Serial Entrepreneur Doctor

นามบัตร 7 ใบของ ‘หมอคิด’ จากแพทย์สู่ RISE ผู้เร่งสปีดนวัตกรรมมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

เจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ที่เป็นต้นกำเนิดของ Settrade

แพทย์ที่ริเริ่มทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้โรงพยาบาลชั้นนำ  

ผู้ก่อตั้งบริษัทโฆษณา MCFIVA ที่เน้นการสร้างผลลัพธ์จริงให้กับลูกค้า

ผู้ผลักดันการเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ในนาม RISE

ผู้ก่อตั้งกองทุนไทย SeaX Ventures ที่ไปปักธงในสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตการทำงานของแพทย์ผู้หลงใหลในเทคโนโลยี ‘หมอคิด–นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์’ ซึ่งไม่มีช่วงไหนที่ทำงานตำแหน่งเดียวเลย ในขณะที่เรียนแพทย์ก็ก่อตั้งบริษัทแรกไปด้วยและตลอดระยะเวลาของการเป็นแพทย์ที่ใช้ทุนสิบกว่าปีก็ไม่ได้แค่รักษาคนไข้แต่ทำระบบไอทีใหม่ให้กับทั้งโรงพยาบาล โดยในปัจจุบันหมอคิดทั้งดูแลบริษัทโฆษณา สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรม และยังลงทุนในนวัตกรรมระดับโลกอีกมากมายไปพร้อมๆ กัน 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ด้วยความเป็นคนชอบอ่านทำให้หมอคิดเริ่มสนใจการลงทุนจากการอ่านข่าวสารจากใบปลิวโฆษณาที่ธนาคาร เริ่มออมเงินตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ลงทุนในกองทุนรวมตั้งแต่อยู่มัธยมและลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่อายุ 17 ปี พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนคณะแพทย์เพราะมองว่าชีววิทยาเป็นวิชาที่ไม่ต้องท่องจำ 

ไม่ว่าจะก้าวไปในวงการไหนทุกบริษัทของหมอคิดล้วนประสบความสำเร็จและสร้างคลื่นลูกใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการ โดยบริษัทแรกที่ก่อตั้ง ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ขอซื้อสิทธิ์ไปบริหารเอง พอย้ายมาทำบริษัทโฆษณาก็สามารถสร้างแคมเปญโฆษณาที่มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อ Fortune 500 ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คนที่สอง

สำหรับ RISE ที่สร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมองค์กรผ่านเครือข่ายทั่วโลกและกิจกรรมหลายรูปแบบ (Accelerator, Corporate Innovation Consulting, People Transformation, Venture Building Services, Experiential Conference) ได้สร้างมูลค่ารวมไปแล้วทั้งหมดกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับเงินลงทุนเพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรมกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 256 ล้านบาทในปี 2563 โดยเป็นเงินลงทุนในรอบ seed ที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกองทุน SeaX ก็ลงทุนใน seed round ของยูนิคอร์นไปแล้ว 3 ตัว โดยสามารถระดมทุนในรอบที่สองได้ถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2,200 ล้านบาท 

ความสำเร็จทั้งหมดมาจากวิธีคิดที่ตั้งต้นว่า “อะไรที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ เราจะทำ”

CEO and Co-founder
First Vision Advantage

“ก่อนเรียนจบแพทย์ผมรู้ตัวอยู่แล้วว่าชอบเทคโนโลยี ตอนอายุประมาณ 22 ระหว่างเรียนแพทย์อยู่ปี 5 เลยทำโปรแกรมเล่นหุ้นให้ตัวเองใช้ ตอนแรกเป็นโปรแกรมเล่นหุ้นผ่านมือถือโนเกีย 3310 พอชนะ Best 5 ระดับประเทศในการแข่งขันเขียนโปรแกรมจากไอเดียนี้ (การแข่งขัน Discover Online Talent Award – DOT Award by Nokia & DTAC) เลยลงทุนกับเพื่อนเปิดบริษัทชื่อ First Vision Advantage เป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ และได้พัฒนาโปรแกรมเล่นหุ้นจากจอขาว-ดำสู่จอสีที่รองรับการเล่นบนมือถือได้หลายรุ่น ก็มีผู้ใช้งานหลายพันคน

“คิดว่านวัตกรรมที่สำเร็จสตาร์ทจาก pain point เราก็เริ่มต้นจากตัวเองก่อนว่าเห็นปัญหาอะไร ตอนนั้นผมเห็นว่าเวลาอยู่ในห้องเรียนทำไมเล่นหุ้นไม่ได้ ทำไมต้องออกมาคุยโทรศัพท์เพื่อซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ ทำให้พลาดช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อ-ขายและกว่าจะเลิกเรียนตลาดก็ปิดแล้ว มันก็เป็นปัญหาที่เราเจอกับตัวเอง แต่ตอนนั้นเรามีมือถือแล้วนะ พอเห็นว่ายังใช้มือถือเล่นเกมได้ก็เลยคิดว่าแล้วทำไมเราเล่นหุ้นในมือถือไม่ได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มสนใจและเริ่มทำ

