Family Business

วิธีทำให้คนรุ่นลูกอยากสานต่อในธุรกิจที่คนรุ่นพ่อสร้างมา แบบฉบับของ เสถียร แห่งคาราบาวกรุ๊ป จากงาน Family Business in the Changing World

“รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองต่อยอด รุ่นสามทำลาย” ประโยคสุดคลาสสิกที่กลายเป็นเหมือนคำสาปของธุรกิจครอบครัว ซึ่งจากสถิติก็ได้บอกว่าส่วนใหญ่แล้วธุรกิจครอบครัวจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 34 ปีเท่านั้น

ทว่าหากมองลึกลงไปในองค์กรที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะเห็นว่ากว่า 57% ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดฯ ล้วนแต่เป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัททั้งหลายในเครือซีพี, กลุ่มเซ็นทรัล, โอสถสภา, ทีคิวเอ็ม หรือคาราบาวกรุ๊ป เป็นต้น 

ซึ่งธุรกิจครอบครัวนี้ก็มีมูลค่า Market Cap มากถึง 8 ล้านล้านบาท และความใหญ่ของธุรกิจก็ยังส่งผลต่อการจ้างงานมากถึง 920,000 อัตรา

เมื่อธุรกิจครอบครัวมีส่วนในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยมากถึงเพียงนี้ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงาน Family Business in the Changing World ขึ้นมา โดยชวนผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของธุรกิจครอบครัวทั้งเจนฯ พ่อและเจนฯ ลูกมาแชร์ความรู้และประสบการณ์ ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโต ส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกหลายๆ รุ่นได้

หนึ่งในเคสจริงของการทำธุรกิจครอบครัวที่น่าสนใจคือเรื่องราวของ ‘คุณเสถียร เสถียรธรรมะ’ ผู้ก่อตั้งบริษัทมหาชนมูลค่าแสนล้านอย่าง ‘คาราบาวกรุ๊ป’

คุณเสถียรบอกว่าการจะให้ลูกหลานที่เรารักมาช่วยสืบทอดกิจการ การเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างมาก ยิ่งให้ลูกมาเรียนรู้ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะได้รู้ว่าเขาอยากรับช่วงต่อหรือไม่ ชอบทำธุรกิจแบบเดียวกับพ่อหรือเปล่า จะได้วางแผนกันต่อไป

คุณเสถียรให้ลูกๆ ได้ซึมซับในสิ่งที่เขาทำตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ปิดเทอมก็ให้มาช่วยงานที่บริษัท เริ่มจากตำแหน่งล่างสุด อย่างลูกชายคนโตก็ให้ไปอยู่กับสาวบาวแดง ออกต่างจังหวัดนอนโรงแรมคืนละ 300-400 ลูกชายคนที่ 2 ก็ให้มาเป็นเด็กเสิร์ฟที่โรงเบียร์ ส่วนลูกสาวอีกคนก็ให้ไปเริ่มตั้งแต่กวาดพื้น 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เพื่อเรียนรู้งาน แต่เพื่อให้เข้าใจชีวิตจริงๆ 

เพราะในฐานะของคนที่เกิดมาแบบไม่มีต้นทุนชีวิตที่ดีมากนัก กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ต้องฝ่าฟันอะไรมากมาย ทั้งยืนขายก๋วยเตี๋ยว ทั้งทำงานรับจ้างมาสารพัด คุณเสถียรจึงคิดว่า

“ต้องเข้าใจคน เข้าใจชีวิต เข้าใจสังคมก่อน ถึงจะเข้าใจเรื่องงานได้”

และเมื่อคนรุ่นลูกสนใจที่จะสานต่อธุรกิจของครอบครัว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่คนรุ่นพ่อต้องเปิดใจ ให้โอกาส รวมถึงให้อำนาจในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน 

ในเรื่องของการเปิดใจและให้โอกาส คุณเสถียรบอกว่ามันคือการยอมให้ลูกทำสิ่งใหม่ๆ แม้เขาจะเป็นมือใหม่แต่อย่าลืมว่า ‘ทุกคนก็เคยเป็นคนใหม่’ มาทั้งนั้น ไม่มีใครพร้อมมาตั้งแต่เกิด แล้วหากเทียบตอนอายุ 30 เหมือนกัน เผลอๆ คนอายุ 30 ในยุคนี้ เก่งยิ่งกว่าคนอายุ 30 ในยุคก่อนซะอีก ซึ่งถ้าลูกไม่พร้อมก็เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อนี่แหละที่ต้องเตรียมความพร้อมให้

ส่วนการให้อำนาจตัดสินใจ คุณเสถียรสอนเรื่องการตัดสินใจให้กับลูกๆ ว่า “ประเด็นไม่ได้อยู่ว่าป๊าตัดสินใจไว้ยังไง เรื่องสำคัญกว่านั้นที่ลูกๆ ควรรู้ก็คือว่า ทำไมป๊าถึงตัดสินใจแบบนี้ต่างหาก เพราะกระบวนการการคิดก่อนจะตัดสินใจมันเป็นเรื่องสำคัญมาก”

อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือแม้จะขึ้นชื่อว่าธุรกิจครอบครัว แต่การเอาคนนอกที่เป็นมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยในการทำธุรกิจยั่งยืนต่อไป เพราะการมีคนนอกทำให้มีกฎกติกาที่ต้องทำตามมากขึ้น และเส้นของความเกรงใจที่มีต่อคนนอกมักมีมากกว่าเส้นความเกรงใจที่มีต่อคนในครอบครัว บางครั้งสิ่งที่คนนอกพูดมักจะเข้าหูมากกว่าคนในบ้านพูดกันเอง 

ท้ายที่สุด หลายคนที่ทำธุรกิจครอบครัวมักกังวลว่าเรื่องของธุรกิจจะทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วมากระทบความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือไม่ คุณเสถียรได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ เขาคิดว่าความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการบริหารความขัดแย้งให้ได้ด้วยการกำหนดกฎกติกาต่างๆ ขึ้นมา แล้วให้นึกเอาไว้เสมอว่าเป้าหมายสูงสุดของสถาบันที่เรียกว่าครอบครัวนั้นคือความสุข  

“คำว่าธุรกิจครอบครัว สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ธุรกิจ แต่คือครอบครัว” คุณเสถียรกล่าวทิ้งท้าย

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like