UNITED ARROWS AND SOME
คุยกับ Yoshinori ซีอีโอ United Arrows แบรนด์เสื้อผ้า Top 10 ของญี่ปุ่น และธนพงษ์ผู้นำมาให้ชาวไทยสัมผัส
ญี่ปุ่นคือหนึ่งในดินแดนที่แฟชั่นเฟื่องฟู ผู้คนให้ค่ากับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และใส่ใจกับการแต่งกาย
ไม่แปลกที่แวดวงธุรกิจแฟชั่นญี่ปุ่นจะเติบโตจนมีดีไซเนอร์ แบรนด์ และร้านเสื้อผ้าผลิดอกออกผลนับไม่ถ้วน นอกจากภายในประเทศยังขยับขยายจนประสบความสำเร็จในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับหรูหราหรือไล่ระดับลงมาจนถึงสตรีทแฟชั่น แบรนด์จากแดนปลาดิบก็ล้วนมีชื่อติด top-of-mind ในใจคนทั่วโลก
เมื่อมีแบรนด์จำนวนมากการแข่งขันก็ดุเดือดตาม คำว่า ‘red ocean’ อาจเบาบางเกินไปที่จะใช้นิยามวงการแฟชั่นญี่ปุ่นยามนี้ การที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะโดดเด่นขึ้นมาและยืนระยะได้จึงถือเป็นเรื่องแสนท้าทาย
ท่ามกลางแบรนด์เสื้อผ้านับไม่ถ้วน United Arrows คือร้านเสื้อผ้าที่มียอดขายติด Top 10 ในประเทศญี่ปุ่น
จากจุดเริ่มต้นในปี 1989 ที่เป็น multi-brand store เล็กๆ ในย่านชิบูย่า ที่ตั้งใจคัดเลือกเสื้อผ้าที่ใส่ใจในการออกแบบ คุณภาพ และรายละเอียด เพื่อยกระดับเครื่องแต่งกายของผู้คนในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยในช่วงเวลานั้น ตอนนี้ United Arrows เติบโตจนมี 300 กว่าสาขาทั่วญี่ปุ่นและในประเทศต่างๆ ในเอเชีย มีแบรนด์มากมายที่ต่อยอดขยับขยายจากแบรนด์หลักเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BEAUTY&YOUTH, green label relaxing, UNITED ARROWS & SONS ฯลฯ และปัจจุบันรายได้ต่อปีทะลุ 3 หมื่นล้านบาทไปแล้วเรียบร้อย
เมื่อรู้ว่า United Arrows มาเปิดสาขาแรกที่ประเทศไทยจึงเป็นข่าวที่น่าสนใจไม่ว่าจะมองผ่านแว่นคนในแวดวงแฟชั่นหรือแว่นนักธุรกิจก็ตาม
ณ ปลายฤดูฝนอันเป็นช่วงเวลาที่ multi-brand store จากแดนอาทิตย์อุทัยมาแนะนำตัวกับชาวไทย เราจึงนัดสนทนากับ Yoshinori Matsuzaki ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO คนปัจจุบันของ United Arrows และธนพงษ์ จิราพาณิชกุล CEO แห่ง ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและทำการตลาดจนหลายๆ แบรนด์กลายเป็นแบรนด์ที่ผู้คนหลงรัก อาทิ Marimekko, Pandora, Cath Kidston จนกระทั่งล่าสุดคือ United Arrows
เรานัดพบทั้งสองที่ร้าน United Arrows สาขาแรกในไทย ณ ศูนย์การค้า The Emsphere ชั้น M ก่อนที่บทสนทนาจะพาเราย้อนกลับไปยังสาขาอันเป็นถิ่นกำเนิด ลงลึกไปในปรัชญาและความเชื่อในการทำธุรกิจ
อะไรคือสิ่งสำคัญอันทำให้ United Arrows เปล่งประกายท่ามกลางแบรนด์แฟชั่นนับพันหมื่น คำตอบน่าจะฝังตัวอยู่ในบางถ้อยคำต่อจากนี้
ย้อนกลับไป United Arrows เกิดขึ้นด้วยความเชื่อใด
