FRIENDS! GARCON
คุยกับร้านไลฟ์สไตล์ FRANK! GARCON ถึงวิธีทำธุรกิจกับเพื่อนให้เป็นพาร์ตเนอร์กันไปได้นานๆ
ร้านสีน้ำเงินเจิดจ้าแห่งนี้มีความน่าสนใจในหลายเลเยอร์
ในเลเยอร์หนึ่ง ที่นี่คือร้าน lifestyle store ในสยามสแควร์ที่รวมไอเทมแฟชั่น unisex และสินค้าศิลปะไว้ในที่เดียว เจาะทาร์เก็ตวัยรุ่นสายอาร์ตในวันที่สยามยังมีแต่ร้านมัลติแบรนด์สำหรับผู้หญิง
คอนเซปต์อุดช่องว่างได้พอดี การดำเนินธุรกิจก็น่าสนใจเพราะแม้ร้านมัลติแบรนด์จะแข่งขันกันมากมายแต่ร้านแห่งนี้สามารถรวมแบรนด์ไว้ได้ถึง 200 แบรนด์ มีสินค้าหลายหมื่นชิ้น และมีลูกค้าแน่นร้านทุกวัน
นอกจากวัยรุ่นที่ชวนเพื่อนมาเดินเลือกของ เจ้าของร้านเองก็เป็นกลุ่มเพื่อน 4 คนที่เอาประสบการณ์ ความถนัด และความสนใจมาเทรวมกันจนกลายเป็นร้านที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ร้านที่มีชื่อว่า FRANK! GARCON
ในยุคที่คนรุ่นใหม่หลายคนมีธุรกิจกับเพื่อน เราชวนผู้ก่อตั้งทั้งสี่มาแชร์ว่าพวกเขามีวิธีทำงานกับเพื่อนยังไงให้ราบรื่นและพบว่าข้อห้ามคลาสสิก ‘อย่าทำงานกับเพื่อน’ อาจใช้ไม่ได้เสมอไป เมื่อความเป็นเพื่อนนำข้อดีมากมายมาสู่การบริหารร้านสีน้ำเงินร้านนี้
และต่อไปนี้คือเวิร์กกับเพื่อนให้เวิร์กในแบบฉบับของ FRANK! GARCON
สายตาที่หันไปหาสิ่งเดียวกัน
เพื่อนทั้งสี่ที่รวมตัวกันเป็น FRANK! ประกอบด้วย โอกิ–ทัดสุระ อิวาชิตะ และ พร–ทวีพร หล่อเลิศรัตน์ สามีภรรยาเจ้าของร้านรองเท้าหนัง London Brown, ลูกศร–ศรุติ ตันติวิทยากุล ดีไซเนอร์สาวเจ้าของแบรนด์ Daddy and the Muscle Academy และ อั้ม–บุญญนัน เรืองวงศ์ อาร์ตไดเรกเตอร์โฆษณาผู้เป็นแฟนของลูกศร
“สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ประมาณ 10 กว่าปีก่อน เรารู้จักกับพี่พรเพราะเพื่อนไปทำฟรีแลนซ์ให้ London Brown พอรู้จักกันก็ได้รู้ว่าไลฟ์สไตล์เราใกล้เคียงกัน ชอบอะไรคล้ายๆ กัน หลังจากนั้นก็เลยไปช็อปปิ้ง แฮงเอาต์กันบ่อยจนสนิทกัน” ลูกศรเท้าความ
“เราทุกคนวนเวียนอยู่ในสยาม พี่พรกับพี่โอกิเขามีร้านรองเท้าในสยาม หลังจากนั้นศรก็เปิดร้าน Daddy and the Muscle Academy อยู่ในสยามเหมือนกัน ช่วงนั้นสยามคือทำเลทองเลย วันนึงพี่พรเขาก็โทรมาบอกว่ามีห้องว่าง ศรอยากทำอะไรกันไหม
