The Diptyque Story
อ่านความทรงจำของ Diptyque แบรนด์น้ำหอมที่ลึกล้ำตั้งแต่ฟอนต์ จนถึงเรื่องเล่าของแต่ละกลิ่น
L’Ombre dans l’Eau มีความหมายว่าเงาที่ทาบทับลงบนสายน้ำ เป็นกลิ่นที่หวนกลับไปยังความทรงจำของสวน ใบไม้ และลูกแบล็กเบอร์รีที่อบอวลโดยมีภาพของเงาไม้ชายน้ำและหงส์ที่ว่ายน้ำอย่างสุขสบาย
Philosykos แปลว่า มิตรสหายของต้นมะเดื่อ เป็นกลิ่นที่ใช้ทุกส่วนของต้นมะเดื่อมาสร้างเป็นกลิ่นเพื่อเก็บความทรงจำของการเดินไปยังกรีซ ดินแดนที่แบรนด์นิยามว่าเป็น ‘ประเทศของแสงเจิดจ้า และดินแดนปริศนาที่ปวงเทพยังคงมีลมหายใจ’
นั่นคือตัวอย่างและเรื่องเล่าเล็กๆ จากกลิ่นน้ำหอมของแบรนด์ดิปทีค (Diptyque) หนึ่งในแบรนด์น้ำหอมยอดนิยมที่พูดตามตรงว่าเป็นแบรนด์ที่มีความยาก ชื่อก็อ่านยาก ฉลากที่เหมือนจะอ่านได้ไม่ยากแต่ก็ต้องเพ่งอ่านหลายๆ ครั้ง
ดิปทีคเป็นแบรนด์น้ำหอมที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนที่ไม่ใช่แค่ตัวกลิ่น แต่ยังประกอบด้วยเรื่องเล่าและความทรงจำที่ถูกบรรจุไว้ในขวดน้ำหอมที่สวยงาม กลิ่นต่างๆ ของดิปทีคนั้นหอมแน่นอน แต่ถ้าเราได้ลองอ่านหรือฟังเรื่องราวของกลิ่นนั้นๆ ถ้อยคำและการเล่าเรื่องจะยิ่งทำให้เราหลับตาและถูกนำพาไปยังดินแดนอื่น ในดินแดนแห่งความทรงจำ
นี่คือเรื่องราวของดิปทีค น้ำหอมที่เริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนผู้เป็นศิลปินและไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการทำน้ำหอม แต่เปิดร้านขายของทางศิลปะที่ถนนแซ็ง-แฌร์แม็ง
นอกจากตัวน้ำหอมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ แล้ว ดิปทีคยังมีขุมทรัพย์สำคัญที่เรา ไม่ว่าจะเป็นคนรักน้ำหอมของดิปทีคหรือเป็นผู้ชื่นชอบศิลปะร่วมสมัย ดิปทีคมีนิตยสารออนไลน์ชื่อว่า memento แค่ชื่อก็รู้สึกมองเห็นภาพความทรงจำที่กระจัดกระจาย ตัวนิตยสารมีเนื้อหาหลายส่วน นอกจากการเล่าเรื่องราวของแบรนด์แล้ว บางส่วนยังเป็นเหมือนการจดบันทึกหรือข้อจดจำที่กระจัดจายซึ่งเป็นเสมือนเบื้องหลังและประสบการณ์ที่นำไปสู่ตัวตนของแบรนด์หรือของผลิตภัณฑ์เช่นกลิ่นต่างๆ ไปจนถึงที่มาของตัวอักษรที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสในยุคสงคราม
1.
