นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

Noma Nordic

Noma ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกที่จะปิดตัวเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความยั่งยืนในวงการอาหาร

เสียงลือเสียงเล่าอ้างที่พร่ำบอกต่อกันมาว่า ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินมักจะเป็นร้านอาหารที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่าอยู่ในจานอาหารนั้นๆ เช่น สเต๊กเนื้อจานนี้ทำมาจากวัวที่ถูกเลี้ยงโดยการปล่อยให้เดินไปกินหญ้าเองตามธรรมชาติ เนื้อวัวจึงมีความนุ่มละมุนเพราะวัวถูกเลี้ยงอย่างมีความสุข ซอสที่ราดท็อปบนฟัวกราส์ชิ้นนี้ถูกรังสรรค์มาอย่างดีจากการผสมผสานของผลไม้รสเปรี้ยวและเบอร์รีหลากชนิดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติตามริมเขาของประเทศ

เรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังอาหารแต่ละชิ้น แต่ละจาน ก็อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งให้ร้านอาหารแต่ละร้านได้รับดาวมิชลินมาประดับ แต่การที่ร้านอาหารสักร้านจะขึ้นมายืนหนึ่งและถูกกล่าวขานในวงการว่าเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก คงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเล่าในอาหารเพียงลำพัง หากแต่ยังประกอบไปด้วยส่วนสำคัญของสิ่งอื่นอีกมากมาย

และร้านอาหารที่หลายคนว่ากันว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก ก็คือ Noma

ร้าน Noma ตั้งอยู่ที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เปิดมาตั้งแต่ปี 2003 โดยเชฟเรเน่ เรดเซปี (René Redzepi) และหุ้นส่วนคนสำคัญอย่าง คลอส เมเยอร์ (Claus Meyer) นอกจากการที่ Noma ได้รับ 3 ดาวมิชลิน ในปี 2021 (ซึ่ง ณ ปัจจุบันการได้รับ 3 ดาวมิชลินถือเป็นการได้รับการจัดอันดับที่สูงที่สุดของมิชลิน) หรืออีกนัยหนึ่งคือการได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านอาหารที่ยอดเยี่ยม ควรค่าแม้จะต้องเดินทางไกลเพื่อไปชิม Noma ยังเป็นร้านที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้โลกต้องหันมามองสแกนดิเนเวียและจดบันทึกผืนดินแถบนี้ไว้เข้ามาอยู่ในแผนที่วงการร้านอาหารโลก

The Financial Times ถึงขนาดยกย่องว่า Noma ทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมกกะแห่งวงการอาหาร เป็นดินแดนยูโทเปียที่เต็มไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะความหนักแน่นในการใช้แนวทางของนอร์ดิกเข้ามาเป็นธีมหลักของการทำร้านอาหารตั้งแต่บรรยากาศของร้านไปจนถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร ล้วนแล้วแต่มาจากแถบสแกนดิเนเวียนทั้งสิ้น การนำเอาความสแกนดิเนเวียนมาพัฒนาและนำเสนออกมาในรูปแบบของอาหารได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่ตอนเปิดร้านในปี 2003 จนถึงวันนี้ ปี 2023 Noma และ เรดเซปี ได้นำพาความเป็นนอร์ดิกให้โลกได้ประจักษ์ว่า ถ้าโลกเคยจดจำชาวไวกิ้งในฐานะนักรบอันยิ่งใหญ่ในอดีต ในปัจจุบันเรดเซปีก็ทำให้โลกรู้ว่าอาหารสแกนดิเนเวียนก็เกรียงไกรได้ไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ Noma ถูกเรียกว่าเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก อาจจะต้องยกให้ทุกสิ่งทุกอย่างทุกรายละเอียดและองค์ประกอบ สิ่งละอันพันละน้อยของ Noma ทั้งการเดินมาต้อนรับทักทายแขกที่เป็นลูกค้าตั้งแต่หน้าร้านของพนักงาน Noma, การเดินพาลูกค้าผ่านสวนเขียวและเรือนกระจกที่ใช้ปลูกสมุนไพรและดอกไม้ป่าพร้อมคำบรรยายระหว่างทางไปจนถึงตัวอาคารร้านอาหาร, การตกแต่งภายในร้านที่ให้ความอบอุ่นแต่ชุ่มชื้นด้วยต้นไม้ใบเขียว โทนสีอบอุ่นของร้านและเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบสแกนดิเนเวียน รวมไปจนถึงการเสิร์ฟอาหารและการบอกเล่าเรื่องราวของอาหารแต่ละจานของพนักงาน Noma เมื่อนำอาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะของลูกค้า

