The Economix and match

ชุดทำงานของเศรษฐกร ผู้อำนวยการฝ่ายฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เจ้าของร้าน The Decorum และ Club Luminaries

ในเวลางาน กาย–ศิรพล ฤทธิประศาสน์ คือผู้อำนวยการส่วนความร่วมมืออาเซียนและอนุภูมิภาค ของสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประจำสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ทำงานเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงงานพวกเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา

กายรักการใส่ชุดสูทมาก เขามักจะปรากฏกายในชุดสูททำงานสุดเนี้ยบ ที่เพิ่มความสนุกด้วยดีเทลบางอย่างที่เขาหลงใหล

นอกเวลางาน กายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ Creative Director ของ The Decorum ร้านมัลติแบรนด์ที่เน้นเสื้อผ้าแนวคลาสสิก และ Club Luminaries ร้านเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์แนว street-prep ที่แต่งได้ทุกวันเพราะอยากให้ผู้ชายสนุกกับการแต่งตัว และล่าสุด The Decorum เพิ่งเปิดสาขาใหม่ในสิงคโปร์ 

เดิมคอลัมน์ Youniform ตั้งใจจะคุยกับเขาเรื่องความหลงใหลและชำนาญการในสูท ถึงขั้นใส่ทำงานได้ทุกวัน ทั้งยังลุกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายนี้ได้ แต่ยิ่งคุย ยิ่งสนใจวิธีคิดทำธุรกิจของเขา

ในการทำร้าน ไม่เพียงคัดสรร รวบรวมสิ่งที่ชอบและอยากนำเสนอให้ลูกค้า เขายังเป็นพาร์ตเนอร์ที่ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และรองเท้าแบรนด์ดังระดับโลกให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งบางแบรนด์ไม่เคยทำตลาดในภูมิภาคนี้ หรือไม่เคยยอมให้มีตัวแทนจำหน่ายมาก่อน แต่กายทำได้ โดยเริ่มต้นจากการนำเข้าแบรนด์เสื้อเชิ้ตสุดคราฟต์จากญี่ปุ่นอย่าง Kamakura Shirts แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจเสื้อผ้ามาก่อน กายใช้ความเป็นแฟนตัวยงเอาชนะใจเจ้าของแบรนด์ และเอาชนะบริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่หลายเจ้าที่อยากได้สิทธิจัดจำหน่ายนี้เหมือนกัน

ไปจนถึงการดูแลคนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้เรื่องเสื้อผ้าและสไตล์การแต่งตัว แต่ยังให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในสายงาน กายอยากให้สตาฟของเขาสนุกและภูมิใจในงานที่ทำ เพราะถ้าคนขายเองมั่นใจในเสื้อผ้าและสไตล์ที่หยิบยื่นให้ ลูกค้าก็มั่นใจและรู้สึกเชื่อถือ เป็นบรรยากาศที่คนชอบแวะร้านเสื้อผ้าในญี่ปุ่นอย่างเราฝันถึงมาตลอด อยากให้มีร้านแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งผลต่อการการสร้างคอมมิวนิตี้ผู้ชายที่รักการแต่งตัวที่แข็งแรงมากๆ แม้ประเทศเราจะเป็นเมืองร้อน แต่เมื่อชายหนุ่มอยากมีสูทดีๆ สักตัวไว้ใส่ทำงาน หรือใช้ในโอกาสพิเศษพวกเขาจะนึกถึง The Decorum หรือในวันพักผ่อนจะนึกถึงเสื้อผ้าของ Club Luminaries 

ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่หลงใหลในชุดสูทและรักการแต่งตัว มีส่วนช่วยกายในธุรกิจนี้ยังไง และวันที่ธุรกิจนี้ไปได้ดี ส่งผลต่องานและชีวิตประจำวันแค่ไหน เชิญพับแขนเสื้อขึ้น และฟังเรื่องราวทั้งหมดนี้พร้อมกัน

การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายฯ ในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรียกร้องให้คุณต้องแต่งตัวเรียบร้อยแค่ไหน

