รู้จัก Hatari แบรนด์พัดลมสัญชาติไทยที่มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านซ่อมพัดลม
หากจะบอกว่า Hatari คือ ‘เจ้าแห่งสาย(พัด)ลม’ ในบ้านเรา ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่ารอบตัวของผู้อ่านหลายคนตอนนี้คงมี Hatari เปิดคลายร้อนอยู่ เช่นเดียวกันกับรอบตัวของผู้เขียนในตอนนี้
ความเป็นเจ้าแห่งสายลมของ Hatari ยังสะท้อนได้จากผลประกอบการของบริษัทในเครือ
เริ่มที่บริษัท บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด
ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,300 ล้านบาท กำไร 65 ล้านบาท
บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,700 ล้านบาท กำไร 645 ล้านบาท
บริษัท วนวิทย์ เมทัล เวิร์ค จำกัด
ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 478 ล้านบาท กำไร 45 ล้านบาท
ทว่าก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าแห่งสายลมอย่างทุกวันนี้ คุณจุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากไปกว่าความพยายามและไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา แม้จะเรียนจบเพียงแค่ ป.2 และพออายุได้เพียงแค่ 12 ปีก็ต้องไปเป็นลูกจ้างกวาดพื้น เปลี่ยนไปเป็นคนขับรถรับจ้าง เป็นลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก ช่างทำแม่พิมพ์ฉีดชิ้นงานพลาสติก ทำอะไหล่พัดลม ทำร้านซ่อมพัดลม และหลายๆ อาชีพมากมาย แต่ด้วยความเป็นคนขยันขันแข็งทำให้คุณจุนมองหาลู่ทางในการสร้างรายได้อยู่เสมอ และหนึ่งในนั้นก็คือการทำโครงพัดลมจากพลาสติก
เล่าให้ฟังก่อนว่าโครงพัดลมในสมัยก่อนมักจะทำมาจากวัสดุอลูมิเนียมเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับพลาสติกมา คุณจุนจึงเกิดความคิดในการทำโครงพัดลมจากพลาสติก จากนั้นก็ได้นำไปเสนอขายให้กับโรงงานผลิตพัดลมมากมาย ด้วยความแข็งแรงทนทาน โครงพัดลมพลาสติกที่เกิดจากความคิดของคุณจุนก็ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และกลายเป็นต้นแบบสำคัญของพัดลมที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
จากนั้นคุณจุนก็ได้บินไปไต้หวันเพื่อศึกษาวิธีการทำมอเตอร์ในพัดลมแล้วกลับมาสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง โดยก่อนจะมาเป็น Hatari คุณจุนเคยทำแบรนด์พัดลมที่ใช้ชื่อว่า ‘K’ และ ‘Tory’ มาก่อน ส่วนแบรนด์ Hatari คือแบรนด์ที่คุณจุนได้มาเริ่มทำตอนที่มีอายุ 52 แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับเรื่องราวของคุณจุนก็คือวิธีทำธุรกิจของ Hatari แม้พัดลมจะดูเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แสนธรรมดา ทว่าการทำให้ความธรรมดานั้นเข้าไปอยู่ในแทบจะทุกบ้านได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งหากจะให้ถอดรหัสความสำเร็จของ Hatari จะพบว่ามีอยู่ 4 ข้อหลักๆ ด้วยกัน
ข้อแรกหนีไม่พ้นอากาศของเมืองไทยที่ร้อนแทบทั้งปี พัดลมจึงกลายเป็นของที่หลายบ้านใช้กันอยู่ทุกวัน และ Hatari ขึ้นชื่อในเรื่องของความแข็งแรงทนทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทนต่อแรงนิ้วเท้าของหลายๆ คนในบ้าน (ใครเป็นบ้างตอนร้อนๆ แล้วจะออกแรงที่นิ้วเท้ามากเป็นพิเศษ) เมื่อของเก่าพัง หลายคนก็ยังเลือกที่จะกลับมาซื้อ Hatari อยู่
ข้อที่สองคือเรื่องของราคา เมื่อพัดลมเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีราคาแพงมาก หลายคนจึงเลือกที่จะซื้อใหม่มากกว่าเอาไปซ่อม
ข้อที่สามคือเรื่องของช่องทางการขาย หากเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี เครื่องเสียง หรือตู้เย็นก็ตาม พัดลมเป็นสิ่งที่ใช้การตัดสินใจซื้อที่ง่ายกว่า และสำหรับสินค้าที่มีการตัดสินใจซื้อที่ง่าย เรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายเพื่อให้ผู้คนเห็นสินค้าได้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ข้อที่สี่คือการปรับตัวของแบรนด์ ทั้งดีไซน์ของสินค้าที่ปรับหน้าตาพัดลมให้มีความมินิมอล ดูทันสมัย และกลมกลืนไปกับการตกแต่งบ้านมากขึ้น และไม่ใช่แค่ดีไซน์ของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแนวทางการสื่อสารแบรนด์ที่ทำโฆษณามาได้ถูกใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งหากใครได้ดูโฆษณาของ Hatari หลายๆ ชิ้น จะพบกับเสียงของผู้ชายคนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ เป็นเสียงกวนๆ ที่เพิ่มความสนุกให้กับโฆษณาไม่น้อย และนั่นไม่ใช่เสียงใครที่ไหน แต่เป็นหนึ่งในทายาทของ Hatari เอง
ตลอดระยะเวลาในการทำธุรกิจ Hatari ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มากกว่าจะออกมาโฆษณาป่าวประกาศ โดยจะเห็นได้ว่าคุณจุนไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมากเท่าไหร่นัก จะมีช่วงนี้ที่เขากลับมาได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คนอีกครั้ง จากการที่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิรามาธิบดีจำนวน 900 ล้านบาท
แม้วันนี้เขาจะส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นถัดไปขึ้นมาบริหารแทนแล้ว ทว่าวิสัยทัศน์ของ Hatari ที่เขาได้วางเอาไว้ว่า ‘ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม’ รวมถึง motto ของแบรนด์ที่ว่า Wind of Happiness ยังคงไม่เปลี่ยนไป ซึ่งความ Happiness ที่ว่านี้ก็ยังถูกส่งต่อ และ Hatari ก็ยังคงเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่หลายบ้านเลือกไว้ใช้คลายร้อนอยู่