Good Creativity
ธุรกิจที่หยิบความคิดสร้างสรรค์ มาเป็นหัวใจสำคัญในการสรรค์สร้างแบรนด์ที่ฉีกออกจากกรอบเดิมๆ
ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป
จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ
ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’ ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?
ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว : THE DYNAMIC ZOO
สวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่ใช้ความน่ารัก และรู้จักต่อยอดมาเปิดใจนักท่องเที่ยว
WHAT’S HAPPENED :
ปีที่ผ่านมา ‘สวนสัตว์เปิดเขาเขียว’ กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งจากกระแส ‘หมูเด้งฟีเวอร์’ ที่ไม่ได้อาศัยแค่ความน่ารักเท่านั้น แต่ ณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ได้วางแผนทำให้หมูเด้งอยู่ในกระแสด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก อย่างการเปิดโหวตชื่อผ่านทาง Facebook สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จนมีผู้เข้าร่วมโหวตมากกว่า 20,000 คน นอกจากนั้นยังแชร์คลิปความน่าเอ็นดูของเจ้าหมูเด้งผ่านทางโซเชียลอยู่เสมอจนมีคนมาสัมผัสความน่ารักถึง 12,000 คนต่อวัน และสร้างรายได้มากกว่า 40 ล้านบาท ก่อนจะต่อยอดเป็นสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างสร้างสรรค์ ทั้งโปรโมตที่พักในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ไปจนถึงคอลแล็บกับหลากแบรนด์ เช่น AIS, ADDA, ชาตรามือ จนทำให้ปีที่ผ่านมาคอลแล็บไปแล้วกว่า 70 แบรนด์และสร้างรายได้จากการคอลแล็บ 50 ล้านบาท
WHAT’S NEXT :
คาดว่าจนถึงเดือนมิถุนายน 2568 หมูเด้งจะสร้างรายได้จากการคอลแล็บแตะ 100-150 ล้านบาท ในขณะเดียวกันณรงวิทย์ตั้งใจจะทำตามมิชชั่นหลักคือผลักดันให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นสวนสัตว์อันดับ 1 ในเอเชีย และติด Top 5 สวนสัตว์ระดับโลก รวมไปถึงปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลกที่เกิดขึ้น เช่น การใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและเป็นสวนสัตว์สีเขียว และจัดสรรพื้นที่กิจกรรมรองรับกลุ่มครอบครัวและผู้สูงวัยที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจับตามองว่าสวนสัตว์แห่งนี้ที่มีดาวดวงใหม่แจ้งเกิดเกือบแทบทุกปี และเล่นกับกระแสได้อย่างชาญฉลาด จะมีสัตว์ตัวไหนเป็นกระแสต่อไป เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนไทยและชาวต่างชาติอีกบ้าง
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Cute Marketing ใช้ความน่ารักมามัดใจผู้คนให้อยากมาที่สวนสัตว์เพื่อพบปะน้องๆ
– Social Media Engagement ลงความน่ารักบนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อและสร้างปรากฏการณ์หมูเด้งฟีเวอร์เต็มหน้าฟีด
– Value Creation มากกว่าการแค่มาชมสัตว์แล้วก็จบไป แต่ต่อยอดสู่การทำสินค้า โปรโมตที่พัก และคอลแล็บกับหลากแบรนด์ดัง

Butterbear : THE HEART HEALER
น่ารักมั้ยไม่รู้ แต่ Butterbear ตกคนเข้าด้อมด้วยอินเนอร์นักฮีลใจอยู่นะรู้มั้ย
WHAT HAPPENED :
