Knitting the Future

knitCircle จากโรงงานเสื้อผ้าไหมพรมสู่แบรนด์ที่ฟื้นชีวิตไหม deadstock จนเก๋และใส่ได้จริง

เมื่อนึกถึงเสื้อผ้าไหมพรม เชื่อว่าภาพหิมะโปรยปราย สัมผัสของอากาศติดลบต้องแวบเข้ามาในหัวกันบ้าง เพราะในความทรงจำของคนไทยที่อยู่ในเมืองร้อน ร้อน และร้อนมาก เสื้อผ้าไหมพรมดูห่างไกลจากชีวิต

เวลาอยากได้เสื้อผ้าไหมพรมสวยๆ คุณภาพดีก็มักจะต้องไปควานหาในช็อปของแบรนด์ต่างประเทศ บ้างก็พรีออร์เดอร์เข้ามา แต่ดูเหมือนเทรนด์เสื้อผ้าของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด เพราะไม่นานมานี้เราเริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้าไหมพรมสัญชาติไทยเกิดขึ้นทีละหน่อย

หนึ่งในแบรนด์ที่เห็นครั้งแรกแล้วต้องกดเซฟคือ knitCircle เพราะคอลเลกชั่นแรกสุดอย่าง coconut ที่ใส่ในวันธรรมดาก็ได้ หรือใส่ออกงานก็ดี ได้เปลี่ยนภาพจำเสื้อผ้าไหมพรมไป 

เสื้อผ้าไหมพรมไม่จำเป็นต้องหนาจนใส่ได้แค่ในประเทศที่อุณหภูมิติดลบ และแม้จะปิดเนื้อหนังมิดชิดก็ออกแบบมาให้ใส่ในอุณหภูมิห้องแอร์เมืองไทยได้แบบไม่ติดขัด ไม่จำเป็นต้องปิดตั้งแต่คอถึงสะโพก แต่เป็นเสื้อแขนกุด เสื้อคลุมบางๆ หรือจะเป็นกางเกงที่ดูใส่สบายเวลาอยู่บ้าน กระโปรงที่สวมไปทำงานได้ 

นอกจากนั้นเสื้อผ้าไหมพรมยังทำความสะอาดได้เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป เพียงเข้าเครื่องซักผ้า ตากธรรมดาบนราวแขวน หรือจะเข้าเครื่องอบก็ยิ่งดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เสื้อผ้าไหมพรมดูน่าพิสวาทขึ้น 

ยิ่งได้รู้ว่าเสื้อผ้าไหมพรมของ knitCircle นั้นถักทอขึ้นจากเส้นด้ายและเส้นไหม deadstock ของ บริษัท ฟูลไทย นิตติ้ง แฟคตอรี่ จำกัด โรงงานผลิตเสื้อผ้าไหมพรมอายุกว่า 34 ปีของไทย เพื่อลดการสร้างขยะเสื้อผ้าก็ยิ่งทำให้เราอยากสนทนากับ Co-founder ของ knitCircle อย่าง แบงค์–วีระ เจริญสินทวีคูณ, พลจัง–พงศ์ณรงค์ จริงจามิกร และมาย–มายพัชรินทร์ สัจจะ 

แบงค์เล่าว่าโรงงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณแม่ของเขาที่ตั้งต้นจากการเป็นล่ามช่วยแปลภาษาระหว่างคนงานไทยและเถ้าแก่ชาวฮ่องกงที่เข้ามาเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าไหมพรม ที่ผ่านมาโรงงานแห่งนี้เน้นผลิต OEM ให้กับแบรนด์ต่างประเทศกว่า 90% ก่อนที่เขาจะได้พลจังและมายเข้ามาช่วยสร้างแบรนด์เล็กๆ นาม knitCircle เพื่อหวังเป็น sustainable knitwear brand ของไทย และทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมและแฟชั่นเดินไปด้วยกันได้

ท่ามกลางเสียงเครื่องจักรที่ทำงาน ระคนไปกับเสียงเซ็งแซ่ของคนงาน แบงค์ พลจัง และมาย ชวนให้เราขยับเข้ามาโคจรในวงแห่งเส้นไหมที่แต่เดิมเคยหมดคุณค่าไป แต่วันนี้กลับมีคุณค่าใหม่เป็นของตัวเอง

