a ‘Yes’ for Traditional Crafts fit Modern Life

​​​​SOU・SOU ไลฟ์สไตล์แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น ส่วนผสมของงานคราฟต์ดั้งเดิมและลายพิมพ์โมเดิร์น​​​​

เมื่อเอ่ยถึงงานคราฟต์แบบดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการสืบทอดกิจการด้านงานฝีมือที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นแล้ว คุณนึกถึงประเทศอะไรกัน?

‘ญี่ปุ่น’ อาจเป็นคำตอบที่ปิ๊งขึ้นมาในแวบแรกเลยหรือเปล่า?

หลายครั้ง คนไทยโดยส่วนใหญ่ต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เพราะด้วยความชื่นชอบในสถานที่ท่องเที่ยว เมนูอาหารสไตล์ญี่ปุ่นที่น่าค้นหาและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ตึกรามบ้านช่องที่สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบน่าอยู่ แฟชั่นการแต่งตัว หรือแม้แต่ความน่าสนใจของงานฝีมือและวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่ก็ทำให้เราอยากออกไปสัมผัสหรือเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยว-ชาวต่างชาติอย่างเราๆ กันหรือเปล่านะ? 

แล้ววัฒนธรรมและงานคราฟต์ดั้งเดิมที่ว่ามานี้ คนญี่ปุ่นสมัยใหม่เขายังสนใจกันอยู่หรือไม่?

Biztory ในวันนี้ เราอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโซ่ ・โซ่ (SOU・SOU) แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่น ที่ตั้งใจนำเสนอวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ผ่านการออกแบบลายพิมพ์บนผืนผ้าและสิ่งทอ โดยแพตเทิร์นออริจินัลของผ้าเหล่านี้ จะถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์หลากหลายหมวดหมู่ พร้อมให้ผู้คนได้สวมใส่และหยิบใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร้รอยต่อ

รองเท้าทาบิจับคู่กับถุงเท้า เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าเด็ก สปอร์ตแวร์ กระเป๋า ของใช้ในบ้าน แคนวาสผ้าแพตเทิร์นต่างๆ รวมไปถึงเซตขนมหวานญี่ปุ่นดั้งเดิม (Wagashi) กับชา ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหน้าร้านและสินค้าที่แบรนด์ SOU・SOU วางขายเท่านั้น 

จริงๆ แล้ว SOU・SOU แบรนด์แฟชั่นที่โดดเด่นในด้านของการออกแบบลายพิมพ์นี้มีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากดีไซน์เฮาส์สัญชาติฟินแลนด์ เจ้าของลายดอกอูนิกโกะ (Unikko) หรือดอกป๊อปปี้ที่หลายๆ คนรู้จักกันดีอย่างแบรนด์ ‘มารีเมกโกะ’ (Marimekko) โดยหนึ่งในเจ้าของผู้ก่อตั้ง SOU・SOU หรือ คัตซึจิ วากิซากะ (Katsuji Wakisaka) นั้น ถือได้ว่าเป็นดีไซเนอร์ญี่ปุ่นคนแรกที่เคยได้ร่วมทำงานกับมารีเมกโกะ ก่อนจะนำจุดเด่นและไอเดียของการออกแบบแพตเทิร์นที่มีสีสันสดใส ลายพิมพ์ที่ชัดเจน มาปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม อาทิ การนำลวดลายของชุดกิโมโน-ชุดยูกาตะ กลับมาใช้ในสินค้ายุคใหม่ สลับไปกับการดีไซน์ลวดลายใหม่ๆ ที่มีความเป็นสากลขึ้นอย่าง ลายตัวเลข ‘โซซึยุ’ (SO-SU-U) ซิกเนเจอร์ของแบรนด์มาใช้กับทั้งชุดกิโมโน-ชุดยูกาตะ และรองเท้าทาบิ เป็นต้น 

