คนทะเล
วิถีประมงยั่งยืนของ ‘คนทะเล’ ที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสจนชนะ Banpu Champions for Change
253 กิโลเมตร คือระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปถึงตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวงดงามลำดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีจุดชมวิวบนอุทยานเขาสามร้อยยอด จรดน้ำทะเลสีครามไกลสุดลูกหูลูกตาของอ่าวทุ่งน้อย เป็นแลนด์มาร์กสะกดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่มาเยี่ยมเยียน
เมื่อธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ คนก็พลอยมีสุขมีกิน เฉกเช่น ‘คนทะเล’ (Khontalay) แบรนด์ธุรกิจจัดจำหน่ายอาหารทะเลออร์แกนิก 100% ซึ่งเกิดจากความรู้ในวิชาชีพประมงของชาวบ้านชุมชนบ้านทุ่งน้อย ในตำบลเขาแดง ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนมาถึงมือของ ‘นิสสัน–กิตติเดช เทศแย้ม’ ทายาทคนปัจจุบัน ไม่ว่าจะปลาอินทรีตัวอวบอ้วน ปลาทูสดตาใส กุ้งแชบ๊วยเนื้อกรอบเด้ง ฯลฯ ล้วนเป็นผลผลิตมูลค่ามหาศาลที่หาได้จากท้องทะเลแถบนี้
มองจากสายตาคนนอก ท้องทะเลก็มิต่างจากขุมทรัพย์ที่พร้อมหยิบใช้ได้ทุกเมื่อ แต่หากมองตามความเป็นจริง ทรัพยากรในทะเลยิ่งถูกใช้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งหมดไว ซ้ำหากใช้อย่างไม่ทนุถนอมก็ยิ่งหมดไปอย่างถาวร โดยกิตติเดชบอกกับเราว่า นับตั้งแต่ปี 2554-2563 มีสัตว์น้ำในอ่าวทุ่งน้อยลดลงไปมากกว่า 80% และมีท่าทีจะลดลงเรื่อยๆ
ด้วย pain point ที่ว่ามานี้เอง กิตติเดชและกลุ่มชาวประมงบ้านทุ่งน้อยจึงตัดสินใจพลิกวิถีการทำประมงพาณิชย์เสียใหม่ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรนานาสัตว์น้ำให้ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้พวกเขาไม่ได้ทำโดยลำพัง เพราะยังได้บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion ร่วมสนับสนุน ภายใต้โครงการ ‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ (Banpu Champions for Change: BC4C) ปีที่ 13 ด้วยโมเดลการทำธุรกิจแบบ social enterprise
รู้เรา รู้ปัญหาธรรมชาติ
แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องการทำธุรกิจประมงยั่งยืน กิตติเดชอาสาพาเราไปรู้จักกับวิถีชีวิตของชาวประมง ซึ่งเขาเรียนรู้และซึมซับมาตั้งแต่เด็กจาก ‘ปิยะ เทศแย้ม’ ผู้เป็นพ่อตั้งแต่ 8 ขวบ ระหว่างล่องเรือชมธรรมชาติ กิตติเดชเล่าให้ฟังว่าพื้นที่ทะเลแถบนี้คือแหล่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านต่างยึดอาชีพประมงจับสัตว์น้ำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ที่ว่าเปรียบเสมือนดาบสองคม ในการเชื้อเชิญประมงพาณิชย์จากทั่วทุกสารทิศเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ อวนรุน อวนลาก อวนตาถี่ และอีกสารพัดเครื่องมือขนาดยักษ์ถูกเหวี่ยงลงลากเอาสัตว์น้ำ แสดงอนุภาพครูดลากทำลายระบบนิเวศ และชีวิตของสัตว์น้ำวัยอนุบาล ปิดโอกาสการฟื้นคืนของธรรมชาติ
กิตติเดชเล่าต่อถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำประมงพาณิชย์โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติที่ชัดเจนที่สุด คือจำนวนตัวเลขของ ‘ปลาทู’ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงจากราวหลัก 100,000 ตัน เหลือเพียง 20,000 ตัน เนื่องจากแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำวัยอนุบาลถูกทำลาย ขณะเดียวกันยังมีการทำประมงที่ต่อเนื่องโดยปราศจากการคำนึงถึงช่วงฤดูวางไข่
แน่นอนว่าปัญหาข้างต้นไม่ได้ส่งผลแค่คนทำอาชีพประมง สัตว์น้ำ และระบบนิเวศ เพราะผู้บริโภคเองยังต้องแบกรับราคาอาหารทะเลที่พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ จากการที่ผลผลิตจากท้องทะเลมีจำนวนน้อยลง เพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น ปิยะผู้เป็นพ่อจึงรวบรวมชาวบ้านทุ่งน้อยสร้างเครือข่ายการทำประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เช่นรณรงค์ให้ใช้เครื่องมือประมงขนาดเล็กที่เหมาะกับการจับสัตว์น้ำพันธุ์นั้นๆ งดการใช้เรือคราดหอยซึ่งทำให้หน้าดินในระบบนิเวศเสียหาย แม้กระทั่งการงดบริโภคปูที่มีขนาดใหญ่กว่า 11 เซนติเมตร และไม่กินปูไข่นอกกระดอง ก็เป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูประชากรปูทะเลให้กลับมาเท่าแต่ก่อน ความตั้งใจนี้เอง ได้ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นลูกอย่างกิตติเดช
