ชมเฌย

เต้นรำไปกับ Rumba Bor แบรนด์สารพัดงานดีไซน์ที่พลิกความแมส เชย และเก่าเก็บให้เซ็กซี่

“เราชื่อรัมภา แต่ครอบครัวชอบเรียกว่ารัมบ้า เพราะเราบ้า ส่วนสินค้าแรกที่ขายชื่อเก้าอี้เฌย มาจากที่มันเป็นเก้าอี้ที่ใครเห็นก็บอกว่าเชยมาก แต่น้องในทีมบอกว่า ช ช้างมันธรรมดาไป ขอเปลี่ยนเป็นฌ เฌอว่าเฌยแล้วกัน”

หญิงสาวตรงหน้าเรานี้มีนามว่า รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์ อดีตนักเรียน Fine Arts ที่เติบโตมากับความหลงใหลของกระจุกกระจิกสีสันแปลกตา และคลั่งไคล้การเดินเตร็ดเตร่เพื่อชมสารพัดของโบราณข้างถนน 

จากความชอบนั้นเอง รัมภาจึงคลอด Rumba Bor แบรนด์ดีไซน์ที่หยิบสารพัดของแมสที่หลายคนอาจมองว่าเช้ยเชยมาพลิกแพลงให้ร่วมสมัยและเต็มไปด้วยสุนทรียะ ทั้งเก้าอี้นาม ‘เฌย’ ที่มีเฉดสีสะดุดตาพร้อมลวดลายสะดุดใจ หรือจะเป็นสินค้าตัวใหม่ที่หยิบเอาลูกกรงโรมันเก่าเก็บมาสะบัดความเชยให้ชิคขึ้น

ความชอบเล่นชอบลองของเธอ ทำให้ของเชยๆ ที่หลายคนอาจคิดว่าไม่น่าขายได้กลับได้รับความสนใจจนได้ผลิตล็อตต่อๆ มา จากที่หลายคนเคยหันหลังให้กับสุนทรียะแบบโบราณสมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายาย รัมภากลับทำให้พวกเขากลับมาสปาร์กจอยกับของเหล่านั้นได้อีกครั้ง 

บ่ายวันธรรมดา ในย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยข้าวของที่รัมภาหลงใหล เรานัดกับเธอที่ Jeen coffee bar หน้าร้านแห่งแรกๆ ของ Rumba เพื่อชมเฌย ก่อนที่รัมภาจะพาเราไปเผยถึง 4P และอีก 1 หัวใจที่เธอใช้กระชากทุกความเชยให้กลายเป็นความชิคที่ใครก็อยากจับจอง

Product
ลองเฌย

 ก่อนจะกำเนิดเฌยอย่างทุกวันนี้ รัมภาเท้าความให้ฟังว่าที่จริงเก้าอี้เฌยเคยมีบรรพบุรุษมาก่อน

ผู้ตั้งต้นต้นแบบเก้าอี้เฌยนั้นคิดผลิตเก้าอี้จีนวัสดุ PVC ออกมาขายแต่อาจด้วยยุคสมัยและราคาที่หลายคนน่าจะมองว่าแพงเกินไปสำหรับเก้าอี้พลาสติก บรรพบุรุษของเฌยจึงไม่ได้แจ้งเกิด

“เราเลยคิดว่าถ้าเอามาทำแบรนดิ้งใหม่ นำเสนอให้มันดูน่าตื่นเต้นขึ้น เพิ่มสีเข้าไปให้มันจี๊ดจ๊าด ทำให้มันเป็นเก้าอี้ที่ไม่ได้มีเอาไว้นั่งเฉยๆ แต่เป็นเก้าอี้ที่มีติดบ้านแล้วใช้งานได้หลากหลาย วางต้นไม้ วางพัดลม วางข้างหัวเตียง เหมือนเป็นของตกแต่งชิ้นหนึ่ง มันก็น่าจะดี”

แรกเริ่ม เฌยมีด้วยกัน 2 สี คือสีใสและขาวขุ่น ก่อนที่รัมภาจะใช้ความเป็นศิลปินที่ชอบทดลอง และหาคำตอบระหว่างกระบวนการมาเป็นตัวตั้ง จนรังสรรค์เป็นเฌยคอลเลกชั่น ‘รวมมิตร’ ที่มีมากถึง 11 สีในล็อตแรก และในล็อตใหม่ๆ ก็จะมีสีเพิ่มมากขึ้น 