เช่นนั้นแล้ว ตัวแบรนด์ SOU・SOU จึงยังสามารถเข้าถึงผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติได้อย่างเรื่อยมา 

1. แรงบันดาลใจจากการเป็นดีไซเนอร์ ผู้สร้างลายพิมพ์ในบ้าน Marimekko สู่การรักษางานคราฟต์ดั้งเดิมของญี่ปุ่นในแบรนด์ SOU・SOU

ย้อนกลับไปในปี 1968 คัตซึจิ วากิซากะ ในวัยเพียง 24 ปีได้เริ่มเข้าทำงานกับมารีเมกโกะ ในฐานะดีไซเนอร์ ผู้สร้างลายพิมพ์ (printed pattern) ให้กับไลฟ์สไตล์-ดีไซน์เฮาส์แห่งนี้ 

ด้วยลวดลายของลายพิมพ์ที่ดูเป็นอิสระและมีความขี้เล่น การจัดองค์ประกอบของแพตเทิร์นที่สมบูรณ์แบบ ตลอดจนการเลือกใช้พาเลตต์สีได้อย่างมีชีวิตชีวาในผลงานของวากิซากะนั้น จึงทำให้ในปี 1975 ผลงานดีไซน์ลายพิมพ์ในชื่ออย่าง ‘Bo Boo’ ลายเส้นรูปรถประเภทต่างๆ ที่แฝงไปด้วยความร่าเริงและสนุกสนานนี้เอง ที่ทำให้วากิซากะนั้นโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา จากการหยิบเอาลายพิมพ์นี้ไปผลิตเป็นสินค้าหลากหลายหมวดหมู่ภายใต้แบรนด์มารีเมกโกะ ไม่ว่าจะเป็นผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู กระเป๋า และข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร 

ไม่ใช่แค่ลายพิมพ์ ‘Bo Boo’ จากปี 1975 เท่านั้น ที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับวากิซากะ แต่เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่ติดตามมารีเมกโกะอยู่ในช่วงปีนี้ก็คงจะต้องคุ้นตาและรู้จักลายพิมพ์ยอดนิยมจากคลังลายพิมพ์คลาสสิก (archieve) อย่าง ‘Rulla’ อีกหนึ่งผลงานการดีไซน์ของวากิซากะในปี 1981 หรือลายพิมพ์ที่ประกอบไปด้วยลายเส้นรูปสัตว์ต่างๆ อาทิ ยีราฟ อูฐ ช้าง ไก่ เต่าฯ สวมใส่รองเท้าสเก็ตเป็นแน่ เพราะในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมามารีเมกโกะก็ได้เลือกหยิบคาแร็กเตอร์รูปกระต่ายจากลายพิมพ์ Rulla นี้มาใช้กับแคปซูลคอลเลกชั่นประจำเทศกาลตรุษจีนอย่าง ‘Lunar New Year Limited Collection’ สำหรับปีนักษัตรเถาะ ออกมาให้เก็บสะสม ทั้งในหมวดหมู่เสื้อผ้า (ready-to-wear) สินค้าแอ็กเซสซอรีในคอลเลกชั่นสตรีทแวร์ (kioski) และชุดเซรามิกบนโต๊ะอาหารอีกด้วย

นับว่าเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี (1968-1976 และ 2001) ที่วากิซากะได้ทำงานอยู่ภายใต้ดีไซน์เฮาส์สัญชาติฟินแลนด์อย่างมารีเมกโกะ ทั้งยังได้ฝากผลงานการดีไซน์ลายพิมพ์รวมกว่า 13 ลายไว้ในคลังลายพิมพ์คลาสสิกของแบรนด์เป็นที่เรียบร้อย

