ใครใครก็ Cry

ร้องไห้บ้างบางคราว Crybaby ศิลปะการสัมผัสหัวใจ ในอาร์ตทอยระดับปรากฏการณ์ 

Everybody/Cries/Sometimes

‘เราร้องไห้บ้างในบางคราว’ เป็นประโยคที่เราฟังครั้งแรกก็รู้สึกเข้าอกเข้าใจได้ ประโยคนี้เองเป็นชื่อนิทรรศการ Everybody/Cries/Sometimes นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของเจ้า Crybaby หนึ่งในคาแร็กเตอร์ระดับปรากฏการณ์ของวงการอาร์ตทอย โลกของของเล่นที่ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของเด็กแต่เป็นงานสะสม ผลงานออกแบบในฐานะงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง 

ถามว่า Crybaby เป็นปรากฏการณ์ประมาณไหน คือวันเปิดนิทรรศการวันแรกก็มีคนต่อคิวเข้าชมและกวาดสินค้าไปแทบจะหมดภายในวันแรก เจ้าเด็กน้ำตานองหน้าเป็นผลงานของศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ทำงานร่วมกับ POP MART และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้า Crybaby การครอบครองน้ำตานองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผลงานล็อตก่อนหน้ามีการรีเซลกันในราคาที่พุ่งทะยานไม่แพ้คาแร็กเตอร์อื่นๆ ที่ร่วมวงการ

แล้วเจ้าเด็ก(?) น้ำตานองนี้มีเสน่ห์ตรงไหน ทำไมถึงได้บุกเข้าไปครองใจตลาดจีนอันยิ่งใหญ่และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นที่มีพื้นที่การขายทั่วโลก อะไรคือพลังพิเศษของ ‘มอลลี่’ หรือ มด–นิสา ศรีคำดี หนึ่งในศิลปินและนักออกแบบสาวไทยที่ฮอตและนับได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง

ในโอกาสที่ Crybaby กลับมาเปิดนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งที่ 2 กับความสำเร็จในวงการศิลปะและโลกที่เราเรียกว่าอาร์ตทอย หนึ่งในพื้นที่การบริโภคใหม่ในนามของศิลปะและการสะสม เราจึงชวนมอลลี่เปิดสตูดิโอพูดคุยสำรวจความหมายของน้ำตา การสร้างผลงาน และการยืนระยะจากความรักไปสู่การงานและการทำธุรกิจ จากความซับซ้อนของความรู้สึกสู่การสื่อสารที่เรียบง่ายแต่สัมผัสใจ และประเด็นเรื่องการกลับมาสู่พื้นที่กายภาพที่เปิดพื้นที่ที่เปิดการร้องไห้ให้เป็นเรื่องธรรมดา

ทุกคน/ร้องไห้/บ้าง 

นิทรรศการครั้งนี้อธิบายความเป็น Crybaby ยังไงบ้าง

นิทรรศการครั้งแรก (Cry Me A River ในปี 2022) เราพูดในเรื่องที่เล็ก คือเริ่มที่ตัวเรา ค่อนข้างให้ภาพว่า Crybaby เป็นอะไร เป็นการจุดประกายให้ทุกคนตระหนักว่า ‘เราเองก็ร้องไห้แล้วมันโอเค’ ในครั้งนี้เราอยากพูดให้ไกลกว่านั้น คือใครๆ ก็ร้องไห้ ฉันก็ร้องไห้ เธอก็ร้องไห้ พวกเราทุกคนก็เช่นกัน เป็นขั้นที่ไม่ใช่แค่บอกตัวเราเองแล้วว่ามันโอเค แต่เป็นการปลอบใจกันและกันด้วย

งานนิทรรศการรวมถึง Crybaby พูดถึงเรื่องการร้องไห้ แต่ไม่ได้อยากให้คนมาเห็นงานแล้วเศร้า เราพูดถึงการร้องไห้ก็จริง แต่ไม่ได้บอกว่าต้องจมอยู่กับการเศร้า การร้องไห้เป็นกระบวนการของการปลดปล่อย พอเราร้องไห้แล้วรู้สึกดีขึ้น ร้องไห้เพื่อที่เราจะได้ก้าวผ่านมันไป เพื่อที่เราจะได้เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น