โยชิโนริ : วันนี้ที่เราคุยกันเป็นวันครบรอบปีที่ 35 ของ United Arrows พอดีเลยนะ (ยิ้ม) ต้องออกตัวก่อนว่าผมเป็น CEO คนที่ 4 ของแบรนด์แล้ว โดยสิ่งที่สืบทอดกันมาหลักๆ แล้วคือเราอยากที่จะยกมาตรฐานของซีนแฟชั่นในประเทศญี่ปุ่น ความเชื่อของ United Arrows ก็คือการทําให้สไตล์ของผู้คนในชีวิตประจําวันมีความหรูหราขึ้นมาในอีกหนึ่งระดับ ซึ่งนิยามของความหรูหราในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงในเชิงของลักชัวรี ไม่ใช่ว่าตัวผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์นี้จะเป็นของที่มีมูลค่าสูง แต่ว่าเป็นความรู้สึกที่ feel good ของผู้ที่สวมใส่มากกว่า
เสื้อผ้าไม่ใช่ตัวหลัก แต่สิ่งที่เป็นตัวหลักคือคนที่ใส่ ใส่แล้วให้ความรู้สึกที่ดี ใส่แล้วรู้สึกสบาย อันนี้คือความรู้สึกที่เราเรียกว่าลักชัวรี เราคิดเสมอว่าทํายังไงให้คนที่สวมใส่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างดีที่สุด
ธนพงษ์ : วัฒนธรรมของญี่ปุ่นเวลาทําอะไรแล้วเขาจะใส่ใจในเรื่องรายละเอียด จะไม่ยอมปล่อยงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกมาแล้วทําให้เกิดความสงสัยต่อสิ่งนั้นว่ามีอะไรที่ไม่ดี อันนี้เรารู้อยู่แล้วในแง่ของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ Made In Japan
philosophy ของแบรนด์ในญี่ปุ่นหลายๆ แบรนด์ก็ไปตรงกับฝั่งสแกนดิเนเวีย คือเป็นพวก less is more นิ่ง น้อย แต่ว่าได้มาก ฉะนั้นตรงนี้มันเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ เลย เขาจะไม่ได้ไปแข่งขันกับกลุ่มที่เป็น super luxury สินค้าที่ซื้อแล้วใช้ได้แค่ครั้งคราวหรือเป็นเพียงแค่มองในเรื่องของระดับฐานะ แต่เป็นสินค้าที่เราสามารถใช้ชีวิตประจําวันได้บ่อย แล้วมันตรงกับไลฟ์สไตล์ การทํางาน และการใช้ชีวิตของเรา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ในแบรนด์สแกนดิเนเวียก็เป็น ซึ่งปรัชญานี้เองที่บริษัทธนจิรายึดไว้และให้ความสําคัญ ฉะนั้นไม่มีความจําเป็นต้องเป็นแบรนด์ที่โด่งดังมาก่อน แต่เรามีหน้าที่ในการให้ความรู้กับผู้ใช้ว่าตรงนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เขาควรจะหันมามอง
คุณรู้จักแบรนด์ United Arrows ครั้งแรกตอนไหน
ธนพงษ์ : ผมไปญี่ปุ่นบ่อย เราก็จะเดินผ่านแบรนด์นี้ในห้างสรรพสินค้า เห็นบ่อยมากเลย เป็นร้านที่มีความหลากหลาย มีหลายแบรนด์อยู่ในร้านเดียวกัน ซึ่งลักษณะของ presentation ของ multi-brand store ในญี่ปุ่นมีหลายร้านที่ทําอย่างนี้ แต่ United Arrows เขามีความที่ชัดเจนในแง่ของแนวทางในการนําเสนอซึ่งตรงกับสิ่งที่เรามองหาอยู่ เราคิดว่าถ้านํามาทําในประเทศไทยน่าจะขยายได้ แล้วเรามีความถนัดในการเลือกสินค้าด้วย คอนเซปต์ของธนจิราคือเราไม่ได้แค่เป็นบริษัทที่จะมาหาแบรนด์เพิ่ม ซื้อของเข้ามาในราคาถูกแล้วขายในราคาสูงให้กับลูกค้า แต่ว่าเราต้องการส่งมอบประสบการณ์ที่ใช่ให้กับลูกค้า เราจะดูว่าสินค้านั้นเมื่อสวมใส่หรือได้ใช้งานแล้ว มันจะเสริมสร้างไลฟ์สไตล์ลูกค้ายังไง มันเหมาะกับลูกค้ายังไง เราเป็นคนที่คัดเลือก รังสรรค์สินค้าที่มีคุณภาพดีใช้งานได้จริงมาให้ โดยที่สุดท้ายลูกค้าเป็นผู้ตัดสินใจ
