วิชาแก่กล้า

วิธีบริหารความเสี่ยงของ ‘แก่ สาธิต’ กับอาชีพใหม่ในวัย 60 และปรัชญาชีวิตว่าด้วยความไม่รู้

เป้าหมายชีวิตของคุณเป็นแบบไหน? กินอิ่มนอนหลับ รวยล้นฟ้า หรือได้ไปเที่ยวรอบโลก เชื่อว่าน้อยคนนักที่เป้าหมายชีวิตคือการทำงาน ทำงาน และทำงาน

“ผมไม่คิดจะเกษียณ”

ครั้งแรกที่ได้ยินคำพูดนี้ออกจากปากของ แก่–สาธิต กาลวันตวานิช คนดังแห่งวงการออกแบบและโฆษณา ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดนั้นชวนเข้าใจในสองความหมายด้วยกัน 

หนึ่ง–สาธิต หรือ ‘พี่แก่’ ของน้องๆ ในวงการไม่ยอมเปิดทางให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่ สอง–พี่แก่คนนี้ไม่ยอมแก่และรักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ 

คำตอบของเราได้รับการไขปริศนา เมื่อนั่งสนทนากับเขากว่า 3 ชั่วโมง 

เราพบว่าประโยคที่ว่ามีความหมายตามข้อสอง

ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 50 ปี ของชายวัย 60 กว่าคนนี้ ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่เขาไม่อยากทำงาน ทั้งงานที่เขาถือและลงมือทำยังหลากหลายมากเสียจนถ้านำไปทำเป็นเรซูเม่ เชื่อว่าคนจากทุกวงการสร้างสรรค์จะต้องอยากเอาเป็นตัวอย่าง 

สาธิตเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทด้านงานออกแบบกราฟิกอย่าง ‘สามหน่อ’ ก่อนจะขยับไปทำหนังโฆษณาและโปรดักชั่นเฮาส์ที่ ‘Phenomena’ กระโจนลงไปทำโปรดักต์ดีไซน์อย่าง ‘Propaganda’ ที่แต่เดิมคนค้านหัวชนฝาว่าไม่รอด แต่เขากลับทำให้รุ่ง

แม้แต่ละอาชีพจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่จุดร่วมที่เขาสร้างขึ้นคือเขาและทีมคว้ารางวัลระดับโลกมาประดับพอร์ตมากมายจนทำให้บริษัทที่ว่ามาเหล่านั้นกลายเป็นตำนานของวงการ แต่แม้ปลายทางจะประสบความสำเร็จจนแทบไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ เขากลับบอกว่ารางวัลที่ได้มานั้นเป็นรางวัลจากการลงมือทำด้วย ‘ความไม่รู้’

ปัจจุบัน สาธิตเป็นที่ปรึกษาและ Brand Narrative ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นในวัย 60 ปี และถือเป็นอาชีพที่ยังไม่เคยมีคนบุกเบิกมากนัก 

เขายังคงยืนยันว่าเขาเริ่มอาชีพนี้จากความไม่รู้ น่าสนใจว่าความไม่รู้ที่ว่าหน้าตาเป็นแบบไหนถึงนำไปสู่อาคาร FYI Center ที่โดดเด่นและแตกต่าง อาคาร True Digital Park ที่ดูไซไฟ กระทั่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ปรับปรุงใหม่ เขาก็ทำให้พื้นที่บางส่วนในนั้นมีแรงดึงดูดบางอย่าง

ในทางหนึ่ง ความแก่กล้าในวงการนั้นก็เป็นอาวุธลับชั้นดีที่ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในผลงาน แต่อีกทาง ความแก่กล้าตรงนี้ก็พ่วงมากับความเก่าเก็บ คำถามที่เราสงสัยจึงคือ พี่แก่ สาธิต ยืนระยะในวงการนานหลายทศวรรษได้ยังไง หลักปรัชญาว่าด้วย ‘ความไม่รู้’ ของเขาหน้าตาเป็นแบบไหนจึงทำให้เขารับมือและเปลี่ยนทุกความเสี่ยงภัยจากความไม่รู้เป็นผลงานระดับตำนานได้

