Little Big Steps
วิธีฟูมฟัก Little Fits แพลตฟอร์มเช่าเสื้อผ้าลูกน้อยรายแรกของไทยเพื่อแก้ปัญหาขยะเสื้อผ้า
เด็กเล็กโตเร็วกว่าที่คิด…
ในช่วงวัย 0-2 ขวบ เด็กอาจใช้เสื้อผ้ามากถึง 90 ชิ้น หากนับรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตัวเลขอาจพุ่งสูงถึงหลักแสนบาท เพราะร่างกายของเด็กวัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่เพียงไม่กี่สัปดาห์อาจถูกทิ้งโดยไม่ทันได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า
ปัญหานี้เป็นจุดเริ่มต้นของ Little Fits บริการเช่าเสื้อผ้าเด็กตั้งแต่ 0-2 ขวบรายแรกของไทย ที่ช่วยพ่อแม่ลดภาระค่าใช้จ่ายและลดขยะเสื้อผ้า ด้วยระบบการเช่าที่สามารถเปลี่ยนไซส์ได้ตลอดเวลา
ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียนี้คือ ต้า–ธนกฤต จินดามัยกุล และ เซน–นรเทพ ถนอมบุญ สองนิสิตปี 4 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มองเห็น pain point ของการที่เสื้อผ้าเด็กถูกใช้เพียงชั่วคราวและกลายเป็นขยะเร็วเกินคาด พวกเขาตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนปัญหานี้ให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
First Steps
กว่าจะมาเป็น Little Fits ต้องย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2567 ทั้งคู่เป็นนิสิตในภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ทั้งสองจะไม่ได้เรียนในสายแฟชั่น ออกแบบเสื้อผ้า หรือบริหารธุรกิจมาโดยตรง แต่ด้วยความสนใจปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว จึงตัดสินใจร่วมมือกันสร้างแพลตฟอร์ม Little Fits บริการเช่าเสื้อผ้าเด็กที่เปลี่ยนไซส์ได้ตลอดเป็นรายแรกของไทย
“ผมชอบแก้ปัญหาและเคยทำโปรเจกต์แผนธุรกิจเพื่อประกวดในมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายโปรเจกต์เหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อ ผมจึงเริ่มมองหาโอกาสที่จะใช้ทักษะของตัวเองในการแก้ปัญหาให้เกิดผลที่จับต้องได้” ต้า ผู้ร่วมก่อตั้ง Little Fits เล่า
ขณะเดียวกัน เซนได้ค้นพบอีกหนึ่ง pain point ที่สะท้อนชัดในชีวิตประจำวัน คือปัญหาเรื่องเสื้อผ้าเด็กวัย 0-2 ขวบ ที่พ่อแม่มักจะต้องเปลี่ยนทุก 2-3 เดือน เขาเล่าว่าปัญหานี้ไม่เพียงเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่ยังสร้างขยะเสื้อผ้าจำนวนมาก ทั้งสองจึงเริ่มต้นจากจุดนี้และค่อยๆ พัฒนาไอเดียจนกลายเป็นแพลตฟอร์ม Little Fits
“เราลงมือค้นคว้าอย่างจริงจังมาก ทั้งการหาข้อมูลออนไลน์ ไปงานแฟร์แม่และเด็ก และพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หลายคน กระบวนการนี้ใช้เวลานานถึง 3-4 เดือน เพื่อให้เข้าใจ pain point ที่แท้จริง เราพบว่าสิ่งที่พ่อแม่หลายคนย้ำตรงกันคือปัญหาเรื่องการเปลี่ยนไซส์บ่อย เสื้อผ้าที่เพิ่งซื้อมาใส่ได้เพียง 1-2 ครั้งก็เล็กเกินไป และส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะส่งต่อไปที่ไหน ปัญหานี้กลายมาเป็นจุดตั้งต้นของ business model ที่ตอบโจทย์ทั้งการลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาเสื้อผ้าที่เหลือใช้” ต้าเล่า
