วิชาสุดท้ายที่หลักสูตร ABC ไม่ได้สอน

คุยกับโจ้ ธนา และหนุ่มเมืองจันท์ สองผู้ก่อตั้ง ABC ที่ประกาศเลิกทำหลักสูตร ทั้งที่มีจำนวนคนสมัครล้นหลาม

สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ หรือ ABC (Academy of Business Creativity) คือหลักสูตรธุรกิจที่เอาวิทยากรด้านธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์มาให้ความรู้ 

นอกจากความรู้จากประสบการณ์จริงของคนแวดวงต่างๆ หลักสูตรของที่นี่ยังให้มิตรภาพและความทรงจำ ซึ่งไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่านักธุรกิจ (ชั้นนำ) กว่าครึ่งวงการเคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้วทั้งนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทายาทธุรกิจ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั่วฟ้าเมืองไทย หลากหลายอุตสาหกรรม หลากหลายวัย พร้อมใจกันจ่ายเงินหลักแสนบาทสมัครเรียนหนังสือ ในหลักสูตรที่มีชื่อผู้สอนและเนื้อหาที่เรียนแตกต่างจากทุกหลักสูตรในตลาด ไม่ว่าจะเป็น อนันต์ อัศวโภคิน, ประภาส ชลศรานนท์, เศรษฐา ทวีสิน, สุวภา เจริญยิ่ง, สุรชัย พุฒิกุลางกูร หรือแม้แต่เรียนวิชาทำหนังสั้นกับจิระ มะลิกุล 

และไม่ว่างานและหมายนัดประชุมจะยุ่งวุ่นวายแค่ไหน หากได้เข้าเรียน แทบจะไม่มีใครยอมพลาดกิจกรรมทั้งกลางวันและกลางคืนของหลักสูตรนี้ไปได้เลย 

หากใครติดตามข่าวสารแวดวงธุรกิจมาบ้าง ย่อมรู้ว่าหลักสูตร ABC เริ่มต้นจากไอเดียสนุกๆ ของ โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ และ ตุ้ม–สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์  แม้จะออกตัวว่าไม่เคยทำหลักสูตรใดๆ มาก่อน แต่ด้วยแนวคิดที่เฉียบคม ความแปลกใหม่ ความใส่ใจในรายละเอียด และความเอาจริงเอาจัง ก็ทำให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย จนถึงตอนนี้เดินทางสร้างนักธุรกิจมาแล้ว 12 รุ่น 

แรกเริ่มเดิมที Capital ตั้งใจชวนทั้งธนาและสรกลมาถอดรหัสความสำเร็จตลอด 10 ปีที่ทำหลักสูตรธุรกิจนี้ จนกระทั่งรู้ว่าทั้งสองคนตัดสินใจประกาศเลิกทำหลักสูตร ABC โดยจะทำถึงรุ่นที่ 14 ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนสมัครครบเต็มทุกอัตรา

ก่อนจะไปฟังที่มาและเหตุผลของการเลิกทำ เราชวนผู้ก่อตั้งทั้งสองคนย้อนไปคุยถึงปีแรกที่ริเริ่มทำ ตั้งแต่คิดวิชาสนุกๆ วางแผนกลยุทธ์หาคนมาเรียน การคัดคน การแก้เกมในช่วงวันแรกๆ ที่ทั้งคู่ยอมรับว่าแป้ก ไม่เหมือนอย่างที่คิด ไปจนถึงเรื่องบรรยากาศการเรียนการสอนที่ไม่ได้ปาร์ตี้หนักอย่างที่หลายคนเข้าใจ วิธีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่แน่นแฟ้นที่สุด และเคล็ดลับที่ทำหลักสูตรให้ได้ใจผู้เรียนจนมีคนยื่นใบสมัครตลอด ไม่เคยต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียวทำโฆษณาใดๆ

วงการธุรกิจและสร้างสรรค์จะเป็นยังไงในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC แล้ว ไปฟังทั้งสองคนพร้อมกัน

อะไรทำให้คุณทั้งคู่ลุกขึ้นมาจับมือกันทำหลักสูตรที่เป็นที่กล่าวขานในวงการธุรกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ธนา : ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราลาออกจากงานพอดี ตอนแรกอาจารย์เน่ง– ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน เจ้าของและอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ชวนไปสอนหนังสือ พอเสนอให้เขาทำหลักสูตรธุรกิจ อาจารย์เน่งก็สนับสนุนทันที โดยที่เรายังไม่รู้วิธีทำคลาสเรียนเลยนะ ก็เลยไปชวนพี่ตุ้มซึ่งลาออกจากงานมาเหมือนกัน

สรกล : ผมกับโจ้คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทำ Happy Book Day ของสำนักพิมพ์มติชนซึ่งดีแทคมาเป็นสปอนเซอร์หลัก โจ้ก็เป็นตัวละครในหนังสือของผมด้วย ผมเขียนเรื่องโจ้บ่อยมาก ตอนนั้น ผมเพิ่งลาออกจากมติชนมาได้ไม่นาน โจ้มาหาผมพร้อมไอเดียว่าอยากทำหลักสูตรธุรกิจที่รวมสมองซีกซ้าย-ซีกขวา หรือความคิดในฝั่งศาสตร์และศิลป์ พวกเราก็นั่งคิดชื่อวิทยากรกันก่อน

ABC

ในเมื่อต่างคนต่างไม่เคยทำหลักสูตรเรียนกันมาก่อน พวกคุณเริ่มต้นจากอะไร

ธนา : หลักสูตรที่มีในเวลานั้นมักจะมีสถาบันมากำหนดคอนเซปต์และท่าในการเล่าชัดเจน เช่น เรื่องตลาดทุน เรื่องความยุติธรรม เรื่องทหารและความมั่นคงต่างๆ แต่ที่นี่อาจารย์เน่งบอกแค่ว่าอยากทำอะไรทำเลย ทำให้เต็มที่เลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นเดี๋ยวเธอรับผิดชอบเองไม่ต้องเป็นห่วง เพราะฉะนั้นมันเลยไม่มีกรอบตั้งแต่แรก