“มันเริ่มจากถามซัพพลายเออร์เม็ดพลาสติกรีไซเคิลว่าเขามีกี่สี แล้วเราก็เอามาทุกสี สีละ 2 ถุง โดยที่ยังไม่มีแพลนหรอกว่าจะผสมยังไง บอกน้องในทีมว่าเดี๋ยวไปดูหน้างาน ด้วยเราเป็นคนค่อนข้าง spontaneous เพราะรู้สึกว่าถ้ามีแพลนก่อนมันจะตีกรอบสิ่งที่เราอยากทำ 

“เรามีแค่โครงในหัวว่ามีเวลาฉีด 2 วัน วิธีการเป็นยังไงบ้าง จากนั้นก็ลองหยอดๆ ไป น้องที่ทำงานคนหนึ่งก็บอกว่าพี่มันต้องจดสัดส่วน เขาก็คงคิดว่าเราทำอะไรอยู่วะเนี่ย แต่พอสุดท้ายทุกคนเห็นผลลัพธ์ที่ออกมา ทุกคนก็เริ่มเข้าใจว่าเราอยากจะเล่นกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เพื่อให้มันเกิดเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง” 

การสร้างสรรค์สินค้าที่มาจากการทดลองนี้เองทำให้แต่ละสียังมีเฉดแยกย่อยของตัวเอง ความน่ารักคือชื่อแซ่ของเฌยแต่ละสียังตั้งได้มีจริต เช่น สีเขียวใบเตย สีฟ้าอัญชัน สีน้ำตาลซาสี่ สีเขียวขาวตะโก้ หรือสีแดงพริกที่รัมภาเล่าว่ามาจาก ‘พริงแห้งแสบตูด’ ที่พ่อของเธอตั้งให้

“ตอน 2 สีแรกออกมา คนรอบข้างก็บอกว่าไม่ต้องทำแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าเฌยมันมีอะไรและมันมีทางที่ต่อยอดและเล่นได้อีกเยอะจนได้ออกมาเป็นรวมมิตรและลูกชุบที่ใน 1 ตัวจะมีหลายสีผสมกันนี่แหละ”

กระชากเฌย

วันนี้เฌยกลายเป็นสินค้าหลักของ Rumba ที่ทำให้ห้างร้านรู้จักและอยากติดต่อไปวางขาย จึงเป็นแนวทางให้ Rumba เป็นแบรนด์ดีไซน์ที่กระชากทุกความเชยให้ชิค

“ถ้าถามว่า Rumba คืออะไร เราว่ามันคือแบรนด์ที่เอาภูมิปัญญาเก่าๆ ที่มันแมส มัน kitsch และคนมองข้ามมาดัดแปลงใหม่” รัมภานิยามแบรนด์ที่ปั้นมากับมือ 

 “เรารู้สึกว่าของแมสมันมีความสะเหล่อ แต่พอใช้คำว่าสะเหล่อแล้วมันจะดูแย่ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้หมายความแบบนั้น แต่มันคือความ kitsch ที่เราว่ามันมีเสน่ห์ เช่น โต๊ะหินอ่อน โต๊ะทรงสตรอว์เบอร์รี ตะกร้าสีแจ๊ดๆ ในความแมสที่เราว่ามันมีอะไรตรงนี้แหละ คนอื่นอาจจะมองข้ามแต่เราอยากทำให้คนหันกลับมามองว่ามันมีอะไร”

เป็นที่มาของสินค้าที่สองของ Rumba อย่าง ‘เฌิง’ ที่หยิบเอาลูกกรงโรมันที่คนทั่วไปนำไปสร้างบ้านหรือวัด มาผสมผสานกับเฌยจนกลายเป็นศิลปะชิ้นใหม่ที่นำไปวางของก็ได้ หรือตกแต่งเพิ่มความแตกต่างให้บ้านก็ดี

“ตอนแรกจะตั้งชื่อว่าดอกจอก แต่กลัวเพื่อนเรียกว่ากระจอก เลยตั้งว่าเฌิงซึ่งมาจากเชิงเทียน” ตัวเสานั้นทำจากสเตนเลส 304 ที่แม้จะ dead stock แต่ไม่มีสนิม ภายนอกอาจดูหวาน แต่ที่จริงนั้นแข็งแรงไม่น้อย