ศิลปิน ศิลปะสมัยใหม่ และร้านความฝันที่ถนนแซ็ง-แฌร์แม็ง
ดิปทีคเป็นแบรนด์ที่เกิดขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่ 20 บนถนนสายสำคัญของโลกความคิดและวงการศิลปะสมัยใหม่คือถนนแซ็ง-แฌร์แม็ง (Boulevard Saint-Germain)
ถ้านิยามง่ายๆ ถนนสายนี้ของปารีสเป็นถนนสายคนดัง คือไม่ใช่แค่แสนเก๋แต่เป็นที่ที่คนรุ่นใหม่ผู้มีความคิดใหม่ๆ ในขณะนั้นมาพบปะกัน ถนนสายนี้เป็นพื้นที่ของคนสำคัญๆ ในโลกความคิด ปรัชญาสมัยใหม่ นักเขียน ไปจนถึงศิลปิน เช่น ซีโมน เดอ โบวัวร์ และฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ สองนักปรัชญาคนสำคัญ ไปจนถึงปิกัสโซ่ จิตรกรเอกของโลก กระทั่งเฮมิงเวย์เองก็เป็นประชากรสำคัญของถนนสายนี้
นั่นคือบรรยากาศหลักของการเป็นพื้นที่ทางศิลปะและความคิดร่วมสมัยของปารีส และเป็นถนนสายนี้เองที่แบรนด์ดิปทีคถือกำเนิดขึ้นในปี 1961 ดิปทีคในจุดแรกสุดถูกออกแบบให้เป็นตำนานคู่กับถนนสายสำคัญโดยมีเจ้าของเป็นเพื่อนศิลปินสามคนจับมือกันเปิดร้านเป็นของตัวเอง
ศิลปินทั้งสามนับเป็นศิลปินศิลปะสมัยใหม่ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำน้ำหอมเลย โดย Christiane Montadre-Gautrot เป็นนักออกแบบภายใน Yves Coueslant เป็นนักออกแบบฉากโรงละคร และ Desmond Knox-Leet เป็นจิตรกร
ร้านดิปทีคในช่วงแรกเป็นร้านที่เปิดให้ทั้งสามคนทำตามความชอบหรือความสุขของตัวเอง ช่วงแรกดิปทีคจึงขายผ้าลวดลายแปลกๆ ที่ทั้งสามเป็นผู้ออกแบบลวดลาย ขายของเกี่ยวกับศิลปะ บ้างก็จะเป็นของที่มาจากการเดินทางของทั้งสามไม่ว่าจะกลับมายุโรป อเมริกา หรือเอเชีย บรรยากาศของดิปทีคในยุคนั้นถือว่ามีความเฉพาะและมีชื่อเสียงจากความแปลกใหม่และแสนเก๋เหมาะกับถนนและผู้คน รวมถึงตัวเจ้าของร้านที่เป็นศิลปินเอง
2.
Diptyque-Diptych ศิลปะกรีกกับหน้าต่างบานคู่
ชื่อของดิปทีคมาจากศัพท์ศิลปะเฉพาะ คำว่า Diptyque เป็นคำเวอร์ชั่นฝรั่งเศสของคำว่า Diptych ที่เป็นภาษากรีก หมายถึงภาพหรืองานศิลปะที่เป็นคู่และมักจะเชื่อมติดกันอาจจะด้วยบานพับ งานศิลปะที่เป็นคู่นี้อาจเป็นภาพเขียนหรือภาพสลักที่เป็นภาพเหมือนกัน หรือเป็นคนละภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องกันก็ได้ บานพับนี้อาจทำให้เราสามารถประกอบปิดภาพทั้งสองเข้าหากัน
ในบันทึกของแบรนด์เองก็พูดถึงการเลือกชื่อและอธิบายองค์ประกอบของศิลปะแบบคู่ที่เชื่อมติดกันนี้ว่า ลักษณะของงานดังกล่าวมีความยอกย้อนในตัวเอง คือบางครั้งภาพเขียนด้านในอาจเป็นภาพทางศาสนา การปิดภาพเข้าหากันอาจเป็นการรักษาความสงบหรือความเคร่งขรึมไว้ภายในภาพเขียนนั้น หรือในทางกลับกันอาจเป็นการซ่อนเรื่องราวต้องห้ามเช่นความลุ่มหลงในทางโลกย์เอาไว้ภายในงานศิลปะที่ประกบเข้าหากัน การปิดและเปิดได้รวมถึงปฏิสัมพันธ์ของเนื้อหาในงานจากเงื่อนไขของศิลปะกรีกที่ต่อมาได้รับความนิยมในยุคกลางนั้นจึงเต็มไปด้วยความหมายในการเลือกมาเป็นชื่อร้าน
ทีนี้ แม้ว่าแบรนด์จะอธิบายที่มาของชื่อที่มีความซับซ้อน แต่สาเหตุสำคัญจริงๆ คือคำคำนี้เป็นศัพท์เทคนิคในวงการศิลปะซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเจ้าของทั้งสามที่เป็นศิลปิน คือเป็นคำแปลกที่ไม่แปลกสำหรับทั้งสามคน แต่เหตุผลหลักๆ อย่างหนึ่งคือตัวร้านในตอนที่เซ้งมาคือร้านที่บ้านเลขที่ 34 ถนนแซ็ง-แฌร์แม็ง หน้าร้านที่เป็นเหมือนมุมประกอบด้วยกระจกสองฝั่ง ทำให้หน้าร้านและป้ายชื่อร้านเป็นเหมือนกับหน้าต่างสองบานที่เหมือนกัน แต่แยกออกจากกัน พูดง่ายๆ คือมุมหน้าร้านในตอนนั้นเหมือนกับศิลปะแบบ diptych ที่ถูกแง้มออก
ตรงนี้เองค่อนข้างตอบกับนิยามและอุปมาของร้านเอง ที่เป็นเหมือนงานศิลปะที่แง้มเอาไว้ ผู้มาเยือนสามารถเข้าสู่ดินแดนพิเศษนั้นได้ ประกอบกับทางแบรนด์บันทึกไว้ว่าชื่อเองมีความยากและเฉพาะ เจ้าของทั้งสามเห็นว่าน่าจะทำให้ผู้คนอยากรู้อยากเห็น มีความเป็นนานาชาติ ด้วยชื่อนี้น่าจะให้บรรยากาศและพาผู้คนมายังร้านแปลกประหลาดนี้ได้
3.