เราพูดถึงผลลัพธ์ของการร้องไห้ ตรงนี้เป็นเป้าหมายของเรามากกว่า เราพูดถึงข้อดีของการร้องไห้ ในขณะเดียวกันเราก็เคารพเหตุผลและอารมณ์ของการร้องไห้ที่หลากหลาย เราต่างร้องไห้ด้วยหลายเหตุผล การร้องไห้เองก็มีหลายรูปแบบ

Crybaby/ไม่/เป็นอะไร

ทำคาแร็กเตอร์ที่เกี่ยวกับน้ำตา เพราะเป็นคนอ่อนไหวหรือเปล่า

คนคิดว่าเราทำ Crybaby เพราะเราเป็นคนขี้แย แต่จริงๆ คือไม่ เราเองเป็นคนหนึ่งที่ติดอยู่ในกรอบสังคม คือห้ามแสดงความอ่อนแอออกมาให้ใครเห็น เราเป็นพี่คนโต เราถูกเลี้ยงให้ต้องเข้มแข็งตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เรามีความรู้สึกอะไรมากมาย เราต้องกดความรู้สึกอะไรทั้งหลายเอาไว้ เราแสดงว่าเราไม่เป็นไรเพราะถ้าเราเป็นอะไร มันไม่มีใครปลอบใจเรา ดังนั้นเราต้องเข้มแข็งเพื่อที่จะผ่านมันไปให้ได้ เราเลยรู้สึกว่าเราสร้าง Crybaby ให้มันร้องไห้แทนเรา

เรามีคำถามตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เวลาที่ร้องไห้ ผู้ใหญ่พ่อแม่จะดุ จะห้ามไม่ให้เราร้องไห้ ให้เราเงียบ เราก็เลยสงสัยเสมอว่าทำไมเราถึงร้องไห้ไม่ได้ พอโตขึ้น ความรู้สึกซับซ้อนมากขึ้น จากการร้องไห้จากความต้องการพื้นฐาน เราพบว่าการร้องไห้ไม่ใช่การเสียใจ มันมีทั้งความตื้นตันใจ ปีติยินดี 

ทีนี้ เราค่อนข้างหลงใหลในน้ำตา ช่วงที่เป็นนักศึกษาเรามีเป็นเหมือนไดอารีแต่ใช้วิธีการวาดรูป พอไปเจอเรื่องราวอะไรที่กระทบความรู้สึกหรือกระเทือนจิตใจ ก็จะกลับมาวาดลงในไดอารี ในตอนนั้นวาดเป็นตัวกระต่าย คือเป็น Rabbit Cry ยังไม่เป็นตัวเบบี้ในปัจจุบัน แต่มีน้ำตาเม็ดเป้งเหมือนกัน

Crybaby/เป็น/อะไร 

คาแร็กเตอร์ที่เราสร้างขึ้นมาตั้งใจให้มันเป็นอะไร

จำไม่ได้เลย ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจออกแบบให้เป็นอะไร คือมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนนั้นมันเป็นเหมือนไดอารี เป็นบันทึก ตัวมันเองเลยเป็นเหมือนอินเนอร์ เป็นความรู้สึก เป็นความชอบ แล้วเราก็วาดมันออกมา

จริงๆ Crybaby ไม่เชิงเป็นเบบี้ ตัวมันเองไม่ได้สื่อเป็นรูปธรรม แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรมมากๆ ที่จริง Crybaby ไม่ได้มีเพศ ไม่ได้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย อันที่จริงไม่ได้เป็นแม้แต่มนุษย์ด้วยซ้ำ Crybaby เป็นอะไรก็ได้ 

ตอนที่เราสร้าง Crybaby ขึ้นมาตัวแรก ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นอะไรทั้งสิ้น เราแค่ตื่นมาแล้วมีเวลา คือโดยส่วนตัวเป็นคนชอบงานประดิษฐ์ คอลเลกชั่นแรกที่ทำคือทำมือ ไม่ได้สเกตช์ลงกระดาษด้วยซ้ำ เคยมั้ย มีความรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง จำได้วันที่ทำคือเราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าต้องทำ ทำไมฉันไม่ทำ ลุกขึ้นมาก็ทำเลย กลายเป็นว่าจากวันที่ลุกขึ้นมาเราทำมันมาตลอด 2 เดือนโดยที่หยุดไม่ได้