เราคิดจากคนเรียนมากกว่าว่าเราอยากฟังใคร เราอยากฟัง พี่จิ๋ม–สุวภา เจริญยิ่ง, คุณอนันต์ อัศวโภคิน และเก้ง–จิระ มะลิกุล เราอยากฟังเพราะเราไม่เคยฟังที่ไหน คิดไปสักพักก็อยากเรียนเองขึ้นมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลักสูตรเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อย่างชื่อ ABC ก็ไม่ได้มาจาก Academy of Business Creativity ตั้งแต่แรก แต่เริ่มจากการหาชื่อย่อเล่นๆ แล้วพบว่า ABC มันจำง่ายดี จากนั้นชวน ตูน–สุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์) มาช่วยเขียนคำอธิบายหลักสูตรเพื่อทำเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ดูวิชาการหน่อย

เรื่องจำนวนนักเรียนตอนนั้นคำนวณง่ายๆ ว่าต้องมีนักเรียนสัก 60 คนถึงจะไปได้ ส่วนเรื่องราคาค่าเรียนตั้งไว้ที่แสนกว่าบาทสำหรับการเรียน 3 เดือน ช่วงแรกๆ ก็มีคนบอกว่าแพง แต่เราก็ขอลองดูถ้าสมัครเรียนไม่ถึง 60 คนก็แค่เลิกทำ

นักการตลาดอย่างพวกคุณใช้วิธีไหนหาคนมาเรียน

ธนา : ช่วงแรกเราลองไปโฆษณาก็ไม่เวิร์กนะ ไม่มีใครสมัคร ผมก็เริ่มเขียนลงเฟซบุ๊ก

สรกล : ผมเขียนในเฟซบุ๊ก ในคอลัมน์ และไล่ตามคอนเนกชั่นที่มีเลย ใช้วิธีเล่าสิ่งที่ทำให้เขาฟัง แล้วบอกว่ามาเหอะ มาเรียน

ธนา : เขาก็มาเพราะเกรงใจกัน แม้ว่าจริงๆ ไม่รู้ว่าคืออะไร ด้วยเครดิตของเราสองคนทำให้ตอนนั้นรวบรวมคนได้มาจำนวนหนึ่ง และในที่สุดเราก็ได้นักเรียนรุ่นแรกมา 99 คน เป็นส่วนผสมที่แปลกมาก มีทหาร มีนักธุรกิจ มีซีอีโอ และเจ้าของกิจการเยอะมาก บางคนเป็นแบรนด์คู่แข่งกันในตลาดก็มาเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน มีนักร้อง มีดารา มีอุดม แต้พานิช ด้วย

สรกล : พอเริ่มเรียนวันแรกก็แป้กเลย เพราะคุณครูกับนักเรียนเถียงกัน

ธนา : ใช่ ความครีเอทีฟที่เราคิดว่าดีมาก วันแรกก็แป้กเลย

ABC

เกิดอะไรขึ้น

ธนา : ชีวิตก็แบบนี้ ไม่มีอะไรราบรื่น เราก็กังวลเพราะมีฟีดแบ็กว่าคลาสเรียนอะไรไม่เห็นสนุกเลย พวกเราทำไปก็แก้ไป เพราะความไม่รู้ก็ทำให้ ABC เรามีอะไรบางอย่างที่เป็นซิกเนเจอร์ของเรา นอกจากนี้ช่วงแรกมี เพ็ชร ชินบุตร มาช่วยทำหลักสูตรด้วย เพ็ชรเป็นคนช่วยคิดว่าต้องมีการตั้งกลุ่มเป็นชื่อเมือง หรือต้องมีโครงสร้างหลักสูตรยังไง

กว่าจะมาเป็นวันนี้ เราผ่านอะไรมาเยอะมากเลย สิ่งสำคัญคือเราต้องมองเขาเป็นนักเรียนไม่ใช่ลูกค้า เพราะถ้าเขาเป็นลูกค้า เราจะคิดอีกแบบ เราจะดูแลเขา เราจะพยายามเอาใจเขา แต่เราคิดว่าเขาเป็นนักเรียน เราดูแลเขาดี แต่จะไม่ตามใจ เพราะกติกายังต้องเป็นกติกา

สรกล : ตอนนั้นเราตั้งใจกันว่ายังไงตอนจบก็จะต้องมีทริปไปต่างจังหวัดด้วยกัน โจ้ก็เสนอว่าน่าจะมอบโจทย์ทำหนังสั้นความยาว 5 นาที มีพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) มาสอนวิธีทำหนังสั้นง่ายๆ ใช้เวลาในช่วง 3 วัน 2 คืน ถ่ายทำ 3 ชั่วโมงน่าจะไม่ยากอะไร พี่เก้งฟังก็โอเค แล้วแกเพิ่งมาเล่าตอนก่อนเริ่มทำว่า ทำหนังสั้น 5 นาที คณะนิเทศศาสตร์ใช้เวลาเรียนกัน 1 เทอม แล้วนี่คือนักธุรกิจที่ไม่เคยรู้เรื่องการทำหนังสั้นมาก่อน ต้องเขียนบทเอง ถ่ายทำเองและเล่นเองทั้งหมด กลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายสุดๆ 

รุ่น 1 เราพาไประยอง เป็นรุ่นที่สนุกมากเพราะว่ามั่วมาก แต่ก็ออกมาดีมาก พี่เก้งชอบดูหนังสั้นของ ABC มาก พี่เก้งกับวรรณ–วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ดูหนังสั้นแล้วคอมเมนต์ละเอียดมาก ซึ่งหลังจากนั้นก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ มีคนเข้ามาช่วยมากมาย ที่ดีคือถ้าชาว ABC ไปเจอพี่เก้งข้างนอกแล้วทักทาย พี่เก้งจะถามกลับว่าเล่นเป็นตัวละครตัวไหน เพราะพี่เก้งจำนักเรียนเกือบทุกรุ่นได้จากในหนัง ABC 