เทียนหอมชุดแรก งานศิลปะของภาพและกลิ่น
ปี 1963 หลังจากเปิดร้านมาได้สองปี ร้านดิปทีคก็มาถึงจุดเริ่มของการเป็นดินแดนของเครื่องหอม
ในปีนั้นดิปทีคเริ่มผลิตเทียนหอมออกจำหน่าย การเลือกทำเทียนหอมก็เป็นจุดบรรจบหลายๆ ด้านทั้งความต้องการที่จะให้เทียนเป็นกลิ่นหรือบรรยากาศที่เข้ากับลวดลายของผ้าที่ทั้งสามออกแบบ ตรงนี้สัมพันธ์กับบริบทที่หุ้นส่วนเชี่ยวชาญในการออกแบบฉากของโรงละคร ทั้งเทียนหอมที่ว่าจะเป็นเทียนที่มีสี ตัวเทียนนี้จึงมีความเป็นศิลปะที่ผสมผสานในเชิงการมองเห็นและกลิ่นเข้าด้วยกัน
หนึ่งในจุดเด่นสำคัญนอกจากกลิ่น คือการออกแบบตรารูปวงรีที่ออกแบบโดยเดสมอนด์ โดยวงรีเป็นรูปทรงที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะบนโล่ของนักรบในสมัยโรมันโบราณ ตรานี้เป็นลายที่ทางดิปทีคออกแบบลงบนลายผ้าในช่วงแรก ในช่วงนั้นเดสมอนด์ได้นำชื่อของเทียนกลิ่นต่างๆ วางลงในตรารูปวงรีหรือทรงไข่นี้
เทียนหอมชุดแรกสุดของดิปทีคผลิตออกมา 3 กลิ่นคือ ชา ฮอว์ทอร์น และซินนามอน โดยแบรนด์ใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงมาผลิตเทียน ซึ่งมีสถานะไม่ต่างกับงานฝีมือ ทางแบรนด์อธิบายว่าเทียนหอมนอกจากจะใช้วัสดุและวัตถุดิบอย่างดีเยี่ยม และการปรับเพื่อให้การเผาไหม้ที่สมบูรณ์แล้ว ตัวเทียนใช้เวลาทำสองวัน มีขั้นตอนย่อย 8 ขั้นตอนที่เกือบทั้งหมดทำด้วยมือ
4.
น้ำหอมตระกูล ‘น้ำ’ และร่องรอยยุคสมัยในน้ำหอม
แม้ว่าดิปทีคจะเริ่มขายเทียนหอมในปี 1963 อันที่จริงตัวร้านของดิปทีคเองตั้งแต่แรกเริ่มก็มีสินค้าที่เกี่ยวกับเครื่องหอม โดยเฉพาะน้ำหอมอังกฤษที่ในบันทึกระบุว่าอาจเป็นร้านเดียวของฝรั่งเศสที่มีน้ำหอมและเครื่องหอมของอังกฤษขาย
หนึ่งในสินค้าเครื่องหอมที่ขายในร้านคือก้อนเครื่องหอมหรือ pomander เป็นลูกบอลที่ทำขึ้นจากส่วนผสมที่ให้กลิ่นหอม สมัยก่อนผู้คนจะพกไว้เพื่อให้กลิ่นหอมหรือกระทั่งช่วยดับกลิ่นหรือป้องกันเชื้อโรค ตัวก้อนหอมนี้มักทำขึ้นจากอ้วกหรือสเปิร์มวาฬและนำไปผสมกับเครื่องหอมอื่นๆ กลิ่นสำคัญของก้อนหอมนี้เป็นกลิ่นของผลส้มแห้งผสมกับกานพลูจากอินโดนีเซีย ในช่วงศตวรรษที่ 16 ลูกบอลหอมหรือผลหอมเริ่มถูกใช้ในเครื่องหอมเพื่อสร้างกลิ่นในห้องหรือบ้านเรือน เป็นการผสมส่วนผสมจากพืชเข้ากับเครื่องหอมต่างๆ คือผลไม้ตระกูลส้มและเครื่องเทศ เช่นพริกไทยและกานพลู
ทีนี้ในตอนที่เดสมอนด์กำลังทดลองปรุงกลิ่นหอมสำหรับเทียนชุดแรก เดสมอนด์พบว่าตัวเองได้ทำก้อนเครื่องหอมขึ้นมา โดยก้อนเครื่องหอมได้แรงบันดาลใจมาจากตำรับก้อนหอมโบราณจากศตวรรษที่ 16 ของอังกฤษ เป็นกลิ่นหอมที่ประกอบด้วยกลิ่นของซินนามอน กุหลาบ กานพลู เจอเรเนียม และไม้จันทน์ (sandalwood)
