Wealth, well, well.

ทำไมต้องวางแผนทางการเงิน?

“ทำไมต้องวางแผนทางการเงิน”

คุณเห็นอาคารหลังใหญ่ๆ หรือสะพานสูงๆ นั่นไหมคะ

ก่อนจะลงมือสร้างอาคารหรือสะพานที่เห็นได้ ต้องผ่านการคิดและแก้ไขแบบร่างการก่อสร้างทั้งนั้น อยู่ๆ วิศวกรและช่างฝีมือจะลุกขึ้นมาปักเสาแล้วสร้างตึกสูงขึ้นมา 30 ชั้นเลยคงไม่ได้

ไม่ต่างจากเวลาเราไปสนามกอล์ฟ เขาจะให้แผนที่เรามาว่าหลุมทั้ง 18 หลุมอยู่ตรงไหน แต่ละหลุมมีลักษณะอย่างไร เพื่อให้เราวางแผนพิชิตแต่ละหลุม แต่ละเป้าหมาย เพราะถ้าต้องลองหาทั้ง 18 หลุมด้วยตัวเองอาจจะต้องใช้เวลาตีกอล์ฟ 3 ปี

กระบวนของการวางแผนทางการเงินฟังดูแล้วอาจเป็นศัพท์ที่ยากและไกลตัว แต่จริงๆ แล้ว การวางแผนทางการเงินก็คือการวางแผนชีวิต เราอยากมีชีวิตยังไง อยากใช้จ่ายเท่าไหร่ และมีเรื่องราวที่ต้องเตรียมพร้อมยังไงบ้าง

หลายคนอาจจะบอกว่าชีวิตมันไม่ได้มีโอกาสให้วางแผนหรอก เพราะทุกวันนี้มีอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะ ทุกอย่างเข้ามาปะทะจนไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ใช่ไหมคะ 

จริงๆ การวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่การวางแผนระยะยาวอย่างเดียวนะคะ แค่เราวางแผนสำหรับชั่วโมงหน้า หรือวางแผนสำหรับอาทิตย์นี้ ก็ถือเป็นการวางแผนทางการเงินทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าตัวเราต้องถามตัวเองว่าอยากได้แผนสำหรับอะไร

ทุกครั้งที่คุยเรื่องนี้ ทุกคนจะพูดถึงนิยามความรวยเสมอ แต่นิยามคำว่ารวยของเราไม่ได้วัดที่เม็ดเงิน แต่คือ การมีชีวิตในวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ แล้วมีชีวิตในวันมะรืนที่ดีกว่าวันพรุ่งนี้ คือทุกวันขอให้ดีขึ้น ซึ่งคำว่าดีขึ้นไม่ได้วัดด้วยเงินเลยนะคะ ดีขึ้นอาจจะหมายถึงสุขภาพดีขึ้น มีเวลาในชีวิตมากขึ้น ได้ทำอะไรอย่างที่อยากทำมากขึ้น ได้ทำอะไรที่มีความหมาย หรือสร้างแรงบันดาลใจแก่คนอื่น

แน่นอนว่าในเรื่องของเงิน ถ้ามีพอใช้พอจ่ายหรือทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย มันก็ทำให้เรามีเวลาเอื้อไปคิดหรือวางแผนทำอย่างอื่นได้ สิ่งสำคัญก็คืออย่าให้มีข้อจำกัดที่ต้องทำงานทุกวันเพียงเพื่อจะหาเงินได้อย่างเดียว แต่ลองลุกขึ้นมาวางแผนชีวิต เพราะบางทีคุณภาพชีวิตที่เราต้องการไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย อย่างความรู้ใหม่ที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวัน สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตกลายเป็นว่าเป็นของที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ญาติพี่น้อง คนที่สนิท คนที่เรารัก คนที่รักเรา แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ เช่น ต้องการอ้อมกอด ต้องการมือที่ตบหลังอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการใช้เงินเลย ไปจนถึงสิ่งที่เราค้นพบว่า ตื่นมาวันนี้ขอให้ยังมีลมหายใจ สุขภาพร่างกายแข็งแรง นี่ก็เรียกว่าถูกรางวัลที่ 1 ประจำวันแล้วนะ ดังนั้นเมื่อตระหนักถึงความธรรมดาหรือความปกติใกล้ๆ ตัวแล้ว คุณอาจพบว่า คุณโคตรจะรวยเลย

