นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

STAY CHIC & SUSTAINABLE

ศิลปะการบาลานซ์ธุรกิจให้กรีนและเก๋ของ sarr.rai เครื่องประดับทางเลือกที่ดีต่อใจและดีต่อโลก

จากภาพต่อไปนี้ คุณคิดว่าเครื่องประดับแวววาวเหล่านี้ทำจากวัสดุอะไร

หลายคนอาจตอบว่าพลอยทั่วไป ไม่เห็นยากตรงไหน บางคนอาจมองว่าคือคริสตัล แต่เชื่อหรือไม่ว่าเครื่องประดับเหล่านี้ผลิตขึ้นจากขวดไวน์บ้าง บางชิ้นผลิตจากมุกน้ำจืด และบางชิ้นก็ทำขึ้นจากลูกแก้วที่หลายคนเคยเล่นตอนเด็กๆ!

ความแวววาวราวเพชรนิลจินดา ผสมผสานกับดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ไร้รูปแบบทำให้ sarr.rai หรือที่อ่านว่า ‘สาหร่าย’ แบรนด์เครื่องประดับทางเลือกของเพื่อนสนิทอย่าง กอล์ฟ–อภิสรา ศิริวัฒน์โยธิน และ แจม–ภิญญาพัชญ์ งามพินิจพล เต็มไปด้วยเรื่องราว 

ที่บอกว่าเครื่องประดับทางเลือก หรือ alternative jewelry เพราะทั้งดีไซน์และวัสดุส่วนใหญ่ที่กอล์ฟและแจมเลือกใช้อาจไม่ตรงกับคำว่า ‘เครื่องประดับ’ ที่คนทั่วไปคุ้นเคยเพราะทั้งคู่ต้องการให้ทุกคนสนุกกับการแต่งตัว แต่ยังได้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมกับพัฒนาช่างฝีมือไทย

แม้ในวันแรก เพื่อนรักเพื่อนธุรกิจจะเริ่มต้นไอเดียในช่วงโควิด-19 ด้วยภาพกว้างๆ ว่าอยากทำเครื่องประดับแบบซื้อมาขายไป แต่ในวันนี้กอล์ฟและแจมมองไกลกว่านั้น sarr.rai ไม่เพียงเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง สร้างทางเลือกให้สายแฟและสายกรีนมากขึ้น แต่ยังตั้งใจขยายอาณาบริเวณของตัวเองให้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ที่ไม่ว่าใครก็ตามเข้ามาร่วมสนุกได้

แต่กว่าจะเป็นธุรกิจสายแฟที่แคร์โลกได้ขนาดนี้ สาหร่ายกอนี้ก็เผชิญกับปัจจัยรายล้อมมากมาย บทสนทนาด้านล่างจึงพาเราไปไขคำตอบว่ากอล์ฟและแจมฟูมฟัก sarr.rai ขึ้นมาภายใต้ข้อจำกัดมากมายได้ยังไง

01 Conscious Production

กอล์ฟเรียนจบด้าน Fashion Marketing จากประเทศอังกฤษ ทั้งยังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องประดับ ในทุกโปรเจกต์ของการเรียน สิ่งที่กอล์ฟได้เรียนรู้คือการแคร์โลกไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของคนทำธุรกิจสายแฟ การคิดทุกอย่างโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้งจึงค่อยๆ สั่งสมในตัวกอล์ฟ กระทั่งได้ทำธุรกิจของตัวเอง

“เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าแจมเป็นคนลงมือทำเพราะเขาเป็นคนละเอียด ส่วนกอล์ฟเป็นคนคิดคอนเซปต์ คิดภาพต่างๆ แล้วพอเพื่อนเราต้องทำเองเราก็ไม่อยากให้เขาต้องมาเจอกับเคมีตลอดเวลา เราเลยรีเสิร์ชและลงแรงกันเยอะมากว่าเราจะใช้วัสดุอะไรที่มันดีกับแจมและดีกับโลก

“จากที่อยากทำเล่นๆ ขำๆ ฟีลเดินซื้อของที่สำเพ็งแล้วเอามาร้อยเป็นข้อมือขาย มันเลยขำไม่ได้แล้ว เพราะเราคิดว่าแบรนด์นี้มันจะอยู่ไปยาวๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำแล้วเลิก เราเลยอยากทำให้มันคุ้มค่า” กอล์ฟอธิบายพลางหัวเราะ ก่อนค่อยๆ ปูความรู้พื้นฐานด้านเครื่องประดับให้ฟังว่าอุตสาหกรรมเครื่องประดับส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง 