“ตอนแรกเราก็เขียนโปรแกรมไม่เป็น คนเขียนโปรแกรมจริงๆ คือเพื่อนที่เขาเป็นมืออาชีพในสายนี้แต่สุดท้ายแล้วเราก็เขียนเป็นบ้างเพราะเพื่อนที่ทำด้วยกันก็จะถามว่า จะให้เอาเวลาไปเขียนฟีเจอร์ใหม่หรือจะให้เอาเวลาไปเขียนรีพอร์ต ผมเลยเขียนโปรแกรมง่ายๆ ได้ เช่น รีพอร์ตที่เราจะใช้ในการบริหารบริษัท ก็คือยอดขายเป็นยังไง ลูกค้าคนไหนซื้อเยอะ ซึ่งมันไม่ใช่โปรแกรมที่สลับซับซ้อน ก็เลยเข้าใจ logic ของการเขียนโปรแกรมจากตอนนั้น

“หลักการแรกๆ ของโปรแกรมมิ่งจริงๆ แล้วมันคล้ายคณิตศาสตร์ที่มีสมการ เช่น ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งจะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น ให้ทำอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งมันเป็นหลักพื้นฐานของการทำเทคโนโลยีเลย ถ้าเราไม่เข้าใจหลักการในตอนนั้น ทุกอย่างที่ทำเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในวันนี้ก็จะไม่เข้าใจ เราจะไม่สามารถพูดภาษาเดียวกับคนสายนี้ได้ การเข้าใจในวันนั้นเลยเป็นการอันล็อก เพราะพอเราเข้าใจแล้วว่าเวลาโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรมเขาคิดกันแบบนี้ มันเลยทำให้เราเข้าใจว่าถ้าจะไปสร้างแพลตฟอร์มอะไรก็ตาม มันก็ต้องมีหลักการ logic แบบนี้อยู่เบื้องหลัง

“ตอนที่ทำบริษัทแรกคิดว่าทุกอย่างเป็นการเรียนรู้หมดเลย เพราะว่าไม่มีอะไรที่เราเคยเรียนมาก่อนเลย ตอนเรียนแพทย์เราก็เรียนแค่ผ่าศพ ผ่ากบผ่ายังไง แต่อันนี้คือชีวิตจริง ต้องมาดูว่าลูกค้าที่เราจะไปคุย เขาจะฟังเราไหม พออายุน้อยแค่นี้เองเราจะทำยังไงให้ดูน่าเชื่อถือ ผมว่ามันคือการเรียนใหม่หมดตั้งแต่เรื่องบัญชี กฎหมาย มันต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง การเก็บเงินต้องทำยังไง เราจะเก็บเงินได้ไหม ต้องทำอะไรต่อ คิดว่าบริษัทแรกได้เรียนรู้เยอะมาก

“พอทำบริษัทแรกสำเร็จแล้วก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงมั่นใจว่าน่าจะมาถูกทางและเทคโนโลยีนี่แหละที่น่าจะเป็นทางของเรา เพราะมันมีจุดพิสูจน์ที่เราทำระบบให้ประเทศไทยทั้งประเทศ ให้คนเล่นหุ้นในมือถือได้เป็นครั้งแรก สุดท้ายตอนนั้นเราขายบริษัทที่ทำเรื่องข้อมูลหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วก็คิดว่าจะทำอะไรต่อดี เหมือนเป็นช่วงที่เราต้องคิดทางเลือกชีวิตอีกรอบหนึ่ง สิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้คือตอนที่กลับมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลซึ่งก็เป็นตัวตอบอีกรอบหนึ่งว่าเราชอบด้านเทคโนโลยีจริงๆ”

แพทย์ใช้ทุน
โรงพยาบาลศิริราช

“ย้อนกลับไปตอนเลือกเรียนแพทย์ก็เป็นคนเลือกเอง เป็นคนชอบชีววิทยาเพราะคิดว่าเป็นวิชาที่ถ้าเราเข้าใจมันแล้วเราไม่ต้องจำเยอะ ซึ่งมันขัดแย้งกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ตัวผมเองเป็นคนที่เรียนหมอแบบไม่ท่องจำ เพราะรู้สึกว่าถ้าเราเข้าใจมันจริงๆ มันจะเป็นเหตุและผล การที่เราเป็นโรคนี้เพราะเราติดเชื้อจากเรื่องนี้ เราก็เลยมีอาการนี้ออกมา พอทุกอย่างเป็นเหตุผลกัน มันเลยไม่ต้องนั่งจำ ทำให้รู้สึกว่าเรียนชีววิทยาแล้วเข้าใจดีมากเลย เรียนแล้วรู้สึกสนุกมาก เพราะเราไม่ได้ไปจำมัน

“ผมจะเป็นคนชอบหาทางที่ทำยังไงก็ได้ให้เราไปถึงเป้าหมาย พอเรียนหมอจบ 6 ปีแล้ว แพทย์จะต้องไปใช้ทุนไกลๆ ไปภาคใต้ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เพราะอยากทำสิ่งตัวเองชอบที่เป็นเทคโนโลยีด้วย ก็เลยหาวิธีที่ทำให้เราไม่ต้องไปต่างจังหวัดนาน ได้ทั้งใช้ทุนและทำเทคโนโลยีไปพร้อมกันด้วยก็คือเป็นอาจารย์หมอ ผมใช้ทุนที่ต่างจังหวัดปีเดียวแล้วอีกสองปีก็กลับมาใช้ทุนเป็นอาจารย์หมอที่ศิริราช