จากการสัมภาษณ์หลายครั้ง คุณมักบอกว่าสิ่งสำคัญคือการทำอะไรนอกกรอบและทำสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ แนวคิดการทำงานแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน

ที่จริงผมเป็นคนทำอะไรนอกกรอบมาตลอด ตอนเรียนมัธยมที่สวนกุหลาบก็ไม่ยอมเรียนเพราะลุ่มหลงการทำหนังสือมาก จำได้ว่าเดินออกจากโรงเรียนเพื่อไปโรงพิมพ์ แล้วเขาก็ประกาศออกไมค์ว่า ‘นายสาธิต นายเป็นสาราณียกร แต่นายไม่มีอภิสิทธิ์ที่จะเดินออกไปนอกโรงเรียนตามใจชอบ’ 

เราก็ไม่สน เดินปู๊ดออกไปดมกลิ่นทินเนอร์ ดมกลิ่นหนังสือทุกวัน (หัวเราะ)

เรียกว่าเป็นเด็กไม่ยอมเรียนคนหนึ่ง

เหมือนเป็นเด็กเลว ไม่ไปเรียนหนังสือแต่ว่าจริงๆ เราชอบเรียนนะ เพียงแค่แอบไปเรียนนอกหลักสูตรมากกว่า จนกระทั่งต้องสอบเข้ามหา’ลัยนี่แหละ มันก็เหมือนต้องเอาตัวให้รอด เลยตั้งใจอ่านหนังสือซึ่งจริงๆ เราก็ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้วเพราะแม่เป็นบรรณารักษ์​ เขาก็จะชอบเอาหนังสือมาวางเรียงให้เราเลือกอ่าน บางทีก็ชอบพาไปบ้านคนที่มีห้องสมุดใหญ่ๆ 

เราก็ดันสอบติด แต่คิดว่าน่าจะเพราะเราได้ภาษาอังกฤษมากกว่า 

ไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง

ไม่ใช่ไม่มั่นใจนะ แต่เราโง่ขนาดที่ว่าตอนสอบข้อเขียนวิชาศิลปะ เขาให้ภาพเก้าอี้คลาสสิกตัวหนึ่งแล้วให้เราเติมขาเก้าอี้ลงไป เราก็วาดไปมั่วๆ อีกข้อคือเขาให้วาดหู 3 หู แต่ให้วาดเป็นเส้นสร้างสรรค์ เช่น อาจจะต้องวาดคอมโพซิชั่นใหม่ หรือให้หูมันงอกออกมาจากต้นไม้ แต่เราไม่รู้ก็เอาหูสามหูมาเรียงต่อกันเฉยๆ

พอเข้าไปเรียนมัณฑนศิลป์ ศิลปากร เราก็ไม่เรียนในหลักสูตรอีก เพื่อนหมายมั่นปั้นมือให้ช่วยทำหนัง แต่ตอนนั้นไม่ชอบหนังเอามากๆ ก็ไม่ยอมช่วยเพื่อนแต่ไปทำสมุดขายกับเพื่อนธรรมศาสตร์ ทำการ์ดบ้าง ทำปกหนังสือบ้าง เดี๋ยวก็ลากไปทำกับเพื่อนจุฬาฯ เพื่อนมหาวิทยาลัยนั้นนี้ มันก็เกิดคอนเนกชั่นกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยโดยที่เราไม่รู้ตัว และคนเหล่านั้นก็กลายเป็นเพื่อนร่วมงานในอนาคต 

แต่ขณะเดียวกัน กลายเป็นว่าเพื่อนในชั้นก็เกลียดเราเพราะเราไม่ช่วยเขา แต่ดันไปทำอย่างอื่น ส่วนคนในมหาวิทยาลัยก็ด่าเรากันทั้งมหาวิทยาลัย เพราะเราไม่เรียนแต่ก็ดันไปเป็นนายกสโมสรที่เขาด่ากันว่าแย่ที่สุด เรียกว่าเป็นคนแปลกๆ ที่เข้ากับใครเขาไม่ค่อยได้ 

