Baby, You're a Rich Man

สอนลูกให้รวยและรู้จักวางแผนทางการเงินผ่านค่าขนม

มีคำถามจากคุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อคุณแม่หลายท่านส่งมาถามว่า จะสอนลูกให้รู้จักค่าของเงินและการวางแผนทางการเงินอย่างไร Wealth Done ตอนนี้มีคำตอบค่ะ

จะสอนเขาอย่างไร จะให้ตั้งเป้าหมาย จะให้ทำอะไร ฟังดูคตินิยมมากใช่ไหมคะ จริงๆ แล้วง่ายมากค่ะ เราอยากให้ลูกเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญแรกสุด พ่อแม่ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อยากให้ลูกพูดเพราะ พ่อแม่ก็ต้องพูดเพราะ อยากให้ลูกอ่านหนังสือ พ่อแม่ก็ต้องอ่านหนังสือกับเขา ไม่อยากให้เขาดื่มน้ำอัดลม พ่อแม่ก็ต้องไม่ดื่มน้ำอัดลม ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่บอกให้ลูกทำอย่างนึง แล้วตัวเองทำอีกอย่างนึง แล้วลูกจะเชื่อฟังนะคะ

เรื่องการออมเงินก็เช่นกันค่ะ หากเราจะสอนให้ลูกออมเงิน เราก็จะต้องออมเงินด้วย

เริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุดอย่างค่าขนม ซึ่งเท่ากับ ขนม 1 ชิ้น น้ำหรือนม 1 กระป๋อง ถ้าสมมติที่โรงเรียนขายอยู่ประมาณ 25-35 บาท นั่นคือเงินค่าขนมต่อวัน ตอนเล็กๆ  ก็ให้เป็นรายวัน ซึ่งระหว่างทางเราอาจจะใส่นมกล่องลงไปติดกระเป๋า แล้วอาจจะลองบอกว่าถ้าทานนมกล่องก็ไม่ต้องซื้อขนมนะลูก เพื่อที่จะเหลือเงินนี้มาหยอดกระปุก 

โดยมีกุศโลบายว่ากระปุกควรจะเป็นกระปุกใส อาจจะเป็นขวดน้ำมาเจาะรูไว้ก็ได้ค่ะ ถามทำไมต้องเป็นกระปุกใส เพราะพอเขาหยอดลงไป เขาจะได้เห็นว่าเงินเขานั้นเติบโตยังไง พอเขาเริ่มโตก็ลองเปลี่ยนไปให้ค่ารายสองวันเพื่อให้เขารู้จักบริหารจัดการ จากนั้นขยับเป็นรายอาทิตย์ แล้วพอถึงระดับมัธยมก็เป็นรายเดือน

ระหว่างทางเราก็จะคอยมอนิเตอร์เขา ทุกเดือนเราก็จะคอยถามว่าเก็บเงินได้เท่าไหร่ ชวนเขานับเงินในกระปุก จากนั้นพาไปฝากเงินที่ธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นเงิน 20 บาท 50 บาท 100 บาทก็เปิดบัญชีให้เขา น่ารักเชียวค่ะ

ทุกครั้งที่ไปฝากเงิน ลองชวนเขาทำอะไรที่เขาอยากทำ ถ้ายังนึกไม่ออก สิ่งที่อยากฝากพ่อแม่ทุกคนก็คือยัดหนังสือใส่มือลูกค่ะ การที่เขามีหนังสือในมือมันฝึกทั้งเรื่องสมาธิ ฝึกทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกเรื่องการอ่าน แล้วตามมาด้วยเรื่องราวในหนังสือ ส่วนใหญ่จะให้คติ ให้แรงบันดาลใจต่างๆ เพราะฉะนั้นไปฝากเงินปั๊บก็พากันแวะร้านหนังสือนะคะ อาจจะให้เขาเลือกหนังสือสักหนึ่งเล่มกลับมาด้วย เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่จะทำให้ลูกของเราเข้าใจว่า ถ้าเขาเก็บเงินได้เท่านี้เงินจะสามารถกลายร่างเป็นหนังสือหนึ่งเล่มได้ ที่สำคัญลองบอกให้เขาเก็บรักษาหนังสือเล่มนั้นสิคะ เขาจะดูแลมันอย่างดี 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมักจะตรงข้ามกัน คือนอกจากจะไม่ชวนเขาเก็บเงินแล้ว เวลาไปห้างสรรพสินค้าก็ยังจะซื้อของเล่นให้เขาอยู่ตลอด สิ่งที่ตามมาคือของเล่นเต็มบ้าน แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ต้องทำอะไรเพื่อที่จะได้ของเล่นสักชิ้นหนึ่งเลย 

ในทำนองกลับกัน ถ้าเราค่อยๆ สอนเขาเก็บเงินที่ละเล็กละน้อยเพื่อซื้อของบางอย่างที่เขาอยากได้ มันอาจฟังดูเป็นเรื่องในอุคมคติมากเลย แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่หนึ่ง

