สงครามชงด่วน

ธุรกิจชาในจีน กับสงครามที่มีผู้เล่นกว่า 5 แสนร้าน มูลค่าปีละ 7 แสนล้านบาท

ชา คือหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีคนเลือกดื่มมากที่สุดในโลก อาจด้วยปริมาณคาเฟอีนที่ไม่เข้มข้นหนักหนาจนเกินไป หรืออาจเพราะความหอมละมุนและความหลากหลายของสายพันธุ์ชาที่ทำให้นักดื่มชาทั่วโลกนิยมดื่มตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แท้จริงแล้วคำว่า ‘ชา’ ในภาษาไทยมาจากภาษาจีนที่เขียนว่า 茶 (อ่านออกเสียงว่า ‘chá’  หรือ ‘ฉา’) และคนไทย รวมถึงคนอีกหลายชาติก็เรียกเครื่องดื่มที่ทำจากใบไม้อบหรือตากแห้งชนิดนี้ว่า ‘ชา’ ตามภาษาจีน

จากที่ได้เดินทางไปเยือนจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นภาพธุรกิจชาในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘ชา’ ได้เห็นความคึกคักที่เข้าขั้นการทำสงครามระหว่างแบรนด์ชาต่างๆ จนอยากเอามาเล่าให้คุณฟังใน Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว ตอนนี้

ชา ชา ชา

หากใครยังไม่ทราบที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์ชา 

เราขอเล่าให้คุณฟังคร่าวๆ ฉบับรวบรัดแบบย่อหน้าเดียวจบ นั่นคือ ชา เป็นเครื่องดื่มโบราณที่มีเรื่องเล่าจากหลากหลายแหล่งที่มา บางที่บอกว่าต้นทางมาจากจีน บางที่บอกว่าต้นกำเนิดมาจากทางอินเดียตอนเหนือ แถวๆ แคว้นอัสสัม

วันนี้เราจะไม่เถียงกันว่าตกลงชากำเนิดขึ้นที่ไหนเป็นที่แรก แต่เอาเป็นว่ารากเหง้าความเก่าแก่ของชากับวัฒนธรรมจีนนั้นผูกโยงแน่นแฟ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งหนังบู๊กำลังภายในของจีน หรือหนังรักรอมคอมใน iQIYI เราล้วนเห็นตัวละครดื่มชาทั้งสิ้น ถ้าท่านจอมยุทธไม่นั่งดื่มชาร้อนๆ จากจอกที่เสี่ยวเอ้อร์นำมาเสิร์ฟ เราก็จะเห็นนางเอกวัยทำงานแต่งตัวเป็นสาวออฟฟิศน่ารักเดินดูดชานมไข่มุกจากแก้วพลาสติกในหนังจีนยุคใหม่ 

แสดงให้เห็นว่า ชาผูกพันกับความเป็นคนจีนและสังคมจีน จนสะท้อนออกมาในหนังและละครตลอดมาจนถึงชีวิตประจำวันของพี่น้องชาวจีน ที่ไม่ว่าไปไหนมาไหนในประเทศจีน เราจะเห็นทุกร้านอาหารเสิร์ฟน้ำชามาก่อนน้ำเปล่าทั้งสิ้น

ชาจีน ชานม ชาผลไม้

คนจีนดื่มชากันแพร่หลายจนเราเห็นชาจีนวางขายอยู่ทั่วไปเต็มไปหมดในเมืองจีน และอาจจะเรียกได้ว่าชาหากินได้ง่ายพอๆ กับน้ำเปล่าในเมืองจีนเลยด้วยซ้ำ

แต่ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าความลื่นไหลและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ไม่มีทางหยุดอยู่กับที่ จากชาจีนร้อนๆ ที่เคยเอาไว้ดื่มในหมู่นักบวชเพื่อไม่ให้ง่วงนอนตอนทำวัตรสวดมนต์ เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมการดื่มชาพัฒนาไปไกลมาก ความหลากหลายเพิ่มขึ้นจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีที่สิ้นสุด

ปัจจุบันมีทั้งชาเย็น ชาปั่น ชาผสมน้ำผลไม้ ชาผสมนม ชาผสมผลไม้แบบมีผลไม้ปั่นรองด้านล่าง ชาแบบมีชีสปั่นเหลวๆ ท็อปปิ้งไว้ด้านบน และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่ทั้งดิฉันและคุณอาจจะยังจินตนาการไปไม่ถึง 