ก่อนในปี 2002 เองเขาจะตัดสินใจบินกลับไปยังบ้านเกิดของตนเองในประเทศญี่ปุ่น อย่างจังหวัดเกียวโต พร้อมๆ ไปกับไอเดียของการริเริ่มสร้างแบรนด์อย่าง SOU・SOU ร่วมด้วยพาร์ตเนอร์อีกสองคนอย่างทาเคชิ วาคาบายาชิ (Takeshi Wakabayashi) ผู้ซึ่งเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และแฟชั่นดีไซเนอร์ กับฮิซาโนบุ ซึจิมูระ (Hisanobu Tsujimura) ผู้ซึ่งเป็นสถาปนิก มาในคอนเซปต์ตั้งต้นของแบรนด์ ที่พวกเขาเองตั้งใจอยากจะรักษางานคราฟต์ดั้งเดิมของญี่ปุ่นไว้ให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคสมัยใหม่อีกด้วย

2. จากคำพูดติดปากของคนญี่ปุ่นอย่าง ‘ใช่ ใช่’ สู่ชื่อแบรนด์ SOU・SOU

จากคอนเซปต์ของแบรนด์ที่อยากให้งานคราฟต์ดั้งเดิมนั้นเฉิดฉายอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้เสมอ นอกจากสินค้าของแบรนด์ที่จำจะต้องเข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์กับการใช้งาน ชื่อเรียกแบรนด์อย่าง SOU・SOU จึงมีที่มาจากคำพูดในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นอย่างคำว่า ‘โซ่ โซ่’ (そうそう) เขียนด้วยตัวอักษรฮิรางานะ (Hiragana) แปลว่า ‘ใช่ ใช่’ เปรียบเสมือนคำพูดติดปากที่ใช้แสดงความเห็นของคนญี่ปุ่นเมื่อรู้สึกเห็นพ้องต้องใจกันอีกด้วย 

หลังจากที่ตั้งชื่อแบรนด์อย่าง SOU・SOU ได้สำเร็จแล้ว ก็ถึงตาของการครีเอตชื่อแบรนด์ในรูปแบบตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องอ่านง่ายสำหรับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ทั้งยังเป็นเรื่องปกติของชื่อเรียกภาษาญี่ปุ่นที่จะใช้ตัวอักษรคาตาคานะ (Katakana) สำหรับการตั้งชื่อเล่น ชื่อเรียก ชื่อร้าน หรือชื่อแบรนด์ อย่าง SOU・SOU ที่จะออกมาเป็น  ソウソウ นั่นเอง

เช่นนั้นแล้ว SOU・SOU (ソウソウ) จึงไม่เพียงแค่ออกเสียงง่าย อ่านง่าย แต่การตั้งชื่อแบรนด์ในครั้งนี้ วากิซากะยังคิดไปถึงในแง่ของการโฆษณาแบรนด์อีกด้วยว่า เมื่อใดที่ผู้คนต่างก็พูดคำนี้ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่หวนนึกถึงแบรนด์ของเราอย่างแน่นอน

3. สินค้าแรกของ SOU・SOU คือรองเท้าจิกะ-ทาบิ (Jika-Tabi) 

แม้จะได้ชื่อแบรนด์อย่าง SOU・SOU แต่วากิซากะ วาคาบายาชิ และซึจิมูระนั้น ก็ไม่ได้คิดที่จะเปิดหน้าร้านในนามของแบรนด์เลยทันที พวกเขาเพียงแต่คิดว่า สิ่งที่พวกเขาควรจะเริ่มมีก่อนคือ ‘สินค้า’ ซึ่งจะนำพาให้ผู้คนได้มารู้จักกับ SOU・SOU 

แล้วสินค้าอะไรกันล่ะ ที่จะสามารถนำเสนอคอนเซปต์ของแบรนด์ อย่างการรักษางานคราฟต์ดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคสมัยใหม่?

