Power Bank

นามบัตร 5 ใบในเส้นทางธนาคารของ พัชร สมะลาภา ตั้งแต่นักวิเคราะห์ จนถึงผู้บริหารกสิกรไทย

“ชีวิตผมไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นเลยนะ”

พัชร สมะลาภา นายธนาคารแห่งกสิกรไทย ออกตัวทันทีเมื่อเราชวนเขามาพูดคุยในคอลัมน์ ‘ณ บัตรนั้น’ ซึ่งเป็นพื้นที่เอาไว้บอกเล่าประสบการณ์การทำงานของแต่ละคนผ่านนามบัตรแต่ละใบ ด้วยเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สนุกและเป็นประโยชน์ต่อคนทำงาน

ด้วยความที่ทำงานอยู่ในสายการเงินการธนาคารอย่างเดียวมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี งานที่ทำก็ขลุกอยู่กับเรื่องตัวเลขและข้อมูลเป็นหลัก เส้นทางการทำงานไม่ได้มีอะไรที่โลดโผนมากนัก แม้ย้ายองค์กรเนื้องานที่ทำก็ยังคล้ายเดิมอยู่ดี เขาจึงออกตัวเช่นนั้นก่อนบทสนทนาจะเกิดขึ้น

และเมื่อได้ฟังรายละเอียดลึกลงไปในนามบัตรแต่ละใบ กลับไม่เป็นอย่างที่เขาว่า 

ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ ผู้ดูแลเงินลงทุน นายหน้าขายหลักทรัพย์ หรือผู้บริหารของกสิกรไทย แนวคิดการทำงานของเขาในแต่ละตำแหน่งล้วนแต่สนุกสนานและขัดจากภาพลักษณ์ภายนอกที่หลายคนคิดว่าคนทำอาชีพเป็นนายแบงก์น่าจะเป็นกัน–โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายแบงก์ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ ในบอร์ดบริหารขององค์กรที่มีพนักงานหลักหมื่นคน

01

นักวิเคราะห์
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด

“ตอนเด็กๆ ผมเรียนอยู่ประสานมิตร พอตอน ม.1 ถึงย้ายไปอเมริกา ก็อยู่และเติบโตที่เมืองนอกมาโดยตลอด ด้วยความเป็นเด็กเอเชียตัวเล็กๆ ผอมๆ พูดอังกฤษก็ไม่ค่อยได้ เล่นกีฬาก็สู้กับฝรั่งตัวใหญ่ๆ ไม่ค่อยไหว เลยพยายามเอาตัวรอดเลือกสิ่งที่คิดว่าพอจะชอบและพอทำได้ดีซึ่งก็คือเลขนี่แหละ เพราะเวลาไม่มีอะไรทำก็เอาเลขมานั่งบวกลบเล่นไปเรื่อยๆ

“กระทั่งมาทำงานก็อยู่กับตัวเลขมาโดยตลอด งานแรกที่ทำคือนักวิเคราะห์ที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ก็เป็นเด็กที่ไฟแรงสุดๆ มั่นใจมาก คิดว่าตัวเองเก่ง ผลลัพธ์ของความมั่นใจนั้นก็เลยออกมาเป็นบทวิเคราะห์ที่คนอ่านไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่เราที่ได้โชว์ออฟตัวเอง บางครั้งที่นักลงทุนทำตามบทวิเคราะห์ของเราแล้วได้กำไรก็คิดว่าตัวเองเก่ง ซึ่งพอหลังๆ ถึงเพิ่งได้มารู้ว่าเขาไม่ได้ซื้อเพราะบทวิเคราะห์ที่เราเขียนหรอก การจะลงทุนอะไรสักอย่างมันมีปัจจัยอีกหลายอย่างมากมายที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ

“ถึงอย่างนั้นการเป็นนักวิเคราะห์ก็ให้อะไรกับผมหลายอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่มีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ดีนะ แต่คำว่าดีที่ว่ามันต้องจับต้องได้ ต้องมีตัวเลขหรือข้อมูลมาซัพพอร์ตสิ่งที่บอกว่าดีนั้นด้วย