ABC

จริงๆ แล้ว ABC เป็นหลักสูตรธุรกิจที่สอนอะไรกันแน่

ธนา : หลักสูตรรุ่นแรกๆ อยู่ในคอนเซปต์การรวมกันของสมองซีกซ้ายและซีกขวา วิทยากรที่มาจะสลับกันอยู่คนละบทบาท เช่น ฟังคุณบุญคลี ปลั่งศิริ เล่าเรื่องธุรกิจจ๋าๆ แล้วก็สลับมาฟังคุณสุรชัย พุฒิกุลางกูร เล่าเรื่องศิลปะการสร้างภาพประกอบโฆษณา

สรกล : บางทีก็มีป๋องแป๋ง–อาจวรงค์ จันทมาศ มาเล่าเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งนักธุรกิจชอบมากนะเพราะมันเป็นโลกใหม่สำหรับเขา การทำหนังสั้นและกิจกรรมแรลลี่ก็เช่นกัน หลักสูตรเราตั้งแต่รุ่นที่ 1 มาจนวันนี้ มันก็มีพัฒนาการอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือเราเองก็เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน พวกเราเริ่มต้นจากความไม่รู้ พอไม่รู้เราก็ลอง ถ้าอันไหนไม่ใช่ก็แค่เปลี่ยน

การเปิดโลกใบใหม่อย่างความคิดสร้างสรรค์หรือเรื่องราวนอกวงการนั้นสำคัญต่อคนทำธุรกิจยังไง ถึงขนาดต้องมีหลักสูตรและเรียนกันจริงจังแบบนี้

ธนา : จริงๆ เราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนั้น เราก็แค่มนุษย์ที่มีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น เลยชอบฟังอะไรที่สนุก เพราะฉะนั้นอันดับแรกคือต้องสนุกก่อน ซึ่งก็ต้องผ่านการทดลองมา อย่างรุ่นแรกเรามีนักวิชาการมาพูด ปรากฏนักเรียนหลับครึ่งห้อง เราก็เรียนรู้ว่าถ้าจะต้องเชิญวิทยากรมาเขาต้องมีความสามารถในการเล่าเรื่องให้สนุก มีทักษะดึงดูดคนดู หลังจากนั้นเราก็มองหาวิทยากรที่มีความซนเป็นสำคัญ 

สรกล : นอกจากเรื่องเล่าที่สนุก วิชาประสบการณ์ของผู้เล่าก็สำคัญ และสิ่งที่ผมกับโจ้ทำเวลามีวิทยากรมาคือนั่งสังเกตปฏิกิริยาผู้เรียนที่มีต่อผู้พูด

ธนา : ใช่ๆ เราต้องคิดละเอียดเพราะว่าอยากให้นักเรียนนั่งฟังได้จนจบ เราซีเรียสกับจำนวนนักเรียนในห้องมาก คือหลักสูตรส่วนใหญ่ที่ผมเคยไปเรียนมา ถ้าวิทยากรน่าเบื่อนักเรียนก็จะนั่งอยู่กัน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปนั่งคุยอยู่นอกห้อง ผมคุยกับพี่ตุ้มตั้งแต่แรกว่าเราไม่อยากให้ห้องเรียนของเรามีบรรยากาศแบบนั้น มาวันนี้เราก็ยังวัดตัวเลขกันอยู่เลยนะ สมมติว่านักเรียนมีประมาณ 140 คน ปกติในห้องมีคนฟัง 100 คนขึ้นไป วิทยากรก็จะตื่นเต้นและสนุกไปด้วย ซึ่งวิทยากรต้องสนุกด้วยนักเรียนถึงไม่ออกไปนอกห้อง 

เราให้ความสำคัญกับห้องเรียนเยอะมาก KPI เราคือจำนวนนักเรียนในห้อง ถ้าคนน้อยเราถือว่าเราเฟลเลย แล้ว KPI เรื่องนี้มันบังคับกันไม่ได้เหมือนเด็กๆ ใครขาดเรียนครูตีมืออะไรแบบนี้ทำไม่ได้ มันก็ต้องขึ้นกับเขา ต้องทำให้เขาอยากมาจริงๆ อยากฟังจริงๆ เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนจะรู้ว่าหลักสูตรเราสนุก ตอนไปเรียนหลักสูตรอื่นเราก็ไม่เคยต้องฟังต้องจดอะไรเยอะขนาดนี้เหมือนกัน

ABC

นอกจากความสนุกแล้ว โจทย์ของการทำ ABC มีอะไรอีกบ้าง

สรกล : เวลาที่คนเราฟังเรื่องเดียวกัน เราขีดเส้นใต้สิ่งสำคัญกันคนละบรรทัดนะ หนังสือแต่ละเล่มที่เราอ่าน เราก็ขีดเส้นใต้ไม่เหมือนกัน เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ผมคิดว่า หนึ่งคือเขาได้วิชาประสบการณ์ นักธุรกิจพวกนี้เขามีประสบการณ์ชีวิตเยอะมาก บางทีเขาเป็นเชื้อไฟสมบูรณ์แล้ว แค่ต้องการประกายไฟบางอย่าง ถ้าในเชิงธุรกิจเขาสามารถเอาประโยชน์นั้นไปต่อยอดธุรกิจ มีเคสเยอะมากเลย อย่างเรื่องการตั้งราคา เขากำลังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ เขาได้กำไรจากสิ่งนี้เลย เขาก็เดินมาบอกว่า พี่ตุ้มผมได้ค่าเรียนคืนแล้ว เขาพูดอย่างนี้เลย อันนี้คือในเชิงธุรกิจ 

อันที่สอง เขาได้ความรู้ใหม่ที่อยู่นอกกรอบเขา โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่เรื่องในวงเขา ผมจำได้เลย มีนักธุรกิจใหญ่ เป็นคนที่คิดธุรกิจตลอดเวลา เขาเป็นคนที่นั่งคู่กับเปิ้ล นาคร แล้วเปิ้ล นาครไม่รู้จักคำว่า KPI คืออะไร นักธุรกิจคนนี้ก็ช่วยอธิบาย 

