เย็นดีต้อนรับ

‘Coral Life’ ผู้สร้างอาคารประหยัดพลังงานเจ้าแรกในเอเชียที่ลดการใช้พลังงานได้มากถึง 70% 

ทุกวันนี้แม้จะอยู่ในอาคารบ้านเรือน ความร้อนก็ยังทะลุพาดผ่านเข้ามาได้ ถึงจะเปิดแอร์อุณหภูมิต่ำลงเพื่อเร่งให้รู้สึกเย็นทันใจ แต่กลับไม่ได้รู้สึกเย็นฉ่ำอีกต่อไป สิ่งเดียวที่ทำให้รู้สึกหนาวได้คงเป็นบิลค่าไฟที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกเดือน

แต่ออฟฟิศและตึกต้นแบบของ ‘Coral Life’ ผู้ออกแบบและติดตั้งโซลูชั่นครบวงจรให้กับอาคารอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่ในกลางสุขุมวิท 39 กลับให้ความรู้สึกแตกต่าง เพียงก้าวเท้าเข้าไปในอาคาร เราสัมผัสได้ถึงความเย็นที่สวนทางกับอากาศภายนอก แม้บางห้องที่เดินชมจะไม่ได้เปิดแอร์ แต่กลับรู้สึกเย็นสบายคล้าย ไม่ต่างจากห้องที่แอร์เปิดอยู่มากนัก

แม้อาคารมีกระจกใสให้ได้ชมวิวทิวทัศน์อยู่เป็นระยะ ไม่ได้ปิดทึบไร้แสง แต่พลันฝ่ามือสัมผัสกระจก เรากลับรู้สึกได้ถึงความเย็นไม่ต่างจากอุณหภูมิในตึก ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า Coral Life ออกแบบตึกยังไงให้กระจกไม่กักเก็บอุณหภูมิไว้ และทั้งอาคารก็เย็นสบายแบบแอร์ไม่ต้องทำงานหนัก

คำตอบอยู่ที่หลักสำคัญในการออกแบบอาคารของ Coral Life ที่เน้นออกแบบและก่อสร้างอาคารให้ลดการใช้พลังงานมากที่สุด อากาศในอาคารต้องบริสุทธิ์เพื่อ ‘ลดการใช้พลังงาน’ มากกว่าการใช้ ‘พลังงานทดแทน’ สวนทางกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่มองหาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการติดแผงโซลาร์เซลล์มาช่วยให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นและเพื่อให้บิลค่าไฟลดน้อยลง 

แม้พลังงานทดแทนหลายอย่างจะลดค่าไฟได้จริง แต่หากอาคารใช้พลังงานเท่าเดิม หนำซ้ำอากาศที่ดูจะร้อนขึ้นทุกวันยังบังคับให้ต้องผลิตความเย็นเพิ่มขึ้น พลังงานทดแทนที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้จึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ลอดผ่านเข้ามาในตัวอาคาร จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

บ่ายวันธรรมดาที่อากาศร้อนเกือบ 40 องศา เราจึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพื่อนัดพูดคุยถึงหลักการออกแบบเบื้องหลังอาคาร Coral Life และธุรกิจออกแบบเพื่อความยั่งยืน กับ เจมส์ ดูอัน ผู้ก่อตั้งบริษัท คอรัล โฮลดิ้ง หรือที่คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์รู้จักกันดีในฐานะผู้ออกแบบและสร้างอาคารและบ้านพักอาศัยทุกประเภท ก่อนที่จะมาเปิดบริษัทในเครืออย่างบริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด ที่นำนวัตกรรมมาสร้างอาคารประหยัดพลังงานอย่างยั่งยืน

หากใครอยากหนีร้อนมาพึ่งเย็นด้วยกัน In Good Company ตอนนี้ขอ ‘เย็นดีต้อนรับ’  

คุณเห็นปัญหาอะไรในแวดวงอสังหาริมทรัพย์จนสนใจธุรกิจอาคารประหยัดพลังงาน

พอผมอยู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มานาน ผมจะเห็นอยู่ตลอดว่าแต่ละอาคารใช้พลังงานสูงมาก ผมเองสนใจเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2007 เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังและพบว่า 200 ปีที่ผ่านมา ทุกอุตสาหกรรมเน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