02

เจ้าหน้าที่นายหน้าขายหลักทรัพย์
บริษัท Deutsche Morgan Grenfell Securities (UK) 

“เป็นนักวิเคราะห์ได้อยู่สองปี จากนั้นก็เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นเซลส์เป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์ หน้าที่ของผมในตอนนั้นคือเอาสิ่งที่นักวิเคราะห์เขียนมาดูแล้วไปคุยกับนักลงทุนที่เขามีเงินเยอะๆ ว่าหุ้นนั้นดีนะ หุ้นนี้อย่าซื้อเลย อะไรดีไม่ดีก็พูดไป

“การเป็นเซลส์ในตอนนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากมาก (เน้นเสียง) เพราะตอนนั้นเราเป็นเด็ก ไปถึงก็ยังไม่มีลูกค้า ต้องค่อยๆ โทรไปทำความรู้จักทีละคน แถมแต่ละคนก็มีเวลาให้ไม่มาก โอกาสเจอกันก็น้อย ไหนจะต้องโน้มน้าวเขาอีก กว่าจะจับทางเขาถูกก็ยากมากเหมือนกัน จนเคยเกิดสงสัยว่าหรือการเป็นเซลส์จะไม่ใช่งานที่เราถนัด

“ซึ่งพอมองย้อนกลับไปจริงๆ แล้วการเป็นเซลส์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้เหมือนกันนะ ทักษะสำคัญหลายๆ อย่างที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ได้มาจากตอนที่เป็นเซลส์นี่แหละ คือเมื่อก่อนผมเป็นคนที่มีอะไรในหัวเยอะแยะเต็มไปหมด แต่เรียบเรียงไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้องพูดอะไรก่อนหลัง แล้วก็กลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) ซึ่งการเป็นเซลส์มันบังคับให้เราต้องพูดจาให้รู้เรื่อง เพราะลูกค้าเขามีเวลาให้เรานิดเดียว ดังนั้นเวลาเขาพูดอะไรต้องตั้งใจฟัง จับประเด็นที่เขาสื่อให้ได้ ส่วนเวลาพูดก็ต้องพูดสั้นๆ เอาให้มันได้ใจความที่ต้องการจะสื่อจริงๆ”

03

นักบริหารเงินลงทุน
บริษัท เมอร์ริล ลินซ์ แอนด์ โก อิงค์ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศไทย

“เป็นเซลส์ได้ราว 2-3 ปี ก็ไปเรียนต่อด้านบริหาร พอ 2 ปีเรียนจบ แล้วตอนนั้นหลักทรัพย์ภัทรเขาไปเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการเงินที่ชื่อว่า เมอร์ริล ลินซ์ แอนด์ โก อิงค์ ผมก็เลยกลับเข้าไปทำงานบริษัทนี้ ทำหน้าที่เป็นนักบริหารเงินลงทุน วิธีการทำงานก็คือเอาเงินไปซื้อบริษัทอื่นเพื่อเอามาบริหารให้มันดีขึ้น เมื่อดีขึ้นก็จะเอาหุ้นที่เคยซื้อมาในราคาถูกไปขายต่อแล้วบริษัทก็จะได้กำไรจากส่วนต่าง

“ความสนุกของงานนี้คือการที่ได้แก้ปัญหาอะไรหลายอย่างเยอะมาก มันไม่เหมือนเวลาเล่นหุ้นที่ไม่พอใจเมื่อไหร่ก็ขายทิ้งได้ แต่งานที่ผมทำมันขายทิ้งไม่ได้ ซื้อมาแล้วก็ต้องถือครองมันต่อไป มันเลยเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้เยอะมาก ทั้งเรื่องการตลาด การเงิน การจัดการ หรือความรู้อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้บริษัทนั้นงอกเงยขึ้นมาให้ได้ เช่นเราควรจะเลิกทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้แล้วย้ายไปทำอีกตัวดีไหม หรือเราจะอดทนยอมขาดทุนไปก่อนเพื่อจะได้กำไรในอนาคต เอาตัวเลขกับข้อมูลต่างๆ มาดู แต่บางครั้งถ้าตัวเลขไม่ชัดเจนก็ต้องใช้ประสบการณ์ที่เคยมีมาช่วยเดาๆ กันไป 