ต่อมา นิ้วกลม (เอ๋–สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) มาเป็นวิทยากร เขาเล่าประสบการณ์ตอนทำเอเจนซีโฆษณา พอทำดีๆ อยู่ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไปเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจคนนี้ก็ไม่เข้าใจ เขาถามนิ้วกลมว่า “ถามจริงๆ เถอะ เป้าหมายในชีวิตคุณคืออะไร” คือเขาไม่เข้าใจ เพราะว่านักธุรกิจคิดว่าถ้าคุณสั่งสมประสบการณ์ชีวิตไปถึงจุดจุดหนึ่งคุณควรทำมันต่อ เพราะคุณได้ value ตัวเองแล้ว คุณจะไปต่อง่ายขึ้น แต่คุณทิ้งแล้วมาเริ่มต้นใหม่ เขาไม่เข้าใจ เปิ้ล นาคร ก็ต้องอธิบายวิธีคิดของคนทำงานสร้างสรรค์จนนักธุรกิจคนนั้นเข้าใจ อันนี้คือสิ่งที่คุณจะได้จากตรงนี้

ธนา : เรื่องราวของวิทยากรก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเองก็เยอะมาก เพราะว่าในแต่ละรุ่นประกอบด้วยคนที่หลากหลายทั้งวัยและงานที่ทำ มีตั้งแต่อายุ 25-70 ปี คนอายุ 70 คุยกับคนอายุ 25 โลกก็เปลี่ยน คนอายุ 70 คุยกับคนอายุ 25 โลกก็ไม่เหมือนเดิม มีตั้งแต่สายศิลปินจ๋าๆ ที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย กับสายธุรกิจจ๋าๆ ที่ไม่เข้าใจเรื่องอะไรที่มันสวยงามทั้งสิ้น สุดขั้วมากๆ เช่น มียูทูบเบอร์คุยกับเจ้าของโรงเหล็กอย่างนี้มีความคละกันในเรื่องที่แลกเปลี่ยน ได้แชร์ประสบการณ์ หลายคนบอกว่าตอนอยู่บริษัทเขาจะสั่งใครก็ได้ แต่อยู่ที่นี่สนุกกว่าเพราะสั่งใครไม่มีใครเชื่อ เขาจึงได้เจอสิ่งที่เขาไม่เคยเจอในชีวิต เวลาโดนเด็กสั่ง ก็รู้สึกสนุกเพราะได้เรียนรู้

ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้ว่าความหลากหลายของนักเรียนเป็นหัวใจของ ABC เราก็เริ่มหาทางพัฒนาความสัมพันธ์ มีกิจกรรมที่สร้างทีมเพื่อให้เขาสนิทกัน เช่นกิจกรรมกลางคืนซึ่งคนชอบเข้าใจว่าปาร์ตี้กินเหล้าแต่จริงๆ ที่นี่เราเคร่งครัดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์มากๆ เราไม่อยากเห็นใครเมา ซึ่งงานกลางคืนนั้นก็เป็นการบ้านอีกเหมือนกัน พวกเขาจะได้ประชุม เตรียมแผนการแสดง ได้เห็นการพลีชีพ ได้เห็นการเสียสละเล่นในสิ่งที่ไม่เคยเล่นที่ไหน และได้กำลังใจจากเพื่อนๆ เป็น team building ที่แทรกอยู่ในเนื้อหาและกิจกรรม

ABC

อะไรคือกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่และทำให้ ABC ประสบความสำเร็จ

ธนา : อย่างแรกหลักสูตรเราคือการเดินทาง เป็น journey ที่เรามีการวางจุดเริ่มต้นต่อเนื่องไปถึงตอนจบ อย่างที่สองเป็นหัวใจของการทำหลักสูตรเราเลยนะ นั่นคือ คนทำหลักสูตรอย่างเรากับพี่ตุ้มต้องแทบไม่มีตัวตน ช่วงแรกๆ คนอาจจะสนใจเพราะพวกเราเป็นคนทำ แต่จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น เราเชื่อว่าเมื่อเรายิ่งไม่มีตัวตนเท่าไหร่ หลักสูตรก็จะยิ่งเด่น อย่างตอนที่เราสัมภาษณ์วิทยากรบนเวที เราต้องแทบจะไม่มีตัวตนในเรื่องราวนั้น คือใครถามไม่รู้ ขอให้เป็นคำถามที่ดี วิทยากรจะได้พูดเยอะๆ หรือเวลานักเรียนเล่นสนุกทำกิจกรรมกัน เราก็เป็นแค่คนสร้างบรรยากาศให้เขาสนิทกัน ยิ่งเราไม่มีตัวตนเลยยิ่งดี เขาก็จะยิ่งเกรงใจ เรารู้สึกว่าความไม่มีตัวตนของคนทำหลักสูตรนี่แหละสำคัญมาก

สรกล : พี่ตา–ปัญญา นิรันดร์กุล เคยพูดว่า พิธีกรที่ดีที่สุดก็คือคนที่ทำให้แขกรับเชิญที่มารายการเด่นที่สุด พิธีกรที่ดีจะต้องไม่มีตัวตน แต่เป็นคนที่เชื่อมต่อร้อยเรียงเรื่องราว ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งเวลาคนดูเขาจำได้ เขาก็จะพูดถึงรายการนี้ที่ปัญญาเป็นคนทำ ABC ก็เช่นกัน อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะเรื่องของการใส่ใจรายละเอียด ซึ่งผ่านการออกแบบมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร ห้องน้ำ เราจะดูละเอียด

ABC

ดูยังไง

ธนา : แม้ในห้องเรียนจะมีคน 140 คน พอลูกอมใครหมดแม่บ้านเขาจะรู้ว่าคนนี้ชอบกินอะไร เขาก็จะเติมลูกอมให้ ซึ่งเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้สร้างความประทับใจ คนที่มาเรียนบางคนเขาใช้บริการโรงแรมหรือร้านอาหารระดับ 5-6 ดาว มาทั้งชีวิต เขายังประทับใจและออกปากชมการบริการของทีมผู้ดูแล อย่างอาหารกลางวัน เราไม่เสิร์ฟอาหารแพงๆ นะ แต่เลือกสรรสตรีทฟู้ดร้านที่ไปกินยาก หาที่จอดรถยาก เราก็ยกมาเป็นอาหารกลางวันให้เขาได้กินที่นี่ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อลุงปานที่เลิกไปแล้วย้ายร้านมาอยู่อัสสัมชัญ เราก็ไปตามมาออกร้าน