ธุรกิจขนมหวานที่หอมหวานที่สุดในปีนี้คงหนีไม่พ้น ‘Butterbear’ แบรนด์ขนมในเครือ Coffee Beans by Dao ที่ บูม–ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ และเบลล์–ธนาภา ปางพุฒิพงศ์ ตั้งใจให้หนีเนยดูนุ่มฟู เข้าถึงง่าย และมีเสน่ห์จากอินเนอร์ภายในที่ดูมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมีชีวิตจริงๆ เพื่อช่วยฮีลใจผู้คน ทั้งร้อง เต้น ทำชาเลนจ์กับเหล่าไอดอล พร้อมฉีกกฎที่ว่ามาสคอตต้องเป็นตัวแทนของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น ด้วยการไปคอลแล็บร่วมกับแบรนด์ไทย เช่น Pipatchara, GENTLEWOMAN และการคอลแล็บครั้งใหญ่กับเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขาในไทยถึง 15,000 สาขาทั่วประเทศ ทำให้หมีเนยเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ไปจนถึงแบรนด์จีน เช่น แบรนด์กาแฟ Luckin Coffee, อาร์ตทอยค่าย TOYZEROPLUS ให้แฟนๆ ได้จับจองเป็นเจ้าของกัน ทำให้ปี 2567 ที่ผ่านมามีการสำรวจของ Wisesight พบว่า Butterbear หรือหมีเนย ครองอันดับ 3 ยอดเอนเกจเมนต์ที่คนพูดถึงบนโซเชียลมีเดียในไทย ด้วยยอดกว่า 137 ล้านเอนเกจเมนต์
WHAT’S NEXT :
ที่ผ่านมาหมีเนยได้สร้างความผูกพันให้กับผู้คนแบบ emotional collection อย่างต่อเนื่อง จนไม่ใช่มาสคอตที่มีกระแสแล้วหายไป แต่ยืนระยะอยู่ในใจผู้คนได้ต่อผ่านท่าทีใหม่ๆ ที่คาดว่าปีนี้จะไปร่วมคอลแล็บกับสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เพื่อเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์และชีวิตประจำวันของผู้คน น่าจับตาต่อว่าหมีเนยจะโกอินเตอร์ไปมัดใจแฟนๆ ในต่างแดนที่ประเทศใดบ้าง นอกเหนือจากประเทศจีนที่เป็นเอฟซีตัวยงอยู่แล้ว รวมถึงการเป็นแรงบันดาลใจแจ้งเกิดมาสคอตตัวอื่นๆ ให้เป็นมาสคอต ที่มีชีวิตชีวาเหมือนกับหมีเนย
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Creative Storytelling สรรค์สร้างสตอรีอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการวางคาแร็กเตอร์มาสคอตให้เหมือนมนุษย์
– Creative Activity ทำกิจกรรมเหมือนไอดอลสาวท่านหนึ่ง หาทำคอนเทนต์ตามเทรนด์ทันกระแสอยู่เสมอ
– Creative Collaboration สร้างสีสันในทุกการคอลแล็บออกมาเป็นสินค้าสุดสร้างสรรค์

Guss Damn Good : THE FEEL GOOD BRAND
Guss Damn Good ไอศครีมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึก
WHAT HAPPENED :
ท่ามกลางความร้อนแรงของอากาศประเทศไทยก็ยังมีไอศกรีมของ ‘Guss Damn Good’ ที่ทำให้ทุกคนที่ได้สัมผัสรู้สึกเย็นทั้งกายและใจ ด้วยเสน่ห์ของเนื้อสัมผัสที่เนียน นุ่ม แต่ไม่หนักเกินไป และถึงแม้จะไม่มีท็อปปิ้งที่ดูหวือหวา แต่ในทุกคำที่ตักชิมต้องอัดแน่นไปด้วยวัตถุดิบและความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไป ทำให้ไม่ว่าจะออกรสชาติใหม่อะไรมา ก็ชวนให้ตบเข่าดังฉาดว่าคิดได้ยังไง อย่างการหยิบบทเพลงของ Scrubb ออกมาทำเป็นรสชาติที่คนรัก ไปจนรสชาติที่คอลแล็บกับ 9 แบรนด์คู่ครัวไทย ซึ่งในแต่ละรสชาติ ระริน ธรรมวัฒนะ และนที จรัสสุริยงค์ จะหยิบเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา และเรื่องราวที่น่าสนใจของแบรนด์ที่มาร่วมคอลแล็บด้วย มาเปลี่ยนเป็นความรู้สึก และเอาความรู้สึกมาเปลี่ยนเป็นรสชาติ เพราะพวกเขาเชื่อว่าถึงแม้ไอศครีมจะพูดไม่ได้ แต่ทำให้คนรู้สึกดีได้ จนปัจจุบันมีกว่า 160 รสชาติ และในบรรดารสชาติเหล่านั้นเกิดจากการคอลแล็บร่วมกับอาร์ทิสต์และแบรนด์น้อยใหญ่ถึง 60 รสชาติ
WHAT’S NEXT :