เริ่มจากเพชรพลอยต่างๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สุดท้ายแล้วจะหมดไปเพราะโลกผลิตไม่ทันให้มนุษย์ใช้ อีกสิ่งสำคัญคือก่อนจะได้เครื่องประดับมาสะท้อนตัวตน มนุษย์ต้องทำเหมืองเยอะมาก ปัญหาหลักๆ คือการทำเหมืองใช้เคมีมหาศาลเพื่อให้ได้สิ่งที่คนต้องการ เป็นที่มาว่าแต่ละวัสดุที่ sarr.rai เลือกใช้ ถ้าไม่รีไซเคิลได้ ก็ต้องเป็นวัสดุที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ทั้งวัสดุหลักๆ จะต้องประกอบด้วยเงิน แก้ว และมุก

เริ่มจากตัวเรือนอย่างเงินซึ่งเป็นโลหะที่ราคาจับต้องได้กว่าทองแต่เป็นโลหะกึ่งมีค่าที่เทรดได้ แม้เงินจะต้องทำเหมืองไม่ต่างจากวัสดุอื่นๆ แต่การที่เงินหลอมขึ้นรูปใหม่ได้หรือรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ ทำให้เงินเป็นทางออกที่ดีกว่าโรเดียม ทองเหลือง หรือทองแดงที่ส่วนใหญ่แล้วคนนิยมนำไปชุบทองเค ปลายทางของโลหะเหล่านี้จึงไม่ใช่การรีไซเคิล 

เช่นเดียวกัน ลูกแก้วเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่รีไซเคิลได้ไม่รู้จบ ความน่าสนใจคือในช่วงแรกทั้งสองคิดอยากทำลูกแก้วขึ้นใหม่เพื่อให้คัสตอมสีตามความต้องการได้ แต่นั่นหมายความว่า sarr.rai จะต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นอีก การคัดสรรลูกแก้วในท้องตลาดตามจังหวัดต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

อีกวัสดุที่ขายดิบขายดีไม่แพ้กันคือมุกน้ำจืดที่ราคาเข้าถึงได้กว่ามุกน้ำเค็ม ทั้งยังเป็น green gem ที่ไม่ได้เก็บจากธรรมชาติ แต่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง ตัวเปลือกหอยเองยังมีฤทธิ์เป็นด่างที่ช่วยบำบัดของเสียได้เช่นกัน ที่สำคัญ มุกน้ำจืดยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 

ทั้งคู่ยังผลิตจิวเวลรีที่อัพไซเคิลจากขวดเครื่องดื่มที่ได้จาก theCOMMONS ทองหล่อ ผ่านการเจียรโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นการเปลี่ยนสิ่งของที่คนไม่เห็นค่าให้ได้ผลลัพธ์ที่งดงามจนแทบดูไม่ออกว่าวัสดุต้นทางคืออะไร 

“ถามว่าฟังก์ชั่นของเครื่องประดับคืออะไร มันคือเครื่องแสดงตัวตนและสะท้อนจิตวิญญาณของเราว่าเราชอบอะไร สนใจอะไร อีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือมันทำหน้าที่แสดงฐานะทางสังคมว่าฉันมีเงินมากพอที่จะเป็นเจ้าของสิ่งนี้ได้ 

“แต่ในฐานะชนชั้นกลาง เราคิดว่าคำว่า ‘ร่ำรวย’ มันควรจะเปลี่ยนไป คำนี้มันไม่ใช่แค่การครอบครองอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งในเมื่อเราทุกคนอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเก็บสิ่งนี้ไว้จำนวนมากมันสมควรแค่ไหน 

“เราเลยอยากทำเครื่องประดับทางเลือกที่ถ้าใครสักคนยังอยากให้มันแสดงถึงความสวยงาม ความชอบหรือว่าตัวตน ก็ยังสวมใส่มันได้และยังลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เคมี หรือแรงงานคนในทางที่ไม่เป็นมิตรลงไป”

02 Conscious Design

แรกเห็น sarr.rai เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะสนใจที่รูปทรงของเครื่องประดับเหล่านี้ ด้วยความไร้ฟอร์มที่แตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไป ทั้งภาพรวมของเครื่องประดับทุกชิ้นยังสะท้อนถึงตัวตนที่เป็นอิสระ ทำเอาเราแทบไม่ได้โฟกัสว่าแท้จริงแล้วจิวเวลรีที่เป็นตัวเอกของต่างหู สร้อยคอ หรือสร้อยข้อมือแต่ละชิ้นเคยเป็นวัสดุที่คนอาจไม่เคยให้ค่า