โดยทั่วไปแค่ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวที่ดูเหมาะสม และรองเท้าหนังก็เพียงพอแล้ว แต่ด้วยเราชอบใส่สูท เราก็จะใส่ของเราแบบนี้เป็นประจำ ออกจะเนี้ยบไปด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรตอนทำงาน ตอนแรกคนก็จะแซว แต่ผมเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ มันเป็นเรื่องธรรมดา ผมเองก็แซวคนอื่น ซึ่งอยู่ที่ตัวเราด้วยที่แฮปปี้ที่จะใส่สิ่งที่ตัวเองอยากใส่

ผมว่ายุคนี้คนเข้าใจและกล้าที่จะแต่งตัวมากขึ้นนะ ผู้ชายหลายคนโอเคกับกางเกงเอวสูงมากขึ้น สมัยก่อนอาจจะมีคนทักว่าทำไมใส่กางเกงเอวสูงจัง บางครั้งก็ต้องทำใจให้อย่าไปสนใจใครมาก เป็นตัวของตัวเองไป

ในฐานะคนที่รักการแต่งตัว คุณคิดว่าการค้นหาสไตล์ของตัวเองสำคัญกับงานและชีวิตยังไง ทำไมเราควรจะลุกขึ้นมาแต่งตัว

ผมว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องถามว่าทำไมต้องลุกมาแต่งตัว 

สิ่งที่ผมคิดอยู่ตลอดคือ ทำไมเราต้องกลัวที่จะแต่งตัว บางคนไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากแต่งตัวนะ แต่เขากลัวจะโดนแซวว่าเยอะไป การที่ใครสักคนจะมีสไตล์ได้ เขาต้องกล้าใส่ ลองใส่ไปเลยให้เยอะๆ แรกๆ มันก็เยอะๆ เกินๆ กันทั้งนั้น แต่ต้องเริ่มก่อน ค่อยๆ เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วสบายใจ ไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อให้ทันกระแสและทำตามใคร การแต่งตัวคือการผสมผสานเสื้อผ้าที่มีเข้าด้วยกัน แล้วหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ 

ผมว่าการแต่งตัวเป็นเรื่องของการเดินทาง เป็น journey จะเห็นว่า style icon บางคน ยิ่งอายุมากเขายิ่งแต่งตัวดีกว่าคนอื่น เพราะเขามีรสนิยมที่ดีขึ้น มีเสื้อผ้าที่ทำให้เขาแต่งตัวได้มากขึ้น ดังนั้นจงเริ่มแต่งตัว แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเข้ามาแซวอะไร เพราะในยุคนี้ ทุกคนมีโอกาสที่จะ express หรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีที่ได้เห็นทุกคน express ตัวเองได้อีกเยอะมาก

คุณได้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวมาจากไหน

หลายๆ อย่างมาจากครอบครัว คือคุณปู่ของผมท่านเป็นคนที่ค่อนข้างเนี้ยบ นอกจากเรื่องการแต่งตัว ผมก็ได้ซึมซับรสนิยมการฟังเพลงเก่ามาจากท่านซึ่งความชอบนี้ก็ส่งผลต่องานคอลเลกชั่นต่างๆ ที่ทำด้วย ผมรู้สึกว่าเวลาซึมซับอะไร เราก็แค่เลือกสิ่งที่ชอบ ไม่จำเป็นว่าสิ่งนั้นจะมีชื่อเรียกว่าเป็นสไตล์ไหนเพราะก็แค่เป็นแนวทางให้เรา อาจจะดูเยอะไป แต่ว่าด้วยความชอบผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมากเท่าไหร่ ยิ่งพอทำธุรกิจของตัวเอง ทีนี้เป็นอิสระเลยเพราะทำธุรกิจเราก็ต้องกล้าๆ ใส่ให้เต็มที่ทั้งเสื้อผ้าและแรงที่มี ไม่ต้องสนใจใคร ก็เป็นความสนุกอีกแบบ เพราะทุกคนในทีมที่มาทำร้านเราก็เป็นคนชอบเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าชอบเสื้อผ้าชุดสูท