สรกล : เรื่องแม่บ้านนี่เราไม่เคยต้องไปสอนเขานะ หรือบางเรื่องเราเป็นคนคิด น้องเป็นคนคิดโดยมีโจทย์ว่าทำให้คนที่มาเรียนรู้สึกว้าวโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่คือรายละเอียดเล็กๆ 

ธนา : เช่น ช่างภาพเราเนี่ย ถ่ายรูปหมู่ปั๊บประมาณ 5 นาที ทุกคนก็จะได้รูป ทั้งหมดเป็นเรื่องรายละเอียด

อะไรคือที่มาของความละเอียดเหล่านี้

ธนา : พี่ตุ้มเป็นคนที่เซนซิทีฟกับความรู้สึกของนักเรียนมาก เรากลัวว่าจะทำอะไรไม่ดี ไม่ถูกใจ ซึ่งตอนจบ ABC รุ่นแรก มีคนเดินมาถามว่า “พี่ทำขนาดนี้ พี่คุ้มเหรอ พี่ไม่ขาดทุนเหรอ” ทำให้เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องเงินเลยนะ แต่มันใช้ความใส่ใจในรายละเอียดทำให้เขารู้สึกว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ ขนาดนั้นก็ทำให้ได้ อย่างในห้องน้ำจะมีตู้หนึ่ง ในนั้นมีของทุกอย่างที่ผู้หญิงและผู้ชายใช้ ประมาณ 30-40 ไอเทม มีน้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟัน ผ้าอนามัย แป้ง มีทุกอย่าง มาจากการสังเกตว่าคนถามหาอะไรบ้างตลอด 10 กว่ารุ่นที่ผ่านมา

แล้วจริงๆ ที่ทำอยู่มันคุ้มไหม

ธนา : คุ้มนะ

สรกล : คือมันไม่ใช่ที่ราคา อย่างที่เล่าเรื่องอาหารกลางวันที่ไม่ใช่อาหารแพงหรู แต่เป็นอาหารร้านดังและอร่อย เราใช้วิธีนี้เพื่อดึงดูดให้เขาอยากมาทานมื้อเที่ยง เพื่อจะได้เข้าเรียนช่วงบ่ายทันเวลา และเหมือนเป็นการผ่อนคลายก่อนเรียน ไม่ใช่มาถึงก็เข้าห้องเรียนเลย แต่ถ้าอาหารมันเฉยๆ เขาอาจจะมาบ่าย 2-3 

ธนา : จริงๆ เรื่องคุ้มหรือไม่ มันมีคุ้ม 2 คุ้ม คือนักเรียนรู้สึกคุ้มมั้ย ถ้าเขารู้สึกคุ้มก็จะไปบอกต่อ อันนี้ก็ชัดเจน ส่วนเราคุ้มมั้ย เราก็คุ้มแหละ ถ้าขาดทุนเราคงทำต่อไม่ได้

สรกล : มากกว่ากำไรคือคำขอบคุณจากผู้มาเรียน มันไม่มีมูลค่าเป็นตัวเลข แต่ให้ความรู้สึกทางใจว่าสิ่งที่เราทำมันโดนใจเขานะ คือเขาจ่ายตังค์แล้วยังมาขอบคุณเราอีก ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ

ABC

อะไรคือมาตรวัดความสำเร็จของหลักสูตร ABC

สรกล : คือผมได้ยินบ่อยๆ ว่าการตลาดที่ดีที่สุดคือการบอกต่อ และการทำ ABC ก็ได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้ เพราะหลังจากรุ่นแรก เราไม่เคยต้องเสียเงินเพื่อการโฆษณาแม้สักบาทเดียว สิ่งที่เรากลัวมากกว่าคือกลัวคนล้น อย่างตอนนี้ผู้สมัครเรียนมีจำนวนล้นไป 3 รุ่นแล้ว (รุ่นสุดท้ายคือรุ่นที่ 14 เป็นกลุ่มผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครมาตั้งแต่รุ่นที่ 12)

ธนา : ช่วงหลังๆ ก็เลยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับที่ไหน เพราะมันเต็มของมันมาเงียบๆ ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา

หลักสูตร ABC มีหลักการหรือวิธีคัดคนมาเรียนยังไง

ธนา : ยุคแรกเรายังใช้วิธีให้เขียนใบสมัครเข้ามา ซึ่งก็ใช้วิธีนี้จนมาถึงรุ่นที่ 8-9 แต่เพราะใบสมัครเยอะเกินไป เราจึงเพิ่มเงื่อนไขว่าคนที่จะสมัครต้องมีนักเรียนรุ่นก่อน recommend หรือรับรองมา เหมือนสมาชิก sport club คนที่แนะนำต้องรับผิดชอบด้วยนะถ้าเขาเกเรไม่มาเรียน เราจะโทรไปดุคนที่แนะนำ วิธีนี้ทำให้ศิษย์เก่ากลัวมาก กลัวเขาจะเสียชื่อ ดังนั้นนักเรียนรุ่นหลังๆ ก็จะถูกเตรียมพร้อมมาประมาณหนึ่ง ว่าที่นี่มีกฎนะ มันก็จะเกิดกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ดี

สรกล : วิธีนี้ยังเป็นกันชนที่ดีด้วย สำหรับนักเรียนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ถึงเขาใช้ชื่อว่านักเรียนแต่เขาก็เป็นนักธุรกิจใหญ่ อยู่ดีๆ จะเข้าไปพูดเตือนก็ทำได้ยาก แต่กับศิษย์เก่าซึ่งเราก็สนิทกันแล้ว มีอะไรเราก็โทรรายงานหรือสอบถามได้