ความนอกกรอบเหล่านั้นมีผลทำให้คุณเป็นคนชอบเปลี่ยนงานหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมา คุณทำทั้งกราฟิก หนังโฆษณา มิวสิกวิดีโอ โปรดักต์ดีไซน์ จนกระทั่งมาเป็นงานที่ปรึกษาอย่างปัจจุบัน

ไม่เชิงว่าชอบเปลี่ยนงาน แต่ปรัชญาของผมคือมีอะไรก็ทำ เพราะโอกาสเรามีแค่นี้ ผมจะไม่มองงานที่เข้ามาว่ามันต้องเป็นงานใหญ่ หรืองานระดับสูงๆ ถึงจะทำ ผมไม่มีคำว่าไม่ชอบหรือไม่เก่งแล้วจะไม่ทำ แต่จะคิดเสมอว่าถ้าพอทำได้ก็ลองดู เพราะเชื่อเสมอว่าการทำงานเล็กๆ ให้มันยิ่งใหญ่มันจะทำให้เรามีทักษะหลายๆ อย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว

แล้วพอเราไม่เก่งหรือทำไปด้วยความไม่รู้ ก็กลายเป็นว่าเราเน้นทำเยอะไว้ก่อน เรียกว่าจ้างร้อยทำล้าน ไม่ก็มักจะทำอะไรที่มันต่างออกมาเพราะเราทำไปด้วยความไม่รู้จริงๆ ที่สำคัญคือทำให้มันสุดแล้วก็ใส่อาร์ตเข้าไป เหมือนกับที่ Joe Duffy คนก่อตั้ง Duffy Design Group บอกไว้ว่า “We are here to inject art into commercial” 

ให้ร้อยทำล้าน แล้วจะคุ้มไหม

คุ้มสิ เพราะเราถือว่าเขาจ่ายเงินมาให้เราได้เรียนหนังสือหรือหาความรู้เพิ่มเติม แล้วเราอาจจะไม่ได้กำไรจากเงินก็จริง แต่เราได้กำไรจากประสบการณ์ เราจะได้รู้ว่าปัญหาแบบนี้กูแก้ได้ เทคนิคแบบนี้กูแก้ได้ ไอ้วิธีแบบนี้เขาบอกว่ามันไม่ควร เรากลับไปทำให้มันกลายเป็นคำตอบใหม่ว่าทำได้นี่หว่า  

ตอนทำบริษัทด้านงานออกแบบกราฟิกดีไซน์อย่างสามหน่อ เอาจริงๆ ตอนนั้นถือเป็นมุมมืดเพราะเป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีตังค์ ไม่มีคนช่วย ไม่มีอะไรเลย เราเลยมักจะได้งานที่คนอื่นเขาไม่อยากทำกัน เช่นรายงานประจำปี แต่เราก็ดันทำให้ไอ้ของที่ไม่มีอะไรเลยตอนนั้นมันทำให้บริษัทมีชื่อเสียง

ลูกค้าบอกว่าไม่ขออะไร ขอแค่มีแบงก์ 500 อยู่หน้าปกนะ เราก็ไม่เอา เราไปเอาปลาทูใส่เข่งมาแปะ  นี่ไง inject art into commercial แล้วก็ค่อยอธิบายลูกค้าให้ได้ว่าไอ้ที่เราใส่ศิลปะเข้าไปมันกลับมาสู่คอนเซปต์ยังไง ก็คือรายงานประจำปีนี้มันเป็นการเล่าถึงเศรษฐกิจ ณ ตอนนั้นที่เราทำประมงกันนั่นเอง หรือถ้าเขาถามว่าทำไมต้องเอาหินมากองตรงนี้ เราก็เล่าว่ามันเป็นเรื่องทรัพยากรประเทศไง กลายเป็นว่าได้รางวัลกลับมา

จริงๆ มันไม่ใช่แค่งานที่สามหน่อ แต่ทุกๆ งานในทุกๆ บริษัทที่ผ่านมาก็ต้องบอกว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนมาสูง โชคดีที่ไม่ได้เรียนเมืองนอก โชคดีที่ไม่ได้ไปเรียน Film School โชคดีที่ไม่ได้ไปเรียนที่ใดๆ แต่เราเรียนรู้แบบ situation-based learning คือเข้าไปเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก 