การเก็บข้อมูลไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสัมภาษณ์ แต่ยังรวมถึงการวิเคราะห์ปริมาณขยะจากเสื้อผ้าเด็กในประเทศไทย เด็กวัย 0-2 ขวบแต่ละคนอาจใช้เสื้อผ้าถึง 90 ชิ้น หากคิดจากจำนวนเด็กประมาณ 1 ล้านคนในแต่ละปี เท่ากับว่ามีเสื้อผ้าถูกใช้งานเพียงชั่วคราวและกลายเป็นขยะมากถึง 90 ล้านชิ้น
First Words
Little Fits เลือกดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ 100% เพื่อให้การใช้งานสะดวกและเข้าถึงพ่อแม่ยุคใหม่ได้ง่าย โมเดลธุรกิจนี้ไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว แต่ยังช่วยลดปริมาณขยะเสื้อผ้าเด็กในสังคมไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งคู่ยังมองว่าธุรกิจตนเองเป็น niche market หรือตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในฐานะร้านเช่าเสื้อผ้าเด็ก ที่ต้องเจาะกลุ่มพ่อแม่ยุคใหม่ ความยากจึงตกมาอยู่ที่การสร้างการรับรู้ และทำให้ลูกค้ากล้าเปิดใจลองใช้บริการ
ทีม Little Fits ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย โดยการทำคอนเทนต์ให้สนุกและน่าสนใจ เพื่อถ่ายทอดความตั้งใจของแบรนด์และบริการเช่าเสื้อผ้าเด็กในรูปแบบที่เข้าใจง่าย
“โจทย์สำคัญคือทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าเราคืออะไร เพราะบริการของเราไม่ใช่การเช่ารายชิ้นระยะสั้น แต่เป็นการเช่าระยะยาวที่ช่วยแทนการซื้อขาด” ต้าเล่าถึงความท้าทายในการสื่อสารช่วงแรก ก่อนที่เซนจะอธิบายเสริม
“คนส่วนใหญ่จะไม่ชินกับการเช่าเสื้อผ้าเด็ก เราต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเราไม่ใช่แค่การเช่าเสื้อผ้า แต่เป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ลดปริมาณขยะ และสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับครอบครัว เราคิดว่าเสื้อผ้า 1 ชิ้นควรจะหมุนเวียนได้อย่างน้อย 3 ครอบครัวหรือการเช่า 3 ครั้งซึ่งจริงๆ อาจจะเกินกว่านั้นด้วยซ้ำ”
คำถามที่พบบ่อยที่สุดจากกลุ่มพ่อแม่คือ รายละเอียดเกี่ยวกับบริการเช่าเสื้อผ้ามีอะไรบ้าง คิดเป็นประมาณ 70% ของการสอบถามทั้งหมด ทีมงานจึงมุ่งเน้นการให้ข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ลูกค้ากล้าทดลองใช้ ปัจจุบันเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่ดูคอนเทนต์ของแบรนด์ หลายคนสนใจและอยากทดลองใช้บริการหลังชมวิดีโอที่อธิบายกระบวนการอย่างละเอียด
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่คุ้นเคยกับโซเชียลมีเดียหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ ในกรณีนี้ ทั้งคู่เลือกตอบคำถามและให้ข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อขจัดความกังวลและสร้างความมั่นใจในบริการของ Little Fits พวกเขามองว่าการให้ความรู้เชิงลึกเช่นนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความน่าเชื่อถือในระยะยาว
First Care