คำตอบก็คือ รองเท้าจิกะ-ทาบิ (Jika-Tabi) หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อเรียกสั้นๆ อย่างรองเท้าทาบิยังไงล่ะ

เพราะรองเท้าจิกะ-ทาบิ (地下足袋) เคยถูกกล่าวขานเอาไว้ว่าเป็นรองเท้าของนินจา ซึ่งมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ยุคซามูไรญี่ปุ่น หรือในช่วงราวๆ ศตวรรษที่ 10 ก่อนในยุคสมัยต่อมา การสวมใส่รองเท้าแบบ Split-Toe นั้น จะยังช่วยในเรื่องของการทรงตัวที่ดีจากทรงของรองเท้าที่แบนราบ และเพื่อให้ผู้สวมใส่นั้นได้สัมผัสที่คล้ายกับการเหยียบพื้นดินลงไปเลย โดยรองเท้าจิกะ-ทาบิยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยเหล่าเกษตรกร-กลุ่มแรงงาน ทุกยุคทุกสมัยของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่า ‘รองเท้าทาบิ’ (足袋) นั้นเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ทาง SOU・SOU เล็งเห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถพัฒนารองเท้าจิกะ-ทาบิให้เข้าถึงผู้คนในทุกกลุ่มอาชีพได้เช่นกัน

ท้ายที่สุด ในเดือนมีนาคมของปี 2003 วากิซากะ วาคาบายาชิ และซึจิมูระ จึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านในโตเกียวสำหรับขายรองเท้าจิกะ-ทาบิ โดยเริ่มต้นจากการผลิตรองเท้าทาบิกว่า 2,300 คู่ในครั้งแรก ทั้งยังเป็นการทำงานร่วมกับโรงงานผลิตรองเท้าจิกะ-ทาบิอย่าง ‘ทาคาซาโกะ ซังเงียว’ (Takasago Sangyo) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1969 หนึ่งในโรงงานผลิตรองเท้า ที่ยังคงผลิตรองเท้าทาบิ ทั้งในรูปแบบออริจินอลและแบบคอสตอมให้กับนักกีฬาเบสบอล รวมถึงชาวประมงอีกด้วย 

เป็นที่แน่นอนว่าการร่วมงานกันระหว่างทาคาซาโกะ ซังเงียว ที่ผลิตรองเท้าในแบบฉบับดั้งเดิมมาโดยตลอด และแบรนด์ร่วมสมัยอย่าง SOU・SOU นั้นจำจะต้องพบเจออุปสรรคในการพัฒนารองเท้าจิกะ-ทาบิอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ทั้งคู่ก็ได้ร่วมพัฒนารองเท้าทาบิเหล่านี้ ให้ออกมาเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของ SOU・SOU ได้จนสำเร็จ กลายมาเป็นรองเท้าจิกะ-ทาบิที่เลือกใช้เนื้อผ้ารองเท้าดั้งเดิมของทางโรงงาน ผสมผสานไปกับลายพิมพ์ของ SOU・SOU  ทั้งยังมีการคิดค้นพื้นรองเท้า (sole) ให้หนาขึ้นจากเดิม เพื่อช่วยซัพพอร์ตเท้าของผู้สวมใส่เข้าไปด้วย

หลังจากการวางขายรองเท้าทาบิได้เพียง 7 เดือน SOU・SOU ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกจากคนญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม จนสามารถจัดนิทรรศการแรกของแบรนด์ภายใต้ชื่อ ‘Tokyo -> New York -> Kyoto’ ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันขึ้นมาได้ ก่อนในปี 2004 ก็ยังสามารถขยายสาขาหน้าร้านขายรองเท้าทาบิไปได้กว่า 2 สาขาใน 2 เมือง อย่างสาขาแรกของจังหวัดเกียวโต และสาขาที่ 2 ของเมืองหลวงอย่างโตเกียว หรือในเมืองอาโอยามะ (Aoyama) นั่นเอง