1
knitwear ที่ขยับสู่ความยั่งยืน

ก่อนหน้านี้แบงค์เคยสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน แต่ด้วยยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียไม่ใช่สื่อหลัก บวกกับเขาต้องรับหน้าที่ดูแลการผลิต OEM ไปด้วย แบรนด์เล็กๆ ของเขาจึงต้องพับเก็บไป จนกระทั่งได้พลจังและมายเข้ามาช่วย ความฝันในการสร้างแบรนด์ของตัวเองจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง

การกลับมาครั้งนี้ไม่ใช่การสร้างแบรนด์ knitwear ทั่วไปขึ้นมาอีกแบรนด์ แต่ด้วยเทรนด์ของ knitwear ในต่างประเทศกำลังก้าวสู่ความยั่งยืนมากขึ้น knitCircle ของทั้งสามคนจึงมุ่งเป็น sustainable knitwear brand

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่แม้จะหันมาทำแบรนด์ตัวเองได้ตามความฝันแล้ว แรกเริ่ม พวกเขากลับไม่ได้มุ่งเป้าทำตลาดในไทย แต่เน้นการขายส่งออกมากกว่าเพราะมองว่าคนไทยน่าจะมองข้ามเสื้อไหมพรมที่ใส่แล้วน่าจะเหงื่อผุดเป็นเม็ด 

แต่การพา knitCircle ไปออกงานแสดงสินค้าของโลก knitwear ในช่วงแรกนั้นเองที่ทำให้ทั้งสามคนได้กลับมานั่งตกตะกอนความตั้งใจกันใหม่ เพราะแม้โรงงานจะมีประสบการณ์การทำ OEM มามาก แต่แบรนด์ที่สร้างขึ้นถือเป็นน้องใหม่ในตลาด ฟีดแบ็กจากการไปออกงานจึงทำให้รู้ว่าแบรนดิ้งของพวกเขายังไม่แข็งแรง

“ตอนไปปารีส เขาถามว่าคุณเป็นใคร ทำมากี่คอลเลกชั่นแล้ว ทาร์เก็ตเป็นคนแบบไหน ส่งของยังไง เหมือนเขายังไม่เห็นภาพ ยิ่งเขารู้ว่าเราทำ OEM มีใบเซอร์ฯ เรื่องความยั่งยืน เขาก็อยากจะมาจ้างเราทำมากกว่า” แบงค์เล่า

“เพราะมันเป็นงานที่ business กับ business มาเจอกันมากกว่าลูกค้ามาเจอเรา ดังนั้นพวกช็อปต่างๆ ก็ต้องอยากได้แบรนด์ที่มีชื่อ ถึงโรงงานเราจะพร้อม แต่ความเป็นแบรนด์ของเรายังโนเนม” มายเสริม

อีกสิ่งที่ทั้งสามคนชวนให้เห็น pain point ในตอนนั้น คือภาพของแบรนด์ที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนอาจจะชัดก็จริง แต่ภาพของแบรนด์ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้จริงๆ อาจยังไม่ใช่ เพราะคอลเลกชั่นแรกสุดที่ทำขึ้นมานั้นเป็นคอลเลกชั่นที่ทำเพื่อลองตลาดในไทยด้วย ดีไซน์จึงดูเป็นคอลเลกชั่นหน้าร้อนของลูกค้าต่างชาติ ไซส์ที่ทำขึ้นมาก็เล็กเกินไปสำหรับคนต่างชาติ แต่ก็ใหญ่เกินไปสำหรับคนไทย 

เมื่อตลาดไทยกลับบูมมากกว่าที่ทั้งสามคนคิด แผนการที่จะพา knitCircle ไปลุยตลาดเมืองนอกจึงชะลอไว้ก่อนเพื่อกลับมมามุ่งตลาดไทยที่ใกล้มือมากกว่า

“มันเหมือนเรากลับมาตั้งหลักแหละ แล้วถ้าแบรนดิ้งเราชัดเจนกว่านี้ก็ค่อยลุยกันใหม่”​ มายบอกความตั้งใจ และนั่นเอง จึงเป็นที่มาของ knitCircle ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจการใส่เสื้อผ้า knitwear ในเมืองร้อนอย่างไทย