การเริ่มต้นใช้งาน Little Fits ทำได้ง่ายๆ เพียงลูกค้าสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ จากนั้นเลือกแพ็กเกจและชำระเงินตามที่กำหนด เสื้อผ้าจะถูกจัดส่งถึงบ้าน และเมื่อลูกค้าต้องการเปลี่ยนไซส์ สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์หรือแอดไลน์ของบริษัทเพื่อดำเนินการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ปัจจุบันแพ็กเกจของ Little Fits มีให้เลือก 2 แบบ คือ แพ็กเกจ 5 ชิ้น ราคา 690 บาทต่อเดือน และแพ็กเกจ 9 ชิ้น ราคา 1,090 บาทต่อเดือน ในอนาคตทางแบรนด์มีแผนจะเพิ่มทางเลือกให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านจำนวนเสื้อผ้าและความคุ้มค่า
หนึ่งในแนวคิดที่โดดเด่นของ Little Fits คือโครงการ Little Fits BuyBack ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งจากแบรนด์ และขายคืนกลับมาได้ ถือเป็นระบบแรกในไทยที่นำเสื้อผ้ากลับมาหมุนเวียนใช้งานอีกครั้ง ในแพ็กเกจ Little Fits BuyBack ลูกค้าที่ซื้อเสื้อผ้าแบรนด์สามารถขายคืนสินค้าได้ในราคาชิ้นละ 100 บาท โดยเสื้อผ้าจะถูกนำกลับเข้าสู่ระบบเช่า เพื่อหมุนเวียนและใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งคู่ยังมีทีมที่คอยซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ลูกค้าส่งกลับมาแล้วย่นหรือเสียหาย แต่หากซ่อมไม่ได้จริงๆ ก็เลือกจัดการอย่างเหมาะสม หากยังพอใช้งานได้จะส่งต่อให้คนที่ต้องการ เพื่อให้เสื้อผ้าทุกตัวเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นทั้งคู่ยังแนบการ์ดวิธีการดูแลเสื้อผ้าไปด้วยทุกครั้ง เพื่อช่วยให้เสื้อผ้าอยู่ในสภาพดี และใช้ได้นานที่สุด
ถึงอย่างนั้น เมื่อทำงานกับเด็กเล็กก็ย่อมมาพร้อมกับความกังวลเรื่องสุขอนามัย Little Fits จึงใส่ใจทุกขั้นตอนการดูแลเสื้อผ้าหลังการเช่า โดยทำงานร่วมกับร้านซักรีดมืออาชีพที่ผ่านการคัดสรร เสื้อผ้าทุกชิ้นจะถูกซักด้วยน้ำยาสำหรับเด็ก และอบฆ่าเชื้ออีกครั้ง จากนั้นจะตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียด หากไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เสื้อผ้าจะถูกส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการหรือบริจาค
“เราต้องการให้ลูกค้าเข้าใจว่าเสื้อผ้ามือสองไม่ได้ด้อยกว่ามือหนึ่งเสมอไป แต่สิ่งสำคัญคือกระบวนการดูแลที่พิถีพิถัน เพื่อให้พ่อแม่มั่นใจว่าลูกน้อยจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด” Little Fits กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นใจและเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับเสื้อผ้าเช่าในอนาคต
First Growth
ปัจจุบัน Little Fits ไม่เพียงให้บริการเช่าเสื้อผ้าเด็ก แต่ยังผลิตเสื้อผ้าเองภายใต้แบรนด์เดียวกัน โดยเน้นออกแบบเสื้อผ้าสำหรับเด็กวัย 0-2 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่โตเร็วและเปลี่ยนไซส์บ่อย Little Fits จึงตอบสนองปัญหานี้ด้วยการออกแบบเสื้อผ้าที่ไม่เพียงใส่ใจวัสดุธรรมชาติ แต่ยังคำนึงถึงการออกแบบที่เน้นการใช้งานให้เหมาะกับทุกวาระโอกาส เพื่อสร้างความยั่งยืนในวัฏจักรเสื้อผ้าเด็ก
“fast fashion เป็นปัญหาใหญ่ แต่เสื้อผ้าเด็กมักถูกมองข้าม ทั้งที่สร้างขยะไม่น้อย เราต้องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนมุมมองต่อการบริโภคเสื้อผ้าเด็ก อีกทั้งในการผลิตเสื้อผ้าเด็ก เราเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น กระดุมไม้หรือเปลือกหอย และเนื้อผ้าคุณภาพสูง เพื่อให้เหมาะกับผิวอันบอบบางของเด็กแรกเกิด” ต้ากล่าว