อย่างตอนทำโปรดักชั่นเฮาส์ที่ Phenomena เราก็ทำทั้งที่เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับหนัง ไม่มีกราฟอารมณ์ ไม่มีมุมกล้องแบบที่คนอื่นเขาเรียนมา เราแค่ทำตามแบบที่เราชอบ เพราะฉะนั้นงานของเรามันเลยจะผิด แต่ผิดแล้วคนสนใจไหม คนเขาสนใจ

คนรุ่นคุณมักจะมองว่าการเปลี่ยนงานหรืออาชีพบ่อยๆ มันเป็นความเสี่ยง ทำไมคุณถึงชอบ play risk มากกว่า play safe

จริงๆ แล้วเราไม่ใช่คนที่ชอบเสี่ยง เป็นคนที่เพลย์เซฟเหมือนกับทุกคนแต่ถูกล่อลวงโดยความลุ่มหลงมากกว่า สามหน่อก็ถูกล่อลวงด้วยกราฟิกจนได้รางวัลมา แต่พอมีคนชวนไปทำมิวสิกวิดีโอ เรามันก็ดันถูกล่อลวงด้วยความอยากลองจนมันมาสู่การทำ Phenomena 

พอได้รางวัลก็แทนที่จะอยู่เฉยๆ ก็ออกมาทำ Propaganda ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มหาภัยและฉิบหายที่สุด แต่ความเสี่ยงนั้นมันก็คุ้มค่าเพราะมันทำให้เรามีความรู้อีกมากมาย เนื่องจากตอนนั้นเรากับน้องๆ ที่ทำมาด้วยกันไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย ทั้งสต็อกของ เรื่องรีเทล เรื่องทำร้าน 

พอมันโง่ พอมันไม่รู้มันก็เหมือนเวียดกงสู้กับอเมริกัน คือมีทางเดียวว่าถ้าไม่ชนะก็คือตาย พอมันต้องชนะเท่านั้น เราก็ต้องพยายามเอาตัวให้รอด คือตอนนั้นเราอยากจะทำของที่มันเนี้ยบๆ ดีๆ เหมือนฝรั่ง แต่เราลอกเขาไม่ได้เพราะเราโง่ 

สุดท้ายมันเลยถูไถออกมาเป็นคาร์แร็กเตอร์มิสเตอร์พี (Mr. P) และอีกหลายๆ ตัวที่มันเต็มไปด้วยความทะลึ่ง เช่น นาฬิกาโชว์ไอ้จู๋บ้าง ขวดสบู่ที่สบู่จะไหลออกจากลิ้นบ้าง สะท้อนความเป็นไทยได้ดี แต่โลกการออกแบบเขาไม่ทำกันและไม่เคยมีคนทำมาก่อน พอมันแปลกมันก็กลายเป็นว่า Propaganda เป็นเหมือนเป็นไอคอนิกของวงการดีไซน์ไป 

ไม่รู้สึกว่าการกระโดดลงไปในงานใหม่ๆ ด้วยความไม่รู้คือความเสี่ยงเหรอ

ไม่ได้คิด เพราะโง่ ยืนยันเรื่องโง่ เพราะว่าถ้าฉลาดคุณจะออกมาทำสิ่งที่คนอื่นคิดว่ามันไม่รอดเหรอ

เครียดหรือกังวลเรื่องเงินบ้างไหม

โชคดีที่เรายังพอมีธุรกิจอื่นช่วย แต่สายป่านที่มีอยู่มันก็ไม่ได้ยาวมาก เราก็เลยต้องรีบสำเร็จอยู่เหมือนกัน แต่หลักๆ แล้วด้วยความที่โง่มาก เลยทำไปเรื่อยๆ เพราะถ้าคุณฉลาดคุณจะเครียด

