คำต้องหิว
เหว่ง เทพลีลา กับความล้มเหลวที่ไม่เข็ด ความสำเร็จของเทพลีลา และความฝันที่อยากอายุถึงร้อยปี
เวลาได้ยินใครสักคนถูกใช้ฉายาแทนนามสกุลต่อท้าย ไม่ว่าจะเป็นชื่อค่ายเพลงที่เขาสังกัด ชื่อบ้านเกิดที่เขาเคยพำนัก หรือเป็นชื่อเสียงเรียงนามไล่เรียงตามความถนัดที่ทำให้ใครต่อใครตกหลุมรัก เรามักจะคิดในใจเสมอว่า นามสกุลที่ไม่ได้อยู่ในบัตรประชาชนของเขาเหล่านี้กลับฝังติดแน่นอยู่กับเนื้อตัวของพวกเขามากกว่านามสกุลตามสำเนาทะเบียนราษฎร์เสียอีก
เช่นกันกับ ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ที่คนส่วนใหญ่คงไม่คุ้นนักกับชื่อนามสกุลจริงนี้ แต่ถ้าเราบอกคุณว่าเขาคือ เหว่ง เทพลีลา หลายคนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับผลงานที่เขาเป็นผู้สร้าง
ชายผู้นี้มีคอนเทนต์อยู่มากมายบนโลกออนไลน์ แถมเมื่อไม่นานมานี้บอร์ดเกมที่ต่อยอดมาจากรายการ คำต้องห้าม นับพันกล่องก็ขายหมดภายในพริบตา
ภาพจำของเขาก่อนที่เราจะพบกันนั้นดูเป็นคนมีลีลาท่าทางเป็นผู้ใหญ่อารมณ์ดี ยิงมุกเฮฮาพาหัวเราะ พ่วงด้วยความเป็นแฟมิลี่แมนรักครอบครัว หากแต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรามองเห็นผ่านหน้าจอในโลกออนไลน์
ในโลกจริงเรานัดพบกับเหว่ง เทพลีลาที่ร้าน The Most ย่านราชพฤกษ์ เราย้ำนักย้ำหนาก่อนพบกันว่า ให้เหว่งเลือกร้านอาหารที่ชอบไปและสั่งอาหารที่ชอบกิน เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์ของคอลัมน์ รสชาติชีวิต ที่อยากสัมผัสรสชาติอาหารและรสชาติชีวิตของคู่สนทนาผ่านการพูดคุยระหว่างมื้ออาหาร
อาจจะเพราะว่าวันนี้วันจันทร์และเวลายังไม่เย็นย่ำจนค่ำไปนัก ทั้งโซนเอาต์ดอร์และโซนนั่งในห้องแอร์ของร้านในวันนี้เลยยังว่างโล่ง เราให้เขาเลือกว่าเขาอยากนั่งโซนไหน อยากนั่งสูดอากาศเย็นๆ ด้านนอกพร้อมฟังดนตรีสดไหม หรืออยากนั่งข้างในร้าน
“ถ้าเสียงที่อัดมันออกมาไม่ดี เดี๋ยวเราทำงานยาก นั่งข้างในดีกว่านะ” เหว่งหันมาบอกประโยคที่สะท้อนถึงความเข้าใจหัวอกคนทำงาน
และที่โต๊ะด้านในร้านนั้นเองที่เราเริ่มต้นมื้ออาหารและบทสนทนาหลากรสชาติ
อร่อยต้องแนะนำ
เราแอบค้นประวัติเหว่งมาก่อนและพบว่าเขาเกิดและโตมาในย่านวงเวียน 22 กรกฎา ก่อนที่อาหารจานแรกจะมาเสิร์ฟ เราจึงถามเหว่งถึงชีวิตในวัยเด็กว่าเติบโตมายังไงในย่านนั้น
“คุณได้ไปดูหนังเรื่อง RedLife ไหม เรื่องนี้ถ่ายแถวบ้านผมเลย ตรงวงเวียน 22 ในซอยบ้านผมเลยด้วย โรงเรียนก็โรงเรียนที่ผมเรียนชื่อ กุหลาบวิทยา มันคือสภาพที่ผมคุ้นเคยเพราะผมต้องผ่านทุกวัน ผมเจอสภาพชีวิตแบบนั้นทุกวัน ที่ในหนังเรียกว่า sex worker นั่นแหละ ผมเจอทุกวัน แล้วแถวนั้นอาชญากรรมก็เยอะ”
นอกจากความหม่นเทาของย่านที่เติบโตมา ย่านวงเวียน 22 กรกฎาถือว่าใกล้เยาวราชแหล่งรวมร้านอร่อยของกรุงเทพฯ และนั่นอาจเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจดจำในวัยเด็กกับการเติบโตในย่านที่ห้อมล้อมด้วยร้านอร่อย
“มีร้านในดวงใจบ้างมั้ย” เราชวนเขาคุยเรื่องร้านอาหารที่ผูกพัน
“ตรงห้าแยกพลับพลาไชยไง ข้าวหน้าไก่ที่เสิร์ฟมาพร้อมพริกสีเขียวๆ น่ะ ที่ได้มิชลินไกด์ คุณรู้ไหมว่าถ้าสั่งเป็นบะหมี่ก้อนหนึ่งแล้วราดหน้าด้วยซอสข้าวหน้าไก่นะ โอ้โห ผมนี่ซื้อที 20 ห่อ เพราะกินทีนึงก็ 2 ห่อแล้ว และมันอร่อยมากเว้ย จริงๆ ร้านแถวเยาวราชก็อร่อยเยอะ
“อีกเจ้าก็อาจจะเป็นป้าที่ขายหมูสะเต๊ะที่เยาวราช เป็นรถเข็นนะ แต่ต้องมีบัตรคิว ป้าแกขายวันนึง 4,000-5,000 ไม้ น้ำจิ้มแกนี่สุดยอดเลยอร่อยมาก”