ร้านชายุคใหม่ในเมืองจีน ไม่ใช่ร้านขายใบชาแล้วมานั่งรินน้ำทีละจอกๆ ให้คุณดื่มแบบในหนัง ถ้าคุณไม่เคยไปเมืองจีนหรือนึกภาพไม่ออก เราอยากให้คุณลองนึกถึงภาพสแตนด์ร้านขายชานมไข่มุกที่แพร่หลายในบ้านเรา มีทั้งเคาน์เตอร์เล็กๆ ไปจนถึงร้านชานมไข่มุกที่เปิดกันเป็นสัดส่วนมีที่นั่งให้ลูกค้าได้นั่งพักผ่อนดื่มชา ร้านชาสมัยใหม่ของเมืองจีนก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน

แบรนด์ชาที่เป็นที่นิยมในเมืองจีนมีมากมาย มีทั้งที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยและบางแบรนด์อาจไม่เคยได้ยิน เช่น MlXUE, CHAGEE, HEYTEA และอื่นๆ อีกมากมาย จากสถิติของสมาคมร้านค้าปลีกและแฟรนไชส์แห่งประเทศจีน ร้านชาในประเทศจีนมีจำนวนถึง 500,000 ร้านในปี 2023

ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าร้านชามันจะเยอะแค่ไหนในเมืองจีน เราจะอธิบายให้ฟัง

ชา–ความสุขที่ซื้อได้ง่าย สบายกระเป๋า

ถ้าคุณอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วคุณเห็นความถี่ของร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง เคาน์เตอร์ร้านชาในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ ก็อารมณ์นั้นนั่นแหละ คุณสามารถหาชาดับกระหายได้อย่างสะดวกมาก เห็นร้านอยู่ทุกหัวมุมถนน 

ถามว่าในเมื่อร้านชาเยอะขนาดนี้ แบรนด์มากมายขนาดนี้ แล้วแต่ละเจ้าเขาต่างกันยังไง ลูกค้าจะเลือกกินชาเจ้าไหนถึงจะถูกจริตกับตัวเองที่สุด เราขอเล่าจากประสบการณ์ตรงให้ฟังโดยสังเขป 

ชาบางเจ้าราคาพรีเมียมกว่าเจ้าอื่น แต่คุณจะรู้สึกได้ในทันทีว่าราคาที่คุณจ่ายไป คุณได้มาซึ่งความเข้มข้นของชาและ/หรือความหอมมันของชีสที่นุ่มละมุน

ชาบางเจ้าราคาย่อมเยา แถมให้ปริมาณที่คุณสามารถดื่มชา + น้ำตาลได้จนอิ่มใจและอิ่มท้องในราคาไม่ถึง 10 หยวน

ชาบางเจ้าคุณวางใจได้ทันทีในเรื่องความสดและรสชาติของผลไม้ ถ้าคุณสั่งชาผลไม้ คุณรู้แน่ๆ ว่าชายี่ห้อนี้ผสมผลไม้ปั่นที่ถูกคัดมาอย่างดี ไม่มีความรู้สึกแหยะหยึยจากผลไม้ที่สุกงอมจนเกินไป หรือรสชาติฝาดแข็งของผลไม้บางชนิดที่ยังไม่สุกดี

BBC เคยสัมภาษณ์สองสาวจีนจากกวางโจว (เมืองทางตอนใต้ของจีน) และจากปักกิ่ง (เมืองหลวงของจีนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ) ถึงความรู้สึกและความถี่ในการดื่มชาจากแบรนด์ชาต่างๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง 

“ชานมไข่มุกเป็นความสุขที่ซื้อได้ง่าย ฉันเลยดื่มค่อนข้างบ่อย” Lili อาจารย์มหาวิทยาลัยวัยสามสิบต้นๆ จากกวางโจวตอบผู้สื่อข่าว

“ฉันดื่มชานม ชาผลไม้เกือบทุกวัน และส่วนใหญ่ชวนกันดื่มกับเพื่อน” Tina พนักงานออฟฟิศจากปักกิ่งวัยสามสิบต้น ก็แชร์ความถี่ในการดื่มคล้ายกันแม้อยู่กันคนละฝั่งของประเทศ

เมื่อก่อนเราเคยได้ยินคำว่า จิตวิทยาของลิปสติก จาก Estee Lauder ที่ว่า ผู้หญิงจะซื้อลิปสติกเพราะมันเป็นความสุขที่ซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง แต่วันนี้ความสุขของผู้หญิงอาจจะหาซื้อได้ง่ายกว่าลิปสติกแถมกินได้ด้วย พวกเขาสามารถซื้อมันได้ทุกวัน แถมสะดวกและอร่อยอีกต่างหาก

ธุรกิจชา–ที่ทำแล้วอาจทำให้รู้สึก ‘ชา’

ปี 2023 ธุรกิจแบรนด์ชาในจีนเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจระดับประเทศและมีเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 145,000 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 725,000 ล้านบาท 