นับตั้งแต่ปี 2003 ต่อเนื่องมาจนถึงขวบปีที่ 20 ของ SOU・SOU สินค้าอย่างรองเท้าทาบิก็ยังคงเป็นซิกเนเจอร์ของทางแบรนด์ โดยในปัจจุบันรองเท้าทาบินั้นยังถูกผลิตออกมาในหลากรูปลักษณ์-รูปทรง เสมือนสนีกเกอร์ ที่ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละรุ่น ทั้งยังมาพร้อมกับถุงเท้าแบบ split-toe มากมายหลายลายพิมพ์ (หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า Tabi-Shita: 足袋下) ชวนให้เราได้สนุกไปกับการแมตช์สีสัน ก่อนจะนำไปใส่คู่กับรองเท้าทาบิคู่โปรด รวมถึงยังมีแผ่นรองรองเท้า (insole) ผลิตจากต่างวัสดุและสัมผัส ให้ได้ add-on ตามความชอบใจของแต่ละคนด้วยนะ

4. เมื่อโรงงานผลิตผ้าในประเทศหลงเหลือน้อยลงทุกวัน การเปิดหน้าร้านในหมวดหมู่ใหม่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการช่วยสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่ SOU・SOU เริ่มจำหน่ายรองเท้าทาบิ สินค้าแรกของแบรนด์จนประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในสังคมญี่ปุ่น โดยความสำเร็จนี้ถือเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ SOU・SOU เท่านั้น เพราะในปี 2005 นี่แหละที่ SOU・SOU ได้ตัดสินใจเปิดตัวหมวดหมู่สินค้าใหม่ พร้อมกับการรีโนเวตร้านขายรองเท้าทาบิในสาขาเกียวโต ให้กลายมาเป็น ‘SOU・SOU Ise Momen’ (伊勢 木綿) หน้าร้านที่ขายสินค้าอย่างผ้าเช็ดมือกับผ้าพันคอพิมพ์ลายตามแบบฉบับของ SOU・SOU ก่อนจะตามมาด้วยหน้าร้านขายเสื้อผ้า และหน้าร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้านในคราเดียวกัน

จริงอยู่ที่ว่าความน่าสนใจของ SOU・SOU นั้นคือดีไซน์ของลายพิมพ์ต่างๆ ที่แฝงลายเซ็นของวากิซากะเอาไว้บนแคนวาสผ้า แต่รู้ไหมว่า แคนวาสผ้าเหล่านี้ วาคาบายาชิ ผู้ซึ่งเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และแฟชั่นดีไซเนอร์ของแบรนด์ยังมีความตั้งใจที่จะช่วยสนับสนุนโรงงานผลิตผ้าคอตตอนอันเก่าแก่อย่าง ‘อิเสะคอตตอน’ (Ise ‘Momen’ Cotton) ที่ ณ ตอนนั้น เหลือเพียงแค่โรงงานผลิตเดียวในประเทศญี่ปุ่น มีชื่อว่า ‘Usui Fabric Company’ ในเมืองอิเสะ จังหวัดมิเอะ (Ise, Mie Prefecture) ด้วยเหตุผลที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้หันไปสนใจเส้นใยสังเคราะห์ ประกอบกับเทรนด์ของการสวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตกที่มาแรงหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ปัจจุบัน อิเสะคอตตอนยังถือเป็นหนึ่งในงานคราฟต์ดั้งเดิมของจังหวัดมิเอะ เพราะด้วยความเป็นกิจการที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคมูโรมาจิ (Muromachi) ในศตวรรษที่ 14 กรรมวิธีในการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ การใช้เครื่องทอผ้าแบบดั้งเดิม ตลอดจนเนื้อสัมผัสของผ้าที่จะนุ่มมากขึ้นหลังจากผ่านการใช้งาน และการซักในทุกๆ ครั้งอีกด้วย