พูดถึงรสชาติไอศครีมหลายคนอาจนึกถึงรสชาติที่เป็นของหวาน แต่ในอนาคตระรินและนทีอยากฉีกกฎความคิดนี้ ด้วยการทำรสชาติของคาวออกมามากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้มาสัมผัสเมนูอื่นๆ ที่ต่อยอดจากไอศครีม และแน่นอนว่าเราจะได้เห็น Guss Damn Good ไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่นอีกเช่นเคย แต่อาจจะเป็นประเภทธุรกิจที่แปลกใหม่แบบนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าธุรกิจเหล่านั้นจะออกมาเป็นรสชาติไอศครีมอะไร เพราะพวกเขาเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน ทุกคนมีสตอรีที่อยากจะเล่า มีสิ่งดีๆ ที่อยากจะบอกอยู่แล้ว และน่าจับตามองเซอร์ไพรส์ในช่วงเดือนกรกฎาคมซึ่งมีวัน National Ice Cream Day หรือวันไอศครีมแห่งชาติของอเมริกา ที่ระรินและนทีตั้งใจจะมีโปรเจกต์ใหญ่ในเดือนนี้ของทุกปี
WHAT’S PRAISEWORTHY :
THE GOOD FEELING
– Story to Flavor ทุกรสชาติเกิดจากการหยิบเรื่องราวมาเปลี่ยนเป็นความรู้สึก และเอาความรู้สึกมาเปลี่ยนเป็นรสชาติ
– Lift-up Moments เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์และโมเมนต์สำคัญของลูกค้า เพื่อเปิดปุ่มความรู้สึกดีๆ แม้ในวันที่มี bad day
– Damn Good Collaborations ทุกการคอลแล็บแบรนดิ้งต้องชัดและรักษาคุณค่าของแบรนด์ไว้ให้ได้

Carnival : THE IDENTITY COLLABORATION
คอลแล็บจนได้ดีในสไตล์ของ Carnival ที่ตัวตนชัดจนมีแต่คนรัก
WHAT HAPPENED :
Carnival เริ่มต้นจากการเป็นที่รู้จักของสายสนีกเกอร์และสตรีทแฟชั่น จนมีคนไปนอนรอต่อแถวกันข้ามวันข้ามคืน และกลายมาเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่ ปิ๊น–อนุพงศ์ คุตติกุล ไม่ได้ตั้งใจจะขายแค่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น แต่มีการปั้นสินค้าแบรนด์ของ Carnival เองด้วย ซึ่งก็ได้รับการยอมรับและความนิยมจน sold out ในเวลาไม่นานและมีการรีเซลกันยกใหญ่ โดยสิ่งที่เป็นจุดเด่นของ Carnival คือโปรเจกต์คอลแล็บที่ทั้งสร้างสรรค์และสร้างกระแสได้อย่างสม่ำเสมอ โดยที่ผ่านมาพวกเขาคอลแล็บร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มามากกว่า 200 แบรนด์ ไล่ตั้งแต่แบรนด์ระดับโลกในวงการแฟชั่นด้วยกัน เช่น Adidas, H&M, Asics, Fila หรือในวงการดนตรีอย่างวง Guns N’ Roses ที่ราคารีเซลพุ่งทะยาน ไปจนถึงคอลแล็บกับแบรนด์เตาแก๊สอย่าง Lucky Flame นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมายังได้คอลแล็บกับแบรนด์อาหารอย่าง Burger King โดยนำ identity ของทั้งสองแบรนด์ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งการคอลแล็บถือเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้คนรู้จัก Carnival ในวงกว้างมากขึ้น และทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้นเสมอเวลามีการคอลแล็บใหม่ๆ ว่าจะมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง ทำให้ Carnival มีฐานแฟนคลับอย่างเหนียวแน่นจนมีเมมเบอร์ทั้งหมด 1 ล้านราย และเป็นเมมเบอร์ระดับ Gold ถึง 2 แสนราย
WHAT’S NEXT :
Carnival เคยคอลแล็บกับธุรกิจมาแทบจะทุกประเภท น่าสนใจว่าในปีนี้พวกเขาจะขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ออกไปยังไงได้บ้าง ที่แน่ๆ ตอนนี้ Carnival ได้ก้าวสู่วงการสตรีทระดับสากลเต็มตัวจากผลงานที่ฝากไว้มากมาย แบรนด์ที่พวกเขามีโอกาสร่วมงานจึงเป็นแบรนด์ที่ชวนร้องว้าวมากขึ้นทุกครั้งที่เปิดตัว รวมถึงอีกเป้าหมายที่ปิ๊นตั้งใจจะสร้างคัลเจอร์ของสนีกเกอร์ในไทยให้ไปไกลกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จนแบรนด์ระดับโลกมองเห็นและไว้ใจส่งโปรดักต์ exclusive มาให้คนไทยได้ซื้อโดยไม่ต้องไปลำบากรับหิ้วหรือซื้อในราคารีเซลกันอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็อยากพาแบรนด์ไทยอย่าง Carnival ไปเจาะตลาดในต่างประเทศอีกด้วย
