อะไรคือสิ่งที่ AI สู้มนุษย์ไม่ได้? มุมมองโลกยุค deep tech ของผู้บริหาร จากงาน SEA.T 2023
ประเด็นที่น่าสนใจในงาน SEA.T หรือ Sounteast Asia Conference 2023 ซึ่งจัดโดยบริษัทที่ปรึกษากลยุทธ์และสื่อดิจิทัล MCFIVA คือการพูดถึง deep tech หรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคตและวิสัยทัศน์ในการมองเห็นจุดแข็งของมนุษย์ที่เทคโนโลยีซับซ้อนแค่ไหนก็ยังทำไม่ได้อย่างความคิดสร้างสรรค์
Nathan Paterson, Director of Learning, IDEO Tokyo กล่าวในเซสชั่น Future of Design and Creativity with The Rise of AI ว่า ทุกวันนี้ AI อยู่ในแทบทุกอุตสาหกรรม ในวงการศิลปะมี AI อย่าง Dalle ที่เปลี่ยนประโยคให้กลายเป็นภาพวาดโดยไม่ต้องใช้มือวาดอีกต่อไป, แวดวงสถาปัตยกรรมมีโปรแกรม OMA, วงการออกแบบสินค้ามีโปรแกรมอย่าง Airbus และ Autodesk ที่ช่วยทุ่นแรงในการออกแบบ, Microsoft ยังวางแผนที่จะลงทุน 10 ล้านใน OpenAI สตาร์ทอัพที่สร้าง ChatGPT รวมถึงเพิ่มฟีเจอร์ AI ชื่อ Microsoft Copilot เช่น chatbot สำหรับใช้กับโปรแกรมต่างๆ ของ Microsoft นอกจากนี้โปรแกรมล่าสุดที่ทำให้ผู้คนตื่นเต้นคือ Microsoft Designer ที่ช่วยให้งานออกแบบกราฟิกเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น
สิ่งที่หลายคนหวาดหวั่นคือ ถ้า AI อยู่ในทุกวงการขนาดนี้แล้ว ในอนาคตมันจะมาแย่งงานของมนุษย์หรือไม่
เซสชั่น What’s Next For MarTech and Consumer Trend ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ บี๋–อริยะ พนมยงค์ CEO ของ Transformational Co. Ltd. มองว่า AI เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่ไม่ใช่ความท้าทายใหม่ ก่อนมีโลกโซเชียลมีเดียก็มีอาชีพคนทำคอนเทนต์อยู่แล้ว สายคอนเทนต์แค่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและเรียนทักษะใหม่เพื่อปรับตัวเข้ากับยุคสมัยเท่านั้น การมีเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI เข้ามาก็ไม่ต่างกัน
แชมป์–ปิยภูมิ สีชัง Marketing Director, B2B Thailand Michelin มองว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นมากกว่าน่ากลัวเพราะสามารถช่วยลดงานรูทีนที่ทำซ้ำและใช้แรงงานซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้มนุษย์ทำงานเร็วขึ้นแต่ไม่ได้มาแทนที่งานของมนุษย์ทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่ AI ทำไม่ได้คือความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ตัวอย่างเช่น การคิดสโลแกนที่มีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารและขายสินค้ากับมนุษย์ ดังนั้นคนที่ออกแบบการสื่อสารเพื่อมนุษย์ได้ดีจึงยังคงเป็นมนุษย์ แม้ ChatGPT สามารถคิดสโลแกนได้ภายในไม่กี่นาทีในขณะที่ครีเอทีฟต้องใช้ระยะเวลาคิดเป็นวัน แต่ AI ก็ยังคงไม่สามารถนำเสนองานครีเอทีฟได้ดีเท่ามนุษย์
นาธานยกตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ AI ไม่สามารถทำแทนได้ว่า ในภาพยนตร์เรื่อง Toy Story 3 มีการสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่อย่าง bear toys ที่ทำให้หลายคนนึกถึงตุ๊กตาหมีตอนเด็ก เขาบอกว่านี่คือตัวอย่างของการใช้วิธีนึกถึงความทรงจำในอดีต (feeling of nostalgia) ในการเล่าเรื่องซึ่ง AI จะไม่สามารถคิดสิ่งที่เชื่อมโยงกับอารมณ์มนุษย์แบบนี้ได้เพราะไม่มีความทรงจำหรือประสบการณ์เหล่านี้
สำหรับนาธานที่เคยทำงานในบริษัทที่เป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ทั้ง IDEO และ Pixar เขาให้คำแนะนำสำหรับบริษัทที่อยากสร้างวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์เพื่อปรับตัวให้ทันกับโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคตว่าสามารถนำ The ABCs for Creative Culture 6 อย่างของ IDEO ไปปรับใช้ได้ การใช้วิธีคิดเหล่านี้จะทำให้มนุษย์สามารถระดมไอเดียใหม่ๆ ได้ไม่แพ้เทคโนโลยี
Ab คือ align beginnings การสร้างประสบการณ์ครั้งแรกให้น่าจดจำเพราะผู้คนมักไม่ลืมความทรงจำครั้งแรกของตัวเอง เช่น ที่ IDEO มีโครงการ IDEO first 30 สำหรับพนักงานใหม่ โดยแต่ละวันในเดือนแรก เมื่อพนักงานเปิดลิ้นชักออกมาจะพบกับโจทย์ง่ายๆ ที่ให้ลองทำสิ่งใหม่เป็นครั้งแรก เช่น ให้แนะนำตัวกับทุกคนในบริษัททางอีเมลด้วยวิธีสร้างสรรค์
Bc คือ build camaraderies การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ที่ IDEO ทุกวันอังคารจะมี lunch meeting ที่พนักงานทุกคนได้มีช่วงเวลาพูดคุยกันแบบผ่อนคลายหรือมีกิจกรรมอย่างไปเที่ยวสำรวจวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยกัน
Cd คือ celebrate diversity สนับสนุนการออกไอเดียร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่อยู่คนละแผนก คนที่มีความรู้ในคนละศาสตร์ โดยสนับสนุนให้ทุกคนเปิดกว้างกับมุมมองที่แตกต่างจากตัวเอง
De คือ design experiment วัฒนธรรมของ IDEO จะมีกิจกรรมอย่างการทำโปรโตไทป์ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมโดยสนับสนุนให้ทุกคนคุ้นชินกับการทดลองและไม่กลัวล้มเหลว
Ef คือ explore fringes การตั้งคำถามว่าเราจะสร้างวัฒนธรรมที่ผู้คนมีความหวังและอยากสร้างอนาคตที่ดีขึ้นอยู่เสมอได้ยังไง
Fg คือ foster gratitude การทำให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกเป็นทีมเดียวกันและสนับสนุนการสร้างความรู้สึกขอบคุณในการร่วมงานกัน
วัฒนธรรมเหล่านี้ช่วยให้มนุษย์สามารถคิดไอเดียสดใหม่และทำให้บริษัทเป็นผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ได้
ในโลกที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเครื่องมือ AI หลากหลายแบบเข้ามามากมาย นาธานบอกว่า tool หรือเครื่องมือต่างๆ คือสิ่งที่ใช้สำรวจและทำความเข้าใจโลกใบนี้ หากดีไซเนอร์หรือนักนวัตกรรู้จักตั้งคำถามว่า ‘How things work with humans?’ หรือจะทำยังไงให้เทคโนโลยีเหล่านี้เวิร์กกับมนุษย์ ก็จะสามารถอยู่รอดในโลกยุคหน้าได้อย่างแน่นอน