พอพูดแนะนำร้านอาหารใดๆ เสร็จ เหมือนผู้กำกับคิวที่ช่างรู้เวลาปล่อยอาหาร เพราะอาหารแต่ละอย่างที่สั่งไว้เริ่มทยอยออกมาเสิร์ฟวางบนโต๊ะไม่ให้เราโหยนานหลังจากเพิ่งฟังเหว่งบรรยายถึงอาหารจานอร่อยแถวเยาวราช
อยากรู้ต้องลอง
ใครต่อใครในแวดวงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต่างชอบพูดถึงเหว่งเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาคนนี้ทำงานมามากมายหลายอาชีพ แต่เรายังไม่เคยฟังจากปากของเขาเองอย่างแน่ชัดจริงๆ ว่าตกลงแล้วเขาทำอาชีพอะไรมาแล้วบ้าง
“ผมลองทำมาหลายอย่างแล้ว ผมเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ปีสุดท้ายก่อนจบผมทำห้องซ้อมดนตรีที่บ้านของแม่ ตรงวงเวียน 22 นั่นแหละ แต่ว่าพอไม่มีคนดูแล ของมันก็จะมีเสียบ้าง เช่น กลองแตกบ้าง ไม้หักบ้าง ลำโพงแตกบ้าง ก็เหนื่อยหน่อย เครียด ทีนี้พอผมเรียนจบ ห้องซ้อมดนตรีก็จบไปด้วย เรียนจบมาก็บอกแม่ว่าไม่ทำงานนะ ขอลองทำอย่างอื่นก่อน เพราะไม่ชอบอาชีพสถาปัตย์แน่ๆ ไม่ชอบแน่ๆ
“จริงๆ ผมรู้ว่าไม่ชอบตั้งแต่ตอนเข้าไปแล้ว เข้าไปแล้วเพิ่งรู้ว่า โห มันเป็นอย่างนี้นี่เอง คืองานมันแบบ ละเอียด มันนาน มันเครียด มันเยอะ มันต้องถูกต้อง เราต้องรู้เรื่องโครงสร้าง เราต้องทำงานกับวิศวกร คือมันต้องสร้างได้จริง มันต้องคำนวณราคา คือมันเยอะ มันเหนื่อย” เหว่งพูดไปตักยำเนื้อรสจัดกินไป
“นอกจากสถาปัตย์ที่ไม่เอาแน่ๆ และห้องซ้อมก็ปิดแล้ว แล้วคุณทำอะไรมาอีกบ้าง”
“มีพยายามไปเป็นนักแต่งเพลงฝึกหัดที่แกรมมี่ แต่ผมแต่งเพลงไม่ผ่านเลยสักเพลง มีไปร้องเพลงตามผับ ตามศูนย์อาหาร แต่ผมคำนวณแล้วผมว่าร้านมันไกล ไม่คุ้มค่าเดินทาง ก็เลยไม่ไป ก็เลยจบเส้นทางตรงนั้นไป สรุปคือพยายามอยู่นานเหมือนกันกับสายดนตรี เพราะผมเรียนจบมาตอนผม 22 กว่าผมจะแต่งเพลง ไปร้องเพลง จนตัดสินใจว่าจบเส้นทางเรื่องเพลงแล้ว ก็คือตอนอายุ 25 ระหว่างนั้นผมก็หาเงินด้วยการเป็นฟรีแลนซ์สถาปัตย์ไปด้วย ผมก็รับงานออกแบบไปด้วย
“แล้วก็มีวันนึงที่นั่งกินเหล้ากับเพื่อน แล้วเพื่อนชวนทำหมูปิ้ง ซึ่งผมตั้งชื่อว่า ‘หมูปิ๊ง’ แต่เราไม่มีสูตรกัน ก็ทำไอ้หมูปิ๊งอยู่ปีนึง ทำกับเพื่อนผมอีกสามคน ซึ่งเขามีอาชีพเป็นบัญชีกับวิศวะ กำลังสร้างตัวกัน เป็นพนักงานประจำ ทีนี้พอมาทำหมูปิ้งด้วยกัน เสาร์-อาทิตย์ก็คือต้องมาหมักหมู”
หมูปิ้งต้องปิ๊ง
จากหนุ่มจบสถาปัตย์ สู่การเกือบเป็นนักร้องนักแต่งเพลง จนผันตัวเข้าสู่การเป็นพ่อครัวหัวปิ๊งเพราะขายหมูปิ้ง ถือว่าชีวิตของเหว่งก็มีรสชาติหลากหลายไม่เบาสำหรับคนอายุย่างเข้าเบญจเพส
“ผมพยายามหาอะไรที่มันแตกต่าง ถ้าหมูปิ้งมันเหมือนที่คนทั่วไปกิน เหมือนที่เขาขายกัน มันก็คงไม่ใช่รสชาติที่จะไปทำให้คนอื่นตกใจได้ ผมก็เลยหัดทำเอง ทำตั้งแต่จากรสชาติเหี้ยเลย ก็คือแดกไม่ได้เลยครับ หมักนั่นหมักนี่ให้มันแปลกไว้ก่อนไง ตอนแรกก็มีคนเตือนแล้วนะว่าไปถามป้าคนนั้นไหม เขามีสูตรให้ ผมบอกไม่อะ ไม่ถาม เดี๋ยวไปติดภาพจำ ขอลองเอง ผมก็เอาหมูมาวางใส่กะละมังแล้วก็หั่นๆๆ แล้วก็เอานมไปหมัก หมักนมแล้วกันวะ เพราะมันน่าจะมันๆ เอาขมิ้นใส่เข้าไป เอาผงพิซซ่าไหม เอาออริกาโนใส่ลงไป มันน่าจะดีนะ คลุกๆ อยู่ 5 กะละมัง กะละมังละกิโลฯ แล้วก็ไปหมัก แล้วก็ไปปิ้ง
“ผมก็คิดนะว่าผมก็ซื่อบื้อไปหน่อย หมักตั้งกะละมังละโลเลยทำไม เราก็เลยได้หมูที่แดกไม่ได้อยู่ 5 โล ในวันแรกกับผู้ชายอีก 4 คน เรานั่งมองหมูกันแล้วก็คิด หมูปิ้งมันไม่ง่ายนะมึง พวกผมก็ทำอยู่อย่างนั้น ซึ่งไอ้พวกนี้ก็ซื่อบื้อเหมือนผมไง แต่ทุกคนเชื่อเหมือนผมนะ ว่า เฮ่ย ถ้าทำแล้วมันต้องแตกต่าง ทุกคนบอกว่า กูเชื่อแบบที่มึงพูดเว่ย เหว่ง ว่าเดี๋ยววันนึงมันจะอร่อย”