จะเห็นว่าในอดีต คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยมาก มันจึงก่อตัวเป็นระบบนิเวศที่เราเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันคือ ‘อากาศร้อน ฝุ่นเยอะ และค่าไฟแพง’ การจะแก้ปัญหานี้ได้คือต้องสร้างระบบนิเวศใหม่ อย่างการทำ ESG คือเราให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีธรรมาภิบาลเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเรื่องเศรษฐกิจจะตามมาเอง 

เป็นเหตุผลที่ผมเริ่มมองหานวัตกรรมมาออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานและเกิดเป็น Coral Life

ถ้าพูดถึงความยั่งยืน คนมักจะนึกถึงการลดคาร์บอนหรือการใช้พลังงานทดแทน แต่ทำไมคุณถึงทำเรื่องการ ‘ลดใช้พลังงาน’ มากกว่า ‘ใช้พลังงานทดแทน’

พลังงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือดีมานด์และซัพพลาย

ผมเปรียบดีมานด์ เป็นกิเลสของมนุษย์ หากต้องการมากเกินไป หาซัพพลายมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เรื่องนี้ผมได้วิจัยและพัฒนาหาโซลูชั่นเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน พบว่าโซลาร์เซลล์ลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 30% เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถใช้แทนพลังงานทั้งหมดได้ แต่ถ้าเราลดการใช้พลังงานตั้งแต่ต้นทางด้วยการออกแบบอาคาร เลือกใช้วัสดุ และโซลูชั่นต่างๆ จะลดการใช้พลังงานได้ถึง 70%

ไม่ได้หมายความการใช้พลังงานทดแทนไม่ดี คุณสามารถใช้พลังงานทดแทนไปพร้อมๆ กับลดการใช้พลังงานได้ เคยมีบริษัทนึงที่ผมไปออกแบบให้ จากตอนแรกต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ 6 ล้านกว่าบาท แต่พอใช้โซลูชั่นของ Coral Life เหลือค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์ 2 ล้านกว่าบาท เพราะเมื่อลดดีมานด์การใช้พลังงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ซัพพลายมากเท่าเดิม

ในช่วงแรกที่ทำวิจัย คุณเจออุปสรรคอะไรบ้างและฝ่าฟันอุปสรรคนั้นมาได้ยังไง

ผมเริ่มจากไปดูงานที่ต่างประเทศ เพื่อหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในบ้านเรา ก็ลองผิดลองถูกหลายอย่าง เช่น หน้าหนาวที่ต่างประเทศจะเอาอุณหภูมิใต้ดินที่ร้อนกว่ามาทำฮีตเตอร์ ผมก็คิดว่าหน้าร้อนเราใต้ดินอาจเย็นกว่า แต่พอลองเจาะดูแล้วเจอว่ากรุงเทพฯ เป็นดินอ่อนและมีทรายที่มีน้ำเยอะ แถมอุณหภูมิใต้ดินกับบนดินแทบไม่ต่างกัน

การทดลองต่อไปเลยคิดจะใช้น้ำฝนที่มีอยู่มากมาย แต่พอได้หาเทคโนโลยีทั้งจากญี่ปุ่นและเยอรมนี พบว่าการใช้น้ำฝนมาเป็นพลังงานทดแทนมีต้นทุนที่เยอะเกินไป และไม่สามารถทดแทนพลังงานทั้งหมดได้

หลังจากนั้นผมส่งทีมงานไปเรียนฟิสิกส์ที่เยอรมนี แต่ก็นำมาปรับใช้ไม่ได้ เพราะบ้านเขาเป็นเขตหนาวแห้ง แต่บ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น แถมเขามีข้อมูลอากาศของเอเชียที่เคยมาเก็บในสิงคโปร์แค่ 2 เดือนเท่านั้น

สุดท้ายผมเลยตัดสินใจสร้างห้องทดลองเอง เพื่อจะได้เก็บข้อมูลอากาศของเอเชียตลอด 1 ปีเต็ม และคิดนวัตกรรมที่นำมาใช้ในบ้านเราได้จริงๆ แน่นอนว่าระหว่างทดลองก็มีปัญหาบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ

แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้งมากกว่า พอเราตั้งใจจะทำให้ได้ มันเลยไม่รู้สึกท้อ จนค้นพบนวัตกรรมและโซลูชั่นการสร้างอาคารให้ประหยัดพลังงาน แบบอาคารที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้

แล้วหัวใจสำคัญที่ทำให้อาคารประหยัดพลังงานได้คืออะไร

เรื่องแรกคือต้องออกแบบอาคารให้ความร้อนจากข้างนอกเข้ามาข้างในน้อยที่สุด นึกง่ายๆ ว่าเหมือนกับการสร้างตู้เย็น พอความร้อนเข้ามาน้อย ข้างในก็ไม่ร้อนมาก เหมือนอาคารนี้บางห้องที่ไปเดินชมก็ไม่เปิดแอร์ แต่ยังให้ความรู้สึกเหมือนเปิดแอร์ 27-28 องศา

เรื่องที่สองคือการเลือกวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะตัวนำความร้อนอย่างกำแพง และตัวนำอินฟราเรดกับ UV อย่างกระจก เราทดลองเก็บข้อมูลตั้งแต่ตอนสร้างห้องทดลองแล้วว่าวัสดุแบบไหนนำความร้อนเข้ามาน้อยที่สุด

เรื่องต่อมาคือขั้นตอนการประกอบหรือก่อสร้างอาคาร จะต้องไม่มีรอยรั่วเด็ดขาด เพราะตามหลักฟิสิกส์หากมีรอยรั่ว ความร้อนจะเข้ามาหาความเย็น และความเย็นจะไหลออกไป ซึ่งจะทำให้เปลืองพลังงานมากกว่าปกติ 10-20% และมีฝุ่น ควัน รวมถึงแบคทีเรียลอดเข้ามาในอาคารได้ ทำให้พออยู่ไปนานๆ จะรู้สึกปวดหัว และถ้าเกิดความชื้นสะสมในอาคารมากๆ ก็มีโอกาสเป็นไซนัสและโรคผิวหนังได้

จึงเกิดเป็นเรื่องสุดท้าย คือต้องมีการแลกเปลี่ยนอากาศที่ดี ซึ่งแต่ละสถานที่ก็มีอากาศที่เหมาะสมไม่เท่ากัน นั่นเป็นเหตุผลที่ Coral Life ต้องเก็บข้อมูลเรื่องอากาศเอาไว้และนำมาแปลงให้เห็นว่าแต่ละสถานที่มีคุณภาพอากาศที่ดีอยู่ที่เท่าไหร่ 

อย่างตึกนี้อยู่สุขุมวิท 39 ต้องคุมแบคทีเรียต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรไม่เกิน 500 ซึ่งเราทำได้ประมาณ 5-10 เลยทีเดียว อาคารของ Coral Life ไม่ได้แค่ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ดีต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนด้วย 

อาคารประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่ใหม่มาก มีวิธีการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจและเลือกใช้บริการของคุณยังไง

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ใหม่มากในไทย แต่เราเป็นเจ้าแรกในเอเชียที่ทำระบบอาคารและระบบอากาศที่ได้มาตรฐานแบบนี้ ผมเลยต้องอาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นเดเวลอปเปอร์ สร้างอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ทำให้คนเชื่อมั่นว่าผมสร้างอาคารได้จริง และหลังจากนั้นก็พาลูกค้าไปดูห้องทดลองที่ทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้นโปรเจกต์

หรือบางคนก็มาดูอาคารนี้ที่เป็นออฟฟิศของ Coral Life แล้วเขาจะเห็นว่าพอเข้ามาในอาคารก็จะรู้สึกเย็นแล้วหายใจสะดวก ส่วนค่าไฟจากที่ตอนแรกต้องจ่ายเดือนละ 4 แสนบาท แต่ตอนนี้เราจ่ายแค่เดือนละ 7 หมื่นบาท ถ้าคิดเป็นต่อปีจากปีละ 5 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือปีนึงไม่ถึง 1 ล้านบาท