จากการทดลองทำก้อนหอมแบบโบราณ กลิ่นของก้อนหอมที่ลองทำขึ้นก็หอมจนเจ้าตัวเองยังตะลึงและเกิดเป็นความคิดว่าจะนำเอาส่วมผสมเข้มข้นที่ทดลองทำขึ้นมาจากสูตรก้อนหอม (ตอนนั้นทำเป็น paste) ด้วยการนำเอาสารเข้มข้นนั้นไปละลายในแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นน้ำหอม จากก้อนหอม ความบังเอิญในการทดลองเพื่อทำวัตถุดิบเทียนหอม ตำรับโบราณและมรดกจากอังกฤษ (เดสมอนด์เองมีเชื้อสายไอริช) และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของน้ำหอมที่สุดท้ายได้ชื่อว่า น้ำ หรือ L’Eau ซึ่งเป็นน้ำหอมกลิ่นแรกของดิปทีค วางขายในปี 1968
ประเด็นเรื่องการตั้งชื่อกลิ่นว่า น้ำ หรือ L’Eau ในที่นี้มีนัยลึกซึ้งและสอดคล้องกับตลาดและความนิยมน้ำหอม รวมถึงปรัชญาของแบรนด์ด้วย อย่างแรกเลย L’Eau น้ำหอมกลิ่นแรกเป็นน้ำหอมประเภท eau de toilette ในสมัยนั้นกลิ่นน้ำหอมที่ประกอบด้วยเครื่องเทศยังไม่เป็นที่นิยม ชื่อที่หมายความว่ากลิ่นของน้ำเป็นตัวแทนของความแปลกประหลาด และการที่กลิ่นจะพาผู้คนไปยังทั้งดินแดนใหม่ หรือกระทั่งก้าวไปสู่ในดินแดนของความทรงจำ
ในด้านหนึ่งน้ำหอมประเภท eau de toilette ที่มีความเจือจางใช้ง่ายกว่าน้ำหอมประเภท parfum รวมถึงการผสมเครื่องเทศลงไปนั้นก็ทำให้น้ำหอม L’Eau ของดิปทีคเป็นน้ำหอมแบบไร้เพศคือใช้ได้ทั้งชายและหญิง โดยกลิ่นหลังจากนั้นของดิปทีคเองในปัจจุบันจึงอาจจะงอกเงยจากรากฐานนี้ คือการเป็นกลิ่นของคนทุกเพศ และเป็นกลิ่นที่พาเราไปยังทุกหนแห่งทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา
มาถึงตรงนี้จึงไม่แปลกที่ชื่อและแนวคิดของน้ำหอมดิปทีคจะมีคำว่าน้ำอยู่ในชื่อ และที่ล้ำลึกกว่านั้นคือดิปทีคตั้งใจตั้งชื่อน้ำหอมกลิ่นแรกว่าน้ำซึ่งออกเสียงว่า ‘อูร์’ เสียงนี้เป็นเสียงเดียวกับพยัญชนะตัว o ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกัน ดังนั้นชื่อกลิ่นเกือบทั้งหมดของดิปทีคจะมีตัว o สะกดโดยเน้นที่ตัว o นั้นเสมอเช่น Olène, L’Ombre dans l’Eau, Tam Dao, Do Son, Ofrésia, Philosykos โดยตัว O มีนัยของความเต็ม วงกลมที่บรรจบในตัวเอง เป็นตัวแทนของความลื่นไหลและมีนัยของความสนุกสนานขี้เล่น ซึ่งเราเองก็จะจดจำชื่อได้ในเสียงอูร์หรือโอ จากทั้งรูปและเสียงของน้ำหอมกลิ่นต่างๆ ของแบรนด์ได้ในที่สุด
เรื่องราวการสร้างน้ำหอมและเทียนหอมของดิปทีคทำให้เราเห็นบางร่องรอยเช่นการมาถึงของโลกตะวันออก การเริ่มผสมผสานกลิ่นเครื่องเทศ ไปจนถึงการขยายความหมายและผู้ใช้งานน้ำหอมที่เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น มีประเด็นเรื่องการเดินทางไปทั่วโลก การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและวัฒนธรรม ไปจนถึงการปรับมรดกบางอย่างเช่นการปรุงก้อนน้ำหอมสู่การเจือจางไปสู่น้ำหอมอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน
5.