หนึ่งสิ่งที่คนในรุ่นของเขาทำคือการทำ ‘ซั้งกอ’ เครื่องมือจากภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีส่วนประกอบของทางมะพร้าว ปล้องไม้ไผ่ และแท่งซีเมนต์ นำมาผูกติดกัน ก่อนหย่อนลงสู่ทะเลเผื่อเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยซั้งกอสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
เหล่านี้นับเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่รู้ว่าปัญหาที่ท้องทะเลกำลังเผชิญคืออะไร และเราควรต้องปรับอะไรบ้างก่อนที่จะสายเกินแก้
โมเดลธุรกิจจากการเกื้อกูลกันระหว่าง ‘คน’ และ ‘ทะเล’
“ถ้าผมทำยังคงทำแบบเดิมคงไม่มีปิยะหรือกิตติเดชคนที่ 2”
ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่กิตติเดชบอกกับเรา แน่นอนว่าการทำประมงอย่างยั่งยืนคือสิ่งที่กำลังเดินมาอย่างถูกต้อง แต่การพึ่งพาเพียงอาชีพประมงดูจะเป็นแนวคิดยึดติดจนเกินไป ดังนั้นกิตติเดชจึงนำแนวคิดและไอเดียการทำธุรกิจประมงที่มีความหลากหลาย ยื่นเสนอแก่โครงการ Banpu Champions for Change
แน่นอนว่าไอเดียแรกยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ทาง Banpu และสถาบัน ChangeFusion จึงระดมสรรพความคิดเพื่อทำให้โมเดลธุรกิจของคนทะเลมีความเป็นไปได้
วิธีการทำมาร์เก็ตติ้ง การสร้างแบรนดิ้ง การบริหารบุคลากร ไปจนถึงการจัดการรายรับ-รายจ่าย คือส่ิงที่โครงการ Banpu Champions for Change เข้ามาช่วยซัพพอร์ตติดอาวุธทางความคิดให้กับคนทะเล ทั้งจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ และ ‘ม้งไซเบอร์’ รุ่นพี่จากโครงการรุ่นก่อนที่มีแนวคิดทางธุรกิจคล้ายกัน ในการทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบวิถีชาวม้ง บนอุทยานภูหินร่องกล้า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแนะนำวิธีการสร้างแบรนด์ให้ออกมาแข็งแกร่งและยั่งยืน
หลังผ่านการขัดเกลาไอเดีย ในที่สุดคนทะเลก็ได้กลายเป็น 1 ใน 3 ผู้ชนะจากโครงการ Banpu Champions for Change ปีที่ 13 โดยโมเดลธุรกิจของคนทะเลมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนคือ
- การทำประมงด้วยความยั่งยืน จัดจำหน่ายอาหารทะเลที่ปราศจากสารฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นมิตรต่อทั้งธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อผู้บริโภค
- การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการนำวิถีประมงพื้นบ้าน และความรู้จากรุ่นสู่รุ่นที่มีอยู่ติดตัวมาเผยแพร่แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติทางท้องทะเล ทั้งการล่องเรือชมจุดแลนด์มาร์กสำคัญของอ่าวทุ่งน้อย การออกเรือตกหมึกยามค่ำคืน เวิร์กช็อปวิธีการทำซั้งกอ วิธีการทำเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ทำอาหารสไตล์ชาวเล ไปจนถึงพักผ่อนร้านคาเฟ่กันป่ะ ซึ่งเป็นคาเฟ่ของคนในหมู่บ้าน
ด้าน รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ Banpu Champions for Change กล่าวกับเราว่า การเข้ามามีส่วนช่วยเหลือคนทะเล เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของ Banpu ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมเป็นวงกว้าง ผ่านการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมและทรัพยากรที่มีอยู่มาต่อยอด
คนทะเลเป็นโมเดลธุรกิจที่มีความชัดเจน มีกลุ่มผู้บริโภคที่ชัดเจน มีแผนการตลาด และสามารถนำรายได้กระจายไปสู่ผู้คนในชุมชนอย่างทั่วถึง และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำธุรกิจแบบ social enterprise สามารถทำได้ถ้ามีการร่วมแรงร่วมใจ และมีความเข้าใจที่มากพอ
ก่อนจะจากกัน กิตติเดชยังทิ้งท้ายถึงเป้าหมายให้เราฟังว่า ภายในระยะเวลา 3 ปี จะทำให้คนทะเลกลายเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ecotourism) เต็มรูปแบบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการอนุรักษ์บ้านเกิดที่ทำให้เขาและชาวบ้านมีกินมีอยู่ และพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำธุรกิจแบบ social enterprise ทำได้จริงถ้ามีอุดมการณ์ชัดเจนมากพอ
แต่อย่างที่โบราณกล่าวไว้ว่า ‘สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น’ ฉะนั้นใครที่อยากสัมผัสการทำประมงยั่งยืน ชิมซีฟู้ดสดใหม่ หรือพิสูจน์ว่าทำไมชาวบ้านทุ่งน้อยจึงยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจปกป้องอนุรักษ์ท้องทะเลแห่งนี้นั้น สามารถมาได้ที่คนทะเล ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์