สำหรับครอบครัวเชื้อสายจีน วันตรุษจีน จะมีประเพณีให้เงินแต๊ะเอีย แทนที่จะให้เขาใช้เงินก้อนนั้น ก็นำไปฝากธนาคาร ซึ่งเขาจะตกใจมาก เพราะระหว่างที่เขาเก็บได้ 5 บาท 10 บาท แต๊ะเอียนั้นคือเงินหลักร้อย บางครอบครัวให้หลักพันบาท เขาก็จะดีใจ แล้วเชื่อสิคะ พอเขาเริ่มเก็บสตางค์ได้ เมื่อเราถามว่าเขาอยากใช้เงินกับอะไร เขาจะยังไม่อยากใช้ เพราะอยากจะเห็นตัวเลขในบัญชีของเขาเติบโต เป็นบททดสอบที่ท้าทายของคุณพ่อคุณแม่เหมือนกัน บางคนอาจจะถามลูกว่าอยากได้กีตาร์สักตัวมาซ้อมเล่น อยากจะไปเรียนเปียโน หรืออยากใช้เงินที่เก็บได้ระยะหนึ่งไปทำอะไรเป็นพิเศษ

อีกหนึ่งกุศโลบายคือ เก็บเงินได้เท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่ทบให้อีกเท่าตัว ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจะมีรางวัลมาจูงใจเด็กๆ สักหน่อย เราเห็นพ่อแม่คนไทยหลายคนชอบทำ คือให้เงินรายวันตามเกรดที่เรียนได้ ซึ่งเราไม่อยากจะแนะนำ เพราะถ้าลูกคุณเรียนเก่ง คุณทำเลย แต่ถ้าลูกคุณจะต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะเรื่องเกรดเราไม่แนะนำ

ต้องเข้าใจนะคะว่าคนเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ลำพังแค่เขาเติบโตและเลี้ยงดูตัวเองได้ก็ดีมากแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องช่วยเขาคือ ค้นหาว่าเขาชอบอะไรและชำนาญอะไร 

เราอาจจะเคยได้ยินว่า อย่าไปสอนปลาให้ปีนต้นไม้ เด็กทุกคนมีความเก่งของตัวเอง สิ่งที่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำคือ สังเกตลูกตัวเองเยอะๆ ทำให้เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เพราะการอ่านจะช่วยให้เขาเรียบเรียงความคิดได้ สอนเรื่องการจับใจความ แล้วก็สรุปใจความ เป็นทักษะที่จะติดตัวเขาไปตลอดเวลา เรื่องการวางแผนทางการเงินตั้งแต่เด็กก็เช่นเดียวกัน

เรื่องที่สองคือ สอนเรื่องการประหยัด ผ่านการรักษาข้าวของที่มี

สมมติไปโรงเรียนด้วยดินสอ 3 แท่ง ยางลบ 1 อัน ก็ควรจะกลับบ้านด้วยดินสอ 3 แท่งพร้อมยางลบ 1 อัน สอนให้เขารักษาของ ไม่ทำหายและก็ไม่ไปเอาของเพื่อนกลับบ้าน 

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงจากเรื่องนี้ที่อยากเล่าให้ฟัง มีวันหนึ่ง ลูกลืมชุดพละ เราอยากเป็นแม่ที่ดีก็เลยไปซื้อชุดใหม่มาให้ เจออาจารย์อยู่หน้าห้องเรียน อาจารย์ก็ห้ามคุณแม่เด็ดขาด แล้วบอกว่าเขาต้องเรียนรู้ที่จะอายเมื่อยืนท่ามกลางหมู่เพื่อนที่ใส่ชุดพละขณะที่เขาใส่ชุดนักเรียน เพื่อเขาจะได้เรียนรู้และจำผลของการลืมเอาชุดพละมา ซึ่งเราไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อน ว่ามีหลายๆ เรื่องที่เป็นบทเรียนสอนให้เขาเติบโต เราเองก็ต้องเติบโตเรียนรู้ว่ามันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ

จากหัวข้อบทความเรื่องการ ‘สอนลูกให้รวย’ คุณอาจจะสงสัยว่า เด็กและผู้ใหญ่มีความเข้าใจความรวยเหมือนกันหรือแตกต่างอย่างไร 

จริงๆ เด็กเขาไม่ได้เข้าใจหรอกค่ะ 

จากสิ่งที่เขาเห็น คุณแม่ให้แบงก์พันร้านค้าแล้วเขาทอนกลับมา มีแบงก์สีม่วง สีแดง แล้วก็มีเหรียญอีก เขาจะรู้สึกว่าคุณแม่เก่งมากเลย เพราะนอกจากจะได้แบงก์เยอะขึ้นแล้วยังได้ของด้วย แต่เขายังไม่รู้หรอกว่า คำว่ารวยคืออะไร แต่สิ่งที่เขาจะเข้าใจก็คือ คุณแม่ทำงานเพื่ออะไร เพื่อจะมีสตางค์ แต่เขาจะไม่รู้เลยว่าคุณแม่ต้องทำงานเพื่อจะมีสตางค์มาซื้อข้าวให้เขา