ว่าด้วยสมาคมกอล์ฟ ชีส และหมากรุก
อันที่จริงผู้ก่อตั้งทั้งสามของดิปทีคล้วนมีความสามารถและมีบทบาทต่อแบรนด์ในหลายๆ แง่ แต่หลังจากที่เราพูดเรื่องฉลาก ไปจนถึงการปรุงน้ำหอม ชื่อสำคัญที่ถูกพูดถึงบ่อยคือเดสมอนด์ โดยเดสมอนด์นับเป็นอีกหนึ่งศิลปินมหัศจรรย์ เป็นแกนหลักที่คิดและปรุงเทียนหอมไปจนถึงกลิ่นเข้มข้นที่กลายเป็นหัวเชื้อของน้ำหอมกลิ่นแรก รวมถึงเป็นผู้ออกแบบหน้าตาของฉลาก กลุ่มตัวอักษร แถมยังเป็นคนวาดภาพที่ประกอบอยู่บนขวดด้วย
หนึ่งในจุดเด่นที่สุดของขวดหรือความเป็นแบรนด์ของน้ำหอมดิปทีค แน่นอนว่าคือกลุ่มตัวอักษรที่วางเรียงกันเป็นชื่อของน้ำหอมขวดนั้นๆ นอกจากสไตล์ที่แสนสวยด้วยตัวอักษรที่เขียนด้วยหมึก แต่จุดสำคัญของตัวอักษรบนฉลากคือเจ้ากลุ่มอักษรนี้มันเหมือนจะอ่านเข้าใจได้แต่ก็ไม่เข้าใจ เป็นกลุ่มตัวอักษรที่สับสนหยุ่งเหยิง ต้องตั้งใจอ่านหรือพยายามถอดรหัสก่อนถึงจะอ๋อว่ามันคือชื่อนี้ ตรงนี้เป็นจุดเด่นมากๆ และเป็นผลงานที่มีความมหัศจรรย์ล้ำลึกเกี่ยวกับชีวิตของเดสมอนด์เอง และเกี่ยวกระทั่งการเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการลับที่ทำหน้าที่เข้ารหัสและถอดรหัสให้กับประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กันเลยทีเดียว
เริ่มที่อาการอ่านยาก นับเป็นความขี้เล่นของแบรนด์รวมถึงสไตล์ที่แสบแต่ก็เวรี่ศิลปิน คือตั้งใจให้อ่านยาก โดยเดสมอนด์ผู้ออกแบบการวางตัวอักษรเอามาจากสมัยที่เคยถูกจ้างเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยลับของรัฐบาลอังกฤษเป็นทำนองหน่วยข่าวกรองที่เน้นทำหน้าที่ไขและเข้ารหัสลับเพื่อการสื่อสารในช่วงสงคราม คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้ตั้งหน่วยที่ชื่อว่า Government Code and Cypher School (GC&CS) คือเป็นโรงเรียนและศูนย์ฝึกที่ทำงานตามชื่อคือเข้าและไขรหัส เป้าหมายสำคัญคือการนำเอารหัสและระบบสื่อสารของเยอรมันมาไขเพื่อประโยชน์ทางสงคราม ตัวโรงเรียนนี้เป็นความลับของรัฐบาลและไม่มีการเปิดเผยจนกระทั่งในปี 1974 รัฐบาลถึงเปิดเผยการมีอยู่ของหน่วยพิเศษนี้ อันที่จริงหน่วยนี้เป็นหน่วยหลักของฝ่ายสัมพันธมิตรในการไขรหัสในช่วงสงครามเลย
หน่วยลับพิเศษนี้ก่อตั้งขึ้นในบ้านที่สวน Bletchley Park การคัดเลือกคนเข้ามาช่วยไขรหัส ทางการอังกฤษทำการเลือกคนเก่งๆ ที่ไม่ได้เก่งธรรมดา แต่แปลกและมีความสามารถโดดเด่นจากอาชีพที่หลากหลายเช่นนักภาษาศาสตร์ นักเล่นครอสเวิร์ดมืออาชีพ และนักเล่นหมากรุก ดังนั้นจากชื่อย่อ GC&CS ด้วยความที่เป็นหน่วยลับรวมถึงเป็นหน่วยที่รวมนักกีฬาเกมกระดานไว้ ศูนย์แห่งนี้ก็เลยมีชื่อเล่นลับๆ ว่า เป็นสมาคมกอล์ฟ ชีส และหมากรุก (The Golf, Cheese and Chess Society) และแน่นอนว่าเดสมอนด์เข้าไปรับหน้าที่เป็นล่ามและทำงานที่นั่นจนสิ้นสุดสงคราม
สำหรับคลับหรือหน่วยลับนี้ เชื่อกันว่าเดสมอนด์ได้พบกับอลัน ทัวริ่ง บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ และเป็นคนที่สร้างระบบที่สามารถไขระบบรหัสของเยอรมันได้ ในบันทึกของดิปทีคเองได้พูดถึงความสำคัญของความลับในการทำงานที่หน่วยนั้น และที่ย้อนแย้งที่สุดคืออลัน ทัวริ่ง ถูกตัดสินจากพฤติกรรมของการเป็นเกย์ เข้ารับการรักษาด้วยการตอนด้วยสารเคมีก่อนจะถูกประหารชีวิต ดังนั้นความลับจึงเป็นเรื่องความเป็นความตาย และเสน่ห์รวมถึงการรำลึกในหน่วยลับอันแปลกประหลาดนี้ การรักษาความประหลาดเข้าใจยากจึงเป็นหัวใจและการรำลึกถึงทัวริ่งและการทำงานเบื้องหลังในสงครามด้วย