คิดยังไงเมื่อมีคนตั้งใจมาเรียน ABC เพื่อคอนเนกชั่น 

สรกล : แม้ใครจะเข้าใจว่าหลักสูตรนี้ช่วยสร้างคอนเนกชั่นหรือความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ แต่ด้านหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ทุกคนรู้จักกันจากตัวตนที่อยู่ใน ABC ไม่ได้รู้จักว่าคนนี้คือใคร คนบางคนนี่ไม่รู้เลยว่าเพื่อนที่เรียนข้างๆ กันคือทายาทธุรกิจใหญ่ ทำธุรกิจอื่นๆ มากมาย ไปรู้กันตอนแนะนำตัวตอนเรียนจบ

อะไรคือความเป็น ABC ที่คนไม่ค่อยรู้

สรกล : ก่อนจะเริ่มคลาสที่นี่เรามีวันปฐมนิเทศที่จริงจังมาก สไลด์เยอะมากและเพิ่มจำนวนหน้าขึ้นทุกรุ่น โดยเฉพาะข้อห้ามปรามที่เยอะมาก

ธนา : โดยเฉพาะเรื่องเครื่องดื่มมึนเมา คนอาจคิดว่า ABC ปาร์ตี้ดื่มเหล้าฟรีสไตล์ จริงๆ แล้วเราเข้มและโหดเรื่องการจำกัดแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อไม่มีแอลกอฮอล์ มิตรภาพก็งอกงามได้ง่ายกว่า สมมติมีคนดื่มเหล้ามากๆ แน่นอนว่าเพื่อนเกินครึ่งไม่ดื่มเขาก็กลับบ้าน บรรยากาศก็เสีย ทั้งยังเสี่ยงต่อการทะเลาะกัน เมื่อเราทำให้เห็นว่าหลักสูตรนี้ปลอดภัยจริงไว้ใจได้ หลายๆ คนจึงกล้าแนะนำลูก แฟน หรือพี่น้องมาเรียน

นอกจากนี้มีเรื่องการให้เกียรติสุภาพสตรี ให้เกียรติเพื่อน แล้วก็ให้เกียรติสถาบันเวลาไปต่างจังหวัด อย่าไปเบ่ง อย่าพูดจาไม่ดี เหมือนนักเรียนเลย คือมีกฎระเบียบที่ละเอียดมาก ซึ่งถ้าใครไม่มาปฐมนิเทศวันแรก เราก็จะตามไปปฐมนิเทศให้ครบทุกคนนะ เพราะถือว่าตกลงกันแล้ว กติกาคือแบบนี้ เพราะฉะนั้นนักเรียนจะเกรงใจมาก หรือถ้าเล่นเกมกันก็คืออย่าโกรธเพื่อน บางทีเรื่องมันเล็กน้อย บางคนติดนิสัยตุกติก ในการแข่งขัน อยากให้เขามีมุทิตาจิต คือยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี แล้วคนอื่นคนนั้นนี่คือเพื่อนเราด้วยนะ เป็นสิ่งที่เราพยายามจะสอดแทรกอยู่ในหลักสูตร

เราคิดว่ากำลังสร้างที่นี่ให้เป็นสังคม giver นะ เราพยายามจะบอกว่าคนทุกคนมีทั้งบวกและลบ แต่อยู่ที่นี่เราอยากให้ทุกคนหันด้านดีเข้าหากัน แล้วก็ช่วยเหลือกัน เสียสละกัน ไม่เอาเปรียบกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรารู้สึกว่าทุกคนมีแสงตลอดเวลา และถ้าเราไม่หยิบแสงหรือชี้นำอะไรแสงเลยสุดท้ายมันจะเผากันเอง ดังนั้นเราต้องพยายามเอาแสงคนนี้มาตรงนี้ อย่ายิงกันเอง เขาไม่ใช่ศัตรู อย่ายิงเขา คือเราไปห้ามให้เขาไม่มีแสงไม่ได้เพราะคนที่มาทุกคนเขามีแสงหมด แต่เราจะทำยังไงให้แสงมารวมกันแล้วเป็นแสงลำใหญ่ๆ ที่มีพลังแทนที่จะยิงกันเอง ข้อดีของกฎระเบียบคือเขาจะเข้าใจที่มาที่ไปของหลักสูตร ซึ่งเราเล่าเรื่อง giver ตั้งแต่วันแรกเลย นี่คือเป้าประสงค์ของเราในหลักสูตรช่วงหลังๆ และเราพยายามจะไปเป้านี้ด้วยกัน

ABC

วิธีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปอยู่ ในแบบฉบับของ ABC เป็นยังไง

ธนา : เรามี ABC Talk ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนยกมือเสนอตัวเป็นคนเล่าเรื่องในเวลา 15 นาที สัปดาห์ละ 2 คน โดยมีผมและพี่ตุ้มเป็นโค้ชติวเข้มวิชาเล่าเรื่อง เรื่องที่เล่ามีหลากหลายมาก ตั้งแต่ชีวิต ลูก การเจ็บป่วย อกหัก ลดน้ำหนัก หลายครั้งเป็นทอล์กที่เปลี่ยนชีวิตจริงๆ บางคนไม่เคยพูดในที่สาธารณะมาก่อน ทำให้หลายคนกล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง

สรกล : อย่างเรื่องหนังสั้น ในวินาทีแรกไม่มีใครเชื่อว่าตัวเองจะทำหนังสั้นได้ แต่เมื่อผ่านมาได้เขาก็เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ มีนักธุรกิจบางคนบอกว่าหลังจากทำหนังสั้นเสร็จแล้ว เวลาเอเจนซีโฆษณามานำเสนอเขาจะไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่ เพราะเขารู้ว่ามันยากแค่ไหน ซึ่งต้องให้เครดิตมหาวิทยาลัยศรีปทุม คือถ้าไม่ได้ทำงานกับอาจารย์เน่ง หลักสูตร ABC คงไม่สำเร็จอย่างวันนี้ อย่างหนังสั้นเรามีน้องๆ จากคณะนิเทศศาสตร์มาช่วย 50-60 คนมาเป็นกองหลังคอยซัพพอร์ต ช่วยตัดต่อหรือเสกทุกอย่างได้หมดเลย