ตอนเด็กๆ มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนประจำที่ต่างประเทศ เขาก็จะมีเครื่องแบบพวกเบลเซอร์ กับเสื้อตัวนอกหรือแจ็กเก็ตตัวใหญ่ๆ ตอนนั้นไม่ชอบเพราะรู้สึกว่าเสื้อตัวใหญ่เกินไป จนได้ดูหนังเรื่อง The Thomas Crown Affair (1999) ซึ่งเป็นหนังแอ็กชั่นที่มีพระเอกแต่งตัวใส่ชุดสูทแต่ดูบู๊ๆ ดี เราก็เริ่มชอบ ยิ่งเวลาเห็นคนใส่เสื้อสูท เห็นภาพเก่าๆ หรือภาพแฟชั่นในนิตยสารก็อยากลองใส่บ้าง แต่ไม่ได้ใส่ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกรองเท้าหนังกับเสื้อเชิ้ตที่มีกระดุมบนปก (button down) พออายุ 18 ตัดสินใจซื้อสูทอาร์มานี่ใส่ไปงานเลี้ยงวันจบไฮสคูล ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่ติดยี่ห้อ ไม่รู้หรอกว่ามันดีหรือเปล่า แต่จำได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ซื้อเสื้อผ้าแพงขนาดนี้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สไตล์การแต่งตัวของผมก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมก็มักจะซื้อเสื้อสูทหรือแจ็กเก็ตสูทกลับมาด้วยเสมอ

คุณใส่เสื้อสูทด้วยความรู้สึกแบบไหน

ผมแค่รู้สึกว่าชอบ ใส่แล้วรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง มันก็ทำให้มั่นใจและค่อนข้างที่จะออกมาดูดี จากนั้นเราก็ศึกษาและเริ่มเกิดเป็นแพสชั่นมากขึ้น ยิ่งได้รู้มากขึ้นก็ทำให้อยากลองใส่เสื้อสูทหลากหลายแบบมากขึ้น ค่อยๆ ค้นหาตัวเองไป ไม่ได้ถึงขั้นเป็นคนที่คลั่งไคล้สูท 

จนมาถึงช่วงหนึ่ง คือผมชอบกินไอศครีมมากเลยไปลงเรียนทำเจลาโต้ที่อิตาลี ระหว่างเดินผ่านร้านสูทเห็นเขาเซลก็เลยแวะเข้าไปลองใส่ ก็พบว่าเสื้อสูทตัวนั้นเป็นสไตล์แบบที่เราตามหามาตลอด เป็นสูทที่มีสรีระค่อนข้างโค้งมน ให้ความ casual ทำให้รู้ว่าสไตล์ที่เราชอบคือสไตล์อิตาเลียน ก่อนหน้านี้เราก็พยายามหาร้านตัดสูทในประเทศแต่ก็ไม่เคยเจอแบบที่ต้องการเลย จากนั้นก็เริ่มศึกษาเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็จะคอยหาร้านตัดสูท หรือเวลาไปร้านหนังสือ Kinokuniya ผมจะชอบซื้อ ‘MEN’S EX’ เป็นนิตยสารเกี่ยวกับสูท และก็มี ‘FINEBOYS’ ซึ่งในเล่มจะสอนการแต่งตัว แนะนำร้านต่างๆ หรือตามไปดูบล็อกเกี่ยวกับสูทของคนญี่ปุ่น เมื่อมีโอกาสเราก็ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไป ค่อยๆ หาสิ่งที่เราสามารถเอื้อมถึง มีราคาบ้าง ไม่มีราคาบ้าง พอมาถึงจุดที่ไปญี่ปุ่นบ่อยๆ เราก็เริ่มคิดอยากลองทำร้านสไตล์ของเราดูบ้าง

สไตล์ร้านแบบไหนที่อยากทำหรือตั้งใจจะเป็นให้ได้

สิ่งที่ผมชอบเวลาไปร้านเสื้อผ้าในญี่ปุ่นคือ ความน่าเชื่อถือของพนักงานในร้าน (สตาฟ) และไม่ใช่แค่สตาฟที่มีความรู้เรื่องเสื้อผ้าและสไตล์ แต่ยังมีเรื่องโอกาสที่สตาฟจะเติบโตไปพร้อมๆ กับร้าน ต่างจากพนักงานขายทั่วไปที่อาจจะรู้สึกไม่มี career path หรือมองเห็นความก้าวหน้าในสายงานที่ทำ เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมลองทำ business model ที่แตกต่างจากร้านเสื้อผ้าที่ประเทศไทยเคยมี ด้วยการเซตอัพสร้างพนักงานขายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ถ้าสตาฟชอบเสื้อผ้าและมีความรู้เรื่องเสื้อผ้า คนซื้อก็จะไว้วางใจ แถมสตาฟยังดูเท่ ดูน่าเชื่อถือ บรรยากาศของร้านมีความสนุก แค่นี้ก็แตกต่างจากร้านในห้างสรรพสินค้าแล้ว