อะไรคือความต่างระหว่าง United Arrows กับ multi-brand store อื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในญี่ปุ่น
โยชิโนริ : เราไม่ได้อยากไปเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นนะครับ แต่ผมขอพูดในสิ่งที่ United Arrows เป็น ก็คือเราไม่ได้ไปในทาง casual หรือว่า business wear เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จริงๆ เราสามารถที่จะตอบโจทย์ได้อย่างมัลติ ก็คือไม่ว่าจะใส่ชุดของเราเพื่อจะไปทํางานหรือว่าไปเดตก็สามารถจะทําได้ เพราะว่าเรามีแบรนด์ที่มีเทสต์ที่ค่อนข้างจะตอบโจทย์ที่กว้างและหลากหลาย
ธนพงษ์ : เรื่องเทสต์นี่สําคัญ เพราะว่าทาง United Arrows เองไม่ได้มองแค่เรื่องของภาพรวม แต่มองไปถึงเรื่องของคุณภาพของ fabric ที่ใช้ในการผลิต เรื่องของการตัดเย็บทุกอย่าง เขาให้ความสําคัญมาก จะสังเกตว่า United Arrows จะไม่มีโลโก้อยู่ตรงเสื้อผ้าเลย เขาขายความเป็นสไตล์ที่มากับคุณภาพ และความเข้าใจของผู้ใช้ว่าจะเลือกของที่เหมาะกับตัวเองได้ยังไง เรื่องนี้ทําให้ลูกค้าเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาสินค้าของเขาจนกลายเป็นแฟนคลับได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยก็มีคนใช้ United Arrows อยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นกลุ่มน้อย หน้าที่ของผมในฐานะตัวแทนจําหน่าย ผมจะทํายังไงให้คนรู้จักมันมากขึ้น เราเห็นจุดแข็งอันนี้ ไม่ใช่แค่มองเป็นแค่โลโก้
คุณได้มีการนําปรัชญาหรือวิธีคิดแบบญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจยังไงบ้าง
โยชิโนริ : หลักๆ เลยจะเป็นเรื่องของ hospitality คือเราใส่ใจในการดูแลลูกค้า และแต่ละผลิตภัณฑ์เรามีความใส่ใจในการที่จะทํามันออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ส่วนอีกเรื่องคือ aesthetic sense ซึ่งหมายถึงความงาม เราเชื่อในความงามที่แตกต่างเพียงเล็กน้อยแต่สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้ ความสวยงามเพียงจุดเล็กๆ แต่เหมือนมันส่งผลกระจายออกมาเป็นความแตกต่างที่มากมาย เรียกว่าแตกต่างน้อยนิดแต่ว่าผลลัพธ์มันมหาศาล
ในความเป็นจริงทั้งเรื่อง hospitality และ aesthetic sense นั้นเชื่อมโยงกัน คือถึงผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่จะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ว่าสิ่งที่สําคัญอีกอย่างในการที่คุณจะนำเสนอให้ value มันเด่นชัดออกมาก็คือพนักงานของเราทุกคนที่อยู่ในร้าน ผู้ที่คุณจะส่ง value ของแบรนด์ให้กับผู้ที่สวมใส่ได้ แล้วก็ stylish มันขึ้นมาจริงๆ ก็คือคนที่อยู่ในร้านของเราเอง
ผมอยากเล่าว่าทาง United Arrows ที่ญี่ปุ่นจะได้รับจดหมายเป็นคําชมสัปดาห์หนึ่งประมาณ 50 ฉบับ อันดับหนึ่งที่ได้รับคําชมมากที่สุดของแบรนด์ในเครือเราเลยก็คือการต้อนรับลูกค้า ส่วนอันดับสองจะเป็นการชื่นชมในเรื่องของคุณภาพ แต่อันดับหนึ่งที่ได้รับคําชมสูงสุดคือการต้อนรับลูกค้า คือเรื่องคน