“เราคบกับเขามา นอกเหนือจากความเป็นเพื่อนเราเห็นวิธีการทำงานเขามาก่อน เราได้เห็นความจริงจัง ตั้งใจ” แค่มองตาก็เข้าใจ ลูกศรตกลงทำงานกับพรในทันทีก่อนแฟนของทั้งคู่ซึ่งไลฟ์สไตล์คล้ายกันจะเข้ามาแจม
และความที่เดินสยามด้วยกันมาหลายปี เมื่อจะเปิดร้านสายตาของทุกคนจึงเห็นช่องว่างเดียวกันโดยอัตโนมัติ
“ช่วงนั้นร้านมัลติแบรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นร้านสำหรับผู้หญิง แต่ร้านที่เป็นร้านของวัยรุ่นช่วงตั้งแต่มหาวิทยาลัยจนเฟิสต์จ็อบเบอร์ และเป็นเด็กอาร์ต เท่ๆ หน่อยยังไม่ค่อยมี แบรนด์ก็อยู่อย่างกระจัดกระจาย ลูกศรเขาทำงานสไตลิสต์ก็รู้ว่ามีช่องว่างนี้ พี่พรกับพี่โอกิก็บอกว่าเป็นทาร์เก็ตที่น่าสนใจ เขาอยู่ในสยามเขาก็เห็นว่ามันไม่มีจริงๆ” อั้มอธิบายก่อนโอกิผู้ถูกเอ่ยถึงจะเล่าต่อ
“ส่วนมากร้านในสยามจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า แต่ร้านที่ขายไลฟ์สไตล์ งานศิลปะยังไม่ค่อยมี ร้านของเราเลยเป็น lifestyle store มีของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ ทั้งดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ เสื้อผ้า”
เติมช่องว่างทางความสามารถ
FRANK! GARCON เกิดขึ้นจากการเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจในย่านสยาม ส่วนการทำให้ร้านตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นไปได้ด้วยการเติมเต็มช่องว่างทางความสามารถของกัน
ใครถนัดอะไร เก่งด้านไหนก็รับผิดชอบด้านนั้น ในช่วงแรกๆ ที่ทำร้านกันเองการมีผู้ก่อตั้งถึงสี่คนจึงช่วยให้ร้านเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
“มันเป็นไปตามธรรมชาติ มองตาก็รู้ว่าใครต้องทำอะไร” ลูกศรพูดพร้อมเสียงหัวเราะ
“เวลาหุ้นกับเพื่อนมันมีการหุ้นหลายแบบ คนที่สนใจด้านเดียวกันพอมาทำธุรกิจก็อาจจะไปไม่รอดเพราะว่าในองค์กรหนึ่งมันมีหลายแผนก หลายเซกชั่นที่ต้องดูแล อย่างศรเรียนจบด้านดีไซน์ พี่อั้มทำงานอาร์ตไดฯ เราก็เลยจะดูฝั่งครีเอทีฟ การสื่อสาร CI แบรนด์ดิ้งทั้งหมด ส่วนพี่พรกับพี่โอกิเขาจะเก่งเรื่องเมเนจเมนต์และบัญชีเลยเป็นคนดูแลฝั่งโอเปอเรชั่น เลือกสินค้าเข้าร้าน ติดต่อกับแบรนด์ที่มาวางขายทั้งหมด”
แต่ไม่ว่าจะรับผิดชอบฝั่งไหน คุม CI หรือเป็นฝ่ายเลือกสินค้าเข้าร้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเห็นภาพแบรนด์ที่ตรงกันซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับชาว FRANK!
“ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือกำหนดอาร์ตไดเรกชั่น กำหนด CI ของแบรนด์ พอภาพชัดทุกอย่างมันจะไหลตามมาเลยว่าแบรนด์ไหนที่ใช่สำหรับเรา แบรนด์ไหนที่ไม่ใช่ แบรนด์ไหนอยู่กับเราแล้วส่งเสริมภาพลักษณ์กัน
“สำหรับพวกเราศรว่ามันเริ่มจากความชอบ เราชอบทำธุรกิจเหมือนกัน มีความชอบที่คล้ายๆ กันพอทำงานเลยไม่ต้องพูดกันเยอะ ไม่ต้องมาจูนสไตล์ ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบีบบังคับ เวลาจับเสื้อตัวนึงมาศรกับพี่พรจะกรี๊ดเหมือนกัน (หัวเราะ)” ลูกศรเล่า ก่อนที่เธอ พร และอั้มจะขอโชว์ว่าเสื้อที่ใส่มาวันนี้ยังเป็นเสื้อที่ด้านหน้าเรียบๆ ด้านหลังมีลายขนาดใหญ่เหมือนกันแบบไม่ได้ตั้งใจ
ยิ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อั้มยิ่งย้ำว่าสไตล์ที่ตรงกันยิ่งทำให้พวกเขาขยับตัวได้ไวซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมาก “ถ้าสไตล์ไม่ตรงกันเราก็จะทำงานช้า สมมติว่าดีไซน์เสื้อแบบนึง ฝั่งดีไซน์ส่งให้ฝั่งขาย ฝั่งขายไม่ชอบ ไม่เชื่อใจ ต้องปรับแก้ ส่งไปอีกก็ไม่ชอบอีก กว่าจะได้ขายมันใช้เวลานานมาก
“แต่นอกจากสไตล์ตรงกัน พอแบ่งพาร์ตกันแล้วเวลาทำงานก็ต้องให้เกียรติกันด้วย ในพาร์ตโอเปอเรชั่นเรากับศรก็จะไม่ไปก้าวก่าย เคารพการตัดสินใจของพี่พรและพี่โอกิ ส่วนในพาร์ตดีไซน์ที่ลูกศรทำ พี่พร พี่โอกิก็จะเคารพการตัดสินใจของลูกศร”
“ศรว่ามันคือความเข้าใจ คือความเห็นพ้องต้องกัน บอกไม่ถูกว่าคืออะไร อาจจะเป็นเคมี พอทุกคนเห็นภาพตรงกันทุกอย่างมันก็กลม ดำเนินงานของแต่ละฝ่ายได้สบาย แล้วมันไม่ใช่แค่เรา 4 คน หลังๆ แต่ละฝ่ายก็เริ่มมีทีมของตัวเอง พอภาพเราชัดน้องๆ เขาก็จะรู้ว่าแบบนี้ใช่ FRANK! แบบนี้ไม่ใช่โดยที่เราไม่ต้องบอก แล้วเขาก็จะไปตีความต่อได้อีกอินฟินิตี้ว่าอันไหนที่เป็นเรา
“ด้วยความที่รู้ใจกันวิธีการทำงานของเราเลยเน้นการสื่อสารที่เร็วและทำเร็ว เราไม่จำเป็นต้องมานั่งประชุมตลอดเวลาแต่สามารถตัดสินใจในฝ่ายของตัวเองได้เลย จะคุยกันจริงจังเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เช่น มีห้างติดต่อเข้ามาหรือการย้ายสาขา ศรว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นยุคของความเร็ว ตัดสินใจเร็ว ทำอะไรเร็ว เคลื่อนตัวเร็ว องค์กร FRANK! เลยเคลื่อนตัวเร็วมาก” ลูกศรสรุปให้
สร้างระบบที่จริงใจ
“ถ้าให้แนะนำคนที่จะทำงานกับเพื่อน ผมคิดว่าควรเซตระบบทุกอย่างให้ดีตั้งแต่แรกโดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างบัญชีที่ต้องทำให้โปร่งใสเพราะมันแตกหักกันง่ายๆ เลย” อั้มตอบทันทีที่เราขอคำแนะนำให้คนที่กำลังเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อน