“ผมจะเดาตลอดเพราะเอาเข้าจริงไม่มีใครรู้หรอกว่าอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้นจริงไหม บางคนคือบอกว่าเดี๋ยวก่อน ขอเอาไปวิเคราะห์ก่อน นู่นนั่นนี่ แต่สำหรับผมการคิดแบบนี้มันไม่ได้อะไร ผมเป็นประเภทที่คิดๆ เดาๆ ทำๆ ไปก่อน แล้วเดี๋ยวพอมันเริ่มเห็นทางก็ค่อยๆ หาทางทำหาทางแก้จากสิ่งที่เริ่มเห็นกันต่อไป”

04

รองกรรมการผู้จัดการ / กรรมการผู้จัดการ 
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (K ASSET)

“2-3 ปีหลังของการทำงานที่เมอร์ริล ลินซ์ฯ ก็ต้องไปอยู่ที่ออสเตรเลีย เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่เราลงทุนอยู่ที่นั่น สักพักนึงก็รู้สึกเบื่อก็เลยตัดสินใจกลับมาไทย กลับมาถึงก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี สุดท้ายคุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) ก็เลยชวนให้มาอยู่ที่กสิกรไทย

“ตอนอยู่ เมอร์ริล ลินซ์ฯ ทีมที่ผมอยู่มีแค่  4 คนเท่านั้น แต่พอมาอยู่ K ASSET จาก 4 คนก็เพิ่มเป็น 200 คนเยอะขึ้นแถมยังมีเรื่องการทำงานที่ดูเป็นลำดับขั้นเพิ่มขึ้นมาอีก อาจจะด้วยความเคยชินจากตอนที่อยู่เมอร์ริล ลินซ์ ฯ  เวลาเห็นใครเขาทำงานผมก็เดินไปคุยกับเขา อยากรู้อะไรก็เดินถามไปเรื่อยๆ จนหลายคนที่ K ASSET มองว่ามันเป็นการทำงานที่แปลก อยู่ๆ เราเดินไปที่โต๊ะเลยได้ยังไง ทำไมจะคุยอะไรถึงไม่เรียกประชุมก่อน

“พอเป็นแบบนี้มันก็เลยทำให้ผมสื่อสารกับใครไม่ได้เลย ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมีอะไรไม่บอกกันมาตรงๆ เพราะผมเป็นคนที่ถ้ามีอะไรก็จะบอกตรงนั้นเลย แต่ก็อาจจะลืมไปว่าก็เพราะเราเป็นหัวหน้าไง ลืมคิดว่าอีกฝ่ายที่เป็นลูกน้องเขาอาจกลัวว่าถ้าพูดมาแล้วเดี๋ยวเขาจะดูไม่ดี จะเสียฟอร์ม หรือทำให้เราคิดว่าเขาเป็นคนไม่มีความสามารถได้ 

“ก็ใช้เวลาปรับตัวอยู่นานมาก จากนั้น 2-3 ปีก็เริ่มดีขึ้น พอได้คุยกันก็ต่างคนต่างรู้ว่าไม่มีอะไร กลายเป็นการทำงานที่สนุกสนาน จนเวลาต่อมาก็ได้ย้ายจาก K ASSET ไปอยู่ในส่วนของธนาคารใหญ่ คราวนี้ล่ะหนักเลย เจอคัลเจอร์ช็อกเข้าอย่างแรง”