เซนเสริมเรื่องการออกแบบว่า “เราอยากให้เด็กเติบโตในโลกที่ไม่ได้สร้างขยะ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราออกแบบเสื้อผ้าที่เรียบง่าย ใช้ได้ทุกโอกาส ไม่ตามเทรนด์แฟชั่น แต่มีความหรูแบบ quiet luxury ซึ่งเน้นใช้งานจริง
“ที่น่าสนใจคือ ตอนแรกเราคิดว่าลูกค้าจะนิยมเช่าเสื้อคาร์ดิแกน แต่สิ่งที่ได้รับความนิยมกลับเป็นบอดี้สูท ซึ่งเหมาะกับเด็กวัย 0-2 ขวบมากกว่า นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจและปรับตัวตามความต้องการลูกค้าได้ดีขึ้น”
ในอนาคต Little Fits วางแผนเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ พร้อมโอกาสร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อขยายแนวคิดเรื่องความยั่งยืน และนำเสนอตัวเลือกหลากหลายให้พ่อแม่ยุคใหม่ที่ใส่ใจทั้งคุณภาพและสิ่งแวดล้อม
นอกจากเสื้อผ้าเด็กวัย 0-2 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก Little Fits กำลังพิจารณาขยายบริการไปยังกลุ่มเด็กที่โตขึ้น เช่น เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป ที่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อย รวมถึงการเพิ่มสินค้าประเภทอื่น เช่น รองเท้า หรือสินค้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน
First Dreams
นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ อาจเรียกได้ว่า Little Fist ถือเป็นธุรกิจบริการที่ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็สร้างความกดดันให้นักธุรกิจมือใหม่ทั้งสองไม่น้อย อย่างไรก็ตามพวกเขาเตรียมใจและพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและวางแผนธุรกิจในอนาคตอย่างจริงจัง
ต้าเผยว่า “ในอนาคตเราวางแผนจะร่วมงานกับแบรนด์ไทยหลายราย ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุย หน้าที่ของเราคือการทำข้อตกลงหรือหาบทสรุปเรื่องการแบ่งค่าใช้จ่าย และผลกำไรให้ลงตัวที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่คือการสร้างระบบที่ช่วยหมุนเวียนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลายแบรนด์มีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ขายแล้ว เป็นคอลเลกชั่นเก่าหรือเสื้อผ้าที่มีตำหนิเล็กน้อย เราอยากให้เสื้อผ้าเหล่านี้กลับมามีคุณค่า ด้วยการนำมาร่วมในระบบเช่า เพื่อหมุนเวียนทรัพยากรแทนที่จะทิ้งไป”
ในเชิงธุรกิจ ทั้งคู่ยังเผยว่ากำลังคุยกับนักลงทุนเพื่อขยายกิจการและต้องพัฒนาระบบหลายส่วน รวมถึงสร้างพื้นที่จัดเก็บเสื้อผ้าให้ได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่รองรับแบรนด์ของเราเอง แต่เพื่อสร้าง ecosystem ที่ครบวงจรและสมบูรณ์แบบที่สุด
What I’ve Learned
ต้า: “เราไม่มีทางรู้หรอกว่าไอเดียนั้นจะเวิร์กหรือเปล่า จนกว่าเราจะได้ลองทำและปรับแก้ไปตามสถานการณ์ อย่างธุรกิจของเราเอง ตอนเริ่มต้นก็คาดหวังว่าเปิดแล้วจะมีลูกค้าเยอะ แต่ในความเป็นจริงมันต้องใช้เวลา เราคิดว่าไม่มีไอเดียไหนที่เพอร์เฟกต์ตั้งแต่วันแรก ทุกอย่างต้องการความสม่ำเสมอ และที่สำคัญคืออย่ายอมแพ้"