Your Sneaker for Your Suit

Broadways Exclusive ร้านตัดสูทที่รังสรรค์ชุดสูทสุดเท่จากคาแร็กเตอร์สนีกเกอร์คู่เด็ด

หรูหรา สะอาดตา และสีสันเรียบง่าย

เหล่านี้ คือภาพจำเดิมๆ ในสายตาของคนไทยที่มีต่อ ‘ชุดสูท’ เสื้อผ้าซึ่งถูกกำหนดให้เหมาะสำหรับสวมใส่ยามออกงานเลี้ยง งานแต่ง หรืองานพิธีสำคัญ จุดประสงค์หลักก็เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่นั้นๆ ไปจนถึงญาติผู้ใหญ่และแขกเหรื่อผู้มีเกียรติ

ไม่แปลกใจนัก ที่หน้าตาชุดสูทส่วนใหญ่ในบ้านเราจะหน้าตาราวกับถูกตัดโดยช่างฝีมือคนเดียวกัน และน้อยครั้งที่จะมีใครกล้าหยิบสูทสีสันฉูดฉาดมาสวมใส่ ในเมื่อความเชื่อข้างต้นฝังรากลึกราวเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังกลายเป็นข้อจำกัดกีดขวางไอเดียบรรเจิดของดีไซเนอร์น้อยใหญ่เรื่อยมา

อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่าไม่สามารถใช้ได้กับ ดีเค–เจริญ ซิงห์ เมตตากุล ชายที่เรียกตัวเองว่าเป็น Street & Sartorial Designer ควบตำแหน่งผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง Broadways Exclusive ร้านตัดสูทเก่าแก่ ประจำซอยสุขุมวิท 11 ที่ฉุกคิดไอเดียบรรเจิดหยิบคาแร็กเตอร์สนีกเกอร์คู่เด็ดมาดีไซน์เป็นชุดสูทสุดเท่ หรือที่เจริญ ซิงห์เรียกว่าเทรนด์แฟชั่น Suits & Sneakers

จากไอเดียนึกสนุกนำมาสู่การปลุกกระแส Suits & Sneakers ที่กำลังแพร่หลายในหมู่อินฟลูเอนเซอร์และนักสะสมสนีกเกอร์ ดังปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ Broadways Exclusive จับมือกับร้าน sneaker streetwear WoooW BKK จัดอีเวนต์ที่มีชื่อว่า Street & Sartorial กับการหยิบสนีกเกอร์พื้นฐาน ไปจนถึงสนีกเกอร์ระดับลิมิเต็ดมาดีไซน์เป็นชุดสูท พลันทำให้กระแส Suits & Sneakers ขยายเป็นวงกว้าง และถูกยกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนรักแฟชั่นสายสตรีท 

เกริ่นนำกันพอหอมปากหอมคอ คอลัมน์ Micro Wave คราวนี้ ขอชวนผู้อ่านไขคำตอบจากปากของเจริญ ซิงห์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของไอเดีย Suits & Sneakers แนวคิดการออกแบบจากสนีกเกอร์คู่โปรดสู่สูทตัวเก่ง การเปลี่ยนภาพจำว่าร้านตัดสูทไม่ได้โบราณคร่ำครึอย่างที่คิด และไม่ว่าใครก็สนุกกับการใส่สูทได้

1.
จากทายาทร้านตัดสูท ที่ไม่เคยสนใจเรื่องสูทมาก่อนในชีวิต

“ร้าน Broadways Exclusive เปิดมาตั้งแต่ปี 2533 โดยคุณโทนี่ ซึ่งเป็นคุณลุงของผมเอง ก่อนที่พ่อของผม คุณจอนนี่จะเข้ามาช่วยกิจการ”

เจริญ ซิงห์เริ่มประวัติของร้านตัดสูทเก่าแก่นี้ให้เราฟังพอสังเขป โดยคุณลุงของเขา ที่ก่อนหน้านี้สั่งสมประสบการณ์ทั้งจากร้านขายผ้าที่ประเทศอินเดียและร้าน tailor-made แห่งหนึ่งในประเทศไทย ก่อนจะถือโอกาสชักชวนพ่อของเขามาช่วยดำเนินกิจการ จนเป็นที่รู้จักในวงการนักตัดสูทถึงปัจจุบัน

