From Kamphaeng Phet to Silicon Valley

นามบัตร 6 ใบของ ‘กระทิง พูนผล’ จากกำแพงเพชรสู่ซิลิคอนแวลลีย์ มาจนถึงผู้นำด้านเทคฯ ของกสิกร

จากประสบการณ์การทำงานใน Google สำนักงานใหญ่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ 

เป็นหัวหอกคนสำคัญที่ทำให้ Google Earth เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

เป็นผู้ปลุกปั้นโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพระดับหัวกะทิในไทยอย่าง Dtac Accelerate 

เป็นผู้ก่อตั้ง 500 TukTuks กองทุนสตาร์ทอัพชื่อดังในบ้านเราที่มียูนิคอร์นอยู่ในพอร์ตถึง 4 ตัว

และจนถึงปัจจุบัน เป็นหัวเรือใหญ่คนสำคัญที่ดูแลระบบแอพฯ ธนาคารที่มีคนใช้มากที่สุดในไทยอย่าง K PLUS 

ไม่แปลกที่ กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าของผลงานที่เรากล่าวมาในข้างต้นนี้จะได้รับฉายาว่า ‘เจ้าพ่อวงการสตาร์ทอัพของไทย’

ด้วยประวัติการทำงานที่น่าสนใจ (มาก) เราจึงชวนกระทิงมาพูดคุยกันในคอลัมน์ ณ บัตรนั้น ว่าตลอดเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมจนทำให้เขาสามารถเดินทางมาได้ ‘ไกล’ ถึงเพียงนี้

ไกลที่ว่าคือจากกำแพงเพชร สู่กรุงเทพฯ ไปจนถึงซิลิคอนแวลลีย์

กระทิงเกิดและเติบโตที่กำแพงเพชร อยู่ในบ้านสองชั้นที่มีสมาชิกอาศัยอยู่ 10 คน ทั้งหลังมีห้องน้ำอยู่ห้องเดียว แม่กับพ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเพราะจบเพียง ม.3 และ ปวส. แม้จะเติบโตมาอย่างไม่ได้สบายมากนัก แต่เขาก็บอกว่า “ผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ดีมาก”

“ถึงไม่ค่อยมีเงิน แต่มีความรักจากพ่อแม่ มีอาหารให้กินตลอด ป่วยก็ได้รับการรักษา และการศึกษาไม่เคยขาด พ่อจะหิ้วหนังสือมาให้ตลอด เขายอมอดข้าวเพื่อซื้อสารานุกรมราคา 3,000 บาทให้ผม ซื้อการ์ตูนโดราเอมอนกับการ์ตูนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มาให้อ่าน เขาสปอยล์ผมด้วยหนังสืออยู่เสมอ และหนังสือเป็นสิ่งที่เปิดโลกผมมาก” 

กระทิงใช้ความกันดารเป็นสินทรัพย์ ผลักดันตัวเอง ตั้งใจอ่านหนังสือ ทำการบ้าน แม้ในวันที่ไฟดับก็จะจุดเทียนเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการอ่านหนังสือ สุดท้ายเขาก็กลายเป็นเด็กกำแพงเพชรคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกระดับประเทศได้ ได้ที่ 3 ของการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับประเทศ และจากกำแพงเพชรก็เข้าสู่กรุงเทพฯ มาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่จุฬาฯ 

เหตุผลที่เลือกวิศวกรรมไฟฟ้าที่จุฬาฯ ก็เพราะนี่เป็นภาควิชาที่คะแนนสูงสุด ขึ้นชื่อเรื่องความโหดหิน และด้วยความเป็นเด็กฟิสิกส์โอลิมปิก เขาจึงมักมองหาความท้าทายให้ตัวเอง จากที่คิดว่าเป็นคนเก่งในกำแพงเพชร เมื่อมาเจอคนที่เก่งกว่า จึงได้สัมผัสกับคำว่า ‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’ แม้จะจิตตกในช่วงแรก แต่ก็สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมา และท้ายที่สุดเขาก็เรียนจบวิศวะไฟฟ้าจุฬาฯ ด้วยเกียรตินิยม