ประสบการณ์ทุกอย่างที่ลูกค้าได้รับจาก Noma ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในร้านทั้งความอบอุ่นสบายตามสไตล์ฮุกกะ (Hygge–คุณภาพของความอบอุ่นและสุขสบายซึ่งมักเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเดนมาร์ก) แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหรูหราในราคาของค่าบริการ คงจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากขาดองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของร้าน

นั่นคืออาหาร!

เรดเซปีแบ่งเมนูอาหารของร้าน Noma ออกเป็น 3 ช่วงฤดูกาลด้วยกัน

มกราคม-มิถุนายน เสิร์ฟอาหารทะเล

มิถุนายน-กันยายน เสิร์ฟอาหารจำพวกผัก

ตุลาคม-ธันวาคม เสิร์ฟเนื้อสัตว์ป่าและอาหารป่า

ทั้งหมดทั้งมวลเกิดมาจากแนวคิดของเรดเซปีที่อยากนำวัตถุดิบทั้งหมดจากท้องถิ่นมาผลิตและปรุง ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นจัดจนพืชผักไม่สามารถเติบโตได้ ในช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ Noma จะหาอาหารทะเลมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักเพื่อเสิร์ฟให้ลูกค้า จากนั้นเมื่อถึงฤดูกาลที่พืชดอกออกผล Noma จะสามารถเลือกพืชพรรณที่มีอยู่เป็นร้อยชนิดมาทำเมนูให้ลูกค้าได้ชิม จากนั้นเมื่อมาถึงฤดูที่อากาศเริ่มกลับมาเย็นลงอีกครั้งและใบไม้เริ่มร่วงจึงเป็นฤดูกาลแห่งการกินเนื้อสัตว์และผลไม้จากป่า เช่น เบอร์รีและเห็ด

แรกเริ่มตอนที่เริ่มก่อตั้งร้าน Noma เรดเซปีอายุเพียงแค่ 20 กลางๆ แต่ด้วยคอนเซปต์ของร้านที่ชัดเจน แน่วแน่และหนักแน่น นั่นคือเน้นเอาวัตถุดิบท้องถิ่นในสแกนดิเนเวียมาผลิตในร้านเท่านั้น ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ เทคนิคการทำอาหารที่น่าตื่นตาตื่นใจ และคาแร็กเตอร์ของเรดเซปี ที่ The World’s 50 Best Restaurants (ลิสต์จัดอันดับร้านอาหารที่โด่งดังที่สุดจากสื่ออังกฤษ) เคยนิยามเอาไว้ว่าเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของเขา นั่นคือ ‘การสร้างขึ้นมาใหม่’ (reinvention) ผลักดันให้ร้าน Noma และเรดเซปี ประสบความสำเร็จอย่างมากในวงการอาหารโลก

แล้วอะไรคือความหมายของคำว่า ‘สร้างขึ้นมาใหม่’?