กลับมาที่เรื่องเงิน ระหว่างที่เราเรียนวิชาเรื่องการหาเงินมาตลอดชีวิต เรียนจบมาเพื่อทำงาน แล้วทำงานเพื่อมีสตางค์บางส่วนไปใช้ชีวิต เราแทบไม่ลองเรียนวิชาที่สำคัญอย่างการใช้เงินกันบ้าง วิชาที่สอนการต่อเงิน เช่น เก็บออมเงินขึ้นมา นำเงินไปลงทุน หรือเอาเงินไปวางให้ถูกที่ถูกทางเพื่อส่งผลต่อเรา เช่น ไปลงเรียนหนังสือเพื่อวิชาความรู้ ไปซื้อบ้านสักหลังเพื่อเราจะได้มีที่พักพิง หรือคนในครอบครัวจะได้มีเราเป็นที่พึ่ง เป็นต้น 

ถึงอย่างนั้น การวางแผนการเงินอาจจะไม่สำคัญเลยสำหรับใครบางคน แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ เราคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะถ้าคุณต้องการมีชีวิตวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ มันไม่ได้หมายถึงเงิน แต่หมายถึงสิ่งที่อยากได้ เช่น ในเงินจำนวน 1 แสนเท่ากัน สำหรับบางคนวางแผนใช้ 1 ปี บางคน 1 เดือน บางคน 1 อาทิตย์ และบางคน 1 วัน ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินจะมากจะน้อย หากอยู่ที่เราจะสามารถใช้เงินแบบนี้ได้ตลอดไปหรือไม่

สิ่งที่เรากำลังคุยวันนี้คือ ทำยังไงล่ะ ให้คุณได้คุณภาพชีวิตอย่างที่คุณอยากได้ ทุกอย่างเกิดจากการวางแผน สุดท้ายเราจะพบว่าไม่ว่าเงินที่คุณได้รับจะมากน้อยเพียงใด ถ้าคุณไม่เก็บมันก็ไม่เหลือ ในขณะที่บางคนได้เงินพอสมควร แต่รู้จักจัดสรรปันส่วนเงินเก็บมันก็งอกงามได้ ซึ่งอาจจะไม่เห็นผลวันนี้หรอก แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี 2 ปี 5 ปีมันแตกต่างกันมาก ระหว่างคนที่วางแผนทางการเงินและคนที่ไม่วางแผนทางการเงิน

แตกต่างกันยังไงใช่ไหมคะ 

สมมติ เราและเพื่อนทำงานที่หนึ่ง เงินเดือนก็ใกล้ๆ กัน ผ่านไป 10 ปี ทำไมคนนึงมีบ้าน ทำไมมีรถ ทำไมไม่มีหนี้ ทำไมไปเที่ยวเมืองนอกได้ แล้วฉันทำอะไรอยู่เนี่ย นี่คือความแตกต่าง

ขณะเดียวกันแผนที่ดีต้องเกิดจากความกล้าที่จะตั้งเป้าหมาย และเป้าหมายที่ดีต้องเป็นเป้าหมายที่ S.M.A.R.T. ซึ่งมาจาก S–Specific คือเป้าหมายต้องชัดเจน ต้องการเก็บเงินเท่าไหร่, M–Measure คือ วัดผลได้เลย 1 2 3 4 5 บาทว่ากันมา, A–Achievement คือทำได้, R–Reasonable คือสมเหตุสมผล และ T–Timing คือเวลา ใน 1 ปีคุณต้องการเก็บเงินเท่าไหร่ เราชอบท้าทุกคนที่เจอว่า มาลองหาเงินและเก็บเงินให้ได้สักล้านนึงภายใน 5 ปีกันไหม ไหนมาลองวางแผนให้กับตัวเอง