“แล้วนานไหมกว่าจะเจอสูตรที่อร่อย” เราถามด้วยความสงสัย
“11 เดือน” เหว่งตอบพลางกินปลาหมึกทอดด้วยความระวัง
“เกือบปีเลยนะ”
“ใช่ เพราะเราทำกันเฉพาะแค่วันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นไง เพราะวันอื่นเพื่อนๆ ไปทำงานกัน พอเริ่มทำๆ ไป คลุกๆ ไป เริ่มแบบ เฮ่ย พอได้แล้วเว้ย ก็เริ่มมาแกะสูตร ก็เอามาผสมเหล้าจีน ผสมน้ำมันพริกเผา เริ่มเติมนั่นนี่เข้าไป จนคุณเชื่อไหม หมูปิ้งสูตรของผมมี ingredient อยู่ประมาณ 18 อย่าง
“คือผสมจนรสชาติไม่เหมือนหมูปิ้ง และไม่เหมือนบาร์บีคิวด้วย เพราะตอนย่าง ผมทาน้ำมันพริกเผาให้ไฟลุกพรึ่บ หมูแม่งแดงแป๊ดเลย แล้วพอกินร้อนๆ นะ หมูมันจะนุ่มอร่อย แต่พอทิ้งไว้ให้เย็นมันจะดำ เพราะฉะนั้นหมูปิ้งผมมีข้อเสียคือห้ามซื้อกลับบ้าน คือซื้อตรงนี้ แดกตรงนี้เท่านั้นนะคร้าบ” เขาหัวเราะเสียงดังเมื่อเล่าถึงตรงนี้
ก่อนเริ่มต้องลอง
ไม่แน่ใจในสมัยนั้นเขานิยมคำว่า วิจัยและพัฒนากันหรือยัง แต่หากเชื่อว่าหัวใจหลักของการขายอาหาร คือ อาหารที่ดี อาหารที่อร่อย เหว่งและเพื่อนอีก 3 คน คงมาถึงจุดที่วิจัยและพัฒนาพร้อมขายหมูปิ้ง หรือหมูปิ๊ง เต็มทีแล้ว
“ตอนที่ได้สูตรที่คิดว่าอร่อยแล้ว คุณและเพื่อนเปิดร้านขายเลยไหม” เราถาม
“ไม่ๆ ผมลองออกบูทก่อน งานแรกเป็นงานแต่งงานของพี่สาวเพื่อนผม ซึ่งเพื่อนผมคนนี้เป็นคนแนะนำผมให้รู้จักกับตุ๊ก (ภรรยาคุณเหว่ง) เขาจัดงานใหญ่เลย แม่เพื่อนผมเห็นผมเริ่มทำหมูปิ้งก็อยากจะอุดหนุน ม้าเขาบอกว่า ‘มาออกบูทสิ เดี๋ยวม้าเหมา เอามาสัก 3,000 ไม้’ คุณเชื่อไหมบูทหมูปิ๊งผมหมดเกลี้ยง จนกุ๊กโรงแรมเดินมาถามว่าทำยังไง เอาสูตรมาจากไหน”
“พวกผมก็คึกเลย ทั้งผมทั้งหุ้นส่วนคิดเลยว่า เอาแล้ว หมูเราแม่งเทพเจ้า” เหว่งเล่าไปพลางอมยิ้มไป
เมื่อรู้สึกว่าหมูปิ๊งของตนและเพื่อนมีรสชาติอันเด็ดดวง เหว่งและเพื่อนจึงตัดสินใจเริ่มต้นกิจการด้วยการทำหมูปิ๊งให้เป็นกิจจะลักษณะ ชายทั้งสี่ที่ตั้งใจจะขายหมูปิ้งโดยคิดโมเดลธุรกิจให้สะดวกต่อการขยับขยายกลายเป็นแฟรนไชส์ในอนาคต จึงเริ่มจากการสั่งทำรถไฟเบอร์เพื่อขายหมูปิ๊งรอไว้อยู่หลายคัน
“ผมไม่ได้คิดว่าผมจะไปเข็นรถเข็นขายของ ผมบอกเพื่อนว่าแผนผมคือทำรถไฟเบอร์ ทำแฟรนไชส์ เป้าเราคือขายหมูและรถไฟเบอร์ ผมก็ไปสั่งโรงงานให้ผลิต รถจะมีรูปหมูสีชมพู เหมือนรถไอติมเลยนะ สั่งทำไปหลายแสน เพราะทำหลายคัน น่าจะสัก 5-6 คัน แล้วผมก็จ้างคนไปเข็นรถหมูให้ไปวิ่งทั่วกรุงเทพ หมูแต่ละตัวจะวิ่งคนละเส้นกัน และผมก็หาที่เช่าด้วย เพราะเราต้องมีฐานการผลิตไง ผมก็ให้แม่เซ้งที่เลย แถววงเวียน 22 นั่นแหละ ให้ตรงนั้นเป็นที่ผลิต คือตอนนั้นทุกคนทำงานประจำ แต่ผมไม่ ผมก็ลุยเลย ซื้อตู้เย็น ซื้ออะไรไปหลายแสน”
ความจริงจังของการทำหมูปิ๊งเริ่มทวีมากขึ้น จากบทสนทนาในวงเหล้าที่ชวนกันมาเปิดกิจการก็ลุกลามมาจนถึงวันที่ต้องลงทุนกันหลักหลายแสนบาท
ถึงวันต้องเลิก
อาจจะเพราะความคะนองของวัยหนุ่ม หรืออาจจะเพราะความกดดันที่มีเงินลงทุนหลักหลายแสนเป็นเดิมพัน หรืออาจจะเพราะประโยคคลาสสิกที่คนต่างพูดกันปากต่อปากเป็นความเชื่อส่งต่อกันมาว่า อย่าทำธุรกิจอาหารกับเพื่อน จึงทำให้เหว่งและหุ้นส่วนเริ่มมีปัญหากัน
“ถึงจุดหนึ่งผมกับเพื่อนก็ทะเลาะกัน พวกเขาจะรอประชุมเสาร์-อาทิตย์กันเท่านั้น เพราะทำงานประจำ แต่ผมบอกว่าไม่ได้ คือทำไมกูต้องรอพวกมึงทำงานเสร็จแล้วค่อยมาประชุม คือกูแทบจะเป็นแกนแล้ว ผมเป็นเมนทำทุกอย่าง ทำไมผมต้องเสียค่าเช่าไปอีกตั้งอาทิตย์นึงเพื่อจะรอทุกคนมาประชุมแป๊บเดียววะ ผมก็เลยโมโห เพราะผมเหนื่อย ผมเลยบอกว่า ถ้าต้องรอพวกมึงมาประชุมนะ กูเลิก”