“แล้วทีนี้เป็นอาจารย์อะไรดีที่ทำให้เราได้ทำสิ่งที่อยากทำด้วย สาเหตุที่เลือกเป็นอาจารย์สาขาพยาธิวิทยาคลินิก (Clinical Pathology) ที่ศิริราช เพราะตอนนั้นศิริราชกำลังทำโปรเจกต์ใหม่ชื่อ SiHMIS หรือ Siriraj Hospital Management Information System เป็นโปรเจกต์ที่ลงทุนกับการทำระบบของโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ศิริราชก่อตั้งมาเลย (ประมาณ 500 ล้านบาทในเวลานั้น) เราอยากไปทำระบบเทคโนโลยีให้กับทั้งศิริราชเลย

“โจทย์ของโรงพยาบาลตอนนั้นก็คือต้องการมีแค่หนึ่ง electronic medical record ตอนช่วงที่ผมอยู่ ศิริราชต้องไปซื้อตึกทั้งตึกเพื่อเก็บกระดาษ ปีหนึ่งศิริราชมีคนไข้น่าจะเป็นล้านคนและในล้านคนมันคือแฟ้มล้านแฟ้ม ถึงขั้นต้องไปซื้อตึกเพื่อมาเก็บกระดาษตามกฎหมายการเก็บเอกสารที่ต้องเก็บไม่น้อยกว่า 10 ปี โจทย์ก็คือทำยังไงก็ได้ให้ข้อมูลในกระดาษเหล่านั้นกลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่แค่สแกนเข้าไป มันก็เรียกได้ว่าเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

“ตอนนั้นเริ่มทำปี 2008 ประมาณ 15 ปีที่แล้ว เริ่มสร้างระบบด้วยการใช้วิธีคีย์ข้อมูลลงไป เช่น ข้อมูลยาก็จะเชื่อมกับระบบที่ห้องยา คนไข้ก็ไม่ต้องถือแฟ้มไปแล้ว ไปรับยาได้อัตโนมัติแล้วเก็บเงินได้เลย ข้อมูลทุกอย่างกลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์

“ตลอดสองปีนั้นก็ดูแลระบบเทคโนโลยีในเวลากลางวัน ตรวจคนไข้ในเวลากลางคืนและอยู่เวรกลางคืน วิธีนี้ทำให้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว ได้ทั้งเป็นอาจารย์ด้วยและเราก็ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำคือดูแลระบบเทคโนโลยีที่ศิริราช” 

นักวิเคราะห์ระบบงานทางการแพทย์
โรงพยาบาลรามาธิบดี

“พอทำที่ศิริราชเสร็จ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก็โชคดีได้รับทุนจากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปเรียนต่อ ตอนนั้นเรียนปริญญาโทแบบไฮบริดจ์ด้าน biomedical informatics ที่มหาวิทยาลัย Oregon Health & Science University จากทุนที่รามาธิบดี (เรียนด้านวิชาการที่ไทยแต่บินไปทำกิจกรรมและสอบที่สหรัฐฯ) 

“วิชา Biomedical Informatics เรียกง่ายๆ คือ health informatics ก็คือการใช้ไอทีกับสุขภาพ อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพก็เรียนหมดเลย เพราะทุก medical record ของโรงพยาบาลคือข้อมูลสุขภาพทั้งหมด สายงานนี้สามารถพัฒนาสู่การเป็น CMIO – Chief Medical Information Officer ในวงการแพทย์ได้ ถ้าในบริษัททั่วไปคือ CIO – Chief Information Officer ไม่ได้หมายความว่าต้องเขียนแอพฯ ทุกวัน แต่ต้องบริหารข้อมูลให้ได้รวดเร็ว ปลอดภัย 

“ระหว่างเรียนก็ใช้ความรู้ที่เคยทำให้ศิริราชไปช่วยทำระบบ hospital management information system ที่รามาธิบดีเหมือนกันและย้ายมาใช้ทุนที่รามาธิบดี ก็เรียกว่าเป็นตำแหน่งนักวิเคราะห์ระบบงานทางการแพทย์ รวมอยู่ศิริราช 2 ปี อยู่รามาธิบดี 8 ปี ถ้ารวมปริญญาโทอีกก็ใช้เวลาอยู่ในวงการแพทย์รวมทั้งหมด 16 ปี 

“หลักคิดที่ได้จากวงการแพทย์ที่สำคัญสุดเลยคือเขาบอกว่า First, do no harm แปลว่า ถ้าคนไข้ไม่ได้ป่วย ก็อย่าไปทำให้เขาป่วย เราอย่าไปทำร้ายเขา สมมติถ้าคิดว่าเราสั่งยาให้คนไข้ไม่ถูก ก็อย่าสั่งยาให้เลย เพราะเราอาจจะทำให้เขาป่วยก็ได้ รู้สึกว่ามันเป็น principal ที่ดีของหมอที่ทำให้พอมาทำธุรกิจมันก็มีข้อดีหลายเรื่อง หนึ่งคือเราตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม เพราะพอเป็นหมอมาเราก็ไม่อยากทำให้ใครต้องเดือดร้อน ข้อที่สอง เป็นหมอก็จะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ ซึ่งสิ่งนี้ก็น่าจะทำให้ในช่วงต้นของธุรกิจ เราก็ไม่ค่อยทำอะไรผิดที่เป็นเรื่องใหญ่”  