จนนำมาสู่นามบัตรใบแรกในชีวิตการทำงานของเขา 

ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การตลาด
P&G ประเทศไทย 

อันที่จริงตอนอยู่ปี 3 ผมเคยฝึกงานที่ P&G มาก่อน ไปเป็นพนักงานในโกดัง ขับรถฟอร์กลิฟต์ หน้าที่คือจะทำยังไงให้ฟอร์กลิฟต์ประหยัดเวลาในการหาสินค้าได้มากขึ้น

“พอทำงานก็มาสมัครในตำแหน่ง Engineering and Technical System เป็นคนดูแลระบบตอนปั่นแชมพู หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้เกิด waste ในการผลิตน้อยที่สุด แต่งานแรกของผมกลับทำแชมพูเจ๊งไป 6 ตัน มูลค่าความเสียหายตอนนั้นน่าจะมี 2-3 ล้าน ตอนนั้นช็อก ร้องไห้ เสียใจ กลัวตกงานมาก เพราะเราเป็นเด็กจนๆ การตกงานมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรามาก แต่เจ้านายเขาก็ดีมาก ไม่ได้ไล่เราออก แล้วก็สอนเราว่าถ้าเจอปัญหาต้องตั้งสติก่อนเสมอ แล้วมองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ประเมินความเสียหายว่าอยู่ในระดับไหน ดูว่าจะแก้ยังไงได้บ้าง ทำ fishbone diagram ทำ why-why analysis (เครื่องมือช่วยวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหา)

“ถ้าเราแก้ไม่ได้แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้จากวิกฤตนั้นเลย แต่ถ้าหาทางป้องกันในครั้งต่อไปได้นั่นหมายถึงเราค่อยๆ เติบโตขึ้นแล้ว

“จากคนปั่นแชมพู ก็เปลี่ยนมาทำในตำแหน่งฝ่ายขาย แล้วก็ฝ่ายการตลาด แต่กว่าจะขยับมาทำสองตำแหน่งนี้ได้บริษัทฯ บอกว่าต้องมีวุฒิปริญญาโท ผมก็เลยไปลงเรียน MIM ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เพราะผมมาอยู่หอแถวๆ ราชเทวี แต่โรงงาน P&G อยู่บางนา กม.36

“โรงงานเริ่ม 8 โมงเช้า ผมต้องพาตัวเองไปให้ถึงแยกบางนาให้ทันรถตู้ออกตี 5 เพราะถ้าไม่ทันจะต้องจ่ายค่าแท็กซี่เองซึ่งแพงมาก ทำงานเสร็จ 4 โมงเป๊ะต้องรีบออกจากโรงงานมาถึงแยกบางนา 5 โมงให้ได้ เพื่อมาต่อรถไปธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ห้ามสาย เพราะถ้าสายเกิน 5 นาทีเท่ากับขาดเรียน ภาพที่ทุกคนเห็นผมตอนนั้นคือการวิ่งกระหืดกระหอบมาเข้าห้องเรียนอยู่เสมอ กว่าจะเลิกเรียนก็ 4-5 ทุ่ม เป็นอย่างนั้นอยู่ 2 ปี จนเรียนจบถึงได้ขยับมาเป็นฝ่ายขาย และได้มาเป็นฝ่ายมาร์เก็ตติ้งในเวลาต่อมา” 

ที่ปรึกษา
McKinsey & Company

จาก P&G ผมสมัครทุนไปเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในอเมริกาได้ ตอนนั้นมีหลายความคิดอยู่ในหัวเหมือนกัน ทั้งกลัวที่ต้องไปอเมริกาคนเดียว ทั้งคิดว่านี่เราตัดสินใจถูกแล้วใช่ไหม เพราะงานที่ทำอยู่ก็กำลังเป็นไปด้วยดี แม่ผมก็เลยให้กำลังใจว่า “ทิงไม่ต้องกลัว มันก็เหมือนกับตอนทิงจากกำแพงฯ มากรุงเทพฯ แหละลูก” ผมบอกมันโคตรไม่เหมือนเลยแม่ มันคนละเรื่องกันเลย (หัวเราะ) แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจมา

“ด้วยความที่ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแต่เด็ก ตั้งแต่พ่อซื้อหนังสือไอน์สไตน์มาให้อ่าน ผมเลยเขียน Statement of Purpose ตอนจะมาเข้าสแตนฟอร์ดเอาไว้ว่า “ผมอยากเปลี่ยนประเทศไทยด้วย technology, innovation และ entreprenuership เพราะคิดว่าประเทศไทยยังไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่มาก”

“พอไปอยู่ที่นั่นก็ไม่ได้สบาย ผมทำงานพิเศษไปด้วยเรียนไปด้วย ปั่นจักรยานไปเรียน บางวันไป Walmart ซื้อข้าวกล่องที่เขาลดราคาตอนจะหมดวันมาตุนไว้ในฟรีซ เพื่อเอาไว้กิน 

“การเรียนที่สแตนฟอร์ดมันดีมาก มีซีอีโอ Google เข้ามาสอน มี Mark Zuckerberg มาเป็นสปีกเกอร์ ทำให้เราได้ความรู้มากมาย ได้บ่มเพาะความเป็น tech culture เพราะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใจกลางซิลิคอนแวลลีย์

“จากนั้นผมก็ได้ฝึกงานในบริษัทที่ปรึกษาอย่าง McKinsey & Company ซึ่งก็ทำได้นะ แต่ก็มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้เหมาะกับการเป็นที่ปรึกษา แม้จะทำอยู่ไม่นานแต่ก็ได้แนวคิดจากที่นี่อยู่ไม่น้อย McKinsey & Company สอนให้เราแก้ปัญหาธุรกิจ มองปัญหาเป็นโครงสร้าง มองว่าแก่นของแต่ละธุรกิจเป็นยังไง หรืออะไรคือ key driver ของแต่ละธุรกิจ”

“หลังจากฝึกงานที่ McKinsey ผมยังไปลองทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน Private Equity ที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์และงานด้านการเงินอื่นๆ ซึ่งก็ค้นพบว่างานด้านการเงินและที่ปรึกษาเป็นงานที่เงินดีมากๆ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ purpose ในใจเรา ตอนนั้นก็ลังเลมากว่าจะเลือกเงินหรือเลือกทำในสิ่งที่เคยตั้งใจเอาดี ก็เลยไปปรึกษาแม่

“คำตอบที่ได้จากคุณจินดา (แม่) ที่จบ ม.3 ทำให้ผมไม่ลังเลในการเลือกอีกต่อไป คุณจินดาบอกกับผมว่า “ทิงจำได้ไหมตอนจะไปอเมริกา ทิงเขียน Statement of Purpose ไว้ว่าอะไร

“เขียนไว้ว่าผมอยากเปลี่ยนประเทศไทยด้วย technology, innovation และ entrepreneurship” ผมตอบ

“แล้วการเป็นที่ปรึกษากับผู้จัดการการลงทุนมันทำให้ทิงได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ไหม ที่ทิงห่างบ้านไปสองปี เพราะสุดท้ายอยากทำสิ่งนี้จริงๆ เหรอ” คุณจินดาถามกลับ

“โอ้โห พอได้ฟังประโยคนั้นจากแม่ มันทำให้ผมตอบคำถามตัวเองได้ทันที นั่นทำให้ผมตัดสินใจย้ายงานไปทำที่ Google สำนักงานใหญ่ ที่ซิลิคอนแวลลีย์”

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์
Google 

การสัมภาษณ์งานที่ Google ใช้เวลายาวนานมาก ผมเป็น 2 ใน 30 คนในทีมที่ไม่มีวุฒิปริญญาเอก ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันทำไมเขาถึงเลือก แต่สุดท้ายก็ได้เข้าไปทำ

“ตำแหน่งแรกใน Google ของผมคือ Quantitative Marketing Manager เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านข้อมูล หน้าที่คือการทำการตลาดเชิงข้อมูล เป็นเหมือนการรวบรวมบิ๊กดาต้าแล้วเอาข้อมูลที่ได้นั้นมาวิเคราะห์เพื่อส่งต่อให้ทีมมาร์เก็ตติ้งเอาไปทำต่อ 