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ภายใน 3 ปีถัดมา หรือในปี 2008 SOU・SOU ก็ได้ขยับขยายความสำเร็จไปอีกขั้น ด้วยการร่วมงานกับแบรนด์อุปกรณ์กีฬาและสปอร์ตแวร์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง ‘เลอ ค็อก สปอร์ทิฟ’ (le coq sportif) ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับการแข่งขันจักรยาน ‘ตูร์ เดอ ฟรองซ์’ (Tour de France) ก่อนจะเปิดหน้าร้านในสาขาเกียวโต ไปด้วยชื่อร้าน ‘SOU・SOU x le coq sportif’ ที่วางขายเสื้อผ้าสำหรับปั่นจักรยานกับชุดลำลองสำหรับสวมใส่ได้ในทุกวัน และถึงแม้จะเป็นการคอลแล็บระหว่าง 2 สัญชาติ แต่แน่นอนว่าเนื้อผ้าที่ SOU・SOU เลือกใช้ก็ยังคงเป็นผ้าที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเช่นเคย

ด้วยความตั้งใจอยากจะสนับสนุนโรงงานผลิตเนื้อผ้าชนิดต่างๆ ในประเทศของวาคาบายาชิที่ไม่อาจหยุดนิ่ง เป็นผลให้ SOU・SOU เปิดหน้าร้านขายสินค้าที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นอีกในปี 2009 และ 2010 ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง ‘SOU・SOU Kikoromo’ (着衣) หน้าร้านขายเสื้อผ้าผู้ชาย ‘SOU・SOU Kei-i’ (傾衣) และหน้าร้านขายเสื้อผ้าเด็ก ‘SOU・SOU Warabegi’ (わらべぎ) ทั้งยังมีหน้าร้านขายของใช้ในบ้านที่รวมเอาคอสตอมเมดเฟอร์นิเจอร์ และคาเฟ่กาแฟ-ชา-วากาชิมาไว้ด้วยกัน อย่าง ‘SOU・SOU Shitsurai’ (しつらい) เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ณ ตอนนี้ ไม่ใช่เพียงแค่อิเสะคอตตอนจากจังหวัดมิเอะเท่านั้นที่ SOU・SOU ได้นำมาใช้สำหรับการผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ แต่ยังมีเนื้อผ้าอย่างผ้าทอเนื้อหยาบ ‘ทาคาชิมะ จิจิมิ’ (Takashima Chijimi) ผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคเอโดะ ให้สัมผัสเบาบาง ดูดซับน้ำได้ดี และแห้งไวจากจังหวัดชิกะ (Shiga Prefecture) ผ้าทอย้อมสีคราม พร้อมลวดลายสีขาว ‘คุรุเมะ คาซูริ’ (Kurume Kasuri) ที่นิยมนำเนื้อผ้ามาทำเป็นกิโมโนในสมัยก่อน จากจังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka Prefecture) และผ้ามัสลิน หรือผ้าฝ้ายทอมือสีขาว ให้ความรู้สึกโปร่ง เบาสบายในการสวมใส่ จากเมืองฮามามัตซึ จังหวัดชิซึโอกะ (Hamamatsu, Shizuoka Prefecture) เป็นต้น 

5. มากกว่าร้านขายมัลติโปรดักต์ คือการเปิดหน้าร้านแยกขายสินค้าแต่ละหมวดหมู่

นอกจากรองเท้าทาบิ เสื้อผ้า และของใช้ในบ้าน SOU・SOU มีหน้าร้านแบ่งออกตามหมวดหมู่สินค้าถึง 6 ร้านค้าแล้ว ในปี 2012 SOU・SOU ก็ยังเปิดหน้าร้านสำหรับขายสินค้าประเภทกระเป๋า หรือ ‘SOU・SOU Hotei’ (布袋) มาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘กระเป๋าที่เข้ากับชุดกิโมโน’ อีกทั้งในปี 2013 ‘SOU・SOU So-me O-ri’ (染めおり) ร้านขายแคนวาสผ้าหลากลายพิมพ์ก็ได้ถูกเปิดขึ้นบนชั้น 2 ของ SOU・SOU Hotei ด้วยจุดประสงค์ที่อยากจะให้ทุกคนได้เข้าถึงตัวผ้า-ลายพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ว่าใครก็สามารถนำแคนวาสผ้าเหล่านี้ไปรังสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้