 “เราคิดของต่างๆ โดยใช้ aesthetic นำก็จริง แต่เราก็ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นนะ เพราะการที่มันฟังก์ชั่นแปลว่ามันจะอยู่ได้นาน ไม่พังง่ายๆ อย่างเก้าอี้เฌยมันอาจจะไม่ใช่เก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุด แต่มันนั่งได้จริงๆ และแข็งแรงมาก 

“มีลูกค้าคนหนึ่งเขาซื้อลูกชุบไป 4 ตัว เราก็ถามว่าเอาไปทำอะไรคะ 4 ตัว เขาบอกว่าเขาชอบลูกชุบมาก เขาจะเอาไปนั่งกินหมูกระทะ” รัมภาหัวเราะ 

นอกจากเรื่องการใช้งาน อีกสิ่งที่เธออยากให้คนรู้สึกเมื่อได้รับของ Rumba ไปคือเธออยากกระตุ้นให้คนมองของเชยๆ เป็นของที่มีค่ามากขึ้น 

“ไม่ใช่แค่ตัวเก้าอี้หรือของที่เราทำนะ แต่กระทั่งเวลาเดินข้างถนนแล้วเห็นลูกกรงหรือเห็นเหล็กดัด เราก็อยากทำให้คนเริ่มสังเกต ตื่นเต้น หรือเห็นค่าของเหล่านี้”

ชมเฌย

“ถ้าเจอชุดว่ายน้ำ 2 แบรนด์ แบรนด์หนึ่งขายถูกกว่า อีกแบรนด์ขายแพงแต่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เราก็จะเลือกแบรนด์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลนะ เพราะถ้าไม่ซื้อของมือสองไปเลย เราก็อยากซื้อของที่มันยั่งยืนจริงๆ พอมาทำแบรนด์เอง เราเลยไม่อยากทำแบรนด์ที่มันสร้างขยะเพิ่มให้โลก”

เมื่อชมเฌยสารพัดสินค้าของ Rumba จากภายนอก เราอาจมองเห็นเพียงความสวยงาม แต่เมื่อซูมให้ลึกลงไปแล้วนั้น สิ่งที่รัมภาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องความยั่งยืน

อย่างพลาสติกที่นำมาทำเฌยก็เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ลูกกรงเซรามิกที่นำมาทำเฌิงก็เป็นของ dead stock ที่ผู้ผลิตบอกว่าไม่มีใครซื้อไป อีกสิ่งที่เราว่าน่าสนใจคือเจ้าเก้าอี้เฌยคอลเลกชั่น ‘แหว่ง’ ที่รูปทรงอาจไม่สมบูรณ์ แต่ความสวยงามไม่ได้ลดน้อยลง

“ตอนโรงงานวอร์มเครื่อง มันจะฉีดได้ไม่เต็มโมลด์ บางคนอาจเลือกเอาไปทิ้งหรือบดทำใหม่ ซึ่งมันไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่เปลืองพลังงาน เราเลยเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมาว่าถ้าเรามองของที่มันเป็น waste ให้เป็น potential แทน มันก็สร้างมูลค่าได้และไม่สิ้นเปลืองด้วย เป็นที่มาของแหว่ง ที่บางคนอาจจะไม่เลือกซื้อเพราะมันแหว่ง แต่มันกลับน่าตื่นเต้นสำหรับบางคน

“หรือบางอันที่สีมันออกมาเพี้ยนๆ เราก็แค่จับคู่สีให้มันก็สวยแล้ว บางชิ้นที่ดูเหมือนมีกากเพชรมันมาจากการเกิดฟองอากาศในขั้นตอนการฉีด ในเชิงการใช้งานมันไม่ได้มีผลขนาดนั้น เพราะด้วยโมลด์เก้าอี้เฌยหนากว่าเก้าอี้พลาสติกทั่วไปอยู่แล้ว แล้วเราก็มีที่ยึดน็อต เพียงแต่ถ้านำไปใช้งานก็แนะนำให้รับน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม”

ดีไซน์ที่โดดเด่น วิธีการที่ทำของแมสที่คนคุ้นเคยให้สะดุดตา แถมยังดีต่อโลกด้วยนี้เอง ที่ทำให้คนต่างก็อยากได้สารพัดสินค้าจาก Rumba ไปครอบครอง

Price

รัมภารู้ดีว่าการตั้งราคาให้กับของที่มีความกึ่งแมสกึ่ง niche แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้นจะตั้งราคาสูงเมื่อมองในมุมของผลงานศิลป์ ก็เกรงว่าคนจะเข้าไม่ถึงและเอื้อมไม่ได้ แต่ครั้นจะตั้งราคาถูกเพื่อดึงคนหมู่มาก ก็ใช่ว่าจะขายได้และยั่งยืนเสมอไป