ผมมองว่าสิ่งนี้สำคัญนะ จึงพยายามเปลี่ยนและสร้างบรรยากาศที่อยากให้เป็นก่อนคิดถึงเรื่องตัวเงิน  ซึ่งเงินก็สำคัญนะ เพียงแต่บางทีการคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่าก็ทำให้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่า แล้วเรื่องเงินจะค่อยๆ ตามมา เช่น การดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่ทำงานให้เรา คนทำงานเขาก็ต้องการวันหยุดเหมือนกัน นอกจากความเป็นอยู่ก็มีเรื่องดูแลไลฟ์สไตล์ของเขา พยายามให้ทุกคนกลมกลืนกับร้าน เปิดโอกาสให้เรียนรู้งานหลายๆ ทักษะ ไม่ใช่แค่รู้ในส่วนที่ทำแต่เพื่อให้เขาเห็นโอกาสการเติบโตในสายงานนี้จริงๆ อย่างการเปิดร้านสาขาที่สิงคโปร์ก็เป็นอีก career path หนึ่งที่สำคัญ เพื่อรักษาคนเก่งให้อยู่กับเราไปได้นานๆ

การเป็นนักเศรษฐศาสตร์ช่วยทำให้คุณทำธุรกิจง่ายขึ้นยังไง

ผมอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีก แต่ด้วยงานที่ทำในสายเศรษฐศาสตร์มหภาค ผมจะเห็นภาพรวมเศรษฐกิจว่าเป็นยังไงในแต่ละช่วงเวลา ตอนไหนควรลุย และตอนไหนควรรอ และการที่มองเห็นทิศทางข้างหน้าจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยก็มีทิศทางให้พอประมาณการตัวเลขต่างๆ ได้ ประกอบกับการติดตามอ่านนิตยสาร The Economist ก็ทำให้ได้รู้ทันติดตามข่าวสารและเหตุการณ์สำคัญ ไปจนถึงเรียนรู้จากเคสธุรกิจต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่นิ่งไม่ได้ มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวบ้างเมื่อคิดจะขยายธุรกิจ เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนไปและส่งผลต่อธุรกิจได้ทั้งหมด ทำให้เราคิดถึง vision ที่เราต้องการจะไป

การที่ผู้ชายไทยไม่ค่อยสนใจแต่งตัวเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจเสื้อผ้าผู้ชายแค่ไหน

นอกจากการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ทำคอนเทนต์เล่าเรื่องสไตล์และที่มาของเสื้อผ้าต่างๆ ทำรูปสวยๆ ไม่ให้ดูพยายามขายของมากเกินไป เราพยายามจัดงานอีเวนต์สร้างคอมมิวนิตี้ตลอดเวลา โดยช่วงก่อนโควิดเรามีช่างตัดสูทและช่างตัดรองเท้าจากต่างประเทศแวะเวียนมาที่ร้านทุกเดือน แม้ในช่วงโควิดที่ยอดขายลดลง ก็ยังมีอะไรให้คิดทำสนุกๆ สร้างบรรยากาศในกลุ่ม เช่น ผมชอบทำอาหารก็เลยจัดโปรโมชั่น ซื้อสินค้าอะไรก็ได้จากร้าน รับฟรีพิซซ่า 1 ถาด 

ซึ่งผมกลับคิดว่าธุรกิจเสื้อผ้าผู้หญิงนั้นยากกว่า เพราะตลาดกว้างและลูกค้ามีตัวเลือกมากมาย แต่ผู้ชายถ้าชอบแล้วก็คือชอบเลย จะมี loyalty ต่อแบรนด์และสไตล์นั้นมากๆ สิ่งที่เราทำคือให้ข้อมูลและตัวอย่างของการสไตล์ลิ่งที่ดี

