ยิ่งพอ ยิ่งสุข

‘กฎของยานเต้’ หลักการที่ส่งผลให้กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีค่าเฉลี่ยความสุขสูงสุด

นิยามของความสุขนั้นคืออะไร 

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าสมการของความสุขนั้นมีสองส่วนประกอบกัน ส่วนแรกคือความคาดหวัง กับส่วนที่สองคือสิ่งที่ได้รับ ถ้าเท่ากับหรือมากกว่าความคาดหวังก็น่าจะมีความสุข 

การแก้สมการแห่งความสุขวิธีหนึ่งก็คือการบริหารจัดการความคาดหวังให้ได้

เวลามีงานวิจัยเรื่องความสุขของโลก ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียมักจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในการวัดว่ามีความสุขกับชีวิตเสมอ ผมเองเคยทำงานกับคนนอร์เวย์มาหลายปีระหว่างที่อยู่ดีแทคและได้พบเจอคนสวีเดนก็บ่อยเพราะเทเลนอร์ที่เป็นบริษัทแม่ดีแทคก็มีบริษัทในสวีเดน ก็รู้สึกแบบนั้นจริงๆ  

แล้วหัวใจในเรื่องความสุขของคนสแกนดิเนเวียนั้นอยู่ตรงไหน อยู่ที่ความคาดหวังหรือยู่ที่สิ่งที่ได้รับกันแน่…

มีครั้งหนึ่ง เราคุยเรื่องรถประจำตำแหน่งซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้บริหารไทย ผู้บริหารชาวนอร์เวย์บอกผมว่ารถแบบนี้จะเป็นเรื่องใหญ่โตมากที่นอร์เวย์ ถ้าเขาขับรถคันใหญ่แบบนี้จะมีปัญหากับเพื่อนบ้านแน่ๆ ผมฟังแล้วก็งงๆ ถามว่าทำไม เขาบอกว่าที่นอร์เวย์การที่มีรถดีกว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันนั้นเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้ ถ้าจะมีรถต้องด้อยกว่าหรือเท่ากับรถเพื่อนบ้านเท่านั้น ตอนฟังเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้เข้าใจอะไรนัก จนมารู้ทีหลังเพราะคุณซิคเว่เจ้านายเก่าผมเล่าให้ฟังถึงกฎของยานเต้ (Law of Jante)

กฎของยานเต้เป็นหลักการทางสังคมที่ไม่ใช่เป็นกฎหมาย แต่เป็นความเชื่อร่วมกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นกฎจากโลกในวรรณคดีของแอคเซล ซานดีมอส นักเขียนชาวเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และกฎเหล่านี้ได้หยั่งรากลึกลงไปยังประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวสแกนดิเนเวีย ซานดีมอสประพันธ์ถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ Jante ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่เป็นพวกที่ยึดถือขนบธรรมเนียมมาก พวกเขาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นที่ขัดขวางใครก็ตามที่เด่นกว่าคนอื่น

แก่นของกฎของยานเต้จะประมาณว่า “คุณจะต้องไม่มีความเชื่อว่าคุณเด่นหรือล้ำเลิศกว่าคนอื่น” (Scandinavians love being equal in everything from what we do in our work to how we like to live in our homes. Nobody is to have too much more – or less – than everyone else.  Definition of jante law from scandikitchen.co.uk) 

กฎของยานเต้มีสิบข้อ คือ

1. You’re not to think you are anything special.

2. You’re not to think you are as good as we are.

3. You’re not to think you are smarter than we are.

4. You’re not to convince yourself that you are better than we are.

5. You’re not to think you know more than we do.

6. You’re not to think you are more important than we are.

7. You’re not to think you are good at anything.

8. You’re not to laugh at us.

9. You’re not to think anyone cares about you.

10. You’re not to think you can teach us anything.

ที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey เคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่าอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศทางสแกนดิเนเวียมีความสุขในใจมากกว่าประเทศอื่น เพราะถ้าเชื่อในกฎของยานเต้ ความคาดหวังที่เรามีก็จะประมาณแค่ขอให้เท่าๆ กับคนอื่นก็พอก็มีความสุขแล้ว และถ้ามีอะไรที่มากกว่าค่าเฉลี่ยแค่นิดหน่อยก็จะเป็นความสุขที่ไม่ได้คาดคิดอย่างมาก

happiness study ที่ University of London ศึกษาไว้บอกชัดเจนว่า “Lower expectations make it more likely that an outcome will exceed those expectations and have a positive impact on happiness” กฎของยานเต้ที่มีอิทธิพลต่อสังคมสแกนดิเนเวียนั้นมีส่วนในเรื่องนี้จริงๆ

แต่ทุกเรื่องมักจะมีข้อดีและข้อเสีย คุณซิคเว่เคยวิจารณ์กฎของยานเต้ว่า ที่นอร์เวย์นั้นหลายคนก็มีความรู้สึกว่าความเชื่อในกฎนี้ทำลายความคิดสร้างสรรค์ และถ้าใครมีฝันใหญ่ๆ อยากประสบความสำเร็จมากๆ บ้างทำไมจะทำไม่ได้ คนแบบ Elon Musk หรือ Steve Jobs ก็จะมีได้ยากถ้าทุกคนใช้กฎของยานเต้กันหมด เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องถกเถียงกันมากในหมู่ปัญญาชนของนอร์เวย์มาตลอด