President
ITEUS Corporation

“พอทำระบบให้โรงพยาบาลภาครัฐแล้ว โรงพยาบาลเอกชนก็อยากจะมีระบบเหมือนกัน เขาก็บอกเราว่าช่วยไปทำให้หน่อย เลยใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่มีมาเปิดบริษัทชื่อ ITEUS (IT is all about us) เป็นที่ปรึกษาด้านการทำ healthcare IT system ให้โรงพยาบาล งานหลักของ ITEUS คือการทำซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาลแบบเดิมนี่แหละ ทำระบบลงทะเบียนจ่ายยาและประวัติคนไข้ในโรงพยาบาลขนาดไม่เกิน 1,000 เตียง มีลูกค้าเช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลรามคำแหง ก็เป็นบริษัทที่ปรึกษาที่แรกของไทยที่ได้รับ HL7 Version 3 Certified (RIM) Consultant พูดง่ายๆว่า HL7 เป็นเหมือนสแตนดาร์ดของโลกในวงการหมอไอที คือต้องเป็นหมอที่เป็นไอทีด้วย คล้าย ISO (มาตรฐานการวัดคุณภาพองค์กรทั่วโลก) ที่แสดงว่าเราสามารถลิงก์ข้อมูลทุกๆ อย่างของระบบสาธารณสุขตามระบบมาตรฐานกลางได้”  

Chairman and Founder
MCFIVA 

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าวงการแพทย์มันดีแต่ถ้าเกิดสมมติเรามาดู IT spending และไซส์ของตลาด ตามหลักแล้วถ้าตลาดใหญ่ สตาร์ทอัพในตลาดนั้นถึงจะเติบโตได้เร็วจนเป็นยูนิคอร์นได้และมีมูลค่าบริษัทเยอะ เราก็มาดูว่าอุตสาหกรรมไหนลงทุนในเรื่องไอทีเยอะที่สุด ก็ไม่ใช่โรงพยาบาล ถ้าเป็นกลุ่มเทเลคอม หรือธนาคาร พวกนี้เขาลงทุนในไอทีปีหนึ่งประมาณ 10-15% แต่โรงพยาบาลจะอยู่ที่ 2-3% ซึ่งต่างกันเยอะมาก ก็มาคิดว่าถ้าทำเฉพาะโรงพยาบาล ต้องรออีกนานกว่าเราจะเติบโตและยิ่งใหญ่กว่านี้ ก็เลยมาดูว่ามีอะไรที่โตเร็วๆ และได้ใช้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีของเราบ้าง ยังมีอุตสาหกรรมไหนที่เราสามารถเอาความชอบของเราไปใช้ได้อีก ตอนนั้นกูเกิลและเฟซบุ๊กก็เพิ่งมาตั้งบริษัทที่ไทยไม่นานก็เลยเริ่มสนใจ

“ทั้งสองบริษัทเป็น marketing technology ประกอบกับทำ E-commerce ได้ด้วยก็เลยสนใจและคิดว่ามันน่าจะมานะ เลยเขียนอีเมลไปหาทวิตเตอร์ที่อเมริกาว่ามีกูเกิลและเฟซบุ๊กเข้าไทยมานะคุณสนใจเข้าไทยไหม ชวนเขาแล้วบอกว่าถ้าสนใจ เดี๋ยวเราจะเอาโฆษณาของทวิตเตอร์มาขายให้ ผมก็เลยเป็นผู้ถือสิทธิ์การโฆษณาเจ้าแรกของทวิตเตอร์ในเมืองไทย ตั้งชื่อบริษัทว่า MCFIVA เป็นจุดเริ่มต้นของการทำบริษัทโฆษณา

“แล้วก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้แตกต่าง เนื่องจากเราเป็นสายเนิร์ด เขียนโปรแกรมได้ด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการทำการตลาดของเราก็จะเป็นการทำโฆษณาที่วัดผลได้ เราบุกเบิกการทำ performance marketing ซึ่งตอนแรกๆ ยังไม่ค่อยมีคนทำเรื่องนี้ คนยังนิยมทำโฆษณาแบบเน้นลงสื่อเยอะๆ ให้คนเห็นเยอะๆ ติดบิลบอร์ด ซื้อโฆษณาทีวี จุดเด่นของเราจะไม่ใช่แค่เดินไปขายของว่าโฆษณาเราเปรี้ยงมากหรือโฆษณาเราไวรัล แต่ว่าจะตกลงกับลูกค้าว่าขายของได้ไหม เราบอกลูกค้าได้ว่าถ้าในอนาคตลงค่าโฆษณา 1 ล้านบาทจะได้ยอดขายเท่าไหร่ หาทางทำยังไงก็ได้ให้เงินที่ลงไปได้กลับมามากกว่านั้น พอเราสนใจเรื่องการลงทุน เราก็จะคิดให้ลูกค้าเลยว่าถ้าสมมติคุณลงทุน 10 ล้าน ยอดขายคุณจะเพิ่มขึ้น 100% นะ มันก็เป็นการผนวกเอาเทคโนโลยีที่เราเรียนรู้มาผสม ทำให้เรากลายเป็น performance marketing agency ที่วัดผลได้ ทำให้คนเชื่อมั่นและทำบริษัทมา 12 ปี

“ถ้าถามว่าการที่เป็นหมอแล้วทำไมถึงรู้เรื่อง performance marketing ได้ เพราะผมเป็นคนชอบอ่านมาก ตอนเริ่มต้นลงทุนผมเริ่มลงทุนก่อนเล่นหุ้นอีก ผมเป็นคนชอบอ่านมากและชอบอ่านอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคืออ่านใบปลิวที่แบงก์ ปกติเวลาเราไปที่แบงก์เขาจะมีใบปลิวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลายคนอาจไม่สนใจ แต่เราเป็นสายชอบอ่านหนังสือก็หยิบมาอ่านว่ามันมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็เลยทำให้เริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็พยายามอ่านข่าวธุรกิจเยอะๆ เราก็เลยเข้าใจว่าโลกจะหมุนไปทางไหน