ก่อนสองหน้าร้านสุดท้ายของสาขาเกียวโตนั้นจะเพิ่งถูกเปิดในปี 2021 อย่าง ‘SOU・SOU Yousou.’ เสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกที่ยังคงเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น และร้านขายของขวัญ ของฝาก ไอเทมเก๋ไก๋ที่รวมเหล่าผลงานคอลแล็บระหว่าง SOU・SOU กับแบรนด์อื่นๆ ภายใต้ชื่อร้าน  ‘SOU・SOU Okurimono (おくりもの)  

เมื่อนับรวมกันแล้ว เราจะพบว่า SOU・SOU นั้น มีหน้าร้านค้ากว่า 9 หมวดหมู่สินค้า ทั้งยังตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน ในแขวงนากาเงียว ตัวเมืองเกียวโตเลยอีกด้วย (Nakagyo Ward, Kyoto Prefecture) เรียกได้ว่า เดินทางสะดวก ครบ จบในย่านเดียวเลยจริงๆ

ด้วยทำเลของร้าน SOU・SOU สาขาเกียวโต ที่ทั้งใกล้กับตัวเมืองและย่านท่องเที่ยวอย่างกิออน (Gion) แล้ว แนวคิดของการเปิดหน้าร้านที่แยกขายสินค้าแต่ละหมวดหมู่เช่นนี้จึงถือว่าเป็นผลดีกับทั้งตัวแบรนด์และลูกค้า อย่างการที่ลูกค้าจะสามารถเลือกเข้าไปหยิบซื้อสินค้าในหมวดหมู่ที่ตนเองสนใจได้อย่างง่ายดาย  ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการนั้นไม่เยอะและแออัดเกินไปในแต่ละร้าน กลับกัน สตาฟเองก็ยังสามารถให้บริการลูกค้าแต่ละคนด้วยความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ ได้อย่างละเอียดและทันท่วงที ซึ่งเมื่อลูกค้าและสตาฟต่างก็แฮปปี้ แน่นอนว่าองค์รวมของแบรนด์ก็จะยั่งยืนไปตามๆ กัน 

6. SOU・SOU ในขวบปีที่ 20 กับความสำเร็จที่วัดจากเส้นทางการเติบโตของแบรนด์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ปัจจุบัน SOU・SOU ในขวบปีที่ 20 นั้นมีจำนวนสาขาหลักถึง 2 ตัวเมืองใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในจังหวัดเกียวโต บ้านเกิดของพาร์ตเนอร์ทั้ง 3 คนที่เราเพิ่งกล่าวถึงกันไป และในจังหวัดโตเกียว หรือสาขาในเมืองอาโอยามะ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองหน้าร้าน อย่าง ‘SOU・SOU Kyoto aoyamamise’ สาขาที่ขายสินค้ารวมหมวดหมู่ กับ ‘SOU・SOU Yousou.’ 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะ SOU・SOU ยังมีไลน์หน้าร้านที่มาในรูปแบบของป๊อปอัพสโตร์ ‘ITOKEN/ SOU・SOU’ ถึง 2 สาขาในเกียวโตด้วย อย่างสาขาที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟเกียวโต (JR Kyoto ISETAN) และสาขาที่ตั้งอยู่ใกล้วัดคิโยมิซุ (Kiyomizu-Dera) สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตที่คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อเรียก ‘วัดน้ำใส’ โดย ‘ITOKEN/ SOU・SOU’ นี้ เป็นป๊อปอัพสโตร์ที่เพิ่มไลน์เมนูเครื่องดื่ม-ขนมในรูปแบบสั่งกลับบ้าน (takeaway) เข้ามา ซึ่งด้วยทำเลและทาร์เก็ตลูกค้าที่แคบลงมาอีกหน่อย อย่างในกลุ่มนักท่องเที่ยวแล้ว ของฝากและเซตขนมที่มีรูปร่าง หน้าตาน่ารัก ถอดแบบมาจากลายพิมพ์ของ SOU・SOU จึงเป็นหมวดหมู่สินค้าที่เหมาะสมที่สุด เพราะไม่ว่าใครที่ได้แวะเวียนเข้ามาในสโตร์เหล่านี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องหิ้วของฝาก ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปบ้างล่ะ!