อย่างไรก็ตาม คุณซิคเว่ก็บอกเช่นกันว่ากฎของยานเต้ก็มีข้อดีถ้าเรารู้จักเอามาใช้กับวัฒนธรรมองค์กรในบางมุม กฎนี้กล่าวถึงธรรมชาติแห่งการยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ในวัฒนธรรมสแกนดิเนเวีย จึงนับเป็นสิ่งเตือนใจได้ว่า ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในเรื่องใดในชีวิตก็ตาม เรายังคงต้องรักษาความอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อื่นเอาไว้ ดังนั้น ในฐานะผู้นำ เราจึงไม่ได้สำคัญไปกว่าคนอื่นๆ เราทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพียงแค่รับบทบาทที่แตกต่างกันเท่านั้น สิ่งนี้เป็นหลักข้อหนึ่งใน ‘กฎของยานเต้’ ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งคุณซิคเว่ก็ปฏิบัติอย่างนั้นให้เราได้เห็น ไม่ว่าพนักงานจะตัวเล็กแค่ไหน คุณซิคเว่ก็จะยกมือไหว้ก่อนเสมอ เขาเข้าหาพนักงานทุกคนและเปิดโอกาสในการรับฟังปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของดีแทคในตอนนั้นอย่างมาก

ที่ผมเอากฎของยานเต้มาเล่าในวันนี้ ไม่ได้ต้องการจะเปรียบเทียบวัฒนธรรมในระดับประเทศแต่อย่างใด แค่คิดถึงตอนที่คุณซิคเว่ใช้หลักการกับกฎข้อนี้ในดีแทคเมื่อหลายปีก่อน แล้วทำให้พนักงานทุกระดับชั้นหลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ องค์กรยุคใหม่ที่กำลังจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง การเข้าใจกฎของยานเต้ก็อาจจะเป็นไอเดียหนึ่งในการใช้สร้างวัฒนธรรมองค์กรก็ได้

หลังจากที่คุณซิคเว่ย้ายจากดีแทคไปทำงานที่อินเดีย ซีอีโอดีแทคที่มาแทนชื่อคุณทอเร่ จอห์นสัน เป็นคุณลุงใจดีชาวนอร์เวย์ที่ทุกคนรัก เวลาคุณทอเร่อยากกินกาแฟสตาร์บัคส์ก็จะลงมาจากตึกสูงมาซื้อกาแฟเองทุกครั้ง ผมก็เคยถามว่าทำไมถึงไม่ให้เลขาฯ ซื้อให้ล่ะ ขาแข้งก็ไม่ค่อยดีแล้ว มีเลขาฯ ซื้อให้ก็สะดวกดี บอกกี่ครั้งยังไงก็เดินลงมาเองตลอด

จนวันหนึ่งคุณทอเร่คงเบื่อที่ทั้งผม ทั้งเลขาฯ พยายามคะยั้นคะยอ ก็เลยบอกว่า ขอเดินไปซื้อกาแฟเองเถอะ เพราะที่นอร์เวย์ถ้าให้เลขาฯ ซื้อให้แบบนี้มันเด่นเกินคนอื่น อีกอย่างถ้าไอเกษียณไปก็ต้องซื้อกาแฟเอง ต้องฝึกตั้งแต่ตอนนี้จะได้ไม่เคยตัว… คำตอบกับการกระทำอย่างสม่ำเสมอของคุณทอเร่ได้ใจเลขาฯ และพนักงานในชั้นนั้นอย่างมาก

และนี่คือความน่ารักของกฎของยานเต้ที่ไว้สู้กับแรงโน้มถ่วงที่มักจะชวนให้เราอยากได้ใคร่มี ขี้อวด และพยายามไขว่คว้าทุกอย่างให้มากที่สุด ลองพินิจพิเคราะห์ดีๆ ก็อาจจะนำมาซึ่งความสงบสุขที่แท้จริงก็ได้

ผมเคยถามพี่จิก–ประภาส ชลศรานนท์ ในวัยห้าสิบปลาย ว่าพี่จิกมีเป้าหมายอะไรในชีวิตในตอนนี้บ้างครับ พี่จิกตอบว่า

“เป้าหมายของพี่ตอนนี้คือการลดเป้าหมาย”

เหมือนกับพี่จิกแอบเฉลยความลับของฟ้าอีกข้อนึงอย่างไรอย่างนั้นเลยนะครับ

Writer

หลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้บริหารและนักการตลาดที่ฝากผลงานที่น่าสนใจในโลกธุรกิจไว้มากมาย ในอีกบทบาทเขายังเป็นคนช่างคิดช่างเขียน เจ้าของเพจ 'เขียนไว้ให้เธอ' ที่ตั้งใจบันทึกบทเรียนสำคัญให้ลูกสาวไว้อ่านตอนโต

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like