“หนึ่งในงานที่ทำคือการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าให้กับ Google ในญี่ปุ่น ตอนนั้นที่ญี่ปุ่น Yahoo ชนะ Google หน้าที่ของผมคือทำยังไงก็ได้ที่ต้องวิเคราะห์บิ๊กดาต้าออกมาแล้วดูว่าเราควรโฟกัสที่ตรงไหน ต้องตั้งเป้ายังไง ยุทธศาสตร์ควรจะเป็นอย่างไรถึงจะทำให้ Google มีสัดส่วนคนใช้งานเพิ่มขึ้นมาให้ได้ 

“สุดท้ายภายในปีเดียวมาร์เก็ตแชร์ของ Google ในญี่ปุ่นมันขยับเพิ่มมาเป็น 10% ก็เลยทำให้ผมได้มีโอกาสขยับไปดู Google ใน global 

“ผมรับหน้าที่เป็นคนนำมาร์เก็ตติ้งของโปรดักต์อย่าง Google Earth ในทั่วโลก แล้วมีช่วงนึงต้องทำโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Google Moon เพื่อเฉลิมฉลองครบครอบที่มนุษย์ไปดวงจันทร์ครบรอบ 40 ปี มีรองผู้อำนวยการนาซ่ามาเปิดงานให้ หน้าที่ของทีมผมคือเราต้องสร้างภาพจำลองสามมิติของดวงจันทร์ เพื่อที่นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกที่ไปเหยียบดวงจันทร์จะมาอธิบายว่าตอนที่ไปดวงจันทร์ ภาพมันเป็นยังไง ความรู้สึกมันเป็นแบบไหน และไม่ใช่แค่นีล อาร์มสตรอง แต่ไมเคิล คอลลินส์ กับบัซซ์ อัลดริน ผู้ที่เดินทางไปดวงจันทร์ร่วมกับนีล อาร์มสตรอง ก็เดินทางมางานเปิดตัวนี้ด้วย นั่นหมายความว่า งานนี้มันจะพลาดไม่ได้เด็ดขาด เพราะบุคคลเหล่านี้ เพียงแค่มีเงินก็ใช่ว่าจะจ้างให้เขามางานได้

“ก่อนถึงวันงานไม่กี่สัปดาห์ ลองมาซ้อมเปิดจอกันดู ปรากฏว่าดวงจันทร์หายไปครึ่งดวง จอความยาวสิบเมตรที่เราจะใช้แสดงผลเพื่อให้ภาพที่ออกมาดูแกรนด์ๆ ก็ดันดับ โอ้โหช่วงนั้นมันเป็นอะไรที่เครียดมาก เครียดถึงขนาดผมอ้วกออกมาเป็นเลือดสดๆ เลย มันกดดันสุดๆ มันทำงานหนักทุกวัน แต่สุดท้ายงานนั้นก็ผ่านพ้นไปด้วยความตั้งใจและความคิดที่ว่าจริงๆ แล้วชีวิตที่ผ่านมาเราเจอวิกฤตมาเยอะมาก และครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมจะต้องผ่านไปให้ได้ ผมไม่ได้มาถึงจุดนี้เพื่อที่จะยอมแพ้แล้วกลับไป 

“แล้วผมก็ได้จับมือกับนีล อาร์มสตรอง ด้วยนะ” (ยิ้ม)

รองประธานอาวุโส หัวหน้าส่วนผลิตภัณฑ์ 
DTAC

“ตั้งแต่เรียนจนถึงทำงาน รวมๆ แล้วผมใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริการาว 7 ปี จนรู้สึกอิ่มตัว ผมจึงตัดสินใจกลับมาไทย เพราะคนที่บ้านเริ่มอายุเยอะ คนแก่ๆ ในบ้านเริ่มป่วยและเสียชีวิต และอีกหลายเหตุผล รวมถึงเรื่องของ Statement of Purpose ที่เคยเขียนไว้ว่าอยากจะเปลี่ยนประเทศไทยด้วย technology, innovation และ entrepreneurship ก็เลยตัดสินใจกลับมาไทย