ความหมายที่ The World’s 50 Best Restaurants หมายความถึงนั้น อาจตีความออกเป็น 2 นัย 

นัยแรกน่าจะหมายถึงการเปิดร้านแบบป๊อปอัพของ Noma และเรดเซปี ที่หลายประเทศทั่วโลกทั้งเม็กซิโก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งนั่นหมายความถึงการต้องหาทีมใหม่ หาผู้ร่วมงานใหม่ สร้างฐานรากทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทุกครั้งที่ไปเปิดป๊อปอัพสโตร์

หรือการที่เรดเซปีได้นำพาความ Noma ไปยังอาณาบริเวณที่ทีมของเขาไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมาก่อน นั่นคือการเปิดร้านขายเบอร์เกอร์ที่ชื่อ POPL (มาจากภาษาละติน Populus ที่แปลว่าประชาชน) ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่ร้าน Noma ขายอาหาร 18 คอร์สที่ราคาโดยประมาณอยู่ที่ 300 ยูโรต่อมื้อต่อคน เมื่อมาทำร้านเบอร์เกอร์ เรดเซปีขายเบอร์เกอร์ในราคาที่จับต้องได้อยู่ที่ราคาอันละ 17 ยูโรต่อชิ้น แต่ความใส่ใจในรายละเอียดและวิธีการทำเบอร์เกอร์ขึ้นมาแต่ละชิ้นแต่ละสูตรยังคงความเข้มข้นและละเมียดละไมเช่นเดียวกันกับที่สร้างสรรค์เมนู 18 คอร์สที่ Noma 

สรุปคือ การ ‘สร้างขึ้นมาใหม่’ ในความหมายแรกก็คือการคิดใหม่ สร้างใหม่ สร้างทีมขึ้นมาใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนนัยที่สองที่ The World’s 50 Best Restaurants น่าจะหมายความถึง คงจะเป็นการที่เรดเซปีชอบรังสรรค์อาหารใหม่ๆ ขึ้นมาทำให้ลูกค้าได้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ เช่น เมนู shrimp ที่ด้านนอกทำจากโรสฮิปและกู๊สเบอร์รี แต่สอดไส้เนื้อกุ้งจริงๆ ไว้ด้านใน, Beetle ที่ทำจากผิวของเบอร์รีและกระเทียมดำ, เค้กที่มีรูปร่างเป็นเหมือนกระถางต้นไม้ที่มีพืชปลูกอยู่ แต่อันที่จริงมันคือเค้กกลิ่นกุหลาบ

พูดง่ายๆ คือการจับเอาวัตถุดิบอาหารชนิดต่างๆ มาเล่าเรื่องราวใหม่ทั้งหมดให้รูปลักษณ์แตกต่างออกไปจากเดิม หรืออาจจะเรียกว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ ทำให้วัตถุดิบนั้นๆ ดูเป็นเหมือนอาหารอีกชนิดหนึ่งโดยที่คนกินไม่สามารถคาดเดารสชาติได้เลยเพียงแค่ตาเห็น ต้องลองใช้ลิ้นชิมรสดูเท่านั้นถึงจะเข้าใจรสชาติที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่

ทั้งคอนเซปต์ที่แข็งแรง ความคิดสร้างสรรค์อันเฉียบคม และความกล้าหาญอันดุดันที่กล้านำเอาวัตถุดิบหนึ่งมาเสกสรรให้เป็นเมนูอาหารอีกชนิดหนึ่ง ทำให้ Noma ได้รับรางวัลร้านอาหารที่ดีที่สุดจาก The World’s 50 Best Restaurants รางวัลที่ CNN เรียกเอาไว้ว่าเป็นรางวัลออสการ์แห่งวงการ fine dining มาถึง 5 ครั้งด้วยกันในปี 2010, 2011, 2012, 2014 และ 2021

การเปิดร้านอาหารแล้วสามารถยืนระยะได้ยาวนานถึง 20 ปี พร้อมกับ 3 ดาวมิชลินและรางวัลออสการ์แห่งวงการอาหารคงเป็นเหตุผลที่หนักแน่นพอควรที่ใครๆ ต่างเรียกที่นี่ว่าเป็น ‘ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก’