ภาพเหล่านี้แตกออกจากหลักสำคัญในการออกแบบ 3 อย่าง อย่างแรกคือการเน้นออกแบบรูปทรงให้เป็น organic form เพื่อยังคงความคราฟต์ของผลงานที่ดูแล้วรู้ว่านี่คืองานฝีมือจริงๆ ไม่ได้ถอดแบบมาจากโรงงาน 

สอง–บางคอลเลกชั่นที่อัพไซเคิลจากขยะ ทั้งสองคนต้องการให้วัสดุเหล่านั้นสวยงามในตัวเอง ชนิดที่มองไม่ออกว่าเคยเป็นขยะมาก่อน เช่น คอลเลกชั่น Mine ที่นำขวดไวน์มาเจียรให้คล้ายพลอย เพื่อให้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน  

สาม–เครื่องประดับจาก sarr.rai จะต้องใส่ได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะสำหรับทั้งคู่ sarr.rai ไม่ได้ขายเครื่องประดับเท่านั้นแต่กำลังกระจายความคิดความเชื่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ดีไซน์ที่ยิ่งเอาชนะใจคนหมู่มากได้เท่าไหร่ ความเชื่อของแบรนด์ก็ยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม 

“เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหญ่ๆ มันไม่ได้เกิดจากคนหนึ่งคน หรือไม่ได้เกิดจากการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อยู่คนเดียว แต่มันคือคนหลายคนได้ทำสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ได้ยากเกินไปแต่ทำได้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ไม่มีใครจำเป็นต้องแบกรับสิ่งนี้ไว้คนเดียว เพราะทุกคนยังต้องการมีชีวิตปกติ เวลาลูกค้าเดินกลับมาบอกเราว่าวันนี้ใส่สร้อยของเราแล้วเขาไม่รับหลอดพลาสติกเลย เพราะเขานึกถึงสิ่งที่เราพูด แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว” กอล์ฟอธิบายคอนเซปต์การออกแบบ 

“เพราะเราเองไม่ได้เริ่มจากการเป็นคนที่กรีน 100% เรามาจากคนธรรมดา บ้านเราทำโรงงานเสื้อผ้า ที่ผลิตออกไปเยอะมาก เราโตมากับการผลิตแบบเน้นจำนวน ไม่ต้องเน้นคุณภาพมาก จะเห็นว่าแค่รุ่นพ่อแม่กับรุ่นเราซึ่งห่างกันรุ่นเดียว ความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมันก็เปลี่ยนแปลงชัดเจนแล้วนะ เราเลยคิดว่ามันน่าจะต้องดีขึ้นอีกเรื่อยๆ” แจมเสริม

03 Being a Social Movement

“ตอนแรกเราทำราคาให้คนทั่วไป อย่างน้อยก็ชนชั้นกลางเข้าถึงได้ ไม่ได้อยากขายราคาหลักหมื่นแต่พอมาทำจริงๆ ด้วยขั้นตอนต่างๆ มันทำมือทั้งหมด ระยะเวลาที่ใช้ก็นาน เรายังต้องใช้ช่างที่มีทักษะด้วย ราคาเลยขึ้นสูงกว่าที่คิดไว้มาก” กอล์ฟเกริ่นถึงช่างเงินและช่างพลอยเบื้องหลังที่สร้างสรรค์ sarr.rai ไปพร้อมกับทั้งคู่ 

กอล์ฟและแจมยังเล่าให้ฟังถึงช่วงตั้งไข่ ว่ากว่าจะหาทีมช่างที่ยอมสร้างแบรนด์ไปกับพวกเธอนั้นยากแสนยาก ด้วยปริมาณงานที่ sarr.rai มีนั้นน้อยกว่าเจ้าอื่นๆ ด้วยรูปทรงของงานที่ต่างจากงานทั่วไปที่ช่างเคยทำ ที่สำคัญ ด้วยทั้งคู่ไม่ได้มีองค์ความรู้ในการทำเครื่องประดับจึงทำให้ต้องค่อยๆ ปรับไอเดียให้ลงตัวและเข้ามือกันกับที่คิดไว้ในช่วงแรก 

“ยากมากๆ ที่จะหาช่างที่เข้าใจตรงกัน ยอมทำให้แบบที่เราต้องการ ยอมที่จะลองผิดลองถูกไปกับเราโชคดีที่หัวหน้าช่างเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจงานออกแบบ และบางทีช่างก็อยากทำงานใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ล็อตใหญ่บ้าง sarr.rai เลยออกมาได้