มีข้อเสียของการที่ทำสิ่งต่างๆ โดยที่เราไม่รู้และโง่บ้างไหม 

ข้อเสียมันเต็มไปหมดเลย แต่ทุกข้อเสียมันคือข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นคนคิดบวกนะ เราก็เป็นคนที่พร้อมจะมองทุกอย่างในแง่ลบ กลัวนู่นกลัวนี่ แต่พอมันมึนๆ โง่ๆ มันทำให้เราต้องพยายามหาทางแก้ไข  

เพราะความโง่ที่บอกมันไม่ใช่โง่แบบโง้โง่ มันเป็นความโง่ที่อยู่บนพื้นฐานของการรู้จักคิด 

แล้วสุดท้าย ความโง่ซึ่งมันอาจจะเป็นความเสี่ยงภัยมันจะพาเราก้าวออกไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก มันทำให้เราครอสทุกทักษะเข้าหากันหมด พอรวมทักษะเหล่านั้นเข้าด้วยกัน มันก็กลายเป็นอาชีพปัจจุบันอย่าง Culsultancy กับ Brand Narrative ที่เริ่มจับตอนอายุ 60 

แสดงว่าการเริ่มต้นอาชีพใหม่ในวัย 60 บวก ไม่ได้เริ่มต้นจากความไม่รู้อีกต่อไป

ยังคงเริ่มต้นจากความไม่รู้ ใช่ ยังไม่รู้

เพราะเราไม่เคยทำงานที่ปรึกษา และลูกค้าก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับอาชีพนี้ที่เขาจ้างเรามาด้วยซ้ำ เพราะตั้งแต่ที่คุณ วู้ดดี้–ธนพล ศิริธนชัย เขาเจอผมตอนกำลังไปบรรยายที่ ABC เขาก็อยากจะให้เราเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาโครงการ FYI 

ตอนนั้นมันก็ยังไม่มีคำว่า Brand Narrative เลยแต่ต้องเริ่ม narrative แล้ว (หัวเราะ) 

Brand Narrative หรือที่ปรึกษาที่คุณทำอยู่นั้นทำยังไง 

ถ้าพูดถึงอาคาร FYI Center ตอนแรกเขาแค่มาโชว์ให้ดูว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง เช่นออกแบบตึกแล้วนะ กำลังจะขึ้นฐานรากแล้วนะ แต่ตรง reception มันเหมือนขาดอะไรบางอย่าง เราก็เข้ามาช่วยคอนเฟิร์มสิ่งที่สถาปนิกทำว่าตรงนี้ดีอยู่แล้ว ทำไปเลย ส่วนตรงนี้ดูว่างๆ นะ งั้นเพิ่ม wall art หน่อย หรือตรงหน้าอาคารก็มี Mr & Mrs Spark เป็นเหมือนปลั๊กไฟที่เอียงเข้าหากัน เพื่อสื่อถึงความเชื่อมโยงถึงกันของคนในอาคาร

ความที่เราก็เคยทำงานมาหลายแบบ เราก็เลยเข้าไปทำ wall art แบบกราฟิกนูนต่ำกึ่ง Sculpture หยิบคำที่มันค่อนข้างสร้างแรงบันดาลใจมาทำเป็นครอสเวิร์ด เช่น smart, attitude, creativity แล้วใส่คำว่า Hi แต่เป็นตัวไอกลับหัวให้เป็นเครื่องหมายตกใจ ส่วนในห้องน้ำ ก็เอาคำพูดต่างๆ มาสะท้อนในกระจก 

จากนั้นเราก็ไปออกแบบวิชวลในลิฟต์ ด้วยความที่แต่เดิม ลิฟต์ไม่มีความหมาย เราก็อาศัยประสบการณ์จาก Propaganda โดยเลือกคำที่ provoke thought อย่าง ‘Even a brick wants to be something’ อิฐมันทะเยอทะยานที่วันหนึ่งมันจะกลายเป็นตึก สอดคล้องกับการสื่อถึงการขึ้นไปสู่ความก้าวหน้า พ้องกับหน้าที่ของลิฟต์ที่มันพาเราขึ้นไปข้างบน