การวางอักษรของดิปทีคคือการเลือกใช้ตัวอักษรที่เหมือนเต้นรำมีที่มาอย่างล้ำลึกและสัมพันธ์กับทั้งชัยชนะและโศกนาฏกรรมในสถานที่อันเป็นปูมหลังและรำลึกถึงมิตรสหายของผู้ออกแบบและของมนุษยชาติ
6.
Memento ชิ้นส่วนของตัวตน
ดิปทีคเป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และเล่าเรื่องราวกลิ่นของตัวเองได้เก่งมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากรากฐานของศิลปะรวมถึงงานเขียนสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลต่อแบรนด์ และต่อบรรยากาศของแบรนด์ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ดังกล่าวว่ากลิ่นของดิปทีคส่วนใหญ่คือการพาเราไปยังที่ต่างๆ โดยเฉพาะการพากลับไปยังความทรงจำบางอย่างที่ถูกบันทึกไว้ทั้งในรูปแบบของกลิ่น ของชื่อน้ำหอม ไปจนถึงในภาพวาดบนขวด
นอกจากเรื่องของแบรนด์ที่เล่าผ่านร้านค้าหรือคำอธิบายต่างๆ แล้ว ดิปทีคยังมีเหมือนนิตยสาร ซึ่งไม่เชิงเป็นนิตยสารเสียทีเดียว เป็นสิ่งที่แบรนด์เรียกว่า memento ซึ่งตัวมันเองเป็นเหมือนข้อเขียนและบันทึกที่ถูกเขียนเพื่อให้คนอ่าน และบางส่วนก็เป็นเหมือนการเอาอะไรหลายๆ อย่างที่เจอมาหรือเป็นแรงบันดาลใจมาเก็บไว้
เมเมนโต้นี้ค่อนข้างกระจัดกระจาย มีแบ่งคอลัมน์ใหญ่ๆ ไว้สามส่วนคือ Shadow of scents เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลิ่นที่สร้างขึ้น, Crossed-paths เป็นเหมือนภาพของผู้คน ของศิลปิน หรือใครก็ตามที่ได้มาเจอกัน ส่วนสุดท้ายคือ Along the way เป็นพื้นที่อิสระที่ดิปทีคจะเอาอะไรสารพัดมาใส่ไว้ซึ่งจะสะท้อนถึงรสนิยม แรงบันดาลใจ ไปจนถึงอดีตที่มีผลกับผลงาน
สำหรับส่วนสุดท้ายคือ Along the way มหัศจรรย์และสะท้อนความลึกซึ้งหลากหลายของแบรนด์ได้อย่างมากมาย คือมันเป็นเหมือนที่ที่เราได้แอบดูว่าเขาอ่านอะไร สนใจอะไร ซึ่งในนั้นมีสารพัดอย่าง เป็นเหมือนเมเมนโต้จริงๆ ทั้งในส่วน Along the way ที่เหมือนหมุดเก็บความจำ การตัดแปะสิ่งต่างๆ เราจะได้เจอข้อเขียนทางปรัชญายากๆ เช่น งานของวอลเตอร์ เบนยามิน ไปจนถึงนิทาน ตำนาน สารพัดเรื่องเล่า ข้อเขียนเกี่ยวกับภาพเขียน ภาพถ่าย บันทึก ทำให้เราเห็นว่านี่คือแบรนด์แบบฝรั่งเศส นี่คือแบรนด์ของศิลปิน นี่คือสิ่งที่เขาอ่าน ที่เขาสนใจ รวมถึงเซกชั่นอื่นๆ ก็เป็นเมเมนโต้จริงๆ เป็นข้อเขียนที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายตัวเอง ไปจนถึงภาพของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ในบันทึกเหล่านี้ อย่างที่บอกว่าค่อนข้างกระจัดกระจาย เซกชั่นต่างๆ ไม่ได้เป็นระเบียบขนาดนั้น แต่การไปขุดดูเป็นเรื่องที่สนุกมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาเขียนก็มาจากข้อเขียนและบันทึกของแบรนด์ในเมเมนโต้นั้น ในหลายๆ ส่วน แบรนด์ดิปทีคทั้งตัวเรื่องเล่าของแบรนด์และแรงบันดาลใจของกลิ่นนั้นค่อนข้างว่าด้วยความทรงจำและตัวตนเป็นสำคัญ อีกอย่างคือศิลปะโดยเฉพาะข้อเขียนและวรรณกรรมสมัยใหม่ทั้งหลาย
7.
