Adobe Figma

ทำไม Adobe อยากได้ Figma แต่นักลงทุนและผู้ใช้งานกลับรู้สึกหวั่นใจจนหุ้นบริษัทร่วงเกือบ 20%

Adobe เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่อยู่คู่กับเรามานานหลายสิบปี ถ้าเอ่ยแค่ชื่อบริษัทหลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่ารู้จักไหม แต่ถ้าพูดว่านี่คือเจ้าของ Photoshop, Lightroom หรือ Illustrator ทุกคนน่าจะร้องอ๋อกันแน่นอน โดยเฉพาะกับคนที่ทำงานอยู่ในสายคอนเทนต์ ออกแบบ ตกแต่งภาพ และสร้างสรรค์ผลงานด้วยเครื่องมือดิจิทัล

จากเมื่อก่อนที่ขายเป็นแผ่นดิสก์ (ยังมีคนรู้จักไหมนะ) ตอนนี้เปลี่ยนเป็นระบบรายเดือน (มีทั้งคนรักคนเกลียด) ที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมหาศาล เติบโตจนบริษัทมีมูลค่ากว่า 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10 เท่าในช่วงที่ผ่านมา

จนเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาก็มีข่าวฮือฮาว่า Adobe ประกาศเข้าซื้อบริษัทสตาร์ทอัพซอฟต์แวร์เล็กๆ ชื่อ Figma ด้วยเงินจำนวนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Figma คือเครื่องมือออนไลน์สำหรับใช้ในการออกแบบหน้าตาและตัวต้นแบบของเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นมือถือ และอีกมากมาย ฟีเจอร์ที่โดดเด่นคือการที่ผู้ใช้งานหลายคนสามารถเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลร่วมกันได้ 

โดยหลังจากที่ประกาศปุ๊บหุ้นบริษัทร่วงไปเลยเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ 

เรื่องที่น่าสนใจก็คือว่าทำไม​ Adobe ถึงได้ทุ่มเงินมากขนาดนั้นและทำไมนักลงทุนรวมถึงผู้ใช้งานเริ่มกังวลถึงอนาคตที่จะมาถึง

ทำไม Adobe ถึงกล้าทุ่ม?

ช่วงที่ผ่านมาระหว่างที่โควิดระบาดหนักจนคนไม่สามารถออกไปเจอหน้ากันได้ตามปกติ เราเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของแอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้คนทำงานร่วมกันอย่างเช่น Zoom ที่ถือว่ากลายเป็นสแตนดาร์ดของประชุมออนไลน์ไปเรียบร้อย Figma เองก็ไม่ต่างกัน เพราะช่วงที่นักออกแบบไม่สามารถเจอกันได้ สิ่งที่จำเป็นคือเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขาทำงานออนไลน์ด้วยกันอย่างไม่ติดขัด (collaborative tool) 

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมแอพพลิเคชั่นอย่าง Figma หรือ Canva (เครื่องมือสร้างสรรค์มีเดียออนไลน์จากประเทศออสเตรเลียอีกเจ้า) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

Adobe เจ้าใหญ่แห่งวงการซอฟต์แวร์สำหรับตลาดนักออกแบบและครีเอทีฟ ที่ผ่านมาพยายามเข้าไปแย่งตลาดซอฟต์แวร์ที่ให้คนทำงานด้วยกันได้อยู่ตลอด แต่กลับทำได้ไม่สำเร็จและตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลกระทบของตลาดที่กำลังเติบโตนี้เข้ามาแย่งลูกค้าเก่าๆ ของพวกเขาไปบ้างแล้ว

ล่าสุด Adobe ได้ประกาศผลการดำเนินการรายไตรมาสแสดงให้เห็นถึงรายได้ที่เติบโตลดลงต่ำกว่าความคาดหวังของนักลงทุน ยอดขายของระบบสมาชิก Creative Cloud ก็ไม่ได้สูงอย่างที่คาดหวังเอาไว้

แม้ว่าจะยังมีผู้ใช้งาน Photoshop และ Illustrator เป็นจำนวนมาก แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง คนที่ไม่เคยใช้หรือไม่มีประสบการณ์มาก่อนเรียกว่าหลงทางทันทีเมื่อเปิดขึ้นมา นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ใช้งานหน้าใหม่ๆ หลีกเลี่ยงที่ใช้แอพฯ ของ Adobe และหันไปหาคู่แข่งอย่าง Figma เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเรียบง่าย แถมใน Figma คนในทีมยังสามารถทำงานร่วมกันได้เลยแบบเรียลไทม์ ฟีดแบ็กคอมเมนต์กันระหว่างประชุมออนไลน์และแก้ไขกันตอนนั้นได้เลย

แดเนียล วินซี (Daniel Vinci) หนึ่งในผู้ใช้งาน Figma ที่เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบเว็บไซต์ของตัวเองบอกกับเว็บไซต์ The Wall Street Journal บอกว่า

“Figma เล็ก เร็ว และไม่เทอะทะ ใครก็สามารถเข้ามาแล้วก็เริ่มใช้งานได้เลย ไม่มีผลิตภัณฑ์ของ Adobe สักอันเลยที่เป็นแบบนั้น” 

แม้ Adobe จะคอยบอกเสมอว่าพวกเขาอัพเดตผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอย่าง Photoshop หรือ Illustrator นั้นมีฟังก์ชั่นเยอะมาก ทำได้ทุกอย่างก็จริง แต่มันทั้งใหญ่ เทอะทะและค่อนข้างซับซ้อน สำหรับวินซีและผู้ใช้งานรุ่นใหม่ๆ บอกว่า Figma ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Adobe จึงยอมจ่ายถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อบริษัทเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดหลังจากระดมทุนปีที่แล้วถึงสองเท่า

ถ้าเป็นบริษัทที่ดีทำไมหุ้นถึงร่วง?