แล้วคุณทราบหรือไม่ว่าหากเราเอารายได้ของบริษัทสุรายักษ์ใหญ่ 2 บริษัทในประเทศไทยมาบวกรวมรายได้กัน จากสถิติของปี 2024 รายได้จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของทั้ง 2 บริษัท เราได้เพียงแค่ 214,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมูลค่ายังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของเม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจชาในประเทศจีนเลย

แต่ขึ้นชื่อว่าธุรกิจและการแข่งขัน ย่อมต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ผู้อยู่รอด ผู้ไม่ได้ไปต่อ

แบรนด์ชาที่เปิดแล้วรอด เปิดแล้วรุ่ง ก็คือแบรนด์ที่เราเกริ่นชื่อไปแล้วก่อนหน้า ทั้ง CHAGEE และ HEYTEA แบรนด์พวกนี้เราเห็นทั้งความถี่ของสาขาและความหนาแน่นของลูกค้า ก็น่าจะพอเดาออกว่าธุรกิจเขาดำเนินไปได้ดีแค่ไหน

หนึ่งในความฝันของคนทำธุรกิจหลายคนคือ การเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน และข่าวดีของวงการชาก็คือ มีบริษัทชานมไข่มุกอยู่หลายบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่จดทะเบียนอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์อเมริกา (NASDAQ) และที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง 

ถ้านับเอาแต่บริษัทเครื่องดื่มชานม ชาผลไม้ของจีนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้มีอยู่ 5 บริษัทด้วยกัน ได้แก่

  1. Mixue Group จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อมีนาคม 2025
  2. Guming Holdings Limited จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อกุมภาพันธ์ 2025
  3. CHABAIDAO จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อเมษายน 2024
  4. Naixue จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เมื่อมิถุนายน 2021
  5. CHAGEE จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา NASDAQ เมื่อเมษายน 2025

แต่การได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นแค่ข่าวเกือบดีเท่านั้น เพราะใช่ว่าการเป็นบริษัทมหาชน คุณจะสามารถระดมทุนได้ง่ายๆ จากนักลงทุนเสียเมื่อไหร่ 

ตัวอย่างเช่น CHABAIDAO แบรนด์ชานมที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีนราคาหุ้นดิ่งลงตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการซื้อ-ขาย และราคาก็ดิ่งลงอย่างต่อเนื่องอย่างนั้นอยู่เป็นเดือนๆ หรือจะเป็นแบรนด์ชานมจากเซินเจิ้นที่ชื่อว่า Nayuki ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ราคาหุ้นตกลงกว่า 80% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ณ เดือนมิถุนายน 2025 ราคาหุ้นอยู่ที่หุ้นละ 1.27 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น ตกลงจากราคาขายวันแรกในปี 2021 ที่ 18.86 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น) 

อย่างที่คุณและดิฉันต่างก็ทราบกันดีว่ามีหลายปัจจัยเหลือเกินที่เราไม่สามารถควบคุมได้กับราคาของหุ้นในตลาด แต่ปัจจัยที่จับต้องได้ของทั้งสองบริษัทชานี้คือกำไรที่ลดลงอย่างมากระดับ 900 กว่าล้านหยวน (ของ CHABAIDAO ในปี 2024) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นักลงทุนจะพากันไม่มั่นใจในเสถียรภาพและสุขภาพทางการเงินของบริษัท ทำให้ราคาหุ้นลดลงด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขนาดนี้

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากจีนและจากนานาชาติเคยวิเคราะห์กันมากมายว่า หรือเราจะเห็นภาวะชาเฟ้อในเมืองจีนหรือเปล่า คือมีร้านชามากเกินไปจนเกินความต้องการของลูกค้า คนขายเลยมากกว่าคนซื้อ เม็ดเงินเลยสะพัดลดลง

นี่คือคำถามระดับแสนล้านที่ไม่มีใครกล้าฟันธงคำตอบ เพราะหากร้านชามันเฟ้อดังว่าจริง อย่างนั้นเราก็ไม่น่าจะเห็นคู่แข่งรายใหม่เข้ามาเพิ่มในการแข่งขันนี้อีก แต่เราก็ยังเห็นแบรนด์ชาหน้าใหม่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ตลอดปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมายังปีนี้ ถ้าอย่างนั้นแปลว่าช่องว่างในตลาดชาน่าจะยังพอมีเหลือให้คนขายได้ขายของที่คนซื้ออยากซื้อ

เราเองก็ยังคงรอดูคำตอบและตอนต่อไปของสงครามนี้ไปพร้อมๆ กับทุกคน และหวังว่าเราจะได้เห็นนวัตกรรมชาจีนใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดชาทั้งในจีนทั้งที่ต่างประเทศคึกคัก และแผ่ขยายความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ

อ้างอิง

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like