ปรับใช้ AI ในองค์กรยังไงให้เวิร์ก? เคล็ดลับจาก ‘กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล’ ในงาน CTC 2024
AI เข้ามาแล้วจะตกงานหรือเปล่า? คนทำงานใช้ AI ช่วยทำงานได้มากแค่ไหน? ถ้าบอสรู้ว่างานนี้ให้ AI ช่วย เขาจะไล่เราออกมั้ยเนี่ย!?
สารพัดคำถามเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังประสบ เมื่อ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเป็นเทรนด์หลักนั้นดูฉลาดเทียบเท่าและมากกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ มองจากภายนอก ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่กังวลกับการมาของ AI เป็นกลุ่มพนักงานมากกว่า แต่รู้ไหมว่า ยิ่งเราสามารถใช้ AI ช่วยทำงานได้มากเท่าไหร่ คนที่ได้ผลประโยชน์กลับไม่ใช่คนระดับบนแต่คือคนระดับล่าง เพราะ AI จะช่วยลดช่องว่างความสามารถของคนแต่ละกลุ่มได้
มากไปกว่านั้น สิ่งที่ ‘กระทิง–เรืองโรจน์ พูนผล’ ประธานกลุ่ม Kasikorn Business Technology-Group (KBTG) ธนาคารกสิกรไทย ชวนให้ขบคิดในเซสชั่น AI x Human for Future Business ไม่ใช่ว่า AI จะมาแทนมนุษย์หรือเปล่า แต่คือเมื่อ AI มาแล้ว มาจริง และมาแน่ องค์กรจะปรับใช้ AI ยังไงให้เวิร์ก และส่งผลดีต่อทั้งพนักงาน องค์กร และสุดท้ายคือผู้นำเอง Keynote ตอนนี้จะสรุปให้ฟัง
เทรนด์ AI กับองค์กร
9% ของ Business Director กล่าวว่าต้องใช้ AI เปลี่ยนแปลงปรับปรุงโมเดลธุรกิจ, 45% ของผู้นำตลาดจะลงทุนใน GenAI ภายใน 12-24 เดือน, 60% ของผู้นำตลาดกล่าวว่า GenAI ช่วยด้านกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างมาก, 89% ของผู้บริหารระดับสูงบอกว่า GenAI คือหนึ่งในสามการลงทุน และ 21% ของผู้บริหารกล่าวว่าเริ่มใช้ GenAI ในการทำงานแล้ว
โลกปัจจุบันที่ทุกคนใช้ AI กันมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่ใช้ AI ย่อมมีน้อยลง ดังนั้น AI ไม่ได้มาแทนที่คน แต่คนที่พัฒนาผลงานและศักยภาพโดยใช้ AI ช่วยจะมาแทนที่คนที่แค่ใช้ AI เฉยๆ ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัด คือคนที่ใช้ AI เป็นเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมือนเป็นไซบอร์กนั้นจะก้าวกระโดดได้เร็วกว่าคนที่เป็นเซนทอร์ หรือครึ่งคนครึ่งม้าที่แค่ใช้ AI ทำงานแต่อาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกตัวเลขที่น่าสนใจจากงานวิจัยกล่าวว่าองค์กรหนึ่งๆ จะใช้เวลามากถึง 6-10 ปีในการดึง AI เข้ามาทำงานในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ แต่ด้วยระยะเวลาที่นานเกินรอนั้นเอง ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 78% ที่ใช้ AI ช่วยทำงานก่อนที่บริษัทจะมีเสียอีก แต่ไม่กล้าบอกใครว่าตนใช้ AI ส่วนผู้นำในองค์กรกลับไม่มีแพลนในการใช้ AI และ 41% ของผู้นำแจ้งว่าต้อง redesign ธุรกิจใหม่จากศูนย์
ใช้ AI ไม่ยาก แต่ใช้ให้ตรงจุดไม่ง่าย