“เลิกเลยเหรอ” เราทวนคำของเขาด้วยน้ำเสียงประหลาดใจ
“เลิกเลย คือต่างคนต่างโมโห เลือดมันร้อนไง เลือดวัยฉกรรจ์ ผู้ชายอายุ 25-26 สี่คนมารวมกัน ตอนนั้นแม่ผมก็งงว่าทำไมทะเลาะกันแล้วเป็นแบบนี้ไปได้ไง” เหว่งเล่าด้วยน้ำเสียงสงบ ไม่ได้มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวอย่างในวันวานแล้ว
“ตอนที่เลิกคิดจะเปิดกิจการขายอาหารอย่างอื่นต่ออีกหรือไม่” เราถามด้วยความสงสัย เพราะเท่าที่สังเกตเขาดูอินกับธุรกิจอาหารไม่น้อย
“มีเคยไปเปิดร้านขายไก่เผ็ด ขายหมูปิ้ง ที่ภูเก็ตแฟนตาซี คือมีคนที่ผมรู้จักเขาชวนไป ผมก็ไป ไปอยู่ภูเก็ตอยู่ 8 เดือน สุดท้ายก็เจ๊ง ขายไม่ได้ เพราะที่ที่ผมไปขายมันอยู่หลังร้านบุฟเฟต์ มันก็เลยเป็นจุดที่คนเดินเลย เดินผ่านตลอด”
หลังจากล้มเหลวทางธุรกิจที่ตั้งใจปลุกปั้นมาเกือบปี กับเงินในบัญชีที่ร่อยหรอเต็มทน ตอนนั้นมองไปทางไหนชีวิตก็เจอแต่ทางตัน
และ ณ เวลาที่ความหวังและกำลังใจเริ่มริบหรี่ แม่ของเขาคือผู้ที่ยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มไว้
“ตอนนั้นเงินนี่เกือบหมดบัญชีเลยนะ เพราะผมไม่ทำฟรีแลนซ์เลย ยืนปิ้งหมูอยู่อย่างนั้น พอว่างก็ไปนั่งแห้งอยู่ตรงทะเล ไม่เคยเหยียบทะเลเลย นั่งอยู่อย่างนั้น คือทุกข์อย่างเดียวเลย ทุกข์ใจ เครียด
“แม่ผมซึ่งรู้เรื่องผมมาตลอด ก็โทรมาบอกผมว่าให้ผมกลับกรุงเทพฯ มาได้เลย ม้าเซ้งร้านไว้ให้แล้วให้มาทำร้านที่เสาชิงช้า เป็นไงแม่ผม ฮาร์ดคอร์ไหม อยู่ดีๆ ไปหาที่เซ้งมาเฉย ผมก็เลยกลับมากรุงเทพฯ คือแม่ผมเขาบอกว่า ขายหมูปิ้งอย่างเดียวมันเจ๊งอยู่แล้ว มันต้องกินคู่กับส้มตำ” เหว่งตอบด้วยหน้านิ่งๆ ก่อนจะหัวเราะให้กับชะตากรรมของตัวเองในวันวาน
มนุษย์ต้องไม่กลัวที่จะเริ่มใหม่
“คุณริเริ่มโครงการร้านส้มตำยังไงบ้างในตอนนั้น”
“ผมก็ต้องไปหาสูตรส้มตำ ก็ไปซื้อครก หาสูตรทำน้ำส้มตำ เอาแบบตักน้ำใส่ทีนึงก็กลายเป็นส้มตำได้เลย ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำแบบนี้นะ
แต่ผมไม่ได้ขายแค่ส้มตำกับหมูปิ้งนะ ผมหาอย่างอื่นใส่ลงไปด้วย มีส้มตำแล้วก็ต้องมียำ เติมนั่นเติมนี่เติมไปเรื่อย เติมจนร้านนี้มี 21 เมนู ผมก็ทำร้านส้มตำอยู่เกือบปี ซึ่งลำบากแม่มากเลย เพราะกำไรน้อยมาก สุดท้ายก็เจ๊งไป แต่ช่วงก่อนเจ๊งมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นสถาปนิก มีตึกแถวอ่อนนุชและชอบมาอุดหนุนผม มากินตลอด ผมก็ชวนเพื่อนคนนี้ให้เตรียมออกจากงานมา แล้วมาตั้งบริษัทสถาปัตย์กับผม เพราะมันเป็นอาชีพเดียวที่ผมทำแล้วได้เงิน”
จากที่เคยดูเหมือนกับว่าเส้นทางสายสถาปัตย์คือเส้นทางที่เหว่งเลี่ยงมาตลอดตั้งแต่เรียนจบ แต่จนแล้วจนรอดก็เหมือนกับว่าสายลมแห่งโชคชะตาพัดพาให้เขาต้องกลับมาที่งานสถาปนิกอีกจนได้
“ตอนผมเลิกร้านส้มตำผมอยากขายของต่อ ผมก็คิดคาแร็กเตอร์การ์ตูน ชื่อว่า ‘The SALADS’ ผมบอกเพื่อนตั้งแต่แรกเลยว่าถ้าเราเปิดบริษัทสถาปัตย์ เราจะทำงานสถาปัตย์ 2 ปี แล้วหลังจากนั้นเราจะทำตัวการ์ตูนนี่ขายเป็นคาแร็กเตอร์
“ผมกับเพื่อนคนนี้และเพื่อนอีกคนหนึ่งรวมเป็น 3 คนก็ไปเซ้งตึกแถวสามย่านแล้วตั้งเป็นบริษัทสถาปัตย์ขึ้นมา คือเราทั้งสามมีคอนเนกชั่นลูกค้าสถาปัตย์อยู่แล้ว ก็เอาคอนเนกชั่นมารวมกันแล้วตั้งเป็นบริษัทขึ้นมา เป้าคือ 2 ปี เราจะมีเงินไปลงทุนทำการ์ตูนเรื่องนี้ แล้วก็เอาการ์ตูนตัวนี้มาทำเป็นของขาย ทำไปทำมาก็ปาไป 3 ปี แต่เราทำคาแร็กเตอร์การ์ตูนกันไม่เป็น ก็ต้องไปหาน้องๆ recruit คนเข้ามา ทำไปทำมา ดันเป็นแอนิเมชั่นที่ต้องขยับมันถึงจะดูดี พอเป็นแอนิเมชั่นเราเลยต้องส่งประกวด ปรากฏว่าชนะได้ที่ 1 ในไทย ก็ได้ไปประกวดที่ญี่ปุ่น ทีนี้เราก็ทำควบรวมเลยทั้งบริษัทสถาปัตย์และบริษัทแอนิเมชั่น ทำสองอย่างเลย แล้วก็ทำของมาขายจากคาแร็กเตอร์การ์ตูนตัวนี้ ซึ่งปรากฏว่าเจ๊งอีก บริษัทก็ทรงไม่ดีเลย”