“งานแรกที่ทำตอนกลับมาไทยคือเปิดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า Disrupt Technology Venture ซึ่งสตาร์ทอัพในเวลานั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มากในไทย ตอนนั้นทั้งประเทศไทยเราระดมทุนได้ไม่กี่ร้อยล้านบาท ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ก็ดีใจที่ได้ทำ เพราะมันเป็นเหมือนการจุดกระแสให้คำว่าสตาร์ทอัพในไทยได้รับความสนใจมากขึ้น

“แต่จุดที่ทำให้ตัดสินใจเข้าไปทำ DTAC ก็เพราะพี่โจ้ ธนา ที่เป็นไอดอลของเราเขาเคยทำงานที่ DTAC ทั้งยังมีโจทย์ที่ท้าทาย และเราเริ่มคิดเรื่องการลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในไทย เราก็น่าจะต้องมีที่ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง

“แล้วอย่างที่บอก คำว่าสตาร์ทอัพในตอนนั้นมันใหม่มาก ครอบครัวไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร พอเกิดคำถามเหล่านี้ก็เลยเข้าไปทำงานที่ DTAC โชคดีที่ทาง DTAC เข้าใจผม ให้พื้นที่ผมได้ทำงาน ผมก็เลยได้ปลุกปั้น DTAC Accelerate ขึ้นมา เป็นหน่วยงานที่เอาไว้บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย สร้างให้มันเป็น tech culture เหมือนกับที่ผมเคยได้สัมผัสตอนอยู่ซิลิคอนแวลลีย์ แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้คำว่าสตาร์ทอัพในบ้านเราเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจในวงกว้างมากขึ้น”

ผู้ก่อตั้ง 
500 TukTuks 

“อยู่ DTAC ไปได้สักระยะ มันก็มีความรู้สึกอิ่มตัวเกิดขึ้นบางอย่าง แล้วตอนนั้นก็มีลูกศิษย์ที่ผมสอนเรื่องการทำสตาร์ทอัพเขาเริ่มขึ้นมารัน DTAC Accelerate แทนผมได้ ผมก็เลยออกมาก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนเน้นลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ 

“ตอนออกมาทำ 500 TukTuks เองผมก็เป็น CEO นะ แต่ CEO ที่ว่านี้ย่อมาจาก Chief Everything Officer จากแต่ก่อนเคยมีเลขาฯ ตอนนี้ต้องทำด้วยตัวเองทั้งหมด แม้ระหว่างทางจะเกิดคำถามกับตัวเองว่า นี่ที่เราทำอยู่มันดีแล้วใช่ไหม มันคุ้มแล้วหรือกับการที่ออกจากงานดีๆ แล้วมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

“แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะชีวิตที่ผ่านๆ มาผมเคยผ่านอะไรที่ลำบากมากกว่านี้เยอะ ดังนั้นผมไม่เคยมีความกลัวในการออกมาทำอะไรเองเลย ก็เลย keep pushing ต่อไป

“จนกระทั่งวันนึงได้มาเจอคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ อดีต CEO ของธนาคารกสิกรไทย) ซึ่งต่อมาผมก็ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของคุณปั้นด้วย และช่วยต่อชีวิตทำให้ต่อมาผมสามารถระดมทุนได้เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้กว่า 50%

“ถึงตอนนี้ 500 TukTuks ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้วกว่าร้อยตัว มียูนิคอร์น 4 ตัวอยู่ในพอร์ต ซึ่งนอกจาก 500 TukTuks ผมก็สร้างกองทุนอื่นมาด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Stormbreaker Venture ที่เอาไว้บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่เป็น EdTech (education technology) โดยเฉพาะ เพราะผมคิดว่าถ้าจะพัฒนาประเทศ ต้องเริ่มจากการพัฒนาการศึกษา ซึ่งตอนนี้ Stormbreaker Venture ลงทุนใน EdTech ไปแล้ว 17 ตัว

“จนปัจจุบันผมมีกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมด 5 กองทุน คือ 500 TukTuks I , 500 TukTuks II, Orzon Ventures, Stormbreaker Venture และ KXVC