2
knitwear ที่ใส่ในเมืองร้อนได้จริง 

เมื่อตั้งต้นปักธงที่ไทยแลนด์ แนวทางการผลิตและการสื่อสารจึงเปลี่ยนไป ตั้งแต่ไซส์ ดีไซน์ ไปจนถึงวิธีการสื่อสาร

จากแต่เดิมที่ตั้งต้นเดินทางสายกลาง จับทั้งตลาดไทยและนอกจนต้องทำไซส์มากถึง 8 ไซส์ ตั้งแต่ XS ถึง 3XL ก็พยายามกรุ๊ปให้เหลือ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ S และ M ส่วนกลุ่มที่สองคือ L และ XL เพราะข้อดีของ knitwear คือความยืดหยุ่นสูง เว้นแต่บางดีไซน์ที่ใส่เข้ารูปพอดีไซส์จะสวยกว่า จึงจะแตกออกมาเป็น 4 ไซส์ 

“ในวงการแฟชั่นจะรู้ว่ายิ่งไซส์เยอะก็ยิ่งต้องสต็อกเยอะ แต่กลายเป็นว่ามันก็ยิ่งไม่ยั่งยืนตามความตั้งใจของเราหรือเปล่า เราเลยกลับไปโฟกัสไซส์ของคนไทยกันก่อน” แบงค์อธิบาย

ส่วนดีไซน์ของ knitCircle นั้น ภาพของแบรนด์ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าต้องใส่ในอากาศติดลบแต่อย่างใด แต่ในชีวิตประจำวันอย่างการทำงาน ไปเที่ยว ก็สวมใส่เสื้อผ้าไหมพรมได้เช่นกัน  

“เรามีเสื้อกล้ามเยอะมากเพราะมายก็ชอบด้วย แต่หลังๆ มีฟีดแบ็กว่ามีเสื้อผ้าที่มันมีแขนบ้างไหม เพราะเขาก็อยากใส่แบรนด์เราไปทำงานบ้าง ก็เลยเริ่มพัฒนาแบบให้มันหลากหลายขึ้น เช่น คอลเลกชั่นออฟฟิศ หรือล่าสุดก็เป็นคอลเลกชั่นหน้าหนาว” มายผู้รับหน้าที่ออกแบบเล่าไอเดีย

“บางตัวลายสวยมากก็ต้องแลกมากับผ้าที่หนาขึ้น แลกมากับความร้อนขึ้น แต่เราก็มองว่าไลฟ์สไตล์คนไทยไม่ได้อยู่นอกห้องแอร์ขนาดนั้น แต่ละคนก็คงแมตช์ชุดก่อนออกไปทำกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว อย่าว่าแต่เสื้อไหมพรม แค่เสื้อเชิ้ตแขนยาว เราเองก็ไม่เลือกใส่ในวันที่ไปเดินตลาดหรือเจอแดดแรง” พลจังเสริม

อีก pain point ที่ต้องแก้ให้ได้เมื่อจะลงสนามแฟชั่นไทยที่เป็นเมืองร้อน ร้อน และร้อนมากคือการสื่อสารเรื่องการทำความสะอาดเสื้อผ้าไหมพรม 

“ไม่ต้องยึดที่ลูกค้า เอาที่เพื่อนรอบตัวที่ซื้อไปก็ได้ คำถามแรกที่เขาถามเราคือ ‘ซักเครื่องไม่ได้ใช่ไหม’ แล้วคนถามเยอะมากจนเราต้องทำการ์ดสอนวิธีการดูแลออกมา ทั้งที่ตอนแรกไม่อยากทำเพราะมันเป็นการสร้างขยะ” มายเล่าพลางหัวเราะ

“สิ่งที่เราอยากจะบอกคือจริงๆ แล้วเสื้อเราซักได้ อบได้ก็ดี แต่อย่าซักมือได้ไหม เพราะซักมือแล้วมันต้องขยี้ ต้องบิด ถ้าแรงไม่เยอะพอหรือบิดไม่เก่งจริงๆ น้ำก็ออกไม่หมด พอน้ำไม่หมดผ้าก็หนัก หนักเสร็จแขวนปุ๊บเสื้อก็ยืด ต่างกับเครื่องซักผ้าที่เวลาเหวี่ยงมันเหวี่ยงน้ำออกทั้งก้อนเลย ส่วนเรื่องอบแล้วมันหดก็ปกติ เพราะพอเราใส่ถึงเย็น ด้วยธรรมชาติของงานไหมพรม เสื้อผ้าก็จะมีความยืดขึ้นอยู่แล้ว” พลจังอธิบาย