นอกจากความรู้และมิตรภาพ อะไรคือสิ่งที่หลักสูตร ABC ให้กับผู้เรียนอีกบ้าง

ธนา : ให้ความทรงจำ โมเมนต์ที่ได้ทำอะไรแบบนี้กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นความสนุก อุปสรรค การเสียสละ ความน่าอาย เรื่องท้าทาย ความเหนื่อยล้า ได้ฟังเรื่องเล่าชีวิตของเพื่อน ได้เห็นว่าเขาเจ๋งแค่ไหน ต้องยอมรับว่ายิ่งอายุเยอะขึ้น ความทรงจำยิ่งงอกได้น้อยลง เพราะเราทำงาน routine พอมาเจอประสบการณ์แบบนี้มันก็ทำให้ขนลุกซู่ซ่าเหมือนกัน 

จริงๆ พวกเราเคยทำหลักสูตรย่อย ABC Real เน้น real estate ซึ่งก็ดีนะ เราทำไป 2 รุ่น ปัญหาของผมกับพี่ตุ้มคือเราไม่ค่อยเข้าใจ real estate พอเวลาวิทยากรมาบรรยายเราก็จะสัมภาษณ์ได้ประมาณนึงเพราะเราไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง แล้วเราก็เคยทำ ABC Talent เป็นหลักสูตรที่ออกแบบเพื่อเด็กอายุ 20-30 ซึ่งเรารู้สึกว่าตัวเองแก่เกินไปแล้ว จริงๆ ดีมากเลยนะพวกเขาเพิ่งเริ่มทำงานก็จะมีความซ่า เราก็พยายามจะสอนไปในทางที่คนรุ่นนี้ควรจะรู้ แต่มันต้องใช้พลังงานเยอะมาก เพราะพวกนี้มันปาร์ตี้หนัก (หัวเราะ) ทำได้ 3 รุ่นก็รู้สึกว่าเราแก่เกินไปแล้ว ดังนั้นถ้านับรวม ABC ตอนนี้ก็มี 12+3+2 เท่ากับประมาณ 17 รุ่น

สถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทบการเรียนการสอนแค่ไหน

สรกล : ปัญหานำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ทำให้มี Virtual ABC มีเกมออนไลน์ให้สะสมคะแนน หรือกิจกรรมท้าให้ออกไปเต้นหน้าร้านสะดวกซื้อ หรือแต่งตัวเป็นตัวละครในดิสนีย์แล้วถ่ายรูปส่งมาประกวดกัน ซึ่งถ้าไม่มีโควิดก็ไม่มีทางคิดไอเดียนี้ออกมาได้ เป็น ABC Multiverse ที่ใช้เล่นกันอยู่ในตอนนี้

จากวันแรกที่เริ่มต้นทำด้วยความสนุก พอมาถึงวันนี้ พวกคุณยังรู้สึกสนุกเหมือนเดิมอยู่ไหม มีเรื่องไหนที่ไม่สนุกแล้วบ้าง

สรกล : ตอนเริ่มต้นครั้งแรกพวกเราเต็มไปด้วยความไม่รู้ แต่ก็มาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เป็นบทเรียนชีวิตบทหนึ่งที่ไว้บอกคนอื่นได้ว่าการเริ่มต้นด้วยความไม่รู้นั้นดีแค่ไหน ในการทำงานก็คือการเดินทาง จากวันแรกถึงวันนี้ ใครที่เรียนรุ่น 1 แล้วมาดูรุ่นนี้จะเห็นว่ามันต่างกันเยอะมาก มีพัฒนาการเยอะ แต่ถ้าไม่มีรุ่น 1 ก็ไม่มีวันนี้

ตอนนี้ยังสนุกอยู่ แต่ผมรู้ว่าตัวเองทำอะไรต่อเนื่องยาวนานมากๆ ไม่ได้ เพราะความตื่นเต้นหรือความสนุกจะลดลง ก็บอกเรื่องนี้กับพี่เน่งและโจ้ไปเป็นปีแล้ว

ธนา : จริงๆ ยังสนุกอยู่นะ ได้เห็นครอบครัว ABC ที่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่เราก็รู้สึกว่าเราควรจะจบเมื่อถึงตอนที่พีคที่สุด ตอนที่คนโหยหา อยากเรียน เหมือนเรากำลังกระชากปลั๊กออกตอนที่พีคที่สุด หนังจะจบแล้ว พระ-นางกำลังรักกันเวลานั้นแหละให้ถอดปลั๊กเลย มันจะกลายเป็นที่จดจำ แต่ถ้าเรายังไปต่อ ค่อยๆ ลดอารมณ์ลง soft landing คนก็จะไม่จดจำ 

เราคุยกับพี่ตุ้มมาเรื่อยๆ ว่าเราควรจะเลิกเมื่อไหร่ พี่ตุ้มกำลังจะอายุ 60 เราก็คิดวางแผนไว้ถึงรุ่นที่ 14 หรืออีก 2 รุ่นต่อจากนี้ แต่ว่าไม่ต้องสมัครมานะ เพราะนักเรียนที่มีอยู่ตอนนี้ล้นมาถึงรุ่นที่ 13 และ 14 แล้ว ซึ่งมีนักเรียนรุ่นละ 140 คน แต่ตอนนี้รับเต็มไปแล้ว และมีคนสำรองอยู่อีกเกือบร้อยคน ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าการให้สัมภาษณ์ในวันนี้ไม่ใช่การโฆษณาให้มาสมัครเรียน เพราะเราปิดรับสมัครไปหมดแล้ว และจะไม่มีการเปิดรับสมัครอีก