Crybaby/เป็น/Art Toy

อาร์ตทอยถือว่าค่อนข้างใหม่ คาแร็กเตอร์กลายเป็นอาร์ตทอยได้ยังไง

ในตอนนั้นไม่ได้คิดว่าต้องทำเพื่ออะไร หมายถึงทำเป็นอาร์ตทอยหรืออะไร ใจบอกว่าให้ลุยให้ทำ พอทำเสร็จถึงพอรู้ว่า โอเค คนไทยก็มีอาร์ตทอย แต่ไม่ทันได้รู้ลึกว่ามีตลาดแบบระดับต่างประเทศจริงจัง คือเราไม่รู้เลย ตอนนั้นเราโพสต์รูปตัวโปรโตไทป์ลงไอจี พอดีเห็นเขาติดแฮชแท็กเราก็ติดด้วย ตอนนั้นมีผู้หญิงจีนเห็นแล้วก็ดีเอ็มมาว่าเมื่อไหร่จะขาย ขายเมื่อไหร่บอก เราเองก็ไม่ได้คิดเรื่องขาย

ผ่านไปหลายเดือนเราก็เริ่มศึกษาจนรู้คร่าวๆ บางส่วน ก็เลยตัดสินใจขาย พอลงขายมีคนเห็นแล้วก็เลยเอารูปนั้นไปโพสต์ในกรุ๊ปแชตที่จีน ก็เลยบูมเกิดเป็นกระแสขึ้นมา 

โอเค ถ้าจะนิยามว่า Crybaby เป็นอาร์ตทอยตั้งแต่ตอนนั้นเลยก็ถูกต้อง ถึงเราจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นหรือไม่เป็นอะไร แต่ถือว่ามันไปโลดแล่นในวงการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราก็ไม่ได้รังเกียจอะไรกับคำว่าของเล่น ตอนเด็กมีความฝันด้วยซ้ำว่าโตขึ้นจะเป็นทอยดีไซเนอร์ คือตัวเองหลงใหลในงานคราฟต์ ทำตุ๊กตาไปแจก ออกแบบคาแร็กเตอร์ มองย้อนไปคือเราชอบแจก ส่วนนึงคือหลงใหลในคาแร็กเตอร์ญี่ปุ่น รายการแบบทีวีแชมป์เปี้ยน มันจะมีมาสคอตน่ารักๆ หรืออะไรเล็กๆ เราชอบแล้วก็ทำ ทำแจกเพื่อน  ไม่ได้คิดว่าเป็นอะไรได้ในอนาคต แค่ว่าเราชอบ

POP MART/ขาย/Crybaby 

ทำไมถึงได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง POP MART

POP MART แวะเวียนมาตั้งแต่ปีแรก ปี 2017 POP MART เริ่มมาทักทายเรื่อยๆ จนประมาณ 3 ปีถึงได้ร่วมงานจริงจัง เป็นช่วงก่อนโควิดพอดี คือเซ็นสัญญาช่วงก่อนมีโควิด การออกงานเลยเลื่อนออกมานิดนึง

POP MART เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก ค่อนข้างมีความเป็นมืออาชีพสูง มีหลายฝ่าย เขาก็ส่งทีมงานมาติดต่อ งานแรกเป็นโปรดักต์ที่เป็นฟิกเกอร์น้องที่นอน ตัวกล่องสุ่มแรกเป็น Crying in The Woods ปัจจุบันกล่องสุ่มออกมา 4 ซีรีส์

การทำงานเดิมเราจะออกงานเป็นช่วง พอเป็นกล่องสุ่มเราต้องออกพร้อมกัน 13-14 ดีไซน์ เป็นซีรีส์เดียวกัน ทีนี้แต่ละตัวเราก็ต้องใส่สตอรีหรือใส่สีให้เป็นทิศทางเดียวกัน การทำกล่องสุ่มคล้ายๆ ทำนิทรรศการเดี่ยว ทำงานช่วงแรกเราก็ต้องเรียนรู้ระบบการทำงานเหมือนกัน มีการเอาไปขึ้น 3 มิติ เราก็ต้องดูว่าขั้นตอนไหนเราทำอะไรได้ ช่วงไหนแก้ได้แก้ไม่ได้ 