แล้วผมลืมเรื่องสําคัญไปเรื่องหนึ่ง คือเดือนที่ผ่านมาที่ญี่ปุ่นมีจัดงานที่เหมือนเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับการขาย เรียกว่าเป็น Sale Contest ซึ่งคนที่เข้าร่วมคือพนักงานจากแบรนด์ต่างๆ ราว 85,000 คน โดยคนที่ชนะเลิศอันดับที่หนึ่งก็คือเป็นสตาฟฟ์ของทาง United Arrows ซึ่งได้รางวัลนี้มา 2 ปีซ้อนแล้วด้วย
คุณบอกสอนพนักงานยังไงจนสามารถให้บริการในระดับนี้
โยชิโนริ : สิ่งที่พูดมันอาจจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือน common ทั่วไปนะ แต่สิ่งที่ผมยึดมั่นก็คือจริงๆ แล้วถ้าเราถามว่าแบรนด์เป็นของใคร ร้านที่เราทํากันอยู่เป็นของใคร คําตอบจริงๆ เราคิดว่ามันเป็นของลูกค้า ที่เราทําแบรนด์นี้หรือสร้างร้านนี้ขึ้นมาเพราะการมีอยู่ของลูกค้า เราทำเพื่อที่จะตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า
ดังนั้นตั้งแต่เข้าบริษัทมาสิ่งที่ผมใส่ใจมากที่สุดเลยก็คือลูกค้า ผมก็เลยพยายามส่งผ่านความคิดนี้ให้กับพนักงานทุกคน นี่คือสิ่งที่เราให้ความสําคัญมากที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้อาจจะเป็นจุดแข็งที่สุดจุดหนึ่งของ United Arrows เลยก็ว่าได้
จากวันแรกที่คุณเข้ามาทํางานที่ United Arrows บ้าง ในปี 1998 อยากรู้ว่าคุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
โยชิโนริ : ในช่วงที่ก่อตั้ง United Arrows ผลิตภัณฑ์หลักๆ ถ้าเป็นสําหรับผู้หญิงก็คือ dress wear สําหรับผู้ชายก็จะเป็น jackets wear ช่วงแรกๆ จะมีอยู่แค่เท่านี้ แต่ว่าเราค่อยๆ เพิ่มในเรื่องของ casual wear เพิ่มมากขึ้น ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมาเราขยายขอบข่ายของรสนิยมให้กว้างมากขึ้น
ถามว่าทําไมเราถึงจะต้องทําอะไรที่มันตอบโจทย์กับรสนิยมที่กว้างขึ้น คำตอบคือมันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้า เราก็พยายามจะตอบโจทย์ตรงนั้น การเปลี่ยนแปลงของเราคือเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้าด้วย อันนี้ก็เลยเป็นจุดหลัก ที่ทําให้เรามีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ในตลอด 35 ปี
แล้วการที่ United Arrows แตกยอดเป็นแบรนด์ต่างๆ ทั้ง BEAUTY&YOUTH, green label relaxing, UNITED ARROWS & SONS และอีกหลายๆ แบรนด์ สิ่งนี้สำคัญยังไง
โยชิโนริ : จริงๆ นี่เป็นภารกิจหลักของผมเลย นั่นคือการขยายลูกค้า ดังนั้นเราจะไม่ได้คิดแค่การทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ เดินเข้ามาในร้านอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราพยายามทําก็คือการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น การที่เรามีร้านหรือแบรนด์อยู่เท่าเดิมมันมีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจ เราจึงใช้วิธีดูการตอบรับของลูกค้า ดูว่าความชอบของลูกค้าเป็นยังไง ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายออกไปเป็นร้านต่างๆ