เป็นงานเล่าเรื่อง

เรียกว่าเริ่มจากช่วยเขาเล่าเรื่อง แต่หลักๆ แล้วมันคือการที่เราเข้าไปเป็นข้อต่อระหว่างลูกค้าหรือเจ้าของโครงการ สถาปนิก และอินทีเรียร์ เพราะการทำงานส่วนใหญ่ ทางลูกค้าก็จะโยนคำหรูๆ หราๆ ไปให้คนออกแบบ ทั้ง brand archetype, brand persona, brand attribute เราเป็นคนที่ทำให้ไอเดียนั้นมันเป็นรูปเป็นร่าง เล่าเรื่องได้ และย่อยง่าย เพื่อส่งต่อให้สถาปนิกหรืออินทีเรียร์ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย

อย่าง True Digital Park ชัดเจนว่าเขาต้องการให้เราเป็นข้อต่อให้กับทางอินทีเรียร์ คือเขาต้องการเป็นฮับของเทคฯ สตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่ม GDP ประเทศ เราก็หยิบคอนเซปต์มาทำเป็น cocoon pot เล่าเรื่องแบบ Metamorphosis โดยเล่าการเปลี่ยนแปลงของหนอนเป็นผีเสื้อ 

จากหนอนซึ่งมันไร้ค่า กลายเป็นดักแด้ และกลายเป็นผีเสื้อมีปีกบินสวย ซึ่งเป็น think pot ให้คนเข้าไปใช้งาน ทำ wall art และทำ co-working space ให้สตาร์ทอัพมาเจอกัน รวมๆ คือทำ visual ambient ให้มันดูว้าวและดูมีความไซไฟขึ้น

คุณรู้ได้ยังไงว่าอาชีพนี้มันต้องทำแบบไหน

ไม่รู้ แต่ว่าใช้คอมมอนเซนส์และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา 40-50 ปี อย่างอาคารสำนักงาน KingBridge ของเครือสหพัฒน์ เขามีคอนเซปต์ว่า ‘The Spirit Of Synergy’ คือเขาอยากให้สำนักงานที่เช่าอาคารแห่งนี้เกิดความ synergy หรือการรวมพลังกัน

ลูกค้าอยากให้ความ synergy นี้ถ่ายทอดออกมาผ่านการออกแบบ space, design, content และ experience ในตึก เราก็เข้ามาทำ brand narrative ให้การออกแบบและประสบการณ์สะท้อนออกมาให้ผู้ใช้งานในตึกสัมผัสได้

สุดท้าย เราก็นำเสนอคอนเซ็ปต์ให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารมี amphitheather ลงไปเป็นสเตปเพื่อให้คนมาเจอหน้ากันได้แม้จะอยู่คนละบริษัท มีพื้นที่ common space ให้คนทำงานมานั่งและใช้สอย มีการเติมหนังสือลงไปในพื้นที่เพื่อให้ KingBridge เป็นมากกว่าออฟฟิศ แต่กลายเป็น marketplace of knowledge ที่ทำให้เขาได้มาหาความรู้และทำสิ่งที่มีความหมายต่อการใช้ชีวิต รวมถึงยังเสนอคอนเซ็ปต์พื้นที่อีกหลายจุดที่สะท้อนได้ว่าเจ้าของตึกนี้คิดถึงคนที่จะมาใช้ตึกเป็นหลักสำคัญ จนรู้สึกได้ว่าตึกนี้ใจดีจัง 

จากนั้นก็ส่งต่อไปที่สถาปนิกว่าเขาเห็นด้วยไหม เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียวแต่เราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นเพื่อช่วยให้ความต้องการของลูกค้ามันออกมาตรงกัน สถาปนิกเขาก็บอกว่าเขาอยากได้ Mr. P ของ Propaganda นะ เพราะมันเป็นคาแร็กเตอร์ที่เห็นแล้วยิ้ม แล้วก็อยากให้มี Mr. P หลายๆ ตัวทำท่าดันกำแพงขึ้นไปสูงๆ เหมือนเขาช่วยกัน push the boundaries ทั้งหมดนี้มันก็สื่อถึง ‘synergy’ หรือการร่วมมือกันจริงๆ