พอได้มาสัมผัสสถานที่จริง มีตัวเลขค่าไฟเปรียบเทียบชัดเจน ลูกค้าก็เห็นภาพและเห็นความสำคัญของการมีอาคารประหยัดพลังงานไปเอง

ปกติสินค้าหรือบริการที่ทำเรื่อง ESG มักมีราคาที่แพงกว่าสินค้าทั่วไป คุณมีวิธีการยังไงให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะจ่ายเพื่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน

ถ้าลูกค้ามาหาเราตั้งแต่แรก ไม่ได้แพงกว่าการสร้างอาคารปกติมาก แถมในระยะยาวยังยั่งยืนกว่า เรื่องนี้เราจะค่อยๆ พูดให้ลูกค้าเข้าใจและลองคิดดูว่าสร้างอาคารนึงใช้ไปถึง 30-50 ปี คุณจะประหยัดค่าไฟไปได้เท่าไหร่

ส่วนต่างตรงนั้นก็นำไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจคุณได้ และคุณภาพชีวิตของคนในอาคารก็ดีขึ้นด้วยอากาศบริสุทธิ์ เรื่องนี้มันเห็นภาพชัดเจนมากพอที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า

คนมักพูดกันว่าธุรกิจที่ทำเรื่อง ESG ไม่ค่อยได้กำไร คุณคิดว่าธุรกิจเหล่านี้จะสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับการช่วยโลกได้ยังไง

ผมมองว่าผู้บริโภคในปัจจุบันกว่า 80% ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมาก ทั้งตอนเลือกซื้อสินค้า เลือกใช้บริการ หรือแม้แต่จะสื่อหุ้นเขาก็ดูว่าธุรกิจของคุณใส่ใจโลกขนาดไหน ตัวอย่างที่คิดว่าเห็นภาพชัดคือ ‘ไนกี้’ ตั้งแต่เปลี่ยนส้นรองเท้าจากพลาสติกเป็นวัสดุรีไซเคิล กำไรก็พุ่งขึ้นหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผมจึงเชื่อว่าถ้าธุรกิจนั้นแก้ pain point ของผู้คนและสังคมได้ ต่อให้ทำเรื่อง ESG ยังไงก็ได้กำไร

คิดว่าความยากในการทำธุรกิจเกี่ยวกับ ESG คืออะไร

ผมว่าเป็นเรื่องของมายด์เซตเพราะถึงแม้เราจะพูดเรื่อง ESG กันมาระยะนึง แต่ในเชิงธุรกิจก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความความพยายามและความอดทนในการหาให้เจอว่าธุรกิจของคุณจะทำเรื่อง ESG อย่างยั่งยืนได้ยังไง บางคนจึงไม่กล้าพอที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนมาทำเรื่องนี้ หรือทำไปแล้วรู้สึกท้อถอยซะก่อน

ผมชอบเปรียบเทียบว่าการเริ่มทำ ESG เหมือนกับการขับรถ ถ้าคุณยังขับไปทางเดิมไม่เปลี่ยนทิศทาง ทำแค่เหยียบเบรกนิดๆ หน่อยๆ สุดท้ายธุรกิจของคุณก็จะเหมือนเดิมไม่มีวันเปลี่ยน แต่ถ้ายอมเสียเวลาสักหน่อย ยูเทิร์นกลับมาดูตั้งแต่จุดเริ่มต้น คุณจะค้นพบว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร และควรแก้ไขมันยังไง

ต่อให้ต้องขับรถไปบนเส้นทางใหม่ที่ยากกว่าเดิม แต่มันจะยั่งยืนกว่า คิดซะว่าธุรกิจที่ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แล้วจะประสบความสำเร็จได้ยังไง ธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า คือธุรกิจที่กล้าทำเรื่องที่ดูเป็นไปได้ยากให้เกิดขึ้นจริงได้ และต้องแก้ pain point ของสังคมด้วย

เหมือนอย่างที่ผมทำ Coral Life ใครจะคิดว่าวันหนึ่งอาคารที่คุณอยู่จะเย็นได้แบบไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา แถมยังมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจในวันที่ฝุ่น PM2.5 ครองเมือง และยังช่วยลดค่าไฟได้มากกว่าปกติถึง 70%

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

You Might Also Like