ในขณะที่นั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ ผู้เขียนพลางกวาดสายตาสำรวจภายในร้าน ผ้าหลากหลายชนิดวางทบเรียงรายตลอดแนวบนชั้น ทั้งผ้าประเภท Linen, Wool, Cotton, Tweeds ฯลฯ เรียกว่าผ้าอย่างดีที่มีอยู่บนโลกใบนี้ล้วนถูกส่งมารวมอยู่ที่นี่ เพื่อรอบริการลูกค้าตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักการเมืองชื่อดังที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการตัดสูดตัวโปรด 

มองภายนอก Broadways Exclusive อาจเหมือนร้านตัดสูทเก่าแก่ที่พบเห็นจนชินตาตามย่านลิตเติ้ลอินเดียในไทย แต่ที่ต่างออกไปคือไอเดีย Suits &Sneakers ที่เจริญ ซิงห์ ได้เข้ามาเติมเต็มให้ Broadways Exclusive มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วเขาไม่เคยคิดอยากสานต่อกิจการของครอบครัวมาก่อนเลย

“แต่ก่อนผมไม่เคยคิดทำอาชีพดีไซเนอร์สูทเลยนะ ลุงผมเคยถามว่า สนใจอยากช่วยทำกิจการต่อไหม ผมตอบกลับทันทีว่า ยังไงก็ไม่ทำแน่นอนเพราะมันน่าเบื่อ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมก็เหมือนหลายคนที่คิดว่าร้านตัดสูทมันดูโบราณ” 

“กระทั่งปี 2561 ช่วงที่ผมได้ไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ผมมีโอกาสคลุกคลีอยู่ในร้านขายสนีกเกอร์ของคนรู้จักที่ชื่อว่าร้าน FCS Sneakers นั่นทำให้ผมกลายเป็นสนีกเกอร์เฮดแบบเต็มตัว เพราะก่อนหน้านั้นผมก็เริ่มสนใจวงการสนีกเกอร์บ้างจากตอนที่ได้สนีกเกอร์รุ่น Air Max 97 สี wolf grey ของยี่ห้อ Nike เป็นของขวัญ

“จนวันหนึ่งขณะที่เดินอยู่แถวไทม์สแควร์ ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวดีเลย ชุดที่เขาใส่เป็นสูทคู่กับสนีกเกอร์ แต่ที่ผมสังเกตเห็นคือสูทที่เขาใส่ไม่แมตช์กับสนีกเกอร์เลย นั่นทำให้ผมเกิดไอเดียว่า ถ้าเราดีไซน์ชุดสูทที่เข้ากับสนีกเกอร์คู่นั้นเพื่อตอบโจทย์ personality ของคนรักสนีกเกอร์ได้ก็คงจะดี” 

หลังกลับมาจากนิวยอร์ก เจริญ ซิงห์ได้นำไอเดียที่ว่ากลับมาคุยกับครอบครัว แต่คำตอบที่ได้จากลุงของเขาคือ 

“จะบ้าเหรอ! ใครมันจะไปใส่สูทลายเดียวกับรองเท้า อาจเพราะเขาอยู่ในวงการขายสูทนานถึง 34 ปี แล้วไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน มันเลยดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างผิดแปลกไปจากขนบเดิมๆ” 

อธิบายให้เห็นภาพ การตัดสูททั่วไป ลูกค้าเพียงเลือกว่าอยากได้ผ้าแบบไหน สีอะไร ทรงประมาณไหน จากนั้นช่างจะตัดตามออร์เดอร์ เรียกว่าตัดเย็บตามการใช้งาน ไม่ได้อิงจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ แต่กับ Suits & Sneakers เจริญ ซิงห์ต้องทำหน้าที่ดีไซเนอร์ให้ลูกค้ารายนั้นก่อน 