นอกจากสาขาใหญ่-สาขาย่อยในประเทศญี่ปุ่นแล้ว SOU・SOU เขาก็มีหน้าร้านรวมหมวดหมู่สินค้าในต่างแดนด้วยนะ อย่างสาขาในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนในระยะเวลาที่ผ่านมา SOU・SOU ยังเคยบินลัดฟ้า ไปเปิดป๊อปอัพสโตร์ฉบับชั่วคราวในหลายๆ ประเทศกันอยู่บ้าง 

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผลงานคอลแล็บของ SOU・SOU ที่เคยได้ร่วมงานกับทั้งแบรนด์ใหญ่ๆในประเทศเองก็ดี หรือจะเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของสัญชาติอื่นๆ เองก็ด้วย อาทิ สินค้าในหมวดหมู่เครื่องแต่งกายที่คอลแล็บร่วมกับแบรนด์เสื้อผ้าไลฟ์แวร์สัญชาติญี่ปุ่น อย่างยูนิโคล่ (UNIQLO) หมวดหมู่ชุดชั้นใน-ชุดใส่อยู่บ้าน (interior wear) กับแบรนด์ชุดชั้นในวาโก้ (Wacoal) ที่ผ่านการนำเสนอลายพิมพ์ของ SOU・SOU บนเนื้อผ้าทอทาคาชิมะ จิจิมิ (Takashima Chijimi) หรือจะเป็นการคอลแล็บกับสินค้าซิกเนเจอร์ของแบรนด์มีดพับสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Victorinox) ตลอดจนหมวดหมู่กระเป๋าที่ SOU・SOU ได้เคยร่วมงานกับแบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติฝรั่งเศส อย่างดีแคทลอน (Decathlon) ด้วยการฝากฝังลายพิมพ์ตัวเลข ‘โซซึยุ’ (SO-SU-U) ไว้บนกระเป๋า เป็นต้น

เมื่อเอ่ยถึงสินค้าในหมวดหมู่กระเป๋า รวมถึงลายพิมพ์โซซึยุแล้ว ก็อดที่จะพูดถึงการคอลแล็บของ SOU・SOU ร่วมกับอเนลโล่ (Anello) เป็นไม่ได้ เพราะคอลเลกชั่นนี้เคยวางขายในประเทศไทยไปเมื่อปี 2021  ทั้งยังมีอีก 3 ลายพิมพ์ดอกไม้ซิกเนเจอร์ ผลงานของวากิซากะ โลดแล่นอยู่บนกระเป๋าแบ็กแพ็ก เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลายดอกหัวไชเท้า กลีบเล็กๆ สีขาว ‘ซูซูชิโรโซะ’ (Suzushirosou) ลายดอกไม้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแบรนด์มารีเมกโกะ ‘ฮานะกาเซน’ (Hanagasane) และลายดอกพลัมสีชมพู ‘ไบริน’ (Bairin) ตามลำดับ

ถึงแม้เรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแบรนด์ SOU・SOU ในตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า SOU・SOU  ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เลยสักวัน นี่จึงเป็นหนึ่งในจุดแข็งของแบรนด์ กับเหตุผลที่ว่าทำไม SOU・SOU ถึงเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์สัญชาติญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดแบรนด์หนึ่งในช่วงเวลานี้อีกด้วย 

ภาพ : SOU・SOU, anello Thailand 

อ้างอิง

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

You Might Also Like