เล่าอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเสื้อผ้าไหมพรมทุกชนิดจะซักอบได้ด้วยเครื่องที่มนุษย์สร้างเพื่อทุ่นแรง แต่ทั้งสามคนใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิตว่าวัสดุที่เลือกใช้จะต้องซักได้ อบดี 

“อย่างแคชเมียร์หรือวูลที่อบแล้วหดจนเหลือตัวเท่าฝ่ามือ เราก็จะไม่เลือกใช้” แบงค์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุที่สุดเล่าหลักการสำคัญ  

3
knitwear จากเส้นด้าย deadstock แบบลิมิเต็ดที่หมดแล้วหมดเลย

จากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้นสองของโรงงาน เราพบเส้นด้ายและเส้นไหมที่สะสมไว้จำนวนมาก คล้ายกำลังเดินอยู่บนภูเขาแห่งเส้นด้าย 

วัสดุเหล่านี้เหลือเก็บจากการทำ OEM ให้แบรนด์ต่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันเพราะการผลิตเสื้อผ้าแต่ละครั้งต้องเผื่อเส้นด้ายไว้เสมอ นั่นหมายความว่าหากไม่หยิบเส้นด้ายที่เผื่อไว้มาใช้งาน เส้นด้ายเหล่านั้นก็จะค่อยๆ กองสุมเป็นภูเขาที่อาจสูงกว่าเอเวอเรสต์เข้าสักวัน

หลักการข้อแรกที่ทำให้แบรนด์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นจึงคือการเลือกใช้เส้นด้าย deadstock เหล่านั้นให้พร่องลงไปเพื่อลดการสร้างขยะชิ้นใหม่ให้โลกใบนี้ แน่นอนว่ายิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้การผลิตเสื้อผ้าไหมพรมเข้าไปอีกหลายเท่า

  “การทำเสื้อผ้าไหมพรมมันเหมือนการทำแกงที่ถ้าจะทำก็ต้องโขลกเครื่องแกงกันเอง คิดกันตั้งแต่ต้นว่าจะเอาด้ายอะไรตั้งต้น ไปผสมอะไร ไม่ใช่อาหารเวฟที่แค่เข้าไมโครเวฟก็พร้อมทานเลย พอมาใช้ด้าย deadstock มันเลยซับซ้อนมาก ทุกครึ่งปี โรงงานจะรวบรวมมาให้ว่าเหลืออะไรในสต็อกบ้าง สีนี้เหลือเท่าไหร่ เอาไปผสมกับสีอะไรได้บ้าง จำนวนเท่านี้จะทำทรงแบบไหนได้ เพราะถ้าเหลือน้อยก็ทำบางแบบไม่ได้ 

“อย่างอันนี้ตอนแรกเราอยากใช้สีฟ้าอ่อนอย่างเดียวแต่มันไม่พอ เพราะเหลืออยู่แค่ 7 กิโลกรัม เราอยากได้อีก 13 กิโลกรัม แต่เราเห็นว่ามันมีสีฟ้าเข้มนะ อย่างนั้นเราตีด้ายรวมกันไปเลยไหม จนได้มาเป็นเอฟเฟกต์นี้ หรืออย่างบางตัว เราก็เอาด้าย 3 เส้นมาตีรวมกันเพื่อสร้างเอฟเฟกต์ใหม่ซึ่งมันก็เป็นข้อดีที่ผ้าผืนที่ขายกันเป็นม้วนๆ ไม่สามารถทำได้

“แล้วบางทีมันไม่ใช่แค่ด้าย แต่เรามาดูด้วยว่ากระดุมและซิปที่มีในสต็อกมันมีแบบไหนบ้าง กระดุมเหลือสีนี้ แล้วเส้นด้ายจะใช้สีอะไรดี มันซับซ้อนยุ่งยากมากจนเหมือนเราทำให้ตัวเองลำบากแต่เราก็แฮปปี้ที่จะทำนะ เหมือนได้ท้าทายตัวเองในทุกคอลเลกชั่น” พลจังอธิบายพลางชี้ให้เห็นชาร์ตสีด้ายที่เหลือให้สร้างสรรค์