ตอนนี้รู้สึกเหมือนกำลังถูกดึงปลั๊กแล้วจริงๆ

ธนา : ภาษาผมเรียกว่าจบแบบเขาทราย (เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย) คือจบตอนที่มันยังพีคอยู่ หรือตอนนักเรียนยังสมัครกันล้นอยู่ เราก็จบแบบสวยๆ ถามว่าเสียดายไหม แน่นอนเสียดาย มีหลายคนถามว่าจะเลิกทำไม คนยังเยอะอยู่เลยยังทำได้ถึงรุ่นที่ 20 สบายๆ แต่เราทั้งคู่คิดว่าเราต้องจบตอนพีค จบตอนที่เราไม่ค่อยอยากจบน่าจะเป็นการจบที่ดีที่สุด เห็นไหมว่าทุกวันนี้คนยังพูดถึงเขาทรายอยู่เลย เราอยากจบแบบไหน อยากจบแบบเขาทรายหรือนักมวยทั่วไป ถ้าจบแบบเขาทรายคือจบที่ยก 14 

สรกล : เรารู้สึกว่าจังหวะนี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เราจะทำต่อก็ได้แต่เราไม่ทำ เลิกในตอนที่ยังไปได้ ดีกว่าทำไปแล้วแผ่วลงในตอนท้าย แล้วต้องไปประกาศโฆษณา ไปง้อนักเรียนว่ามาสมัครเถอะ อันนี้คือประกาศเลิกโดยที่ไม่รับสมัครแล้วด้วยนะ ขออภัยด้วยมันเต็มแล้วจริงๆ

วงการธุรกิจและสร้างสรรค์จะเป็นยังไงในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC แล้ว

ธนา : โลกนี้มันกว้างใหญ่ หลักสูตร ABC เราไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือสำคัญกับใครขนาดนั้น เราก็แค่ดูแลนักเรียนพันกว่าคน เทียบกับประเทศไทยที่มีหลายสิบล้านคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียนรู้ระหว่างทางของพวกเราทั้งหมด จากปัญหาที่แก้ไขหรือจากการลุกขึ้นมาใส่ใจกับรายละเอียด 

สรกล : เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่เกินไปมาก (หัวเราะ) ผมอยากตอบว่าวงการธุรกิจและสร้างสรรค์ในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC ก็ยังเหมือนเดิม เพราะเราเล็กมากครับ ที่สำคัญเราไม่ได้สำเร็จทุกอย่างนะ มาพูดวันนี้เหมือนเราทำสำเร็จทุกเรื่อง แต่จริงๆ มีความล้มเหลว มีบทเรียนอยู่ในนั้นเยอะ ซึ่งผมรู้สึกว่าสิ่งที่หลักสูตร ABC กำลังบอกก็คือ ทุกคนเรียนรู้จากสิ่งที่เราไม่รู้ได้ โลกไม่ได้มีเพียงแต่ที่เรารู้ มันมีอะไรมากกว่านั้น เราแค่ต้องทลายกรอบหรือเปิดใจกว้างยอมรับ ทั้งนี้เหมาะไม่เหมาะค่อยว่ากันอีกที หรืออาจทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อไปทำอย่างอื่น ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ บางอย่างไม่รู้เพราะว่าไม่เคยทำ ไม่เคยทดลอง ถ้าคุณมีคัมภีร์นี้อยู่ในใจ คุณจะทำอะไรก็ได้ อย่างเรื่องของนักธุรกิจที่ไม่เคยทำหนังสั้น แต่ทำออกมาแล้วใช้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

การทำหลักสูตร ABC เปลี่ยนความเชื่อเรื่องไหนของคุณไปตลอดกาลบ้าง

สรกล : ผมมองว่าทุกปัญหานำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่นี่มีสิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่ง นั่นคือมันเป็นงานที่ไม่ได้มาวางนโยบาย เป็นงานที่ลงไปปฏิบัติ แล้วก็จะเห็นปัญหาเยอะก็เลยต้องลงไปแก้ปัญหา เรื่องที่สองคือเวลาทำงานคู่กับโจ้ ผมคิดบางอย่างไม่เหมือนเขา แต่มันดีมาก เป็นการทำงานที่ดีมาก เรียนรู้วิธีคิดแบบซีอีโอคู่ ที่โจ้แนะนำ คือถ้าคนหนึ่งตัดสินใจอะไรไปแล้วแม้ไม่เห็นด้วยก็ให้ทำก่อน แล้วค่อยมาถกเถียงกันทีหลัง (แรงบันดาลใจจากคุณวิชัย เบญจรงคกุล และคุณซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอของ DTAC) งานก็เลยเดินไปได้ดี ทีมงานไม่สับสน โจ้เป็นผู้นำที่มีก๊อกสอง คือที่คิดว่าดีแล้วเขาจะดันให้ดีที่สุดให้ได้ ซึ่งผมไม่มีแรงขนาดนั้น แล้วต้องชมทีมงานด้วย เป็น avengers มาก พวกเขาคิดแทนเราหลายๆ อย่าง เช่นพวกรายละเอียดที่เรานึกไม่ถึง ผมเชื่อว่าพวกเขาเป็นมืออาชีพที่เก่งมาก บางอย่างพวกเขามาคุมงานได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ แล้วก็อีกเรื่องที่สำคัญ การทำงานที่ดีจะต้องมีอาจารย์เน่ง เป็นผู้ใหญ่ที่ใจใหญ่มากคือเขาไม่เข้ามาก้าวก่าย แค่คุ้มครองอยู่ข้างหลัง

ธนา : สำหรับเราคือเรื่องทุกคนมีด้านดี หลายครั้งเราได้รับคำเตือนว่าให้ระวังนักเรียนคนนี้เพราะเขาเป็นคนอันตราย หรือเคยไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเรามีกฎชัดเจน มีกรอบว่าหลักสูตรนี้เราทำเพื่อแบบนี้ ทุกคนไม่มีใครร้าย พอเรามีกรอบชัดเจนเขาก็ปฏิบัติตาม แล้วก็เป็นนักเรียนที่น่ารัก เราก็เฝ้าระวังนะ ขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจว่าทุกคนมีด้านดี ดังนั้นถ้าเราหันด้านดีเข้าหากัน มันก็จะเป็นสังคมที่ดี

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like