“สมมติลูกค้าให้โจทย์มาว่า เขามีสนีกเกอร์คู่นี้ไว้สำหรับใส่ไปงานอีเวนต์ เมื่อประเมินแล้วว่าสูทที่ไว้ใส่คู่กันน่าจะเป็นแนว quiet luxury หรือ street look ผมก็จะสเกตช์ให้เขาดูว่าหน้าตาชุดจะออกมาเป็นประมาณไหน” เจริญ ซิงห์อธิบายไอเดียของเขาด้วยแววตาเป็นประกาย

2.
ลองผิดลองถูกเพื่อ ‘สนีกเกอร์เฮด’
ที่อยากมีชุดสูทไว้ใส่กับสนีกเกอร์คู่โปรด

ถึงไอเดียบรรเจิดจะบังเกิดในเวลาที่ใช่ แต่ข้อจำกัดที่เจริญ ซิงห์ต้องเจอคือเขาไม่เคยศึกษาเรื่องแฟชั่นมาก่อนเลยในชีวิต ขณะที่ต้นทุนในมือมีเพียงวัตถุดิบในร้านและความเป็น ‘สนีกเกอร์เฮด’ ติดตัวเท่านั้น ทำให้ช่วงแรกทายาทแห่ง Broadways Exclusive ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกกับไอเดีย Suits & Sneakers พอสมควร

“ในตอนนั้นผมไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นเลย มีแค่แพสชั่นเรื่องสนีกเกอร์เหมือนคนทั่วไป ความรู้เรื่องการดีไซน์สูทก็อยู่ในขั้นพื้นฐาน เป็นวิธีการดีไซน์สูทแบบเรียบๆ ตามที่คนนิยมใส่ทำงาน ไม่ใช่สูทที่มีลูกเล่นเว่อร์วัง ช่วงแรกเลยต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองว่า เรามีความสามารถมากพอที่จะดีไซน์สูทให้คนอื่นใส่” 

เขาเล่าว่าวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือวิธีง่ายๆ อย่างการลองผิดลองถูก ลงมือดีไซน์หลายแบบ ควบคู่กับศึกษาวิธีตัดเย็บของช่างในร้านเพื่อความเป็นไปได้ในการดีไซน์ออกมา ทั้งวิธีเดินด้าย การเย็บรังกระดุม การเลือกลายผ้าด้านใน แม้แต่การเลือกสีของกระดุมเองก็ตาม 

“ผมทำวนอยู่อย่างนั้นสองปีถึงกล้าโปรโมตไอเดีย Suits & Sneakers ลงในโซเชียลฯ ของร้าน”  

“โจทย์ Suits & Sneakers ที่ได้มาโจทย์แรกรายละเอียดเป็นยังไง คุณพอจะจำได้ไหม” ผมถามเจริญ ซิงห์ต่อด้วยความสงสัย

“จริงๆ โจทย์แรกผมเริ่มจากรองเท้าของตัวเองก่อนนี่แหละครับ” เขาตอบทันทีพร้อมรอยยิ้มก่อนจะเริ่มเท้าความถึงสูทฝึกหัดตัวแรกๆ ที่เกิดจากงานแต่งของญาติเมื่อปี 2562  

แม้เขาจะเกิดมาในครอบครัวที่มีธุรกิจร้านตัดสูท แต่ตัวเขาเองไม่เคยมีสูทตัวโปรดจริงๆ จังๆ เป็นของตัวเองมาก่อน ครั้งนั้น เจริญ ซิงห์ตัดสินใจเอาตัวเองเป็นหนูทดลอง เริ่มจากหยิบรองเท้า Adidas Ultra Tech Vegeta ซึ่งเป็นรองเท้าที่ Adidas คอลแล็บกับการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball มาออกแบบ สูทที่ได้เลยออกมาเป็นสีน้ำเงิน-เหลือง ตามสีหลักของรองเท้า

“พอโพสต์ลงโซเชียลฯ คนก็ให้ความสนใจพอสมควรแต่ถ้าถามต่อว่าโจทย์ไหนที่ชอบมากที่สุด นั่นคือโจทย์ที่ลูกค้าให้มาว่าอยากหยิบ Nike Air Force 1 Tiffany มาดีไซน์เป็นสูท แต่ขอให้ดีไซน์เรียบๆ เหมาะสำหรับใส่ไปงานแต่ง 