เงาที่ทาบบนสายน้ำ เหตุผลของภาพหงส์ของกลิ่น L’Ombre
หนึ่งในความสวยงามที่ถูกเขียนไว้ในเมเมนโต้ คือการเขียนถึงกลิ่นและที่มาต่างๆ เช่นเรื่องน้ำหอมกลิ่น L’Eau และการอธิบายเรื่องตัว o และที่สำคัญคือการอธิบายที่มาของกลิ่น เช่นกลิ่นซิกเนเจอร์คือ L’Ombre dans l’Eau วิธีการเล่าเรื่องหรือแรงบันดาลใจของกลิ่นนี้ที่ผู้สร้างอธิบายมีความเป็นวรรณกรรมที่ไม่เชิงว่าเยอะ คือไม่ได้อธิบายแบบเว่อร์วัง แต่มันคือการให้ภาพที่เหมือนกับงานเขียนสมัยใหม่เช่นงานแบบสัจนิยม
L’Ombre dans l’Eau ในเมเมนโต้อธิบายไว้ยาวมาก คือหลายย่อหน้า ชื่อของกลิ่นนี้คือเงาที่ทาบอยู่บนผิวน้ำ อะไรคือการตั้งชื่อน้ำหอมว่ากลิ่นเงา แค่นี้ก็มหัศจรรย์แล้ว ข้อเขียนในบันทึกอธิบายว่ากลิ่นนี้มาจากภาพความทรงจำธรรมดาๆ ของกลุ่มเพื่อนที่มาเจอกัน คุยกัน ขีดเขียนสิ่งต่างๆ ลงบนกระดาษหรือเล่นบิงโก กลิ่นเงาที่ว่าถ้าเราไปดมหน้าร้านจะมีความงงนิดนึงเพราะเขาจะบอกว่าเป็นกลิ่นแบล็กเคอร์แรนต์ ซึ่งมันน่าจะเป็นกลิ่นแนวผลไม้
จุดเริ่มของกลิ่นนี้เริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งที่บังเอิญไปเจอลมตีเข้าขณะอยู่ในสวนและได้กลิ่นผสมกันของแบล็กเคอร์แรนต์ เลยเอามาเล่าให้ Christiane Montadre-Gautrot หนึ่งในผู้ก่อตั้งดิปทีคฟัง พอได้ฟังเรื่องการผสมกันของสองกลิ่น เจ้ากลิ่นของกุหลาบและแบล็กเคอร์แรนต์พาเธอกลับไปยังความทรงจำวัยเด็ก เธอนึกไปถึงบ่ายวันหนึ่งในสวนป่าที่พระราชวังฟงแตนโบล (Fontainebleau)
ในเมเมนโต้เขียนเล่าไว้ว่าภาพนั้นเป็นภาพของต้นผลไม้หลากชนิด โดยเฉพาะพวกเบอร์รีต่างๆ ป่าที่มีสายน้ำไหลเอื่อยๆ ขนาบไปด้วยแปลงผักไม้พุ่มและทิวของดอกไม้นานาชนิด ภาพความทรงจำที่ชัดเจนขึ้นจากการผสมกันของผลไม้และดอกไม้ให้พาเธอกลับไปยังสวนอันเงียบสงบแต่อบอวลด้วยกลิ่นอันสดใส จากทิวป่า แนวหญ้า ไปจนถึงสายน้ำลำธาร ภาพความทรงจำชัดเจนไปจนถึงว่าพื้นท่ีด้านล่างของสวนที่มีคุ้งน้ำ ที่แห่งนั้นคือที่ที่กลิ่นของผลไม้และดอกไม้ที่อบอวลจากแรงลมปะทะเข้ากับคุ้งน้ำ กลิ่นสดชื่นของน้ำและมอสอบอวลโดยมีภาพของผิวน้ำที่ไหวอย่างเป็นวงรอบ ที่ผิวน้ำนั้นเองมีหงส์ตัวหนึ่งเคลื่อนตัวอย่างเงียบเชียบและสง่างาม