ธนพงษ์ : ผมขอเสริมว่า United Arrows เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ที่ญี่ปุ่น แล้วก็เป็นแบรนด์เสื้อผ้าในระดับ Top 10 ของประเทศญี่ปุ่นด้วย
โยชิโนริ : ตอนนี้ถ้ารวมทุกแบรนด์ของเราในประเทศญี่ปุ่นเรามีประมาณ 300 กว่าช็อป ที่ไต้หวันมีประมาณ 10 ช็อป แล้วก็ที่เป็นแฟรนไชส์ที่ฮ่องกงอีก 2 ช็อป นอกจากนั้นตอนนี้ที่กําลังอยู่ในแพลนก็คือที่เซี่ยงไฮ้ ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายใน 5 ปีนี้ก็อยากให้มียอดขายส่วนในต่างประเทศ 2,500 ล้านบาท โดยที่ ณ ปัจจุบันรายได้รวมทุกสาขาทั้งในและนอกประเทศอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท
แล้วตอนที่ติดต่อเพื่อนำเข้า ธนจิรา กรุ๊ป ทำยังไงให้แบรนด์ระดับนี้เชื่อมั่น
ธนพงษ์ : อันนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเราไม่ได้เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ได้มีแบรนด์เยอะ ไม่ได้อยู่ใน international scene สําหรับบริษัทที่มีกิจการที่คนนอกประเทศรู้จัก อย่างไรก็ตาม ตอนที่ผมทํางานกับทาง consultant ที่เป็นคนกลางประสานระหว่างแบรนด์กับตัวธนจิรา ผมก็ให้ข้อมูลและให้ความเข้าใจถึงแนวทางการทํางานในแต่ละแบรนด์ภายใต้ ธนจิรา กรุ๊ป ซึ่งมีความหลากหลาย ตั้งแต่ Jewelry, Fashion, Body Cares, Skin Cares, Spa Products จนตอนนี้ไปถึง F&B
เรามองไปถึงหลักการในการสร้างแบรนด์เพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ผมพูดคุยกับคุณโยชิโนริ ทําให้เขาเห็นว่าความตั้งใจในการที่จะสร้างให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุดมันคืออะไร แล้วมันก็ไปสู่ขั้นของการพิสูจน์ตัวเอง ในเรื่องของการสร้างร้านออกแบบร้านก็มีทีมงานจากญี่ปุ่นมาประเมินสถานที่ก่อนจะออกแบบ หลังจากนั้นพอเริ่มก่อสร้างเขาก็แวะมาดูว่าภาพรวมว่าจะเปิดร้านเป็นยังไง หลังจากเปิดร้านแล้วเขาก็มาอีก เพื่อที่จะมาช่วยเสนอความคิด แนวทางการจัดร้าน หรือการนําเสนอ
นี่เป็นการออกนอกประเทศตัวเองคร้ังแรกในรอบ 10 ปีของ United Arrows แล้วเขาเลือกมาที่ประเทศไทย ดังนั้นเขาค่อนข้างพิถีพิถันและระมัดระวังว่าพาร์ตเนอร์ที่เขาเลือกจะต้องสามารถรักษาไว้ซึ่ง DNA ของแบรนด์เขาได้ ตอนที่ผมก็เจอคุณโยชิโนริที่โตเกียวผมก็ได้ให้คํามั่นและความเข้าใจเกี่ยวกับการทําแบรนด์ การสร้างกิจการของกลุ่มธนจิรา ซึ่งมันตรงกันตรงที่ว่าเราก็ไม่ทําอะไรแบบลวกๆ เร่งๆ รีบๆ แต่เราวางแผนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งตรงกับความคิดของเขาและปรัชญาของ United Arrows วันนี้เขาก็ได้เห็นแล้วว่าภาพของร้านที่กรุงเทพฯ ไม่ได้แตกต่างจากที่ญี่ปุ่นเลย แล้วก็มีคุณภาพในการที่จะนําเสนอผ่านพนักงานที่มีความเข้าใจแบรนด์
ในมุมมองของคุณมองเห็นศักยภาพอะไรในตลาดประเทศไทย เพราะอย่างที่บอก United Arrows ก็ไม่ได้ขยายสาขานอกประเทศ 10 ปีแล้ว