“ส่วนตัวผมชอบสีของรองเท้าที่เป็นสีดำล้วน ตัดด้วยสีของโลโก้ Tiffany ที่เป็นสีเงินตรงบริเวณลิ้นรองเท้า บวกกับสวูชด้านข้างของไนกี้ที่เป็นสีเทอร์คอยส์ พอมาเปลี่ยนเป็นสูทเลยมีความเรียบหรู มีกลิ่นอายความเป็น quiet luxury ขณะเดียวกันดีไซน์ยังมีความไทม์เลสสูง ฉะนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า สูทตัวนี้ก็ไม่มีทางตกยุค

“ต้องบอกว่าโจทย์ส่วนใหญ่ที่ผมได้รับจากลูกค้าจะไม่ค่อยมาจากสนีกเกอร์ธรรมดา ส่วนใหญ่จะเป็นแนวลิมิเต็ดไม่ก็คอลแล็บ ผมเลยหมั่นติดตามเทรนด์สนีกเกอร์และศึกษาสตอรีของสนีกเกอร์คู่นั้น เพื่อให้ถ่ายทอดผลงานออกมาได้สมบูรณ์ที่สุด” เจริญ ซิงห์อธิบายถึงช่วงตั้งไข่โปรเจกต์ Suits & Sneakers 

แน่นอนว่าขั้นตอนการรังสรรค์ Suits & Sneakers แต่ละชุดไม่ได้จบลงแค่นำเสนอร่างไอเดียแล้วจะส่งต่อให้ทีมช่างของร้านตัดเย็บได้ทันทีทันใด เพราะเมื่อได้แบบดีไซน์คร่าวๆ ที่ต้องการแล้ว ลูกค้าจะต้องเข้ามาวัดขนาดตัว เลือกชนิดและลายผ้าที่ชอบ จนถึงรับทราบดีเทลการปักแต่ละจุด โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดีไซน์และตัดชุดราว 1-2 อาทิตย์

 ดังเช่นสูทที่ได้ไอเดียมาจาก Nike Air Force 1 Tiffany ที่เจริญ ซิงห์ภูมิใจนำเสนอ หากมองเจาะลึกลงไปจะเห็นรายละเอียดพิถีพิถันที่เชื่อมโยงสูทและสนีกเกอร์ไว้ด้วยกัน เช่น รางกระดุมสีเทอร์คอยส์เหมือนตราสวูช, ด้ายสีเงินที่ไล่เรียงตั้งแต่ปกคอเสื้อจรดกระเป๋าตาม CI ของแบรนด์ Tiffany ปิดท้ายด้วยลายผ้าสามมิติด้านในที่พลิกด้านไว้สำหรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวในวันที่ไม่ต้องออกงานทางการ เรียกว่าการตัดสูทหนึ่งครั้งสามารถใช้งานได้หลากหลายตามแต่สถานการณ์

ที่สำคัญคือสูทแต่ละตัวถูกสั่งตัดแบบ ‘1 of 1’ หรือมีตัวเดียวบนโลกเท่านั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เจริญ ซิงห์เน้นย้ำว่า คนแต่ละคนมี personality ต่างกัน และถึงแม้จะได้โจทย์เป็นสนีกเกอร์รุ่นเดียวกัน แต่ผลลัพธ์จากการดีไซน์สูทตัวนั้นต้องออกมาไม่ซ้ำแบบเดิม

3.
ต่อยอดสู่เทรนด์ SneakVest
ที่ใส่ดี ใส่เท่ ในทุกสถานการณ์

แม้ Suits & Sneakers จะเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วเทรนด์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2483 โดยเริ่มจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งใน Ivy League ที่เบื่อหน่ายกับการใส่รองเท้าหนังคู่กับชุดสูท พวกเขาจึงหันมาใส่รองเท้าผ้าใบกีฬาสีขาวคู่กับชุดสูทแทนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน กระทั่งการแต่งกายดังกล่าวขยายเป็นวงกว้างจนกลายเป็นแมสแฟชั่นในสหรัฐฯ 