ด้วยข้อจำกัดเหล่านั้นเองทำให้รูปแบบของ knitCircle ต้องเป็น slow fashion ไปโดยปริยาย เพราะแม้จะอยากผลิตให้ได้สัก 100 ตัวต่อคอลเลกชั่น วัสดุที่เหลือก็อาจทำได้แค่หลัก 20-30 ตัวเท่านั้น 

“ทำได้นิดเดียวก็ต้องเปลี่ยนไลน์การผลิตแล้ว เราจึงต้องสื่อสารกับพนักงานอย่างจริงจัง เพราะเขาจะรู้สึกว่าเปลี่ยนอีกแล้วเหรอ ทำไมเราต้องทำสิ่งนี้ ทำไมทำครั้งละมากๆ แบบเดิมไม่ได้ เราก็ต้องพยายามปรับความเข้าใจกับเขาว่าเราจะมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้นนะ” ทายาทโรงงานอย่างแบงค์แชร์ถึงงานยากที่เขาต้องเผชิญจากการทำสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน

นอกจากการนำด้ายในโกดังมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า ในอนาคตทั้งสามคนยังตั้งใจเฟ้นหาเส้นด้ายจากวัสดุธรรมชาติมาใช้อีกด้วย  

4
knitwear ที่สายกรีนใส่ดี สายแฟใส่ปัง คนธรรมดาก็ใส่ได้ทั้งนั้น

“เราอยากเป็นสโลว์แฟชั่น” นี่คือคำที่แบงค์ ทายาทโรงงานที่วนเวียนกับการทำ OEM ให้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอยากไปให้ถึง

แต่คำว่าสโลว์แฟชั่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการผลิตเพียงน้อยเท่านั้น สโลว์แฟชั่นยังเป็นหลักสำคัญว่าเสื้อผ้าของ knitCircle จะต้องออกแบบภายใต้ร่มของคำว่า ‘timeless’ เพื่อให้เสื้อผ้าเหล่านั้นใส่ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ตายไปพร้อมกับแฟชั่นที่ผ่านมาแล้วผ่านไป จนกลายเป็นเพียงขยะที่ไม่ควรค่าในตู้เสื้อผ้าของผู้คน

“ภาพลูกค้าในหัวเราตอนแรกคือกลุ่มวัยทำงานขึ้นไป เราจึงเลือกทำสไตล์ที่มันเรียบๆ แต่พอผ่านไปหลายคอลเลกชั่น เรารู้สึกว่ามันอาจจะเรียบไปและเราก็ได้เห็นว่าคนวัยทำงานมีเยอะก็จริงแต่วัยอื่นก็มีเหมือนกัน ทั้งจากช่องทางลาซาด้าหรืออินสตาแกรม ลูกค้าจะรีเควสต์มาหลายแบบ เราเลยเริ่มคิดแบบที่มันตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น เช่น สีอาจจะสนุกขึ้นไหม หรือลวดลายดูมีกิมมิกมากขึ้น แต่มันจะต้องไม่หวือหวามากนะ” มายผู้รับหน้าที่เกี่ยวกับงานอาร์ตทั้งหมดอธิบาย

“เราอยากให้ลูกค้าซื้อไปใส่วันนี้แต่อีก 5 ปีก็ยังไม่เชย ทุกแบบมันเลยจะเรียบ แต่ใส่แล้วมันจะต้องสวย ต่อให้เป็นคนที่เคยชอบเสื้อผ้าแฟชั่นจ๋าๆ ก็จะต้องอยากใส่ของเรา หรือถ้าไม่ได้เป็นคนกรีนขนาดนั้นก็ซื้อไปใส่ได้ เพราะเรารู้สึกว่า pain point ของวงการ sustainable ไทยคือดีไซน์มันไม่ชวนใส่ ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ยากที่จะให้คนมา join our circle” พลจังเสริม

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือความสโลว์ของแบรนด์เหมือนจะดึงดูดลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสโลว์แฟชั่นจริงๆ เพราะยอดขายของคอลเลกชั่นใหม่จะไม่พุ่งทันทีที่วางขาย แต่จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในอีกหลายเดือนต่อมา หรือสีที่เคยขายไม่ดีก็กลับกลายเป็นขายดีในเดือนถัดไป