ราคาปัจจุบันของเฌยและเฌิงนั้นอยู่ที่หลักพัน ซึ่งแรกเริ่มที่ยังไม่มั่นใจว่าจะขายได้หรือไม่ รัมภาและทีมจึงตั้งราคาแบบลืมคิดถึงต้นทุนแฝง

“เราทำเก้าอี้ 111 ตัว แต่ละตัวมีสีที่ไม่เหมือนกัน เราต้องมาถ่ายรูปอย่างละ 3 มุม ก็กลายเป็น 333 รูป มันทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แล้วสมมติว่าเรายิงแอดสีนี้แต่สีนี้ขายหมดแล้ว เราก็ยิงต่อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนภาพ แปลว่า cost มันงอกขึ้นมา ไหนจะเรื่องการจัดเก็บ การแพ็กอะไรอีก มันมีต้นทุนแฝงเกิดขึ้นเยอะมาก ไหนจะค่าความครีเอทีฟของผลงานอีก”

กลายเป็นว่ากลุ่มลูกค้าของเธอนั้นมีจริงๆ และยังเป็นกลุ่มที่เข้าใจและเต็มใจที่จะซื้อเก้าอี้ราคาหลักพันไปประดับบ้านครั้งละหลายตัว

“ส่วนใหญ่ลูกค้าเราเป็นคนติสท์ๆ แต่บางคนก็หรูเลย อีกสิ่งที่แปลกใจคือกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยและเด็กจบใหม่ เพราะตอนแรกเราไม่คิดว่าเด็กจะมาซื้อของราคานี้ แต่เราก็เซอร์เวย์กับน้องในออฟฟิศแล้วแหละว่าถ้าเขาชอบจริงๆ เขาก็ซื้อ เท่าที่ดูกลุ่มลูกค้าก็คือคนทำงานครีเอทีฟแหละ เพียงแต่ว่าเขาจะครีเอทีฟด้านไหน ก็แตกต่างกันไป” รัมภาสรุป 

Place

Rumba เน้นขายของในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก นั่นจึงมีผลต่อการทำสินค้าให้สามารถถอดประกอบเองได้ 

เราเน้นขายออนไลน์ในช่วงแรกเพราะว่าของเราแต่ละชิ้นมันไม่เหมือนกันเลย การจะจัดการสต็อกมันก็ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากขายออฟไลน์นะ แค่กำลังอยู่ในขั้นตอนว่าจะทำยังไงให้มันเวิร์ก”

ปัจจุบัน นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว รัมภายังพา Rumba ไปโลดแล่นในโลกออฟไลน์ในบางคราเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสของจริง

“เราเคยไปออกงานบ้านและสวน ตอนนั้นน่าจะมีคนซื้ออยู่แค่ประมาณ 5 คนเองมั้ง จำได้ว่าทุกคนในทีมเฟลมาก แต่เรารู้สึกว่าไม่เป็นไร เรายังมีหวัง แต่นั่นก็เป็นไอเดียให้เราอยากทำสตูดิโอของเราขึ้นมาเอง ให้คนได้มาเห็นของจริงในพื้นที่ที่เราจัด ให้คนได้มามิกซ์แอนด์แมตช์เก้าอี้เฌยกันตรงนั้นเลย”

ก่อนที่สตูดิโอจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บุกไปชมเฌยได้นั้น ปัจจุบัน รัมภายังกระจายเฌยไปตั้งที่ Jeen coffee bar ร้านกาแฟย่านสัมพันธวงศ์ที่เธอเล่าว่าเป็นลูกค้ารายแรกๆ ที่ติดต่อมาว่าต้องการเก้าอี้เฌยไปตั้งในร้าน 

 “เราอัพรูปเก้าอี้ลงสตอรีไอจี แล้วเขาก็ทักมาว่าเขาอยากได้เก้าอี้สีน้ำเงินให้มันเข้ากับคอนเซปต์ร้าน เราเลยได้ฉีดเฌยสีน้ำเงิน Jeen ให้เขา และนำไปฝากวางขายด้วยเลย ทำให้มีคนเห็นเฌยมากขึ้นและมีคนติดต่อซื้อผ่านเขาเยอะเหมือนกัน อีกที่ที่มีวางขายก็ร้าน Warpp ที่เชียงใหม่”