“ความจริงตอนนั้นที่เริ่มออกมาทำบริษัทโฆษณา ตอนกลางคืนก็ยังเป็นหมอพาร์ตไทม์อยู่เลย ตรวจคนไข้มาเป็นสิบปีเลย เวลากระโดดข้ามสายงานถ้ามองจากสายตาคนนอกอาจมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่จริงๆ แล้วมันก็มีความเสี่ยงที่ไม่เสี่ยงอยู่ เราพยายามลดความเสี่ยงในทุกด้านและสร้าง safety net ให้ได้มากที่สุดซึ่งมันทำได้จริง

“ถ้าจุดเปลี่ยนของ MCFIVA ก็คือตอนปี 2013 ถูกเทคโอเวอร์ไป เป็นการขายบริษัทที่สองที่เราทำ ครั้งนี้ขายให้บริษัท D2C Inc. ที่เป็นบริษัทในกลุ่ม NTT Docomo, Inc. ของญี่ปุ่น ตอนนั้นคิดว่าเราอยากเป็น international firm ที่มีพาร์ตเนอร์ระดับ global ก็เลยคิดว่าขายบริษัทแล้วมาทำด้วยกันดีกว่า ไม่ใช่ว่าขายทิ้ง แต่ขายเพื่อมาทำด้วยกันให้มันใหญ่ขึ้น พอหลังจากที่ขายบริษัทไปแล้วก็มีส่วนที่คิดเห็นไม่ตรงกันกับทางญี่ปุ่นเลยเอากลับมาทำเป็นของตัวเอง แต่เรายังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิมแพกต์ได้มากขึ้นอยู่ก็เลยมาตั้งบริษัท RISE เพิ่ม”  

CEO and Co-founder
RISE 

“ตอนนั้นเราเองก็อายุประมาณ 30 แล้ว ถามตัวเองว่าในช่วงอายุ 30-40 ในชีวิตนี้จะตั้งบริษัทได้อีกกี่บริษัท บริษัทนี้อาจจะเป็นที่สุดท้ายแล้วที่เราอยากทำตามความฝันในการทำบริษัทระดับโลก บริษัทที่ไม่ใช่แค่สร้างรายได้แต่สร้างอิมแพกต์ให้กับประเทศและโลกใบนี้ได้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นจากโจทย์นี้ เลยพยายามหา why ว่า Why RISE need to exist? ทำไมถึงต้องมี RISE มันไม่มีบริษัทนี้ได้ไหมก็เป็นโจทย์ที่หนึ่งเลย โจทย์ที่สองคือจะทำอะไรที่สามารถเอาความสุข ความสนใจ และแพสชั่นของเราเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ก็คือเรื่องเทคโนโลยีนั่นเอง 

“ภาพที่เห็นมันชัดมากตั้งแต่ day 1 คือเราอยากเป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรที่ไม่ได้ทำมาเพื่อขายอย่างเดียวแต่อยากผลักดันให้ GDP ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% แล้วเร่งสปีดอะไร เร่งสปีดนวัตกรรม เพราะว่าเราเชื่อว่าประเทศไทยจะโตไปได้มากกว่านี้ถ้ามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยคนที่เราคิดว่าสามารถช่วยได้และมีอิมแพกต์มากที่สุดก็คือองค์กร ถ้าถามว่าแล้วเราไม่ได้ช่วยสตาร์ทอัพเหรอ ดูเหมือนว่าเราชอบสตาร์ทอัพและทำสตาร์ทอัพมาตลอด จริงๆ แล้วเราช่วยองค์กรเพื่อไปช่วยสตาร์ทอัพอีกทีนึง แต่องค์กรสองแบบนี้เวลาเขาช่วยกันแล้ว ประโยชน์จะเกิดกับประเทศนะ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่องค์กรใหญ่ขึ้น มันจะเชื่องช้าลง มีการเมืองมากขึ้นแล้วก็ไม่ค่อยมีเทคโนโลยี สำหรับบริษัทใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่ชั้นสูงจริงๆ ในขณะเดียวกันสตาร์ทอัพก็เป็นองค์กรเล็กที่รวดเร็วและมีเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ไม่มีอย่างเดียวเลยคือฐานลูกค้า ถ้าองค์กรสองแบบนี้มาเจอกันและทำงานร่วมกันก็จะเป็นประโยชน์มากๆ

“เราก็เลยเชื่อเรื่อง collaboration not disruption คือไม่เชื่อว่าบริษัทมองว่าสตาร์ทอัพจะมาดิสรัปต์ แต่การร่วมมือกันจะทำให้องค์กรทั้งสองแบบสามารถสร้างจุดแข็งได้ คิดมาแบบนี้ตั้งแต่แรกและกลายเป็น principle ที่ชัดมากๆ ว่าเราจะสร้างอิมแพกต์จากการทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพกับองค์กร เราจะทำยังไงให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ลดรายจ่าย เพิ่มกำไรให้ทั้งสตาร์ทอัพและองค์กรไปพร้อมๆ กันได้ 