“บางคนจะเกรงใจกันช่วงแรกๆ ตอนเงินไม่เยอะมันไม่เท่าไหร่หรอก วันไหนที่เงินเยอะถึงจะมีปัญหา ฉะนั้นเราตั้งต้นตั้งแต่แรกเลย เซตระบบให้ดี ตกลงกันให้แฟร์ ไม่อย่างนั้นมันจะรู้สึกว่าทำไมฉันได้น้อย ทำไมเธอได้เยอะ มายึกยักกันตอนหลัง”
โอกิกับพรซึ่งดูแลเรื่องบัญชียกตัวอย่างระบบด้านการเงินให้ฟังว่า ทุกค่าใช้จ่ายต้องมีที่มาที่ไปให้ทุกคนรู้ ส่วนเรื่องสมุดบัญชี หากใครเป็นเจ้าของบัญชีคนที่ถือสมุดบัญชีต้องเป็นผู้ก่อตั้งอีกคนเพื่อให้โปร่งใส
“พอเราทำงานด้วยความรู้สึกว่าเราไม่โกงเราก็สามารถเปิดได้หมดทุกอย่าง เราเข้าใจว่าเรื่องเงินมันคุยกันยาก แต่ควรต้องคุย เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องเงินงานทุกอย่างมันจะติดขัดไปหมดเลย” โอกิย้ำหนักแน่น
แนวคิดเรื่องระบบที่ดีและความโปร่งใสไม่ใช่สิ่งที่จบในหมู่ผู้ก่อตั้งเท่านั้นแต่ยังนำไปสู่การวางระบบการทำงานกับแบรนด์ที่มาวางขายกับ FRANK! GARCON ทำให้แบรนด์เชื่อใจและอยากวางขายกับพวกเขาไปนานๆ
“ด้วยความที่เรามีแบรนด์วางขายเยอะและอยากทำให้โปร่งใส เราเลยใช้ระบบหลังบ้านที่แบรนด์สามารถล็อกอินเข้ามาดูสต็อกสินค้าของเขาแบบเรียลไทม์ได้ รู้ว่าของชิ้นไหนขายไปวันที่เท่าไหร่ เหลือสต็อกอะไรบ้าง แบรนด์ใช้งานง่าย ตัวเราก็สามารถเช็กได้เหมือนกัน โปร่งใสทั้งเขาและเรา และเรามีวันโอนเงินที่แน่นอน ตั้งแต่ทำมาก็ยังไม่เคยเกินวันที่แจ้งเอาไว้ พยายามให้แบรนด์เชื่อถือเรา” พรและโอกิช่วยกันเล่า ส่วนลูกศรที่ดูแลด้านแบรนด์ดิ้งขอเสริมว่าระบบจ่ายเงินตรงเวลาสุดท้ายแล้วก็กลับมาตอบการสร้างแบรนด์ FRANK! GARCON ให้มั่นคง
“เพราะเราให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่สดใหม่และยังเป็น young designer ซึ่งพวกเขาต้องใช้เงินไปหมุน เราเลยให้ความสำคัญมากกับการจ่ายเงินให้ตรงเวลา ยิ่งเขามีเงินต่อยอดทำโปรดักต์ใหม่เร็วเท่าไหร่ลูกค้าก็จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากเรามากขึ้นเท่านั้น”
เลือกเพื่อนและพาร์ตเนอร์ที่ใช่
FRANK! GARCON เป็นตัวอย่างการทำงานกับเพื่อนที่มีข้อดีมากมายก็จริง แต่สุดท้ายลูกศรย้ำว่าเพื่อนกับพาร์ตเนอร์ที่ดีอาจไม่ใช่คนเดียวกัน อยู่ที่การจัดวางความสัมพันธ์ให้เหมาะสม
“จากประสบการณ์ เรารู้สึกว่าไม่ใช่เพื่อนทุกคนที่จะทำธุรกิจด้วยกันแล้วไปได้ดี ถ้าเป็นเพื่อนเราแฮงเอาต์ด้วยกันจบวันแล้วก็จบ แต่ความเป็นพาร์ตเนอร์มันคือการอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ทำงานด้วยกันตลอดเวลา เราจะต้องอยู่กับเขายิ่งกว่าแฟน