“แล้วคุณทำยังไง” เราถามตาม
“ตอนนั้นผมไปออกแบบบ้านให้พี่คนหนึ่ง พี่เขาก็สงสาร คือเขาสงสารเพราะผมเล่าให้เขาฟังว่าผมทำ 2 บริษัท คือบริษัทสถาปัตย์กับบริษัทแอนิเมชั่น และบริษัทแอนิเมชั่นกำลังจะเจ๊งแล้ว เขาก็ถามผมว่า จะทำหนังแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งต้องใช้เงินกี่บาท เดี๋ยวกูช่วยมึง มึงต้องใช้เงินกี่บาท”
ผมก็ไปหาข้อมูลมา คือผมก็ไม่เคยทำหนังแอนิเมชั่น เคยทำแต่การ์ตูนติงต๊อง หาข้อมูลเสร็จผมก็บอกเขาว่า
“30 ล้านครับพี่”
“เขาก็บอกว่า “ได้ เดี๋ยวกูช่วยมึง เดี๋ยวกูระดมทุนจากเพื่อนกูก่อน” เขาบอกผมว่าเขาเห็นแววตาพวกผม มันคือแววตาคนหิว คนหิวทำงานได้ดีกว่าคนอื่น เขาบอกว่าเคยไม่ได้รับโอกาส มาวันนี้เขาอยากให้โอกาส คือแกใจดีมาก แกก็เลยมาลงทุนให้ผม”
และนั่นเป็นที่มาของแอนิเมชั่นไทยที่ชื่อ 9 ศาสตรา
“ทุกอย่างฟังดูดีนี่ มีคนมาช่วยสนับสนุนคุณ” เราพูดตามที่คิด
“โอย คุณ ผมเครียดมากนะ เพราะ 9 ศาสตรา สรุปแล้วต้นทุนมันทะลุไปถึง 230 ล้าน คือตอนแรกที่ตั้งบริษัทแอนิเมชั่นขึ้นมาเรามีคนอยู่แค่ 8-9 คน แต่พอจังหวะที่เริ่มทำ 9 ศาสตรา ซึ่งเป็นจังหวะที่เติ๊ด (ภูถิรพัฒน์ อ่องศรี) มาสมัครงาน ก็กลายเป็น 10-11 คน แต่ภายในเวลาอีก 4 ปีครึ่งเท่านั้นน่ะเด้งเป็น 80 คน บวกฟรีแลนซ์ข้างนอกอีกเพียบ รวมๆ น่าจะ 200 กว่าคนโดยประมาณ
“สุดท้ายเรื่อง 9 ศาสตรา จบแบบเสร็จตอนผมอายุ 39 แต่ตอนนั้นผมไม่ไหวแล้วกับการทำแอนิเมชั่น มันอิ่ม มันเครียด มันเงินของคนอื่น ไม่ใช่เงินเรา แล้วผมก็รู้สึกเครียดมากๆ บวกกับผมและเพื่อนเริ่มมีปัญหากันด้วย เริ่มไม่เข้าใจกัน แนวความคิดไม่เหมือนกัน คือผมตั้งใจจะดีไซน์คาแร็กเตอร์เพื่อมาขายของ แต่น้องๆ ที่เติบโตมากับบริษัทนี้น่าจะอยากมุ่งไปทางให้เป็นบริษัททำแอนิเมชั่นมั้ง ผมก็จิตตก depress เลยออกจากบริษัทตัวเอง ทิ้งเงินไว้ เดินออกมาคนเดียว”
เหว่งเล่าด้วยสีหน้าเรียบเฉยพร้อมจิบเครื่องดื่มในมือ
“หลังจากนั้นเราก็ย้ายโรงเรียนลูกไปอยู่แถวนครปฐม แถวสาย 2 เพราะไม่มีเงินเลี้ยงลูก ระหว่างนั้นผมก็มีคิดว่าหรือเราจะกลับไปทำหมูปิ้งดี แต่คิดอีกทีก็คิดว่าไม่น่าไหว หมดแรง แล้วก็มีคิดว่าหรือจะไปรับเหมาก่อสร้าง แต่ก็คิดว่าไม่เอาดีกว่า มันเบื่อแล้วและเราไม่ได้ชอบ จนผมตัดสินใจจับมือกับเติ๊ด เริ่มเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็คิดว่าอยากจะทำช่องทำเพจกับเติ๊ด”
“ไปไงมาไงถึงได้ชวนกันทำช่องได้”
“คือตอนที่ผมย้ายบ้านมาอยู่หมู่บ้านที่ผมอยู่ตอนนี้ แล้วผมเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับเติ๊ด เติ๊ดเขาเห็นรูปผมในเฟซบุ๊กแล้วเขาก็คุ้นๆ ว่านี่มันหมู่บ้านเดียวกันกับที่เขาอยู่ เขาก็มาถ่ายรูปบ้านแล้วส่งมาถามผมว่านี่บ้านผมหรือเปล่า ผมก็บอกว่า ใช่ แล้วก็เลยไปหาเขา”
และการพบกันครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของ ‘เทพลีลา’
ชีวิตต้องสู้ต่อ
ตลอดเส้นทางการทำธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่าความล้มเหลวคือเพื่อนสนิทของเขา
แทบทุกครั้งที่เริ่มต้นใหม่ปลายทางส่วนใหญ่คือไม่รอด แล้วกับการเริ่มต้นในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จุดไหนกันที่เขามั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้บนเส้นทางนี้ได้