ตัวกล่องสุ่มชุดแรกนานหน่อย ใช้เวลาประมาณหนึ่งปี เพราะเรายังไม่มีโมเดลของกล่องสุ่ม หรือรูปแบบคอนเซปต์ต่างๆ เพื่อวางเป็นแกนหลักไว้สำหรับซีรีส์ถัดๆ ไป

ถามว่าทำงานกับแบรนด์ใหญ่เราเปลี่ยนไหม คิดว่าเปลี่ยน จริงๆ เราเองก็ค่อนข้างดื้อ มีความเป็นตัวของตัวเอง การทำงานก็ต้องปรับจูนเหมือนกัน อาทิ ทาง POP MART เองมีการเอาข้อมูลบางอย่างเช่นข้อมูลทางการตลาดหรือสถิติมาช่วยปรับแก้งานของเรา จริงๆ ตรงนี้เราเลือกได้ว่าจะปรับไหม แต่ก็ทำให้เรารู้จักประนีประนอมมากขึ้น คือเราก็ยังดื้ออยู่แต่ก็ประนีประนอม

นิทรรศ/การ/Cry

การเปลี่ยนจากตัวงานออกแบบเป็นชิ้นๆ เป็นพื้นที่กายภาพอย่างนิทรรศการ วิธีคิดเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

คือถ้ามองบันไดในการทำงาน ขั้นแรกเราได้ทำทอย ขั้นที่สองเราเป็นที่รู้จัก ขั้นที่สามได้ทำกับ POP MART คือเป็นสเกลที่โตขึ้นมีพื้นที่ขายทั่วโลก ถัดจากนั้นคือเราก็ถามตัวเองว่าอยากทำอะไรต่อ ก็ทำนิทรรศการสิ 

นิทรรศการเป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปมาสัมผัสได้ ไม่ใช่แค่คนซื้อ เป็นพื้นที่ที่เราสามารถส่งเมสเซจถึงคนทั่วไปได้ พอปีแรก (2022) ก็กระแสดีมากๆ พอปีที่ 2 เราก็อยากทำให้มันขยายใหญ่ขึ้น

ถ้าสังเกตงานนิทรรศการเราจะไม่มีแผงกั้น ไม่มีที่ครอบ จบงานทุกครั้งเราต้องซ่อมงานทั้งตัวสคัลป์เจอร์หรือภาพวาด ความใกล้ชิดกับงานเป็นเงื่อนไขที่เราจะบอกทั้งผู้ซื้องานหรือแกลเลอรีไว้ก่อนเลย คือเราอยากให้คนมาดูสามารถเข้าใกล้งานให้ได้ง่ายที่สุด

เราทำงาน เพนต์งานออกมาอย่างจริงใจ เราไม่อยากให้มีอะไรมาขัดขวาง ให้คนเข้าไม่ถึง ให้มีพื้นที่มากีดกันคนออกจากตัวงาน ในการชมงานเราขอความร่วมมือ ไม่ได้อยากให้จับงานขนาดนั้น แต่บางอย่างเช่นสคัลป์เจอร์ก็จับได้บ้าง

ชิ้นงานบางตัวเราสร้างมันมาสำหรับการจับ ให้ขยำขยี้ได้ เช่นงานครั้งนี้เป็นน้องตัวใหญ่ หรือม็อกอัพเป็นเฟอร์ เป็นขนนิ่มๆ เราอยากให้เขาได้มากอดมัน มากอดน้ำตา อย่างเตียงข้างล่างที่เป็นเตียงใหญ่ 14 เมตร ถ้าไปเหยียบจะเจอว่ามันนิ่ม

เราสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้คนมาเอนกาย มาพักสักครู่ เหมือนเราบอกให้รู้ ให้ทุกคนได้รู้สึกว่าได้มาร้องไห้อย่างสบายๆ