05

รองกรรมการผู้จัดการ / รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส / กรรมการผู้จัดการ 
ธนาคารกสิกรไทย

“ด้วยความที่เป็นองค์กรที่มีมานาน 70 กว่าปี ที่นี่ก็จะมีระบบมีลำดับขั้นในแบบของมัน ซึ่งพอผมเข้าไปพนักงานเขาก็จะพยามเข้ามาปฏิบัติกับผมอย่างที่เคยทำมา มาถึงเอาน้ำมาตั้งให้ที่โต๊ะ ผมจะไปจังหวัดไหนก็มีคนมายืนรับ พูดจาอวยไปเรื่อย ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่น่าอึดอัดมาก ผมก็โอ๊ย (ลากเสียง) เป็นอะไรกัน เพราะตอนนั้นผมก็บอกเขาชัดเจนแล้วว่าการจะทำงานถ้าเราจะสนใจแต่ไต่เต้าอย่างเดียวมันไม่ได้ นอกจากเราจะช็อกกับคัลเจอร์ของที่นี่แล้ว เอาจริงๆ พนักงานเขาก็ช็อกกับเราด้วยเหมือนกันว่าไอ้นี่จะเอาอะไร เสิร์ฟน้ำก็ไม่เอา ช่วยทำนู่นนี่ก็ไม่เอา ตกลงจะเอาอะไรกันแน่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนทำงานแบงก์ในยุคก่อน

“หรืออย่างเรื่องขายประกัน สมมติมีเป้าหมายว่าจะขายประกันให้ได้ 100 ฉบับ คนที่เป็นหัวหน้าก็จะไปบอกลูกน้องว่าต้องขายให้ได้ 100 นะ ซึ่งคนที่ลำบากที่สุดก็คือพนักงานที่เป็นน้องๆ มันก็เลยกลายเป็นที่มามาของการขายประกันแบบพี่ช่วยหนูซื้อเถอะ อะไรแบบนี้เป็นต้น ผมก็เลยบอกกับคนที่เป็นหัวหน้าว่าเมื่อไหร่คุณจะเลิกสั่งแล้วไปช่วยลูกน้องหาลูกค้ามาให้ครบ 100 คน ถ้าเป็นแบบนี้เดี๋ยวผมไปบอกน้องๆ ที่เป็นคนขายเองก็ได้เพราะคุณไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากเป็นตัวกลางในการไปบอกต่อ ทุกคนก็ตกใจหมดถามว่าทำไมผมถึงพูดแบบนี้ พวกเขาก็คอยอินสไปร์น้องๆ อยู่นะ ผมก็ตอบกลับไปว่าไม่จริง ถ้าอินสไปร์ด้วยตำแหน่ง ผมทำได้มากกว่าพวกคุณอีก ซึ่งตอนนั้นคนที่ทำงานอยู่กับผมก็เครียดเหมือนกัน

“สองปีแรกที่มาอยู่ในธนาคารก็แทบจะไม่ได้อยู่ในออฟฟิศเลย ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการไปสาขาซะมากกว่า เวลาไปก็แค่ไปถามเขาว่าทำอะไร ซึ่งทุกคนจะตกใจและกลัวมาก แล้วเขาก็จะเก็งจะสืบกันหนักมากว่าวันนี้ผมจะไปสาขาไหน จะถามเรื่องอะไร สมมติวันนี้มีไป 5 สาขา พอเสร็จจากสาขาแรกเขาก็จะโทรไปบอกให้สาขาที่ 2, 3, 4, 5 ให้เตรียมตัวกันไว้ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เวลาผมไปสาขาทุกคนก็จะเล่าว่างานไหนไม่เสร็จ งานไหนลืม งานไหนไม่รู้ ซึ่งผมว่ามันโอเคมากๆ เลย รู้สึกว่าเป็นอะไรที่บรรลุเป้าหมายมาก ไม่ต้องมาผักชีโรยหน้า แล้วก็ไม่ต้องเครียดมานั่งเก็งกันว่าวันนี้ผมจะไปไหน ยิ่งกับคนอย่างผมยิ่งเก็งไม่ได้ด้วย 