แต่ต่อให้แฟชั่น Suits & Sneakers จะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม ทว่าอากาศที่ร้อนอบอ้าวราวปรอทแตกตามสไตล์บ้านเรา ดูจะไม่อนุญาตให้เทรนด์ที่ว่านี้เฉิดฉายง่ายๆ จึงไม่แปลกใจหากคนจะเลือกสูทเป็นตัวเลือกแต่งกายลำดับท้ายๆ เช่นนั้นเอง เจริญ ซิงห์จึงต่อยอดไอเดียมาสู่ SneakVest ซึ่งเป็นแฟชั่นที่เหมาะสำหรับชีวิตประจำวัน  

“SneakVest เป็นคอนเซปต์ที่ผมคิดต่อยอดจาก core idea ของ Suits & Sneakers เพื่อฟังก์ชั่นเหมาะกับการใส่ในชีวิตประจำวันมากที่สุด พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ SneakVest เป็นเหมือนเสื้อกั๊กบวกกับกางเกงขาสั้นที่แมตช์กับสนีกเกอร์ของคุณ คอนเซปต์ไม่ต่างจาก Suits & Sneakers เลย แต่นี่มาในแบบชิลล์เข้ากับอากาศประเทศเราได้แน่นอน เพียงแค่เพิ่มเลเยอร์ทับไปอีกชั้น

“ความจริงไอเดียนี้เกิดจากความฝันที่อยากเห็นคนใส่ Suits & Sneakers เดินทั่วสยามเซ็นเตอร์ เป็นความฝันเหมือนกับดีไซเนอร์หลายคนที่อยากเห็นคนสวมใส่เสื้อผ้าจากฝีมือการออกแบบของตัวเอง แต่พอมาลงมือทำจริงๆ ผมถึงเข้าใจว่า อากาศประเทศไทยไม่เหมาะกับการใส่สูทเดินนอกบ้านแน่นอน ผมเลยแยกไปเลยว่า Suits & Sneakers ไว้สำหรับใส่ไปทำงาน ใส่ไปงานแต่ง ใส่ไปงานอีเวนต์ ส่วน SneakVest ไว้สำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน คุณจะใส่เดินเที่ยว ใส่ไปนั่งเล่นคาเฟ่ก็ได้” 

ในอนาคต เจริญ ซิงห์ยังมองไว้อีกว่า Broadways Exclusive ไม่จำเป็นต้องตัด SneakVest ในแบบ tailor-made หากเขาวางดีไซน์ไว้ 2 แบบที่เหมาะสำหรับสนีกเกอร์รุ่น Nike Dunk Panda ลูกค้าก็กดเลือกไซส์ S, M, L หรือ XL กดใส่ตะกร้า ได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้ามาตัดชุดที่ร้าน เพื่อให้แบรนด์และเทรนด์ SneakVest ที่ต้องการนำเสนอมีความแมสมากยิ่งขึ้นในราคาที่จับต้องได้ 

ฟังดูเหมือน SneakVest จะถูกสร้างขึ้นเพื่อก้าวให้ทันต่อกระแสฟาสต์แฟชั่นถึงกระนั้น เจริญ ซิงห์ยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า แฟชั่นใหม่ที่เขากำลังผลักดันไม่ได้ผูกโยงกับกระแสดังกล่าวเพื่อหวังกอบโกยกำไรเป็นหลัก ทั้งยังคงจุดประสงค์เดิมตั้งแต่วันแรก นั่นคือต้องการมอบทางเลือกแก่ผู้คนที่อยากใส่สูทตัวเก่งคู่กับสนีกเกอร์คู่โปรดได้ง่ายขึ้น 

 “ต้องอธิบายว่า ธรรมชาติของการซื้อสูทสักตัวคุณจำเป็นต้องมาลองใส่ ลองจับเนื้อผ้าที่ร้านก่อนตัดสินใจสั่งตัด แต่เสื้อผ้าทั่วไปคุณสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นกดสั่งชื้อตอนไหนก็ได้ สองถึงสามวันก็ส่งถึงบ้านให้คุณพร้อมใส่