อะไรคือที่มาของการเปิดร้าน The Decorum สาขาสิงคโปร์

The Decorum มีฐานแฟนที่เป็นลูกค้าชาวสิงคโปร์และประเทศในอาเซียนเยอะพอสมควรเพราะเราสื่อสารทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้นทำร้านในวันแรกๆ  พาร์ตเนอร์ชาวสิงคโปร์เดิมเป็นลูกค้าที่มาร้านบ่อยจนกลายเป็นเพื่อนกัน มาวันหนึ่งเขาก็ถามว่าสนใจไปเปิดร้านที่สิงคโปร์มั้ย ซึ่งปีนี้เขากลับไปอยู่สิงคโปร์ถาวรพอดี เราก็เลยได้ฤกษ์เดินหน้าลุยกัน แม้ว่าแบรนด์ที่ร้านเรามีอาจจะ niche ในหมู่คนทั่วไป แต่กลุ่มเป้าหมายเราที่เป็นคนทำงานในวงการไฟแนนซ์จะรู้จักแบรนด์เหล่านี้อยู่แล้ว เช่น รองเท้าแบรนด์ Crockett & Jones เป็นแบรนด์รองเท้าจากอังกฤษที่ไม่ได้มีตัวแทนจำหน่ายใน Southeast Asia มานานมากแล้ว เคยมีตัวแทนจำหน่ายแต่เขาได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีเลยหยุดไป แฟนรองเท้าแบรนด์นี้ทั่วโลกจะรู้ว่า Crockett & Jones เป็นแบรนด์ที่ติดต่อขอสินค้ามาขายยากมาก แต่เราก็เป็นคนแรกๆ ที่ได้ หรืออย่างเสื้อเชิ้ตแบรนด์ Kamakura Shirts ของญี่ปุ่น ก็ไม่เคยมีตัวแทนจำหน่ายมาก่อนในโลก เราเป็นเจ้าแรกที่ได้

คุณทำยังไงให้แบรนด์ดังระดับนั้นไว้ใจยอมให้คุณเป็นตัวแทนจำหน่าย

เป็นเรื่องแพสชั่นล้วนๆ เลย ผมชอบเสื้อเชิ้ตแบรนด์ Kamakura Shirts มาก อยากให้มีขายในประเทศไทยก็เลยติดต่อไป ไม่เคยมีใครได้สิทธิจำหน่าย Kamakura Shirts มาก่อนเลย เขาไม่ยอมให้ใครง่ายๆ แต่ว่าผมใช้แล้วชอบเสื้อเชิ้ตเขามากๆ อีเมลไปหาเขาทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจเสื้อผ้ามาก่อน เขาปฏิเสธแต่ยอมให้ผมเข้ามีตติ้งด้วย ผมก็แนะนำตัวว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบเสื้อผ้าของเขามากๆ รู้จักทุกอย่างของแบรนด์เขา ก่อตั้งปีไหน ทำอะไรมาบ้าง สร้างความประทับใจแก่เขา ทำให้เอาชนะบริษัทเจ้าอื่นที่ติดต่อขอเป็นตัวแทนเหมือนกัน ผมว่าสิ่งพวกนี้สำคัญ คนญี่ปุ่นเขาไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นบริษัทใหญ่แล้วคุณจะมีโอกาสมากกว่า และเมื่อได้รับความไว้วางใจ ผมก็ตั้งใจว่าจะไม่ขายเสื้อเชิ้ตแบรนด์อื่นเลย ปัจจุบันก็นำไปขายในร้านที่สิงคโปร์ด้วย

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าควรต่อยอดจากร้าน The Decorum มาสู่ Club Luminaries

ด้วยคาแร็กเตอร์ของ The Decorum ที่คลาสสิกและไม่ตามเทรนด์ ไม่สามารถทำอะไรที่ฉีกออกไปได้มากนัก ขณะที่ผมอยากนำเสนออีกไลฟ์สไตล์หนึ่ง อยากทำอะไรที่สนุกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะใส่ชุดสูทได้ทุกวัน ถือเป็นการสานฝันที่อยากมีร้านอย่าง BEAMS และ United Arrows ซึ่งเป็นงานที่ยากกว่าและเหนื่อยกว่า เพราะมีเรื่องเทรนด์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างมีซีซั่นของการขาย แต่ก็เป็นความสนุก และผมมองว่ามันส่งเสริมกันและกัน mix and match กันได้ ถือเป็นการขยายต่อยอดธุรกิจในวันที่ resource ของเราพร้อม