งานครั้งนี้นับว่าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยที่สุดนับตั้งแต่เกิดมา เราทำโปรแกรม นิทรรศการทุกจุดเราคิดหมด พรมหรือรอยสักที่ป้ายไปตามพื้นเราก็หาวิธีทำ งานนี้เหมือนเอาตัวเราครึ่งนึงไปใส่ไว้ เอาวิญญาณไปใส่ไว้เลย

ของเล่น/เป็น/ศิลปะ

อาร์ตทอยเองมีความซับซ้อน ตกลงแล้วสำหรับมอลลี่ อะไรคือคำว่าอาร์ตในอาร์ตทอย

มันมีอะไรแบบนี้เหมือนกัน งานเราเริ่มจากการเป็นแค่ของเล่น มีคนบอกว่าถ้าอยากไปไกลก็ควรจะเลิกทำทอย มันเป็นงาน mass production แต่เรารู้สึกว่าเราดื้อ เราอยากจะเป็นคนแรกที่ทำให้เห็นว่าของเล็กๆ เรื่องเล็กๆ แบบนี้ก็คืองานศิลปะเหมือนกัน ศิลปะไม่ควรจะมีขอบเขต คือทุกวันนี้รู้สึกว่าคนก็เปิดรับนะ การที่งานศิลปะที่ถูกบรรจุอยู่ในอะไรเล็กๆ เป็นความเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้าถึงผู้คนได้ 

ศิลปะไม่ควรถูกจำกัดด้วยแมตทีเรียล มันควรจะเปิดกว้างกว่านั้น เราว่าศิลปะมันเป็นสิ่งที่เราใช้เปิดไปสู่อะไรสักอย่าง การมาจำกัดว่าอันนี้เป็นหรือไม่เป็นศิลปะอาจจะไม่แฟร์เท่าไหร่

ในแง่ของพื้นที่เช่นแกลเลอรี ถ้าเทียบจากปีที่แล้วมาปีนี้คือมันเปลี่ยนเยอะมาก มีกลุ่มผู้สนใจเยอะขึ้นมาก ศิลปะก็ดูเหมือนจะเข้าถึงได้มากขึ้นมาก การเปลี่ยนแปลงอาจจะมาจากอะไรเล็กๆ ได้

สำหรับเราความรู้สึกเบื้องต้นแค่ว่า อันนี้น่ารัก สำหรับเราแค่นี้คือประสบความสำเร็จในระดับนึงแล้ว แล้วก็มีหลายๆ คนที่ส่งข้อความมาหาเราว่าเขาเคยอยู่ในภาวะซึมเศร้า พอเขาเห็นตัวนี้ครั้งแรกแล้วเขาไม่ได้รู้สึกเศร้า แต่เขารู้สึกว่าตัวเขามีคนร้องไห้เป็นเพื่อน เหมือนมันช่วยเยียวยาในส่วนหนึ่ง เรารู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ แล้วมันก็ได้ผล ตัว Crybaby มันมีอิทธิพลในทางที่ดีต่อผู้คน 

คือเราไม่ได้คาดหวังอะไรใหญ่โต งานเราไม่ได้พูดเรื่องอะไรยิ่งใหญ่ แต่พูดถึงสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในตัวผู้คน ความรู้สึกเล็กๆ เช่นว่าการร้องไห้ง่ายๆ หรือความอ่อนแอวูบเดียว การเปิดไปสู่สิ่งเล็กๆ ที่เรามองข้ามไป หรือเปิดพื้นที่สาธารณะที่โอเคกับการแสดงความรู้สึก กับความเศร้า ก็เป็นการเปิดไปสู่อะไรบางอย่างของมนุษย์ด้วย

ตัว Crybaby มันมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา คือความรู้สึกความคิด และจิตใจของมนุษย์มันซับซ้อนอยู่แล้ว ตัวคาแร็กเตอร์หรือนิทรรศการ คือการคลี่คลายความรู้สึกที่ซับซ้อนลงมาในระดับนึง 

ความรัก/เป็น/งาน

จากที่เราทำ Crybaby จากความรัก ตอนนี้กลายเป็นงาน เป็นธุรกิจแล้ว ความรักมีปัญหาไหม