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Creative Collaboration การคอลแล็บไม่ใช่แค่ใส่โลโก้ลงไป แต่คือการดึงตัวตนและกลิ่นอายของแบรนด์ไปนำเสนอในสินค้าแต่ละชิ้น
– Limited Edition จำหน่ายสินค้าลิมิเต็ด ที่ต่อให้ได้รับความนิยมแค่ไหนก็จะไม่ผลิตเพิ่มหรือไม่สามารถนำเข้ามาได้แล้ว เพื่อให้ลูกค้ารีบจับจองเป็นเจ้าของและตัดสินใจซื้อได้ไวขึ้น
– Building a Fanbase สร้างฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น จากการทำสินค้าออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และทำให้ลูกค้ารู้สึกตื่นเต้น รวมถึงมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่แบรนด์สร้างสรรค์

ศรีจันทร์ : THE CREATIVE ADAPTATION
ศรีจันทร์แบรนด์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาผลักดันให้ทันสมัยอยู่เสมอ
WHAT HAPPENED :
ท่ามกลางเชลฟ์เครื่องสำอางที่มีแต่ชื่อแบรนด์เป็นภาษาต่างประเทศ ‘ศรีจันทร์’ ถือเป็นเครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่โดดเด่นจากการรีแบรนด์ให้ทันสมัยแต่ยังคงเสน่ห์ความเป็นไทย จนทำให้แบรนด์กลับมาเป็นที่รู้จักในตลาดอีกครั้งและขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างปีที่ผ่านมา แท็ป–รวิศ หาญอุตสาหะ พาศรีจันทร์ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความงามอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการพัฒนาสินค้าสกินแคร์มากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีส่วนแบ่งในตลาดความสวยความงามถึง 44% โดยเน้นสกินแคร์ที่เหมาะกับคนไทยอย่างตรงจุดในทุกสภาพผิว ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและส่วนผสมจากธรรมชาติ ส่งให้มอยส์เจอไรเซอร์ของศรีจันทร์มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในตลาดสกินแคร์ ถือเป็นแบรนด์ไทยที่ยังยืนหยัดบนความเป็นไทย และเติบโตในตลาดความสวยความงามอย่างเต็มรูปแบบ
WHAT’S NEXT :
นอกจากเครื่องสำอางและสกินแคร์แล้ว เป็นที่น่าจับตาต่อว่าแท็ปจะพาศรีจันทร์ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ไปสู่กลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความงามและสุขภาพอะไรอีกบ้าง จากการที่แท็ปตั้งเป้าหมายว่าอยากให้ปี 2025 มีอัตราการเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 50% และไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็นแบรนด์ศรีจันทร์ไปวางขายในต่างประเทศและมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากลก็เป็นได้
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Strong Brand Identity จุดยืนในความเป็นแบรนด์ไทย ที่นำเสนอความเป็นไทยอย่างทันยุคทันสมัย
– Continuously Improving พัฒนาไม่หยุดยั้ง เพื่อผลักดันแบรนด์ไทยสู่สากล
– Compatible with Thai Skin ความใส่ใจในการศึกษาและวิจัยผิวพรรณของคนไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ปัญหาผิวได้อย่างตรงจุด

ละมุนละไม. : THE UPCYCLE ART
ศาสตร์และศิลป์การปั้นธุรกิจศิลปะให้เป็นมิตรต่อโลกของละมุนละไม.