“สมมติถ้าเราลงว่าพรุ่งนี้จะปล่อยคอลเลกชั่นใหม่ คนไลก์หลายร้อยเลยนะ แต่เชื่อไหมว่าพอเรารีเฟรชระบบตอนเที่ยงคืนกลับไม่มีคนซื้อ ตอนแรกก็เครียดแต่ทุกครั้งมันเป็นแบบนี้ เลยเข้าใจว่าลูกค้าไม่ได้รีบ เขาแค่กดใส่ตะกร้าไปก่อน แล้วพอเขาพร้อมเขาก็จะกลับมาซื้อเรา” มายเล่าพลางหัวเราะก่อนที่พลจังจะอธิบายสิ่งที่วิเคราะห์ไว้ให้ฟังว่า

“มีลูกค้าคนนึงซื้อไปหลักแสนบาทภายใน 3 เดือน เขามีแพตเทิร์นการซื้อด้วย คือซื้อไปลองหนึ่งตัวจากนั้นก็กลับมาซื้อคอลเลกชั่นนั้นทุกตัวกลับไป เป็นความสัมพันธ์แบบยอดเข้าตลอดแต่ไม่เคยพูดคุยกัน เราก็ดีใจ มันเหมือนเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่เราทำมันมีคนชอบจริงๆ 

“อีกอย่างมันก็ยิ่งตอกย้ำคำว่าสโลว์แฟชั่นในมุมเราว่าต่อให้วัสดุที่เราใช้มันอาจไม่ได้มีความรักษ์โลกอะไร แต่ถ้าเธอชอบ เธอลอง แล้วเธอกลับมาซื้อไปใช้จนมันขาด ใช้จนมันหมดอายุขัย มันก็ยั่งยืนเพียงพอโดยไม่ต้องทำให้การรักษ์โลกมันยากเกินไป เพราะมันก็ถือเป็นการลดการสร้างขยะไปอีกทางหนึ่งเหมือนกัน” 

5
knitwear ที่ไม่อยากยืนเดี่ยว

ความตั้งใจของแบงค์ พลจัง และมายคือการสร้างให้ knitCircle เป็น sustainable knitwear ที่ไม่ได้อยากยืนหนึ่งในวงการ แต่อยากชวนคนรอบข้างที่สนใจเรื่อง knitwear และความยั่งยืนมาก้าวเดินไปด้วยกัน เราจึงได้เห็นทั้ง 3 คน พา knitCircle ไปโลดแล่นอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  

“เราเป็นเพื่อนกับจูน จูนเองก็จบแฟชั่นและอยากมีแบรนด์ของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่การเริ่มทำแบรนด์จากศูนย์มันค่อนข้างยาก พอเราชวน จูนก็เอาด้วยเพราะเขาอยากมีคอลเลกชั่นที่เขาชอบและอยากให้คนอื่นใส่” พลจังเล่าถึงที่มาของคอลเลกชั่นที่ดูเหมือนจะเติบโตไปพร้อมกันกับนักแสดงสาวอย่างจูนจูน พัชชา ก่อนที่แบงค์จะเกริ่นถึงการคอลแล็บครั้งสำคัญ

“สังเกตไหมว่าแบรนด์ต่างประเทศเขาจะมี product range เยอะมาก และ knitwear จะต้องเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นของเขาทุกครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างในไทย อาจจะคนไทยกลัวร้อน หรือด้วยโรงงานมีน้อย แบรนด์ต่างๆ ที่อยากทำ knitwear เลยไม่มี knitwear เป็นส่วนหนึ่งของเขาเท่าไหร่

“เราเองก็ไม่อยากเดินคนเดียวแต่อยากสร้างคอมมิวนิตี้นี้ไปด้วยกัน อยากขยาย circle ของเราให้กว้างขึ้นอยู่แล้ว ในเมื่อเราเคลมตัวเองได้ว่าเราเป็น sustainable knitwear เราก็อยากจะให้แบรนด์เราเป็นเหมือนเครื่องการันตีให้แบรนด์ต่างๆ ที่อยากจะ go green มาร่วมคอลแล็บกับเรา เพราะนั่นหมายความว่าเขาจะการันตีกับลูกค้าได้เลยว่าคอลเลกชั่นนั้นๆ มันยั่งยืนยังไงโดยไม่ต้องสื่อสารมาก”