โยชิโนริ : มันเป็นความประทับใจตั้งแต่ที่ผมมาเมืองไทยครั้งแรกเลยเมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน ผมรู้สึกว่าคนไทยมีความคล้ายกับคนญี่ปุ่นในเรื่องของความอบอุ่น ความใจดี ผู้คนยิ้มแย้ม ผมรู้สึกว่าเป็นประเทศที่ดีมากๆ ในมุมธุรกิจหลังจากที่ช่วงโควิด-19 ระบาดจบไปก็มีนักท่องเที่ยวจากไทยไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นเยอะมาก ไปช้อปปิ้งไปจับจ่ายที่ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ ผมก็เลยรู้สึกว่าคนไทยให้ความสําคัญกับผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น ผมจึงคิดว่าคนไทยก็น่าจะเข้าถึงแบรนด์ United Arrows ด้วย ผมเห็นความเป็นไปได้ ประจวบเหมาะกับช่วงที่ทางคุณธนพงษ์ติดต่อมาพอดี ผมก็เลยส่งทีมมาประเทศไทย พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และในระหว่างการพูดคุยกันก็รู้สึกได้เลยถึงความจริงใจในการทำธุรกิจ ก็เลยทําให้เกิดการร่วมมือนี้
ธนพงษ์ : ผมขอเสริมในมุมของการแต่งตัว ในมุมของการเลือกสินค้า คนไทยมิกซ์แอนด์แมตช์เก่ง โดยเฉพาะสุภาพสตรี ดังนั้นจึงเหมาะมากกับความเป็น multi-brand store ที่มีสินค้าคุณภาพดี มีอัตลักษณ์ และมีความหลากหลาย กับการที่เราจะเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้าใจในเรื่องเทสต์และแฟชั่นสามารถเข้าไปอยู่ในโลกของ United Arrows ซึ่งมันไม่ต้องเข็นเยอะ แต่ว่าเราต้องสร้าง persona ให้ชัดว่าแต่งตัวยังไง ใช้ยังไง มันจึงเป็นเรื่องของการสไตลิ่งซะเยอะ
การนํา United Arrows ที่อาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่แมสในบ้านเราเข้ามาถือเป็นเรื่องท้าทายไหม
ธนพงษ์ : ผมคิดว่าทุกแบรนด์ที่ธนจิราหยิบจับตั้งแต่แรกท้าทายหมด ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วคนไทยแทบไม่มีใครรู้จัก Marimekko เลย มันก็เป็นเรื่องที่เราต้องทําในสิ่งที่เราคิด เหมือนกับการทำ United Arrows วันนี้ เราเห็นอะไรที่มันเป็นจุดพิเศษของแบรนด์นี้ หน้าที่ของผมคือการ decode หรือ unlock ข้อดีที่ว่าให้เกิดความเป็นรูปธรรม และนําเสนอให้เป็นภาพที่ชัดและจับต้องได้ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ตอนนี้ยังไม่รู้จัก ให้เขาสามารถเข้ามาอยู่ในโลกของ United Arrows ได้มากขึ้น ก็ถือเป็นงานที่ท้าทาย
ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานกับ United Arrows ในตำแหน่งเล็กๆ จนวันนี้ที่ก้าวขึ้นมาเป็น CEO คุณยังรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ทําเหมือนวันแรกที่เข้ามาหรือเปล่า
โยชิโนริ : ถ้าพูดถึงแพสชั่นทั้งหมดของผมคงไม่ได้อยู่ที่เรื่องแฟชั่นแล้ว แน่นอนผมยังมีแพสชั่นอยู่ แต่ถ้าถามว่ามันจะเพิ่มขึ้นไหม มันก็อาจจะไม่ได้เป็นไปในทางนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่สําคัญอย่างหนึ่งเลยของแฟชั่นโดยพื้นฐานแล้วมันจะเกิดจากคนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาว ที่เขามีความชอบในเทรนด์ ในสิ่งที่กําลังเป็นที่นิยมกันอยู่ ดังนั้นผมอาจจะไม่ใช่คนที่เรียกว่าเป็น better run ที่จะมาคิดในเรื่องของตัวแฟชั่นแล้ว