WHAT HAPPENED :
ถึงแม้เซรามิกจะเป็นผลงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก แต่ ‘ละมุนละไม.’ กลับเป็นคราฟต์สตูดิโอที่ ไหม–ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และหนาม–นล เนตรพรหม ใช้ความละเอียดลออในการนำความคิดสร้างสรรค์มาปั้นเซรามิกและปั้นธุรกิจให้แตกต่างบนพื้นฐานการงานได้จริง ทั้งเป็นผู้มาก่อนกาลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำขยะอาหารมาเปลี่ยนเป็นจานชามเซรามิก และต่อยอดจากการทำสินค้ากุ๊กกิ๊กอย่างจานชาม เครื่องประดับ และป้ายชื่อเซรามิกขายตามงานออกร้าน สู่การทำเซรามิกแบบคัสตอมโดยเฉพาะการทำ tableware หรือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารให้คาเฟ่และร้านอาหารมากมาย พร้อมฉายภาพความสำเร็จให้ใหญ่ขึ้นผ่าน You! Project ที่รวมตัว 9 ศิลปินมาสร้างสรรค์ลวดลายบนดิน แล้วผสมผสานกับเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายรูปแบบ รวมถึงฉลองครบรอบปีที่ 10 ผ่านนิทรรศการ Pots of Purpose: ภาชนะต้องประสงค์ที่รวบรวมเซรามิกกว่า 300 ชิ้น เพื่อเป็นตัวแทน 300 ความสำเร็จที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เพราะความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
WHAT’S NEXT :
ขึ้นชื่อว่าเป็นคราฟต์สตูดิโอ ไหมและหนามก็ปลุกปั้นให้เป็นสตูดิโอที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงส่งงานให้ผู้ใช้จริง ซึ่งนอกจากดินและขยะอาหารที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลักของผลงานแล้ว ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการหยิบวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมาสร้างสีสันให้วงการเซรามิก เช่น งานไม้ งานผ้า งานกระดาษ และนอกจากทุกวันนี้ที่ละมุนละไม.จะใช้ร้านอาหารที่ไปร่วมออกแบบ tableware หรือเครื่องใช้บนโต๊ะให้เป็นเหมือนดั่งโชว์รูมของเขา ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ไปเยี่ยนเยือนบ้านที่พวกเขาอยากทำเป็นสตูดิโอและหน้าร้านของละมุมละไม.ก็เป็นได้
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Design Thinking ถอดรหัสผู้ใช้ให้ถึงแก่นแท้ เพื่อปั้นงานศิลปะที่ใช้งานได้จริง
– Custom-made ดีไซน์เซอร์วิสครีเอทเซรามิกชิ้นต่อชิ้น ให้ได้งานศิลที่มีชิ้นเดียวในโลก
– Circular Design คิดครบลูปในทุกกระบวนการ เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและเป็นมิตรต่อโลกมากที่สุด

Gadhouse : THE HOUSE OF GADGET
Gadhouse แบรนด์ที่ถูกปลุกปั้นให้เป็นบ้านของคนรักเสียงดนตรี
WHAT HAPPENED :
ดั่งคำกล่าวที่ว่าดนตรีเป็นภาษาสากลที่เข้าถึงคนทุกเชื้อชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจดนตรีในไทยจะไปเจาะตลาดโลก แต่ ‘Gadhouse’ แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับดนตรีและเทคโนโลยีของ เพชร–วัชรพล เตียวสุวรรณ์ ก็สามารถเป็นที่ยอมรับในหมู่นักฟังชาวต่างชาติ จนสร้างยอดขายได้ถล่มทลาย ด้วยเสน่ห์ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงดีไซน์สวยในคอนเซปต์ retro modern ทำสินค้ายุคเก่ามาเติมเต็มด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน และยังใส่ใจโลกผ่านการ upcycle ขยะเหลือทิ้ง เช่น กล่องนม UHT, ฝาขวดน้ำพลาสติก และขยะทางการเกษตร มาแปลงร่างให้เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ทั้งรักษ์โลก ดีไซน์สวย และคุณภาพเสียงดีขึ้นด้วย ผ่านโปรเจกต์ REVERB by Gadhouse ที่จัดแสดงในงาน BKKDW2024 ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียง และผลักดันให้แบรนด์เกี่ยวกับดนตรีของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดโลก
WHAT’S NEXT :
ในอนาคตวงการแผ่นเสียงของไทยถือเป็นช่วงขาขึ้นเลยก็ว่าได้ จากผู้เล่นในตลาดเดิมที่คงอยู่อย่างเหนียวแน่น พร้อมด้วยผู้เล่นรุ่นใหม่ผู้โหยหาอะไรที่เก่าแต่ยังเก๋ามากยิ่งขึ้น Gadhouse เองก็จะมีการพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นเสียง ไปพร้อมๆ กับการเติมหมวดหมู่สินค้าใหม่ๆ เข้ามาทั้งเฟอร์นิเจอร์และแก็ดเจ็ต ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนดียิ่งขึ้น ไปจนถึงการเป็นคอมมิวนิตี้ขนาดย่อมๆ ของคนรักเสียงเพลงและการฟังเพลงจากแผ่นเสียง ที่เพชรยังตั้งใจจัดอีเวนต์เพื่อรวมคอมมิวนิตี้นี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Creative Design หยิบดีไซน์เก่ามาเล่าให้ทันสมัย ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและแฟชั่นอย่างลงตัว
– Community Space การเป็นมากกว่าแบรนด์สินค้า แต่คือการสร้างคอมมิวนิตี้ให้คนที่ชอบดนตรีไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ไปจนถึงเป็นที่รู้จักในตลาดโลก
– Upcycle เป็นเสียงสะท้อนของโลก ผ่านการหยิบขยะเหลือทิ้งมาทำเป็นสินค้าที่จับต้องได้จริง