“ตอนที่มั่นใจว่ารอดก็คือ ตอนทำคลิปแจกดอกไม้วันวาเลนไทน์ ตอนนั้นใกล้วันวาเลนไทน์ เติ๊ดบอกว่าอยากแจกดอกไม้ ทดสอบสังคม เราจะไปให้ดอกไม้คนที่ไม่มีใครสนใจเขา คนที่เขาไม่เคยได้ เช่น คนกวาดขยะ ยาม แต่ทีนี้ถ้าเราไปซื้อดอกกุหลาบมันจะไม่มีมูลค่า เราต้องทำเองด้วยใจของเรา ซึ่งไม่ใช่หรอก จริงๆ คือไม่มีตังค์” เขาหัวเราะทันทีเมื่อเล่าถึงประโยคนี้
“ผมก็เลยบอกเติ๊ดให้ซื้อกระดาษโปสเตอร์สีแดงมา คือผมเคยแกะสลักมะเขือเทศ ผมพอมีทักษะ ผมก็เลยเอากระดาษโปสเตอร์มาฉีกแล้วก็ม้วนให้เป็นกุหลาบ แล้วก็ติดแกน ก็สอนให้เติ๊ดทำ แล้วให้เติ๊ดไปแจก เพราะผมไปเที่ยวกับที่บ้าน เติ๊ดเลยต้องเป็นคนไปแจก เติ๊ดก็เอาเพื่อนผมไปถ่าย ปรากฏว่าพอลงคลิปไปกลายเป็นไวรัล คนดูเป็นล้านเลยในเฟซบุ๊ก แล้วก็ได้ลงข่าวด้วย ทีนี้ก็เริ่มติดแล้ว ก็ยาวเลย”
“คุณคิดว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวทั้งหมดที่ทำมาคืออะไร” เราถามเขาในฐานะผู้ที่สู้ไม่ถอยมาตลอดการทำหลากหลายอาชีพ ก่อนจะมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แถวหน้าในวันนี้
เหว่งยกแก้วเครื่องดื่มขึ้นจิบอีกครั้งก่อนตอบ
“ผมรู้ว่าผมเจ๊งยังไง เจ๊งเพราะอะไร ผมเจ๊งเพราะผมใจร้อน ไม่ศึกษามันให้ดีพอก่อน เจ๊งเพราะทะเลาะกับหุ้นส่วน แต่ถ้าให้ผม crack แต่ละอัน ผมก็จะรู้เหมือนกันว่าในแต่ละอันผมมีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่สำเร็จ เช่น แต่งเพลง ผมก็ทำได้ดี พอมาเรื่องหมูปิ้ง กุ๊กที่โรงแรมเขาก็ชม ถ้าเป็นเรื่องภูเก็ตแฟนตาซีผมว่า ผมก็เป็นคนที่กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน ออกไปลองทำอะไรใหม่ๆ ไปลองอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไปทำ The SALADS ก็ชนะการประกวดและมีคนมาลงทุน บริษัทแอนิเมชั่นที่ผมเคยร่วมทำมาทุกวันนี้ก็ไปไกลมากๆ มีพนักงานเป็นร้อยคนแล้ว ส่วนผมเองทุกวันนี้ก็ได้เติบโตในแบบที่เป็นตัวผมเองจริงๆ ทั้งหมดนี้ผมว่าผมได้เห็นจุดที่ผมชนะ และจุดที่ผมเคยพ่ายแพ้ แต่ผมก็เดินต่อ สู้ต่อ ทุกวันนี้ผมก็ยังเจออะไรแบบนี้อยู่ ผมยังเจอธุรกิจที่ผมทำแล้วล้มเหลว ธุรกิจที่ทำแล้วดีขึ้น ไกลขึ้น”
“ทำไมคุณถึงไม่กลัวการออกจากคอมฟอร์ตโซน”
“กลัว แต่ผมฝืนไป คือแค่กลั้นใจแล้วก็ ลองทำดูวะ จริงๆ ผมอาจเคยให้สัมภาษณ์กับทุกที่ว่า ผมไม่กลัว ทุกคนอย่าไปกลัวมัน แต่จริงๆ ผมมีความกลัวอยู่ แต่ความกล้ามันมากกว่าความกลัว”
“คุณทำยังไงให้ตัวเองกล้า” เราขอเคล็ดลับ
“ไม่มีกินไง หรือก็คือไม่มีทางแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าถ้าเราดิ้นรนมันจะมีหนทางเสมอ คือมันอาจจะไม่ดีก็ได้ แต่มันต้องไปได้แหละวะ ผมคิดอย่างนั้นนะ”
เป็นพ่อต้องพยายามเข้าใจ
นอกจากบทบาทของการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แถวหน้าของไทย ทุกคนต่างรู้จักเหว่งในฐานะคุณพ่อของลูกสาวน่ารักทั้งสอง น้องจินและน้องเรนนี่ เมื่อเราคุยกับเหว่ง เราจึงชวนเขาแชร์ถึงวิธีแบ่งเวลาระหว่างบทบาทพ่อและการทำงาน
“ก็บาลานซ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีหรอก work-life balance มีแต่ช่วงไหนยังไงมากกว่า ปรับให้มันสมดุล คือผมเป็นคนผสมๆ อย่าง Little Monster ที่เราทำกันเป็นครอบครัวผมก็บาลานซ์ไม่ให้จินกับเรนนี่เขาต้องทำงานเยอะ คือเขาสองคนทำงานเเต่เด็ก เพื่อครอบครัวของเราและเพื่อคนอื่น ถ้าย้อนเวลากลับไปได้แล้วผมไปเปิดร้านข้าวมันไก่หรือร้านขายหมูปิ้ง จินกับเรนนี่ก็ต้องมาเสียบไม้หมูปิ้งช่วยผม เขาต้องช่วยผมล้างจานแน่นอน เพราะผมจะให้เขาทำ เขาต้องเป็นคนรับออร์เดอร์ เขาต้องเหนื่อยอยู่ดี แต่เผอิญว่าวันนี้มาทำออนไลน์ เขาก็ต้องมาถ่ายงาน เราแค่ต้องวางให้เขาเหนื่อยน้อยสุด เขาต้องไม่รู้สึกว่านี่คือการทำงานเกินไป เขาเล่นได้ เราเป็นคนดำเนินเรื่องเอง และเงินทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เพื่อครอบครัวและตัวเขา