สิ่งที่สำคัญต่อแผนมากๆ นอกจาก SMART ก็คือ ‘วินัย’ 

ถ้าคุณมีวินัยในการทำงาน มีวินัยในการวางแผนทางการเงินแล้ว อุปสรรคอื่นๆ ไม่ใช่ประเด็นเลย ไม่ว่าจะเป็นการที่ระหว่างทางเราอ่อนโยนกับตัวเองมากเกินไป คิดว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่ากำลังตัวเองจะทำไหว 

คือถ้ามนุษย์กลัวสิ่งที่ยากเกินกำลังมันก็คงไม่มีการวิ่ง 100 เมตรที่ต่ำกว่า 10 วินาทีได้ เพราะทุกคนคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ เช่นกันกับการวิ่งมาราธอน มีคนใช้เวลาวิ่งต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้ มีคนทำได้จริงๆ 

โลกเราจะเป็นยังไง ถ้าทุกคนเชื่อว่าตัวเองทำได้แค่นี้ มันคงไม่ก้าวหน้ามาถึงวันนี้ใช่ไหมคะ 

ชีวิตของเราก็ไม่ต่างกัน เพราะมีคนบางคนไม่ยอมแพ้ และคิดว่าโลกนี้มันไม่ได้มีแค่นี้ แต่มีจุดที่ดีกว่านี้ได้อีก ชีวิตเขาเหล่านั้นจึงดีกว่าเดิมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังจะทำวันนี้ในแง่ของการวางแผนทางการเงินก็คือ เรากล้าไหมที่จะทลายข้อจำกัดของตัวเองแล้วก็ตั้งเป้าให้มีวินัย

เคยสงสัยไหมคะ เมื่อการวางแผนทางการเงินสำคัญขนาดนี้ ทำไมความรู้เรื่องการเงินถึงไม่แพร่หลาย 

นั่นเป็นเพราะแทนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ เราถูกยัดเยียดหรือพาไปที่เรื่องโปรดักต์แทน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารที่ชวนให้ฝากเงิน หรือใครก็ตามที่มาแนะนำให้ลงทุนในหุ้น ซื้อกองทุนรวม ซื้อประกัน ทั้งหมดนี้วิ่งไปที่โปรดักต์ 

แล้วอะไรที่ผลตอบแทนที่สูงกว่าที่รับรู้ปกติมันไม่มีทางที่จะไม่มีความเสี่ยง เมื่อเราไม่เข้าใจสิ่งนี้พอลงทุนไปแล้วปรากฏว่ามันมีความเสี่ยงก็กลายเป็นความกลัว แล้วในที่สุดก็เลยไม่กล้าที่จะเข้าไป

ดังนั้นแทนที่จะไปวิ่งที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราควรทำให้คนเข้าใจเรื่องของการวางแผน รู้จัก asset allocation หรือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เช่น ในช่วงแรกถ้าเราเก็บสตางค์ได้เท่านี้ เป้าหมายเราเท่านี้ จริง ๆ แล้วเราอาจไม่จำเป็นต้องเสี่ยงอะไรเลย ลงทุนแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเล่นคริปโตฯ หรืออะไรที่มันเสี่ยงมากมายขนาดนั้น 

แต่ถามว่าถ้าคุณอยากลงทุนโปรดักต์ที่เสี่ยงทำได้ไหม ได้ แต่คุณต้องการจัดเงินให้เพียงพอว่า เงินที่คุณลงในโปรดักต์ ที่เสี่ยงนั้น หากเกิดอะไรขึ้นคุณจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการวางแผนทางการเงินนั้นสำคัญอย่างไร แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือมันไม่ใช่อย่างที่คิดก็เปลี่ยนแผนสิคะ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะแผนที่เรากำลังคุยกันนั้น ใช่การปักเสาเข็มขึ้นตึกซะที่ไหน แต่มันเป็นแผนที่อยู่ในตัวคุณ