อย่างแบรนด์ Madmatter นั้น หลายคนที่ติดตามมานานก็อาจรู้กันดีว่าผู้ก่อตั้งพยายามสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนกับโลกที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน จึงต้องบาลานซ์ความกรีนและความต้องการของลูกค้าให้ได้ เมื่อได้คุยกับแบงค์ พลจัง และมาย คอลเลกชั่นพิเศษที่ทั้งสองแบรนด์ทำร่วมกันจึงเกิดขึ้น

ทั้งสามยังเล่าว่านอกจากจะได้ร่วมขยายวงความกรีนให้กว้างกว่าเดิมแล้ว องค์ความรู้ในการปั้นแบรนด์ของพวกเขาก็กว้างมากขึ้นเช่นกัน อย่าง Madmatter ก็เคยแชร์กับทั้งสามคนว่าก่อนหน้านี้เคยพบข้อจำกัดอะไรมาบ้าง หากอยากสร้างแบรนด์ที่กรีนกับโลก

ไม่ว่าจะรีสต็อกสินค้าไม่ได้เพราะผ้าที่ใช้นั้นเหลือเพียง 2 ม้วนสุดท้าย หรือแบรนด์อยากจะกรีนให้สุดด้วยการแพ็กสินค้าใส่กล่องกระดาษโดยไม่ใส่ถุงพลาสติกก่อน เพื่อให้ไม่เพิ่มขยะพลาสติก แต่ลูกค้าก็อาจไม่มั่นใจเรื่องความสะอาด และทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ดูไม่ดี การพยายามหาสมดุลระหว่างความกรีนและความอยู่รอดของแบรนด์จึงสำคัญ

“นอกจากเราจะได้ขยายวงของเราให้กว้างขึ้นแล้ว เรายังได้รู้ทางลัดในการทำแบรนด์ด้วยนะ” พลจังบอก

6
Knitting Towards Sustainability

เมื่อนึกถึงภาพแบรนด์ knitCircle เราเองนึกถึงวงกลมของหลัก circular economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ถึงอย่างนั้นวงกลมวงนี้ก็ไม่ได้สร้างขึ้นจากเส้นทึบ กลับเป็นเส้นไหมที่มีโพรงเล็กโพรงน้อย ที่เชื่อมติดกันคล้ายเป็นประตูหลายบานที่แบรนด์ คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว คนที่รักแฟชั่น หรือคนทั่วไปที่แค่ชอบแบรนด์เพราะความสวยงาม ก็เปิดมาทำความรู้จักและร่วมจอยวงกลมแห่ง knitCircle ได้

แน่นอนว่าวงกลมวงนี้ไม่หยุดอยู่แค่วงของเสื้อผ้า แต่จะหมุน วน และกลิ้งไปได้ทั่วทุกวงการ เช่นเดียวกับที่พวกเขาเพิ่งพาเส้นด้ายในโรงงานเดินทางไปอีกพื้นที่ของการออกแบบ อย่างการปั้นแบรนด์ของแต่งบ้านจากเส้นไหมนาม knitCirclehome ที่เพิ่งเปิดตัวไป

“เราไม่ได้อยากเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเท่านั้นนะ เพียงแต่ว่ามันอาจเข้าถึงง่ายที่สุด เรามองว่า knitCircle มันจะเป็นอะไรก็ได้” ผู้รับผิดชอบเรื่องงานอาร์ตอย่างมายบอก

“เราอยากเป็น top-of-mind ของคนไทยว่าเวลาคิดถึงไหมพรมหรือ knitwear ที่คราฟต์จริงๆ และดีต่อโลกก็อยากให้คิดถึง knitCircle ก่อน นั่นยิ่งทำให้เราต้องพัฒนาภายในองค์กรให้ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าไม่ว่าเราจะออกสินค้าอะไร เราก็ไม่ได้สร้างขยะให้กับโลกแน่นอน” ทายาทของโรงงานอย่างแบงค์เล่าแนวทางการทำแบรนด์พร้อมๆ กับแนวทางการพัฒนาธุรกิจครอบครัว