การที่ธุรกิจร้านเสื้อผ้าไปได้ดี ส่งผลต่องานประจำในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังยังไง

ตอนทำงานเป็นข้าราชการเราก็เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว แต่การทำ The Decorum ทำให้เราเป็นตัวเองได้มากกว่าที่เคยก็เลยสนุกมากๆ บางทีก็คิดอยากจะโฟกัสกับธุรกิจมากกว่านี้เพราะตอนนี้เรามีทีม มีคนที่เราอยากดูแล จริงๆ ถ้าเราอยู่เฉยๆ ร้านก็คงไม่เป็นอะไรหรอก แต่ถ้าร้านเราไม่เติบโต คนของเราก็จะไม่เติบโต และถ้าเราได้เด็กที่ดีมาแล้วเขาไม่เห็นโอกาสเติบโต เขาก็ไม่อยู่กับเรา แต่เราอยากให้เขาอยู่กับเรานานๆ มีรายได้ที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


Working on set behind the scenes

บันทึกเบื้องหลังแฟชั่นชุดทำงาน classic menswear สุดเนี้ยบ และชุดไปรเวตที่ใส่ไปทำงานได้

ชื่อ :  ศิรพล ฤทธิประศาสน์
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมืออาเซียนและอนุภูมิภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่ทำงาน : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

วันที่พบกัน The Decorum กำลังมีงาน Trunk Show จาก Assisi Bespoke ห้องเสื้อสูทจากประเทศเกาหลีใต้ เบื้องหลังการถ่ายแฟชั่นชุดทำงานของเราในตอนนี้จึงกระชับฉับไวมากๆ

เริ่มต้นที่ลุคสุดคลาสสิก ชุดทำงานที่ดูเนี้ยบสุดๆ แต่ก็เป็นตัวของตัวเองมากๆ ในเวลาเดียวกัน

“ชุดสูทตัดโดยคุณคิมมินซู จาก Assisi Bespoke เป็น double-breasted หรือสูทกระดุม 6 เม็ด ลายทางขนาดใหญ่หน่อย ให้ความวินเทจคลาสสิก ดูมีอายุแต่ก็สง่างามในคราวเดียว เสื้อเชิ้ตเป็นของแบรนด์ Kamakura Shirts เท่ากับวันนี้ใส่แพตเทิร์น striped on striped ทั้งหมดเลย ต่างกันที่ขนาดของ striped รองเท้าทรง loafer ของแบรนด์ Crockett & Jones ทำจากหนังม้า (cordovan) เป็นสีที่ใส่ไม่ยากเกินไป” ศิรพลเล่าว่าเขามักจะแต่งตัวแบบนี้ไปทำงานเสมอ ทั้งที่ร้านและที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แต่ถ้าพบเจอเขาข้างนอก ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะจำเขาไม่ได้ เพราะแม้จะเปลี่ยนจากเสื้อเชิ้ตเป็นเสื้อยืดข้างใน ภายนอกก็ยังสวมสูทหรือแจ็กเก็ตตัวโปรดอยู่ดี

ลุคที่สอง ศิรพลเลือกจับคู่สูทแจ็กเก็ตกับเสื้อผ้าถักสีครีมที่ออกแบบพิเศษ ได้แรงบันดาลใจจากสไตล์ของศิลปินแจ๊สที่ชื่อว่า Chet Baker 

ขณะที่ลุคสุดท้ายเป็นเสื้อสูทแจ็กเก็ตกับกางเกงยีนส์ที่ The Decorum ทำ collaboration กับ Fullcount เป็นบริษัทยีนส์ที่ดังเป็นลำดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ศิรพลเลือกแมชต์กับรองเท้าผ้าใบให้ความรู้สึก casual ขึ้นแต่ก็ยังเป็นตัวเองได้อยู่

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like