KingBridge

อาชีพใหม่ในวัย 60 บวก อาชีพนี้ถือว่ายากไหม

ยาก แต่เราก็มีหน้าที่ทำให้ความซับซ้อนนั้นมันย่อยง่ายและเขย่าออกมาให้เหลือนิดเดียว แล้วคนทำแบรนด์ส่วนใหญ่จะหยุดที่ตัวคอนเซปต์แต่ผมจะขยับไปที่ execution เข้าไปที่ solution แล้วรูปแบบก็จะชัดเจนขึ้น

รวมๆ แล้วนี่คือ Brand Narrative ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าไปตอบปัญหาของเจ้าของโครงการทั้งหลายว่าทำยังไงฉันถึงจะเล่าเรื่องของฉันได้ เราก็จะเป็นข้อต่อที่ช่วยทำให้เขาได้อย่างที่ใจเขาต้องการ เพราะบางครั้งเขาก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาคิดมันควรจะออกมาเป็นยังไง

ที่เล่ามา จริงๆ มันก็แอบ inject art into commercial เหมือนกัน เพื่อทำให้ทุกอย่างมันสวย แต่มันไม่ได้สวยที่รูปร่างหรือรูปลักษณ์อย่างเดียว แบบนั้นใครก็ทำได้ แต่มันต้องสวยจากคอนเซปต์ด้วยเพื่อทำให้เกิดโมเมนตั้มที่เหนี่ยวนำให้เกิดอิมแพกต์ที่แรงขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม 

สมัยนี้เขาก็จะบอกว่าคุณเป็น ‘เป็ด’ คุณมองว่าตัวเองเป็นเป็ดไหม

ใช่ แต่เป็นเป็ดที่เข้าใจในแต่ละสายงานอย่างลงลึกและทำไม่เหมือนคนอื่นเขาทำนะ

คุณทำทุกอย่างที่ว่ามาคนเดียว

ผมทำคนเดียวไม่ได้หรอก ไม่ใช่แค่อาชีพปัจจุบันแต่ทุกๆ อาชีพที่เล่ามา ถ้าไม่มีเพื่อน หุ้นส่วน ลูกน้องที่เก่งกาจสามารถ ดีไซเนอร์เทพๆ ทีมบริหาร ทีมส่งของ ตัวคนเดียวมันทำไม่ได้ สิ่งที่ผมทำคือการเป็นศูนย์กลางที่พร้อมจะเป็น facillitator พร้อมจะลงไปคลุกฝุ่นกับเขา ลงไปแพ็กของกับเขาได้ จนมันเกิดเป็นสัมพันธภาพที่ทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ผมเชื่อในหลักขงจื๊อ ขงจื๊อให้ความสำคัญกับคำว่า ‘กตัญญู’ แต่มันไม่ใช่ความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจนะ สำหรับผมมันคือการเห็นคุณค่าของคนรอบข้าง คนที่ช่วยงานเรา คนที่เป็นแม่บ้าน คนที่เป็น CEO คนที่เป็นอะไรก็ตาม แม้กระทั่งลูกค้าปัจจุบันของผม ผมก็ทำงานกับเขาด้วยสัมพันธภาพที่ดี 

พอเราทำงานออกมาดี สัมพันธภาพกับลูกค้าและคนรอบข้างก็ดี แบบนี้มันจะเกิด word of mouth ที่เกิดจากงานที่มีคุณภาพและความคิด อย่างคุณวู้ดดี้ที่เขาเป็นคนแรกที่จ้างให้เราทำงานนี้ เขาก็ยังแนะนำลูกค้าคนอื่นให้เราอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ True Digital Park งานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรืองานที่ KingBridge 

แล้วจากการทำงาน KingBridge ครั้งนั้น เขาก็ให้เราทำอีกโปรเจกต์หนึ่งต่อเลยซึ่งก็คือ King Square

อายุ 60 ในงานราชการถือว่าถึงวัยเกษียณแล้ว คุณไม่คิดเรื่องเกษียณบ้างหรือ

ผมมีไอดอลเป็น มหาธีร์ โมฮัมหมัด เขาอายุ 90 ปีแล้วแต่เขายังกลับมาเป็นนายกฯ ของประเทศมาเลเซียเมื่อหลายปีก่อน คนสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเอาคนนี้ มันไม่มีคนที่ดีกว่านี้แล้วเหรอ แต่เขาเก่งและกล้าสู้กับอเมริกามากทั้งที่ประเทศอื่นกลัว