“ผมเลยมองว่าร้านตัดสูทกับเรื่องของฟาสต์แฟชั่นเป็นอะไรที่ค่อนข้างสวนทางกัน และไม่จำเป็นต้องเร่งตามขนาดนั้น เหมือนกับสำนวนในวงการซื้อขายหุ้นที่ว่า Don’t try to catch a falling knife. คืออย่าฉวยโอกาสเทหมดหน้าตักเพื่อหวังเก็งกำไรที่ไม่รู้มูลค่าจะหมดลงตอนไหน”  

จริงอยู่ที่เขาเคยโยนหินถามทางกระแสฟาสต์แฟชั่นด้วยการตัดเสื้อเชิ้ตที่มีลวดลายอิงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งผลตอบรับนั้นใช้ได้หากมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขายชัดเจน แต่เขาเองมองว่า SneakVest เป็นการช่วยให้ผู้คนมีทางเลือกในการแต่งตัวคู่กับสนีกเกอร์ ในลุคที่ดูคลาสสิกไปพร้อมๆ กัน และลดขั้นตอนยุ่งยากในการตัดเย็บออกไป ไม่ใช่มีไว้เพื่อส่งเสริมฟาสต์แฟชั่นแน่นอน 

“Suits & Sneakers และ SneakVest ยังตอบโจทย์ในแง่ของ sustainability คือการตัดสูทหนึ่งครั้งคุณสามารถใช้ได้ยาวๆ หลายสิบปี ผมยกตัวอย่างมีลูกค้ารายหนึ่งที่เคยตัดสูทกับลุงของผมเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้สูทของเขาก็ยังเนียนกริบสวมใส่ได้อยู่ 

“เพราะเราใช้เนื้อผ้าและวิธีการตัดเย็บอย่างดี นั่นหมายความว่า Suits & Sneakers และ SneakVest สามารถตอบโจทย์เทรนด์แฟชั่นและสวมใส่ได้ยาวๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ให้สิ้นเปลืองเงินและทรัพยากร”

4.
สูทไม่ใช่แฟชั่นโบราณ

และร้านตัดสูทโดยคนอินเดียก็ไม่ได้โบราณเช่นกัน

หนึ่งในคำถามที่หลายคนตะขิดตะขวงใจรวมไปถึงตัวผู้เขียนเอง นั่นคือภาพจำเดิมๆ ที่มองว่า ร้านตัดสูทของคนอินเดียมักโบราณคร่ำครึ ดีไซน์เป็นแบบเดิมซ้ำไปมา แม้กระทั่งการขนส่งผ้าก็ยังใช้มอเตอร์ไซค์เวสป้าคันเก่าขี่ซิ่งไปมา แน่นอนว่าภาพจำดังกล่าวติดอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาช้านาน และ pain point นี้เองคือสิ่งที่เจริญ ซิงห์พยายามทำลายกำแพงมาโดยตลอด

“นี่เป็นปัญหาที่โดนมาโดยตรงเลยแหละ (หัวเราะ) คือคนมักจะมองว่าร้านเสื้อสูทของคนอินเดียหรือแขกดูโบราณ ไม่ได้มีความทันสมัยใดๆ และไม่ใช่แค่ร้านตัดสูทของคนแขกเท่านั้น ร้านตัดสูทของคนไทยหรือของคนจีนก็โดนตัดสินจากภาพลักษณ์แบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เข้าใจได้เพราะในอดีตผมก็เคยคิดแบบนี้” 

หน้าที่ของเจริญ ซิงห์จึงมากกว่าแค่การขายของ แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติและสร้างภาพจำใหม่ว่าร้านตัดสูทปัจจุบันหน้าตาเป็นยังไง ทั้งจากการโปรโมตและการทำคอนเทนต์ เขาเองยังมองว่าความท้าทายนี้ไม่ต่างจากการเปลี่ยนมายด์เซตคนว่าสูทไม่จำเป็นต้องโบราณและสนีกเกอร์ไม่จำกัดอยู่ที่การแต่งกายแบบสตรีทแฟชั่น แต่แต่งกับ sartorial fashion หรือเสื้อผ้าที่ตัดเย็บมาอย่างดีก็ได้