ในฐานะนักการเงินมีคำแนะนำว่า เวลาที่ไปซื้อของที่ตลาดก็ควรพาเขาไปด้วย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจว่าของมีราคา ทำไมพ่อและแม่ต้องทำงานเพื่อจะได้เงิน และเอาเงินไปซื้อของให้หนู นอกจากนี้ยังเป็นการสอนเรื่องตัวเลขที่ดีที่สุด ชวนเขาคิดเรื่องบวกลบคูณหาร เช่น นี่คือแบงก์พันนะ มันเป็นแบงก์ใหญ่ที่มีมูลค่าสูงสุด แบงก์พัน 1 ใบมีค่าเท่ากับแบงก์ร้อย 10 ใบ ในที่สุดเขาจะเรียนรู้ว่า รวยสำหรับเขาคือการได้กินของที่ชอบ หรือการที่ไปร้านค้าแล้วเขาสามารถซื้อของเยอะแยะกลับบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อหนูเติบโต หนูก็ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำในสิ่งที่ชอบ เพื่อที่หนูจะได้ทำงานที่หนูชอบ มีสตางค์และเก็บเงินอย่างนี้เป็นต้น

ขณะที่คำว่ารวยของผู้ใหญ่ เรามักจะบอกเสมอว่า ถ้าเรารู้ตัวเราเอง ไม่ไปเทียบกับคนอื่นที่เขาอาจจะโพสต์ในโซเชียลตลอดเวลาว่าไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเขาใช้เงินบัตรเครดิตเพื่อความสุขนั้น ขณะที่บางคนไม่ได้ไปเที่ยวไหนแต่มีเงินในบัญชีมากมาย 

ความรวยก็ขึ้นกับว่าความสุขเราอยู่ตรงไหนมากกว่า เช่น ถ้าความสุขของคุณคือการไปเที่ยว ก็เก็บเงินไปเที่ยว มีน้องที่รู้จักคนหนึ่งเขามีความฝันอยากไปดูบอลโลกสักครั้งในชีวิต เขาก็วางแผน 4 ปี สำหรับการเก็บเงินเพื่อไปอังกฤษ ประกอบด้วย ค่าตั๋วเครื่องบินประมาณ 20,000 ค่าใช้ชีวิตในอังกฤษ 3 อาทิตย์ นี่น่าจะอยู่ประมาณสัก 80,000 เขาก็สามารถเก็บเงิน 100,000 บาทได้ภายใน 4 ปี แล้วเขาก็ไปเที่ยวไปดูบอลโลก เราว่ามันเป็น achievement ที่ดีมากๆ

กลับมาที่เรื่องลูกๆ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์บ้าง หรือโรงเรียนทางเลือก ซึ่งท่านต้องเข้าใจก่อนว่า ค่าเทอมของโรงเรียนแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันมหาศาล ถ้าโรงเรียนรัฐบาล ค่าเทอมจะอยู่ประมาณหลักหมื่น ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนค่าเทอมก็อาจจะขึ้นมาเป็น 80,000-100,000 แต่ถ้าไปอินเตอร์ก็อาจจะอยู่ที่ 300,000-1,000,000 ต่อปี

ซึ่งไม่ว่าจะเงินหมื่นกับล้านก็ต้องวางแผน สมมติว่าเรายังมีไม่เยอะ ในขวบปีแรกหรือ 6 ปี ถ้าเราส่งเขาไปโรงเรียนที่ค่าเทอมประมาณหมื่นกว่า แล้วเราเก็บตังตอนนั้น 6 ปี พอถึงช่วงชั้นมัธยมเราจะมีเงินก้อนใหญ่พอให้เขา

โดยในช่วงชั้นการเรียนปริญญาตรีนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาอยากเรียนอะไร ซึ่งถ้าพ่อแม่เก็บเงินถึง 12 ปี มีโอกาสสูงที่จะเก็บเงินได้ 10 ล้านบาท ก็จะทำให้เขามีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น และเงินนี้ก็มากพอที่จะทำให้เขาเรียนจบปริญญาตรีและโทที่ต่างประเทศได้สบายๆ 

สิ่งที่อยากจะฝากถึงพ่อแม่ทุกคนคือ อะไรก็แล้วแต่อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลย แต่อยากให้มาสนุกกับการวางแผนชีวิตให้เขา และเฝ้าดูเขาเติบโตกันดีกว่า


WEALTH DONE คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital แล้วรออ่านคำตอบพร้อมกันทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co

Tagged:

Writer

อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย กรรมการอิสระ และที่ปรึกษาทางการเงินผู้อยากให้คนไทยหันมาวางแผนทางการเงิน ขณะเดียวกันเธอก็เชี่ยวชาญในการวางแผนอ่านหนังสือและดูซีรีส์อย่างไรให้จบภายในหนึ่งคืน