“ถ้าถามเรา สิ่งสำคัญที่ต้องดูในเพื่อนคือทัศนคติในการตัดสินใจ เรา get along ไปกับเขาไหม มีการตัดสินใจที่คล้ายกันหรือเปล่า ถ้าไปคนละทิศละทาง ทำงานด้วยกันปีสองปีอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามองระยะยาวแบบ 10 ปีมันจะมีเรื่องให้เราตัดสินใจเยอะมาก ยิ่งกว่านั้นมันมีเรื่องที่เราจะต้องเห็นต่างกันแน่ๆ เราจะจัดการความเห็นต่างนี้ยังไง เห็นต่างแล้วเรายังเป็นเพื่อนกันอยู่ไหม”
ปัญหานี้ไม่มีวิธีจัดการตายตัว แต่หนึ่งสิ่งที่ลูกศรและทีมแนะนำได้คือให้มองคุณสมบัติของเพื่อนกับพาร์ตเนอร์ให้ชัดเจน แล้วค่อยใช้ความเป็นเพื่อนในจุดที่เหมาะสม
“เพื่อนก็ส่วนเพื่อน แต่เมื่อทำธุรกิจเราก็ต้องมองในมุมของสไตล์การทำงาน ถ้าคนนึงใจร้อน อีกคนควรใจเย็น หรือถ้าใจเย็นทั้งคู่ก็จะดี หรือทำงานแบบกัดไม่ปล่อยไหมหรือทำยังไม่ถึงที่สุดแล้วท้อกลางทาง มันมีปัจจัยร้อยแปดพันเก้า
“อย่างพี่พรกับพี่โอกิเขาทำธุรกิจกันมานานแล้ว สิ่งที่เราเห็นคือเขาประสบความสำเร็จในธุรกิจของเขา พอศรมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง พี่พรก็อาจจะเห็นว่าเราเป็นเด็กที่ตั้งใจ เอาจริงเอาจัง บวกกับการที่เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาเรารู้ว่าการตัดสินใจมันไปในแนวทางเดียวกันมันก็เลยเวิร์ก การทำธุรกิจมันมีเรื่องให้ตัดสินใจเกิดขึ้นบ่อยมากแต่มันจะไปในทางเดียวกันเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องเงินหรือเรื่องดีไซน์”
ถามว่าคิดเหมือนกันขนาดไหน เห็นได้จากคำตอบและเสียงหัวเราะของพรเมื่อเราถามว่าอยากแนะนำอะไรเพิ่มหรือไม่ “คิดเหมือนศรเลย ขอข้ามไปชมเพื่อนเลยได้ไหมคะ”
แน่นอนว่าคำตอบของเราคือได้ และด้านล่างนี้คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาสี่คนถึงเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุดของกัน
You Are My Best Part (ner)
จากลูกศรถึงอั้ม : definition ของพี่อั้มคือเป็ด คือทำได้หลายอย่างในเลเวลที่ดีด้วย บัญชีเขาทำได้ เรื่องครีเอทีฟก็ดีมาก ทำ 3D ได้ ทำกราฟิกได้ แล้วก็มีวิชั่น ซึ่งคนแบบนี้ศรคิดว่าเราต้องการเขาในองค์กร
จากอั้มถึงพร : พี่พรเขาเป็นคนที่มีวิชั่น มองขาดเรื่องธุรกิจ สมมติง่ายๆ ว่าเราต้องเลือกว่าจะไปเปิดร้านที่ไหนเขาก็จะมองขาดว่าที่นี่ดี ที่นี่ไม่ดี
จากพรและโอกิถึงลูกศร : ศรเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เป็นคนที่ตั้งใจจริง ตอนที่เจอกันเขายังเด็กมาก ลุคดูเป็นเด็กน่ารักๆ แต่เวลาทำงานคือจริงจังมากๆ มีความรับผิดชอบ ถึก มายด์เซตดีมาก แล้วก็เป็นคนมีวิชั่น มองภาพอะไรขาด มองไกล เหมือนเรามองประมาณนี้ แต่เขาจะคิดต่อไปอีก บียอนด์ไปอีก
จากลูกศรถึงโอกิ : ศรกับพี่พรเป็นคนไว ส่วนพี่โอกิเขาจะเป็นคนที่คอนทราสต์กับเรา คือสุขุมนุ่มลึก เป็นเจนเทิลแมนพอมีพี่โอกิที่คิดเยอะให้เรา ศรว่ามันบาลานซ์กันได้ดี