ถ้าเรื่องแฟชั่นไม่ใช่แพสชั่นหลักแล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณให้ความสำคัญในวันนี้
โยชิโนริ : ในอดีตเรื่องแฟชั่นอาจเคยเป็นหน้าที่ของผม แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่มาอยู่ในระดับ management แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผมให้ความใส่ใจคือการที่จะบริหารและการดูแลพนักงาน ผมใส่ใจในเรื่องของการสร้าง hospitality ให้กับทางพนักงาน
แน่นอนว่าสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเลยสำหรับแฟชั่นก็คือฝากมันไว้ในมือของคนหนุ่มสาวนี่แหละ เพราะเขาเป็นคนสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมา
คุณทั้งสองอยู่กับธุรกิจแฟชั่นมายาวนาน รู้หรือยังว่าอะไรคือหัวใจสําคัญที่จะทําให้ธุรกิจประสบความสําเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน
โยชิโนริ : สิ่งที่สําคัญที่สุดไม่ใช่การยึดติดในความเป็นตัวของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ว่าทุกอย่างมันจะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับกาลเวลา เราต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาให้ได้ เพราะว่าเวลามันเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ ดังนั้นตัวลูกค้าเอง เทรนด์ที่เขาชอบ ความคิดของเขา มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องพยายามที่จะปรับให้ทันกับเวลา
แต่แน่นอน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงคุณก็ต้องมีสิ่งที่ยึดมั่น ที่เมื่อครู่ผมย้ำว่าสิ่งสําคัญที่เราใส่ใจ คือเรื่องของ quality, aesthetic sense หรือว่า hospitality เหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่เรายังยึดมั่นอยู่ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกับกาลเวลาด้วย
ธนพงษ์ : ผมขอตอบในมุมที่อาจจะไม่ใช่เป็นแบรนด์ แต่เป็นคนที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศเรา ผมยังยึดมั่นกับ philosophy ที่ว่าเรา Bringing the best of the brand to the best of Thailand. เอาสิ่งที่ดีที่สุดของแบรนด์ มาสู่สิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย เพราะฉะนั้นความเข้าใจในความต้องการ ความคิด แล้วก็การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบพฤติกรรมของลูกค้าเป็นสิ่งสําคัญที่เราต้องตามให้ทัน
ถ้าเรามีแบรนด์ที่ดีแล้วเราเอามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสไตล์ เทสต์ และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ยังไงเราก็ชนะ เราไม่ใช่เพียงแค่ copy เขาแล้วมา paste ใส่ในประเทศไทย แต่เราสามารถจะเอาสิ่งที่มันเป็นจุดแข็งของแบรนด์มาประยุกต์กับจุดแข็งของลูกค้าเราที่เป็นคนเลือกเก่ง มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ ถ้าเราสื่อสารให้เขาเห็นภาพนี้ได้ ยังไงเราก็ไปรอด