ประธานกลุ่ม KASIKORN Business-Technology Group (KBTG)
ธนาคารกสิกรไทย 

พอเริ่มทำงานสั่งสมประสบการณ์ ก็ทำให้มีคนรู้จักผมมากขึ้น แล้วก็มีคนมาชวนให้ผมไปเป็น CEO ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผมก็เลยไปปรึกษาคุณปั้นว่าจะไปดีไหม ท่านก็พูดกับผมมาประโยคนึง “ถ้าคุณจะไป คุณต้องเลิกเป็นที่ปรึกษาผม เพราะ CEO เป็นที่ปรึกษา CEO ไม่ได้” ได้ยินคุณปั้นพูดแบบนี้ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน แต่น้ำตามันไหล เพราะคุณปั้นเป็นเจ้านายที่ชุบชีวิตผมขึ้นมา ให้เกียรติผม แล้วผมก็รักคุณปั้นมาก

“สองสัปดาห์ถัดไป ผมยังไม่ได้เซ็นสัญญากับบริษัทที่ชวนไปเป็น CEO แล้วคุณปั้นก็เรียกผมไปคุยอีกครั้ง ถามผมว่าสนใจไปทำ KBTG (หน่วยงานดูแลด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย) ไหม ผมตอบคุณปั้นขอกลับไปคิดก่อน แต่ในใจตอนนั้นผมตอบตกลงแบบทันทีทันใดไปแล้ว

“แล้วก็ได้เข้ามาทำงานใน KBTG วันที่เปิดตัวกับสื่อว่าผมจะมาเป็นผู้บริหารคนใหม่ของ KBTG คือตอนปี 2018 ช่วงเวลานั้นแอพฯ K PLUS เคยล่มเป็นวัน สื่อมวลชนถามกับผมว่า “พี่กระทิง แอพฯ K PLUS จะล่มอีกไหม” ผมตอบด้วยความมั่นใจ ไม่ล่มแล้ว

“แต่แอพฯ K PLUS ก็มาล่ม ในวันที่แถลงเปิดตัวผม ตอนนั้นเลย บอกตามตรงตอนนั้นหน้าชา ไปแทบไม่เป็น แต่สุดท้ายก็ต้องรีบตั้งสติ เรียกทีมทุกคนเข้ามา แล้วต้องเร่งแก้มันให้ได้ สุดท้ายแอพฯ ก็ล่มน้อยลง ใช้เวลาหนึ่งเดือน แล้วในที่สุดจากล่มบ่อย K PLUS กลายมาเป็นแอพฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด และมีเสถียรภาพที่สุดในวงการธนาคาร 3 ปีซ้อน

“นึกย้อนไป การเจอวิกฤตหน้าชาในครั้งนั้นมันก็ดีเหมือนกันนะ จากคนเคยทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ เคยได้จดหมายเชิญจาก White House ให้ไปพูด เคยได้รางวัล Businessman Of The Year แต่การล่มของแอพฯ ในงานแถลงข่าวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลง และทลายอีโก้ที่เคยมีลงไปได้มาก

“ส่วนความฝันในตอนนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ KBTG เติบโต แต่ผมมีความหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าอยากเห็นประเทศไทยเป็น Innovation Hub รวมถึงการที่เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตและมี New S-Curve ขึ้นมาได้ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ที่บริษัทใหญ่ๆ ในไทยส่วนใหญ่มีแต่ธุรกิจที่เป็น old industry เราควรมีระบบนิเวศน์ที่เกื้อหนุนการสร้าง New S-Curve และ New Industry of the Future

“ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ กว่าสิงคโปร์จะกลายเป็น startup hub ของเซาท์อีสต์เอเชียอย่างทุกวันนี้เขาใช้เวลาสร้างมา 20-30 ปี แต่ผมเพิ่งจะทำได้ 10 ปีเอง ดังนั้นผมว่ามันเป็นไปได้ (เน้นเสียง)

“แล้วตราบใดที่ยังไม่ตาย ผมก็จะพยายามทำให้มันเกิดขึ้นมาให้ได้ 

“แม้จะฟังเป็นเรื่องยาก แต่ชีวิตของผมที่ผ่านมา มันไม่เคยมีอะไรง่ายอยู่แล้ว”

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like