มหาธีร์บอกว่าเคล็ดลับก็คืออย่ารีไทร์ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณรีไทร์ คุณจะแก่ 

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทำยังไงให้คนอื่นๆ เห็นว่าความแก่ไม่ใช่อุปสรรคและคุณยังทำงานได้ดี  

คำตอบมันอยู่ที่งาน งานที่ออกมาทำให้คนไม่รู้ว่าเราแก่หรืออายุเท่าไหร่ งานมันยังทำให้คนแนะนำกันว่างานนั้นให้พี่สาธิตทำแล้วกัน งานนี้ให้พี่สาธิตทำแล้วกัน แล้วแน่นอนว่าลูกค้าเขารู้ไงว่าถ้างานมันออกมาแย่ เราอาย (หัวเราะ) 

แต่ถึงเขารู้ว่าเราอายุเท่าไหร่ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราแก่หง่อม ลุกก็โอย นั่งก็โอย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพอเราคิดว่าจะไม่รีไทร์และจะทำงานจนกว่ามันจะไม่ไหว เราก็ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมทำงานได้ 

อย่างแรกคือเราต้องอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือมันทำให้เราไม่แก่เพราะว่าความรู้มันเข้ามาในสมองตลอด 

อย่างที่สองคือ เราต้องศึกษาเรื่องสุขภาพ กินอาหารดีๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เราไม่สนหรอกว่าแก่ไม่แก่ไม่รู้ รู้แต่ว่าร่างกายมันต้องพร้อม แล้วถ้าคนเปิดประตูมากวักมือเรียก เราก็พร้อมทำงานให้เขาทันที

ชีวิตกับงานเป็นเรื่องเดียวกัน

ชีวิตกับงานเป็นเรื่องเดียวกัน 

คุณให้ความหมายกับคำว่า ‘ชีวิต’ ในรูปแบบไหน 

ชีวิตคือการทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะถ้าเราทำเพื่อเอาเข้าตัวเองอย่างเดียว สุดท้ายแล้วมันก็มอดไหม้เพราะเราต้องไปเบียดเบียน ตัดขากัน ต่อสู้กัน มันก็เครียด แต่ถ้าเราอยู่ในกระแสของชีวิตที่ต้องการช่วยคนอื่น ช่วยน้องๆ ช่วยลูกค้า ช่วย stakeholder คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือชีวิตที่เน้นการร่วมมือกับคนอื่นเพื่อสร้างอะไรให้ประเทศหรือโลกใบนี้ มันก็กลับไปที่เรื่องสัมพันธภาพ

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนดีนะ แต่มันคือการเห็นแก่ตัวผ่านการทำเพื่อคนอื่น ให้กับโลก ให้กับประเทศ  

ถ้าการรีไทร์ไม่ใช่คำตอบ รางวัลชีวิตของคุณคืออะไร 

ศาสนาพุทธบอกว่างานคือการยกระดับชีวิต งานเป็นอย่างเดียวที่ใช้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้คน เพราะฉะนั้นการเกษียณมันโคตรเหงาเลยนะ แต่ถ้าทำงานมันก็มีรายได้ ความภูมิใจก็ตามมา เพราะเราได้เอาสิ่งที่สั่งสมมาทั้งชีวิตไปออกแบบนั่นนี่ เอาไปช่วยคน แล้วลูกค้าก็แฮปปี้ เขากลับมาหาเราอีก มันก็คือรางวัลชีวิตแล้ว 

หรือแค่เราทำ sculpture ชิ้นหนึ่ง แล้วคนอยากจะซื้อไปไว้ที่บ้านก็ถือเป็นรางวัลชีวิตแล้ว แม้แต่การที่เราได้สัมพันธภาพดีๆ กลับมาจากการทำงานมันก็คือรางวัลชีวิตแล้ว

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like