“ส่วนเรารู้สึกว่าเราอยากเป็น sustainable brand ที่ยั่งยืนจริงๆ เพราะมันมีแบรนด์เสื้อผ้าที่เกิดขึ้น เคยดัง แล้วก็หายไปเยอะในช่วงหลายปีมานี้ เราไม่อยากเป็นแบรนด์แบบนั้นแต่เราอยากโตไปด้วยกันกับใครสักคน วันหนึ่งที่เราอายุ 40 เราก็ยังอยากให้มันมีแบรนด์นี้อยู่ ซึ่งจะทำได้หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ” พลจังเล่าถึงภาพฝันของ knitCircle ในมุมของตัวเองบ้าง 

ย้อนกลับไปวันที่ตระเวนพา knitCircle ที่ยังแบเบาะไปงานแสดงสินค้าที่ปารีส อาจถือว่าทั้งสามไม่ประสบความสำเร็จในงานนั้นๆ แต่ผลจากการปฏิเสธในวันนั้นก็ทำให้คนไทยได้มี knitwear ที่ดีต่อใจและดีต่อโลกในครอบครอง 

ยิ่งไปกว่านั้น knitCircle ที่ดูแบเบาะเมื่อปีก่อนก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้นทุกวันๆ วันนี้แบรนด์มีผู้ติดตาม มีคนสวมใส่ มีชาวต่างชาติเป็นแฟนคลับพร้อมซื้อ 

คำถามที่เราสงสัยจึงคือวันนี้พวกเขาพร้อมกลับไปตีตลาดต่างประเทศตามที่ตั้งใจหรือยัง

“ตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องของไทม์ไลน์การทำงานที่ยังไม่ลงตัวมากกว่า เพราะถ้าถามเราในวันนี้ เราคิดว่าจริงๆ ก็พร้อมแล้ว เราว่าภาพเราชัดมากขึ้น เรารู้จักตัวเอง และรู้จักแบรนด์ของเราเยอะมากขึ้น” แบงค์คลายความสงสัย 

What I’ve Learned

มาย : การเปิดแบรนด์เสื้อผ้าคงเป็นความฝันของผู้หญิงหลายคน มันดูเหมือนจะไม่ยาก แค่ไปซื้อผ้า หาคนตัด แต่พอได้ลองทำจริงๆ เราพบว่ามันไม่ใช่แค่ฉันจะทำเสื้อผ้าออกมาขาย แต่กระบวนการเบื้องหลังยังมีอีกเยอะมาก มันมีหลายแง่มุมที่เราต้องสนใจ ทั้งลูกค้า คนทำงาน ทีมเราเอง

พลจัง : แต่ก่อนเราติดความเพอร์เฟกต์มาก อยากให้ทั้งดีไซน์มันสุดทาง คุณภาพสินค้า หรือการสร้างความประทับใจ เราก็คาดหวังกับตัวเองไว้สูง แต่ฟีดแบ็กจากลูกค้าบอกเรามาว่าเขาไม่ได้อยากได้อะไรขนาดนั้นนะ แค่นี้ก็พอแล้ว ของมันไม่ดีตรงไหนเขายังไม่รู้เลย มันเป็นสิ่งที่เราคิดไปเองเพราะเราอยู่ในมุมของคนที่อยากทำให้ดีที่สุด แต่คำว่าดีที่สุดของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นมันไม่มีอะไรรอพร้อมก่อนถึงจะทำได้ ลองทำไปเถอะ เดี๋ยวก็พร้อมเอง หรือตอนนี้ถ้าพร้อมเท่านี้ก็ปล่อยไปเท่านี้ 

แบงค์ : โรงงานนี้เปิดมา 34 ปี เราก็คิดว่าเรารู้ทุกอย่าง เรารู้ตลาดดีแล้ว เรารู้ว่าคนยุโรปต้องการอะไร ลูกค้า OEM ต้องการอะไร แต่พอมาสัมผัสลูกค้าจริงๆ มันมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้และต้องปรับอีกเยอะเลย แล้วเราก็อยากลองทำอีกหลายอย่าง เพราะสิ่งที่เราคาดเดาส่วนใหญ่มันก็จะไม่ถูก ต้องไปลองดูแล้วเราจะรู้ถึงเหตุผล

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like