ฮีโร่ไม่ต้องสวมผ้าคลุมสีแดง

Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคทั้งบริษัทเพื่อช่วยโลกรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

“ตอนนี้มีแค่โลกเท่านั้นที่เป็นหุ้นส่วนของเรา”

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกคือข่าวที่ Patagonia ตัดสินใจยกทั้งบริษัทให้องค์กรการกุศลเพื่อช่วยโลกรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันเลวร้าย อย่างประโยคข้างต้นที่ อีวอน ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ประกาศเอาไว้

การประกาศครั้งนี้ถ้าดูแค่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะดูเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่คนที่รู้จัก Patagonia มาบ้างย่อมทราบดีว่าพวกเขามีแนวคิดที่จะช่วยเหลือโลกใบนี้มาโดยตลอด

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก Patagonia คือแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สัญชาติอเมริกัน อย่างพวกเสื้อแจ็กเก็ต กระเป๋าเดินป่า รองเท้าสำหรับเดินเขา หมวกไหมพรม และสินค้าต่างๆ สำหรับคนที่หลงใหลในการเดินป่าปีนเขาชอบใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ สิ่งที่เป็นหัวใจของ Patagonia คือวิธีการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดการทำลายธรรมชาติและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในโฆษณาของแบรนด์ที่ยังถูกพูดถึงจนวันนี้คือตอนที่ Patagonia ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า “Don’t Buy This Jacket” เพื่อให้ลูกค้ามีสติในการซื้อสินค้ามากกว่าแค่ซื้อเพราะอยากได้

ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี 1985 ทางแบรนด์ได้ร่วมก่อตั้งโครงการ ‘1% for the Planet’ ที่มีบริษัทอีกหลายพันแห่งมาร่วมสัญญากันว่าจะมอบ 1% ของยอดขายทั้งหมดให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปี 2017 ก็เริ่มโครงการให้ลูกค้าสามารถส่งเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วกลับมา พวกเขาก็เอาไปทำความสะอาดซ่อมแซมและขายผ่านเว็บไซต์ Worn Wear เปลี่ยนเป้าหมายบริษัทเป็น ‘We’re in business to save our home’ หลังจากนั้นปี 2019 ก็ทำโครงการ Recrafted ผลิตเสื้อผ้าจากเศษผ้าที่ใช้แล้วด้วย

นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นบริษัทแรกๆ ที่ใช้ผ้าฝ้ายออร์แกนิกและวัสดุรีไซเคิลในเครื่องแต่งกายทำให้เกิดความนิยมที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การผลักดันให้มีการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบปฏิรูป

แม้แต่ในที่ทำงาน Patagonia ก็เหมือนมาก่อนกาลหลายสิบปี อย่างแนวคิดเรื่อง ‘เวลาทำงานยืดหยุ่น’ ของพนักงานที่สามารถลาไปไปปีนเขาและเล่นกระดานโต้คลื่นได้ แถมเริ่มโครงการตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงานตั้งแต่ปี 1984 แล้ว

ตั้งแต่ Patagonia ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1973 อีวอน ชูนาร์ด และครอบครัวของเขาได้ดูแลบริษัทเสื้อผ้าแนวเอาต์ดอร์มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ผ่านมาราวๆ 5 ทศวรรษ กรรมสิทธิ์ของบริษัทกำลังจะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับหน่วยงานที่สร้างขึ้นใหม่ 2 แห่ง เพื่อจัดการโครงสร้างการดำเนินการของบริษัทและยกระดับการรับมือเรื่องของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ

และที่สำคัญกว่าคือการยกระดับการรับมือเรื่องของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยหุ้นของบริษัทในส่วนที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์โหวต (voting stock) ราว 2% จะถูกโอนไปให้หน่วยงานที่ชื่อว่า Patagonia Purpose Trust ส่วนที่เหลืออีก 98% จะถูกโอนเข้าสู่หน่วยงานการกุศลที่ชื่อว่า ‘Holdfast Collective’

เป้าหมายของ Patagonia Purpose Trust คือการสร้างโครงสร้างทางกฎหมายแบบถาวรเพื่อดูแลวัตถุประสงค์และค่านิยมของบริษัทไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ของชูนาร์ด และยังคงแสดงให้เห็นว่าระบบทุนนิยมสามารถทำงานเพื่อโลกได้ ในขณะเดียวกัน บริษัทกล่าวว่าผลกำไรประจำปีทั้งหมดที่ไม่ได้นำกลับมาลงทุนในธุรกิจ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะถูกแจกจ่ายโดย Patagonia เป็นเงินปันผลให้กับ Holdfast Collective เพื่อนำไปเป็นทุนแก่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับรากหญ้า ลงทุนในธุรกิจและสนับสนุนผู้สมัครทางการเมืองที่ทำงานเพื่อปกป้องธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือและต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ชูนาร์ดกล่าวว่า

“แทนที่เราจะเข้าตลาดหุ้น คุณอาจจะเรียกว่าเราเข้าไปสู่เป้าหมายแทนมากกว่า แทนที่จะดึงเอาคุณค่าของธรรมชาติมาสร้างเป็นความร่ำรวยของนักลงทุน เราจะใช้ความร่ำรวยที่ Patagonia สร้างขึ้นเพื่อรักษาต้นกำเนิดของความร่ำรวยทั้งหมดเอาไว้”

มูลค่าของบริษัท Patagonia ถูกประเมินเอาไว้ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 1 แสนล้านบาท และมีรายได้ต่อปีราวๆ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของบริษัท ชูนาร์ดไม่เคยเลยในชีวิตที่คิดอยากเป็นนักธุรกิจหรือสร้างบริษัทของตนเอง เขาอยากเป็นช่างฝีมือมาโดยตลอด ตอนแรกๆ สร้างอุปกรณ์ปีนเขาและเพื่อนๆ สนใจเลยขายสร้างรายได้นิดๆ หน่อยๆ จนกระทั่งในปี 1970 หลังจากกลับมาแคลิฟอร์เนียจากทริปปีนเขาที่สกอตแลนด์ เขาก็ใส่เสื้อรักบี้ที่เขาใช้สำหรับการปีนเขาสกอตแลนด์อยู่บ่อยๆ เพราะปกคอเสื้อมันหนาทำให้สายอุปกรณ์ไม่บาดคอ เพื่อน ๆ ก็ชอบมาก เขาเลยคิดว่างั้นลองนำเข้าแล้วก็ขายดูละกัน จนกระทั่งกลายเป็นร้านขายอุปกรณ์ปีนเขาและเสื้อผ้า ตั้งชื่อว่า ‘Chouinard Equipment’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘Patagonia’ หลังจากไปปีนเขาที่นั่นกับเพื่อนสนิทแล้วประทับใจมาก

ในหนังสือ “Let My People Go Surfing: The Education of a Reluctant Businessman” ที่ชูนาร์ดเขียนเขาบอกว่า ถ้าเขา ‘ต้องเป็นนักธุรกิจ’ เขาก็จะเป็น ‘ในแบบที่เขาอยากเป็นเท่านั้น’

“การทำงานต้องมีความสุขในทุกๆ วัน […] เราต้องอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ ที่แต่งตัวแบบไหนก็ได้ตามใจชอบ แม้กระทั่งเท้าเปล่าก็ไม่เป็นไร”

ในจดหมายถึงพนักงานชูนาร์ดเขียนว่าเขาพยายามค้นหาวิธีที่จะเอาเงินไปช่วยเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะที่ยังคงรักษาคุณค่าของบริษัทไว้เหมือนเดิม แต่ก็ไม่เจอทางเลือกที่ดีเลย ครั้นจะขายบริษัทและบริจาคผลกำไรทั้งหมดก็คงช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าค่านิยมของบริษัทจะยังอยู่เหมือนเดิม การเข้าตลาดหุ้นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะต้องเจอแรงกดดันที่ไม่มีวันสิ้นสุดของนักลงทุนในวอลล์สตรีทเพื่อสร้างผลกำไรในระยะสั้นโดยแลกกับความรับผิดชอบในระยะยาว

“เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่เราได้เริ่มต้นการทดลองเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ถ้าหากจะมีความหวังให้โลกนี้ยังคงสวยงามในอีก 50 ปีข้างหน้า มันจำเป็นที่เราทุกคนต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ด้วยทรัพยากรที่เรามี ในฐานะของผู้นำธุรกิจที่ผมไม่เคยอยากเป็น ผมก็ทำในส่วนของผม

“ผมจริงจังมากๆ ที่จะรักษาโลกใบนี้เอาไว้”

ตอนนี้ชูนาร์ดและบอร์ดบริหารจะยังคงดูแลทั้ง Patagonia Purpose Trust และ Holdfast Collective ต่อไปอยู่เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่นการป้องกันไม่ให้เกิดการหาผลประโยชน์ในกลุ่มผู้นำเอง หรือโครงสร้างของบริษัทที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อรักษาค่านิยมของบริษัทกลับไม่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้เต็มที่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าพวกเขายังต้องดูแลและจัดการต่อไปอีกสักพักจนกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางและมั่นใจได้ว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นไม่มีช่องโหว่ในด้านใดก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขาหรือการทำธุรกิจชูนาร์ดเผชิญหน้ากับความท้าทายมาโดยตลอด เขาหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับบริษัทอื่นๆ ที่มองหาวิธีเชื่อมระหว่างทุนนิยมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้อยู่ด้วยกันได้ ชูนาร์ดเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“มันเป็นยอดเขาที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณปีนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันที่จะไปถึงจุดสูงสุด แต่มันคือการเดินทาง”

ตอนนี้อนาคตของ Patagonia นั้นชัดเจนแล้ว ความท้าทายต่อไปคือบริษัทจะต้องคงความทะเยอทะยานดำเนินธุรกิจให้สร้างผลกำไรไปพร้อมๆ กับช่วยเหลือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อยากทำด้วย นักวิเคราะห์หลายคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าหลังจากนี้ Patagonia อาจสูญเสียความมุ่งมั่นและไม่พัฒนาต่อไปเพราะไม่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจตามหลักทุนนิยมให้บริษัทเติบโตอีกต่อไปแล้ว

เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเป้าหมายที่ Patagonia วางเอาไว้นั้นจะสำเร็จหรือไม่ และจะมีบริษัทอื่นๆ ทำตามมากขนาดไหน (หรือมีรึเปล่า) แต่สำหรับชูนาร์ดแล้วเขารู้สึกเบาใจ แก้ปัญหาคาใจที่เขามีมาโดยตลอดว่าถ้าผู้ก่อตั้งบริษัทไม่อยู่แล้วมันจะยังคงเป็นเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า และผลกำไรของบริษัทจะถูกนำไปช่วยเหลือโลกต่อไปไหม อย่างที่เขากล่าวในการสัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า

“ผมรู้สึกโล่งใจอย่างมากที่จัดชีวิตให้เป็นระเบียบแล้ว สำหรับเรา นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว”

อ้างอิง

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like