คำว่าเงาที่ทาบบนผิวน้ำจึงหมายถึงภาพนี้เอง ภาพของเงาที่สายน้ำกระเพื่อมไปตามแรงลม ภาพของหงส์ที่ล่องลอยบนผิวน้ำอย่างไม่อินังขังขอบ จากจุดเริ่มของกลิ่นที่เรียบง่ายอย่างแบล็กเคอร์แรนต์และกุหลาบ นำไปสู่ภาพความทรงจำที่เรียบง่ายแต่ซับซ้อน ถ้าเราลองดมและนึกภาพซึ่งเดสมอนด์วาดภาพหงส์และเงาน้ำไว้ เราเองก็อาจจะพอได้กลิ่นเขียวๆ ของใบไม้ กลิ่นสดชื่นของผิวน้ำ ไปจนถึงกลิ่นอ่อนๆ ของทั้งผลแบล็กเคอร์แรนต์และดอกไม้อื่นๆ เหมือนกับว่าเราได้ไปยืนอยู่ที่ชายน้ำและกำลังมองเงาที่อยู่บนผิวน้ำในวันสบายๆ สักวันหนึ่ง
วิธีการเล่า การพรรณนาภาพความทรงจำ จากกลิ่นรส การพบเจอ ไปจนถึงให้ภาพที่เหมือนกับพาเราไปยังสวนในความทรงจำเดียวกัน ทำให้เราแทบจะจินตนาการได้แม้ว่าอาจจะไม่มีความทรงจำที่ฟงแตนโบลหรือกระทั่งความทรงจำในสวนฤดูร้อนของยุโรป แต่ภาพท้องน้ำ ยิ่งถ้าได้ดมกลิ่นน้ำหอมกลิ่นนั้นไปด้วย มองภาพบนขวดไปด้วย ทั้งหมดนี้แทบจะพาเราคนไทยท่องไปยังดินแดนเดียวกันของสวนในหน้าร้อนเดียวกันได้ นี่คือพลังและน่าจะเป็นการเขียนที่ได้อิทธิพลจากวรรณกรรมอันเป็นงานเขียนร่วมยุคและร่วมพื้นที่กับร้านดิปทีค การเล่าภาพสามัญที่เรียบง่ายอย่างซับซ้อน การค่อยๆ ให้ภาพ ให้กลิ่น ให้ความรู้สึกที่พาเราไปยังดินแดนและห้วงเวลาอื่นได้
สุดท้ายเมื่ออ่านเรื่องราวทั้งหมด ดิปทีคนับเป็นอีกแบรนด์ที่แข็งแรงทั้งด้วยบริบทที่เชื่อมโยงกับศิลปะหลายแขนงของศิลปะสมัยใหม่ ความรุ่มรวยของแบรนด์เองที่มาจากศิลปินทั้งสาม เรื่องราวซับซ้อนที่สัมพันธ์ทั้งบริบททางประวัติศาสตร์ การรับมรดกและการผสมผสานเข้ากับสิ่งอื่นๆ เช่นบริบทยุคศตวรรษที่ 20 ของยุโรปที่เปิดรับโลกตะวันออก การเดินทางและเปลี่ยนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ไปจนถึงการเริ่มเห็นภาพความหลากหลายเช่นการเปิดตัวน้ำหอมสู่น้ำหอมที่ไม่จำกัดเพศ ไปจนถึงการรำลึกถึงวีรบุรุษที่เคยเป็นเหยื่อจากความไม่หลากหลายของสังคม
อ้างอิง
- diptyqueparis-memento.com/en/the-mystery-of-the-name
- diptyqueparis-memento.com/en/the-first-eau
- diptyqueparis-memento.com/en/o-in-eau
- diptyqueparis-memento.com/en/golf-cheese-and-chess-society
- diptyqueparis-memento.com/en/memento-the-magazine-of-diptyque
- diptyqueparis-memento.com/en/ombre-dans-leau-2
- diptyqueparis-memento.com/en/philosykos-2
- customerserviceus.diptyqueparis.com/hc/en-us/articles/4404722624535-The-History-of-our-Candles
- homestolove.com.au/diptyque-history-21338
- ventvenir.com/50yearsofdiptyquefragrance