ส่วนพื้นที่ของ Rumba ในอนาคตจะเป็นยังไง รัมภาวางแนวทางเอาไว้ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เธอได้เล่นสนุกและหยิบของเก่ามาแปลงโฉมใหม่ ทั้งเพื่อให้ลูกค้าได้มาชมเฌยจริงๆ ได้มาเล่นสนุกและได้ DIYเก้าอี้ และเพื่อสื่อสารว่า Rumba นั้นเป็นได้มากกว่านี้

 Promotion

“เราชอบแบรนด์ที่ดูมีความจริงใจ” รัมภาเผยความสนใจ 

“เราไม่อยากให้คนมองว่า Rumba เป็นแบรนด์ที่เล่นกับการตลาดหรือเทรนด์ แต่อยากให้คนที่เห็นรู้สึก ได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง อยากให้เขาเห็นแล้วรู้สึกว่ามันเป็นไอเดียที่เขานำไปต่อยอดได้ เขาไม่จำเป็นต้องซื้อของเราเขาก็นำไปปรับใช้กับบ้านเขาได้”

Rumba จึงไม่เน้นการยิงแอดโฆษณามากเกินพอดี ไม่เน้นการลดแลกแจกแถม แต่หากอยากขอบคุณลูกค้าจากใจ รัมภาเลือกจัดโปรโมชั่นพิเศษอย่างการทำ giveaway เพราะถือว่าเป็นการเปิดตัวและโปรโมตสินค้าใหม่ไปในตัว และให้ลูกค้าได้ทดลองใช้โปรดักต์จริงๆ อีกด้วย 

“เคยเห็นแบรนด์ที่เดี๋ยวก็ลดเดี๋ยวก็ลดไหม มันทำให้เราไม่แน่ใจว่าเราควรซื้อตอนนี้หรือควรรอเขาลดราคามากกว่านี้ คือเราไม่ชอบแบรนด์ที่ใช้จิตวิทยาหลอก ถ้าจะลด 20% ตลอดปี ก็เขียนราคานั้นไปเลยสิ ไม่ต้องมาหลอกกันว่าจัดโปรโมชั่น 

“หรือกระทั่งการปล่อยสินค้า แทนที่เราจะเลือกปล่อยรวมมิตรออกมาทีละสีๆ เพื่อให้ในเชิงการตลาดมันมีอะไรได้หล่อเลี้ยงแบรนด์ และอาจจะเพิ่มยอดขาย เพราะคนเห็นสีที่ออกมาหลังๆ ก็อาจจะซื้อเพิ่ม เราไม่อยากทำแบบนั้น เพราะถ้ามองในมุมลูกค้า ถ้าเราจะซื้อเก้าอี้สีๆ เราก็ต้องอยากรู้ใช่ไหมว่าจะมีสีอะไรบ้าง”

โปรโมชั่นของ Rumba จึงกลั่นจากการพยายามมองแบรนด์ในฐานะลูกค้าให้มากที่สุด

Play

เราแอบลังเลระหว่าง play กับ potential แต่ก็เอนไปทาง play มากกว่านะ” รัมภาตอบเมื่อเราชวนครุ่นคิดถึงอีก P ที่สำคัญในการปั้น Rumba ให้มีชีวิต

“การเล่นมันสอดคล้องกับบุคลิกของเราที่ spontaneous มันสอดคล้องกับอินเนอร์ แล้วก็สอดคล้องกับการทำงานที่เราอยากให้คนในทีมสนุกด้วย แล้วการเล่นมันก็เหมือนจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์ มันเหมือนการที่เราได้เต้นออกนอกกรอบ 

“เพราะจริงๆ ชื่อ Rumba ที่มาจากรัมภา มันก็พ้องเสียงกับคำว่า ‘รำ’ ด้วย Rumba มันเลยไม่ได้จำกัดแค่การทำสินค้าแต่เรามองว่ามันคือ art collective ที่เราสามารถเต้นรำไปเรื่อยๆ ได้” 

ในอนาคต Rumba จะร่ายรำไปทางไหน รัมภาจะชวนให้เราเห็นความสนุกและเสน่ห์ของของแมสที่คนมองข้ามได้ยังไง ขอชวนทุกคนร่ายรำและลองเล่นกับ Rumba ไปด้วยกัน

ขอบคุณสถานที่ Jeen Coffee Bar

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like