– ผู้นำอาจคิดเพียงว่าการใช้ AI นั้นไม่ยาก เพียงซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วโยนให้ทีมไปงมเข็มในมหาสมุทรว่าจะปรับใช้ยังไงให้เข้ากับองค์กร แต่ต้องขอบอกว่าการใช้ AI ให้ถูกจุดและตรงเป้านั้นไม่ง่าย กระทิงยังเผยปัญหาที่การใช้ AI ในองค์กรไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่
ดาต้าน้อยเกินไปที่จะนำ AI มาใช้, ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและข้อมูล ทำให้ไม่เกิดความหลากหลายในระบบนิเวศการทำงานของบริษัท, ใช้ AI ผิดตัวเนื่องจาก AI นั้นมีหลากหลาย ทั้ง GenAI, Automation AI, Predictive AI แต่ละตัวก็เชี่ยวชาญต่างๆ กัน, เลือก use case ผิด
คาดหวังว่า AI จะทำได้ทุกเรื่อง ทั้งที่บางเรื่อง AI ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ เช่น สำหรับ GenAI การตัดสินใจหรือการให้ความเห็นหรือมุมมองที่มีความเป็นมนุษย์สูงไม่ใช่เรื่องที่เชี่ยวชาญ แต่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ บริการลูกค้า และจัดการข้อมูลได้ดี ฯลฯ
กระทิงยังยกตัวอย่างการใช้ GenAI ที่เหมาะสม ทั้ง American First Finance ที่ใช้ GenAI ช่วยตอบลูกค้า ทำให้ลดเวลาพนักงานในการตอบลูกค้าได้ 23% ลดเวลาที่ลูกค้าต้องรอได้ 60% ด้าน Marks & Spencer ใช้ GenAI ในการสร้างคอนเทนต์ส่งเสริมการขายและการตลาด ทั้งสร้างข้อมูลเชิงลึกจนทำให้แบรนด์เข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น ช่วยให้เกิดบทสนทนากับลูกค้าในทุกช่องทางเพิ่มขึ้น 20%
แล้วจะใช้ AI ช่วยองค์กรและพนักงานยังไงให้เวิร์ก
- ต้องทำให้ AI เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานคนนึง ไม่ว่าจะมีประชุมไหนๆ ควรต้องดึง AI มาใช้งานทุกครั้งเพื่อร่วมเบรนสตอร์ม
- ทุกๆ ครั้งในการใช้ AI จะต้องมีมนุษย์อยู่ในกระบวนการนั้นๆ เพื่อตัดสินใจและตรวจสอบความถูกต้อง เพราะมนุษย์สำคัญที่สุดในกระบวนการทำงาน
- ทรีต AI เหมือนเป็นคนที่ต้องการให้ร่วมงานด้วย
- แม้ AI ตัวที่ใช้อยู่จะดีมากๆ แล้ว แต่จงเชื่อว่าจะมีเครื่องมือใหม่ๆ AI ตัวเจ๋งๆ มาให้เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
- การจะใช้ AI ในองค์กรให้เวิร์กไม่ใช่สักแต่จะใช้ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรทั้งหมด และสร้างโมเดลธุรกิจยกแผง
- การเซตเป้าหมายที่ตรงกัน การเชื่อใจกันและกัน และการ empower พนักงาน
กระทิงยังทิ้งท้ายเซสชั่นนี้ด้วยประโยคที่ว่า AI นั้นเป็นเพียงฟันเฟืองนึงในการสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น หาใช่ไม้เท้าวิเศษที่แก้ไขได้ทุกสิ่ง มากกว่าใช้ AI ยังไง คือองค์กรต้องแคร์บุคลากร ‘มนุษย์’ ซึ่งกระทิงเรียกว่า people-first เนื่องจากสุดท้ายแล้วคนที่ต้องเข้ามาใช้ AI รันองค์กรคือพนักงานมากกว่าเจ้านาย หากใช้ AI จนไม่แคร์ใจพนักงานก็อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการทำงานได้