Eco (-Friendly) Tourism

เดินเข้าป่าไปกับ ‘trekkingTHAI’ ทัวร์เล็กๆ ที่มีฝันอยากให้คนเข้าใจธรรมชาติกว่านี้อีกสิบเท่า

‘ถ้าเราเหนื่อยล้าจงเดินเข้าป่า’

ท่อนฮุกของเพลงดังในยุคหนึ่งทำให้เราคิดถึงการเดินเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ ความรู้สึกของการเดินขึ้นเขาลงห้วย การนอนในเต็นท์ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกเมื่อสัมผัสแสงแรกของวันท่ามกลางทะเลหมอก 

เราต่างรู้ดีว่าการได้อยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติส่งผลทำให้จิตใจของเราเบิกบานมากขึ้น แง่หนึ่งการนำตัวเองออกจากสภาวะเดิมๆ ที่เร่ง สู่ที่ใหม่ๆ ย่อมทำให้เราตื่นตาตื่นใจอยู่แล้ว ยิ่งพาตัวเองกลับคืนสู่ต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่งแล้ว นอกเหนือจากความตื่นตาตื่นใจในความสวยงาม ยังนำพาความสงบมาสู่จิตใจ ได้รับพลังจากมารดาผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง และอาจ ‘กระตุ้นเตือน’ ถึงความยิ่งใหญ่ของพลังนี้ เพื่อให้เรารักษามันเอาไว้

เช่นเดียวกับที่ ต้า–นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ก่อตั้ง trekkingTHAI บริษัททัวร์เดินป่าที่เขาออกตัวว่าเป็นบริษัททัวร์ ‘เล็กๆ’ แต่ทุกทัวร์มีความละเอียดลออ และเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมอย่างมาก บนความเชื่อที่ว่า การได้สัมผัสธรรมชาติทำให้เราเชื่อมต่อและเป็น ‘เพื่อน’ กับธรรมชาติได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งส่งต่อความเชื่อนี้กับลูกทัวร์ที่มาใช้บริการปีแล้วปีเล่า ทริปแล้วทริปเล่า

หัวใจของการทำทัวร์เล็กๆ ที่มีฝันใหญ่ให้ยืนระยะมาถึง 23 ปีคืออะไร นิพัทธ์พงษ์จะพาเราเดินทางไปกับเรื่องราวของ trekkingTHAI ไปด้วยกัน

BEGINNING
ต้นกำเนิด

2542 คือปีที่ trekkingTHAI ถือกำเนิดขึ้น 

ในวันนั้นการเดินป่ายังเป็นการท่องเที่ยวเล็กๆ นิพัทธ์พงษ์เลือกที่จะเปิดบริษัททัวร์เดินป่าขึ้นจากความชอบของตัวเอง และความคิดว่า ไม่ใช่เขาคนเดียวที่ชอบเดินป่า ทั้งที่ในขณะนั้น การเดินป่ายังไม่ใช่ ‘เทรนด์’ ในการท่องเที่ยวของคนไทย

สองปีก่อนหน้า ทุกๆ วันหยุดเป็นช่วงเวลาที่อดีตวิศวกรโรงงานคนนี้ไปเดินป่า เขาเล่าว่า คงเป็นเพราะชอบมาก เขาจึงได้เข้าป่าแทบทุกเดือน 

ยุคนี้สมัยนี้ อินเทอร์เน็ตล่มหนึ่งครั้งก็สามารถทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักได้ แอพพลิเคชันโซเชียลมีเดียล่มกลายเป็นเรื่องใหญ่ ลองคิดดูว่า ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย การติดต่อสื่อสารยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราจะหาข้อมูลและท่องเที่ยวกันยังไง ยิ่งเป็นการเที่ยวป่าแล้ว ก็ดูจะยิ่งยากเข้าไปใหญ่

“ตอนนั้นเราเริ่มเห็นปัญหา คือยุคนั้น เมื่อ 23 ปีก่อน การจะจองเข้าอุทยานมันต้องโทรศัพท์ ซึ่งโทรศัพท์ก็ยังมีน้อย เราก็ต้องส่งจดหมายไปล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน แล้วก็รอจดหมายกลับ ก็คือเวลาจองจริงๆ คือเป็นเดือน เสร็จแล้วพอได้รับจดหมายตอบกลับ การเดินทางแบบที่รวมกันไป สมัยก่อนมันก็ไม่มี ก็ต้องหาคนไป เวลาหาคนไปก็จะต้องไปลงในนิตยสาร หรือลงประกาศ

“ทีนี้เราก็เลยตั้งเว็บไซต์ขึ้นมา ตอนทำเว็บไซต์นั้นขึ้นมาก็ถือว่าเป็นเว็บแรกๆ ที่ทำทางด้านการท่องเที่ยว ด้านการเดินป่า เราก็เปิดเว็บบอร์ดเล็กๆ ขึ้นมา แล้วก็ประกาศในนั้นครั้งแรกว่า ใครอยากไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแม่เงา ถ้าจะไปก็ติดต่อมาทางเว็บ แล้วก็เจอหน้ากันที่หมอชิตเลย…”

FIRST TRIP
ท่องไปตามใจฝัน

‘ท่องไปตามใจฝัน’ คือชื่อทริปเริ่มแรกของ trekkingTHAI 

เดาคอนเซปต์ได้ไม่ยากว่า ทริปนี้เป็นการท่องเที่ยวตาม ‘ความฝัน’ ของตัวเองจริงๆ นิพัทธ์พงษ์เล่าว่าหลังจากที่ประกาศหาเพื่อนเที่ยว ทริปแรกๆ ที่เกิดขึ้นมีลูกทัวร์ไม่ถึงสิบคน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหารเฉลี่ยรวมกันทั้งทริป โดยที่ต้นคิดอย่างเขาเองก็ร่วมหารค่าใช้จ่ายด้วย

จากทริปแรกที่แม่เงา สู่ทริปที่สองที่กุยบุรี ทั้งสองทริปมีจุดร่วมคือ การแสวงหาที่เที่ยวที่ยากลำบาก ทั้งสองทริปมีผู้นำทางคือเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่แนะนำได้ว่า มีที่ไหนที่พอจะเป็น ‘ที่เที่ยว’ ได้บ้าง หรืออย่างที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งดูช้างป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ การบุกป่าหาช้างก็เป็นเรื่องยากมากๆ หากย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน

ภาพจาก trekkingTHAI

“โอ๊ย ไม่เจอช้างสักตัว คือช้างมันก็คือช้างป่า ซึ่งยังไม่คุ้นคน ลองนึกถึงเมื่อสิบกว่าปีก่อน เราตามหายังไงก็ไม่เจอ จนสุดท้ายมันมีบึงน้ำ เราก็ไปซุ่มอยู่ใต้ลม ซึ่งช้างอยู่เหนือลม ช้างก็ออกมา ก็ชูงวง หาน้ำกิน เราก็แอบดูหน่อยเดียว ห่างๆ ลิบๆ เลย แต่ยุคนี้พอกลับไปช้างแทบจะเอางวงมาชนหน้าแล้ว เอาตูดหันมา ส่ายตูด น่ารัก มันก็พิสูจน์อย่างนึงว่า กลไกของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยหมายถึงว่าภาคประชาชน ภาคของอุทยาน (แห่งชาติ) ถ้ามันต่อเนื่อง มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรได้นะ”

ผลจากทริปเหล่านั้น คือภาพถ่ายที่เผยแพร่ผ่านเว็บบอร์ดเพื่อแบ่งปันความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ได้พบ หลังจากนั้น trekkingTHAI ก็เริ่มทำทัวร์เดินป่าสายลุย เหมาะสำหรับผู้มีใจรักการเดินป่าเลเวลสูงๆ บางครั้ง การเดินป่าของทริปท่องไปตามใจฝันคือการเดินป่าระยะสั้น สลับกับการกางเต็นท์ นอนฟังเสียงสรรพสัตว์ บางคราวทัวร์ของ trekkingTHAI ก็เป็นทัวร์เดียวที่อยู่บนพื้นที่นั้น

ภูสอยดาว ดอยลังกาหลวง ดอยหลวงเชียงดาว – นี่คือเส้นทางเด่นในยุคเริ่มแรกของเทรคกิ้งไทย ก่อนที่การเดินป่าจะเริ่มเป็นกระแส และมีทัวร์เดินป่าเกิดขึ้นมากมายในหลายปีให้หลัง ความต้องการท่องเที่ยวบนดอยและภูเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นจนเดี๋ยวนี้ เพียงเปิดระบบไม่นาน ดอยเหล่านี้ก็ถูกจองเต็มหมดแล้ว

ภาพจาก trekkingTHAI

“เดี๋ยวนี้เราไม่ได้จัดที่เชียงดาว เพราะว่าแค่การกดจองปกติจำนวนดีมานด์ก็มากอยู่แล้ว” นิพัทธ์พงษ์เล่า

ระยะต่อมา การทำทัวร์ของ trekkingTHAI จึงเป็นทัวร์ที่ ‘ลึก’ ขึ้น 

‘ลึก’ ที่ไม่ได้หมายถึงเข้าไปในป่าลึก แต่หมายถึงการอยู่กับธรรมชาติในเชิง ‘ลึก’ 

“จุดแข็งของเราคือ เรารู้ว่ากลไกของการที่จะใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ปกป้องป่ามันต้องทำยังไง จุดยืนของเราคือ เราไม่ได้ส่งเสริมการปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว แล้วเรียกว่าป่า เราส่งเสริมให้รักษาพื้นที่สภาพแวดล้อม เพราะเราเชื่อว่าการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ ต้องเกิดจากการที่เราสร้างสภาพแวดล้อมให้มันอยู่ ให้สัตว์อยู่ ให้สรรพสิ่งอยู่ กิจกรรมอีกอย่างที่เราจะไม่ทำก็คือ สร้างฝาย สมมติว่า กลไกของฝายคือการแทรกแซงกลไกตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง ให้ผลบวกกับคน แต่ที่เหลือ กับสรรพสิ่งมันไม่ได้ให้ผลบวกไปด้วยนะ คุณจะสูญเสียความหลากหลาย

“แล้วเป็นเรื่องที่ทีมผมพิสูจน์ไว้คือ เราลองติดตามเรื่องนี้มาสิบกว่าปี เราก็เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลง การชวนคนไปเที่ยวแล้วค่อยๆ แทรก คนเขาก็จะรับฟัง หรือการได้แลกเปลี่ยนอะไรกันไปเรื่อยๆ มันก็เข้าใจไปเอง”

นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว การเที่ยวป่ายังมีผลต่อจิตใจของมนุษย์ ประกอบกับนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ทำให้ทัวร์ในปัจจุบันของเทรคกิ้งไทยมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยมี ‘ธรรมชาติ’ เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ ‘อาบป่า’ การท่องเที่ยวแบบ wellness-oriented ecotourism ที่ทำให้นักท่องเที่ยวผ่อนคลายจากภาระหรือสภาพจิตใจที่หม่นหมอง การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ หรือว่าการจัดทริปอาสาสมัครนักสื่อความหมายธรรมชาติ อาทิ กรณีช้างออกจากป่าเขาอ่างฤๅไนที่ฉะเชิงเทรา

“เราเริ่มจากมุมของเราคือ นำคนไปทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไปฟังคน แล้วก็หาทางฟังช้างด้วย ดูว่าทำไมช้างต้องออกมา แบบไปดูของจริง ดูรั้วที่กันช้าง ดูคนว่าคนเข้าไปอยู่กี่ปีแล้ว ซึ่งคนก็จะเล่าว่า เขาเป็นรุ่นลูก รุ่นพ่อเขาอยู่มา 30-40 ปี ไม่เคยมีช้างออกมา แล้วทำไมช้างออกมาตอนนี้ มันก็เป็นเรื่องที่มีนักวิจัยอื่นๆ เขาสืบค้น เราเป็นนักท่องเที่ยว เราไปทำหน้าที่ของนักสันติภาพ คือไปฟังแล้วก็กระจายสิ่งที่เขาพูด แล้วก็หวังว่าคนที่ไปก็จะไปพูดต่อในเชิงข้อเท็จจริง เชิงที่สัมผัสมา ไม่ใช่เพื่อตัดสิน แต่เพื่อเข้าใจ”

ภาพจาก trekkingTHAI

ทริปของ trekkingTHAI อีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ทริปทดลอง’ ซึ่งทริปล่าสุดคือทริปทำความรู้จัก ‘เหี้ย’ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิพัทธ์พงษ์เล่าว่า ในกรุงเทพฯ มีรังเหี้ยขนาดใหญ่ในสวนสาธารณะและแหล่งน้ำหลายแห่ง การทำความรู้จักเหี้ยในเมืองหลวงแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายคือการไปทำความเข้าใจชีวิต และเชื่อมโยงกับธรรมชาติไปด้วย 

การทดลองที่ว่าไม่ได้มีเพียงแค่ทริปที่ทดลองจัดขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมทำความเข้าใจธรรมชาติ เช่น การลอง ‘สื่อสาร’ กับสรรพสัตว์

“สมมติว่าตอนเดินป่า เรามาฝึกสื่อสารกับตั๊กแตนยังไงไม่ให้ตั้กแตนหนี ระหว่างทานข้าว เราก็ต้องตั้งต้นจากคุยกับน้องตั๊กแตนก่อน ถ้าคุยกับตั๊กแตนยังไม่ได้ ลองไปคุยกับตัวที่มันเคลื่อนไหวช้าๆ ก่อน อย่างซาลาแมนเดอร์ ซาลาแมนเดอร์น้ำ ก็เกิดเป็นภาพที่สวยงาม เขาไม่จับไม่อะไรนะ แต่คุยกับสัตว์เหล่านั้น คุยจนกระทั่งว่า พอเราอยู่นิ่งๆ สัตว์พวกนี้ก็เข้ามา”

MIND THE STEPS
โปรดระวังทุกย่างก้าว 

หากจะกล่าวว่า 23 ปีของ trekkingTHAI เป็น 23 ปีแห่งการ ‘ปรับตัว’ ก็ไม่ผิดนัก

จากคอนเซปต์แรกสุดอย่าง ‘มิตรภาพ ความฝัน วันแรมทาง’ ที่บ่งบอกความเป็นจุดนัดพบของคนรักการเดินป่า มาวันนี้ คอนเซปต์ของทัวร์เจ้านี้กลายมาเป็น ‘healthier wellness’ ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า trekkingTHAI ยืนระยะมาได้ด้วยการปรับตัวมาตลอด ทั้งปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยว ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะสิ่งแวดล้อม และปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ระหว่างการเดินทาง 

นิพัทธ์พงษ์เล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เมื่อเดินทางไปแล้ว ได้ข่าวว่าจุดหมายเกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ถนนขาด ทำให้ต้องวางแผนที่จะเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางทั้งหมด

“หลักการคิดก็คือ สมมติเราเป็นลูกทัวร์ เวลาเป็นลูกทัวร์คิดยังไงเราต้องคิดแบบนั้นเลย สมมติเราพาเขามาเที่ยวแล้วแต่ว่ามันเที่ยวไม่ได้ วิธีการก็คือต้องหาที่เที่ยวทดแทนให้ เงินก็ไม่ไปคิดเขาเพิ่ม ลูกค้าทุกคนก็แฮปปี้ เพราะเรารักษามิตรภาพ รักษาคน แบบรอบน้ีเราเที่ยวไม่ได้เดี๋ยวรอบหน้าก็มาเที่ยวใหม่”

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นิพัทธ์พงษ์วิเคราะห์ว่าส่วนใหญ่ที่ลูกทัวร์ไม่พอใจมีสาเหตุใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง-รออย่างไม่มีจุดหมาย กับ สอง-เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามโปรแกรม

รอแล้วไม่มีจุดหมาย เขาแก้โดยการสื่อสารให้ลูกทัวร์ทราบเป็นระยะว่า ส่ิงที่เขากำลังรอนั้น มีจุดหมาย ไม่ได้รอไปเรื่อยๆ ส่วนเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามโปรแกรม เขายกตัวอย่างกรณีที่ลูกหาบไม่พอ ทำให้สัมภาระบางส่วนมาไม่ทันกัน

“ตามเทศกาลเวลาคนมันแน่นจัดลูกหาบก็จะไม่พอ บางทีเลยไม่เป็นไปตามโปรแกรม ซึ่งอะไรที่ไม่เป็นไปตามโปรแกรมคนจะไม่พอใจ แต่จะไม่พอใจมากขึ้นถ้าเขาพบว่าเขาต้องรอคอยอย่างไม่มีจุดหมาย คือเวลาทำงานบริการมันต้องเจอปัญหาแน่นอน แต่ว่าตราบใดก็ตามที่เขาเห็นว่า ไกด์เรา คนของเราลงไปจัดการปัญหา แล้วก็ให้ทางเลือก เขาก็รู้สึกปลอดภัย

“ยกตัวอย่าง เคยมีช่วงแรกๆ ที่เรายังรับมือไม่ได้ อย่างเรื่องอาหาร คือให้เขารอโดยไม่มีจุดหมาย คืออาหารที่ไม่ใช่เราทำเอง บางทีก็เหมือนเวลาไปเที่ยวกันเอง เจอร้านไหนก็ลงไปสั่ง แล้วก็ร้านอาหารเขาก็ทำไม่ทัน วิธีแก้ปัญหาก็มีตั้งแต่ที่ไกด์ลงไปช่วยเขาทำ เพราะปกติไกด์ก็จะสนิทกับร้าน ก็ไปช่วย ลูกค้าก็เห็นแล้วว่ามีคนทำให้เขา แต่ถ้าไม่มีอะไรเลยเขาก็อาจจะโกรธ แล้วก็อีกวิธีแกคือต้องมีอาหารที่เรียกว่าเซตสำรองเตรียมไว้ เป็นอาหารเซตที่พร้อมปรุงได้เลยทันที”

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการวางแผนที่เรียกว่า ‘การออกแบบบริการ’ ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่พลิกผันระหว่างการเดินทางครั้งต่อๆ ไปอย่างแม่นยำ และทำให้ลูกค้าพอใจสูงสุด

แต่ต่อให้เตรียมการแค่ไหน ก็มักมีสิ่งที่เหนือการเตรียมการและความคาดหมายเสมอ

ภาพจาก trekkingTHAI

ปลายเดือนมีนาคม 2563 โรคโควิด-19 แพร่ระบาดหนักทั่วโลก เกิดการล็อกดาวน์ให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อให้เกิดการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ทัวร์ทุกทัวร์จากที่เคยทำเงินได้มหาศาล กลายเป็นรายรับเป็นศูนย์

อาจเป็นโชคดีที่ว่า ช่วงต้นปี 2563 นิพัทธ์พงษ์เดินทางกลับมาจากประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้น ทางการจีนเริ่มตรวจตราคนเข้า-ออกอย่างเข้มข้น ส่ิงที่เขาบอกกับทีมงานหลังจากนั้นคือ ให้เตรียมตัวไว้ เพราะต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

“ถามว่ารายได้หายไปหมดทำยังไง ผมก็จะคิดว่าทีมงานของเราทำอะไรได้ มาย้อนดูว่าทีมงานเรามีจุดแข็งอะไร ซึ่งจุดแข็งของทีมพวกผมคือเป็นคนขายเก่ง บริการดี สายท่องเที่ยว ก็เอามาขายของออนไลน์ ทำไลฟ์แล้วก็เอาอุปกรณ์แคมป์ปิ้งมาขาย แล้วก็ถ้าจำได้ ปี ’63-’64 เทรนด์แคมป์ปิ้งมันบูมเพราะคนออกนอกประเทศไม่ได้ ก็มีลานกางเต็นท์เกิดขึ้น แล้วมันก็ไม่ได้บูมแค่ผมคนเดียว ชาวบ้านเขาก็เอาของแคมป์ปิ้งออกมาด้วย เราก็เกาะกระแสมา ขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้งกันเป็นล่ำเป็นสัน จนพอมาปีนี้ คนก็เปิดร้านขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้งเยอะขึ้น รายได้จากทัวร์เราก็กลับมาแทนที่อุปกรณ์แคมป์ปิ้งได้พอดี”

นิพัทธ์พงษ์เรียกสิ่งนี้ว่า การปรับตัวโดยใช้ขีดความสามารถเดิม โดยนำคุณลักษณะของความเป็นมัคคุเทศก์มาทำในสิ่งใหม่ เพียงเปลี่ยนจากการพาเที่ยวเป็นการพาช้อปแทน ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ trekkingTHAI ให้ความสำคัญในภาวะวิกฤตเช่นนี้ คือการพยุงให้ทุกส่วนของบริษัท ‘อยู่รอด’ ด้วย

“เรามีรถตู้อยู่ 20 กว่าคัน เราก็ต้องช่วยคนขับรถตู้ โดยจัดของยังชีพให้เขา แต่ละวันต้องไม่อด 3 เดือนต้องไม่อด ง่ายๆ เลยก็จะมีหลักสูตรเดินป่า โดยให้มาม่า 1 กล่องมี 90 ห่อ ซึ่งยังไม่พอ 3 มื้อ เราก็ให้ข้าวอีก 1 ถัง ต่อคน มันก็ได้ถึง 270 มื้อ แล้วก็ให้น้ำพริกแบบเดินป่า จัดสิ่งเหล่านี้ให้พี่ๆ รถตู้ที่เขากลับไปอยู่บ้านนอก แล้วก็มีอย่างอื่นเสริมนิดๆ หน่อยๆ ให้เขา”

“ส่วนไกด์ ถ้าใครขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้งได้ก็เอาไปเลย 15 เปอร์เซ็นต์ คือเราก็แทบไม่เหลืออะไรเท่าไหร่ แค่เหลืออยู่พอประมาณ แต่มันทำให้ไกด์ยังพอมีรายได้ ก็ลากกันมา แต่ว่าแต่ละรอบก็เลือดสาด คือเราอาจจะเอาตัวรอดมาได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกทัวร์จะรอดหรอก” 

อย่างที่เขาว่า ความน่าเศร้าคือ ทัวร์เดินป่าหลายทัวร์ ซึ่งนิพัทธ์พงษ์ถือว่าเป็น ‘เพื่อน’ ในการทำธุรกิจนี้ ก็ต้องปิดตัวลงไปจากวิกฤตการระบาดระลอกใหญ่ 

ในห้วงเวลาสองปีที่ผ่านมานี้ การเอาตัวรอดจากวิกฤตคือสิ่งสำคัญสำหรับทุกทัวร์ เพื่อยืนระยะตัวเองต่อไป แต่ถึงกระนั้น นั่นไม่ใช่สุดท้ายปลายทางของทัวร์รักษ์ธรรมชาติเจ้านี้

ALONG THE WAY
สิ่งสำคัญตลอดเส้นทาง

ในบรรดาการปรับตัวจากสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา สิ่งที่ท้าทายทัวร์เดินป่าอย่าง trekkingTHAI ในยุคนี้คือ การดำเนินธุรกิจทัวร์ในวันที่ใครๆ ก็ไปแคมป์ปิ้งด้วยตัวเองได้ สามารถหาข้อมูล จองที่พัก จองเข้าชมอุทยานแห่งชาติได้สะดวก รวดเร็ว

“เราต้องรู้ว่าคนยังเที่ยวกับทัวร์อยู่เพราะอะไร เช่น เขาเที่ยวเองไปเรื่อยๆ แต่วันนึงเขาต้องการข้อมูลมากขึ้นในเชิงธรรมชาติ แบบไม่เครียด เขาก็มากับเรา หรือว่าเขาต้องการทำกิจกรรมที่แตกต่าง อย่างบางพื้นที่มันเป็นพื้นที่ที่ยังจัดการยาก สมมติต้องเอาเชือกเข้าไป ต้องมีเชือกเหนียวๆ ที่ราคาหลักหมื่น ถ้าเขาไปเองมันก็ไม่คุ้ม เขาก็จะมากับเรา ส่วนเชิงคุณภาพ เราก็ปรับตัวมาเป็นอย่างเช่น อาบป่า หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นความต้องการที่เฉพาะขึ้นไปอีก

“แล้วก็อีกกลุ่มนึงก็คือองค์กรต่างๆ พอเขาจัดเอาต์ติ้งที่เป็นเอาต์ดอร์ในป่า เขาวางใจเราเพราะมาตรฐานเราสูง เรามีอุปกรณ์ที่ดี มาตรฐานที่ดี มีไกด์ที่มีทั้งความรู้ความชำนาญจริง เราถึงอยู่ได้”

แต่ที่ว่ามาก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ท้าทายที่สุดของทัวร์เดินป่ารายนี้

เขาว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการยึดมั่นในความเชื่อขององค์กรในการ ‘รักษ์’ ธรรมชาติ

ภาพจาก trekkingTHAI

“คือเราเป็นระดับนโยบาย ก็เคยเหมือนกันว่าในทางปฏิบัติมีคนมาบอกว่า พี่ต้า ทริปนี้ขยะเยอะมากเลย ผมฟังแล้วจี๊ดเลยนะ วิธีการเราของเราก็คือต้องไปนั่งคุย ไปนั่งรับฟังไกด์ว่ามันเป็นยังไง แล้วก็ต้องมาดูว่าเราต้องแก้ยังไง คุยกับอุทยาน พยายามฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกลับมา”

ปัจจุบัน นอกเหนือจากทัวร์เดินป่า trekkingTHAI ยังร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนต้นกล้า จังหวัดนครนายก จัดค่ายปลูกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ความฝันของทัวร์แห่งนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามพลวัตของทัวร์เดินป่าแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างความเข้าใจในธรรมชาติแก่ผู้ร่วมเดินทางไม่ว่าจะเป็นการเดินทางรูปแบบใดก็ตาม

คำถามสามข้อที่นิพัทธ์พงษ์ใช้ชี้วัดว่าคนเข้าถึงและเข้าใจธรรมชาติมากขึ้นหรือยังก็คือ เคยไปแคมป์ปิ้งหรือเปล่า หลังแคมป์ปิ้งมีการจัดการขยะหรือไม่ และ มีใครเคยสื่อสารกับสัตว์ได้บ้าง โดยเมื่อเดินผ่านสัตว์ต่างๆ แล้วสัตว์เหล่านั้นไม่หนี

“พอถามว่าใครไปแคมป์ปิ้งมาบ้าง ยกมือพึ่บพั่บๆ เลย พอถามต่อว่า ใครไปแคมป์ปิ้งแล้วจัดการขยะเรียบร้อยบ้าง มือจะค่อยๆ น้อยลง แล้วพอถามคำถามที่สาม ที่ผมบอกว่าเป็นความฝัน คนก็อาจจะคิดว่าอันนี้พี่ต้าบ้าๆ บอๆ หรือเปล่า ให้คุยกับนกหนูแมลง แต่จริงๆ นี่ไม่ใช่หลักการที่เราคิดเองนะ เป็นหลักการของทางมูลนิธิโลกสีเขียว เขาว่า มนุษย์เราห่างจากธรรมชาติจนกระทั่งว่าไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้” 

ซึ่งการเชื่อมโยงหาธรรมชาติไม่ได้ของมนุษย์ที่ว่านี้เอง ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติถูกถ่างออกจนราวกับว่า เราอยู่ไกลเกินกว่าจะกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ยังดีที่ปัจจุบันถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น

“ที่ยุโรปเวลาคุณนั่งกินกาแฟแล้วมีตัวอะไรเดินผ่านเหมือนอยู่ในป่า หรือว่าที่บาหลีมีร้านกาแฟอยู่ แล้วมีไอ้เข้ตัวนึงเดินไปเดินมา คนเขาจะไม่ตื่นเต้น ส่วนที่เมืองไทยเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว คือเริ่มไม่กลัว เริ่มไม่ฆ่า”

หลังจากฟังเขาเล่าจนถึงตรงนี้ เราจึงถามถึงเป้าหมายในอนาคตของ trekkingTHAI 

การทำให้ผู้คนทุกคนเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้มากกว่าเดิม คือคำตอบ

“แต่ก่อนเดินป่าไม่ได้ง่าย ยากมาก แล้วก็เดินได้น้อย ปัจจุบันเดินป่านี่กลายเป็นง่ายแล้ว มีคนเดินเอง แล้วก็มีทัวร์ เขาเรียกว่า ecosystem หรือระบบนิเวศมันดีขึ้น เราก็อยากสื่อสารเรื่องของการปลูกจิตสำนึกในด้านการปกป้อง ซึ่งมันน่าจะมีเยอะๆ เมื่อก่อนโดยส่วนตัวคิดว่ามันทำยาก แต่เราไม่ได้หมายถึงตัวเราทำคนเดียว เราเพียงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เป้าหมายของเราก็คือพยายามทำให้ผู้คนเชื่อมโยง เชื่อมต่อกับธรรมชาติให้ได้มากกว่าเดิมสัก 10 เท่า”

3 ข้อที่ควรรู้ก่อนออกเดินป่า ฉบับ trekkingTHAI

  1. ตระหนักถึง ดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม

trekkingTHAI ให้ความสำคัญกับการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีข้อตกลงที่ทำให้สามารถดื่มด่ำธรรมชาติได้เต็มที่และไม่รบกวนแคมป์อื่นๆ รอบข้าง 

  1. เปิดใจให้ผ่อนคลาย 

เพื่อเป็นการเชื่อมโยงสู่มิตรภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในทริป

  1. พูดคุยหรือแสวงหามิตรภาพใหม่ๆ

เราถามถึงข้อที่ 3 เป็นพิเศษว่า เป็นมิตรภาพแบบใด กับเพื่อนร่วมทาง หรือระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อม คำตอบคือ ใช่ทั้งหมด

“แล้วก็มิตรภาพที่มีต่อนก หนู แมลง ตั๊กแตน แล้วก็แมงกีนูนด้วย” นิพัทธ์พงษ์เสริม พร้อมรอยยิ้ม

Photographer

หญิงสาวผู้หลงใหลการดูหนังรักและหลงใหลในการสัมผัสขนนุ่มฟูของน้องหมา

You Might Also Like