“อย่างตอนอยู่นิวยอร์กการแต่งกายของคนที่นั่นค่อนข้างจะสื่อถึง personality ชัดเจน เขากล้าที่จะแต่งตัว ชอบแบบไหนก็แต่งแบบนั้น ผมเลยอยากให้คนไทยเป็นแบบนั้นบ้างนะ อยากให้สนุกไปกับการแต่งตัวโดยที่ไม่ต้องกลัวเป็นแกะดำในสายตาใคร คุณอยากใส่อะไรก็ใส่ เพราะนั่นคือตัวของคุณ 

“อีกข้อที่อยากจะฝากบอก คือการตัดสูทเป็นเหมือนการ DIY แฟชั่นของเราขึ้นมาใหม่ เราสามารถสนุกไปกับการครีเอทีฟหน้าตามันได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณชื่นชอบการใส่สูทมากแค่ไหน และสูทไม่ได้จำกัดว่าเหมาะกับแค่เพศใดเพศหนึ่ง ผู้หญิงเองก็สามารถใส่สูทเพื่อความเท่ได้ อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีคู่รักคู่หนึ่งจูงมือกันมาตัดสูทเป็นชุดคู่กันสำหรับใส่ออกงาน”   

“แล้วคนที่จะเข้าวงการ Suits & Sneakers ต้องเข้าใจพื้นฐานอะไรบ้าง” ผมถามเจริญ ซิงห์ทิ้งท้ายสั้นๆ 

“อย่างแรก คุณต้องตอบตัวเองก่อนว่า สนีกเกอร์คู่ไหนที่คุณอยากใส่เข้ากับสูท สอง–คุณต้องรู้ว่าคุณมีบัดเจ็ตในมือเท่าไหร่ เพราะนี่จะขึ้นอยู่กับเกรดผ้าที่คุณจะได้ สาม–คุณอยากใส่สูทตัวนี้ในโอกาสไหน ถ้าคุณอยากใส่ทำงานก็จะมีดีไซน์ให้เลือกแบบหนึ่ง ถ้าคุณอยากใส่ออกงานก็จะมีดีไซน์ให้เลือกอีกแบบหนึ่ง โดยรวมแล้วคือการเลือกตามที่คุณชอบ และเลือกลงทุนเพื่อสร้างบุคลิกที่ดีแก่ตัวเอง

“ผมในฐานะที่เป็น Street & Sartorial Designer และคนนำเสนอเทรนด์ Suits & Sneakers มองว่า โอกาสที่เทรนด์แฟชั่นนี้จะโตมากขึ้นกว่าเดิมมีอยู่ไม่น้อย เพราะมีคนที่หยิบสนีกเกอร์มาใส่คู่กับสูทอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่คนที่ตัดสูทเข้ากับสนีกเกอร์โดยเฉพาะอาจจะยังมีไม่มาก นี่เป็นความตื่นเต้นไม่น้อยที่จะทำให้คนเข้าใจและหันมานิยมเทรนด์ Suits & Sneakers มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต

“อย่างเวลาได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าที่ผ่านๆ มา เขามักจะบอกว่าฝีมือการตัดเย็บร้านคุณโหดมากนะ ดีกว่าแบรนด์ดังบนห้างเสียอีก ผมได้ยินแล้วดีใจนะ เพราะตรงนี้เป็นสิ่งที่ Broadways Exclusive พยายามคงคุณภาพมาตลอดหลายสิบปี” 

สิ้นบทสนทนา ฟังก์ชั่นของชุดสูทในมุมมองของผู้เขียนเริ่มเปลี่ยนไป สองเท้าอาจมีสนีกเกอร์คู่เด็ดแล้ว ขาดแค่ชุดสูทดูดีไว้ใส่อวดเท่ ครั้นคงต้องหาเวลากลับมาที่ Broadways Exclusive อีกครั้งหนึ่ง ทว่าไม่ใช่ในฐานะผู้สัมภาษณ์ แต่เป็นลูกค้าหน้าใหม่รายหนึ่งเสียมากกว่า

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like