“หรืออย่างช่างเจียรพลอยที่เขาเจียรขวดเครื่องดื่มในคอลเลกชั่น Mine ให้เราก็เป็นอาจารย์ที่เขาสอนเจียรพลอยให้คนในชุมชนเยอะ ต้องเล่าก่อนว่าก่อนหน้านั้น เราพยายามจะคิดเอาขวดไปหลอมขึ้นรูปใหม่แต่มันยากเพราะแก้วที่ทำขวดมันไม่ได้บริสุทธิ์ขนาดนั้น จนกระทั่งเรามาเจออาจารย์คนนี้โดยบังเอิญในยูทูบ” อาจารย์ที่แจมเล่าถึงคืออาจารย์สุรเดช หวังเจริญ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนชมรมบ้านเจียระไนพลอย ที่มีชื่อเสียงด้านการอัพไซเคิลขวดไร้ค่าให้กลายร่างเสมือนพลอยมีค่า

ไม่เพียงคิดธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น สองเพื่อนซี้ยังตั้งใจให้ sarr.rai เป็นอีกแรงขับเคลื่อนในวงการช่างฝีมือไทย เพราะกอล์ฟและแจมให้ค่าแรงช่างฝีมือสูงกว่าท้องตลาด ทั้งสองยังใส่ใจถึงสภาพแวดล้อมการทำงานของช่างเสมอ ตั้งแต่เข้าไปพูดคุยถึงงานที่ทำตลอดปีว่าค่าแรงที่ได้รับเพียงพอแค่ไหน ติดปัญหาอะไรในการทำงานบ้างหรือเปล่า รวมถึงจัดหาไฟเพื่อให้แสงสว่างเพียงพอกับการทำงาน

“เราไปแชร์ให้เขาฟังว่างานเราเป็นอย่างนี้นะ ขายให้ใครไปแล้วบ้าง แล้วคนที่เขาได้รับเขารู้สึกยังไง เราอยากให้เขาเห็นภาพว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าภูมิใจแค่ไหน เราไม่อยากให้เขากลายเป็นเครื่องจักรที่แค่ทำงานไปเรื่อยๆ” แจมอธิบายถึงงานประจำปีที่ทั้งคู่ไม่เคยปล่อยผ่าน

“เราคิดว่าเรื่องค่าแรงมันเป็นเรื่องโครงสร้าง เราเองคงไม่สามารถทำให้ทุกคนมาจ่ายค่าแรงช่างในราคาที่สูงกว่าเดิมได้ แล้วเราก็เข้าใจธุรกิจ การที่จะแก้ไขปัญหาค่าแรงช่างฝีมือไทยให้สอดคล้องกับราคาเครื่องประดับที่คนกลางได้ไป มันต้องแก้กฎหมาย

 “สิ่งที่เราทำได้คือเราจะดูแลเขาให้ดีที่สุด เราจะเป็นกระบอกเสียงให้เขา ทั้งเวลามีคนมาสัมภาษณ์ หรือเวลาออกร้านขายของ เราจะสื่อสารและเล่าเรื่องราวของช่างให้กับลูกค้าฟังเสมอ” กอล์ฟเสริมถึงความตั้งใจในการทำแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป แต่ต้องการสร้างธุรกิจที่ดีต่อสังคมจริงๆ

04 Commitment to Sustainability

“จริงๆ เราไม่เคยพูดว่ามันกรีนนะ เราจะพูดว่ามันยั่งยืนมากกว่า” แจมตอบทันที เมื่อเราเอ่ยถามถึงความยากในการบาลานซ์ธุรกิจและความกรีนให้ไปด้วยกัน ในวันที่ใครๆ ก็กระโดดเข้ามาทำธุรกิจสุดอีโค่แต่เป็นได้แค่ greenwashing หรือการฟอกเขียว

“เราไม่ได้กรีน 100% แค่เราต้องรู้ว่าเรากำลังใช้อะไรอยู่ เราจะส่งต่อมันไปยังไง แล้วบอกคนอื่นด้วยว่าสิ่งที่เราใช้มันมีอะไรบ้าง เช่น ซัพพลายเออร์เรายังใช้พลาสติกอยู่นะ เราว่าความโปร่งใสมันเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจนี้” แจมเสริม

