สรุปเรื่องภาษีที่ในตำราไม่มีสอนกับ ‘ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์’ ผู้ก่อตั้ง iTAX
เคยมีคำกล่าวว่ามีเพียงสองสิ่งที่คนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือความตายและภาษี ยิ่งในช่วงนี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายในการยื่นภาษีออนไลน์ประจำปี 2568 ที่จะยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน แต่เชื่อว่าต่อให้คนที่ยื่นภาษีทุกปีก็ยังต้องปวดหัวกับการใช้สิทธิประโยชน์มาลดหย่อนให้เสียภาษีน้อยลง และจะยิ่งปวดหัวมากขึ้นหากมีรายรับหลายทาง หรือทำอาชีพอิสระไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ ทำอาชีพค้าขาย หรือเป็นนักลงทุนที่มีรายได้ไม่แน่นอน
นี่ยังไม่นับรวมเด็กจบใหม่ที่กว่าจะเข้าใจเรื่องภาษี ก็คงผ่านการทำงานไปได้สักระยะหนึ่งและรู้เรื่องภาษีจากรุ่นพี่ที่ทำงาน แผนกบัญชี หรือจาก HR นั่นก็เพราะว่าถึงแม้ภาษีจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังไม่มีการบรรจุในตำราการเรียนการสอนอย่างจริงจัง พอคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งกลัวการยื่นภาษี และยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับภาษีอีกมากมาย
คอลัมน์ Keynote ในครั้งนี้ พามาสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาษี จากรายการ Business Summary EP.17 ที่เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล ได้พูดคุยกับ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO iTAX ตั้งแต่ภาพใหญ่ว่าคนไทยเสียภาษีกันน้อยจริงหรือไม่ แล้วนอกจากภาษีเงินบุคคลธรรมดาที่เราต้องเสียกันทุกปีมีภาษีอะไรที่เราต้องจ่ายบ้าง ไปจนถึงเทคนิคการลดหย่อนภาษีที่หยิบไปปรับใช้ได้จริง
#ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสียภาษีไม่ถึง 10%
ดร.ยุทธนาเล่าว่าปัจุบันประชากรไทยมีประมาณ 70 ล้านคน มีคนที่เข้าระบบแรงงาน 38-40 ล้านคน แต่เวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมีเพียง 10-11 ล้านคนเท่านั้น และถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 4 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยเรียกได้ว่าไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมดด้วยซ้ำ
นั่นก็เพราะถ้านับรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ จะมีรายได้อยู่ที่ 38,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ย 3 ล้านกว่าบาท สูงกว่าประเทศไทยเกือบสิบเท่า เพราะตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’
ด้วยไทยมักเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำด้านการเกษตรและการผลิต แต่ยังขาดการทำเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างจริงจัง เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะช่วยกระตุ้นให้มีธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การจ้างแรงงานทักษะสูง ที่จะทำให้มีรายได้สูง และสามารถเสียภาษีกันได้มากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันที่ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ดร.ยุทธนาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้ามีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท ก็สูงอยู่ในระดับท็อป 7% ของประเทศได้เลย เพราะบุคคลที่มีรายได้สูงในไทยนั้นมีจำกัด
#ทุกวันนี้เราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
ถึงแม้จะเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แต่ ดร.ยุทธนาก็ได้ฉายให้เห็นภาพแท้จริงในชีวิตประจำวันของเราที่ต้องเสียภาษีกันอยู่แล้ว โดยสรุปภาษีหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องจ่ายกัน ดังนี้
1. ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ถ้ามีรายได้จากการทำงานประจำ การค้าขาย การลงทุน ก็จะเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ โดยประเทศไทยจะมีเกณฑ์และอัตราการเสียภาษีที่เป็นขั้นบันได ยิ่งมีรายได้ต่อปีมาก ภาษีที่เก็บก็จะแพงขึ้นตามลำดับ เช่น รายได้รวมต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการงดเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีรายได้รวมตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 5% ของจำนวนรายได้
2. ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ก็คือภาษีที่ถูกคิดเวลาเราไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอยู่แล้ว ดร.ยุทธนาบอกว่าภาษีส่วนนี้เป็นสิ่งที่ย้ำให้เห็นว่าคนไทยทุกคนจ่ายภาษีกันอยู่แล้ว แต่คนที่มีรายได้น้อยถือว่าเป็นคนที่ต้องเสียภาษีส่วนนี้แพงกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะถ้านำภาษีที่จ่ายมาเปรียบเทียบกับรายได้ที่เขามี เช่น คนที่มีรายได้วันที่ 400 กับคนที่มีรายได้วันละ 4,000 แต่ต้องจ่าย VAT 7% เท่ากัน สำหรับคนที่มีรายได้น้อยก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
3. ภาษีทรัพย์สิน เป็นภาษีที่เราต้องจ่ายจากการมีทรัพย์สินบางอย่างที่กฎหมายกำหนด เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่รถยนต์
#ลดหย่อนภาษีแบบไหนดีที่สุด
ดร.ยุทธนาเล่าว่าสิ่งที่คนชอบถามเขามากที่สุดคือ ลดหย่อนภาษียังไงให้คุ้มทุกที่ คำแนะนำของเขาคือการลดหย่อนที่เหมาะกับตัวเองที่สุด เพราะทุกอย่างให้การลดหย่อนเหมือนกันหมด แต่ต้องดูว่าอะไรที่เรามองหา หรืออะไรที่เราขาด
1. ต้องเริ่มจากคำนวณภาษีให้เป็นก่อน เพราะถ้าคำนวณภาษีไม่เป็น จะไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีกี่บาท ได้เงินคืนเท่าไหร่ พอเห็นตัวเลขนี้แล้วค่อยถามตัวเองว่าถ้าต้องเสียภาษีเท่านี้พอใจไหม ถ้าพอใจแล้วไม่ลดหย่อนภาษีก็ได้
แต่ถ้าไม่พอใจอยากได้ภาษีคืนหรือจ่ายน้อยลง ค่อยไปมองหาการลดหย่อนภาษีและเช็กสิทธิ์ตัวเองก่อน ว่ามีอะไรที่ลืมกรอกอีกบ้าง เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย เลี้ยงดูพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ ดูว่าที่เรามีอยู่ช่วยลดหย่อนได้มากน้อยแค่ไหน
2. จากนั้นแล้วค่อยหาการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตในตอนนั้น เช่น ถ้ามองหาโอกาสในการลงทุน กองทุนอาจจะตอบโจทย์ ถ้ามองหาเรื่องความคุ้มครอง เพราะตอนนี้เริ่มมีลูก กลัวคนข้างหลังมีปัญหา ประกันชีวิตอาจตอบโจทย์ แต่ถ้าเจ็บป่วยบ่อย ประกันสุขภาพอาจตอบโจทย์ และถ้าอยากเพิ่มแต้มบุญก็ค่อยบริจาค
ยิ่งในตอนนี้ที่มีแพลตฟอร์มช่วยเรื่องภาษี หนึ่งในนั้นคือ iTAX ที่แค่กรอกข้อมูลแล้วระบบจะคำนวณภาษีให้ พร้อมแนะนำให้ว่าสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง และเปรียบเทียบว่าอันไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด นอกจากนี้ iTAX ยังเป็นรายแรกและรายเดียวที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกรมสรรพากร เพื่อนำข้อมูลในแอพฯ ไปที่ระบบยื่นภาษีของสรรพกรได้เลย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญคือใช้งานฟรี เพราะ ดร.ยุทธนาอยากให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนเข้าใจและไม่กลัวอีกต่อไป
อีกไม่กี่วันจะหมดเขตการยื่นภาษีแบบออนไลน์แล้ว อย่าลืมเข้าไปยื่นภาษีปี 2568 กันนะ ส่วนใครยังอยากเข้าใจแบบลงลึกสามารถติดตามเนื้อหาฉบับเต็มกันได้ในรายการ Business Summary EP.17
YouTube : youtu.be/WqSHMo_OopI
Spotify : spoti.fi/48WLWPZ
Apple Podcasts : apple.co/4fS5gjx