“ทั้งจินและเรนนี่มีเงินใกล้ๆ กัน และเขามีเงินมากกว่าผมตอนผมอายุ 40 ผมรู้สึกว่าเงินตรงนี้เป็นของเขาที่เขาอยากจะเอาไปทำอะไรก็ได้เมื่อเขาโตขึ้น ไม่ต้องมาดูแลพ่อแม่ก็ได้ ทำอะไรก็ได้ที่เขามีความสุข ฉะนั้นเวลามีใครบอกว่าผมเอาลูกมาหากิน ผมจะบอกเลยว่าไม่ใช่ เขาทำเพื่อตัวเขาเองต่างหาก”
“คุณมีวิธีในการเลี้ยงลูกยังไง เป็นคุณพ่อแบบไหน” เราชวนเขาวิเคราะห์บทบาทนี้ของตัวเอง
“ก็พยายามจะเป็นพ่อที่เข้าใจลูกที่สุดตามวัยของเขา ก็พยายามที่สุด คือเขาห่างกัน 4 ปี เราก็อาจจะมีเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็พยายามที่สุดที่จะเป็นพ่อที่เข้าใจ พยายามหาเวลาเท่าที่มีให้เขา อย่างตอนเช้าพี่จะไปส่งเขาที่โรงเรียน ยกเว้นวันศุกร์และวันพุธจะเป็นวันที่กลับบ้านเร็ว ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็อยู่ด้วยกัน
“ผมสังเกตว่าลูกเราจะมีความเป็นเราอยู่ คุณลองสังเกตตัวคุณเองสิ คุณจะมีความเป็นพ่อหรือแม่หรือคนที่เลี้ยงคุณมาผสมอยู่ในตัว ผมก็พยายามปรับเอาสิ่งที่แย่ของผมออกไปให้เยอะที่สุด เช่น ผมยังอารมณ์ร้อนอยู่ แต่สิ่งที่ผมอธิบายให้ลูกฟัง ผมอธิบายเป็นเหตุผล และผมใจเย็นมากๆ กับลูก และลูกก็ฟัง ส่วนตุ๊กเนื่องจากว่าเขาอยู่กับลูกตลอด เพราะฉะนั้นก็เรื่องปกติที่เขาจะมีปรี๊ดบ้าง ซึ่งเขาพูดใน TikTok บ่อยๆ ว่าช่วงนี้เป็นยักษ์ตีกับจินบ่อย แต่ตุ๊กเองก็มีวิธีที่จะอธิบายได้ค่อนข้างดี เขาปรับตัวเองได้ดี เราสองคนทะเลาะกันน้อยลง มีปัญหาน้อยลง มีเป้าเดียวกันมากขึ้น ครอบครัวเราก็แน่นขึ้น
“สิ่งที่เราเปลี่ยนก็ทำให้ลูกเรากล้าเปลี่ยน ลูกเรากล้าถามมากขึ้น กล้าแสดงความรู้สึกมากขึ้น เวลาที่เราทะเลาะกันต่อหน้าลูก ลูกเราก็รู้ว่าเราทะเลาะกัน เพราะมันคือเรื่องปกติ” เหว่งตอบด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มเมื่อเล่าถึงจินและเรนนี่
“อะไรคือสิ่งที่คุณมักเน้นย้ำหรือสอนลูก”
“การไม่เอาเปรียบคนอื่น คือผมสอนลูกให้มีความสุข ผมไม่กดดันลูกว่าต้องเรียนให้ดี ผมอยากให้เขาเลือกในสิ่งที่เขาอยากจะเรียน เลือกในสิ่งที่เขาชอบจริงๆ ไม่ชอบก็เปลี่ยนได้ เมื่อเรียนจบแล้วอยากให้ไปหาอาชีพที่มีความสุข”
ใบหน้าของเหว่งอมยิ้มตลอดเวลาเมื่อพูดถึงลูกสาววัยน่ารักทั้งสอง ที่ว่ากันว่าของบางอย่างไม่เจอกับตัวเองคงไม่เข้าใจ คงประยุกต์ใช้ได้กับความสุขของเขาที่เราสัมผัสได้
“แล้วความสุขของการมีลูกคืออะไร”
“จริงๆ มีลูกมันก็มีทุกข์นะ ทุกข์นี่มักจะมาก่อนสุขด้วย เพราะเราห่วงเขา วันนี้จินไป field trip กับโรงเรียน ก็คือผมจะไม่เจอเขา 3 วัน คือผมไม่ค่อยได้ห่างลูก ผมก็รู้สึกว่าผมคิดถึง ความสุขของการมีลูกมันเป็นความสุขที่คนไม่มีลูกไม่เข้าใจ ไม่มีทางเข้าใจ มีลูกเป็นแมว เป็นหมา ก็จะแบบนึง มีลูกเป็นคนก็อีกแบบนึง
“ลูกไม่ได้เป็นแค่ที่ชาร์จพลังของผม คือเขาสามารถระเบิดความสุขออกมาได้ตลอดเวลา ผมเห็นแค่ท่านอนเขาผมก็ยิ้มแล้ว ผมเห็นเขาดูหนังหรือตั้งใจวาดรูป ตั้งใจเล่นของของเขา เห็นเขาตั้งใจเขียน หน้าตาความตั้งใจแบบนั้นน่ะ ผมก็รู้สึกปลื้มแล้ว ยิ้มแล้ว ผมชอบแอบดูลูกผมทำอะไรแบบตั้งใจ ผมชอบเวลาเขาเล่นกันเอง หัวเราะกันเอง มันน่ารักไปหมดสำหรับผม”
“แต่คนมีลูกมักจะพูดเสมอว่า มีลูกก็เหมือนมีห่วงเหมือนกัน คุณคิดเหมือนกันมั้ย”