  แต่แล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 Noma ได้ออกแถลงข่าวช็อกวงการอาหารด้วยการประกาศว่าในฤดูหนาวปี 2024 จะเป็นฤดูกาลสุดท้ายที่พวกเขาจะให้บริการลูกค้า จากนั้น Noma จะเข้าสู่การเดินทางในบทใหม่ในปี 2025 นั่นคือพวกเขาจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นห้องแล็บครัวที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ รสชาติใหม่ๆ ให้กับวงการอาหาร

ในเว็บไซต์ของ Noma ได้กล่าวไว้ว่าพวกเขาจะยังคงเปิดป๊อปอัพสโตร์อยู่และจะยังคงเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าต่อไป แต่การเป็นร้านอาหารจะไม่ใช่นิยามของ Noma อีกต่อไปแล้ว เวลาส่วนใหญ่ของทีม Noma จะใช้ไปกับการทำโปรเจกต์และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาให้กับลูกค้า

การประกาศนี้ทำให้วงการอาหารต้องสั่นคลอน The New York Times เขียนถึงการปิดตัวร้านอาหาร Noma ครั้งนี้ว่า เปรียบเสมือนการที่ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดประกาศปิดตัวสนาม Old Trafford แต่ในขณะเดียวกันก็บอกว่าทีมยังคงเล่นต่อไป 

คำถามที่ทุกคนสงสัยคือ เกิดอะไรขึ้นกันถึงขนาดที่ว่า ร้านอาหารที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งโลกว่าดีที่สุดในโลกอยู่ๆ จึงอยากจะปิดตัวลง?

หลายสื่อชั้นนำพากันไปสัมภาษณ์เรดเซปี และทีม Noma นอกจากใจความข้างต้นที่ทางเว็บไซต์ของ Noma ได้แถลงไว้ว่าที่ Noma ต้องปิดตัวลงเพราะพวกเขาตัดสินใจจะเดินบนเส้นทางสายใหม่ในวงการอาหาร เหตุผลอีกประการที่สำคัญไม่แพ้กันที่เรดเซปีตัดสินปิดตัวร้านอาหาร Noma เพราะว่า เขาไม่เห็นด้วยกับวัฏจักรและวัฒนธรรมการทำงานในร้านอาหารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วัฒนธรรมที่เขาไม่เห็นด้วยนั้นคืออะไร? มันหนักหนาพอที่จะทำให้เขาปิดตัวสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือเลยหรือ?

หากคุณเคยทำงานในร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านสตรีทฟู้ดข้างทางหรือร้าน fine dining คุณจะได้พบเห็นกับวัฒนธรรมการทำงานร้านอาหารที่ทุกคนน่าจะมีความเห็นตรงกันว่า เป็นงานที่หนักที่ต้องใช้ทั้งร่างกาย จิตใจ และเวลา ในคราวเดียวกัน ไม่เพียงแต่เฉพาะเจ้าของร้านเท่านั้นที่ต้องคร่ำเครียดกับยอดขายและการบริหารร้าน หรือในบางกรณีเจ้าของร้านต้องลงแรงกายทำหน้าที่เป็นเชฟหลักปรุงอาหารเองด้วยซำ้ไป 

ทุกคนที่ทำงานในร้านอาหารล้วนแล้วแต่ต้องเสียสละออกแรงกายเพื่อเสิร์ฟ ผัด ปรุง แรงใจที่จะต้องรับมือกับความกดดันในครัวเมื่อออร์เดอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดในวันที่ร้านขายดี หรือการรับมือกับลูกค้าที่มีความคาดหวังที่หลากหลายกันออกไป ทั้งหมดที่ว่ามา ทุกคนในร้านล้วนต้องสละเวลาที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำงานเป็นกะที่ยาวนาน และแทบจะไม่สามารถปลีกตัวไปมีเวลาส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างเวลางานได้เลย

