

#นักอ่านกลุ่มไหนที่เทใจมางานหนังสือ

จากจำนวนนักอ่านที่เข้าร่วมงานตลอด 13 วันมีมากถึง 1.3 ล้านคน ในวันธรรมดาจะมีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3-1.5 แสนคนต่อวัน ซึ่งถือว่าสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว 1 วัน คือวันเสาร์ที่ 29 มีนาคม ยังมีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.3 แสนคน นอกจากนี้วันที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการจัดงานคือวันที่ 6 เมษายน 2568 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1.7 แสนคน

ในจำนวนผู้ร่วมงานที่มีมากมายแบ่งเป็นผู้หญิง 66% ผู้ชาย 27% LGBTQ+ 6% และไม่ระบุเพศประมาณ 1% โดยมีกลุ่มนักอ่านที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือ เจนฯ Z 43.65%, เจนฯ Y 36.1%, เจนฯ X (อายุ 43-58 ปี) 19.75%

#หนังสือประเภทไหนที่คนเลิฟ

ภายในงานได้มีการสำรวจประเภทหนังสือที่ผู้ร่วมงานสนใจ โดย 1 คนเลือกความสนใจได้มากกว่า 1 ประเภท จนสรุปได้ดังนี้

– 40% สนใจการ์ตูนและมังงะ

– 30% สนใจนิยายและวรรณกรรม

– 28% สนใจจิตวิทยาและให้กำลังใจ

– 25% สนใจหนังสือพัฒนาตนเอง

– 24% สนใจตำราเรียนและคู่มือเตรียมสอบ

– 8.5% สนใจหนังสือเด็ก

#ดันรายได้ถึง 420 ล้านบาท

อัตราเฉลี่ยของการซื้อหนังสือภายในงานพบว่านักอ่านกว่า 30.88% ซื้อหนังสือประมาณ 600-1,000 บาท ส่วนอีก 14.70% ซื้อหนังสือกว่า 1,000-1,500 บาท และอีก 12.84% ซื้อหนังสือมากกว่า 3,000 บาท ทำให้ตลอดการจัดงานยอดขายรวมอยู่ที่ 420 ล้านบาท ถือว่ามากกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ซื่งมียอดขายรวม 400 ล้านบาท

ปัจจัยความสำเร็จในครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากคอมมิวนิตี้นักอ่านที่เข้มแข็ง ทั้งป้ายยาหนังสือน่าอ่าน ประชาสัมพันธ์รายละเอียดการจัดงาน รวมถึงมีอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์ภายในงานมากมาย ทำให้เข้าถึงกลุ่มนักอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่มากขึ้น

รวมถึงความสำเร็จของกิจกรรม Bangkok Rights Fair 2025 ที่เกิดการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ภายในงานมากถึง 271 คู่ จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 135 บริษัท ใน 14 ประเทศ โดยแบ่งออกเป็นบริษัทต่างชาติ 43 ราย และบริษัทไทย 92 ราย และมียอดการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นภายในงานมากกว่า 68 ล้านบาท

ทุกตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการจัดงานในครั้งนี้เป็นกระจกสะท้อนอย่างดีว่า ‘หนังสือยังไม่ตาย’ และการจัดงานหนังสือในรูปแบบออฟไลน์ให้คนได้มาพบปะเจอหน้ากัน ได้จับหนังสือกับมือยังเป็นสิ่งที่นักอ่านให้ความสนใจ ในขณะเดียวกันก็ต่อลมหายใจให้กับคนในแวดวงธุรกิจหนังสือ 

นอกจากนั้นยังพร้อมเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT ตั้งใจเดินหน้าผลักดันให้หนังสือไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะพาหนังสือไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียนให้ได้ เป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าในอนาคตแวดวงหนังสือจะเติบโตไปในทิศทางไหน

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like