“ซึ่งเอาจริงๆ ผมชอบไปสาขามากกว่ามานั่งวิเคราะห์นั่งพูดวิชั่นอยู่ในออฟฟิศเสียอีก เพราะการไปสาขามันทำให้เราได้เจอกับผู้คน ที่สำคัญคือได้รู้อินไซต์พนักงานซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนเป็นหัวหน้าถ้าไม่รู้ว่าลูกน้องเป็นยังไงนี่ไม่ได้เลย 

“หรืออย่างตอนทรานส์ฟอร์มสาขาก็เป็นอะไรที่สนุก มันได้เข้าไปแตะกับชีวิตของคนมากๆ  ได้ไปคุยกับพนักงานว่าหัวหน้ามีหน้าที่ช่วยนะ ไม่ได้มีหน้าที่สั่ง มีปัญหาอะไรต้องคุยกันให้หมด อย่าซุกปัญหาไว้ใต้พรมเพียงแค่เพราะถ้าบอกไปแล้วกลัวจะโดนหัวหน้าดุ แล้วเวลาคุยกันอย่ามัวแต่ไปห่วงไปบ้าคลั่งเรื่อง KPI มาก เพราะผมสนใจ output ที่ออกมาดีมากกว่า KPI

“ผมเป็นคนดูข้อมูลน้อยมาก อย่างเรื่องการทรานส์ฟอร์มสาขาที่ให้หัวหน้ามาช่วยลูกน้องมากขึ้น เรื่องเหล่านี้มันไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับข้อมูลเลย เป็นเรื่องคนล้วนๆ ถ้าเกิดดูแล้วพนักงานไม่มีความสุข มันไม่ต้องดูข้อมูลหรอก ซึ่งพอเริ่มปรับ output ในแง่ของงานมันก็ทำให้เรามีเครือข่ายที่แข็งแรงขึ้น เวลาไปคุยกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เขาก็อยากจะมาใช้เครือข่ายของธนาคารเรา ส่วน output ในแง่ของคน ตอนนั้นคนก็รู้สึกแฮปปี้ขึ้น เป็นความรู้สึกที่จับต้องได้ว่าคนทำงานไม่ได้มานั่งเซ็งเหมือนแต่ก่อน ทำให้เกิดแวดล้อมและคัลเจอร์ใหม่ๆ ที่ทำให้พูดคุยกันได้มากกว่าเดิม ไม่ได้มีความเป็นลำดับขั้นตอนมากเท่าแต่ก่อน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สนุกนะ การที่เราอยู่ในองค์กรหนึ่งที่มีเพื่อนร่วมงานอยู่เยอะๆ แล้วเราสามารถไปเปลี่ยนความคิดเขา ให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ จนเขารู้สึกดีกับมันได้

“จากรองกรรมการผู้จัดการก็มาเป็นกรรมการผู้จัดการ การเลื่อนตำแหน่งมันก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี ข้อไม่ดีคือคนจะคาดหวังให้เรารู้ทุกเรื่อง ซึ่งในความเป็นจริงคนเราไม่ได้รู้ไปทุกเรื่องหรอก แต่ข้อดีก็คือด้วยตำแหน่งของเรา มันทำให้เรามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง เปลี่ยนในสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้องให้มันถูกได้ เปลี่ยนในสิ่งที่ทำให้ชีวิตคนทำงานดีขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้มีตำแหน่งตรงนี้สั่งไปใครเขาจะทำตาม