เราโชคดีตรงเราเอาความรักเป็นที่ตั้ง และเราโชคดีที่พอเราทำสิ่งที่รักแล้วมีคนบริโภค ทุกอย่างของ Crybaby เริ่มจากความรักล้วนๆ คือในแง่การเป็นธุรกิจ เราเจอมาเยอะเหมือนกัน มายด์เซตของการทำธุรกิจก็สำคัญ คือเป็นเรื่องทำมาหากินก็มีเรื่องเงิน เรื่องงาน แต่ด้วยความที่ตอนทำ Crybaby เป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างพร้อมในการรับมือเรื่องธุรกิจ ก็เลยค่อนข้างเป็นไปโดยอัตโนมัติ 

เราอาจเริ่มด้วยใจรัก แต่ก็กลับมาสู่เรื่องการงาน การที่เราทำงานมันไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่มันมีเรื่องอื่น คนอื่น สิ่งที่ยากที่สุดคือการไปเกี่ยวข้องกับผู้คน ก็มีบ้างที่ไม่ไหว แต่อย่างที่บอก พอมันมีความรักเป็นที่ตั้ง มันก็ทำต่อเอง

ยกตัวอย่างปัญหามีตั้งแต่ที่ไปผลิตของที่จีนแล้วไม่ได้ตามสเปก มีโดนโกงบ้าง ขายของโดยที่เราไม่รู้ คือขายลับหลัง ทำของออกมาแล้วพังระหว่างจัดส่ง วัตถุดิบต้องนำเข้าแล้วก็ต้องหาคนไปหิ้วมา จริงๆ มีปัญหาเยอะมาก หรือช่วงที่เริ่มทำบริษัทและช่วงเริ่มทำงานกับ POPMART แล้วเจอโควิดก็สำคัญ ช็อกไปเลยปีนึง ไปจีนก็ไม่ได้ ไปดูโรงงานไม่ได้ ไม่ได้เห็นคุณภาพโรงงาน ช่วงนั้นนับว่าธุรกิจมีปัญหาเลย พองานไม่ได้ คุณภาพไม่ได้ก็เลยมีปัญหาต่อเนื่องทั้งกับลูกค้า พวกนี้บางส่วนมาจากโควิดด้วย

โชคดีของเราอีกอย่างคือเราได้หุ้นส่วนดี เป็นกอล์ฟกับกอล์ฟที่ชื่อเหมือนกันอีกต่างหาก ทั้งสองคนก็จะดูแลในส่วนที่พี่ไม่เก่ง เช่น ดูเรื่องเงิน ภาษี และเอกสาร ส่วนอีกคนก็ช่วยดูงานผลิตหรืองานครีเอทีฟ ติดต่อประสานงาน

ตรงนี้ด้วยวัย ประสบการณ์ แรงใจ และผู้สนับสนุน ช่วยให้เราผ่านสิ่งต่างๆ ไปได้จริงๆ ทั้งในแง่ธุรกิจหรือในฐานะคนคนนึง

หลัก/การ/พื้นฐาน

อยากให้สรุปความเชื่อมั่นต่อ Crybaby และให้คำแนะนำกับคนที่อยากทำงานทั้งทางอาร์ตทอยและงานศิลปะให้อยู่รอด

เราเชื่อว่า Crybaby พูดถึงเรื่องใหม่ หนึ่ง คือพูดในสิ่งที่คนอาจจะไม่ได้พูดถึงมันมาก่อน สอง คือ Crybaby พูดถึงสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ เป็นอารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องที่อยู่ในตัวเรา ตัวมันเองเลยน่าจะเข้าถึงสัมผัสใจผู้คนได้ สาม คือด้วยแรงผลักดันของส่วนธุรกิจและคู่ธุรกิจเช่น POP MART หรือทางแกลเลอรี ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นแรงช่วยผลักดันให้ไปไกลมากขึ้นได้

เราคิดว่าถ้าเราทำงานให้ดี ให้โดดเด่น หาจุดที่ไม่ซ้ำใคร คือแบรนด์จะเห็นไม่เห็น สักวันนึงก็จะมีคนมาเห็นเราเอง สำหรับเราคิดว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเรื่องอะไรก็ตาม การเลือกทำในสิ่งที่เรารู้จัก รัก และไม่ซ้ำใคร เราว่าอันนี้มันต้องได้ดี

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like