จริงอยู่ว่างานทุกงานบนโลกนี้ล้วนต้องแลกมาซึ่งการทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และเวลาทั้งสิ้น แต่หากการทุ่มเททั้งสุขภาพกาย ใจ และเวลา แต่ยังคงได้ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากลับมาเป็นค่าจ้าง เช่นนี้คงไม่ใช่งานที่น่าพิสมัยแน่ๆ

The New York Times เขียนถึงประเด็นนี้ไว้ว่าการประกาศปิดตัวลงของ Noma เป็นหนึ่งในสัญญาณที่ส่งถึงร้านอาหารหรูหราชั้นนำทั่วโลกที่ส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงแสนถูกหรือบางทีก็ไม่จ่ายเลยให้กับพนักงานที่ทำงานในร้าน (เพราะใช้แรงงานจากเด็กฝึกงาน) ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความยั่งยืนของวงการร้านอาหาร fine dining

เรดเซปีให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า หากคิดคำนวณออกมาแล้วการจะรักษาสมดุลให้อาหารออกมามีคุณภาพดี และรักษามาตรฐานที่สูงทั้งคุณภาพของการบริการไว้ตลอดเวลาพร้อมๆ กับการจ่ายค่าแรงพนักงานประมาณ 100 กว่าคนให้สมเหตุสมผลกับจำนวนชั่วโมงการทำงานอย่างหนักของพวกเขา มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้สมการนี้เป็นจริงได้

“พวกเราต้องกลับมานั่งคิดใหม่กันหมดเลยครับ ทั้งวงการเลย…การทำงานแบบนี้มันหนักเกินไป เราต้องหาทางทำงานแบบใหม่กันครับ”

Kim Mikkola เชฟชาวฟินแลนด์ผู้เคยทำงานที่ Noma มาแล้ว 4 ปี กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า fine dining, เพชร และบัลเลต์ มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ กระบวนการก่อนจะได้สามสิ่งนี้มา จะต้องผ่านความเจ็บปวดมาก่อน 

หลายต่อหลายครั้งที่ Noma เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเด็กฝึกงานอย่างไม่เป็นธรรม สื่อชั้นนำอย่าง The Financial Times เคยเขียนบทความเกี่ยวกับด้านมืดของวงการและกล่าวถึง Noma ว่า ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 Noma รับเด็กฝึกงานมาฝึกที่ร้านรอบละ 30 คน โดยประมาณ (โดยทั้งหมดไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ) เช่นในปี 2019 Noma จ้างเชฟทั้งหมด 34 คน ซึ่งนั่นหมายความว่าร้าน Noma ถูกขับเคลื่อนโดยที่แรงงานส่วนใหญ่มาจากแรงงานของเด็กฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างนั่นเอง

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่เคยฝึกงานที่ Noma ให้สัมภาษณ์กับ The Financial Times ว่า “การฝึกงานที่ Noma ขูดรีดทั้งแรงกายแรงใจ เราต้องทำงานกันประมาณ 5 วันครึ่งต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 2” 

เธออ้างต่อว่า ครั้งหนึ่งที่ Noma ต้องทำเมนูเป็ดเพื่อเสิร์ฟลูกค้า เธอเห็นเด็กฝึกงาน 6 คนต้องนั่งถอนขนเป็ดที่ด้านนอกตอนฝนกำลังตกและอากาศกำลังเหน็บหนาว ในขณะที่ถอนขนเป็ดไปด้วย มือของเด็กฝึกงานก็สั่นเทาไปด้วย โดยขนเป็ดเหล่านั้นหลุดออกจากตัวเป็ดแต่มาติดตามตัวเด็กฝึกงานพวกนั้นแทน