“ถ้าถามว่า RISE ทำอะไร เราจะมีคำตอบเดียวเลยคือ RISE เท่ากับ New S-Curve แปลว่าเราเป็นคนที่ทำหน้าที่เข้าไปสร้าง S-Curve ให้กับองค์กร ไม่ว่าองค์กรเหล่านั้นจะเป็นใครหรือทำอะไร ถ้าบริษัทต้องการทำเรื่องเดิมให้ดีขึ้น เราอาจจะไม่เหมาะ แต่ถ้าอยากทำเรื่องใหม่ รายได้ใหม่ ธุรกิจใหม่ หรืออะไรก็ตามที่ไม่เคยทำ เราจะเข้าไปตอบโจทย์เรื่องนี้ ในการสร้าง S-Curve เราตอบโจทย์ผ่านสองวิธี วิธีแรกคือ outside-in เอาข้างนอกเข้ามาข้างใน เราต้องยอมรับก่อนว่าบริษัทใหญ่อาจไม่มีเทคโนโลยีแต่มีวิสัยทัศน์ สมมติเรารู้ว่าต่อไปบริษัท A จะไม่ทำน้ำมันแล้วแต่จะไปทำ EV เรารู้ว่าองค์กรของเขาในอีก 5 ปีข้างหน้ามีกลยุทธ์ที่อยากทำเรื่องนี้อยู่แต่ทำไม่เป็นนะ อยากให้ RISE เข้ามาช่วยหาสตาร์ทอัพที่ทำเรื่องนี้ร่วมกับเขาหน่อย ดั้งนั้นที่เราบอกว่าเร่งสปีดคือทางลัดที่เราจับเขาทั้งสองมาทำงานร่วมกัน วิธีที่สองกลับกันบ้างคือ inside-out หรือเอาข้างในไปข้างนอก ก็คือช่วยให้บริษัทสร้างธุรกิจจากภายในโดยใช้คนของเขาเอง เช่น บริษัทที่ชอบมีบริษัทลูกเต็มเลยอย่าง SCB ก็มี SCBX และ Robinhood ถ้าบริษัทไหนอยากสร้างบริษัทลูกขึ้นมาโดยทำสตาร์ทอัพในองค์กรของเขาเอง เราก็ไปช่วยทำ  

“ผมไม่ได้มองบริษัทตัวเองว่าเป็น consult แล้วก็ไม่ได้มองว่าเป็น investor ด้วยแต่มองว่าเราคือ innovation ecosystem builder ที่เลือกนวัตกรรมเข้ามาในประเทศไทยแล้วปลุกปั้นเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ก็มีคนเคยบอกว่าเราเป็นเหมือนกระทรวงนวัตกรรมแห่งชาติ เพราะเราทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

“เราทำตั้งแต่ปั้นธุรกิจจนถึงทำหลักสูตรเทรนนิ่งแต่ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นบริษัทเทรนนิ่ง เราไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว ให้ทำการบ้านแล้วได้ประกาศณียบัตร วิธีการสอนของเราในทุกหลักสูตรจะเรียกว่า experiential learning ที่ไม่ใช่แค่ฟังเลกเชอร์ จะสอนหลักการแค่ 5 นาทีและอีก 55 นาที ให้ไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญหรือลองทำจริงๆ แล้วกลับมาคุยกัน พอเรียนจบแล้วต้องปั้นบริษัทได้ เราสอนแบบนี้เพราะว่าตัวเราเองก็เรียนรู้ผ่านการลงมือทำมาก่อนเหมือนกัน ตั้งแต่ก่อตั้งมา เราเทรนนิ่ง CEO, executive และกรรมการบริษัทไปประมาณ 20,000 คนแล้ว จนเรามั่นใจว่าใน 20,000 คนนี้สามารถตั้งบริษัทและโปรเจกต์รวมมากกว่า 200 โปรเจกต์ เราก็เลยรู้ว่าวิธีนี้ที่ทำซ้ำได้มันน่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าสำเร็จ 

แล้ววิธีคิดแบบไหนที่ทำให้ช่วยทรานส์ฟอร์มองค์กรต่างๆ ได้สำเร็จ มันเริ่มจากทรานส์ฟอร์มมายด์เซตก่อนเพราะบางทีถ้าผู้บริหารไม่เอาด้วยก็ทำไม่ได้เลย ส่วนน้องๆ ที่เป็น manager หรือ director บางทีเขาอยากทรานส์ฟอร์มใจจะขาดแล้วแต่ขาด skillset และ toolset เพราะฉะนั้นเราเป็นคนที่ให้ทั้ง mindset, skillset, toolset ในทุกระดับ พอทุกคนเรียนแล้วกลับไปในองค์กรก็กลับไปคุยภาษาเดียวกัน 

“อย่างการเปลี่ยนมายด์เซตเพื่อพร้อมทรานส์ฟอร์ม เราคิดว่ากับพี่ๆ ผู้ใหญ่ที่เป็นบอร์ดบริหารหรือเป็น CEO ขององค์กรใหญ่ เราไปสอนอะไรเขาไม่ได้หรอก เราใช้วิธีพาเขาไปดู สิ่งที่เราทำคือเราน่าจะเป็นองค์กรเดียวในไทยที่ร่วมมือกับรัฐบาลที่อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อิสราเอล เราไปหาบริษัทที่เป็นฮับของโลกในเรื่องนวัตกรรมได้หมดเลย แล้วไปทำอะไร พาไปดูสตาร์ทอัพตั้งแต่อยู่ใน garage เขาสร้างธุรกิจกันยังไงในช่วงก่อน IPO ไปจนถึงหลัง IPO ไปดู venture capital ที่นู่นว่าลงทุนยังไง ไปดูศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพว่าเขาทำกันยังไง ไปคุยกับคนในองค์กรหรือคนในภาครัฐว่าทำงานกันยังไง เราพาเขาไปดูแล้วก็ไกด์ให้คิด ถามคำถามยากๆ ว่าเวลาเขากลับไปองค์กรตัวเองจะเปลี่ยนอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะเริ่มคิดว่าเปลี่ยนดีไหม ถ้าพูดเผินๆ เหมือนเราทำทัวร์พาไปเที่ยว แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่แต่ละบริษัทได้กลับไปมันแฮปปี้และคุ้มค่ามาก”  