“ธุรกิจที่ยั่งยืน อย่าลืมว่ามันก็ยังเป็นธุรกิจ ถ้าเราไม่ได้กำไรเลย ธุรกิจเราอยู่ไม่ได้ ลูกน้องเราก็อยู่ไม่ได้ การกระจายรายได้ไปที่ช่างมันก็คงไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ความยั่งยืน อย่างนั้นเราคงไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นองค์กรการกุศล สิ่งสำคัญจึงคือการหาตรงกลาง 

“อย่างจุดที่เราคิดว่าจะเอาร้านเข้าอีคอมเมิร์ซดีไหม เราก็มาคิดนะว่าอีคอมเมิร์ซมันก่อมลพิษเยอะมาก มันสร้างนิสัยให้เราซื้อโดยไม่จำเป็น แต่ในอีกทาง ถ้าเราไม่เข้าร่วมมันคือการลดช่องทางการเข้าถึงลูกค้าของเรา อีกอย่าง ถ้าเราไม่อยู่ในช่องทางเหล่านี้เขาก็ยิ่งไม่มีตัวเลือกหรือเปล่า 

“อย่างนั้นเราเลือกได้ไหม เลือกที่จะไม่ทำทุกแคมเปญ เลือกที่จะไม่ลดแลกแจกแถมทุกเดือน  เราก็ลดแค่ตอนที่เรารู้สึกว่ามันเป็นของขวัญให้กับลูกค้า มายด์เซตนี้แหละที่ทำให้เราพยายามพาตัวเองออกไปในที่ต่างๆ เพื่อให้คนได้มีทางเลือกมากขึ้น” กอล์ฟอธิบายให้เห็นภาพการทำธุรกิจที่หลายคนเรียกว่ากรีนซึ่งตามมาด้วยความยากอีกรูปแบบที่บางธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง

“หลายคนคิดว่าเราคงได้กำไรแบบก้าวกระโดด แต่ทุกวันนี้แจมยังเป็นครูสอนโยคะฟลาย กอล์ฟยังทำงานบริษัท แล้วจริงๆ ถ้าเราคาดหวังกำไรแบบก้าวกระโดด เราคงเฉาตายไปแล้ว” แจมเล่าขำๆ เมื่อเอ่ยถึงความอยู่รอดของธุรกิจเล็กๆ ธุรกิจนี้ 

“คนถามเยอะมากว่าทำไมเราไม่สเกล ทำไมเราไม่ไปคอลแล็บกับแบรนด์ใหญ่ๆ ทำไมเราไม่ไปขอขวดจากแบรนด์ที่เขามี visibility ในตลาดเยอะๆ แต่เรากลับรู้สึกว่าเราไม่รีบ เราอยากทำอย่างยั่งยืน เวลาเราคอลแล็บ เราก็เลือกทำกับคนที่มีมายด์เซตเดียวกัน มายด์เซตที่เชื่อว่าเขาเองก็สามารถกระจายความเชื่อเหล่านี้ให้กับลูกค้าหรือคนรอบตัวเขาได้”

ที่ผ่านมา sarr.rai ร่วมคอลแล็บกับแบรนด์ SKIN & TONIC เพื่อจัดเวิร์กช็อปคราฟต์จิวเวลรีเงิน พร้อมๆ กับการค้นหากลิ่นที่ชอบ ถือเป็นการคอลแล็บข้ามธุรกิจที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า พร้อมกับการกระจายความเชื่อในการทำธุรกิจ

“เจ้าของ theCOMMONS พูดกับเราว่าเขาไม่ได้คาดหวังที่จะทำ  theCOMMONS แค่ 5 ปี เขามองไกลกว่านั้น เพราะเขากำลังทำสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืน การสร้างความยั่งยืนมันไม่สามารถคาดหวังกำไรแบบก้าวกระโดดได้ คำพูดนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้กลับมาสำรวจตัวเองว่า sarr.rai กำลังทำสิ่งที่มันค่อยๆ เติบโตทั้งในแง่ของธุรกิจ ขนาด ยอดขาย รวมถึงการส่งต่อความคิดนี้ให้มันโตขึ้นเรื่อยๆ” กอล์ฟยืนยันความตั้งใจ

เส้นทางต่อจากนี้ของสาหร่าย จึงไม่ใช่แค่การเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่อยากให้ทุกคนมีทางเลือกและทางออกเชิงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังตั้งใจเป็นคอมมิวนิตี้ที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แชร์เรื่องราวการขยับสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เชื่อมโยงผู้คนถึงกัน และเป็นเหมือนเพื่อนที่สัญญาว่าจะค่อยๆ เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ข้อมูลติดต่อ
Website : sarr.rai
Facebook : sarr.rai
Instagram : sarr.rai

Tagged:

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like