“ก็ห่วงสังคมสมัยนี้และข้างหน้า ผมอยากให้เขาทันคน อยากให้เขาเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนไป อยากให้เขากรองคน วันหนึ่งเขาอาจจะพลาดจากเรื่องต่างๆ ที่มีให้เขาพลาดเต็มไปหมดในชีวิต ผมอยากให้เขาข้ามตรงนั้นไปให้เป็น คือพลาดน่ะพลาดแน่นอน คนเรามันต้องพลาดแน่นอน ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เขาต้องกล้าที่จะข้ามไป
“ผมยกตัวอย่างนะ สมมติว่าธุรกิจที่ผมทำมา แล้วลูกผมไม่อยากทำต่อ แล้วเขามีเงินอยู่จำนวนนึง สมมติว่าวันนั้นผมไปปลูกลำไย นอนอยู่ในสวน ผมยกทุกอย่างให้ลูกผมไป แล้วลูกผมไปแต่งงานกับใครสักคนหนึ่งที่แม่งเข้ามาผลาญสมบัติลูกผมจนหมด และเป็นคนบัดซบมาก และหลอกให้ลูกผมเสียใจ วันนั้นน่าจะเป็นวันที่น่าจะเน่าที่สุดของลูกผม ผมก็คาดหวังว่าเขาจะกล้าเดินออกมาจากจุดนั้น แล้วไปหาชีวิตใหม่ เริ่มต้นใหม่ให้เป็น นี่คือสิ่งที่ผมคิด”
จากบทสนทนากว่าสองชั่วโมงกับเหว่ง ตั้งแต่ช่วงที่เป็นนักศึกษาสถาปัตย์ พ่อค้าหมูปิ้ง เปิดบริษัทสถาปนิก จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งช่องเทพลีลาของพ่อลูกสอง เราได้เห็นทั้งความผิดหวังและความสำเร็จของชายผู้นี้ คำถามสุดท้ายก่อนแยกย้ายเราจึงอยากชวนเขาทบทวนว่าหลังการก้าวผ่านทุกย่างก้าวของช่วงชีวิตมาจนถึงวันที่น่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ ความสุขในชีวิตเขาวันนี้คืออะไร
“ความสุขของผมในวันนี้คือ อย่างตอนนี้ ผมได้นั่งคุยกับคุณ ได้เล่าเรื่องของผม ได้หัวเราะ แค่นี้ผมก็แฮปปี้มีความสุขแล้ว เรื่องเล็กๆ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาความสุขที่ยิ่งใหญ่มาจากไหน วันนี้จริงๆ ผมเครียดมาตลอดทั้งวันเลย ผมมีปัญหาทั้งวันในการทำงาน แต่ผมรู้ว่า เดี๋ยวผมก็ไปหาทางแก้ เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาผมก็เครียด เพราะเรื่องที่ผมกังวลอยู่ตอนนี้มันค่อนข้างใหญ่
“แต่เมื่อผมเจอตุ๊ก เจอลูกผม ผมได้กอดเขา ชีวิตผมก็แฮปปี้แล้ว”
รสชาติชีวิต
รสหวาน
“ช่วงเด็ก เพราะเหมือนลูกอม ไม่ต้องซีเรียส ชีวิตก็เล่นไป เล่นตลอด เล่นกับเพื่อนแถวบ้าน เล่นกับพี่ เล่นสนุก ชีวิตวัยนั้นมันเหมือนลูกกวาด ชีวิตมีแต่ความสนุก ทุกข์อย่างมากก็แม่ตี แม่ว่าเรา แม่ด่าเรา คือชีวิตตอนนั้นไม่ได้รวยแต่ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ได้เครียด
“คือผมคงไม่ตอบว่าช่วงที่หวานที่สุดคือตอนเจอตุ๊ก มีความรัก มันไม่ใช่ มันไม่หวานแบบนั้น เพราะช่วงที่เจอตุ๊ก คือช่วงที่เซตอัพบริษัทสถาปัตย์และแอนิเมชั่น มันมีแต่ความเครียด คือชีวิตช่วงนั้นมันไม่ได้ผ่องใสหวาน ไม่ได้ puppy love”
รสขม
“ช่วงอายุ 39-40 ช่วงที่เลิกจาก 9 ศาสตรา เพราะตอนนั้นชีวิตผมเสี่ยงมาก ผมไม่รู้ว่าผมจะทำให้ครอบครัวผมไปได้ดีไหม ช่วงนั้นเครียดมากที่สุด ขมที่สุด เป็น depress”
รสเปรี้ยว
“อาจจะเป็นช่วงประมาณที่ทำบริษัทสถาปัตย์มั้ง เพราะมันมีหลายรสชาติ กำลังทำบริษัทขึ้นมา มันมีความหวือหวาของชีวิต ผมกลับบ้านดึก เที่ยวนั่นเที่ยวนี่ ไปนั่นไปนี่ ไปเลานจ์ด้วย เป็นช่วงที่ชีวิตมันหลากหลาย กินเหล้า สูบบุหรี่ เละเทะไปหมด”
รสเผ็ด
“ช่วงนี้เลย เพราะช่วงที่ชีวิตผมมีสิ่งที่ต้องทำเต็มไปหมด เหมือนเวลากินอาหารเผ็ดแล้วมันอร่อย คือผมชอบกินของรสจัด ผมรู้สึกว่าช่วงนี้คือความสุข คือเผ็ดก็เผ็ด แสบปากก็แสบปาก แต่อร่อย อยากกินว่ะ อยากกินให้หมดจาน แต่ก็กลัวจะแสบท้อง แต่ก็อยากสั่งเพิ่มว่ะ มันคือความท้าทายในแต่ละอย่างผสมกันไปหมด
“ตอนนี้ผม 47 นะ ก็ครึ่งชีวิตแล้ว แต่ชีวิตยังจัดจ้านอยู่เลย มันมีหลายรสดี มีหลายบทบาทดี ผมก็กะว่าผมอยากจะอยู่ถึงร้อยปี”