Managing Partner
SeaX Ventures   

“ในปี 2018 ที่ก่อตั้ง RISE แล้ว ผมขออนุญาต Co-founder ทุกคนไปเรียนที่ Stanford Business School มีที่ไหน CEO จะลาไปเรียนหนังสือตอนที่บริษัทกำลังทำอยู่ แต่ผมมีโจทย์สามเรื่องที่ผมจะไป หนึ่งคือไปแล้วต้องกลับมาตั้ง venture capital (ธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง) คือ SeaX Ventures ให้สำเร็จให้ได้ นี่คือวิธีคิดที่ไม่เสี่ยงเพราะเราไป with the end goal in mind มันเลยคุ้มตั้งแต่ก่อนไปเรียน สอง ผมตั้งใจว่าจะเอา RISE ไปเซ็นสัญญากับ Stanford Business School เราเลยเป็นองค์กรเดียวในไทยที่เซ็นพาร์ตเนอร์กับ Stanford Business School เพราะการไปเรียนก็ช่วยให้เขาพิจารณาได้ง่ายขึ้น สาม ผมอยากไปเป็น TA (teaching assistant) หรือผู้ช่วยอาจารย์ที่ d.school (โรงเรียนสอน design thinking ที่สแตนฟอร์ด) เรียนเสร็จปุ๊บ ก็ลองวิชาด้วยการสอนเลย พอกลับมามันก็มีอิมแพกต์ได้ขยายและต่อยอดบริษัทหลังจากที่กลับมา และพอมีเป้าหมายตั้งแต่แรก พาร์ตเนอร์ทุกคนเลยบอกว่าไปได้ การเรียนที่สแตนฟอร์ดก็เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่เราตั้งใจทำ เพราะ motto ของเขาเหมือนกับสิ่งที่เราอยากทำคือ “Change lives. Change organizations. Change the world.” 

ปกติแล้วในการลงทุนเราย่อมอยากได้ตังค์แน่นอนแต่เราไม่ได้เป็นกองทุนที่ตั้งมาเพื่ออยากได้เงินเยอะๆ เป้าหมายของเราคือทำยังไงที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่ในประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงและเอาเทคโนโลยีกลับมาพัฒนาประเทศไทย  

“สิ่งที่ผมตั้งใจทำคือการเพิ่ม 1% GDP ซึ่งไม่ได้อยากทำแค่ในไทย แค่เริ่มต้นที่ไทยด้วย RISE แต่อยากทำทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อ SeaX ก็เลยมีที่มาว่า SEA หมายถึง Southeast Asia ส่วน X คือ exponential technology เทคโนโลยีที่โตก้าวกระโดดและประเทศไทยทำเองไม่ได้ 

“ความตั้งใจคืออยากบอกต่างประเทศได้ว่าเราเห็นสตาร์ทอัพของคุณที่อเมริกาดีมาก คุณสนใจลงทุนในไทยไหม ในเมืองไทยมีคนเก่งๆ เป็นเจ้าตลาดเยอะเลยนะ ทำไมไม่ร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนสิ่งที่ทำที่ RISE แต่มีข้อได้เปรียบในการลงทุนดีกว่านั้นนิดนึง คือถ้าสมมติเราแค่ชวนมาร่วมงานกันมันก็อาจจะเป็นแค่การชวนกัน แต่พอเราเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเขาแล้ว เวลาเราชวนมาทำงานร่วมกัน มันจะมีน้ำหนัก 

“เราเลยตัดสินใจว่าเราจะตั้งกองทุนที่อเมริกาโดยระดมเงินทุนจากคนไทยในองค์กรไทยนี่แหละ สิ่งที่ SeaX Ventures ไม่สนใจลงทุนก็คือ e-Commerce, มาร์เก็ตเพลส, แอพฯ แม่บ้าน, แอพฯ หาคู่  ไม่ใช่เขาไม่ดีนะ สตาร์ทอัพพวกนี้ดีหมดและทุกคนต้องใช้แต่เราสนใจสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ไม่ใช่แค่สร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาแต่อะไรก็ตามที่ต้องใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ใช้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมาพวก biotech & life science, agritech, foodtech, energytech, blockchain, artificial intelligence, robotics, IoT & hardware ซึ่งประเทศไทยยังขาดเรื่องนี้ 

“แล้วเลือกลงทุนยังไงให้ไม่พลาด ตัวผมเองจะมีเกณฑ์อยู่ 3 เรื่องด้วยกันที่พบว่าเมื่อใช้เกณฑ์นี้ในการเลือกลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพแล้วเวิร์ก เรื่องแรกคือผู้ก่อตั้งต้องเป็น world class founder แปลว่าเราต้องมั่นใจว่าเขาเป็นคนที่เจ๋งที่สุดที่จะทำเรื่องนี้ในโลก เช่น เราไปลงทุนในบริษัทที่ทำเรื่อง autonomous store แบบ Amazon Go แต่มีเจ้าที่ทำได้เจ๋งกว่า Amazon Go 20 เท่า ซึ่งทีมผู้ก่อตั้งของเขามีทั้งคนทำงานที่ Apple, คนที่ทำ Google Glass และคนที่แข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิก เราก็เลยมั่นใจว่าแบบนี้คือ world class founder ที่เจ๋งจริง 