ไบรอัน ชวาร์ตซ์ (Brian Schwartz) นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทการลงทุน Oppenheimer & Co. กล่าวว่า “การซื้อครั้งนี้อยู่ในระดับที่ทำให้เลือดกำเดาไหลได้เลย ทำให้เกิดความกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจหลักกันแน่”

หลังจากประกาศไปวันแรกหุ้นร่วง 17% วันต่อมาร่วงไปอีก 3% นับรวมแล้วทั้งปีนี้หุ้นของ Adobe ร่วงไปแล้วกว่า 47% ถือว่าเป็นหุ้นที่ทำผลงานได้ย่ำแย่กว่าตลาดโดยรวมเยอะมาก

ชานทานู่ นาราเยน (Shantanu Narayen) ซีอีโอของ Adobe ออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าการเข้าซื้อจะสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในยุคต่อไปของบริษัท ตัวเลขที่สูงแบบนี้มักสร้างความหวั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดเสมอจึงไม่ได้คิดว่าการร่วงลงของหุ้นบ่งบอกถึงอะไรมากนัก แถมตลาดที่กำลังซบเซาแบบนี้ก็เหมาะแล้วที่บริษัทจะลงมือทำอะไรที่แตกต่างด้วย

“บริษัทที่เข้มแข็งกว่าคือบริษัทที่ควรจะเคลื่อนไหวเพื่อวางตำแหน่งตัวเองให้บริการลูกค้าต่อไปอีกหลายทศวรรษ เราเชื่อจริงๆ ว่าโอกาสสำหรับเราคือการเข้าสู่โลกใหม่ของความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกัน”

ความสำเร็จของ Adobe ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต้องยกความดีความชอบให้กับนาราเยนเป็นหลัก หลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอในปี 2007 โมเดลธุรกิจตอนนั้นยังขายโปรแกรมเป็นแผ่นซีดีอยู่เลย (ซึ่งก็มีของปลอมเยอะมากๆ) ก่อนจะนำบริษัทเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในปี 2011 ไปเป็นระบบสมาชิกแบบจ่ายรายเดือนพร้อมทั้งให้บริการคลาวด์กับลูกค้าด้วย

ในตอนแรกนักวิเคราะห์ก็บอกว่ามันเป็นโมเดลที่ไม่น่ารอด แต่กลับกลายเป็นว่าจากรายได้ต่อปี 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้พวกเขาทำได้มากกว่านั้นภายในเวลาแค่ไตรมาสเดียว มูลค่าของบริษัทก็พุ่งไปแตะจุดสูงสุดที่ 320,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้วด้วย (การเปลี่ยนแปลงไปให้บริการคลาวด์และระบบสมาชิกในตอนนี้ดูเป็นเรื่องปกติแต่ในตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แบบนี้) 

ผู้บริหารของ Adobe ต่างก็เห็นตรงกันว่าการเข้าซื้อ Figma จะเป็นเหมือนหมุดหมายการเติบโตยุคใหม่ สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทของตัวเองที่จะดันยอดขายให้เติบโตในช่วงหลายปีต่อจากนี้ นอกจากนั้นแล้วอย่าลืมว่ากลุ่มผู้ใช้งานของ Figma ไม่ใช่แค่กลุ่มครีเอทีฟเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มที่ทำงานในอุตสาหกรรมอื่น (เช่นโปรแกรมเมอร์) แต่ต้องการใช้เครื่องมือเพื่อออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ไม่ซับซ้อนด้วย

แน่นอนว่าหลังจากนี้สิ่งที่นาราเยนต้องพิสูจน์คือ Figma จะสร้างผลกระทบทางบวกต่อบริษัทได้มากแค่ไหน เราอาจจะได้เห็นเครื่องมือของ Photoshop ไปอยู่ใน Figma แต่งรูปในนั้นเลยก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการนำเอาเครื่องมือที่ไม่จำเป็นและเทอะทะไปใส่ใน Figma แทนที่จะสร้างความสะดวกสบายจะกลายเป็นสร้างความรำคาญให้กับลูกค้าซะมากกว่า

อย่างวินซีเองก็บอกว่าตอนนี้เขาเริ่มมองหาทางเลือกใหม่นอกจาก Figma แล้ว เพราะไม่คิดว่า Adobe จะทำให้ประสบการณ์การใช้งานดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แค่ดูตัวอย่างอินสตาแกรม ที่สูญเสียตัวตนของตัวเองไปหมดเมื่อเฟซบุ๊กซื้อไปก็น่าจะชัดเจนพอแล้ว

อ้างอิง

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like