ทั้งนี้มีเด็กฝึกงานหลายคนที่เคยฝึกงานที่ Noma อ้างว่าพวกเขาถูกทำให้เข้าใจผิดโดย ‘ข้อตกลงการทำงาน’ ที่ Noma ให้เซ็นก่อนที่จะมาฝึกงานที่นี่ โดยคนที่เคยฝึกงานกับ Noma คนหนึ่งในปี 2018 เล่าว่า เขาเก็บหอมรอมริบเพื่อเดินทางจากอเมริกากลางเพื่อมาฝึกงานที่ Noma โดยได้เซ็นสัญญาไว้ว่าจะมาฝึกงานที่ Noma สัปดาห์ละ 37 ชั่วโมง แต่เมื่อมาถึงที่ Noma ปรากฏว่าเขาต้องทำงานถึง 70 ชั่วโมง (หรือมากกว่านั้น) ต่อสัปดาห์ จนภายหลัง Noma จึงเปลี่ยนหัวกระดาษที่ให้เด็กฝึกงานเซ็นสัญญาว่าเป็น ‘ข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการในการทำงาน (informal agreement)’

ตัวแทนของ Noma ออกมาโต้เถียงกรณีต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่า อันที่จริงแล้ว Noma ออกหาวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารนอกสถานที่ตลอดทั้งปี ส่วนเงื่อนไขของการทำงานและสถานที่การทำงานของเด็กฝึกงานที่ Noma ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ข้อกล่าวหาที่ว่า Noma ปฏิบัติกับเด็กฝึกงานอย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นไม่เป็นความจริง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เด็กฝึกงานที่ Noma ต่างได้รับประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และในหลายครั้งคราว การได้ฝึกงานที่ Noma เป็นบันไดชั้นดีที่นำพาให้พวกเขาไปสู่อาชีพเส้นทางครัว

แม้ว่าปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่า Noma ใช้เด็กฝึกงานน้อยลงอยู่ที่จำนวนโดยประมาณเพียงแค่ 15-20 คนเท่านั้น และ Noma เริ่มจ่ายค่าตอบแทนให้กับเด็กฝึกงานเหล่านี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เท่ากับว่า Noma มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่เดือนละประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างเด็กฝึกงานเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ Noma แต่เหตุผลหลักอีกประการที่ทำให้เรดเซปีตัดสินใจปิดตัว Noma ลงเพราะ เขาคิดว่าวิถีแห่งเชฟแบบ fine dining นั่นมันไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย

ตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรดเซปีใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เขานั่งภาวนา ทำสมาธิ เข้าคลาสบำบัด เพื่อที่จะกำจัดวิญญาณของเชฟเกรี้ยวโกรธ บ้างานที่สิงสถิตอยู่ในตัวเขามาตั้งแต่อายุ 20 กลางๆ สมัยที่เขาเปิดร้าน Noma เรดเซปีสัมภาษณ์กับ The New York Times เอาไว้ว่า

“มันไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย…ทั้งทางด้านการเงิน ด้านอารมณ์ ในฐานะนายจ้างและในฐานะเพื่อนมนุษย์”

การตัดสินใจปิดตัว Noma ของเรดเซปีเป็นการตัดสินใจที่เขาคิดว่า มันคือการเริ่มต้นปฐมบทใหม่แห่งวงการอาหาร เขาจบบทบาทความเป็นเชฟ fine dining ลงเพื่อเปิดตัวใหม่ในฐานะหัวหน้าครีเอทีฟทีมแล็บครัวอาหารแทน หรือนี่เองอาจจะเป็นสิ่งที่เขาถนัดที่สุดตามที่ The World’s 50 Best Restaurants เคยนิยามเรดเซปีเอาไว้อย่าง ‘การสร้างขึ้นมาใหม่’

เพียงแต่คราวนี้สิ่งที่เขาสร้างขึ้นใหม่อาจยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่ทีมงานทีมใหม่หรืออาหารจานใหม่ 

แต่เขากำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้วงการอาหารโลก

ที่มา

Tagged:

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like