“ข้อสองคือ เรื่องของ 10x growth สิ่งที่เราสนใจคือมันดีกว่าเดิม ถูกกว่าเดิม ไวกว่าเดิมสิบเท่าหรือเปล่า อย่างตัวนี้ที่เราลงทุน ต้นทุนถูกกว่า Amazon Go 20 เท่าซึ่งเขาใช้ระบบกล้องน้อยกว่าแต่เขียนโค้ดได้แม่นกว่าเลยทำให้ออกมาได้ประสิทธิภาพเหมือนกัน  

“สุดท้ายข้อที่สามคือแล้วประเทศไทยได้อะไร คือเราต้องดูแล้วว่าเทคโนโลยีนี้ ประเทศไทยยังไม่เคยมีใครทำได้เลยแบบนี้ น่าจะมีประโยชน์กับประเทศและบริษัทที่มาลงทุนกับเรา เราก็จะตัดสินใจลงทุน อันนี้ก็จะเป็นเกณฑ์สามข้อ

“ปีนี้ก็เป็นปีที่ทุกภาคส่วนของบริษัท RISE โตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด วันนี้เราเป็น venture capital เบอร์หนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและบริหารเงินทุนเยอะที่สุดคือ 2,000 กว่าล้านบาท ถ้าความเป็นจริงก็คือเงินลงทุนมาจากลูกค้า RISE ที่เขาไว้ใจเราอยู่แล้วอย่าง ปตท., สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ฯลฯ เราก็เป็นตัวกลางกับพี่ๆ ผู้บริหาร รวมแล้วประมาณ 14-15 แห่ง 

“พอเราสร้าง ecosystem อย่างที่เล่า เวลาเราให้ประโยชน์คนอื่น เขาก็จะให้ประโยชน์เรากลับมา ที่ RISE เรามีลูกค้าอยู่ตั้ง 500 บริษัท เวลาเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพเราก็คิดว่า ในลูกค้าของเราทั้งหมด จะไม่มีใครเลยเหรอที่เป็นอุตสาหกรรมเดียวกันกับสตาร์ทอัพที่เรากำลังจะไปลงทุน มันต้องมีแน่นอน ถ้าลูกค้าทุกเจ้าบอกว่าสตาร์ทอัพนี้น่าสนใจ เราก็จะลงทุน แต่ถ้ามี 3 บริษัทเตือนมาก็อาจจะไม่ลง นี่ก็เลยเป็นตัวอย่างของการใช้คอมมิวนิตี้มาช่วยลดความเสี่ยง การลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดูเหมือนเสี่ยงมาก เราก็สามารถทำให้มันไม่เสี่ยงได้โดยมีบริษัทต่างๆ มาซัพพอร์ตเราทั้งๆ ที่คนอื่นยังมองว่าเสี่ยงอยู่ 

“อนาคตคิดว่าในการสร้าง ecosystem ยังคงต้องทำรากแก้วเหล่านี้อย่างต่อเนื่องให้แข็งแรง ทุกอย่างที่เราทำที่ RISE ใช้เวลาประมาณ 6 ปี แต่ซิลิคอนแวลลีย์ใช้เวลา 40 ปี กว่าที่จะมีวันนี้ เพราะฉะนั้น 6 ปี ของเราก็เหมือนเพิ่งเริ่มแค่ ป.1 เราก็ต้องใช้เวลา เลยรู้สึกว่าเราไม่ได้อยากทำอะไรไปมากกว่านี้ แต่จะทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีมากๆ จนคนบอกว่าเราทำสิ่งนี้ได้ดีที่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย”

แม้การลงทุนและการทำธุรกิจจะดูเป็นเรื่องที่คิดถึงแต่ตัวเลข การเติบโตและกำไร แต่สิ่งที่หมอคิดได้เรียนรู้และลงมือทำให้เห็นจริงคือ ‘การให้’ ที่แม้จะมีรูปแบบแตกต่างกันออกไประหว่างตอนเป็นแพทย์กับตอนทำธุรกิจและเป็นนักลงทุน แต่แก่นสำคัญยังคงเหมือนเดิมคือการคิดว่าจะใช้สิ่งที่ถนัดมาช่วยผู้อื่นได้อย่างไรโดยคิดใหญ่และมองไกลในสเกลที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ   

“ตอนเป็นหมอพอเห็นคุณลุงคุณป้าอายุ 60 ปีเดินมาบอกว่าเขาหายแล้ว ขอบคุณคุณหมอที่รักษาเขาได้ดีมากๆ เราก็รู้สึกดีต่อใจ หรือเวลาที่ได้อยู่กับเด็กๆ ที่ไม่สบาย พอคิดว่าช่วยเขาได้ก็รู้สึกดีต่อใจเลยเลือกเป็นหมอในตอนนั้น ส่วนตอนทำธุรกิจผมเชื่อว่าถ้าเรายังสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับผู้คนได้ เราก็ยังโตได้ เพราะสุดท้ายแล้วเงินที่ลูกค้าจ่ายให้เรา เขาไม่ได้จ่ายซื้อสินค้าบริการของเราแต่เขาจ่ายมาเพื่อตอบแทนคุณค่าที่เราส่งมอบให้เขา”

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like