“ส่วนงานที่กำลังทำและรู้สึกสนุกมากๆ อยู่ในตอนนี้คือโปรเจกต์ที่เรียกว่า BIZ X* มันก็จะคล้ายๆ กับตอนที่ทำอยู่ เมอร์ริล ลินซ์ฯ  นั่นแหละ คือธนาคารจะให้ทรัพย์สินเรามาก้อนหนึ่ง แล้วเราก็ต้องไปหาพาร์ตเนอร์มาร่วมมือกันเพื่อทำให้สินทรัพย์ของเราและพาร์ตเนอร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เหมือนเป็นการเอาความสามารถต่างๆ ของธนาคารมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะธนาคารสามารถที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างได้อีกมาก แต่มันอาจจะติดกับเรื่องระบบอะไรต่างๆ นานา ศักยภาพที่มีอยู่ก็เลยไม่ถูกดึงนำมาใช้”

“เหมือนเรามาเริ่มสร้างบริษัทใหม่ที่ต้องมานั่งไล่เรียงดูว่างานนี้เราจะเดินไปทางไหนดี resource เดิมที่มีอยู่เอาอะไรมาใช้ได้บ้าง ต้องจ้างใครมาช่วยทำ ธุรกิจจะไปทางไหน จะบุกตลาดไหนดี ซึ่งมันเป็นงานที่เหนื่อยแต่ก็สนุก เพราะส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ๆ ชอบตั้งเป้าหมายยากๆ มันเป็นความสนุกและสะใจส่วนตัวด้วย ซึ่งพอทำงานมานานก็เป็นธรรมดาที่มีเบื่อ แต่พอได้มาทำ BIZ X ก็รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตชีวามากขึ้น ไม่ใช่ต้องนั่งประชุมอย่างเดียว

“ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานใน KBank จนถึงวันนี้ ที่นี่ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการบริหารคนจริงๆ เพราะเมื่อก่อนพูดกับคนก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยประสานกับใครก็ไม่ค่อยเก่ง เบลอมาก สื่อสารกับคนยากสุดๆ ถึงทุกวันนี้เรื่องการบริหารคนก็ยังไม่ได้เป็นอะไรที่ง่ายสำหรับผมนะ ด้วยความเป็นหัวหน้าจะพูดจะจาอะไรก็ต้องระวังให้มาก แต่ถ้าเราระวังมากไปก็เดี๋ยวจะไม่เป็นตัวเองเข้าไปอีก พอไม่เป็นตัวเองมันก็โคตรจะฝืน จะพูดสัก 3 คำก็ต้องระวัง ดังนั้นมันก็เลยต้องหาบาลานซ์ตรงนี้ให้เจอ

“จากที่ทำงานมาทั้งหมด ผมว่าทักษะสำคัญของคนเป็นผู้บริหาร คือต้องกล้าตัดสินใจ ซึ่งการจะตัดสินใจได้ต้องมีจิตใจที่เด็ดขาดพอสมควร ไม่ใช่ตัดสินใจแบบครึ่งๆ กลางๆ หากผลของการตัดสินใจนั้นไม่ดีอย่างที่คาดก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะการตัดสินใจนั้นมันอยู่บนพื้นฐานที่เราคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว และเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้หวังร้ายกับใคร

“ผมว่าทุกการตัดสินใจมันให้ทั้งผลที่ดีและไม่ดีนั่นแหละ แต่ถ้าเรากลัวพลาดจนไม่ตัดสินใจเลย นั่นคงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไหร่”

*ตัวอย่างงานภายใต้โปรเจกต์ BIZ X เช่น การไปจับมือกับ LINE เพื่อทำ social banking ที่ให้ผู้ใช้สามารถเปิดบัญชี KBank สามารถโอน-ยืม-จ่ายเงิน บน LINE ได้ ทำ e-Wallet สำหรับจ่ายกับร้านค้าที่อยู่ในเครือ OR เช่นปั๊ม ปตท., คาเฟ่อเมซอน และล่าสุดคือการไปจับมือกับร้านสะดวกซื้อชุมชน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ของกลุ่มคาราบาว ที่เข้าไปทำทั้งระบบชำระเงินหรือเอาข้อมูลในการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ เป็นต้น

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