ความยากของเรื่องนี้คือบางทีมันต้องศึกษาด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะเห็นอย่างแท้จริง วันนี้มีเพจ มีเว็บไซต์ต่างๆ มากมายที่สอนเรื่องการวางแผนทางการเงิน มีเรื่องราวที่เขียนเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินมากมายมหาศาล ถ้าคุณไม่เบื่อจนเกินไป คุณก็ลองไปศึกษา ลองหาอ่านดู ข้อมูลเรื่องพวกนี้เยอะมากแต่เราไม่ได้ใส่ใจเพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าวันหนึ่งเราต้องวางแผน เรารู้สึกว่าทุกเดือนยังมีเงินเดือน ยังทำงานได้อยู่ มันเลยไม่ต้องคิดอะไรไกล แต่ถ้าวันหนึ่งลองเงินขาดมือ หรือยามเกิดเรื่องไม่คาดฝันคนที่เขามีการวางแผนทางการเงิน มีเงินเก็บ เขาก็ชิลล์ๆ ขณะที่บางคนที่แทบจะล้มประดาตาย เพราะว่าถ้าขายไม่ได้ 1 วัน หรือขาดรายได้ 1 วันก็ขาดเงินที่จะมาใช้ดำรงชีวิตต่อเลย เป็นต้น

ดังนั้น มาทำให้การวางแผนเป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิตกันค่ะ เราชอบเล่าเรื่องนี้มาก มีน้องคนหนึ่งมีความฝันอยากไปดูฟุตบอลโลกมาก ซึ่ง 4 ปีจะจัด 1 ครั้ง ปีที่เขาอยากไปดูประเทศอังกฤษเป็นเจ้าภาพ เขาก็วางแผนเลย ศึกษาการจะซื้อตั๋วบอลโลกว่าต้องเตรียมตัวยังไง ต้องเก็บสตางค์ยังไง เขาจะไปดูบอลที่ไหนบ้าง เขาจะใช้อะไร วันไหนนอนบ้านเพื่อน โปรแกรมแต่ละวันทำอะไรบ้าง อย่างนี้ เห็นไหมว่าคุณก็สนุกกับการวางแผน

หรือถ้าใครอยากฝันอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นสักครั้ง งั้นคุณก็ลองวางแผนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรก ว่าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง ที่จะไปแล้วเที่ยวให้สนุก ไปแล้วได้ทำอะไรที่คุณชอบ เรื่องราวเหล่านี้ก็คือการวางแผนทางการเงินทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการวางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เราอาจจะไม่เคยรู้ว่าเราเคยเตรียมพร้อมเรื่องราวเหล่านี้มาเรียบร้อยแล้ว

Wealth Done ตอนต่อๆ ไป เรามาหาคำตอบพร้อมกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแผนเพื่อลูก วางแผนเพื่อเกษียณ วางแผนเพื่อซื้อบ้านซื้อรถ หรือแม้แต่เรื่องแต่งงาน เมื่อไหร่ควรแต่งงาน แล้วควรจัดงานแบบไหน หรือเมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า ตัวเราควรจัดการเงินที่มียังไง หรือวันที่ตัวเราได้รับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตเราควรเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนั้นยังไง

มาทำให้การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสนุกในชีวิตกันค่ะ คุณจะพบว่ามันไม่น่าเบื่อเลย แถมเต็มไปด้วยความท้าทายจริงๆ


WEALTH DONE คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital แล้วรออ่านคำตอบพร้อมกันทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co

Writer

อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย กรรมการอิสระ และที่ปรึกษาทางการเงินผู้อยากให้คนไทยหันมาวางแผนทางการเงิน ขณะเดียวกันเธอก็เชี่ยวชาญในการวางแผนอ่านหนังสือและดูซีรีส์อย่างไรให้จบภายในหนึ่งคืน

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์